ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วิวาทะของหนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจ และ พระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ (ตอนจบ)

13
มีนาคม
2566

การเมืองของการผลิตซ้ำ : ปัญหาของคำ “ประชาธิปก”

 

ขณะนี้ ไม่มีใครได้เห็นต้นฉบับเดิมเลย นอกเสียจากคัดลอกกันมาเป็นทอดๆ[1]

 

“นายสุจินดา” หรือชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ นักเขียนสารคดีกลุ่มอนุรักษนิยม ได้ตระหนักในข้อเท็จจริงประการนี้และได้กล่าวประโยคข้างต้นเตือนการอ้างอิงเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งสองชิ้นเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 และกล่าวซ้ำในปี พ.ศ. 2544 แต่เขาก็ไม่สามารถหลีกพ้นไปจากสิ่งที่ตนเองเตือนได้

การใช้ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ฉบับ พ.ศ 2476 เป็นเครื่องมือในการคัดค้าน คำชี้แจง เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ และลดความชอบธรรมของหลวงประดิษฐฯ ด้วยการที่ผู้ผลิตตั้งชื่อเอกสารว่า บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ แต่กลับไม่ระบุชื่อผู้เขียนให้ชัดเจน ในตอนท้ายสุดของเอกสารนั้น มีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตอาจต้องการให้เกิดความคลุมเครือ และทำให้สาธารณชนเข้าใจไปเองได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นพระบรมราชวินิจชัยของพระปกเกล้าฯ ในขณะที่หลักฐานจากคำพิพากษาศาลพิเศษเมื่อ พ.ศ. 2482 และข้อสังเกตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระปกเกล้าทำให้ไม่อาจสามารถสรุปได้ว่าพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เอกสารดังกล่าวด้วยพระองค์เอง

อย่างไรก็ตาม การผลิตซ้ำเอกสารขึ้นดังกล่าวในยุคต่อๆ มา กลับพบว่ามีการเพิ่มเติมชื่อผู้เขียนเข้าในตอนท้ายของเอกสารว่า “ประชาธิปก” เกือบทุกฉบับ และถูกใช้อ้างอิงต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการตรวจสอบ

จากการศึกษาเปรียบเทียบเนื้อหาในหนังสือที่ตีพิมพ์ซ้ำเอกสารสองชิ้นนี้หลังปี พ.ศ. 2476 อันได้แก่ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ฉบับของศักดิ์ ศิลปานนท์เมื่อปี พ.ศ. 2490 และ สมุดปกเหลืองเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ในปี พ.ศ. 2491 และฉบับนิรนามที่พิมพ์โดยโรงพิมพ์กฤษณปกรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2499 ผู้เขียนพบว่า ฉบับของศักดิ์และฉบับโรงพิมพ์กฤษณปกรณ์มีความแม่นยำตรงกับต้นฉบับในเหมือนครั้งฉบับปี พ.ศ. 2476 และปราศจากชื่อผู้เขียนตอนท้ายใน บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ

จุดเริ่มต้นของการเมืองของการแก้ไขต้นฉบับและการปรากฏตัวของคำว่า “ประชาธิปก” ท้าย บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นั้น ผู้เขียนพบอยู่ในหนังสือที่ชื่อ สามโลก (2499) ของ “อารยันตคุปต์” นักเขียนที่แทบไม่มีใครรู้จักนาม

เราอาจจะสามารถประเมินจุดยืนทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมของ “อารยันตคุปต์” ได้จากการตั้งชื่อบทต่างๆ ในหนังสือของเขาเช่น “โครงการเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ไทย” และ “โครงการหมุนเงินจากกระเป๋าราษฎร” และ “โครงการตอนพระศรีอารย์อเวจี” ทั้งนี้ “อารยันตคุปต์” ใช้ชื่อบทต่างๆ ข้างต้นเมื่อกล่าวถึงการวิวาทะของเอกสารทั้งสองชิ้น และมีความเป็นไปได้ที่ “อารยันตคุปต์” จะแก้ไข เพิ่มเติมต้นฉบับให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เขาได้ตัดเนื้อหาบทนำที่ว่าด้วย “ข้อที่ระลึกในการอ่านคำชี้แจงนี้” ที่หลวงประดิษฐฯ เขียนขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ออกทั้งหมด นอกจากนี้ยังตัดประเด็นย่อยเรื่อง “คนมั่งมี, คนชั้นกลาง, คนยากจน ก็อาจแร้นแค้น” ในหมวดที่ 2 “ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน” ออกไป ตลอดจน เพิ่มเติมคำว่า “ใช้เป็นทาส” ลงไปในหมวดที่ 3 “การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”[2] และการเพิ่มคำว่า “นายให้รางวัลแก่ทาส” ลงในประเด็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร[3]

ในส่วนของ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ก็ปรากฏร่องรอยที่ “อารยันตคุปต์” เพิ่มเติมข้อความที่รุนแรงในการวิพากษ์ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ เช่น การเพิ่มเติมคำว่า “คอมมิวนิสต์รวบไว้ทั้งหมด” ในข้อ 2 “หมวดความแร้นแค้นของราษฎร”[4] การเพิ่มเติมคำว่า “นองเลือดกันใหญ่” ลงไปในบทที่ 1 เรื่อง “แรงงานศูนย์ไป และพวกหนักโลก”[5] การเพิ่มข้อความว่า “ถ้าดำเนินการตามโครงการเศรษฐกิจอันนี้แล้ว การมันตรงกันข้ามหมด การบังคับกดขี่ก็ต้องมี” ลงในข้อที่ 38 “เรื่องการศึกษา”[6] และที่สำคัญในตอนท้ายของ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ “อารยันตคุปต์” ได้เพิ่มคำว่า “ประชาธิปก” ลงไป[7]

ผู้เขียนคาดว่า “อารยันตคุปต์” คงเชื่อมั่นว่าพระปกเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ด้วยพระองค์เอง เขาจึงเพิ่มพระนามของพระปกเกล้าฯ ลงไปเพื่อยืนยันถึงความเชื่อของเขา และใช้คำดังกล่าวในการเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือของเอกสารเพื่อเป็นเครื่องมือในการโจมตีหลวงประดิษฐฯ ว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” จริง ดังที่พระองค์ทรงให้พระราชวินิจฉัยฯ ไว้ เช่น เมื่อมีการกล่าวถึง “ผู้เขียนคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ” ใน บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ที่ถูกผลิตซ้ำในหนังสือของเขา “อารยันตคุปต์” จะวงเล็บชื่อ “นายปรีดี” ลงไป และเมื่อ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ กล่าวถึงคำว่า “ข้าพเจ้า” เขาจะวงเล็บชื่อไว้ว่า “พระปกเกล้าฯ” ในตอนท้ายของทุกคำ และทุกครั้ง

หากมีการถามนักเรียนประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่องราวทางการเมืองในช่วงต้นระบอบใหม่ หรือนักปรีดีศึกษา หรือแม้กระทั่งกลุ่มนิยมปรีดีนั้น เกือบทุกคนคงจะตอบได้ตรงกันว่า หนังสือของเดือน บุนนาคที่ชื่อ ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก[8] เป็นหนังสือที่ถือว่าเป็น “ต้นฉบับ” เกี่ยวกับหลวงประดิษฐฯ และกรณีวิวาทะประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ซึ่งนำไปสู่การอ้างอิงทางวิชาการเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมากมาย แต่แทบไม่น่าเชื่อ เมื่อผู้เขียนตรวจสอบงานชิ้นนี้ พบว่าเดือนได้หยิบเอางานของ “อารยันตคุปต์” มาเป็นต้นฉบับในการเขียน ถึงแม้ว่าเดือนจะไม่ได้อ้างอิงแหล่งข้อมูล แต่จากการตรวจสอบต้นฉบับระหว่างงาน ของ “อารยันตคุปต์” และเดือนในรายละเอียด คำต่อคำ ประโยคต่อประโยค โดยเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยวิวาทะของเอกสารสองชิ้น ซึ่งเดือนนำเสนอแบบปะปนกันระหว่างเอกสารทั้งสองโดยสลับไปตามประเด็นนั้น ผู้เขียนพบว่า มีความคล้ายคลึงกันมากระหว่างหนังสือทั้งสองเล่ม เช่น เมื่อกล่าวถึง คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ไม่ปรากฏว่ามี “ข้อที่ระลึกในการอ่านคำชี้แจงนี้”[9] และประเด็น “คนมั่งมี, คนชั้นกลาง, คนยากจนก็อาจแร้นแค้น”[10] รวมทั้งปรากฏคำผิดตรงกัน เช่น เมื่อกล่าวถึง บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ก็ปรากฏที่ผิดในประโยคว่า “ข้าพเจ้าได้ผ่านโครงการ”[11] เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม เดือนได้พยายามต่อสู้กับข้อความที่ถูกแทรกลงไปใน คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ เช่น การตัดคำว่า “ใช้เป็นทาสลงไป”[12] ในประเด็น “เอกชนทำไม่ได้” การตัดคำว่า “นายให้รางวัลแก่ทาส”[13] ตลอดจนการตัดคำว่า “คอมมิวนิสต์รวบไว้หมด” ออกจาก บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ[14] เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นข้อความที่ “อารยันตคุปต์” เพิ่มเติมลงไปเพื่อเพิ่มความรุนแรง กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เดือนมิได้ตัดออก คือ คำว่า “ประชาธิปก”[15]

น่าสนใจว่า เหตุใดเดือนจึงยอมให้ คำว่า “ประชาธิปก” คงอยู่ในตอนท้ายต่อไปในการพิมพ์ ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสฯ ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาก่อนที่เดือนจะผลิตหนังสือเล่มดังกล่าวออกมา มีการผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองชิ้นนี้อยู่หลายฉบับ เช่น ฉบับของศักดิ์ ศิลปานนท์ และฉบับของโรงพิมพ์กฤษณปกรณ์ ซึ่งล้วนไม่ปรากฏ คำว่า “ประชาธิปก” เดือนน่าจะได้ใช้เอกสารเหล่านี้ มาประกอบการเขียนและตรวจสอบรายละเอียดกับงานของ “อารยันตคุปต์” จนกระทั่งทำให้เดือนสามารถแก้ไขปรับปรุงการผลิตซ้ำได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังเป็นที่ชัดเจนอีกด้วยว่า โดยส่วนตัวเดือนเองก็ไม่เชื่อว่าพระปกเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัย[16]

ดังกล่าวมาแล้วว่า การปรากฏขึ้นครั้งแรกของคำ “ประชาธิปก” ในงานของ “อารยันตคุปต์” คาดว่าน่าจะเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีหลวงประดิษฐฯ อย่างไรก็ตาม เดือน บุนนาค ได้หยิบคำดังกล่าวมาใช้ในอีกมุมหนึ่งเพื่อย้อนกลับไปหาฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยการปล่อยให้คำดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในงานของตนเองต่อไป เพื่อยืนยันต่อผู้อ่านว่า “เมื่อโทสะจริต เข้าครอบงำ คารมเผ็ดร้อนก็ถูกนำมาใช้เยาะเย้ยกัน หาประโยชน์อันใดไม่ได้เลย”[17]

การเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของคำว่า “ประชาธิปก” ได้รับความเกื้อกูลจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งใช้คำดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการโจมตีซึ่งกันและกัน กลุ่มอนุรักษนิยมเริ่มใช้คำดังกล่าวเป็นอาวุธ เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ถูกกลุ่มนิยมปรีดีใช้คำคำเดียวกันนี้ย้อนกลับเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์ดุจเดียวกัน

หลังจากนั้น ทั้งคำ “ประชาธิปก” และเอกสารทั้งสองชิ้นที่ถูกจับรวมเข้าด้วยกันทั้งแบบปะปนกันสลับไปตามประเด็นและการประกบคู่เอกสาร ก็หลุดลอยไปจากความควบคุมและความตั้งใจครั้งแรกของการผนวกรวม ไปปรากฏอยู่ในงานของทั้งกลุ่มนิยมปรีดีและกลุ่มอนุรักษนิยมในกาลต่อๆ มา ดังในงานของกลุ่มนิยมปรีดี เช่น เดือน บุนนาค (2500, 2517) โครงการปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย (2526) ฉบับสำนักพิมพ์จิรวรรณนุสรณ์ (2526) ฉบับคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฉลอง 100 ปีชาตกาลฯ (2542) และศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองและสถาบันปรีดีฯ (2542) และในกลุ่มอนุรักษนิยม เช่น งานของ สิริ เปรมจิตต์ (2516) “นายสุจินดา” (2519) และชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ (2554)

ไม่เฉพาะแต่เพียงถ้อยคำปริศนาอย่าง “ประชาธิปก” เท่านั้น ความเป็นการเมืองของการผลิตซ้ำยังคงดำเนินควบคู่กับบริบทการเมืองอย่างต่อเนื่อง

 

สะกดรอยวิวาทะทางการพิมพ์

ความทรงจำที่มีต่อหลวงประดิษฐฯ ในประเด็นการเป็น “คอมมิวนิสต์” และการมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ยังคงแนบแน่นอยู่ในสังคม ท่ามกลางการผลิตซ้ำวิวาทะเพื่อตอกย้ำความทรงจำโดยกลุ่มอนุรักษนิยม ในขณะที่กลุ่มนิยมปรีดีก็มีภาระกิจในการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับหลวงประดิษฐฯ ให้กับสาธารณะใหม่

ทศวรรษแรกของกึ่งพุทธกาล ได้มีความพยายามต่อเนื่องจากระลอกที่สองในการนำเอกสารทั้งสองชิ้น ให้คืนสู่ความรับรู้ของสาธารณะอีก แต่ความคึกคักของการผลิตซ้ำเริ่มลดลง

ทั้งนี้ รูปแบบของการผลิตซ้ำในช่วงดังกล่าวมักเป็นการนำเอกสารชิ้นใดชิ้นหนึ่งเพียงชิ้นเดียว หรือการผลิตซ้ำเอกสารสองชิ้นปะปนแบบสลับกันไปตามประเด็นบ้างจากกลุ่มอนุรักษนิยม และอาจมีกลุ่มสายกลางๆ อยู่บ้าง เช่น “วิเทศ กรณีย์” หรือ สมบูรณ์ คนฉลาด นักเขียนสารคดีทางการเมืองที่มีจุดยืนแบบกลางๆ ได้พิมพ์เฉพาะ คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ในหนังสือชื่อ ยุคทรราชย์ (2501) ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 วิชัย ประสังสิต นักเขียนสารคดีการเมืองกลุ่มอนุรักษนิยมจัดพิมพ์ แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า โดยเลือกนำเสนอบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ โดดๆ แต่เพียงอย่างเดียวและนับเป็นครั้งสุดท้ายของการฉายเดี่ยวของเอกสารข้างนี้[18]

จากนี้ไปการผลิตซ้ำส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการจับเอกสารทั้งสองชิ้นรวมเข้าด้วยกัน ทั้งแบบปะปนกันไปตามประเด็นและแบบการประกบคู่เอกสาร ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ได้มีการผลิตซ้ำในลักษณะดังกล่าว เช่น ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบประชาธิปไตย 30 ปี (2505) โดยสิริ เปรมจิตต์ นักเขียนสารคดีการเมืองกลุ่มอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตามสิริ มิได้ลงพิมพ์วิวาทะดังกล่าวทั้งหมดในการพิมพ์ครั้งนี้

นับจากปี พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2515 ไม่ปรากฏว่ามีการผลิตซ้ำเอกสารวิวาทะทั้งสอง โดยเฉพาะจากกลุ่มนิยมปรีดีออกสู่สาธารณะอีกเลย เป็นช่วงเวลาถึง 10 ปี

ต่อมาเมื่อก้าวสู่ทศวรรษที่สอง ได้เริ่มมีร่องรอยของการกล่าวถึง คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ อย่างน้อย 3 ชิ้นบนหน้านิตยสารของหมู่ปัญญาชน ซึ่งแต่ละชิ้นมีจุดยืนที่ต่างกัน[19] อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เล็กน้อย มีความพยายามในการรื้อฟื้นวิวาทะระลอกที่สาม (พ.ศ. 2516 - 2519) ดังนี้

ประมาณเดือนเมษายนได้ปรากฏหนังสือของ ดร.ไมตรี เด่นอุดม ซึ่งจบการศึกษาด้าน นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จากฝรั่งเศส ได้แปลและเรียบเรียงงานของ ปิแอร์ ฟิสติเย (P.Fistie) จากภาษาฝรั่งเศสที่ชื่อ Sous - Developpement et Utopia au Siam: le programe de reformes en 1933 par Pridi Phanomyong[20] เป็นหนังสือชื่อ โลกพระศรีอาริย์ ของปรีดี พนมยงค์ (2516)[21] ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้ผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองชิ้นปะปนเข้าไว้ด้วยกันแบบสลับประเด็นต่อประเด็น[22] การผลิตซ้ำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของไมตรีในการเปิดพื้นที่ความทรงจำของสาธารณะให้กับหลวงประดิษฐฯ หลังจากเผยแพร่ได้ไม่นาน สิริ เปรมจิตต์ ก็ได้ผลิตซ้ำเอกสารสองชิ้นแบบปะปนกันสลับไปตามประเด็น ในช่วงต้นเดือนตุลาคมปีเดียวกันในหนังสือที่มีชื่อว่า สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงโต้แย้ง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของนายปรีดี พนมยงค์ (2516)[23]

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะเป็นของประชาชน นักศึกษาและปัญญาชนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กลับมาสนใจรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับหลวงประดิษฐฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุพจน์ ด่านตระกูล ได้พิมพ์ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ โดดๆ เพื่อกระตุ้นความทรงจำถึง เหตุการณ์ในหนังสือชื่อ เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (2516) และได้ให้เหตุผลถึงการไม่พิมพ์ บันทึกพระบรมราชวินิจฯ ว่า “ไม่อยากจะกระทำการอันเป็นการซ้ำเติมพระองค์”[24]

ต่อมาได้มีการหยิบงานของเดือน บุนนาค เมื่อ พ.ศ. 2500 กลับมาผลิตซ้ำในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2517 ภายใต้ชื่อเดิมว่า ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก เพื่อเสริมความเข้าใจในตัวรัฐบุรุษอาวุโสให้ถูกต้อง[25] อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษนิยมได้มีปฏิกิริยาต่อการพยายามรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับหลวงประดิษฐฯ โดยเริ่มต้นที่ “นายสุจินดา” หรือ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ได้ผลิตซ้ำวิวาทะดังกล่าว อยู่ในหนังสือชื่อ พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อประมาณเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2519[26] สะท้อนจุดยืนทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ และปรามาสบทบาทของคณะราษฎรอย่างมากและพุ่งเป้าโจมตีไปที่ตัวหลวงประดิษฐฯ ดังนี้

 

บรรดาพวกที่แสวงหาอำนาจได้รีบชิงทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน ทั้งๆ ที่เมืองไทยยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ...คนเพียงหยิบมือเดียวที่ฉกฉวยโอกาส เพื่อหวังอำนาจในการเข้าครอบครองประเทศ มันเป็นประชาธิปไตยจอมปลอมที่พวกคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ใช้กลอุบายพร้อมกับทับถมระบอบเก่าที่พวกเขาพังทลาย ลงอย่างหยาบช้าแม้ว่าจะลุกะโทษภายหลังในคำแถลงการณ์อันชั่วร้ายนั้นก็ตามทีมัน เหมือนกลืนน้ำลายที่พวกตนได้ถ่มออกมา[27]

 

นอกจากท่าทีที่ปรากฏชัดเจนในคำนำ ชาลียังจัดวางหน้ากระดาษส่วนที่กล่าวถึง คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐฯ ให้อยู่ด้านข้างของหนังสือและกำหนดสีหมึกตัวพิมพ์ส่วนนี้เป็นสีแดง! และในขณะที่บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ จัดวางไว้ที่ด้านขวาของหนังสือและใช้หมึกสีดำ[28]

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ยังมีการพิมพ์เผยแพร่เอกสารสองชิ้นนี้ประกบคู่กันจากนักเขียนที่มีจุดยืนกลางๆ เช่น “วิเทศกรณีย์” ในหนังสือชื่อ ความเป็นมาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย เล่มที่ 1 (2511) และ เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปีแห่งระบอบประชาธิปไตย (2518) ซึ่งมีแนวการเขียนที่ไม่กล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

หลังการกวาดล้างนักศึกษาและปัญญาชนหัวก้าวหน้าเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถือได้ว่าเป็นการปิดฉากความเคลื่อนไหวการผลิตซ้ำวิวาทะทั้งสองจากกลุ่มนิยมปรีดีอีกช่วงหนึ่ง ในขณะที่ กลุ่มอนุรักษนิยมกลับมีการเคลื่อนไหวการผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองชิ้นออกสู่สาธารณะโดยมีจุดมุ่งหมายใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการตอกย้ำความทรงจำเกี่ยวกับการเป็น “คอมมิวนิสต์” ให้กับหลวงประดิษฐฯ เช่น งานของ “ปรีดา วัชรางกูร” ในหนังสือที่ชื่อว่า พระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย (2520)[29]

“ปรีดา วัชรางกูร” คือบุคคลเดียวกับ เปรมจิตร วัชรางกูร เมื่อคราวปี พ.ศ. 2489 ที่เขียน พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย (ได้กล่าวไปแล้วข้างตัน) ภูมิหลังของเขาเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เคยเป็นข้าราชการสำนักพระราชวังผู้รับใช้ใกล้ชิดพระปกเกล้าฯ ระหว่าง พ.ศ. 2468 - 2478 ก่อนมารับราชการที่ศาลอาญากรุงเทพฯ และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายแห่ง เช่น นครสารรายวัน สภาราษฎร์รายสัปดาห์ ธรรมาธิปัตย์รายวัน และ วารสารวัฒนธรรมรายเดือน “ปรีดา” หรือเปรมจิตร วัชรางกูร จบการศึกษาขั้นสูงสุดจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในหนังสือเล่มใหม่นี้ เขาได้กล่าวย้อนความทรงจำถึง ความหวั่นวิตกเมื่อครั้งเขียน พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย ว่ากลัวจะถูกเนรเทศไปอยู่เกาะเต่าหรือเกาะตะรุเตามาก โดยเขาให้เหตุผลว่า “วิถีทางทางการเมืองสมัยนั้น ค่อนข้างดุเอาการ”[30]

ปรีดายังได้กล่าวถึงแรงดลใจในการเขียน พระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย ว่าต้องการเขียนเพื่อเทอดทูนพระปกเกล้าฯ และเมื่อมีกระแสเรียกร้องให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ที่รัฐสภาเขาเห็นว่า “กระแสขึ้น” จึงได้ลงมือเขียน พระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ในหนังสือเล่มนี้จึงปรากฏการตีพิมพ์การวิวาทะระหว่าง คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ และ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ อย่างละเอียดผิดกับครั้งฉบับ พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย โดยก่อนเข้าสู่เรื่องเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมนั้น “ปรีดา” หรือเปรมจิตรได้กล่าวนำว่า

 

น่าจะเป็นด้วยเมืองไทย ยังไม่พ้นเคราะห์ร้าย จึงทำให้หลวงประดิษฐมนูธรรมมีความประสงค์อย่างแรงกล้า ที่จะให้มีโครงการเศรษฐกิจขึ้นมาใช้[31]

 

ทั้งนี้ “ปรีดา” หรือเปรมจิตร วัชรางกูร ได้กล่าวสรุปถึงจุดยืนทางการเมืองตนเองว่า “หากใครจะหาว่า ข้าพเจ้าเป็น royalist คือ นิยมพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าก็ไม่ปฏิเสธ”[32]

ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวในการผลิตซ้ำวิวาทะ ออกสู่สาธารณะจากกลุ่มนิยมปรีดีเลยกว่า 7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2526 กระทั่งภายหลังการอสัญกรรมของหลวงประดิษฐฯ เมื่อปี พ.ศ. 2526 เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยเริ่มหันมาสนใจหลวงประดิษฐฯ อีกครั้ง และได้มีการเผยแพร่วิวาทะทั้งสองเป็นระลอกที่สี่ (พ.ศ. 2526 - ปัจจุบัน) โดยการใช้หนังสือเป็นสื่อด้วยการผลิตช้ำ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ โดดๆ อีกระลอกจากกลุ่มนิยมปรีดี เช่น ในหนังสืออนุสรณ์ปรีดี พนมยงค์ (2526)[33] ของสุพจน์ ด่านตระกูล และการนำงานของไสว สุทธิพิทักษ์ ที่เคยพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2493 กลับมาพิมพ์ใหม่ในชื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (2526)[34] และจากเหล่าเตรียม ม.ธ.ก. ใน ฉบับรำลึกพระคุณท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ (2527)[35] ตลอดจนการผลิตซ้ำเอกสารสองชิ้นแบบสลับประเด็นต่อประเด็นอย่าง ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย (2526)[36] โดยโครงการปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทยซึ่งมีสุภา ศิริมานนท์ เป็นประธานในการรวบรวมเอกสาร[37] นอกจากนี้ยังปรากฏการผลิตซ้ำโดยสำนักพิมพ์จิรวรรณนุสรณ์ เรื่อง พระปกเกล้าฯ ทรงโต้โครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ (2526)[38] ซึ่งได้ให้เหตุผลในการนำเอกสารทั้งสองชิ้นมาวิวาทะกันในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ต้องการใช้ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ เป็น “คู่เปรียบ” ที่จะส่งผลให้ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐฯ มี “ความเด่น” ขึ้นดังกล่าวว่า

 

(การผลิตซ้ำ-ผู้เขียน) พระราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจต่อปัญหาและความเด่นของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของนายปรีดี พนมยงค์ชัดเจนยิ่งขึ้น[39]

 

ก่อนการเข้าสู่โครงการเฉลิมฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ ได้มีการผลิตซ้ำวิวาทะอันลือเลื่องอีกครั้งหนึ่งโดยเริ่มจากการพิมพ์เฉพาะเนื้อหาของ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ โดยคณะกรรมการจัดงานวันปรีดีฯ ในหนังสือแจกที่ชื่อ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2540[40] และโดยสุพจน์ ด่านตระกูล ใน ศิษย์อาจารย์ ฉบับที่ 3 (2541)[41] และการแจกจ่าย สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐมนูธรรม (ฉบับอัดสำเนา)[42] เนื่องในวาระครบรอบ 99 ปี ชาตกาลฯ เมื่อ พ.ศ. 2542 โดยโครงการฉลอง 100 ปี ชาตกาลฯ ซึ่งการผลิตซ้ำในเล่มหลังสุดนี้ใช้หน้าปกฉบับของศักดิ์ ศิลปานนท์ เป็นต้นฉบับ ทั้งๆ ที่ฉบับของศักดิ์นั้นเป็นฉบับที่มุ่งหมายรื้อฟื้นวิวาทะดังกล่าวเพื่อโจมตีหลวงประดิษฐฯ ทันทีหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2492

 

วิวาทะและการสมานฉันท์ของเอกสาร

การดำรงอัตลักษณ์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือแม้แต่กระทั่งบุคคลอาจจะเป็นไปไม่ได้หากไม่มีคู่ตรงข้าม เช่น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาพพระปกเกล้าฯ จะคู่กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภาพหลวงประดิษฐฯ จะคู่กับระบอบใหม่ และได้กลายเป็นภาพคู่ตรงกันข้ามต่อมาอย่างน้อยกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2490 กลุ่มอนุรักษนิยมได้พยายามใช้การวิวาทะเมื่อปี พ.ศ. 2476 และกรณีสวรรคตฯ ผลักให้ภาพหลวงประดิษฐฯ ไปคู่กับระบอบคอมมิวนิสต์ ดังนั้น จึงเป็นภาระของกลุ่มนิยมปรีดีจะต้องสร้างภาพความทรงจำเกี่ยวกับหลวงประดิษฐฯ ให้กับสาธารณะใหม่

กระบวนการปฏิบัติการสร้างความทรงจำดำเนินมาอย่างแหลมคม ภายหลังความสำเร็จในการเสนอชื่อหลวงประดิษฐฯ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโก ได้นำไปสู่การตีพิมพ์หนังสือเพื่อเฉลิมฉลอง โดยได้มีการนำเอกสารสองชิ้นมาผลิตซ้ำแบบประกบคู่กันในหนังสือเล่มเดียวกันที่ชื่อ เค้าโครงการเศรษฐกิจ (2542)[43] โดยโครงการฉลอง 100 ปี ชาตกาลฯ มีการระบุถึงวัตถุประสงค์การผลิตซ้ำว่าเพื่อเป็นการบันทึกประวัติความคิดอันห้าวหาญของหลวงประดิษฐฯ และเป็นแรงดลใจให้คนรุ่นใหม่สานต่อเจตนารมณ์ในการแก้ปัญหาสังคมไทยต่อไปในอนาคต[44] พร้อมทั้งการพิมพ์บันทึกรายงานของคณะกรรมการวิสามัญ ซึ่งรัฐสภาได้ลงมติตั้งเพื่อสอบสวนว่าหลวงประดิษฐฯ เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ เพื่อเป็นการลบล้างความทรงจำเก่าเรื่องหลวงประดิษฐฯ เป็นคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้วารสาร เศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน) ฉบับปรีดี พนมยงค์ (2542)[45] ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ และศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง ยังได้ตีพิมพ์เอกสารสองชิ้นนี้คู่กันเพื่อการเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย

ถึงแม้ว่าหนังสือทั้ง 2 ฉบับข้างต้นจะเป็นการพิมพ์ใหม่ แต่ก็เป็นการผลิตซ้ำจากต้นฉบับเก่าที่ผ่านการเมืองของการแก้ไขเพิ่มเติมและเคยหมุนเวียนอยู่ก่อนแล้ว จากการตรวจสอบหนังสือ เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ (2542) ฉบับ 100 ปี ชาตกาลฯ กับต้นฉบับปี พ.ศ. 2476 พบว่าส่วน คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วมีความแม่นยำตรงกับต้นฉบับดั้งเดิม แต่ในส่วนบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นั้น ฉบับนี้อ้างว่ายึดต้นฉบับจาก ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย (2526) ซึ่งไม่ตรงกับต้นฉบับเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังคงปรากฏคำที่เป็นปัญหาอย่าง “ประชาธิปก” อยู่เช่นเดิม

ในช่วงที่กลุ่มอนุรักษนิยมปฏิบัติการผลิตวาทกรรมคอมมิวนิสต์สวมให้หลวงประดิษฐฯ นั้น ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิบัติการพยายามดึงภาพพระปกเกล้าฯ ให้คู่กับระบอบประชาธิปไตยแทน ทั้งนี้ ในปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธความเป็นต่อของภาพลักษณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ การกล่าวถึงหรือการผลิตซ้ำพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระปกเกล้าฯ อย่างน้อยตามหนังสือที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ เห็นได้ชัดว่าพยายามลืมเลือนวิวาทะในครั้งเก่า หรือหากกล่าวถึง ก็มักเป็นการกล่าวอย่างรวมๆ โดยไม่มีกล่าวพาดพิงถึงวิวาทะจาก บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ และบทบาทของพระปกเกล้าฯ ในเหตุการณ์นี้เมื่อปี พ.ศ. 2476 เลย เนื่องจากอาจจะเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ไม่พึงปรารถนาให้ดำรงอยู่กับสาธารณะ ดังตัวอย่างในหนังสือ ที่ระลึกในการที่รัฐสภาได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดราชผาติการาม (2521) ของรัฐสภา พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมนาประชาธิปก (2543 และพิมพ์ซ้ำครั้งที่สองใน พ.ศ. 2524) ของรัฐสภา

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือบางเล่มที่ไม่กล่าวถึงวิวาทะเลย เช่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปกครองระบบรัฐสภา (2523) ของรัฐสภา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนา (2537) ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ย้อนหลังบางมุมในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2543) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่า (2543) ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ หนังสือสรุปการอภิปรายเรื่อง พระราชประวัติพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (2544) ของสถาบันพระปกเกล้าฯ

ชัยชนะที่คู่คี่ของการนำเสนอชื่อหลวงประดิษฐฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลกและความพยายามสมานรอยร้าวของความทรงจำในอดีตจากกลุ่มนิยมปรีดี ด้วยการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับหลวงประดิษฐฯ ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กับสาธารณะใหม่ เพื่อลบล้างความทรงจำเก่าเรื่องกรณีสวรรคตนั้นส่งผลให้หนังสือ เค้าโครงการเศรษฐกิจ (2542) ฉบับ 100 ปี ชาตกาลฯ เปิดพื้นที่ให้ลงพิมพ์คำกล่าวเปิดงาน ปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ของประเวศวะสี เรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” ปิดท้ายเล่ม

กล่าวโดยสรุป เอกสาร คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ และบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นำไปสู่การวิวาทะความคิดทางเศรษฐกิจการเมืองครั้งสำคัญ จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยังผลให้เอกสารดังกล่าวกลายเป็นเอกสารต้องห้าม ต่อมาเอกสารทั้งสองได้ถูกหยิบมาผลิตซ้ำเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองควบคู่ไปกับปฏิบัติการสร้างความทรงจำให้กับสาธารณะของกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มนิยมปรีดีหลายระลอก ท่ามกลางบริบททางการเมืองที่แตกต่างกัน และความพยายามของกลุ่มนิยมปรีดีพุ่งถึงจุดสูงสุดในการผลักดันเสนอชื่อหลวงประดิษฐฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก นำไปสู่การเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ควบคู่กับงาน 100 ปี ชาตกาลฯ ตลอดปี พ.ศ. 2543 นั้น เป็นบรรยากาศการประนีประนอมและสมานรอยร้าวในอดีตด้วยการสร้างความทรงจำให้กับสาธารณะใหม่

อย่างไรก็ตาม ความสนใจของกลุ่มนิยมปรีดีที่มุ่งสร้างความทรงจำใหม่เพื่อลบล้างภาพ “ปีศาจทางการเมือง” ให้กับหลวงประดิษฐฯ แต่เพียงประเด็นการเป็น “คอมมิวนิสต์” และการเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตนั้น เป็นเวลานานพอที่ก่อให้เกิดช่องว่างของพื้นที่ความทรงจำของสาธารณะในเรื่อง ใครเป็น “บิดาประชาธิปไตยไทย”

ในขณะที่กลุ่มอนุรักษนิยมร่วมมือกับรัฐถอยฉากออกจากการรื้อฟื้นวิวาทะความคิดทางเศรษฐกิจการเมืองเมื่อครั้งนั้น และเริ่มปฏิบัติการสร้างวาทะกรรมเรื่อง “พระปกเกล้าฯ เป็นพระบิดาประชาธิปไตยไทย” เพื่อเปิดพื้นที่ความทรงจำที่ยังคลุมเครือทดแทนโดยผ่านหนังสือและตำราเรียน อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ และสถาบันการศึกษา/การเมือง ซึ่งเห็นได้จากรูปธรรมของความทรงจำต่างๆ ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยได้ถูกยึดครองไป เช่น อนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ที่หน้ารัฐสภา สถาบันพระปกเกล้าฯ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ เป็นต้น

ถึงแม้ว่ากลุ่มนิยมปรีดีได้พยายามสร้างรูปธรรมของความทรงจำอยู่บ้าง เช่น อนุสาวรีย์นายปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ การเปิดหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์เพื่อเก็บข้อมูลและรูปภาพต่างๆ เกี่ยวกับหลวงประดิษฐฯ สถาบันปรีดี พนมยงค์ แต่ความพยายามดังกล่าวมีขนาดของการรับรู้จำกัดโดยเปรียบเทียบ และยังไม่ก้าวสู่การต่อสู้กับวาทกรรมกับกลุ่มอนุรักษนิยมเรื่องใครเป็นผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ในระหว่างที่ผู้เขียนค้นคว้าเอกสารและหนังสือที่ตีพิมพ์ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ และบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ถึงปัจจุบัน และพบการผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองชิ้นครั้งล่าสุดใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ ฉบับ 100 ปี ชาตกาลฯ พร้อมกับฉุกคิดถึงความสำเร็จของการสมานรอยร้าวของความทรงจำเดิมด้วยการสร้างความทรงจำให้กับสาธารณะใหม่

ท่ามกลางหนังสือจำนวนมากที่รายล้อมผู้เขียน ณ ห้องสมุดริมน้ำแห่งหนึ่ง สายตาผู้เขียนเหลือบไปเห็นหนังสือปกแข็ง หุ้มไหมไทยสีเขียวมะกอกขนาดใหญ่ตัวอักษรเดินทองเล่มหนึ่งวางอยู่บนชั้นชื่อ พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย[46] ผลงานของชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ซึ่งเคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2519 และได้ถูกฟื้นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในปี พ.ศ. 2544 การกลับมาครั้งนี้ อาจยืนยันถึงความความทรงจำใหม่ที่ไม่ลงตัวได้เป็นอย่างดี และการวิวาทะยังไม่จบ

นอกจากนี้หากพิจารณาจากชื่อหนังสือจะเห็นได้ว่ามีความพยายามสร้างวาทกรรมเพื่อเปิดพื้นที่ความทรงจำช่วงชิงเรื่อง “บิดาของประชาธิปไตย” อีกครั้ง

 

ที่มา : ณัฐพล ใจจริง, “วิวาทะของหนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจ และ พระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ,” จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ 6 มิถุนายน 2544-พฤษภาคม 2545, ฉ.6 (2544): 11 - 20.

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 

[1] ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: ชมรมนักเขียนอาวุโส, 2544, หน้า 574.

[2] “อารยันตคุปต์”, สามโลก, พระนคร: โรงพิมพ์จำลองศิลป์, 2497, หน้า 428.

[3] “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 429.

[4] “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 426.

[5] “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 445.

[6] “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 557.

[7] “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 606.

[8] เดือนไม่ได้ระบุว่าใช้หนังสือของใครเป็นหลักในการอ้างอิงเพื่อเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว

[9] เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, (2500), หน้า 395 ดูเปรียบเทียบกับ “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 420.

[10] เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, (2500), หน้า 399 ดูเปรียบเทียบกับ “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 424.

[11] เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, (2500), หน้า 397 ดูเปรียบเทียบกับ “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 422. ซึ่งประโยคที่ถูกต้องคือ “ข้าพเจ้าได้อ่านโครงการ”

[12] เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, (2500), หน้า 204 ดูเปรียบเทียบกับ “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 428.

[13] เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, (2500), หน้า 205 ดูเปรียบเทียบกับ “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 429.

[14] เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, (2500), หน้า 200 ดูเปรียบเทียบกับ “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 426.

[15] เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, (2500), หน้า 388 ดูเปรียบเทียบกับ “อารยันตคุปต์”, สามโลก, หน้า 606.

[16] เดือน บุนนาค, “คำนำ” ใน ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, (2500), หน้า (16).

[17] เดือน บุนนาค, “ได้อะไรจากเค้าโครงการเศรษฐกิจและพระบรมราชวินิจฉัย” ใน ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, (2500), หน้า 389.

[18] วิชัยไม่ได้อ้างอิงข้อมูลให้ทราบว่ามาจากที่ใด แต่อย่างไรก็ตาม งานของวิชัยไม่ปรากฏคำว่า “ประชาธิปก” ดู วิชัย สังประสิต, แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า, หน้า 376. นอกจากนี้ วิชัยอ้างว่ามีความใกล้ชิดกับพระยามโนปกรณ์ฯ และเคยได้รับบทโคลงที่พระยามโนปกรณ์ฯ แต่งเพื่อโจมตีหลวงประดิษฐฯ ลงในหนังสือพิมพ์ที่เขาทำงานอยู่ด้วย (ดูเพิ่มเติมในเชิงอรรถที่ 13 ใน วิวาทะของหนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ตอนที่ 1 (เพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ) )

[19] ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้วิพากษ์วิจารณ์หนังสือ ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสฯ ของเดือน บุนนาค ที่พิมพ์ครั้งที่ พ.ศ. 2500 ว่าผู้เขียนพยายามแก้ตัวให้กับหลวงประดิษฐฯ มากเกินไป และวิจารณ์หลวงประดิษฐฯ ว่ามีสายตาที่ไม่กว้างไกล และหากนำโครงการฯ มาใช้แล้ว จะเกิดอเวจีดุจรัสเซียและจีน (“แนะนำหนังสือและวิจารณ์หนังสือ” วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ 9, 4) ต่อมา “ปรีชา อารยะ” หรือ วรพุทธิ์ ชัยนาม ได้เขียนบทความชื่อ “เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์” โต้ชัยอนันต์ โดยหยิบข้อความที่ปรากฏอยู่ใน บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ว่า “สุนัขตามวัดก็ปรากฏว่ายังไม่มีอดตาย” มาโปรยที่หัว บทความตอบโต้กลับไปว่า “โปรดรอให้สุนัขตามวัดอดตายเสียก่อน” โดยทรรศนะว่าก่อนจะตาย สุนัขนั้นๆ อาจจะบ้าขึ้นมาก็ได้

นอกจากนี้ “ปรีชา อารยะ” ยังได้พยายามชี้แจงให้เห็นถึงหลักการและเจตนาที่ดีของหลวงประดิษฐฯ ในการสร้างความสุขสมบูรณ์ให้กับสังคม (สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8, 1, หน้า 51-73 และตีพิมพ์ซ้ำใน รวมข้อเขียนของวรพุทธิ์ ชัยนาม, กรุงเทพฯ ปาจารยสาร โครงการหนังสือเล่มอันดับ 1 ชุด สาระนิพนธ์นักคิดไทย, กรุงเทพฯ โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์, 2524 หน้า 178 - 214 และ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย จนถึง พ.ศ. 2584, กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527, หน้า 633 - 649) หลังจากนั้น ชัยอนันต์ ได้เขียนบทความโต้ “ปรีชา อารยะ” ใน สังคมศาตร์ปริทัศน์ ฉบับต่อมา โดยใช้ข้อความว่า “ท่านอาจารย์ว่างาม ก็งามตามท่าน” (สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 8, 2)

[20] เดือนเห็นว่า ฟิสติเยได้จ้างคนลาวแปล คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ จากภาษาไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส (เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้ว่าแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก” หน้า 409.

[21] หลังจากไมตรีเผยแพร่หนังสือไม่นาน เสน่ห์ จามริก ได้เขียนบทวิจารณ์หนังสือของไมตรีไว้ว่า ไมตรีมิได้ยึดถือฉบับของฟิสติเยอย่างเคร่งครัด เป็นการตัดตอนและเลือกแปลตลอดทั้งเล่ม ไมตรีจะเลือกแปลในส่วนที่เห็นว่าสำคัญ และตัดส่วนที่เห็นว่าไม่สำคัญออก ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้อ่านและฟิสติเย (เสน่ห์ จามริก, “วิจารณ์หนังสือเรื่อง โลกพระศรีอาริย์ของ ปรีดี พนมยงค์ ของดร.ไมตรี เด่นอุดม” วารสารธรรมศาสตร์ 3, 1 (มิถุนายน - ตุลาคม) หน้า 203.

[22] ไมตรีไม่ได้อ้างว่าใช้ต้นฉบับในภาษาไทยของใครเป็นหลัก แต่เมื่ออ่านสำนวนในเอกสารสองชิ้นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าไมตรีไม่น่าจะแปลเอกสารสองชิ้นนี้จากภาษาฝรั่งเศสโดยตรง แต่น่าจะคัดลอกเอกสารดังกล่าวจากฉบับภาษาไทยฉบับใดฉบับหนึ่งก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามวิวาทฉบับไมตรีนี้ มีคำว่า “ประชาธิปก” ลงท้าย นอกจากนี้เสน่ห์ให้ข้อสังเกตว่า เอกสารชิ้นนี้ดั้งเดิมในภาษาไทยแยกเป็นคนละส่วนกัน (เสน่ห์ จามริก “วิจารณ์หนังสือเรื่องโลกพระศรีอาริย์ของปรีดี พนมยงค์ ของ ดร. ไมตรี เด่นอุดม” หน้า 204)

[23] สิริ เปรมจิตต์ มิได้บอกอ้างอิงมากจากหนังสือของใคร แต่ในหนังสือเล่มนี้ก็ยังคงปรากฏคำว่า “ประชาธิปก”

[24] สุพจน์ ด่านตระกูล, “ความเห็นของผู้จัดพิมพ์” ใน เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2517, หน้า 4.

[25] เดือน บุนนาค, “คำแถลงของสำนักพิมพ์” ใน ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, พระนคร : สำนักพิมพ์สามัคคีธรรม โพธิ์สามต้นการพิมพ์, 2517, ไม่มีเลขหน้า.

[26] นายสุจินดา” หรือ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ได้อ้างอิงจ้นฉบับ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ และ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ จากหนังสือของสิริ เปรมจิตต์ ที่ชื่อ พระปกเกล้าฯ ทรงโต้แย้ง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อครั้งตอบโต้กับหนังสือของ ไมตรี เด่นอุดม ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งฉบับของ “นายสุจินดา” นี้ปรากฏคำว่า “ประชาธิปก”

[27] “นายสุจินดา”, “คำนำ” ใน พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย, สำนักพิมพ์มิตรสยาม, 2519, ไม่มีเลขหน้า.

[28] “นายสุจินดา”, พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย, หน้า 338 - 497.

[29] ปรีดาได้อ้างอิงต้นฉบับ คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ และ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ จากหนังสือ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม และ สมุดปกเหลืองเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม ของสำนักพิมพ์ศิลปานนท์ ซึ่งเคยพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2491 ทั้งสองเล่ม เอกสารฉบับรองของปรีดานี้ ไม่ปรากฏคำว่า “ประชาธิปก”

[30] ปรีดา วัชรางกูร, “คำนำ” ใน พระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย, ไม่มีเลขหน้า.

[31] ปรีดา วัชรางกูร, พระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย, หน้า 168.

[32] ปรีดา วัชรางกูร, “บันทึกของผู้เขียนและเรียบเรียง” ใน พระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย, หน้า 409 - 410.

[33] สุพจน์ ไม่ระบุว่าอ้างอิงคำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ จากฉบับใคร คาดว่าคงอ้างอิงมาจากฉบับของสุพจน์เองที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2513

[34] ไสว ไม่ระบุว่าอ้างอิงคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ จากฉบับของใคร คาดว่าคงอ้างอิงมาจากฉบับของไสวเอง ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ 2493

[35] ไม่ระบุแหล่งอ้างอิงคำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ

[36] “เค้าโครงการเศรษฐกิจและบันทึกบางประการที่เกี่ยวข้อง” ที่ปรากฏอยู่ในหมวดที่ 3 ของหนังสือเล่มนี้ ระบุว่าอ้างอิงจาก “ฉบับพิมพ์ครั้งแรก สำนักงาน ศ.ศิลปานนท์ (กรุงเทพฯ: 2475) และฉบับพิมพ์ครั้งที่สองโดย สังคมการพิมพ์ (กรุงเทพฯ: 2517) และพิมพ์ครั้งที่สาม (ต้นฉบับจากการพิมพ์ครั้งที่สอง) (ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย หน้า 259)

อย่างไรก็ดี ดังผู้เขียนได้กล่าวถึงการสำรวจเอกสารโดยผู้เขียนเองแล้วในตอนต้นว่า คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2476 นั้น พิมพ์โดยโรงพิมพ์ลหุโทษ ส่วนฉบับรองสำนักงานการพิมพ์ ศ.ศิลปานนท์ นั้น เป็นฉบับที่พิมพ์โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยม เมื่อ พ.ศ. 2491 ส่วนฉบับพิมพ์โดยสังคมการพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517 ที่อ้างนั้นยังไม่พบตัวเล่มในปีดังกล่าว พบว่ามีเพียงฉบับรอง สุพจน์ ด่านตระกูล ซึ่งพิมพ์ที่ประจักษ์การพิมพ์ และฉบับของเดือน บุนนาค ซึ่งพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สามัคคีธรรมเท่านั้น

หนังสือที่ชื่อ ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทยฉบับ พ.ศ. 2526 นี้ เป็นการรวมข้อเขียนที่สำคัญ ของหลวงประดิษฐ์ฯ พิมพ์จำนวน 5,000 ฉบับ ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงปกด้านนอกของหนังสือเล่มดังกล่าวถึงสามครั้ง จากครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2522 ที่ใช้ปกน้ำตาลเข้ม การพิมพ์ครั้งที่ 2 ราว พ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนมาใช้ปกสีเขียว มีภาพหลวงประดิษฐ์ฯ นั่งอยู่ที่มุมขวา อยู่ในอิริยาบถกำลังอ่านหนังสือ (การเปลี่ยนแปลงปกนอกดังกล่าวไม่มีเหตุผล ในการเปลี่ยนแปลงผู้เขียน) ส่วนการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สามราว พ.ศ. 2540 - 2543 ใช้ปกสีฟ้าสลับเขียวเป็นภาพวาดหลวงประดิษฐ์ฯ อยู่ตรงกลาง

เราทราบว่าจากคำนำ (2) ที่แทรกเพิ่มเข้ามาในปกที่สามเกี่ยวกับเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงปกนอกถึงสามครั้งว่า ปกของหนังสือเล่มดังกล่าวที่พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2526 นั้นชำรุดเสียหาย จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงปกใหม่เพื่อเผยแพร่ในวาระครบ 100 ปีชาตกาลฯ (ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย ปกที่สาม, คำนำ (2) ไม่มีเลขหน้า) ซึ่งต่อมาจำหน่ายหมดในปี พ.ศ. 2544 (ทิพวรรณ เจียมกิรสกุล, ภาคผนวกท้ายเล่มหนังสือชุดครบรอบ 100 ปี ชาตกาลฯ ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์, หน้า 480) หากนับตั้งแต่ต้นฉบับปกแรกที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2526 ก็จะเห็นว่าหนังสือเล่นดังกล่าวมีระยะเวลาจำหน่ายต่อเนื่องนานถึง 18 ปี ความยาวนานในการจำหน่าย อาจชี้บ่งถึงความสนใจของสังคมได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนสังเกตว่า หนังสือเล่มดังกล่าวล้วนใช้ต้นฉบับเดียวกับฉบับที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2526 ในวาระการทำบุญครับ 100 วันของการอสัญกรรม ของหลวงประดิษฐ์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงเพียงส่วนปกนอกอีก 2 ครั้ง และในปกที่สามได้มีการแทรกข้อมูลบางอย่าง เช่น คำนำ (2) และภาคผนวก (พิเศษ) เรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” พร้อม “คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจัดงาน 100 ปีชาตกาลฯ ซึ่งเป็นเนื้อหาซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือจำนวนมากที่ผลิตขึ้นเพื่อว่าเฉลิมฉลอง 100 ปี ชาตกาลฯ ด้วย”

การใช้ต้นฉบับจากตัวเล่มที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2426 อาจทำให้เกิดความสับสันเกี่ยวกับลำดับเวลา บริบทของการเผยแพร่และการอ้างอิงในอนาคตได้

[37] ปรีดี พนมยงค์, “ข้อสังเกตบางประการของนายปรีดี” ใน เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์, กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2529, ไม่มีเลขหน้า.

[38] อนันต์ (อมรรตัย), ม่วงยืนนาน เป็นผู้รวบรวมเอกสารและเขียนคำนำในฉบับนี้ สำหรับบทบาทของอนันต์ นั้นเคยร่วมงานกับ สุพจน์ ด่านตระกูล ในการผลิตหนังสือชื่อ อนุสรณ์ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อ พ.ศ. 2526 ด้วย นอกจากนี้ อนันต์ ยังมีบทบาทสำคัญ ในการผลิตหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหลวงประดิษฐ์ฯ หลายเล่ม ภายใต้ชื่อสำนักพิมพ์จิรวรรณนุสรณ์

[39] อนันต์ อมรรตัย, “คำนำ” ใน พระปกเกล้าทรงโต้เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จิรวรรณนุสรณ์, 2526, ไม่มีเลขหน้า.

[40] ไม่ระบุแหล่งอ้างอิง คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ว่าจากฉบับใด

[41] ไม่ระบุแหล่งอ้างอิง คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ว่ามาจากฉบับใคร คาดว่าน่าจะอ้างอิงมาจากฉบับของสุพจน์ที่พิมพ์ใน พ.ศ. 2517

[42] ไม่ระบุแหล่งอ้างอิง คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ

[43] ระบุว่าอ้างต้นฉบับจาก สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (2491) ฉบับของสำนักงานการพิมพ์ ศ.ศิลปานนท์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (2526) ของ ไสว สุทธิพิทักษ์ และ ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย (2526) ของโครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย และ Siam in Transition ของ K.Landon ส่วน บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นั้น ได้อ้างต้นฉบับที่พิมพ์ใน ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย (2526) (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, เค้าโครงการเศรษฐกิจ, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินการโครงการฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ 2542, หน้า 216.)

[44] “คำนำ” ใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ, ไม่มีเลขหน้า.

[45] ระบุว่าอ้างต้นฉบับจาก ปรีดี พนมยงค์กับสังคม (2526) | “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” เศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน) ฉบับ นายปรีดี พนมยงค์, 10 (2542), หน้า 216.

[46] ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: ชมรมนักเขียนอาวุโส, 2544. ชาลีไม่ได้ระบุแหล่งอ้างอิงเอกสาร คาดว่าใช้ต้นฉบับของ “นายสุจินดา” (หรือ นายชาลี เอียมกระสินธุ์) ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2519 ซึ่งยังคงปรากฏคำว่า “ประชาธิปก” เช่นเดิม