ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

‘สองรักของฉัน’ เพลงโปรดของปรีดี พนมยงค์

14
กุมภาพันธ์
2565

แม้ไม่ปรากฏว่า ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโสของไทยเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดเป็น แม้ไม่ปรากฏว่ารัฐบุรุษอาวุโสผู้นี้ประพันธ์เพลงใดๆ ไว้หรือไม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า นายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีดนตรีในหัวใจ

ดุษฎี พนมยงค์ ธิดาของเขา เล่าว่า “ยามว่างจากการเรียน หรือการงาน  แม้จะเครียดอย่างไร คนใกล้ชิดมักได้ยินนายปรีดีผ่อนคลายความเครียด ด้วยการฮัมทำนองเพลงไพเราะอย่างอารมณ์ดี”

ไม่เพียงเท่านั้น เพลงโปรดทั้งไทยและเทศของนายปรีดียังตีความเชื่อมโยงไปกับภารกิจทางการเมืองของเขาอีกด้วย

ดนตรีกับปรีดี

ในอดีตกว่าร้อยปีมาแล้ว ที่พระนครศรีอยุธยา นายเสียง พนมยงค์ บิดาของนายปรีดี ชาวนาในกรุงเก่า มักเล่นหีบเพลงชัก (Accordion) อยู่เสมอ ซึ่งนับว่าน่าสังเกต เพราะมีคนไทยจำนวนไม่มากนักที่รู้จักเครื่องดนตรีชนิดนี้  และบางครั้ง นายเสียงก็จะไปร่วมวงเล่นกับวงปี่พาทย์ที่บ้านญาติ แถวตำบลสวนพริก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ส่วนนายปรีดีไม่ได้เล่นดนตรีเลย อาจเป็นเพราะต้องจากบ้านมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เยาว์วัย กระนั้นเสียงดนตรีก็อยู่ในหัวใจของเขาเสมอมา

อย่างน้อย ที่บ้านของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ญาติผู้ใหญ่ที่นายปรีดีมาอาศัยพำนักระหว่างเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ก็มีเสียงดนตรีอยู่มิได้ขาด ด้วยท่านเจ้าคุณให้ลูกๆ แต่ละคนของท่านเรียนเครื่องดนตรีชิ้นต่างๆ กัน จะได้มาร่วมวงบรรเลงให้ท่านฟังได้ เช่น หลวงวิชิตอัคนีนิภา (ขาว) เล่นไวโอลิน  นางศรีราชบุรุษ (สารี) เล่นเปียโนเพลงไทย  ท่านผู้หญิงประดิษฐ์มนูธรรม (พูนศุข) เล่นเปียโนเพลงคลาสสิก เป็นต้น

ต่อมาเมื่อนายปรีดีสมรสกับพูนศุข ธิดาของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ เธอก็มักเล่นเปียโนที่บ้าน ทั้งยังจัดให้ลูกๆ เรียนเปียโนกับเพื่อนสนิทของเธอ และแม่ชีที่โรงเรียนเก่าด้วย ดังที่สุดาได้เรียนเปียโนกับคุณครู Marie-Louis Lamache และ ซิสเตอร์เรอเน เดอ เยซู กับ ซิสเตอร์เทแรส เป็นต้น

เพลงไทยที่ปรีดีชอบ

ดุษฎี ธิดาอีกคนหนึ่งของปรีดี เล่าว่า “ยามว่างจากการเรียน หรือการงาน  แม้จะเครียดอย่างไร คนใกล้ชิดมักได้ยินนายปรีดีผ่อนคลายความเครียด ด้วยการฮัมทำนองเพลงไพเราะอย่างอารมณ์ดี”

เพลงไทยที่นายปรีดีฮัมอยู่เสมอ ได้แก่ เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ เพลงสายสมร ที่ต่อมาพระเจนดุริยางค์ได้เรียบเรียงเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ที่สร้างโดย “PRIDI PRODUCTION”

เพลงสายสมรนั้น เป็นเพลงกล่อมเด็กยุคกรุงศรีอยุธยาที่ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสบันทึกไว้สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมา นาวาเอก ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร ได้ประพันธ์เนื้อร้องและให้ชื่อว่า “ศรีอยุธยา” และต่อมา นายมนตรี ตราโมท ได้ปรับปรุงเนื้อร้องอีกครั้ง

อนึ่ง ก่อนหน้า พระเจนดุริยางค์ จะนำทำนองเพลงสายสมรมาเรียบเรียงใหม่ นายฟุสโก (M. Fusco) ชาวอเมริกัน สัญชาติอิตาเลียน หัวหน้าวงดนตรีของกองดุริยางค์กองทัพเรือ ได้เรียบเรียงเพลงนี้สำหรับเปียโนมาก่อนแล้วในชื่อเพลง “พระนารายณ์” หรือ “สรรเสริญพระนารายณ์” (Pra Narai) ปรากฏในหนังสือ สยามอาณาจักรแห่งช้างเผือก ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1899 ตรงกับปี พ.ศ. 2442

เพลงโปรดของปรีดี

ยังมีอีกหนึ่งบทเพลง ซึ่งเป็นเพลงฝรั่งที่นายปรีดีชอบ และแพร่หลายในประเทศฝรั่งเศสช่วงที่นายปรีดีได้รับทุนไปศึกษาวิชากฎหมายในที่นั้น นั่นคือ J’ai deux amours ซึ่งแปลว่า “สองรักของฉัน” ผลงานการประพันธ์คำร้องของ Géo และ Henri Varna โดยมี  Vincent Scotto ประพันธ์ดนตรี และ Joséphine Baker ขับร้อง

 

เนื้อเพลงท่อนสร้อยมีว่า

J’ai deux amours. Mon pays et Paris. Par eux toujours. Mon coeur est ravi

Ma savan’ est belle Mais à quoi bon le nier. Ce qui m’ensorcelle. C’est Paris tout entire

Le voir un jour. C’est mon rêve joli. J’ai deux amours. Mon pays et Paris

ซึ่งแปลได้ว่า

สองรักของฉัน คือแผ่นดินแม่และปารีส จิตใจฉันเบิกบานมีความสุข

ทุ่งหญ้าที่บ้านเกิดของฉันสวยงาม แต่จะปฏิเสธไปทำไมว่า 

ปารีสก็มีเสน่ห์ดึงดูดใจฉันอย่างยิ่ง ทำให้ฉันมีความฝันที่งดงาม

ฉันมีสองรัก บ้านเกิดของฉันและปารีส

 

นายปรีดีเมื่อเป็นนักศึกษาในประเทศฝรั่งเศส
นายปรีดีเมื่อเป็นนักศึกษาในประเทศฝรั่งเศส

 

ปารีสกับปรีดี

ใครที่เคยไปเยือนปารีส แม้เพียงครั้งเดียว ก็อาจหลงรักเมืองนี้ได้เป็นธรรมดาด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเพราะความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่ยุคโรมัน ความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะอันงดงาม ตึกรามบ้านช่องหรือผู้คน และที่สำคัญคือเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองของโลกใบนี้อย่างแยกไม่ออก เช่น การอภิวัฒน์ ค.ศ. 1789 รวมถึงเรื่องราวของคอมมูนปารีส ค.ศ. 1871

เมื่อแรกมาประเทศฝรั่งเศส ปรีดีศึกษาในชั้นต้นที่มหาวิทยาลัยก็อง จากนั้นจึงย้ายมาเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีสใน พ.ศ. 2467 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตของรัฐ ในปี พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1927)

ปรีดีเคยกล่าวด้วยความภูมิใจในคดีที่ฟ้อง นายรอง ศยามานนท์ ซึ่งเขียนในหนังสือของเขาว่า ปรีดีสำเร็จการศึกษาเพียงปริญญาดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ว่า “โจทก์เป็นคนไทยคนแรกที่ได้สำเร็จการศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิตของรัฐ (Docteur d’ Ètat) อย่างสมบูรณ์ คือ โจทก์ได้ศึกษาอย่างนักเรียนฝรั่งเศสจนได้ปริญญาตรีทางกฎหมาย (Baccaraureat en Droit) แล้วได้ปริญญา ‘ลิซองซ์ ออง ดรัว’ (Licence en Droit) แล้วจึงมีสิทธิศึกษาขั้นดุษฎีบัณฑิตของรัฐ”

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) ก่อนกลับสู่มาตุภูมิเพียงเดือนเศษที่ห้องพักอาคารเลขที่ 9 ถนน Sommerard กรุงปารีสนี่เอง ที่นายปรีดีได้ร่วมกับเพื่อน 6 คนก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง

นายปรีดีอธิบายในเวลาต่อมาว่า คณะราษฎรมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ  (1) เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ (2) พัฒนาชาติไทยตามหลัก 6 ประการ ได้แก่ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา

สองรักของฉัน คือแผ่นดินแม่และปารีส จิตใจฉันเบิกบานมีความสุข

ทุ่งหญ้าที่บ้านเกิดของฉันสวยงาม 

แต่จะปฏิเสธไปทำไมว่า ปารีสก็มีเสน่ห์ดึงดูดใจฉันอย่างยิ่ง 

ทำให้ฉันมีความฝันที่งดงาม

ฉันมีสองรัก บ้านเกิดของฉันและปารีส

ความเป็นไปในชีวิตของนายปรีดีเช่นนี้กระมัง ที่ทำให้เขาต้องใจกับเพลง J’ai deux amours เพราะความผูกพันที่มีต่อเมืองไทยและปารีส  และ “ความฝันที่งดงาม” ของเขา คือ การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรไทยนั้นเชื่อมโยงมาจากต้นกำเนิดของคณะราษฎรในกรุงปารีสนี่เอง

 

(จากซ้าย) หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), ควง อภัยวงศ์, ปรีดี พนมยงค์ รับประทานอาหารกลางวันที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ค.ศ. 1925
(จากซ้าย) หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), ควง อภัยวงศ์, ปรีดี พนมยงค์
รับประทานอาหารกลางวันที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ค.ศ. 1925

 

นายปรีดีกับคณะผู้ก่อการบางคน ณ Place du Trocadéro หัวถนน Avenue Kleber ในวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1926 (จากซ้าย) ชม จารุรัตน์, แดง คุณะดิลก, เล็ก คุณะดิลก, ควง อภัยวงศ์, ม.จ.ธานีเสิกสงัด ชุมพล, ม.จ.ลายฉลุทอง ทองใหญ่, ปรีดี พนมยงค์, แปลก ขีตตะสังคะ, ประยูร ภมรมนตรี, แนบ พหลโยธิน [โดยที่ 4 คนหลัง อยู่ใน 7 คน ที่ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร]
นายปรีดีกับคณะผู้ก่อการบางคน ณ Place du Trocadéro หัวถนน Avenue Kleber ในวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1926
(จากซ้าย) ชม จารุรัตน์, แดง คุณะดิลก, เล็ก คุณะดิลก, ควง อภัยวงศ์, ม.จ.ธานีเสิกสงัด ชุมพล, ม.จ.ลายฉลุทอง ทองใหญ่, ปรีดี พนมยงค์, แปลก ขีตตะสังคะ, ประยูร ภมรมนตรี, แนบ พหลโยธิน
[โดยที่ 4 คนหลัง อยู่ใน 7 คน ที่ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร]

 


https://www.youtube.com/watch?v=_h6GWWX6MQQ
Joséphine Baker - J’ai deux amours
คลิปเพลงจาก Youtube ช่อง Vive La France!

 

บรรณานุกรม

  • ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ปรีดี พนมยงค์ ชีวประวัติฉบับพกพา (กรุงเทพฯ : สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563), น. 27-28.
  • ดุษฎี พนมยงค์, แม่อยากเล่า, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : ปาปิรุส, 2555), น. 116-117, 168-171.
  • นริศ จรัสจรรยาวงศ์, “คณะราษฎร : จากลานพระบรมรูปทรงม้า สู่วัดประชาธิปไตย,” ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 24 (มิถุนายน 2563 – พฤษภาคม 2564), น. 11.
  • ปรีดี พนมยงค์, “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน,” ใน แนวคิด ประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2552), น. 77.
  • ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2563), น. 206-207.
  • ภัทรพล คำสุวรรณ์, “ชุด…โบราณ”, https://www.gotoknow.org/posts/143520, สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564.
  • สุดา พนมยงค์, “ชีวิตในยามสงครามโลกครั้งที่ 2,” ใน 72 ปี วันสันติภาพไทย: สยามในยามสงคราม (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2560), น. 68.
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, “มองความเคลื่อนไหว ‘คณะราษฎร’ ผ่านอาหารและร้านอาหาร”, https://www.the101.world/khana-ratsadon-movement-foods-and-restaurants/, สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564.

ที่มา : กษิดิศ อนันทนาธร. ‘สองรักของฉัน’ เพลงโปรดของปรีดี พนมยงค์, เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรก 11 พฤษภาคม 2564

หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้เขียนแล้ว