สัมภาษณ์ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส โดยหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” ณ บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2523 และได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2523
ถาม : ปัจจุบันนี้มีเหตุการณ์ผันผวนมากในโลก สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และประเทศไทยจะป้องกันภยันตรายจากสงครามโลกได้อย่างไร
ตอบ : ผมขอให้ข้อสังเกตเบื้องต้นว่า “ผลของสงครามโลกนั้นปรากฏว่าประเทศที่ชนะสงครามอย่างแท้จริงคือประเทศที่รักษาความเป็นกลางไว้ได้”
คุณโปรดศึกษาสังเกตว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาแล้วนั้น มีฝ่ายหนึ่งถือว่าเป็นฝ่ายชนะ กับอีกฝ่ายหนึ่งถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ได้รับความเสียหาย คือ ทหารและพลเรือนของแต่ละฝ่ายต้องล้มตายบาดเจ็บ ทุพพลภาพ อาคารบ้านเรือน วิสาหกิจ เศรษฐกิจต้องถูกทำลาย ความต่างกันระหว่าง 2 ฝ่ายมีเพียงว่า ฝ่ายแพ้สงครามเสียหายมากกว่าฝ่ายชนะสงคราม
ส่วนฝ่ายที่ถือว่าชนะนั้นผมไม่ต้องพรรณนามากให้เสียเวลา คือขอให้สังเกตว่าค่าของเงินตราของประเทศที่ถือว่าชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น แม้ไม่เสื่อมค่าถึงศูนย์ หรือเกือบถึงศูนย์อย่างเงินตราของประเทศแพ้สงครามก็ตาม แต่เงินตราของประเทศที่ถือว่าชนะสงครามนั้น ก็เสื่อมค่ามากมายหลายเท่า เช่น เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เงิน 1 เหรียญสหรัฐ ก็ใช้ซื้ออาหารและวัตถุอื่นๆ ได้มากกว่าปัจจุบันนี้ และในอังกฤษ สมัยนั้นค่าอาศัยอยู่กับครอบครัวก็เพียงสัปดาห์ละ 3 ปอนด์รวมค่าอาหารเช้า, กลางวัน, เย็น ซึ่งปัจจุบันต้องเพิ่มมากมายหลายเท่า
แต่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่สามารถรักษาความเป็นกลางในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ได้เป็นฝ่ายชนะสงครามอย่างแท้จริง แม้ว่าบางครั้งทหารของประเทศที่ทำสงครามได้หลงล้ำเข้ามาในสวิตเซอร์แลนด์ก็ดี และมีบางครั้งที่เครื่องมือของประเทศทำสงครามได้มาทิ้งระเบิดที่ชายแดนสวิตเซอร์แลนด์โดยพลั้งพลาดไป รัฐบาลสวิส ก็มิได้ผลีผลามถือเอาการนั้นทำสงครามกับประเทศที่ล่วงล้ำเขตแดนสวิส หากรัฐบาลสวิสได้ใช้วิธีเจรจาเรียกร้องความเสียหายจากประเทศที่ล่วงล้ำเขตแดน สวิตเซอร์แลนด์จึงรักษาความเป็นกลางและความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ไว้ในระหว่างสงครามโลกได้ สวิตเซอร์แลนด์จึงเป็นประเทศที่ได้ชัยชนะอย่างแท้จริงในสงครามโลกทั้ง 2 คราว
คุณจะเห็นได้ว่า เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สวิตเซอร์แลนด์ร่ำรวยถึงกับมีทองคำเป็นทุนสำรองเกินกว่าค่าของจำนวนเงินฟรังก์สวิสที่ออกใช้และสวิตเซอร์แลนด์ได้เจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจตลอดมา บัดนี้ก็ทราบกันทั่วไปในโลกแล้วว่าเงินฟรังก์สวิสมีหลักฐานมั่นคงเป็นที่นิยมทั่วโลก
ส่วนปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับคำถามของคุณ เพื่อความสะดวกแก่ประชาชนเกี่ยวกับคำตอบของผม ผมขอให้ทำแผนที่โลกขนาดย่อและทำเครื่องหมายที่ตั้งของ 104 ประเทศ ที่ลงมติในสหประชาชาติให้โซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และ 18 ประเทศที่ลงมติคัดค้านฝ่ายข้างมาก กับ 30 ประเทศที่งดออกเสียง หรือไม่เข้าร่วมประชุม
ผมขอให้สังเกตด้วยว่าสงครามที่ใช้สาตราวุธต่อสู้กันในปัจจุบันนี้ มิใช่จะดำเนินไปเพียงสงครามทางบก, ทางเรือ, ทางอากาศ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หากคุณก็ทราบแล้วว่าจะต้องดำเนินไปทุกทาง ฉะนั้นแผนที่ย่อดังกล่าวก็ย่อมแสดงได้บ้างว่า ฝ่ายใดมีดินแดนของประเทศที่เป็นพรรคพวกที่จะอาศัยเป็นฐานทัพอย่างใด ได้มากน้อยเพียงใด
แต่สงครามโลกในอนาคตที่กำลังคุกคามอยู่นั้น จะต้องดำเนินสูงขึ้นอีกก้าวหนึ่ง คือ “สงครามอวกาศ” คือการรบเหนือบรรยากาศของโลก แต่จะมีผลกระทบมาถึงโลก
บุคคลที่สนใจในเรื่องนี้ ย่อมทราบแล้วว่า ดาวเทียมที่ฝ่ายอเมริกันกับโซเวียตได้ส่งขึ้นไปในอวกาศประมาณ 2 พันกว่าลูกนั้น ส่วนหนึ่งใช้ในการวิทยาศาสตร์และการสื่อสาร อีกส่วนหนึ่งใช้เพื่อการทหาร คือเมื่อเกิดสงครามโลกขึ้นแล้วก็มีดาวเทียมของแต่ละฝ่ายที่ใช้เพื่อทำลายดาวเทียมของอีกฝ่ายหนึ่ง
เศษของดาวเทียมที่ถูกทำลายในอวกาศนั้นก็จะมีส่วนที่ตกลงมาสู่โลกมนุษย์ ทำนอง “สกายแลป” ของอเมริกันที่ตกลงมาสู่โลกเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ที่ทำให้หลายประเทศตระหนกตกใจไปตามๆ กัน เพราะเศษดาวเทียมจะทำความเสียหายบนพื้นดินหลายส่วนได้
เรื่องที่ชาวโลกต้องระมัดระวังอีกอย่างหนึ่งก็คือตั้งแต่ ค.ศ. 1960 สหภาพโซเวียตได้จัดตั้งกองทัพขึ้นใหม่ นอกจากกองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ ดังที่ประเทศส่วนมากในโลกได้จัดระบบเช่นนั้น หากสหภาพโซเวียตได้จัด “กองบัญชาการกำลังจรวดยุทธศาสตร์”
ใน ค.ศ. 1963 จอมพล บีร์ยูซอฟ ผู้บัญชาการกองกำลังนี้ ได้อ้างว่ากองบัญชาการของท่านสามารถใช้ดาวเทียมเป็นฐานยิงจรวดลงมาสู่ทุกแห่งในโลกนี้ได้ ผมคิดว่าฝ่ายอเมริกันก็มีความสามารถทำนองเดียวกัน แต่จัดระบบกองทัพต่างกับโซเวียตในเรื่องที่กล่าวนั้น
ถาม : ประชาชนจะมีส่วนในการป้องกันภยันตรายจากสงครามโลกได้อย่างไร
ตอบ : ประชาชนไทยควรระวังการปฏิบัติและการยั่วยวนกวนประสาทซึ่งเป็น “สงครามประสาท” (War of Nerves) ระหว่างมหาอำนาจบางประเทศและของพวก “กระหายสงคราม" (Warmongers) กับลูกสมุนที่ได้แพร่หลายเข้ามาถึงประเทศไทยในปัจจุบันนี้
เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2522 คณะกรรมการบัณฑิตปีการศึกษา 2521 ได้ขอให้ผมส่งคำขวัญไปลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ผมจึงได้ส่งคำขวัญไปให้ว่า “ต้องใช้ปัญญาประกอบสติ” ซึ่งคนไทยตั้งแต่ครั้งโบราณมาได้ใช้คำ 2 คำนี้ประกอบกันว่า “สติปัญญา” คือปัญญาเป็นความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด ซึ่งถ้าปล่อยให้ดำเนินไปโดยไม่มีสติควบคุมแล้วความคิดก็จะดำเนินไปตามอารมณ์แห่งจิตหรือ “จิตารมณ์” ซึ่งอาจหลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวงได้
ฉะนั้น บุคคลจึงจำต้องมีสติควบคุมปัญญาเพื่อให้เกิดความคิดที่ถูกต้องตามสภาวะที่เป็นจริง สติคือการกุมปัญญาไว้มิให้เป็นไปตามจิตารมณ์ แต่ให้ปัญญาดำเนินไปด้วยความรู้สึกตัว ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบ ด้วยสุขุมคัมภีรภาพ
ผมเห็นว่าประชาชนไทยขณะนี้กำลังเผชิญต่อสงครามประสาทที่แพร่เข้ามาในประเทศไทยดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นเพื่อที่จะไม่ถูกจูงให้เป็นเหยื่อสงคราม เช่นกล่าวนั้น ก็จำต้องใช้ความคิดที่บรรพบุรุษไทยตั้งแต่โบราณกาลสอนมา คือต้องใช้ปัญญาประกอบด้วยสติให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
ถาม : บุคคลชั้นนำแห่งมหาประเทศได้ใช้ความคิดชนิดปัญญาประกอบด้วยสติหรือไม่
ตอบ : ผมเห็นว่าบุคคลชั้นนำแห่งบางประเทศที่ใช้ความคิดผลีผลามไม่รอบคอบสุขุมคัมภีรภาพก็มี และที่ใช้ความคิดชนิดใช้ปัญญาประกอบสติก็มีมาก เช่น ท่านเฮลมุท ชมิดท์ นายกรัฐมนตรี (ชานเซลเลอร์) แห่งประเทศเยอรมนีตะวันตก ที่มีเขตแดนติดต่อกับเยอรมนีและเชคโกสโลวาเกีย ซึ่งมีกองทหารโซเวียตยึดครองอยู่นั้น ท่านมิได้ใช้วิธีคิดอย่างผลุมๆ ผลามๆ หากท่านใช้ทำนอง “ปัญญาประกอบด้วยสติ”
เช่นเมื่อวันที่ 17 มกราคมปีนี้ ท่านได้แถลงในรัฐสภาของสหพันธรัฐเยอรมนีเรื่องปัญหาท่าทีของเยอรมนีตะวันตกต่อสหภาพโซเวียตนั้น ท่านกล่าวว่า “เราไม่ต้องการตื่นตระหนกตกใจ เราไม่ต้องการตะโกนร้องที่จะทำสงคราม เราไม่ต้องการตื่นเต้นหรือทำสุนทรพจน์ยั่วยุ”
ถาม : เมื่อกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกที่เป็นด่านหน้าต้องเผชิญกับกองทัพของโซเวียตทางยุโรปตะวันตกแล้ว ขอทราบว่า มีความเห็นอย่างไรต่อประธานาธิบดีเซีย อุล ฮัค แห่งปากีสถานที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับกองทัพโซเวียตที่ยกเข้ามาในอัฟกานิสถาน
ตอบ : ผมสังเกตตามข่าวที่ลงพิมพ์ใน นสพ.อินเตอร์เนชั่นแนล ฮีรัลด์ ทรีบูน ซึ่งเป็นเครือเดียวกับ นิวยอร์ค ไทม์ และ วอชิงตัน โพสต์ นั้น ผมเห็นว่าประธานาธิบดีเซีย อุล ฮัค ไม่คิดผลุมๆ ผลามๆ ท่านยืนยันเด็ดขาดว่า ถ้ากองทหารโซเวียตรุกดินแดนปากีสถาน กองทัพของท่านก็ต้องต่อสู้
แต่เกี่ยวกับความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกานั้น ท่านประธานาธิบดีเซีย อุล ฮัค ได้กล่าวเมื่อวันที่ 17 มกราคมนี้ว่า จำนวนเงิน 400 ล้านเหรียญอเมริกันซึ่งสหรัฐอเมริกาจะช่วยปากีสถานนั้นเป็นเสมือน “ถั่วลิสง” (Zia calls $400 millions ‘Peanuts’) ซึ่งเป็นคำที่ท่านหยอกเย้าประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ซึ่งเป็นชาวไร่ถั่วลิสงมาก่อนเป็นประธานาธิบดี แต่ถ้าเปรียบเทียบกับคำพังเพยของไทยแล้วก็เสมือนกับที่คนไทยกล่าวถึงการที่คนได้รับของกินเพียงเล็กๆ น้อยๆ นั้นว่า “ไม่พอยาไส้”
ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันก็ได้แถลงเมื่อวันที่ 20 มกราคม อ้างว่า เงินที่จะให้ปากีสถาน 400 ล้านเหรียญนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกับชาติอื่นๆ ที่จะช่วยปากีสถานเพราะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวไม่อาจช่วยปากีสถานได้เต็มตามความต้องการของประเทศนั้น
รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ขอร้องให้รัฐบาลจีนช่วยสาตราวุธแก่ปากีสถานส่วนหนึ่ง แต่จะเป็นการเพียงพอที่ประธานาธิบดีเซีย อุล ฮัค ต้องการหรือไม่นั้นผมยังไม่ทราบ
ถาม : มีความเห็นอย่างไรต่อการที่รัฐบาลอเมริกันเลิกส่ง (embago) เมล็ดพืชที่เป็นอาหารสำหรับสัตว์พาหนะไปขายให้สหภาพโซเวียตเพื่อประสงค์บีบบังคับให้โซเวียตถอนทัพออกจากอัฟกานิสถาน
ตอบ : ผมเห็นว่ารัฐบาลอเมริกันคิดมุ่งหน้าเพื่อจะลงโทษโซเวียต ส่วนจะได้ผลเป็นการบีบบังคับโซเวียตให้ถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานได้หรือไม่นั้นก็ต้องพิจารณาสถิติเมล็ดพืชที่โซเวียตมีอยู่และที่จะผลิตได้เองนั้นพอเพียงหรืออัตคัดจนกระทั่งไม่อาจทนได้หรือไม่
แต่รัฐบาลอเมริกันได้มองดูด้านหลังเพียงใดบ้างนั้น ผมทราบจากข่าวหนังสือพิมพ์อเมริกันว่ารัฐบาลอเมริกันก็ได้คำนึงถึงชาวไร่อเมริกันเองเป็นสำคัญคือ รัฐบาลอเมริกันรับซื้อเมล็ดพืชอาหารสัตว์ พาหนะ (ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ) จากชาวไร่ที่เลิกส่งไปขายให้โซเวียตนั้นเก็บไว้ใน “ไซโล” (ฉาง) ชาวไร่อเมริกันจึงไม่ถูกกระทบกระเทือน
แต่ปัญหามีว่าเมล็ดพืชประมาณ 17 ล้านตัน ที่รัฐบาลอเมริกันซื้อหรือจะซื้อจากชาวไร่อเมริกันนั้นรัฐบาลอเมริกันจะเอาไปทำอะไร ผมก็ได้ข่าวจากวิทยุและหนังสือพิมพ์อเมริกันเองว่ารัฐบาลจะเอาเมล็ดพืชดังกล่าวนั้นไปช่วยประเทศอื่นๆ ที่มีความต้องการ ผมจึงนึกถึงประเทศไทย ว่า ถ้ารัฐบาลอเมริกันทำเช่นนั้น แล้วราคาเมล็ดพืชในตลาดโลกนอกจากตลาดโซเวียตก็จะตกต่ำมาก และจะเป็นการแย่งตลาดของประเทศกสิกรรมเช่นประเทศไทย ที่รายได้ของพลเมืองไทยส่วนมากได้มาจากการกสิกรรม ประเทศไทยก็จะถูกกระทบกระเทือนมากทั้งในทางราคาพืชเพื่อส่งออกต่างประเทศ และทั้งจะถูกตัดทอนตลาด
ผมจึงเห็นควรว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอเมริกันต้องใช้ปัญญาประกอบด้วยสติ คิดถึงประเทศไทยที่ได้ร่วมลงมติในสหประชาชาติให้โซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานนั้น ว่าอย่าให้การเลิกขายเมล็ดพืชให้โซเวียตนั้นกลับกลายมาเป็นการลงโทษประเทศไทยกับชาวนาชาวไร่ไทยผู้บริสุทธิ์
ถาม : มีความเห็นอย่างไรต่อการที่รัฐบาลอเมริกัน “คว่ำบาตร” (Boycott) กีฬาโอลิมปิคที่มอสโคว์ และชักชวนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ร่วมกัน “คว่ำบาตร” เช่นนั้นด้วย
ตอบ : ผมสังเกตว่า รัฐบาลอเมริกันได้ตัดสินใจไปก่อนโดยยังไม่ได้ปรึกษาคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งชาติของตนและรัฐบาลของอีก 103 ประเทศ ที่ได้ร่วมกับสหรัฐอเมริกาลงมติในสหประชาชาติให้โซเวียตถอนกองทัพออกจากอัฟกานิสถานโดยที่รัฐบาลอเมริกันได้ตัดสินใจไปก่อนเช่นนั้น ผลจึงปรากฏขึ้นมาว่า ในชั้นแรกคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งชาติอเมริกันไม่เห็นด้วย รัฐบาลต้องใช้วิธีเกลี้ยกล่อมหลายวัน คณะกรรมการฯ นั้นจึงคล้อยตาม และรัฐบาลจำนวนมากของอีก 103 ประเทศนั้นไม่เห็นด้วย และคณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างประเทศกับคณะกรรมการโอลิมปิคของชาติอีกมากมายหลายชาติไม่เห็นด้วย คือต่างยืนยันจะส่งนักกีพาของชาตินั้นๆ ไปแข่งขันโอลิมปิคที่มอสโคว์
ฉะนั้น การคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิคที่มอสโคว์จึงไม่ได้ผลตามที่รัฐบาลอเมริกันต้องการ
อนึ่ง ความดำริของรัฐบาลอเมริกันและรัฐบาลที่ดำเนินตามอเมริกันที่จะไม่ออกหนังสือเดินทางให้คนสัญชาติของตนเดินทางไปชมกีพาโอลิมปิคที่มอสโคว์นั้นก็จะเป็นเหตุให้ฝ่ายโซเวียตอ้างว่ารัฐบาลอเมริกันกับพวกที่ติดตามนั้นเป็นฝ่ายทำผิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ถาม : มีความเห็นอย่างไรต่อคำแถลงของประธานาธิบดีคาร์เตอร์เมื่อวันที่ 23 มกราคมนี้ ว่าด้วยนโยบายของรัฐบาลอเมริกัน (State of the Union)
ตอบ : สาระสำคัญเกี่ยวกับสงครามมีอยู่ว่า
(1) ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้ประณามโซเวียตซ้ำอีกถึงการส่งกองทหารไปแทรกแซงรุกรานอัฟกานิสถาน แต่ท่านมิได้กล่าวว่าถ้าโซเวียตคงอยู่ ณ ที่นั้นต่อไปอีกนานเท่าใด หรือถ้ารุกรานเข้าไปในปากีสถานไซร้ รัฐบาลอเมริกันจะใช้กำลังทหารทำสงครามกับโซเวียตหรือไม่
ท่านกล่าวเพียงจะร่วมมือกับประเทศอื่นช่วยเหลือทางการเมืองและทางทหารแก่ปากีสถาน
(2) แต่ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ขีดเส้นตายไว้สำหรับบริเวณอ่าวเปอร์เซีย (เรียกโดยย่อว่า “Gulf”) ว่า ถ้ากำลังภายนอกใดๆ พยายามเข้าไปควบคุมบริเวณนั้นแล้ว สหรัฐจะใช้กำลังทุกอย่างที่จำเป็น รวมทั้งกำลังทหารเพื่อขับไล่กำลังภายนอกบริเวณนั้นออกไป
(3) ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ จะเสนอกฎหมายเกณฑ์ทหารต่อรัฐสภา ให้ชายอเมริกันอายุระหว่าง 18 ปีถึง 26 ปีไปขึ้นทะเบียนทหาร (แบบขึ้นทะเบียนกองเกินอัตราของไทย) ที่อาจถูกคัดเลือกเป็นทหารประจำการได้ (กฎหมายเกณฑ์ทหารระหว่างสงครามเวียดนามได้ยกเลิกไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 1973 พร้อมกับการเลิกสงครามกับเวียดนาม)
ส่วนสหภาพโซเวียตมีระบบการเกณฑ์ทหารมาช้านานแล้ว ซึ่งสามารถระดมทหารกองหนุนนั้นได้ทันทีและระดมจากกองเกินอัตรามาฝึก สามารถทำการรบได้ โดยใช้เวลาฝึกประมาณ 2-3 เดือน
ทั้งนี้แสดงว่าสหรัฐอเมริกา ยังไม่พร้อมที่จะใช้กำลังทหารรบกับโซเวียตขณะนี้ เพราะกว่าจะออกกฎหมายเกณฑ์ทหารได้และเกณฑ์ทหารใหม่ได้ ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน และการทำสงครามก็ต้องใช้เงิน ฉะนั้น พิจารณางบประมาณรายได้ของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยว่าจะสามารถใช้จ่ายในการทำงานสงครามนั้นเพียงใดและควรจะเปรียบเทียบกับวิธีงบประมาณ และวิธีเงินตราของโซเวียตที่เป็นระบบสังคมนิยม
ถาม : ทราบบ้างหรือไม่ว่าประเทศมุสลิมในบริเวณอ่าวเปอร์เซียนั้นมีกำลังทหารที่พอต้านทานกำลังโซเวียตได้เพียงใดบ้าง
ตอบ : ถ้าดูตามสถิติพลเมืองแล้วประเทศในบริเวณนั้นมีพลเมืองน้อยมากและกำลังทหารก็น้อยมาก ไม่พอต้านทานกำลังโซเวียต
แต่ผมเห็นว่าโซเวียตคงไม่ใช้วิธีส่งกองทัพเข้ามารุกรานดื้อๆ เพราะในบรรดาประเทศมุสลิมแห่งตะวันออกกลางนั้นก็มีหลายประเทศที่นิยมโซเวียต เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยเมน (เยเมนใต้) ซึ่งมีที่ปรึกษาการทหารโซเวียตอยู่แล้ว
อนึ่ง วิทยุฝ่ายตะวันตกบางสถานีอ้างว่าประเทศซีเรียก็มีที่ปรึกษาการทหารโซเวียตประมาณ 2,000 คนและที่ปรึกษาการพลเมืองอีกประมาณ 700 คน นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมในประเทศตะวันออกกลางซึ่งจัดเป็นกลุ่มหรือพรรคลับๆ ที่ถือทรรศนะซึ่งเรียกว่า “มาร์กซิสม์อิสลามิค” แม้ในอิหร่านก็มีพรรคลับที่เรียกว่า “พรรคทูเด๊ะห์”
ผมได้ตอบคำสัมภาษณ์ทั่วๆ ไปของคุณพอสมควรแล้ว ต่อไปนี้ผมจะตอบโดยสรุปถึงคำถามที่คุณได้ตั้งไว้ในตอนต้นแห่งการสนทนา คือ
1. สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดได้หรือไม่
ผมขอตอบว่า สงครามใหญ่ (Great War) ย่อมเกิดขึ้นได้ระหว่างมหาอำนาจของประเทศที่เผชิญหน้ากัน ซึ่งทำสงครามประสาทโจมตีระหว่างกันอย่างรุนแรง ขณะนี้สงครามใหญ่ดังกล่าวอาจขยายไปถึงประเทศที่เป็นลูกสมุนของมหาอำนาจแต่ละฝ่าย แต่สงครามใหญ่ดังกล่าวไม่น่าจะขยายไปเป็นสงครามโลก ครั้งที่ 3 เพราะบุคคลชั้นนำของมหาอำนาจอีกหลายประเทศ เช่น ประธานาธิบดีจีสการ์เดสแตง ของฝรั่งเศส (ระหว่างเป็นประธานาธิบดี) ท่านผู้หญิงอินทิรา คานธี (แถลงการณ์ร่วมกับท่านจีสการ์ฯ เมื่อ ค.ศ. 1980), และบุคคลชั้นนำของอีกหลายประเทศ ได้อุตสาหะพยายามในการที่จะให้มีการคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างประเทศ
ถ้าหากท่านเหล่านั้นทำให้มหาอำนาจที่ขุ่นข้องหมองใจกันขนาดรุนแรง ดังกล่าวที่ผมกล่าวไว้ในเรื่อง “สงครามประสาท” ได้สติขึ้นมาว่า ถ้าขืนจะรบกันแล้วมหาอำนาจคู่สงครามนั้นเองก็จะพินาศทั้งสองฝ่าย สงครามใหญ่ระหว่างมหาอำนาจนั้นๆ ก็ไม่อาจเกิดขึ้น
แต่ถ้ามหาอำนาจดังกล่าวขืนจะรบกันให้ได้ สงครามใหญ่นั้นก็จะไม่ขยายไปทั่วโลก เพราะประเทศใหญ่และประเทศเล็กในทวีปต่างๆ ไม่ประสงค์เข้าไปพัวพันกับการสงครามนั้นมีจำนวนมากกว่าประเทศที่บุคคลชั้นนำกระหายสงคราม
2. ประเทศไทย จะป้องกันภยันตรายจากสงครามโลกได้อย่างไร
ผมขอตอบว่า แม้สงครามโลก ครั้งที่ 3 ไม่น่าจะเกิดขึ้นดังที่ผมได้ตอบใน (1) ข้างบนนี้ แต่ “สงครามใหญ่” ระหว่างมหาอำนาจบางประเทศย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็พยายามชักจูงประเทศอื่นๆ ให้เข้าร่วมเป็นฝ่ายตน ถ้าประเทศใดยอมเข้าทำสงครามใหญ่ด้วยแล้ว ประเทศนั้นก็จะพินาศไปตามประเทศมหาอำนาจนั้นๆ ด้วย
ฉะนั้นผมเห็นว่าประเทศไทยควรป้องกันภยันตรายจากสงครามใหญ่นั้น โดย
ก) เตรียมการป้องกันเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไว้ให้พร้อม เพื่อต่อสู้การรุกราน และเพื่อรักษาความเป็นกลางระหว่างประเทศที่กระหายสงคราม
ข) ต้องไม่ตกหลุมพรางและกลวิธีใดๆ ของพวกกระหายสงครามกับลูกสมุนที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นตัวแทน (Proxy) ทำสงครามให้แก่มหาอำนาจใดๆ
ที่มา : มติชนรายวัน. สัมภาษณ์ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, ใน อนุสรณ์นายปาล พนมยงค์ คำไว้อาลัยกับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น, 2525, น. 368-379