เข็มหมุนกลับ
ในวันที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เดินทางออกจากประเทศไทยไปนั้น ได้มีหนังสือชื่อ “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม” นำออกแจกจ่ายโฆษณา เป็นจำนวนถึง ๓,๐๐๐ เล่ม มากพอดูสำหรับการลอบตีข้างหลังและการกระทืบซ้ำ
ท่านผู้อ่านโปรดทราบด้วยว่า ในขั้นต้นข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะไม่นำเรื่องนี้มาเขียนเพราะได้อ่านได้พิจารณาไตร่ตรองแล้ว เช่นเดียวกับผู้ที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ แม้เล็กน้อยทำนองเดียวกับข้าพเจ้าว่าจะเป็นการก่อให้ความเสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์ที่เคารพสักการะของเรา แม้พระองค์ ณ นี้จะได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วก็ตาม พระบรมราชวินิจฉัยฯ หรือที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า “สมุดปกขาว” นั้นมีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วๆ ไปว่า
๑. ถ้อยคำสำนวนภาษาที่ใช้ในหนังสือเล่มนั้น หาใช่ภาษาที่แสดงว่าเป็นสำนวนภาษาของบุคคลที่เจริญแล้วไม่ เป็นภาษาสำนวนหยาบคาย ซึ่งจะเป็นคำกล่าวของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมอันประเสริฐมิได้ และ
๒. คำวิจารณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นการวิจารณ์และแสดงออกด้วยเจตนาร้ายทั้งนั้น มองในแง่ร้าย และยึดมั่นอยู่ด้วยอคติทั้งปวง เป็นคำวิจารณ์เพื่อทำลายแต่อย่างเดียว เอาหลักการของคอมมูนิสม์มาตั้งแล้วผลักดันข้อความที่ปรากฏในร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ เท่าที่จะหาได้เข้าหาหลักการของคอมมูนิสม์ แล้วสรุปลงให้เห็นชัดว่า เค้าโครงการนั้นเป็นคอมมูนิสม์ และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมูนิสม์ ซึ่งถ้าเป็นคำวิจารณ์ของพระมหากษัตริย์พระปกเกล้าฯ แล้ว พระองค์จะไม่ทำเช่นนั้น เพราะพระองค์ย่อมทรงทราบอยู่ว่า หลักการต่างๆ ในโครงการเศรษฐกิจนั้นมีใช้อยู่ในโครงการเศรษฐกิจของประเทศประชาธิปไตย ที่เจริญแล้วมากมายหลายประเทศ และแล้วพระองค์ผู้ซึ่งหวังดีต่อชาติ ย่อมจะให้คำวินิจฉัยไปในทางที่ช่วยกันส่งเสริมสร้างความเจริญในทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ชาติ มิใช่ในทางทำลายชาติ หรือแม้แต่ทำลายราษฎรของพระองค์ท่าน
๓. ข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นก็คือ พระปกเกล้ามิได้ทรงวินิจฉัยหรือเขียนคำวินิจฉัยเรื่องนี้โดยพระองค์เอง เป็นอย่างนี้ แต่พวกขุนนางเก่าผู้ภักดีต่อราชบัลลังก์จนเกินควร ประจบสอพลอและทั้งเป็นผู้มีอำนาจที่สุดในเวลานั้นเป็นผู้เขียนขึ้น แล้วแอบอ้างในนามพระองค์ท่าน พระยามโนฯ มรณะไปแล้ว พระยาศรีวิสารวาจา หากยังคงมีชีวิตอยู่พอจะบอกได้แก่ประชาราษฎรไทยว่า ผู้ใดเป็นผู้เขียน
๔. อีกประการหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ คือ ถ้าเป็นพระปกเกล้าฯ ทรงวิจารณ์เรื่องนี้เอง ก็พึงเข้าใจว่าได้มีบุคคลบางคนอาจเป็นขุนนางที่กุมอำนาจในเวลานั้น หรือเจ้าบางองค์ที่มีอิทธิพลเหนือพระองค์ท่านใช้วิธีการบีบบังคับให้ท่านเห็นดีเห็นชอบ หรือให้ท่านเขียนขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า พระปกเกล้าฯ ไม่ได้ทรงเขียนคำวิจารณ์ ข้าพเจ้าขอกล่าวต่อไปอีกเล็กน้อยว่า นอกจากเหตุผลบางประการที่กล่าวข้างต้น คำวิจารณ์นี้มีเจตนาที่จะให้ชะตากรรมของประเทศไทยเป็นไปตามยถากรรมอย่างที่เคยเป็นมาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเศรษฐกิจของชาติ ชีวิตของราษฎรไทยเป็นมาอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น เพราะในคำกล่าวที่ว่า “ในเมืองไทย แม้แต่หมาก็ไม่อดตาย” นั้นเป็นข้อยืนยันว่า เขาต้องการให้เมืองไทยราษฎรไทยเป็นไปอย่างนั้น ไม่ต้องการที่จะให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ถ้าราษฎรไทยเคยกินข้าวกับพริกกับเกลือ ปลาร้าปลาเค็มมาอย่างไรก็ปล่อยให้กินและอยู่ไปอย่างนั้น ส่วนคนอีกพวกหนึ่งสุขสบายและหมาของคนพวกนี้มีความเป็นอยู่ดีกว่าราษฎรไทยเสียอีกถ้าถึงคราวที่บ้านเมืองจะล่มจมพินาศพวกนี้ก็เอาตัวรอด ออกไปอยู่นอกประเทศเสีย
วิธีการเศรษฐกิจของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ปรากฏในเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น ในสมัยต่อมา เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้าบริหารราชการแผ่นดิน ก็ได้นำมาใช้ แม้จะวิจารณ์มาก่อนว่าทำไม่ได้ใช้ไม่ได้ เช่น การออกสลากกินแบ่ง ภาษีทางอ้อม ธนาคารชาติไทย และอื่นๆ ซึ่งจะปรากฏในหนังสือเล่มนี้ต่อไป พร้อมกับแสดงให้เห็นว่า วิธีการเศรษฐกิจในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ นั้น เขามีกันอย่างไรด้วย
ในครั้งนั้น สมุดปกขาว นี้ได้ก่อความขบขันให้แก่ราษฎรไทยผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการเศรษฐกิจ และชาวต่างประเทศในเมืองไทยเป็นอันมาก เพราะเขารู้ว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั้น หาใช่เป็นเรื่องคอมมูนิสม์แต่ประการใดไม่
แล้วก็เหตุใดเล่า ที่ทำให้เกิดสมุดปกขาวนี้ออกมา เหตุนั้นก็คือ เหตุทางการเมืองเพราะการต่อสู้เพื่อผลทางการเมืองในเวลานี้ ปรากฏชัดว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้ที่เสียอำนาจกับผู้ที่ได้อำนาจ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ที่แล้วมา ฝ่ายเสียอำนาจก็คือ ขุนนาง และเจ้า ฝ่ายได้อำนาจก็คือราษฎรและคณะราษฎร หรือผู้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองนำระบอบประชาธิปไตยมาสู่ราษฎรไทย
จริงอยู่อาจจะเป็นการยากที่จะนำประเทศไทยไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างเด็ดขาดเช่นแต่ก่อน แต่ก็ต้องเป็นได้ว่าสิทธิทั้งหลายที่ราษฎรได้มาตามรัฐธรรมนูญจะต้องหดลง เพราะเจ้าหรือขุนนางจะต้องยืดอำนาจนั้นไว้ แม้รัฐธรรมนูญยังอยู่ ก็หาใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่ เอกสิทธิ์ยังคงมีอยู่และผู้มีเอกสิทธิ์ผู้ใช้อำนาจปกครองราษฎรอย่างที่เคยปกครองมาก็คือ เจ้าและขุนนางนั่นเอง ถ้าการต่อสู้นี้ คณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติพ่ายแพ้ ก็จงรีบหาทางหลบหนีออกไปให้พ้นเสียเถิดหรือจะรอรับคมดาบก็ตามที
โอกาสที่จะประสบความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรผู้ทำการปฏิวัติใกล้เข้ามาทุกที เสมือนหนึ่งว่าวาระกลางวันค่อยๆ หมดไปสู่วาระกลางคืน เพราะเมื่อ “สมอง” ของคณะต้องจากไปแล้ว ก็ไม่เป็นการยากอันใด ที่จะทำลายส่วนที่เหลืออยู่ให้พินาศย่อยยับลง ไป
พฤติการณ์เกิดขึ้น อันปรากฏจากสมุดปกขาวนี้ “คณะราษฎร” โดยเฉพาะเพื่อนร่วมตายของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ยังยึดมั่นอยู่ในอุดมคติมากคน ได้รู้สึกและมองเห็นภัยอันจะเกิดขึ้นแก่คณะ มองเห็นภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาราษฎร มองเห็นภัยที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยให้สูญไป และภัยอันนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นในวันต่อมา
วันรุ่งขึ้น เมื่อพระยามโนฯ ไม่อาจทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์อันเกิดขึ้นจากราษฎร ข้าราชการ และโดยเฉพาะจากหนังสือพิมพ์ เพราะการกระทำของพระยามโนฯ ก็ได้หาทางออก เรียกผู้แทนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับไปประชุมที่วังปารุสกวัน ในวันที่ ๑๓ เมษายน นั้น เพื่อให้คำพูดของตนเป็นที่รู้สึกแก่หนังสือพิมพ์ว่าควรเชื่อถือและเป็นความจริง พระยามโนฯ จึงดึงเอาพระยาราชวังสันเข้าไปนั่งเป็นพยานโดยปริยายในที่ประชุมนั้น และตลอดการประชุม พระยามโนฯ ก็มักจะอ้างถึงพระยาราชวังสันว่า ได้รู้ได้เห็น ซึ่งความจริงพระยาราชวังสันไม่ได้พูดอะไรออกมาสักคำเดียว
การให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ของพระยามโนฯ พระยามโนฯ ได้ปิดบังความจริงเสียสิ้น เป็นการต่อเติมให้ร้ายเกินความจริง เพิ่มเติมเข้าไปในคำแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนฯ ที่ปรากฏมาแล้วในบทก่อนนั้น พระยามโนฯ ไม่ได้แจ้งแก่หนังสือพิมพ์ว่า ได้มีการตกลงให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โฆษณาเค้าโครงการเศรษฐกิจของตนในนามของตนเอง แต่กลับตี ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซ้ำลงไปว่า ดร. ปรีดี พนมยงค์ ไม่ยอมให้มีการแก้ไขโครงการเศรษฐกิจนั้น ซึ่งเป็นความเท็จ ไม่ยอมให้ราษฎรทำงานกสิกรรม งานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการผิดจากที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ชี้แจงและเขียนไว้ในเค้าโครงการ ยิ่งกว่านั้น พระยามโนฯ ซึ่งเวลานั้นว่าตนได้อำนาจมาแล้ว ยังได้แสดงเจตนาภายในอันแท้จริงของตนเองออกมาต่อหนังสือพิมพ์ว่า “พวกก่อการพูดแต่เรื่องที่จะให้โว๊ต[1]ใช้โครงการเศรษฐกิจนั้นแทบทุกคราวที่ประชุม” นี่ต้องเป็นสิ่งที่แน่นอน เพราะพวกก่อการที่ทำการปฏิวัติมา ส่วนมากยังต้องการที่จะทำการปฏิรูปการเศรษฐกิจและการสังคม ตามเจตจำนงเดิมของตน และก็เพราะการเศรษฐกิจระบอบยถากรรม และการปล่อยให้ราษฎรไทยมีความเป็นอยู่และชีวิตอย่างยถากรรมนั้นแหละ จึงได้ปฏิวัติ และต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อบรรลุความสำเร็จตามเจตจำนงนั้น ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการให้โว๊ตก็คือพวกพระยามโนฯ นั้นเอง พระยามโนฯ ได้แถลงข้อความตีลงไปครั้งแล้วครั้งเล่าที่ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ที่คณะผู้ก่อการว่าจะทำประเทศให้เป็นคอมมูนิสม์ถึงแก่ความพินาศฉิบหายเพื่อจะให้ราษฎรและหนังสือพิมพ์หลงเชื่อ แล้วพากันประณามกิจการทั้งหลายที่คณะก่อการปฏิวัติได้ทำมาตั้งแต่ต้นและต่อหนังสือพิมพ์
พระยามโนฯ ได้ใช้คำพูดเป็นเชิงขู่ ที่จะไม่ให้หนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ตนต่อไป “ยังมีหนังสือพิมพ์บางฉบับ” พระยามโนฯ กล่าว “กล่าวใส่ร้ายข้าพเจ้าเองด้วยประการต่างๆ...รัฐบาลไม่ประสงค์จะปิดปากหรืออุดปากหนังสือพิมพ์เลย ทีเดียว…หวังว่าคงจะจำถ้อยคำของข้าพเจ้า…” แต่นี่ก็เป็นการลอบตี ดร.ปรีดี พนมยงค์ ข้างหลัง เพราะในวันนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ พร้อมภริยาคู่ชีวิต และเพื่อนร่วมตาย ๓ คน ได้ใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศไทยแล้ว
เมื่อการกระทำของพระยามโนฯ กับพวกปรากฏเป็นลำดับมา ตั้งแต่ละเมิดรัฐธรรมนูญห้ามข้าราชการไม่ให้เข้าเป็นสมาชิกสมาคม -ให้ทหารคุมสภา - ปิดสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญ -สมุดปกขาว -และให้สัมภาษณ์ขู่เชิญหนังสือพิมพ์ ใส่ร้ายคณะราษฎรที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ต่อไปจะมีอะไรอีก และก็มีคือพระยามโนฯ กับพวกและเจ้าบางองค์ได้คบคิดกันที่จะล้มพวกก่อการนี่เป็นภัยต่อพวกก่อการ และเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ต้องสงสัยและคณะผู้ก่อการที่ยังยึดมั่นอยู่ในอุดมคติจะปล่อยให้พระยามโนฯ กับพวกทั้งหลาย ทำเช่นนั้นไม่ได้ เป็นอันขาด และผู้ก่อการคนที่ไหวทันความคิดและการกระทำของพระยามโนฯ กับพวกนี้ก็คือ หลวงพิบูลสงคราม หลวงศุภชลาศัย หลวงนฤเบศร์มานิต
เมื่อเวลาล่วงเลยไป เมษายนผ่านไปแล้ว ไม่มีท่าทีว่าสภาจะเปิดได้ รัฐธรรมนูญจะได้กลับมาใช้ตามเดิม พฤษภาคมอีกเดือนหนึ่งก็ผ่านไปอีก ไม่มีอะไรที่เป็นการดีขึ้น มีแต่การรวมกันของพวกพระยามโนฯ และตระเตรียมการเท่านั้นที่เป็นต่อคณะก่อการขึ้นทุกที จนกระทั่งย่างเข้ามิถุนายน ภัยก็ปรากฏชัดแก่คณะก่อการยิ่งขึ้นทุกที ภัยอันเกิดจากพระยามโนฯ กับพวกนั้นเอง ภัยอันจะเกิดเป็นอันตรายต่อรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยนั้นเอง มิถุนายนถึงวันกลางเดือนและก็ผ่านไป คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติมาแล้วและยังยึดมั่นอยู่ในอุดมคติ ต้องตัดสินใจ “เหตุการณ์เช่นนี้ปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว” ยืมคำของพระยามโนฯ มาใช้บ้าง และแล้ว
ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๗๖ การยึดอำนาจปกครองแผ่นดินครั้งที่ ๒ โดยคณะราษฎรก็เกิดขึ้น โดย หลวงพิบูลสงคราม นายทหารเรือ หลวงศุภชลาศัย พลเรือน หลวงนฤเบศร์มานิต และบุคคลผู้ยึดมั่นในอุดมคติและคติ “ชาติเสื้อต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า คณะนี้ก็ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพระยามโนฯ ไว้ได้โดยเรียบร้อย เชิญหรือขับไล่ พระยามโนฯ ออกไป พร้อมกันนั้น คณะนี้ได้ออกประกาศฉบับหนึ่งเปิดเผยพฤติการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบันให้ราษฎรทราบ
“คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร แสร้งงดใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจการปกครอง เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ขอประกาศให้ราษฎรทั้งหลายอย่ามีความตระหนกตกใจ จงช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง”
คณะนี้ได้จัดการไปแล้ว คือ ได้โทรเลขกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ไปยังพระราชวังไกลกังวลหัวหินตามนัยที่กล่าวมาแล้ว กับได้ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งและได้แจ้งให้กระทรวงทะบวงกรมดำเนินราชการไปเช่นเคย ตำรวจนครบาลรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วไปแล้ว
พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
พ.ท. หลวงพิบูลสงคราม เลขานุการฝ่ายทหารบก
น.ท. หลวงศุภชลาศัย เลขานุการฝ่ายทหารเรือ
ในหนังสืออันแสดงความคารวะนอบน้อม ที่บุคคลทั้ง ๓ นี้มีไปถึงพระยามโนฯ เพื่อให้ลาออกนั้น ตอนหนึ่งได้แสดงให้เห็นการกระทำของรัฐบาลพระยามโนฯ ได้เป็นอย่างดี... “เห็นว่า การบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่คณะรัฐมนตรี (พระยามโนฯ) ได้ปฏิบัตินั้น ก็มีแต่จะทำให้ประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่ง ของพวกเราดำเนินไปสู่ความหายนะในที่สุดเป็นเที่ยงแท้...และขอให้ใต้เท้าซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูล…เพื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและเลือกรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป...”
เหตุการณ์ได้เป็นไปโดยเรียบร้อย พระยามโนฯ ลาออก พระปกเกล้าฯ เสด็จจากหัวหินมาเปิดสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการประชุมปรึกษาตามระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน นั้น ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญสลบไป ๘๑ วัน วันที่จะต้องจารึกลงไว้ในดวงจิตต์ของราษฎรไทยผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายโดยทั่วกัน
การกระทำของคณะราษฎรใหม่นี้ มิได้กระทบกระเทือนต่อพระปกเกล้าฯ แต่ประการใด เพราะพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยึดในระบอบประชาธิปไตยตลอดมา และบัดนี้พระองค์พ้นจากอิทธิพลการกดดันของเจ้าและขุนนางที่มีอยู่เหนือพระองค์ท่านแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน วันครบรอบปีของการปฏิวัติ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ไม่มีพระยาทรงฯ ไม่มีพระประศาสน์ฯ ไม่มีพระยาฤทธิฯ ไม่มีแม้แต่นายประยูร ภมรมนตรี
พระยาพหลฯ นายกใหม่ได้แจ้งต่อสภาว่า “ข้าพเจ้ามิใช่บุคคลที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของชาติ แต่เพราะถ้าหากข้าพเจ้าดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้นานไปแล้ว จะทำให้เสียประโยชน์ของประเทศชาติไปได้ เพราะความไม่สันทัดของข้าพเจ้า” ท่านเจ้าคุณได้รับปากเพียงแต่จะดำรงตำแหน่งในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อเพียง ๑๕ วันเท่านั้น แล้วให้สภาและพระมหากษัตริย์เลือกบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และเป็นการแน่ว่า ถ้า ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังอยู่กับท่าน บางที ท่านเจ้าคุณแม้จะพูดอย่างนี้ก็คงจะเบาใจยิ่งกว่านี้ หรือบางทีท่านจะไม่พูดแสดงความรู้สึกของท่านดังนี้เลย
พระยามโนฯ หลังจากออกจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ไปใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ ณ เกาะปีนังจนตราบสิ้นชีวิตที่นั่น เมื่อสิ้นมหาสงครามครั้งที่ ๒ นี้ ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้เบื้องหลังฉะเพาะที่เกาะปีนัง เป็นราคาไม่ใช่น้อย แม้แต่สถานที่เก็บศพของเจ้าคุณมโนฯ ที่วัดปิ่นบังอร เกาะปีนัง ก็สมควรแก่ฐานะของท่านที่เคยเป็นขุนนางเก่ามา
ส่วนพระยาทรงฯ กับศิษย์คนสำคัญๆ ในเวลาต่อมาแม้ครั้งก่อนจะได้ร่วมคำสาบานกันมาก็ตาม ไม่อาจทนหน้าเพื่อนสนิท และเมื่อการกระทำของพระยาทรงฯ กับพวกยังไม่หยุดยั้ง ในที่สุด เพื่อนร่วมตายของพระยาทรงฯ นั่้นเองก็ขอให้พระยาทรงฯพร้อมกับศิษย์ออกไปอยู่นอกประเทศ และตัวพระยาทรงฯ เองได้วายชนม์ที่อินโดจีนดินแดนต่างด้าวนั้น
การกระทำของพวกเจ้าและขุนนางเก่าบางคนยังคงดำเนินการต่อไปอีก บุคคลไม่กลัวตายในคณะราษฎรสองคน คือ หลวงพิบูลสงคราม และ หลวงศุภชลาศัย จึงได้ลงชื่อในหนังสือร่วมกันมีไปยังบุคคลต่างๆ คือ พระองค์เจ้าบวรเดช พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ ม.จ.ฉัตรมงคล ม.จ.วงศ์นิรชร ม.จ.ไขแสง ระพีพัฒน์ ม.จ.โสภณภราไดร์ พระยาอธิกรณ์ประกาศ นายประยูร ภมรมนตรี และ พระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๗๖ นั้น ว่า
“...ในการยึดอำนาจการปกครองทั้งสองคราว คณะผู้ก่อการได้ยึดหลักและปฏิบัติไปในทางละมุนละม่อมเสมอ เพื่อเห็นแก่ความสงบของบ้านเมืองและความอิสรภาพของชาติไทย แต่บัดนี้ปรากฏตามทางสืบสวนว่า ท่านได้มีการประชุมและคิดอยู่เสมอ ในอันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลเป็นกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารราชการบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่จะเป็น
ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังจุ้นจ้านอีก คณะก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรงและจำต้องถือเอาความสงบของบ้านเมืองเป็นกฎหมายสูงสุด ในการกระทำการแก่ท่าน ที่กล่าวมานี้มิใช่ขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี”
ถูกแล้วจดหมายนี้ไม่ใช่การขู่เข็ญ แต่ถ้าเป็นเราๆ ได้รับก็เห็นจะต้องรีบไปหาและแสดงความบริสุทธิ์ของตนหรือหาทางออกไว้ ถ้าว่ามีความลึกล้ำอะไรอยู่ ทุกๆ คนที่ได้รับจดหมายนี้ได้ไปพบ หรือมีจดหมายแจ้งไปยังบุคคลทั้งสองนั้น เว้นแต่พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้เดียว และก็น่าจะพิจารณาว่า เวลานั้นได้มีรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินไปด้วยดีแล้ว เหตุใดบุคคลทั้งสองนี้จึงไม่เลือกเอาในทางที่จะปฏิบัติต่อผู้สงสัยเหล่านั้น โดยการกระทำทางตำรวจเป็นทางราชการ อันจะเป็นแบบแผนที่ชอบกว่านั้นเล่า ข้อนี้ฝากท่านผู้อ่านคิดเอาเอง
การกระทำของพระยามโนฯ กับพวกดั่งกล่าวแล้ว ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบจากราษฎรและสมาชิกสภาฯ ขึ้นอย่างรุนแรงภายหลังที่รัฐบาลได้เข้าบริหารโดยเรียบร้อยแล้ว นักเรียนกฎหมายประมาณ ๔๐๐ คน ได้เข้าชื่อร่วมกัน ทำคำร้องเรียนไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ณ วังปารุสกวัน ขอให้รัฐบาลเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อได้วินิจนัยว่า การที่รัฐบาลพระยามโนฯ ละเมิดรัฐธรรมนูญปิดสภานั้น ผู้ใดมีความผิดบ้างและจะควรได้รับโทษสถานใด เจ้าคุณนายกฯ ได้ชี้แจงว่า ท่านเองและคณะของท่านไม่ถือเป็นความพยาบาท แต่เมื่อราษฎรร้องเรียนมาก็จะนำเรื่องเสนอสภาเป็นทางการต่อไป นอกจากนักเรียนกฎหมายแล้ว
ในสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมได้พิจารณาญัตติของพระยาประมวญวิชาพูล ซึ่งมีว่า “...เนื่องด้วยมีราษฎรยื่นคำร้องต่อเกล้าฯ ขอให้เกล้าฯ นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เรื่องที่พระยามโนฯ เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แนะนำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๗๖ นั้น เกล้าฯ ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การกระทำของพระยามโนฯ นั้นผิด
เพราะฉะนั้นขอเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า การกระทำของพระยามโนฯ ที่กล่าวแล้วนั้น เป็นการกระทำผิดอาชญา ขอให้สภาฯ ลงมติตั้งกรรมาธิการขึ้นไต่สวนพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีคนก่อน แม้ว่ากรรมาธิการไต่สวนเห็นว่ามีความผิดแล้ว ก็ขอให้ร่างพระราชบัญญัติกำหนดโทษตามสมควรแก่ความผิดให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป”
แต่เรื่องนี้สภามิได้ดำเนินการไปอย่างใด เนื่องจากพระปกเกล้าฯ ได้มีพระราชหัตถ์เลขาถึงเจ้าคุณนายกฯ ทรงขอร้องว่า เรื่องแล้วไปแล้วอย่าให้มีอะไรกันเลย ซึ่งเจ้าคุณนายกฯ และสภาได้รับสนองพระกระแสรับสั่งทั่วหน้ากัน แต่นอกจากนั้นสภาฯ ดำเนินการตามญัตติของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งให้หาทางป้องกันมิให้ผู้ใดละเมิดรัฐธรรมนูญต่อไปอีก ยิ่งกว่านั้นสภาฯ ได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณากฎหมายที่ออกระหว่างวันที่ ๑ ถึง ๒๐ เมษายน ๒๔๗๖ ระหว่างที่สภาถูกปิด และพระยามโนฯ ดำเนินการปกครองแบบ “มโนเครซี่” กฎหมายที่สำคัญที่ออกไปครั้งนั้นก็คือ กฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลพระยามโนฯ รีบออกใช้แม้จะผิดระบอบรัฐธรรมนูญ และยิ่งกว่านั้นก็คือ
๑. ถ้าจะมีสภาฯ ต่อไป พระยามโนฯ ก็จะหาเสียงข้างมากในสภา โดยที่ได้ขยายอายุของสมาชิกให้สูงขึ้น และประสงค์จะคุมสภาฯ ไม่ใช่ให้สภาคุมรัฐบาล ตาม รัฐธรรมนูญ กับ
๒. เพื่อเลิกล้างการกระทำของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เพราะ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้ง ฉะบับที่พระยามโนฯ แก้ไขนั้น ทั้งนี้เพราะพระยามโนฯ เกลียดชังคนหนุ่มเป็นหนักหนา และโดยฉะเพาะเกลียดชัง ดร.ปรีดี พนมยงค์ซึ่งแม้จะอ่อนวัย แต่ก็แก่วิชาการและได้รับความนับถือจากศิษย์ ร.ร.กฎหมาย จากราษฎร และสภาฯ มากกว่าพระยามโนฯ
เมื่อสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้งซึ่งพระยามโนฯ แก้ไขเมื่อวันที่ สิงหาคม ๒๔๗๖ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ ได้เป็นผู้อ่านจดหมายของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ชี้แจงเรื่องกฎหมายเลือกตั้งนั้น เวลานั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ยังอยู่ในฝรั่งเศส แต่ก็ด้วยความเป็นห่วงต่อระบอบประชาธิปไตยเป็นห่วงชาติบ้านเมืองอย่างที่สุด จึงได้มีจดหมายฉะบับนั้น และนายเล้ง ศรีสมวงศ์ ก็ได้เสนอต่อสภา เอาจดหมายนั้นเป็นคำแปรญัตติร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้ง ข้อความบางตอนปรากฏดั่งที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ และ ๒ ข้างต้นนี้
เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กลับมา เรื่องต่างๆ ที่สภาฯ ได้ดำเนินการไปเกี่ยวกับพระยามโนฯ นี้ สภาฯ และรัฐบาลได้มอบให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการทั้งสิ้น
ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์. การต่อสู้เพื่ออุดมคติ, ใน, ดร.ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ สอง (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), น. 273-289
[1] คำสะกดตามเอกสารต้นฉบับ