ปรีดีกับการขุดคลอง
การริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับการขุดคลองคอดกระของปรีดี เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2478 ในรัฐบาลของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ตำแหน่งในขณะนั้น) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รื้อฟื้นและเสนอแผนการในการขุดคลองบริเวณคอคอดกระเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างไรก็ดี รัฐบาลในเวลานั้นขาดแคลนงบประมาณทำให้โครงการดังกล่าวไม่ได้ถูกริเริ่มขึ้นในเวลานั้น[1]
“ข้าพเจ้าขอเน้นเฉพาะความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจของชาติ คือ ถ้าการขุดคลองนี้ดำเนินไปโดยอิสระตามกำลังของชาติไทยเราเอง และป้องกันไม่ให้อยู่ใต้อิทธิพลของต่างชาติได้ ก็จะเป็นวิถีทางอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ชาติไทยได้มีความเป็นเอกราชในทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาแม้ปรีดีจะพบกับมรสุมทางการเมืองและภัยจากเผด็จการอำนาจนิยมที่บีบให้ปรีดีจะต้องเดินทางออกนอกประเทศไปในที่สุด แต่ในปี พ.ศ. 2501 เมื่อปรีดีทราบว่า รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีดำริว่าจะขุดคอคลอดกระเพื่อเป็นคลองเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยอีกครั้ง ปรีดีได้ส่ง จดหมายถึงนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ ประเทศไทย เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของการขุดคอคอดกระ โดยใจความสำคัญของจดหมายฉบับนี้คือ ต้องการให้นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ ประเทศไทย เป็นผู้ส่งสาส์นไปถึงราษฎรและรัฐบาลเกี่ยวกับประโยชน์ของการขุดคอคอดกระเพื่อทำคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกราชในทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ปรีดี เน้นย้ำว่า
“ถ้าการขุดคลองนี้ดำเนินไปโดยอิสระตามกำลังของชาติไทยเราเอง และป้องกันไม่ให้อยู่ใต้อิทธิพลของต่างชาติได้ ก็จะเป็นวิถีทางอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ชาติไทยได้มีความเป็นเอกราชในทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น”
บทเรียนเกี่ยวกับคลองของต่างประเทศ
ในจดหมายฉบับนี้ปรีดี เขียนในลักษณะเชิญชวนให้เห็นประโยชน์ของการขุดคอคอดกระเพื่อทำคลองโดยเปรียบเทียบกับคลองสุเอซ คลองปานามา คลองคีล (เยอรมนี เชื่อมบริเวณทะเลเหนือบริเวณรัฐชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์) และคลองโครินธ์ของกรีก ซึ่งบรรดาคลองเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางเศรษฐกิจโดยย่นระยะทางการเดินเรือลงเพื่อประหยัดงบประมาณจากการเดินทางอ้อม
ผลของการศึกษาเรื่องการขุดคลองของปรีดีนั้นอาจสรุปได้ว่า แม้ภูมิประเทศจะเป็นภูเขาก็สามารถทำได้ เช่น คลองปานามา เป็นต้น แต่ปัญหาอยู่ที่แรงงาน ทุน และการเมืองระหว่างประเทศ[2] โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประการแรก แรงงาน การขุดคอคอดกระเพื่อเป็นคลองเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยนั้น จำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งในมุมของปรีดี การใช้แรงงานจำเป็นต้องมาจากความสมัครใจด้วยวิธีการจ้าง และต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงาน โดยพิจารณาจากบทเรียนจากอดีต คือ ในการขุด คลองสุเอซ ต้องใช้วิธีการเกณฑ์แรงงานอาหรับ มีแรงงานที่ต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ส่วนการขุด คลองปานามา แม้จะใช้วิธีการจ้างคนงานแต่คนงานก็ต้องล้มตาย เนื่องจากการติดโรคมาลาเรียเป็นจำนวนมาก ส่วนกรณีของ คลองคีล และ คลองโครินธ์ ไม่มีปัญหาดังกล่าว[3]
ประการที่สอง เงินทุน การขุดคลองคอดกระนั้น จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของเงินทุนที่จะนำมาใช้ ซึ่งหากเงินทุนมาจากงบประมาณของประเทศก็จะเป็นเรื่องที่ดี และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของเอกราชในทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ถูกแทรกแซงอธิปไตยของชาติทางเศรษฐกิจ แต่หากเป็นการลงทุนโดยใช้เงินทุนของต่างประเทศก็อาจจะต้องเสียอธิปไตยของชาติทางเศรษฐกิจไปให้กับบริษัททุนของต่างประเทศ
ดังปรีดีได้อธิบายว่า การขุด คลองคีล และ คลองโครินธ์ ซึ่งได้ใช้จ่ายเงินของประเทศนั้นๆ เอง จึงไม่มีปัญหาอันใดที่ต่างประเทศจะแทรกแซงในธุรกิจอันเป็นไปตามอธิปไตยของชาตินั้น แต่สำหรับ คลองสุเอซ นั้นก็รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่า ต้องใช้ทุนของหลายประเทศ อันทำให้ไอยคุปต์ต้องเสียอธิปไตยในเขตคลองนั้นไป
ส่วนการขุด คลองปานามา นั้น เดิมฝรั่งเศสได้รับสัมปทานจากประเทศโคลัมเบีย ซึ่งเป็นเจ้าของเขตปานามา แต่บริษัทนั้นขุดไปไม่สำเร็จ การงานต้องหยุดชะงักลงและมีการชำระบัญชีบริษัท ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ทำการเจรจากับโคลัมเบียเพื่อขอสัมปทาน รัฐบาลโคลัมเบียนั้นได้ประวิงการสัตยาบันตกลงกับสหรัฐอเมริกาเพื่อเกี่ยงที่จะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนขบวนการเอกราชของปานามาเป็นเหตุให้ปานามาสามารถแยกประเทศออกจากโคลัมเบียได้ และประเทศปานามาก็ทำสนธิสัญญายกเลิกเขตคลองปานามาให้อยู่ในความอารักขาของสหรัฐอเมริกา ฉะนั้น ปัญหาเรื่องทุนก็เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดและอาจเป็นเหตุให้มีการแบ่งแยกดินแดนตั้งเป็นประเทศใหม่ เช่น ประเทศปานามา เป็นต้น[4]
ประการที่สาม ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ปรีดีได้แสดงให้เห็นว่า การขุดคลองนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้การขุดคลองคอดกระนั้นมีปัญหาและไม่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยสรุปได้ดังนี้ โดยทั่วไปนั้น ก็เป็นที่เห็นประจักษ์อยู่แล้วสำหรับ คลองสุเอซ และ คลองปานามา ส่วน คลองคีล กับ คลองโครินธ์ ไม่มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ
"สำหรับการขุดคลองคอดกระในสมัยที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่นั้นเห็นว่าปัญหามิได้อยู่แต่เพียงที่เราจะต้องระมัดระวังระบบอาณานิคมอังกฤษอย่างเดียวเท่านั้น คือ ต้องระลึกถึงตัวอย่างของคลองอื่นๆ ที่จะมีผลในทางการเมืองตามมาอีกด้วย ถ้าหากเราไม่ระมัดระวังให้ดีและถ้าคิดหาทุนโดยการกู้เงินจากต่างประเทศแทนที่จะเอาทุนของเราเองแล้วจะทำให้มีภาระหลายอย่างติดตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขืนใช้วิธีกู้ยืมจากต่างประเทศแล้ว ก็จะทำให้เราผูกพันกับเจ้าหนี้ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย เราจะต้องเอาเยี่ยงคลองคีลของเยอรมันและคลองโครินธ์ของกรีก ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของชาตินั้นเด็ดขาด ไม่เอาวิธีการอย่างคลองสุเอซ หรือ คลองปานามา"[5]
บทเรียนจากต่างประเทศนั้นเป็นแนวทางที่ดีสำหรับประเทศไทยเมื่อจะดำเนินการขุดคลอง ซึ่งปรีดีชี้ว่า ประเทศไทยควรจะใช้วิธีการเช่นเดียวกับรัฐประชาธิปไตยควรทำ ทั้งในแง่ของการไม่บังคับใช้แรงงาน การจัดหาแหล่งเงินทุนที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเป็นหนี้ และการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
บทสรุปแห่งการขุดคลองของปรีดี เจตนารมณ์ของการขุดคอคอดกระเพื่อทำคลองในทรรศนะของปรีดีนั้นเพื่อมุ่งหมายจะให้เป็นหนทางของการสร้างความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจของชาติ โดยประกันการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับประเทศ โดยหลีกเลี่ยงปัญหาที่ต่างประเทศเคยพบเจอ
[1] ระพีภรณ์ เลิศวงศ์วีระชัย, ‘การขุดคอคอดกระ’ ในชุมพล เลิศรัฐการ (บรรณาธิการ) วิชาการรัฐศาสตร์ 2544-2545 (สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ 2545) 9 ; และ Amonthep Thongsin, ‘The Kra Canal and Thai Security’ (Master of Science in Resource Planning and Management for International Defense, Naval Postgraduate School, 2002) 9.
[2] ปรีดี พนมยงค์, ‘แนวคิดการขุดคลองที่คอคอดกระ: เอกราชทางเศรษฐกิจของประเทศไทย’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 30 มีนาคม 2564) https://pridi.or.th/th/content/2021/03/653 สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2565.
[3] เพิ่งอ้าง.
[4] เพิ่งอ้าง.
[5] เพิ่งอ้าง.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
การขุดคอคอดกระ : ประวัติศาสตร์อันยาวนานของโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย