ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

บันทึกความสัมพันธ์ของครูฉลบชลัยย์ ปรีดี พูนศุข ในจีนถึงปารีส

6
เมษายน
2567

[ภาพซ้ายไปขวา] ภาพของท่านผู้หญิงพูนศุข และนายปรีดี พนมยงค์ กับครูฉลบชลัยย์ พลางกูร
ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ที่มา : 100 ปีแห่งชีวิต ฉลบชลัยย์ พลางกูร : ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น โดย กษิดิศ อนันทนาธร

 

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ดิฉันมีเรื่องทะเลาะเอะอะกับหลวงแผ้วพาลชน อธิบดีตำรวจ เพราะเขาไม่ยอมออกหนังสือเดินทางให้ดิฉัน จึงคิดว่าตนเองคงหมดหวังที่จะออกนอกประเทศแล้ว แต่หลายปีต่อมามีผู้มาช่วยให้ดิฉันได้หนังสือเดินทาง เมื่อได้มาแล้ว ดิฉันก็ตั้งหน้าตั้งตาคอยโอกาสเหมาะที่จะออกไป จนกระทั่งปี ๑๙๖๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ดิฉันเพิ่งได้โอกาสที่จะเดินทางออกนอกประเทศได้เป็นครั้งแรก โดยการร่วมคณะ Tour ของคุณสมถวิล สังขทรัพย์ ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น

ขากลับพอมาถึงฮ่องกง ทางเรือบินประกาศว่า มีเพื่อนชายคนหนึ่งมาคอยพบดิฉันอยู่ที่ทางออก ดิฉันไม่รู้จักชายคนนี้เลย แต่เขาปราดเข้ามาหาดิฉัน และถามว่า “คุณฉลบชลัยย์ใช่ไหมครับ?” พอดิฉันรับว่าใช่ เขาก็แบะกระเป๋าเสื้อบนให้เห็นมุมหนึ่งของจดหมายซึ่งพอเห็นแว้บเดียว ดิฉันก็จำได้ว่าเป็นลายมือคุณพูนศุข ดิฉันให้เขาขึ้นรถ bus ไปกับเราไปคุยกันที่โรงแรม โดยหลอกเพื่อนๆ ว่าชายคนนี้เป็นผู้ปกครองของลูกศิษย์คนหนึ่งของดิฉัน บ้านเขาอยู่มาเก๊า เขารู้โปรแกรมว่าเราจะไปเที่ยวมาเก๊าในวันรุ่งขึ้น เขาจะไปคอยรับและขออนุญาตพาดิฉันไปเที่ยวบ้านเขา โดยจะจัดการพามาส่งให้ทันเรือเที่ยวสุดท้ายที่จะกลับฮ่องกง

ที่แท้ชายคนนี้พาดิฉันไปพบคุณพูนศุขและลูกๆ ที่โรงแรมใกล้ๆ นั่นเอง ดิฉันพรรณนาไม่ถูกเลยว่าความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไร ได้แต่ร้องไห้อย่างเดียว แต่คุณพูนศุขบอกว่าเราต้องรีบ แล้วท่านส่งบัตรแผ่นหนึ่งให้ดิฉันถือไว้พาขึ้นรถ bus บอกว่าไม่ให้พูดอะไรเลย ในบัตรนั้นมีรูปดิฉันติดอยู่ เพิ่งนึกได้ว่าคุณพูนศุขเคยขอรูปดิฉันไปใบหนึ่ง และรูปนั้นแหละเลยได้เป็นประโยชน์ในงานนี้

รถ bus พาเราผ่านประตูสําคัญ ซึ่งกั้นเขตแดนมาเก๊าและจีนแผ่นดินใหญ่ มีทหารเฝ้าอยู่หลายคน และมีรถพาชาวท่องเที่ยวไป จอดดูหลายคัน เราผ่านตึกใหญ่ๆ ไปหลายตึก แล้วไปหยุดที่ตึกหนึ่ง ซึ่งดิฉันได้มีโอกาสอันไม่เคยคาดฝันเลยว่าจะเป็นจริงได้ ดิฉันกราบท่านปรีดี พร้อมกับร้องไห้อย่างไม่อยากหยุด ด้วยความดีใจอันแสนจะสุดซึ้ง นับจาก พ.ศ. ๒๔๙๐ มา ดิฉันเพิ่งได้กราบท่าน ครั้งนี้เอง

ดิฉันมีข้อสงสัย ถามคุณพูนศุขว่า ผู้ชายคนนั้นตรงเข้ามาหาดิฉันถูกได้อย่างไรที่ทางออกของสนามบินฮ่องกง ท่านเอากระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งตัดมาจากหนังสือพิมพ์ (ฉบับไหนจําไม่ได้) ให้ดิฉันดู เป็นรูปคณะ Tour ของดิฉัน ซึ่งได้ถ่ายร่วมกันก่อนขึ้นเครื่องและท่านได้ X ตรงรูปดิฉันซึ่งยืนอยู่เห็นได้ชัด และได้มอบให้ชายคนนั้นไป

และอีกอย่างหนึ่ง คือว่าดิฉันกับเพื่อนสนิท ๒-๓ คน ไม่ได้กลับพร้อมคณะคุณสมถวิล เราอยู่เที่ยว Tokyo ต่อ ๒ วัน แล้วยังมาแวะไต้หวันอีก ๒ วันจึงจะมาถึงฮ่องกง อันนี้รู้ได้อย่างไร ?

ดิฉันไม่รู้ว่าจะขอบคุณคุณพูนศุขอย่างไร จึงจะคุ้มกับการที่ท่านได้เห็นการณ์ไกลและใช้ความฉลาดรอบคอบถี่ถ้วน ลงทุนลงแรงและเวลา จัดการเรื่องนี้ได้สําเร็จอย่างน่าสรรเสริญ ซึ่งให้ความสุขและความปลาบปลื้มแก่ดิฉันอย่างเหลือล้น

ความจริงการที่ดิฉันไปขอหนังสือเดินทางเมื่อปี ๒๔๙๙ นั้นก็เพราะหวัง (อย่างลมๆ แล้งๆ) ว่าอาจจะมีโอกาสได้พบคุณพูนศุข เพราะท่านได้พาลูกสาวเล็กๆ ๒ คน คือคุณดุษฎีและคุณวาณีออกจากเมืองไทยเมื่อต้นๆ ปี ๒๔๙๖ เข้าใจว่าคงจะไปอยู่ Paris กับคุณแป๋ว (สุดา) ลูกสาวที่กําลังเรียนอยู่ที่นั่น แต่เมื่อคุณพูนศุขเข้ามาเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื่องจากคุณหญิงเพ็ง มารดาของท่านป่วยหนัก จึงได้ทราบว่าท่านพาลูก ๒ คนออกจาก Paris ในปีนั้นเอง โดยเดินทางผ่าน Sweden, Finland ไปถึง Moscow แล้วต่อไปโดยรถไฟสายยาวที่สุดในโลก ผ่านไซบีเรียไปสิ้นสุดที่เมืองด่านแรกของจีน โดยมีท่านปรีดีมาคอยรับอยู่ที่นั่นแล้ว

เมื่อคุณพูนศุขกลับไปเมืองจีนครั้งนี้ ได้มีการติดต่อทางจดหมายและส่งอาหารไทย (แห้ง) ไปนานๆ ครั้ง โดยมีพรรคพวกที่ฮ่องกงจัดการให้ ตอนนั้นชักมีความหวังว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสได้ไปพบท่านปรีดีด้วย แต่ยังไงๆ ก็คงจะต้องไปดูลู่ทางก่อนหลายครั้ง ไม่เคยนึกเลยว่าพอออกเดินทางไปครั้งแรกก็ได้พบท่านทั้งสองแล้ว โชคดีอะไรเช่นนั้น แน่นอนทั้งนี้เป็นเพราะความสามารถของคุณพูนศุขแท้ทีเดียว ดิฉันคิดถึงเรื่องนี้ทีไรก็นอนไม่หลับเพราะความดีใจอยู่เป็นเวลานานแสนนาน

ตอนที่ดิฉันได้เล็ดลอดเข้าไปในเขตจีน ครั้งนี้ได้พบคุณแป๋ว (สุดา) ด้วย ได้ความว่าเธอเรียนจบวิชาดนตรีแล้ว แวะไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ก่อนจะกลับเมืองไทย แต่กลับไม่ได้ เพราะจอมพลสฤษดิ์จับทุกคนที่กลับจากประเทศจีน คุณสุดาก็มีหมายจับด้วย จึงต้องอยู่ในจีนต่อไป

 

คุณพูนศุขและคุณสุดากลับไปอยู่ Paris

ปี ๒๕๐๙ ดิฉันได้เล็ดลอดเข้าไปพบท่านปรีดีและคุณพูนศุขในเขตเมืองจีน ดังได้กล่าวแล้ว พอรุ่งขึ้นปี ๒๕๑๐ คุณพูนศุขก็พาคุณสุดากลับ Paris เหตุที่ท่านกลับไปนี้ ตามที่ดิฉันเข้าใจเอาเองไม่ทราบว่าผิดหรือถูกคือว่า :-

๑. ท่านคงจะเกรงใจรัฐบาลจีนที่ไปให้เขาเลี้ยงดูหลายคน เกินไป (เพราะคุณสุดากลับเข้าเมืองไทยไม่ได้ เนื่องด้วยมีหมายจับ)

๒. คุณสุดาอยู่ว่างๆ คงอาจจะอยากกลับไปเรียนต่อหรือไปทํางาน ฉะนั้นคุณพูนศุขก็จะไปอยู่เป็นเพื่อนลูก

๓. คุณปาลกําลังศึกษาใน Paris แต่อยู่คนละแห่ง

๔. ที่สําคัญที่สุดเห็นจะเป็นเพราะว่าจะไปเตรียมหาที่อยู่สําหรับท่านปรีดีที่จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัวได้ อนึ่ง ท่านอาจจะต้องเดินทางเข้าเมืองไทยบ่อยๆ เพื่อดูแลบ้านช่องและที่ทางที่ยังพอมีเหลืออยู่บ้าง (ได้ขายที่แปลงใหญ่เพื่อเอาเงินไปซื้อบ้านใน Paris)

ท่านปรีดีเคยเล่าว่า ท่านได้สนทนาและปรึกษากับผู้นําของประเทศจีน คือ ประธานเหมาเจ๋อตุง และนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ว่าเมื่อท่านอายุแก่มากแล้วถึง ๗๐ ปี ก่อนที่จะลาโลกไป ท่านอยากจะมีชีวิตอิสระอย่างที่เคยมีแต่ก่อน อยากจะไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส เพราะที่นั่นเป็นประเทศแห่งความหลังของท่าน ถือเป็นบ้านที่ ๒ รองจากประเทศไทย และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ท่านจะไปไหนๆ หรือทําอะไรๆ ได้ตามสะดวกใจ (ตอนนั้นเมืองจีนยังเป็นประเทศปิดอยู่) ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงจะไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนกันได้ง่าย จะเขียนหนังสือก็สะดวกในการศึกษาค้นคว้าหรือค้นหาเอกสารหลักฐานต่างๆ

ท่านผู้นําจีนทั้งสองเห็นใจท่านปรีดี และเข้าใจจิตใจของท่านเป็นอย่างดี จึงพยายามช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เพื่อให้ความประสงค์ของท่านได้สําเร็จเรียบร้อย โดยมิได้มีการระคายเคืองกันแต่อย่างใด

สําหรับคุณพูนศุขนั้น การจัดหาซื้อบ้านที่เหมาะสมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุนรอนของท่านมีจํากัด บ้านที่จะมีเนื้อที่อาคารพอให้ลูกทั้งหมดอยู่รวมกันได้ด้วยนั้น หายากเต็มทีที่จะได้ราคาถูก จะต้องใช้เวลาสืบหากันอีกนาน

ในปี ๒๕๑๐ นี้เอง ดิฉันก็ไปยุโรปเป็นปีแรก นับแต่ที่จากมาเมื่อ ๒๘ ปี มาแล้ว ดิฉันยังไม่กล้าเดินทางคนเดียว กลัวว่าจะเกิดการขาดตกบกพร่องบางอย่าง จึงเลือกร่วมกับคณะ Tour ที่มีรายการอย่างน้อย ๓ สัปดาห์ จะได้มีการหยุดที่ Paris อย่างน้อย ๔ วัน ตอนนั้นคุณพูนศุขกับดิฉันติดต่อกันได้สะดวกแล้ว (คณะ Tour ทั่วไป จะไม่หยุดที่ไหนเกิน ๔ วัน)

วันแรกที่ไปถึง Paris เขาปล่อยให้อิสระทั้งวัน เพราะลูก Tour ส่วนมากกระหายที่จะ shopping กันนัก พอกินอาหารเช้าแล้ว ดิฉันก็ไปหาท่านทันที และอยู่จนถึงเวลาให้กลับมาทันกินอาหารเย็นที่โรงแรม ห้องที่ท่านอยู่เป็นห้องเล็กๆ แต่ท่านไม่เคยแสดงความอึดอัดใจเลย ที่ดิฉันสงสารอย่างจับใจก็ตอนที่ท่านต้องการโต๊ะเล็กๆ แต่แข็งแรงพอที่จะตั้งเครื่อง T.V. ได้ แต่ไม่มีงบประมาณ

ท่านเดินผ่านร้าน furniture หลายครั้ง เห็นโต๊ะแบบที่ท่านต้องการแล้ว แต่ราคาที่ถูกที่สุดก็ยังนับว่าแพงเกินไปสําหรับท่านในขณะนั้น ท่านตัดใจไม่ซื้อ เพราะคิดว่ามันไม่ใช่ของจําเป็นเหลือแสน ในที่สุดไปเก็บเอาลังไม้ที่คนเขาเอามาทิ้งหน้าบ้าน ซึ่งดูว่าขนาดพอดี ท่าทางแข็งแรงและสะอาดสะอ้าน เอามาคว่ําหน้าลงเอาผ้าปูโต๊ะคลุมไว้ ก็ทําให้น่าดูพอใช้ได้ทีเดียว

คุณพูนศุขเคยเล่าว่า เจ้าคุณพ่อของท่านเคยสั่งสอนลูกทุกคนให้รู้จักกระเหม็ดกระแหม่ เช่นจะเดินทางโดยรถไฟก็ให้ขึ้นชั้น ๓ เพราะถ้าขึ้นชั้น ๑-๒ จนเคยตัวแล้ว ต่อไปภายหน้าไม่รู้ว่าจะมีเงินทําเช่นนั้นหรือไม่ ชั้น ๓ เป็นชั้นต่ําที่สุดแล้ว ถ้าจําเป็นจะต้องไปไหนจริงๆ ก็จะต้องใช้ชั้น ๓ อยู่ดี

อีกเรื่องหนึ่ง ท่านไปไหน (จําไม่ได้) โดยรถไฟกับพรรคพวก คนที่มาคอยรอรับไปยืนกันเป็นกลุ่มอยู่ที่ตรงรถชั้น ๑ จอด พวกเขาพากันแปลกใจมากที่เห็นคณะของท่านไปชั้น ๓

 

ดิฉันขอบอกว่ารู้สึกประทับใจในเรื่องที่เล่ามานี้จริงๆ

วันที่ ๒ ทางคณะ Tour จะพาไปเที่ยวที่ไหนก็จําไม่ได้ แต่บอกว่าจะไปทั้งวัน ดิฉันกลัวว่าจะไม่ได้พบท่าน แต่ท่านบอกว่าไหนๆ ก็เสียเงินให้เขาแล้วก็ไปกับเขาเถิด จะยอมขาดทุนทําไม ท่านจะเป็นผู้มาหาดิฉันเอง เพราะตัวท่านตื่นแต่เช้าเป็นประจําอยู่แล้วไม่เป็นการยากเลย แล้วก็จริงๆ ท่านมาที่โรงแรมของเราแต่เช้าตรู่ เราได้คุยกันนานจนกระทั่งกินอาหารเช้า แล้วคณะ Tour จึงเริ่มเดินทาง

คราวนี้มีเรื่องขันที่อยากจะเล่า คือ สุภาพสตรีคนหนึ่งในคณะ Tour นี้ มาแอบกระซิบกับดิฉันถามว่า เพื่อนดิฉันคนนี้ชื่ออะไร นามสกุลอะไร ทําไมจึงเหมือนท่านผู้หญิงพูนศุขมาก เสียงก็เหมือนเปี๊ยบเลย เขาคิดว่าดิฉันไม่รู้จักคุณพูนศุข จึงย้ําอีกว่าท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยาท่านปรีดี พนมยงค์ น่ะ เขาเล่าต่อไปว่า นานมาแล้วเขาตามสามีกับคณะเพื่อนๆ พวกลูกศิษย์ท่านปรีดีไปหาท่านปรีดีที่บ้าน เขาไปได้ตุ๊กตาที่น่ารักมากตัวหนึ่งมา แต่เขาไม่มีลูกหลานเล็กๆ เลย จึงอยากเอาไปให้ลูกสาวท่าน เพราะเขาเคยเห็นลูกสาวเล็กๆ ของท่าน (ไม่รู้ว่าคนไหน) เขาว่า “คุณรู้ไหม ท่านผู้หญิงทําอย่างไร? ท่านเรียกลูกมาและบอกว่าให้กราบขอบคุณ” เขาตกใจ เพราะท่านใช้คําว่ากราบ แทนที่จะให้ไหว้ธรรมดา เขายังจําติดตาติดใจมาได้ไม่มีวันลืมเลย

ดิฉันแกล้งพูดปดไปว่า คุณชื่อเพ็ญแข (นึกถึงเพียงแขน้องของคุณ) เป็นเพื่อนนักเรียนกับดิฉันมาตั้งแต่ยังเด็กๆ นามสกุลอะไรจําไม่ได้แล้ว และเดี๋ยวนี้เขาแต่งงานแล้ว นามสกุลก็ต้องเปลี่ยนไป !

วันที่ ๓ เขาปล่อยให้ว่างอีก ดิฉันก็ไปอยู่กับคุณทั้งวัน

วันที่ ๔ ดูเหมือนเขาจะให้ว่างครึ่งวันตอนบ่าย ดิฉันก็ไปหาคุณอีก เป็นอันว่าคุ้มกับการมา Paris กับคณะ Tour แล้ว

พ.ศ. ๒๕๑๑ ดิฉันไปยุโรปอีก โดยเปลี่ยนคณะ Tour แต่ก็มีรายการหยุดที่ Paris ๔ วัน เหมือนกัน ดิฉันได้พบคุณทุกวันแบบ พ.ศ. ๒๕๑๐ นั่นเอง

พ.ศ. ๒๕๑๒ ดิฉันชวนเพื่อนพวกโรงเรียนราชินี ๓ คนร่วม คณะ Tour ไปด้วย เป็นคนที่คุณรู้จักทั้งนั้น คุณเชิญพวกเขาไปกินข้าวไทยที่ห้องพัก เก้าอี้มีไม่พอที่จะนั่งที่โต๊ะอาหาร คุณสุดาต้องตักแบ่งไปนั่งกินใกล้ๆ เพื่อนๆ ดิฉันบอกว่า ถ้าไม่มาเห็นด้วยตาตนเองแล้วจะไม่เชื่อเลยว่า คุณมาอยู่อย่างกระเบียดกระเสียนเช่นนั้น เห็นแต่ใครๆ เขามาซื้อบ้านในต่างประเทศหรูๆ กันทั้งนั้น ดิฉันพบคุณทุกวันตามเคย ปล่อยให้เพื่อนไปกับคณะ Tour เอง

พ.ศ. ๒๕๑๓ ดิฉันคิดว่า ดิฉันพอดูแลตัวเองได้แล้ว จึงริอ่านเดินทางคนเดียว ตรงไป Parisเลย คุณพูนศุขกับคุณแป๋ว (สุดา) มารับที่สนามบินและบอกว่าจะมี surprise สําหรับดิฉัน เชื่อไหมคะ? surprise นั้นใหญ่มากสําหรับดิฉันจริงๆ เพราะเราไปที่บ้านใหม่ที่คุณเพิ่งซื้อได้ไม่นานนัก และที่นั่นดิฉันได้กราบท่านปรีดีด้วย ความลิงโลดใจ ผิดกับครั้งที่ได้กราบในเมืองจีนเมื่อ ๔ ปีก่อนอย่างลิบลับ อะไรจะน่าตื่นเต้นยินดีไปกว่านี้! รู้สึกอยากร้องชโยดังๆ สักหลายๆๆ ครั้ง

เป็นอันว่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ ก่อนท่านปรีดีถึงอสัญกรรมนั้น ดิฉันไป Paris ทุกปี ยกเว้นปีหนึ่งไป America และอีกปีหนึ่งไป Australia และ New Zealand

 

ชีวิตใน Paris

ชีวิตของดิฉันขณะที่อยู่กับท่านที่ Paris นั้นก็เหมือนกับที่เมืองไทย คือไม่ได้ช่วยใครทําอะไรเลย ยิ่งกว่านั้นต้องขอบอกว่ามีความสุขอย่างเหลือแสนทั้งกายและใจเพราะท่านทั้งสองเอาใจใส่ดูแลดิฉันเกินกว่าที่ดิฉันจะคาดถึง ลูกๆ ของท่านก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน วันหนึ่งดิฉันได้ยินคุณพูนศุขพูดกับคุณวาณีลูกสาวคนเล็ก ซึ่งยังเป็นผู้ดูแลเรื่องอาหารการกินว่า “ครูจวนจะกลับเมืองไทยแล้ว ทําอาหารที่ครูชอบให้กินไม่ครบเลย!” ดิฉันมารู้ทีหลังว่าคุณพูนศุขให้คุณวาณีจดไว้ว่าดิฉันชอบกินอะไร และในระหว่าง ๑ เดือนที่ดิฉันอยู่กับท่านนี้ ต้องจัดทําให้ครบ! ดิฉันเกรงใจท่านเหลือเกิน ความจริงตัวดิฉันเองก็ยังจําไม่ได้ด้วยซ้ําว่าตนชอบกินอะไรบ้าง

ไม่ใช่คุณพูนศุขเท่านั้น ท่านปรีดีบอกว่าดิฉันไปเยี่ยมท่าน ปีละ ๑ หน ท่านจะต้องพาดิฉันไปดูอะไรที่คณะ Tour เขาไม่พาไป หรือไม่ก็ไปกินอาหารร้านมีชื่อซึ่งเป็นที่ใครๆ เขารู้จักกัน ดิฉันเรียนท่านว่า ไม่มีความจําเป็นเลยทั้ง ๒ อย่าง เพราะดิฉันเคยมา Paris หลายครั้งเต็มที นับรวมถึงตอนเป็นนักเรียนด้วย ฉะนั้นก็ได้ดูอะไรๆ ที่คิดว่าควรจะดูหมดแล้ว ส่วนการไปกินอาหารที่นอกบ้านก็เป็นการเปลืองเงินเปล่าๆ เพราะดิฉันขอเรียนตามตรงว่า อาหารที่บ้านนี้อร่อยกว่าเคยกินตามภัตตาคารใหญ่ๆ เป็นไหนๆ (นี่พูด ตามจริงแท้ๆ) ท่านบอกว่า “ไม่เป็นไรน่า เปลี่ยนที่กินเสียบ้างปีละหนเดียวเท่านั้น!”

ดิฉันคิดในใจว่าเรานี่มีบุญจริงๆ ถ้าอยู่บ้านของตัวเองก็ไม่มีใครจะมาเอาใจใส่ดูแลเช่นนี้เลย ฉะนั้นเวลาโรงเรียนเปิด ดิฉันจึงอุทิศเวลาทั้งหมดให้นักเรียน ทําด้วยความสุขใจจริงๆ ไม่เคยนึกเบื่อหน่าย ถึงวันหยุดก็ไปเที่ยวไหนๆ กับเพื่อนๆ ต่างๆ คณะซึ่งเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาคอยวันหยุดปลายปีที่จะได้ไปอยู่ Paris

 

กิจวัตรธรรมดา

ตามปกติดิฉันมักตามคุณพูนศุขไปจ่ายตลาดสด ไม่ได้ไปทุกวัน ขาไปเดินไป ขากลับมีข้าวของหลายอย่างใส่รถลากมา ก็มักจะขึ้นรถประจําทาง บางทีไปตลาดนัดที่มีสัปดาห์ละครั้ง เปลี่ยนที่ไปจัดที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง เผื่อจะมีสินค้าหรือเครื่องใช้อะไรๆ แปลกๆ ราคาถูกๆ ที่ทางบ้านยังขาดอยู่บ้าง แต่โดยมากก็ซื้อได้เพียงนิดหน่อย งง

ท่านไม่เคยไป shopping ตามห้างใหญ่ๆ อย่างที่ใครๆ เขาไปกันเลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าอายุป่านนี้แล้ว เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว เครื่องใช้สอยก็มีพอแล้ว จึงไม่จําเป็นต้องเสียเงินซื้อหาอีก มีอยู่เพียงปีเดียวที่ดิฉันตามไปด้วยเมื่อคุณเจริญ ชูพันธุ์เพื่อนรักของท่าน (ที่ดิฉันได้เอ่ยชื่อไว้ตอนต้นเรื่องนี้) ไปเยี่ยมท่าน ท่านจึงพาคุณเจริญไป shopping คุณเจริญรู้จักราคาสินค้าในเมืองไทย เห็นว่าอะไรที่ Paris ถูกกว่ามากก็ซื้อมา ฝ่ายดิฉันไม่เคยรู้ราคาอะไรเลยก็ซื้อตามไปบ้างเท่านั้น

ถ้าดิฉันต้องการจะซื้อของใช้สําหรับโรงเรียน ดิฉันมักจะไปกับหลานสะใภ้ของท่าน ซึ่งรู้ดีว่าดิฉันต้องการของแบบไหน เขาจะพาไปร้านใหญ่เหมือนกัน แต่ตรงไปที่จุดนั้นๆ เลย ไม่ต้องเที่ยวเดินหาเดินดูให้เสียเวลา

 

พาร่วมคณะ Tour ฝรั่ง

มีอยู่ปีหนึ่ง คุณพูนศุขบอกว่าจะพาดิฉันร่วมคณะ Tour ฝรั่งไปชมปราสาทต่างๆ ที่มีชื่อเสียงตลอดฝั่งแม่น้ํา Loire ทัวร์นี้จะกินเวลาทั้งวัน ต้องออกจากบ้านยังไม่สว่าง และจะกลับถึงบ้านก็หลายทุ่ม แน่นอนจะต้องราคาแพง เราจะต้องกินอาหารของเขาทั้ง ๓ มื้อ ดิฉันขอไม่ไปเพราะรู้อยู่ว่าเปลืองเงินมาก ถ้าอนุญาตให้ดิฉันออกเงินเอง ดิฉันจึงจะไปด้วย ท่านไม่ยอม บอกว่าอยากไป Tour นี้มานานแล้ว แต่หาเพื่อนไม่ได้ คราวนี้ได้โอกาสจะให้ดิฉันได้เห็นด้วย พูดขัดอย่างไรๆ ก็ไม่สําเร็จ ต้องตามใจท่าน แต่แน่ละ ท่านได้เห็นคุ้มกับเงินที่เสียไป ปราสาทบางหลังใหญ่โตและมีชื่อเสียงมาก ท่านเคยได้ยินประวัติและจําได้ดี

สําหรับดิฉันนั้น ถ้าเป็นเงินที่ตัวออกเองก็จะไม่เสียดายเลย เพราะเมื่อดิฉันร่วมคณะ Tour จากเมืองไทยไปไหนๆ นั้นก็ราคาแพงกว่านี้ แต่นี่เป็นเงินของท่าน คิดดูซิคะมาอยู่กับท่าน มากินของท่าน แล้วยังให้ท่านพาไปเที่ยวเสียเงินอีก ดิฉันคิดเรื่องนี้อยู่ต่อมาอีกนานกว่าจะค่อยๆ ลืมไปได้

 

พาไปดูนิทรรศการวัตถุโบราณของจีน

ครั้งหนึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจําประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งบัตรมาเชิญท่านปรีดีและคุณพูนศุขไปดูนิทรรศการวัตถุโบราณของจีน ซึ่งนํามาแสดงอยู่ที่ “พระราชวังน้อย” (Petit Palais) ของสําคัญที่สุดที่จะให้ดูคือเสื้อหยก วันนั้นเป็นวันที่เขาเชิญคณะรัฐบาลฝรั่งเศสและข้าราชการสําคัญๆ ไป

ท่านทั้งสองได้ขอให้เขาเชิญดิฉันด้วย โดยท่านบอกว่าเป็น “เพื่อน” เขาก็ส่งบัตรเชิญมาทันที ท่านบอกว่าวันนี้คงจะได้เดินกระทบไหล่รัฐมนตรีบ้างละ และก็เป็นความจริง บางตอนคนแน่นดิฉันเดินเบียดกับผู้หญิงคนหนึ่ง ท่านบอกว่านั่นคือ รัฐมนตรีสาธารณสุข (นาง Simone Weil)

 

ขอให้ไปประเทศจีน

จะเป็นวันปีใหม่ หรืออะไรไม่แน่ใจ ท่านเอกอัครราชทูตจีนมาเยี่ยมท่านและคุณพูนศุขที่บ้าน ดิฉันเรียนท่านและคุณว่า ดิฉันอยากไปประเทศจีน เพราะจํากัดไปเสียชีวิตที่นั่น ท่านบอกทูตจีนและเขาก็แสนดี บอกให้คุณวาณีเขียนจดหมายเป็นทางการ (ภาษาจีน) ไปยังสถานที่ไหนจําไม่ได้ แต่ตอนนั้นไทยกับจีนตัดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน เราบอกไปว่าเราจะขอไปต่อเมื่อเมืองไทยกับจีนกลับเป็นสัมพันธมิตรดีดังเดิม

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งดิฉันเป็นหนี้บุญคุณคุณพูนศุขอย่างใหญ่หลวง คือในปีหนึ่งที่คุณพูนศุขกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย พออยู่มาได้เกือบ ๒ สัปดาห์ ก็มีจดหมายจากทางการของจีนถามมาว่า ตามที่ดิฉันได้เคยขอร้องอยากจะไปเมืองจีนนั้น ยังคงต้องการไปหรือเปล่า ถ้ายังอยากไป เขาจะส่งบัตรเชิญมาให้พร้อมกับของคุณวาณีด้วย

คุณวาณีคิดว่าถ้าคุณพูนศุขไปด้วย ทางการจีนคงจะเกรงใจ และดิฉันจะได้เห็นอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งทางจีนเขานึกไม่ถึงที่จะจัดให้เราดูก็ได้ คุณพูนศุขเห็นดีด้วย จึงให้คุณวาณีแจ้งเขาไป ว่าตัวคุณเองก็อยากไปเยี่ยมเมืองจีนเหมือนกัน เขาจึงส่งบัตรเชิญมา ๓ ใบตามที่เราขอไป

ตอนนั้นเป็นระยะเวลาที่ไทยได้กลับมาสัมพันธไมตรีกับจีนใหม่ นายกรัฐมนตรีของไทยตอนนั้น (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ) ก็ได้ไปเยี่ยมจีนเพิ่งกลับมาไม่นานนัก

อันที่จริงนั้นดิฉันเชื่อแน่ว่าคุณพูนศุขไม่ได้อยากไปเมืองจีนเท่าใดนัก เพราะท่านอยู่ที่นั่นมาหลายปีดีดัก อะไรๆ ก็ได้เห็นได้ดูแล้วทั้งนั้น แต่คุณพูนศุขเสียสละเวลาเพื่อดิฉันแท้ๆ โดยเหตุสําคัญที่ว่าจํากัดไปเสียชีวิตที่นั่น จึงอยากให้ดิฉันได้ไปเห็น เป็นการเสียสละแทนท่านปรีดีด้วย ถ้าวิญญาณของจํากัดได้รับรู้ความจริงเรื่องนี้ ก็คงจะต้องรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นที่สุด

ดิฉันเกรงใจคุณมาก เพราะคุณทิ้งท่านปรีดีมาถึงสัปดาห์แล้ว ถ้าไปเมืองจีนอีก ก็จะกลายเป็นเวลานานมาก ดิฉันเกรงใจท่านปรีดีมากด้วย อึดอัดใจจริงๆ แต่คุณรับรองว่าจะพูดกับท่านเอง

อย่างไรก็ตาม ดิฉันต้องไป Paris ก่อนแล้วจึงจะจับเครื่องบิน China Airlines สายตรงไปปักกิ่ง ท่านปรีดีบอกว่าให้อยู่เมืองจีน ๒ สัปดาห์ก็พอ ซึ่งดิฉันก็เห็นด้วย แต่พอไปถึงเข้าจริงๆ เขาส่งโปรแกรมให้เราสําหรับ ๓ สัปดาห์เต็ม ดิฉันเตือนคุณว่าท่านสั่งให้อยู่ แค่ ๒ สัปดาห์ แต่คุณพูนศุขก็บอกอีกว่า คุณจะจัดการเจรจากับท่านเอง

ต้องเป็นเพราะบารมีของคุณพูนศุขแน่ๆ ที่ทางจีนรับรองเราอย่างดีเลิศ อธิบายไม่ถูกเลย เริ่มต้นตั้งแต่ Paris แล้ว ท่านเอกอัครราชทูตจีนที่นั่นได้เชิญท่านปรีดี คุณพูนศุข คุณวาณีและดิฉันไปรับประทานอาหาร บอกว่าจะแจ้งให้ทราบว่าอากาศที่เมืองจีนตอนนั้นเป็นอย่างไร จะได้เตรียมเสื้อผ้าไปถูก ความจริงท่านทั้งสามอยู่เมืองจีนมานานหลายปี ย่อมรู้ดีอยู่แล้วมีแต่ดิฉันเท่านั้นที่ไม่รู้

ดิฉันอ่านโปรแกรมดูและตกใจ เพราะเขาจัดเต็ม ๒๑ วัน ไม่เว้นเลย ทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น มิหนําซ้ำบางวันมีให้ดู opera กลางคืนอีก เมืองสําคัญต่างๆ นั้นไม่ต้องถามละ เขาจัดพาไปครบแน่นอน โบราณสถานที่มีชื่อทั้งหลายที่เราเคยได้ยินชื่อมา ก็ไม่ต้องวิตกว่าจะขาดอะไรไป เขารู้ว่าดิฉันเป็นครู ก็เลยจัดให้ดูพิเศษกว่านักท่องเที่ยวอื่นๆ คือให้ชมตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม และถึงขั้นมหาวิทยาลัย ทุกแห่งที่ไปเขาจะเตรียมการแสดงต่างๆ ไม่ใช่ของแปลก เพราะเขารู้เรื่องเกี่ยวกับตัวท่านมาก่อนนานแล้ว แต่สําหรับดิฉันนั้นไปรู้เอาที่เมืองเทียนสิน ก่อนเวลากลับเมืองไทยไม่กี่วัน คือเจ้าภาพในการเลี้ยงนั้นมาบอกดิฉันว่าเขาเสียใจเหลือเกินที่วันนั้นเขาให้คนไปหาซื้อปลาสดทุกตลาดแต่ไม่มีเลย ดิฉันไม่เข้าใจว่า ทําไมเขาต้องบอกเช่นนั้น แต่คุณวาณีกระซิบว่า เขาสืบรู้มาก่อนแล้วว่า ดิฉันชอบอาหารแบบไหน เช่นชอบกินปลานี่แหละ! ได้ฟังแล้วดิฉันก็รู้สึกเกรงใจเขาหลายเท่าทวีคูณทีเดียว

ในการไปเที่ยวต่างๆ นี้ บางวัน บางแห่ง คุณพูนศุขต้องขอตัว ยกเว้นเสียบ้าง ซึ่งดิฉันเองก็เห็นใจท่านที่สุด เพราะถ้าจะไปให้ครบตามที่เขาจัดให้แล้ว ก็อยากจะเรียกว่าแทบไม่มีเวลาหายใจทีเดียว แต่สถานที่หลายแห่งที่ท่านชอบ เช่น กําแพงเมืองจีนนั้นท่านก็ยินดีไปซ้ํา

การไปเมืองจีนครั้งนี้ ท่านปรีดีได้ขอให้เขาทําเรื่องขออนุญาตพิเศษ ให้คณะเราได้ไปเมืองจุงกิงด้วย ดิฉันก็เพิ่งทราบว่าในเมืองจีนระยะนั้น เขายังมีบางเมืองที่ยังปิดอยู่ เมื่อครั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไปก็ไม่ได้ไปจุงกิง คนไทยพรรคพวกเราเองที่อยู่เมืองจีนมาหลายปีแล้วก็ไม่เคยไป และได้ทําเรื่องขออนุญาตติดตามคณะเราไปด้วย การที่ดิฉันอยากไปจุงกิง ก็เพราะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมืองหลวงของจีนได้ย้ายไปอยู่ที่จุงกิง และที่สําคัญที่สุด ก็คือว่า จํากัด (สามีดิฉัน) ไปเสียชีวิตที่นั่น

เมื่อไปถึงจุงกิงจึงเห็นว่าเขากําลังปรับปรุงเมืองเป็นการใหญ่ จะเรียกว่าทั้งเมืองก็ว่าได้ ถนนแทบทุกสายซึ่งเป็นทางขึ้นๆ ลงๆ ภูเขาอยู่แล้ว ก็ถูกขุดออกหมด ทําให้รถแล่นลําบากพอใช้ เขาให้เราไปพักที่โรงแรมใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ด้านตรงข้ามถนนกับบ้านของเจียงไคเช็กสมัยสงคราม อยู่ไม่ไกลกันนัก พอมองเห็นด้านนอกได้ถนัด และแน่ละได้ไปชี้โรงแรมที่จํากัดเคยพักอยู่แต่ว่าเราไม่ได้ไปถึงจุดนั้นทีเดียว เพราะมีคลองคั่นอยู่ และถนนก็ถูกขุดเกะกะไปหมด

ดิฉันพอใจแล้วที่ได้เห็นภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา ซึ่งจํากัดได้บรรยายไว้ในบันทึกของเขาว่าบ่อยครั้งที่เขาต้องเดินข้ามภูเขา ๒ ลูก เพื่อแอบไปติดต่อกับสถานทูตอังกฤษและอเมริกันโดยไม่ให้ทางจีนรู้

การที่ดูเหมือนว่าดิฉันได้เขียนเล่าเรื่องไปเที่ยวเมืองจีนอย่างมาก (แต่ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นเพียงเศษเสี้ยวนิดเดียวของการที่ได้ไปเห็นจริงๆ) นั้น ก็เพราะอยากให้ใครๆ ได้รู้ว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็โดยบารมีและพระคุณของท่านปรีดีและคุณพูนศุขโดยแท้จริง ซึ่งดิฉันไม่มีหนทางที่จะตอบแทนอะไรแก่ท่านได้เลย

 

ภาคผนวก :

ภาพของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ในภาคปัจฉิมวัย

 


ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ขณะอายุ 96 ปี เมื่อ พ.ศ. 2555
ที่มา : อัตชีวประวัติภาคปัจฉิมวัย

 

หมายเหตุ :

  • ปรับปรุงชื่อตอนโดยทีมบรรณาธิการ
  • ภาพประกอบในบทความทางทีมบรรณาธิการได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว

บรรณานุกรม :

  • ฉลบชลัยย์ พลางกูร, แด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้มีพระคุณล้นเหลือ ใน ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร หนึ่งศตวรรษแห่งคุณค่า (กรุงเทพฯ: มปท, 2559), น. 53-70.