ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เงินเฟ้อกับเกร็ดประวัติศาสตร์ของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร

6
เมษายน
2565

ผลสืบเนื่องจากภัยสงคราม ส่งผลให้ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยกำลังประสบกับ "สภาวะเงินเฟ้อ" ทำให้อำนาจการซื้อของประชาชนลดลง เนื่องจากราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เงินจำนวนเท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าและบริการได้ลดลง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้นั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบทความนี้ ผู้เขียนได้แบ่งเรื่องราวออกเป็น 2 ช่วง คือ

1 เกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองของครูฉลบชลัยย์ และ 

2. ความรู้เกี่ยวกับเงินเฟ้อ 

 

 

ช่วงเวลานั้น ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่กับ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และ ครอบครัว ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสและรับรู้เกี่ยวกับเรื่องราวและอุปนิสัยของท่าน โดยในบทความที่ชื่อว่า “ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพและบูชา ท่านปรีดี พนมยงค์” ได้บอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเงินเฟ้อเอาไว้ โดยอุปนิสัยของอาจารย์ปรีดีนั้นไม่ค่อยสนใจเรื่องทรัพย์สินเงินทอง จึงทำให้เกิดเรื่องเล่าตลกปนกับความน่ารักเกี่ยวกับนายปรีดีเอาไว้หลายครั้งๆ

ครั้งหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องเงินเฟ้อนั้น เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ คุณจิตราภา บุนนาค ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานสาวของอาจารย์ปรีดี ได้เข้าทำงานที่ บริษัทสายการบินแปซิฟิก โพ้นทะเล (สยาม) จำกัด (Pacific Oversea Airline (Siam) Limited : P.O.A.S.) ซึ่งคุณจิตราภา ได้เรียนให้อาจารย์ปรีดีทราบว่า ได้เงินเดือน 600 บาท ทำให้อาจารย์ปรีดีตกใจ และชื่นชมหลานสาว โดยพูดว่า “…ได้เงินเดือนเท่าอธิบดีเชียวหรือ” และเมื่อคุณจิตราภามาเยี่ยมอาจารย์ปรีดี ท่านก็มักจะพูดเป็นเชิงล้อเล่นด้วยความเอ็นดูกับคุณจิตราภาว่า “…แน่ะ อธิบดีมาแล้ว”[1]

อีกครั้งหนึ่งก็คือ อาจารย์ปรีดีมีลูกน้องที่สนิทๆ มากราบเยี่ยม ซึ่งอาจารย์ได้ชวนให้ท่านทั้งหลายที่มาเยี่ยม อยู่กินกลางวันด้วยกันก่อน พร้อมทั้งท่านได้ให้เงินคนไปซื้อขนมจีบและซาลาเปา โดยอาจารย์ให้เงินคนไปเป็นจำนวน 20 บาท โดยอาจารย์ได้พูดว่า

“…อยู่กินกลางวันด้วยกันนะ กินอะไรดีล่ะ ให้คนไปซื้อขนมจีบ ซาลาเปาดีกว่า 20 บาท พอไหม”

เมื่อทุกคนได้ยินก็ได้แต่หัวเราะขึ้นมาพร้อมกัน ซึ่งก็ทำให้อาจารย์สงสัยว่าหัวเราะกันทำไมพร้อมกับถามว่า “ทำไม น้อยไปหรือ” ซึ่งก็มีผู้ตอบอาจารย์ไปว่า “100 บาท ก็ยังไม่พอเลยครับ สมัยนี้” เมื่อได้ฟังเช่นนั้นอาจารย์ปรีดีก็หัวเราะออกมาบ้าง พร้อมกับยกหน้าที่จัดการนี้ให้ท่านผู้หญิงพูนศุขจัดการ[2]

 

 

ทั้งสองเรื่องนั้นสะท้อนให้เห็นมุมน่ารักของอาจารย์ปรีดี ซึ่งอุปนิสัยของท่านนั้นไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง เพราะท่านเป็นคนให้ความสำคัญกับการทำงาน ทำให้ท่านอาจไม่ทันสังเกตความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับเรื่องในบ้านส่วนใหญ่อาจารย์ปรีดีนั้นมอบให้ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้จัดการ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อนั้นมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงอำนาจซื้อในความรับรู้ของคน และบางสถานการณ์เงินเฟ้อนั้นเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันตั้งตัวโดยเป็นผลจากเหตุการณ์บางอย่างที่มากระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

คำถามสำคัญก็คือ ภาวะเงินเฟ้อนั้นน่ากลัวหรือไม่ และผลกระทบที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อเป็นอย่างไร โดยก่อนจะไปถึงความน่ากลัวและผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่าเงินเฟ้อคืออะไร

“ภาวะเงินเฟ้อ” หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการซื้อสินค้ามีมาก แต่ปริมาณสินค้าและบริการต่างๆ ที่ผลิตออกมาไม่เพียงพอ หรือ ผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการ[3] สถานการณ์ของภาวะเงินเฟ้อมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุบางอย่างให้ปริมาณสินค้าและบริการต่างๆ ไม่เพียงพอ เช่น ในประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาวะเงินเฟ้อเกิดมาจากผลกระทบของสงครามที่ทำให้แหล่งผลิตได้รับความเสียหายประกอบกับสินค้าซึ่งเดิมเคยนำเข้ามาในประเทศถูกชะลอการนำเข้าเนื่องจากสงคราม[4] หรือในปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการ เนื่องจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งมีผลให้ตลาดราคาสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้น[5] เป็นต้น

ผลที่เกิดขึ้นของภาวะเงินเฟ้อนั้นส่งผลกระทบสำคัญ 6 ประการ ดังนี้[6]

  1. การเกิดขึ้นของภาวะเงินเฟ้อ จะทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมที่มีอยู่มีค่าลดลง ทำให้สามารถซื้อของได้น้อยลง กล่าวคือ เป็นการใช้เงินมาก แต่สามารถซื้อของได้น้อยลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ราคาของก๋วยเตี๋ยว ซึ่งครั้งหนึ่งอาจจะเคยชามละ 25 บาท แต่เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นอย่างรุนแรงราคาก๋วยเตี๋ยวอาจจะเพิ่มเป็นชามละ 50 บาท ซึ่งทำให้อำนาจซื้อของเงิน 100 บาทลดลงจากเดิมที่เคยซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 4 ชามก็เหลือ 2 ชาม เป็นต้น
  2. ภาวะเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องตั้งราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นเพื่อให้คุ้มต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการที่วัตถุดิบลดลงและมีราคาแพงขึ้น ในขณะเดียวกันในเชิงภาพรวมเมื่อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ลูกจ้างอาจจะขอให้มีการปรับค่าจ้างให้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะมีผลเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจเพิ่มความรุนแรงของภาวะเงินเฟ้อขึ้นไปอีก
  3. ภาวะเงินเฟ้อทำให้ความสามารถในการส่งออกสินค้าและบริการลดลง เพราะเมื่อเกิดเงินเฟ้อแล้วทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น จึงทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะต้นทุนสินค้ามีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ
  4. ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มความไม่เป็นธรรมไม่เท่าเทียมกันในรายได้ เนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อเป็นการซ้ำเติมคนที่มีรายได้ประจำ โดยเฉพาะข้าราชการเนื่องจากกลุ่มนี้ได้รับเงินเป็นจำนวนคงที่ตามตำแหน่ง นอกเหนือจากกลุ่มข้าราชการแล้วอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในกรณีนี้ก็คือ กลุ่มผู้ได้รับเงินบำนาญหรือดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินสวัสดิการ เช่น ข้าราชการบำนาญ ผู้พิการที่ได้รับเงินสงเคราะห์คนพิการ หรือผู้สูงอายุที่ได้รับเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ เป็นต้น คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีรายได้คงที่ แม้ราคาสินค้าและบริการจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
  5. ภาวะเงินเฟ้อทำให้ประชาชนคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการในอนาคตได้ยาก เนื่องจากราคาสินค้าและบริการมีการเพิ่มขึ้นตามปัจจัยการขาดแคลนหรือไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้ยากต่อการตัดสินใจเรื่องการบริโภค การออม และการลงทุนในปัจจุบันด้วย รวมถึงทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดหมายได้ลดลง เนื่องจากเมื่อเกิดเงินเฟ้อขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับแท้จริงลดลง สะท้อนจากจำนวนสินค้าที่ซื้อได้น้อยลง
  6. ภาวะเงินเฟ้อทำให้ภาคธุรกิจกำหนดราคาขายสินค้ายาก เพราะคาดการณ์ต้นทุนการผลิตล่วงหน้าไม่ได้ โดยแม้ผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถผลักภาระดังกล่าวไปยังผู้บริโภคได้ก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าผู้บริโภคจะมีความสามารถจะซื้อได้เนื่องจากเงินเฟ้อทำให้ความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถวางแผนการลงทุนได้ จึงทำให้กลายเป็นสภาวะที่บั่นทอนการลงทุนที่ถือเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของประเทศในระยะยาว อันจะมีผลต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจ

คำถามสำคัญ คือ “เงินเฟ้อน่ากลัวจริงหรือไม่” ในเรื่องนี้ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อธิบายว่า ผลเสียสำคัญของเงินเฟ้อ คือ การทำให้เงินในกระเป๋าของทุกคนมีค่าน้อยลง เช่น คนเยอรมันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีเพียงซื้อขนมปังตอนเช้าได้พอดี ตกเวลาบ่ายซื้อขนมปังไม่ได้แล้ว[7] สิ่งนี้คือความน่ากลัวสำคัญของเงินเฟ้อ จึงเป็นการดึงมูลค่าของเงินจากที่เคยมีอยู่ออกไป ทำให้มูลค่าของเงินลดลงจากเดิม  นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังเป็นปัญหาสำคัญกับคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีความเดือดร้อนมากที่สุด เนื่องจากไม่มีอำนาจต่อรองให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อยังมีผลสำคัญต่อการทำให้คนที่บากบั่นหมั่นเพียรเก็บหอมรอมริบจนมีเงินออมฝากธนาคาร แต่ในที่สุดเงินออมนั้นมีค่าเหลือนิดเดียวหากเงินเฟ้อสูงมากๆ[8]

ดังจะเห็นได้ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อนั้นมีส่งผลกระทบสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน ทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนมีความยากลำบากมากขึ้น สิ่งนี้อาจจะเรียกว่าเป็นความน่ากลัวของภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวดำเนินไปเป็นระยะเวลานานอาจจะเป็นผลร้ายกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการซ้ำเติมสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

[1] ฉลบชลัยย์ พลางกูร, ‘ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพและบูชา ท่านปรีดี พนมยงค์’ ใน สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ และคณะ (บรรณาธิการ) วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2535 (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2535) 57.

[2] เพิ่งอ้าง.

[3] ทรงธรรม ปิ่นโต และคณะ, เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ (ฉบับปรับปรุง) (ธนาคารแห่งประเทศไทย 2563) 115.

[4] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘สงครามโลกครั้งที่ 2 กับภาวะเงินเฟ้อ’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 4 สิงหาคม 2563) https://pridi.or.th/th/content/2020/08/367#_ftn2 สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2565.

[5] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘PRIDI Economic Focus: วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 21 มีนาคม 2565) https://pridi.or.th/th/content/2022/03/1013 สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2565.

[6] ทรงธรรม ปิ่นโต และคณะ (เชิงอรรถ 1) 116 – 118.

[7] ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน, ‘เงินเฟ้อน่ากลัวจริงหรือ?’ ใน ทรงธรรม ปิ่นโต และคณะ (ผู้เขียน) เศรษฐศาสตร์…เล่มเดียวอยู่ ฉบับปรับปรุงใหม่ (ธนาคารแห่งประเทศไทย 2563) 152.

[8] เพิ่งอ้าง 153.