ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

สงครามโลกครั้งที่ 2 กับสภาวะเงินเฟ้อ

4
สิงหาคม
2563

ในบทความที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านการใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมปริมาณเงินตราภายในประเทศมีมากจนเกินไปไม่สัมพันธ์กับปริมาณสินค้า ทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นมา[1]

หลายท่านอาจสงสัยว่า ภาวะเงินเฟ้อนั้น จะเฟ้อถึงขนาดไหน

เงินเฟ้อกับความรับรู้ของนายปรีดีฯ

คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ผู้ล่วงลับ เคยเขียนเล่าเอาไว้ในบทความชื่อ “ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพและบูชาท่านปรีดี พนมยงค์”[2] โดยเล่าถึงสภาวะเงินเฟ้อ กับนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ว่า

ในครั้งหนึ่งคุณจิตราภา บุนนาค ซึ่งเป็นหลานสาวของนายปรีดีฯ ทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือน 600 บาท ทำให้นายปรีดีฯ ตกใจ ถึงขั้นกล่าวว่า “ได้เท่าอธิบดีเชียวหรือ” และเมื่อคุณจิตราภาฯ มาหา นายปรีดีฯ ก็มักจะล้อว่า “อธิบดีมาแล้ว” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ครั้งนั้น เงินจำนวน 600 บาท มากพอที่จะเป็นเงินเดือนของข้าราชการระดับอธิบดีเลยทีเดียว

และอีกครั้งหนึ่งที่คุณฉลบชลัยย์ฯ ได้กล่าวถึง คือ เมื่อมีผู้มาเยี่ยมนายปรีดีฯ ที่บ้านพักราว ๆ 4 - 5 คน นายปรีดีฯ ได้ชักชวนให้ลูกน้องที่มาเยี่ยมเยือนนั้นอยู่ทานอาหารกลางวัน และได้ให้เงินจำนวน 20 บาท แก่คนรับใช้ ไปซื้อขนมจีบซาลาเปา ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะให้ผู้มาเยี่ยมเยือน เพราะสภาวะณ์เงินเฟ้อในขณะนั้น ทำให้แม้กระทั่งเงิน 100 บาทก็ยังไม่พอจะซื้อขนมจีบซาลาเปาเลยด้วยซ้ำ

เรื่องข้างต้นนั้น แม้คุณฉลบชลัยย์ฯ ต้องการจะเล่าให้เห็นว่า อุปนิสัยของนายปรีดีฯ ไม่ใช่คนให้ความสำคัญกับเรื่องของเงิน และไม่เคยแตะต้องเงินเดือนของตนเอง จึงไม่รู้ความเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในอีกแง่หนึ่งเรื่องนี้ได้บอกเล่าว่า สภาวะเงินเฟ้อนั้น ทำให้มูลค่าของสิ่งของเปลี่ยนแปลงไปได้มากขนาดไหน

เงินเฟ้อกับค่าครองชีพ

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความก่อนว่า ในช่วงสถานการณ์รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินและธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องจัดหาเงินเพิ่มให้กับรัฐบาลในส่วนที่ขาดไป ทำให้การเพิ่มขึ้นของอุปทานเงินตราถึง 7 เท่าตัว โดยเมื่อเริ่มสงครามในปี พ.ศ. 2484 มีปริมาณธนบัตรหมุนเวียนอยู่ 275 ล้านบาท แต่เมื่อสงครามยุติลงในปี พ.ศ. 2488 มีธนบัตรหมุนเวียนอยู่ถึง 1,992 ล้านบาท[3]

การที่ปริมาณเงินตราในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสวนทางกับปริมาณสินค้าที่ลดน้อยลงเพราะผลของสงคราม ทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงปี พ.ศ. 2481 - 2488 พบว่า ผู้คนในกรุงเทพมหานครมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้นสูงเป็น 10 เท่าตัว โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายของสงครามที่อัตราค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 เดือน ดังแสดงตามตารางแสดงอัตราเพิ่มของค่าครองชีพระหว่างปี พ.ศ. 2481 - 2488[4]

ตารางแสดงอัตราเพิ่มของค่าครองชีพระหว่างปี พ.ศ. 2481 – 2488
ปี พ.ศ. เลขดัชนี
2481 100.00
2484 139.90
2485 176.99
2486 (ธันวาคม) 291.56
2487 (มกราคม) 301.12
2487 (กุมภาพันธ์) 409.17
2488 1,069.54

ในด้านราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคนั้น ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาเป็นหลายเท่าตัว โดยในปี พ.ศ. 2488 ราคาน้ำตาลทรายขาวสูงกว่าในช่วงปี พ.ศ. 2480 - 2483 ถึง 39 เท่าตัว และราคาเสื้อผ้าฝ้ายสูงขึ้น 29 เท่าตัว[5]

การที่สงครามดำเนินไปเป็นระยะเวลาหลายปี ยิ่งซ้ำเติมภาวะขาดแคลนสินค้าและบริการ เพราะนอกจากจะไม่สามารถผลิตสินค้าและบริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในภาวะสงครามแล้ว การค้ากับชาติตะวันตกก็ต้องหยุดชะงักลง เพราะเป็นประเทศคู่สงครามทำให้ไม่อาจนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ เช่น ยารักษาโรค ผ้า เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น 

ส่วนสินค้าที่เหลือค้างอยู่ในประเทศก็ถูกกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดในฐานะทรัพย์สินของชาติคู่สงคราม ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามากว้านซื้อสินค้าจำเป็นสำหรับการทำสงคราม ยิ่งซ้ำเติมความขาดแคลนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในบางพื้นที่ของประเทศราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่น เพราะการขนส่งสินค้าและบริการหยุดชะงักลง เพราะกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดรถไฟเพื่อใช้ในการลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ในการทำสงคราม ทำให้เกิดการขาดแคลนในบางพื้นที่ส่งผลต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวในต่างจังหวัดสูงกว่าในกรุงเทพฯ โดยในกรุงเทพฯ ราคาข้าวถังละ 6 บาท แต่ลำปางราคาถังละ 120-200 บาท เป็นต้น[6]

การแก้ปัญหา

รัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศในช่วงนั้นได้พยายามเข้าแก้ไขสถานการณ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการใช้กฎหมายเข้าควบคุมมิให้เกิดการกักตุนสินค้าและบริการเพื่อเก็งกำไร และกำหนดให้ผู้มีสิ่งของไว้เพื่อจำหน่ายรายงานปริมาณสินค้าที่ครอบครองไปยังอำเภอภายในกำหนดเวลา ซึ่งหากฝ่าฝืนก็มีโทษทางอาญาโดยปรับเป็นเงิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี[7] โดยในเวลาต่อมาได้ปรับเปลี่ยนโทษอย่างสูงถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือไม่เกิน 20 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท[8]

ในเวลาต่อมารัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ พุทธศักราช 2485 กำหนดเรื่องการปันส่วนการซื้อขายเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้กระจายการเข้าถึงสินค้าต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับอย่างทั่วถึง  อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร เนื่องจากในท้ายที่สุดจำนวนสินค้าและบริการยังคงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในช่วงสงครามขณะนั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่นแล้ว การลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามทำจึงน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่การลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจนั้นก็มีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน เพราะสาเหตุหลักของการพิมพ์เงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมก็เกิดมาจากการใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่นในราชการสงคราม  ดังนั้น แม้จะพยายามลดปริมาณเงินในระบบมากแค่ไหนก็ยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเช่นกัน

แม้จนกระทั่งภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลงราคาสินค้าและบริการยังคงไม่ลดลงในทันที และภาวะเงินเฟ้อก็ยังคงดำรงอยู่จนกระทั่งภายหลังสงคราม พร้อม ๆ กับรัฐบาลต้องพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลงอันมีผลมาจากสงคราม ในส่วนของความพยายามแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวจะมีอยู่เป็นเช่นไร ผู้เขียนจะได้นำเสนอต่อไปในบทความต่อไป

 

[1]     เงินเฟ้อ หมายถึง สภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปภายในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง ตรงข้ามกับเงินฝืด ซึ่งเป็นสภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปภายในประเทศลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง.

[2]     ฉลบชลัยย์ พลางกูร, “ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพและบูชา ท่านปรีดี พนมยงค์,” ใน หนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2535, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2535), น. 45-74.

[3]     แล ดิลกวิทยรัตน์, “ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงสงครามและการแก้ไข,” ใน เศรษฐกิจไทย, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2535), น. 264.

[4]     เพิ่งอ้าง, น. 265.

[5]     เพิ่งอ้าง, น. 264.

[6]     เพิ่งอ้าง, น. 266.

[7]     พระราชบัญญัติมอบอำนาจให้รัฐบาลในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2484, มาตรา 4.

[8]     พระราชบัญญัติมอบอำนาจให้รัฐบาลในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2485, มาตรา 3.