ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การขุดคอคอดกระ : ประวัติศาสตร์อันยาวนานของโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

9
กุมภาพันธ์
2565

การริเริ่มแนวคิดและโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยในสมัยอยุธยา

การขุดคลองไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งกลายมาเป็นมรดกจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการขุดคลองนั้นมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาระบบคมนาคมเพื่อการสัญจรและเกี่ยวพันกับการโยกย้ายกำลังพลเพื่อประโยชน์ในการทำสงคราม

ตัวอย่างคลองสำคัญหนึ่งก็คือ คลองมหาชัย-สนามชัย (คลองพระพุทธเจ้าหลวง-มหาไชยชลมารค) เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน[1] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่นระยะทางในการเดินทางไปเมืองเพชรบุรี ซึ่งสามารถข้ามด่านสิงขรไปเข้าตะนาวศรีและมะริดต่อได้[2]

 

ภาพแสดงเส้นทางคลองมหาชัย-สนามชัย

 

ในส่วนของการขุดคลองคอดกระนั้น เมื่อพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3) พ.ศ. 2220 โดย มงซิเออ เดอ ลา มาร์ (De La Mar) วิศวกรชาวฝรั่งเศสที่เข้ามากับคณะราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศส ได้ทำการสำรวจเพื่อหาเส้นทางการค้าทางทะเลใหม่ระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน

โดยจากการศึกษาของ มงซิเออ เดอ ลา มาร์ นั้นพบว่า สามารถขุดคลองข้ามคอคอดกระจากสงขลาเชื่อมไปยังทวายได้ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเล็งเห็นความได้เปรียบในประเด็นดังกล่าวจากการค้าเหนือประเทศยุโรปที่ควบคุมช่องแคบมะละกาในขณะนั้น[3] โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวดัชต์และชาวโปรตุเกส 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสมเด็จพระนารายณ์สิ้นพระชนม์ และเกิดการเปลี่ยนราชวงศ์จากราชวงศ์ปราสาททองมาเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งมีนโยบานต่อต้านชาวต่างชาติทำให้โครงการดังกล่าวยุติลงไป

 

โครงการขุดคลองคอดกระในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

แนวคิดเกี่ยวกับการขุดคลองคอดกระเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยโดยสามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในช่วงปี พ.ศ. 2336 (ช่วงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ; รัชกาลที่ 1) โดย สมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทรงมีพระราชดำริจะขุดคลองยุทธศาสตร์ที่บริเวณอำเภอกระบุรี เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อใช้ประโยชน์ในการเดินเรือในการรบกับพม่า[4] โดยการนำทัพเข้าไปเสริมเมื่อเมืองชายฝั่งทะเลอันดามันถูกโจมตี[5] ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาในการเดินเรือที่เดิมจะต้องร่องเรือจากอ่าวไทยไปอ้อมช่องแคบมะละกา 

อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการขุดคลองอย่างจริงจัง และในช่วงแรก แนวคิดเกี่ยวกับการขุดคลองคอดกระนั้น ให้ความสำคัญกับการขุดคลองเพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงการทหารมากกว่าในด้านเศรษฐกิจ

ในเวลาต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2396 – 2411 ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แนวคิดเกี่ยวกับการขุดคลองคอดกระได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยข้อเสนอของชาวอังกฤษและฝรั่งเศส

โดยในปี พ.ศ. 2396 ได้มีชาวอังกฤษขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[6] เพื่อขุดคลองบริเวณคอคอดกระในจังหวัดระนองถึงจังหวัดชุมพรในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นที่สุด 

เมื่อเริ่มดำเนินการขุดคลองไปได้ระยะเวลาหนึ่งโครงการดังกล่าวก็ต้องเป็นอันล้มเลิกไป เนื่องจากวิศวกรชาวอังกฤษพบว่า เทือกเขาตะนาวศรีเป็นอุปสรรคสำคัญในการขุดคลองผ่านบริเวณดังกล่าว ซึ่งในการจะดำเนินการเช่นว่านั้นได้ ต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก จึงเป็นเหตุให้โครงการดังกล่าวต้องยุติลง[7]

 

ภาพแสดงส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทย

ที่มา : กรมศิลปากร, ‘วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์’ (กรมศิลปากร 2544) 2 อ้างใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, ‘ปักษ์ใต้สมัยอยุธยา เริ่มจากเขต จ. ประจวบคีรีขันธ์’ (มติชนออนไลน์, 12 มกราคม 2560) <https://www.matichon.co.th/columnists/news_424702> สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565.
ที่มา : กรมศิลปากร, ‘วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์’ (กรมศิลปากร 2544) 2 อ้างใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, ‘ปักษ์ใต้สมัยอยุธยา เริ่มจากเขต จ. ประจวบคีรีขันธ์’ (มติชนออนไลน์, 12 มกราคม 2560) <https://www.matichon.co.th/columnists/news_424702> สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565.

 

อย่างไรก็ดี ในเวลานั้นอังกฤษได้เข้ายึดพื้นที่ในบริเวณช่องแคบมะละกาเพื่อใช้เป็นสถานีทางการค้าของอังกฤษได้สำเร็จ ทำให้อังกฤษได้รับผลประโยชน์จากสถานีทางการค้าในบริเวณช่องแคบมะละกาอย่างเต็มที่ การขุดคลองจึงไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้ากับอังกฤษ[8] ในส่วนของรัฐบาลสยามนั้น นับจากช่วงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมาจนถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คู่สงครามสำคัญของสยามอย่างพม่าได้ลดบทบาทความสำคัญลงเนื่องจากภายแพ้ในสงครามให้กับประเทศอังกฤษ  ดังนั้น ความจำเป็นที่จะขุดคลองเพื่อใช้ประโยชน์ในการส่งกำลังทหารจึงลดลง

ในเวลาต่อมาเมื่อมีชาวฝรั่งเศสมาขอพระบรมราชานุญาตเพื่อขุดคอคอดกระต่อจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2401 - 2411 รัฐบาลของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปฏิเสธ นอกจากนี้ ทรงเกรงว่าหากขุดคอคอดกระสำเร็จ สยามอาจจะต้องสูญเสียแหลมมลายูให้แก่ฝรั่งเศส เช่นเดียวกันกับในสมัยของ พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ซึ่งทรงไม่เห็นประโยชน์ของสยามในการขุดคลอง และทรงมีความกังวลต่อภัยความมั่นคงของชาติ[9]

 

การกลับมาอีกครั้งของโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ในปี พ.ศ. 2478 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายใต้รัฐบาลของ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้รื้อฟื้นและเสนอแผนการในการขุดคลองบริเวณคอคอดกระเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่โครงการดังกล่าวก็มีเหตุให้ต้องยุติลงเนื่องจากประสบกับปัญหาด้านงบประมาณของประเทศ[10] ทำให้โครงการดังกล่าวไม่ได้ถูกดำเนินการ

“รัฐบาลไทยรับว่า จะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน”

จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นประเทศไทยโดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามโดยเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลจักรวรรดิญี่ปุ่น และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับฝ่ายอักษะในสงคราม แต่ด้วยบทบาทการขับเคลื่อนของขบวนการเสรีไทยนั้น ทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในสถานะของผู้แพ้สงคราม แต่ก็ถูกกำหนดให้ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้กับประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร, บริเตนใหญ่)

ในปี พ.ศ. 2489 ประเทศอังกฤษได้ดำเนินการเจรจาเพื่อยุติสภาวะสงครามกับประเทศไทย โดยกำหนดเงื่อนไขว่าประเทศไทยจะต้องยอมตกลงภายใต้สัญญาความตกลงสมบูรณ์แบบ (ดูเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆ จากความตกลงสมบูรณ์แบบ ใน ความตกลงสมบูรณ์แบบและปัญหาข้าว) ซึ่งสัญญาความตกลงสมบูรณ์แบบ มีข้อสำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยก็คือ ประเทศอังกฤษกำหนดไว้ในสนธิสัญญาว่า “รัฐบาลไทยรับว่า จะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน”[11]

ผลของความตกลงสมบูรณ์แบบจึงกลายมาเป็นข้อจำกัดให้กับประเทศไทยในการดำเนินโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย โดยประเทศไทยต้องระงับแนวคิดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 12 ปี[12] ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนั้นส่วนหนึ่งอาจมองว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของดินแดนอาณานิคมอังกฤษในมาลายา กับอีกเหตุผลหนึ่ง คือ อังกฤษแสดงความเห็นว่า การขุดคลองเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยจะทำให้เกิดภัยคุกคามความปลอดภัยของอินเดียในอารักขาของอังกฤษ ถ้าญี่ปุ่นสามารถยึดครองดังกล่าวได้และใช้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการขนส่งกำลังทหาร[13]

อย่างไรก็ดี โครงการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยนั้นไม่ได้ถูกพับแผนเก็บไว้ไปตลอด แนวคิดเกี่ยวกับการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยยังคงถูกพูดถึงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการศึกษาความเป็นไปได้อยู่ตลอด ดังนี้

 

 

  • พ.ศ. 2501 รัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้มีความคิดที่จะขุดคอคอดกระอีกครั้ง แต่รัฐบาลไม่สามารถหาข้อยุติในผลดี-ผลเสียแก่ประเทศได้[14]
  • พ.ศ. 2503 นายเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด และบริษัท แหลมทอง จำกัด ได้ขออนุญาตขุดคลองคอดกระ แต่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอให้ระงับเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการแบ่งแยกดินแดน[15]
  • พ.ศ. 2514 รัฐบาลได้อนุญาตให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองคอดกระ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไม่เอื้ออำนวย[16]
  • พ.ศ. 2515 นายเชาว์ ได้เสนอผลการศึกษาโครงการขุดคลองคอดกระ โดยในครั้งนี้นายเชาว์ ได้ว่าจ้างบริษัทของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นที่ปรึกษา[17]  โดยคณะรัฐมนตรีลงนามรับทราบ แต่ยังไม่ได้ประกาศนโยบาย เนื่องมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้รัฐบาลของจอมพล ถนอม ต้องเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ ทำให้โครงการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น[18]
  • พ.ศ. 2525 รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการขุดคลองคอดกระ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ในปี พ.ศ. 2526[19]
  • พ.ศ. 2526 พลโท หาญ ลีลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีดำริจะรื้อฟื้นโครงการขุดคลองคอดกระขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่โครงการดังกล่าวถูกระงับเนื่องจากมีความกังวลว่าจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคง[20]
  • พ.ศ. 2540 รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีแนวความคิดที่จะนำโครงการขุดคลองคอดกระมาดำเนินการอีกครั้ง แต่ยังมิได้ดำเนินการใดๆ รัฐบาลของพลเอกชวลิต ได้สิ้นสุดลงด้วยการลาออกทำให้โครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการ[21]
  • พ.ศ. 2542 ในช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งญัตติด่วนเกี่ยวกับการขุดคลองคอดกระเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวม 2 ฉบับ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2542 รับทราบญัตติดังกล่าว และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการแล้วแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป[22]
  • พ.ศ. 2544 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ประกาศนโยบายที่จะสานต่อโครงการขุดคลองคอดกระ โดยให้เหตุผลว่าการขุดคลองจะช่วยนำไปสู่การจ้างงานและการลงทุนทำให้สามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้แห่งชาติเพื่อศึกษาความไปได้ในการขุดคลอง โดยกระทรวงคมนาคมโดยใช้เวลา 18 เดือนในการศึกษาและเปิดผลการศึกษาความเป็นไปได้ต่อสาธารณชนเป็นเวลา 6 เดือน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นกับสาธารณชนต่อไป[23]  อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง[24]
  • พ.ศ. 2559 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเส้นทางสายใหม่ทางทะเลของประเทศจีนและประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยร่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางทะเล[25]
  • พ.ศ. 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559 ว่าการขุดคลองคอดกระอยู่ในช่วงการศึกษาข้อดีข้อเสีย ปัญหาชายแดนภาคใต้แก้ได้หรือยัง ยังมีพื้นที่อื่นที่มีปัญหาอีก ไม่ใช่ว่าขุดแล้วจะมีคนมาใช้ ถ้าแพงกว่าของเดิม เขาจะมาไหม  ทั้งนี้ ไม่ได้ปฏิเสธว่าดีหรือไม่ดี มีหลายอย่างโครงการคอคอดกระ มีสะพาน ถนนข้าม แต่ถามว่าเงินมีไหม จะเอาเงินจากไหน ถ้าคิดก็คิดได้หมดแต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา[26]

 

แนวคิดเกี่ยวกับการขุดคลองเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยเป็นแนวคิดที่มีมาอย่างยาวนาน โดยสามารถสืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยวัตถุประสงค์ของการศึกษาโครงการดังกล่าว เป็นไปเพื่อศึกษาการสร้างเส้นทางการค้าใหม่สำหรับประเทศตะวันตกเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ทางการค้า ในขณะที่ทางสยามมองประโยชน์ของการสร้างเส้นทางเพื่อประโยชน์ในเรื่องของความมั่นคงในการส่งกำลังทหาร ก่อนจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจในระยะเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงหลายครั้งโครงการขุดคลองเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยได้ถูกเลื่อนออกไปเพราะปัญหาในเรื่องความมั่นคง ทั้งในแง่ของความกังวลว่าจะทำให้ถูกใช้เป็นเหตุในการแบ่งแยกดินแดน การถูกอ้างเป็นข้ออ้างในการเสียดินแดน หรือการถูกใช้เป็นคลองยุทธศาสตร์ในการลำเลียงกำลังพล ซึ่งข้ออ้างในลักษณะดังกล่าวอาจจะล้าสมัยไปแล้วในยุคที่การทำสงครามแย่งชิงดินแดนเกิดขึ้นได้ยาก และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการสันติวิธี

การพิจารณาว่าการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยจึงควรพิจารณาในเชิงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ หรือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า

 

[1] สันนิษฐานกันว่าเป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี) หรือที่คนทั่วไปรู้เรียกพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ โดยคลองดังกล่าวปรากฏในโคลงพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต โดยคลองดังกล่าวเริ่มขุดขึ้นในปี พ.ศ. 2248 – 2264 แล้วเสร็จในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสรรเพชญ์ที่ 9 หรือสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ.

[2] ประวัติศาสตร์นอกตำรา, ‘พันท้ายนรสิงห์ เรื่องจริง หรือ นิยาย กระบวนการสร้างใหม่ ผลิตซ้ำ: ประวัติศาสตร์นอกตำรา Ep.7’ (26 พฤศจิกายน 2560) <https://www.youtube.com/watch?v=7CapHFnK6ew> สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565.

[3] Amonthep Thongsin, ‘The Kra Canal and Thai Security’ (Master of Science in Resource Planning and Management for International Defense, Naval Postgraduate School, 2002) 6.

[4] ระพีภรณ์ เลิศวงศ์วีระชัย, ‘การขุดคอคอดกระ’ ในชุมพล เลิศรัฐการ (บรรณาธิการ) วิชาการรัฐศาสตร์ 2544-2545 (สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ 2545) 90.

[5] Amonthep Thongsin, (Footnote 3) 7.

[6] ระพีภรณ์ เลิศวงศ์วีระชัย, (เชิงอรรถที่ 4) 90.

[7] Amonthep Thongsin, (Footnote 3) 8.

[8] ระพีภรณ์ เลิศวงศ์วีระชัย, (เชิงอรรถที่ 4) 90.

[9] เพิ่งอ้าง 90-91.

[10] เพิ่งอ้าง 91; และ Amonthep Thongsin, (Footnote 3) 9.

[12] Amonthep Thongsin, (Footnote 3) 9.

[13] ระพีภรณ์ เลิศวงศ์วีระชัย, (เชิงอรรถที่ 4) 91.

[14] เพิ่งอ้าง 91.

[15] เพิ่งอ้าง 91.

[16] เพิ่งอ้าง 91.

[17] Amonthep Thongsin, (Footnote 3) 10.

[18] ระพีภรณ์ เลิศวงศ์วีระชัย, (เชิงอรรถที่ 4) 91.

[19] เพิ่งอ้าง 91.

[20] เพิ่งอ้าง 91.

[21] เพิ่งอ้าง 91.

[22] เพิ่งอ้าง 91.

[23] Amonthep Thongsin, (Footnote 3) 10.

[24] ระพีภรณ์ เลิศวงศ์วีระชัย, (เชิงอรรถที่ 4) 91.

[25] ทีมข่าวเฉพาะกิจ, ‘หลากเสียงสะท้อน ขุด-ไม่ขุด “คอคอดกระ” ตั้งแต่สมัย “พระนารายณ์” วันนี้ก็ยังไม่เกิด !’ (มติชนออนไลน์, 15 มกราคม 2559) <https://www.matichon.co.th/politics/news_3649> สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565.

[26] เพิ่งอ้าง.