ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

“นโยบายภาษี” เพื่อชาติและราษฎรไทย

11
เมษายน
2565

เมื่อได้ เลิกภาษีอันไม่เป็นธรรม และ จัดเก็บภาษีขึ้นใหม่ ตาม “ประมวลรัษฎากร” นั้น รายได้จากภาษีทางตรงของรัฐขาดไปประมาณ 11 ล้านบาท ไม่ใช่น้อยเลย แต่รัฐมนตรีคลัง ‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ ลูกกสิกรชาวกรุงเก่า ผู้มีสายเลือดจากบุพการีต่างสายกัน ไม่หวั่นวิตกเลย

ภาษิตการคลังที่ว่า “ถอนขนห่านให้ได้มากที่สุดและให้หนวกหูน้อยที่สุด” คือ เก็บภาษีอากรให้ได้เงินมากแต่ให้ราษฎรร้องน้อยที่สุด หรือ “ฟางอันเดียวทำให้อูฐหลังหัก” เก็บภาษีอากรจนสุดขีด ราษฎรทนไม่ไหว อะไรเหล่านี้ไม่เป็นภาษิต ที่มีอิทธิพลพอที่จะทำให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ตกอยู่ในฐานะมืดแปดด้านจนถึงกับกลายเป็นคนสิ้นคิด เปล่าเลย เงินที่ขาดไป 11 ล้านบาทนั้น หากไม่ขาดก็ไม่พอที่จะใช้จ่ายในการบำรุงบ้านเมืองและบำรุงราษฎรให้มีความสุขสมบูรณ์ได้ เพื่อให้สมดั่งอุดมคติที่คิดและทำการปฏิวัติ จำนวนเงินรายได้ของรัฐต้องมากกว่านั้นอีก และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้ตระเตรียมทางที่จะหารายได้ไว้แล้ว ดังที่ประการหนึ่งได้แถลงไว้ว่า “จะหารายได้จากการศุลกากร และจากการสรรพสามิต”

ในชั้นต้นนี้ ความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้เงินเพื่อบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรและของประเทศชาติมีอยู่มากทั้งเป็นการจำเป็นที่จะต้องรีบกระทำ เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีคลังจะต้องหาเงินมาให้ได้ รัฐมนตรี ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่อยากจะพูดว่า "ไม่มีเงิน" รัฐบาลต้องมีเงินจำนวนอันจำเป็นเพื่อราษฎรเสมอ ฉะนั้นโดยข้อเสนอของรัฐมนตรีคลัง เมื่อการใช้จ่ายอันจำเป็นนั้นเป็นการลงทุนก็ควรจ่ายจากเงินกู้ รัฐบาลจึงตกลงกู้เงินภายในประเทศ 65 ล้านบาท คือ กู้เพื่อการเกษตร 25 ล้านบาท เพื่อการอุตสาหกรรม 20 ล้านบาท เพื่อการเทศบาลและการบำรุงท้องที่ 20 ล้านบาท

ต่อจากนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ เริ่มพิจารณาอัตราศุลกากรขาเข้าและขาออกต่อไปอีก โดยเฉพาะราษฎรไทย ซึ่งพอใจที่จะใช้สินค้าจากต่างประเทศ ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นแก่การครองชีพ ทั้งเวลานั้นรัฐบาลเริ่มบำรุงอุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว ถ้าสินค้าใดผลิตภายในประเทศได้ สินค้านั้นรัฐมนตรีคลังขึ้นพิกัดอัตราให้สูงขึ้น เมื่อพ่อค้าเสียภาษีแพง เขาก็ขายสินค้านั้นแพง เพราะเขารวมเอาภาษีที่เขาเสียเข้าไว้ในราคาขาย ราษฎรผู้ซื้อสินค้านั้นก็ต้องเสียภาษีแทนพ่อค้า เป็นการชดใช้เงินค่าภาษีที่พ่อค้าเสียไปให้แก่พ่อค้า นี่แหละคือภาษีทางอ้อม ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ใช้นโยบายภาษีทางอ้อมนี้ นอกจากเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนแก่

การอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เสี่ยงโดยเอาชาติเป็นเครื่องทดลอง เพื่อให้รู้ว่าราษฎรจักต้องเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าหรือไม่ เพราะได้ใคร่ครวญและคิดอย่างรอบคอบเห็นจริงแล้วว่าทำได้ และทำได้โดยราษฎรไม่เดือดร้อน

จากการศุลกากร ดร.ปรีดี พนมยงค์ หันเข้าจับ การสรรพสามิตเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ และให้เป็นคุณแก่ชาติแก่ราษฎร สิ่งแรกก็คือ สิ่งที่ราษฎรชอบบริโภค แม้จะเป็นอบายมุขและผิดศีลข้อ 5 เพราะพุทธศาสนาถือหลักมัชฌิมา สายกลาง ศีลข้อ 5 จึงไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์ เอาสุรานี่ก่อน ปรับปรุงการสุราให้เหมาะสม ปรับปรุงภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ การผูกขาดสุราที่เอกชนรับไปทำ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว ต้องใช้หลักการแข่งขัน ประมูลกัน ใครให้รายได้แก่รัฐมาก คนนั้นได้รับไปทำ

ในส่วนโรงงานของรัฐปรับปรุงวิธีการให้ดีขึ้น ให้ดีทั้งคุณภาพและมีปริมาณมากพอ บวกภาษีเข้าไปในราคาขาย ทั้งๆ ที่เห็นว่าเป็นอบายมุข ครั้นจะเลิกนักสุราก็คงเป็นอันตราย การบวกภาษีเข้าในราคาของนี่แหละ นอกจากเพิ่มรายได้แล้ว ถ้าราคาสูงมากบางทีจะทำให้นักสุราลดการเสพย์ลงได้บ้าง ถ้าไม่ลดการเสพย์ก็ต้องทนสู้ราคา ซึ่งเป็นการเสียสละมากหน่อย

จากสุรา ดร.ปรีดี พนมยงค์ หันเข้าปรับปรุงการผูกขาดและจำหน่ายฝิ่น เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ จัดให้มีการปราบปรามฝิ่นเถื่อนอย่างเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้มีคนดีทำการแข่งขันกับรัฐบาล ถ้าเปรียบกับปัจจุบันนี้ ผิดกันไกล สมัยโน้นฝิ่นเถื่อนอย่าว่า 5 ตันเลย เพียง 5 กิโลกรัม 10 กิโลกรัม ก็รอดพ้นสายตาเจ้าหน้าที่ไปได้ยาก ถ้าได้กลิ่นเมื่อใดเป็นจับได้ทันทีเมื่อนั้น ไม่มีได้ลอยนวลไปละ

ต่อไปเริ่มเข้าช่วยเหลือราษฎร ที่ประกอบอาชีพในทางผลิตเกลือ จัดขุดคลองสำหรับใช้ในการคมนาคมและการทำนาเกลือคลองนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเสนอให้ใช้ชื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นชื่อคลอง แต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เห็นว่าชื่อของตนสำหรับตนก็พอแล้ว และมันเป็นเรื่องของชาติจึงให้ชื่อคลองนั้นว่า “คลองสรรพสามิต”

จากเกลือ เข้าจับภาษีไม้ขีดไฟ นอกจากปรับปรุงภาษีไห้ใด้เงินแล้ว ยังเป็นการให้ความคุ้มครองแก่อุตสาหกรรมประเภทนี้ด้วย โดยการเก็บภาษีไม้ขีดไฟต่างประเทศในอัตราสูงจนเข้ามาไม่ได้ และในขณะเดียวกันให้ราคาไม้ขีดไฟที่ผลิตภายในประเทศมีราคาพอสมควร และแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็เพ่งไปที่บุหรี่

ในเมืองไทยขณะนั้น มีโรงงานผลิตบุหรี่ของชาวต่างประเทศอยู่หลายโรง เช่น โรงงานผลิตบุหรี่ของ บริษัท บริติชอเมริกันทูแบคโค ซึ่งเป็นของชาวยุโรป และบริษัท นานยาง ซึ่งเป็นของชาวจีน โรงงานเหล่านี้ตั้งมาหลายสิบปีแล้ว แม้เคยมีโรงงานของคนไทยทำการแข่งขันก็ต้องเลิกล้มไป ผู้ผลิตบุหรี่เสียภาษีแต่น้อย แต่ได้กำไรมาก ราษฎรได้บริโภค แต่บ้านเมืองเสื่อมเสียประโยชน์

ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงคิดที่จะให้โรงงานเหล่านี้ได้มาเป็นของรัฐและรัฐทำการผูกขาดแต่ผู้เดียว ดร.ปรีดี พนมยงค์ เรียกศิษย์คนหนึ่งมา คือ นายสงวน ตุลารักษ์ ให้ศึกษาเรื่องโรงงานบุหรี่ให้รู้จริงแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็เริ่มการเจรจากับบริษัททั้งสอง และในที่สุดก็เป็นผลสำเร็จ บริษัท บริติชอเมริกันทูแบคโค (BAT) ตกลงขายในราคาประมาณ 10 ล้านบาท และ บริษัท นานยาง ราว 2 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงหลายประการเพื่อเป็นประโยชน์แก่รัฐ และที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ การชำระราคาโรงงานบุหรี่นั้นๆ เป็นงวดๆ รัฐบาลเข้าดำเนินการ แต่กรรมสิทธิยังไม่โอนมาเป็นของรัฐบาลจนกว่าการชำระเงินงวดสุดท้ายจะเสร็จสิ้น

ในด้านเศรษฐกิจ การผลิตบุหรี่ ยาสูบกลายมาเป็นอุตสาหกรรมผูกขาด ราษฎรผู้บริโภคเสียภาษีโดยไม่รู้ตัว ใครสูบมากก็เสียภาษีมาก ใครสูบน้อยก็เสียภาษีน้อย ใครไม่สูบก็ไม่ต้องเสีย ราษฎรไม่เดือดร้อนและรัฐได้เงินมาก ยิ่งกว่านั้นโรงงานยาสูบของรัฐบาลยังจะได้ช่วยในการอาชีพปลูกยาสูบ และโรงงานของรัฐบาลรับซื้อใบยาจากราษฎร เป็นการเพิ่มอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎรอีกประการหนึ่ง

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ทุ่มเทเวลาและความสามารถในเรื่องโรงงานยาสูบนี้อย่างใกล้ชิด หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวว่ารัฐมนตรีคลังผู้นี้ได้ลงมือทดลองผสมยาสูบ และทดลองสูบเอง จนรู้สึกค่อนข้างมึนเมา

สิ้นปี พ.ศ. 2484 การชำระราคาโรงงานยาสูบก็ยังไม่หมด เหตุการณ์ของโลกในเวลานั้นมืดมนลงทุกที ในยุโรปมีสงครามและรุนแรงหนักขึ้นๆ ในเอเชียญี่ปุ่นได้เตรียมสงครามอย่างเต็มที่ และได้มีสัญญากับเยอรมนีและอิตาลี ซึ่งทำให้ตัดสินได้ว่าญี่ปุ่นต้องเปิดฉากสงความขึ้นแน่นอน เพราะการที่ญี่ปุ่นเข้ายึดอินโดจีนนั้น แสดงชัดว่าญี่ปุ่นต้องเปิดฉากสงครามขึ้นแน่นอน และการที่ญี่ปุ่นเข้ายึดอินโดจีนเช่นนั้น แสดงชัดว่าญี่ปุ่นต้องรุกลงทางใต้และแน่ที่สุดก็คือ ต้องรุกเข้าประเทศไทย

ในขณะเดียวกันก็ประกาศสงครามกับอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทย กรรมสิทธิ์ในโรงงานยาสูบซึ่งเป็นของอังกฤษ ญี่ปุ่นก็คงยึดเอาไป ถ้าอังกฤษตีญี่ปุ่นถอยออกจากประเทศไทยได้ อังกฤษก็กลับมาเอาโรงงานยาสูบของตนคืน และแน่นอนคงไม่ขายให้ประเทศไทย ส่วนเงินชำระแล้ว แม้ไทยอาจจะไม่เสียเปล่า ก็คงพูดกันยาก

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้คำนึงถึงเหตุการณ์เหล่านี้ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อเหตุการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น จนเห็นว่าไม่สามารถจะหลีกพ้นได้แล้ว รัฐมนตรีคลัง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ขอชำระเงินค่าโรงงานที่เหลืออยู่ แม้จะไม่ถึงเวลาเสียจนครบจำนวนแล้วกรรมสิทธิ์ในโรงงานก็ตกมาเป็นของรัฐบาลโดยสมบูรณ์ ญี่ปุ่นจะเข้าหรืออังกฤษจะเข้า เมื่อมันเป็นทรัพย์สมบัติของไทยทั้งชาติก็พอจะพูดกันได้และต่อมาจากวันที่กรรมสิทธิ์โอนมาราว 30 วันเท่านั้น สงครามของมหาอาเซียบูรพา โดยญี่ปุ่นเป็นผู้เปิดฉากก็เกิดขึ้นจริงๆ เคราะห์ดีของประเทศไทย พระสยามเทวาธิราชคุ้มครอง หรือ การรู้เท่าถึงการณ์ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ อย่างใดก็ได้ ช่วยไม่ให้ชาติไทยเสียหาย

รายได้จากภาษีทางอ้อมจากประเภทต่างๆ ที่กล่าวนี้ ได้ทำประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก และโดยที่เป็นคุณประโยชน์แก่ราษฎรนานาประการ มิใช่เพียงแต่ปราศจากโทษและความเดือดร้อนเท่านั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้พิสูจน์คำกล่าวที่ว่า “ภาษีทางอ้อมบัดนี้เก็บอยู่ถึงขีดสุดแล้วถ้าเก็บอีกก็คงไม่ได้เงิน และราษฎรจะเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า” และนี่ก็คือการที่รัฐบุรุษรู้จักใช้นโยบายภาษีให้เป็นคุณแก่ประเทศชาติ ราษฎร และประชาธิปไตย แม้จะไม่เต็มที่ แต่ก็นับว่า ได้ผลเป็นอเนกอนันต์

 

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์. ภาษีทางอ้อมและรายได้อื่นๆ, ใน, ดร.ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ สอง (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), น. 499-505