การค้าของไทยกับต่างประเทศในยุครัตนโกสินทร์เป็นการค้ากับอังกฤษและจักรภพอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ และแม้ในสมัยต่อมาอังกฤษเป็นทั้งผู้ซื้อ และเป็นทั้งผู้ขายให้ไทยมาก ถ้าอังกฤษหรือจักรภพไม่ซื้อสินค้าไทย ไทยก็ขายไม่ได้ หรือขายได้แต่น้อยมาก
อังกฤษรวมทั้งจักรภพจึงมีอิทธิพลเหนือการเศรษฐกิจของไทย และยิ่งกว่านั้นเงินตราไทยก็ผูกพันอยู่กับเงินตรา คือ ปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ คือ อยู่ในเขตกลุ่มเงินสเตอร์ลิง (Sterling Bloc) อังกฤษได้รับผลทางเศรษฐกิจอย่างไร ไทยก็ได้รับผลทำนองเดียวกัน เมื่ออังกฤษออกจากมาตราทองคำ (Gold Standard) เมื่อกันยายน 2474 การค้าและการเงินของไทยยิ่งปั่นป่วนและยิ่งตกต่ำหนักลง ไทยต้องกระโจนออกจากมาตราทองคำด้วย
เมื่อวัน 11 พฤษภาคม 2475 ไทยยุคนั้นดูเหมือนโปรอังกฤษเต็มที่และยอมเป็นลูกไก่ของอังกฤษเรื่อยมา จึงต้องอิงเงินตราไทยเข้ากับเงินตราอังกฤษ คือ อยู่ในมาตราสเตอร์ลิงก์ (Sterling Exchange Standard) ทุนสำรองเงินตราไทย ซึ่งมีอยู่ถึงร้อยละ 99.6 ของเงินตราที่ออกใช้นั้น ก็เป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิงเป็นส่วนใหญ่ เสถียรภาพเงินตราไทยจึงโอนเอนไปตามเสถียรภาพเงินตราอังกฤษ และที่ร้ายที่สุดก็คือ เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในอิทธิพลของอังกฤษ
เมื่อพิจารณาโดยส่วนรวม ถ้าพิจารณารายปลีกย่อยเศรษฐกิจการค้าภายในไทยอาจเห็นว่าอยู่ในมือจีน นอกจากเงินตราไทยจะมีปอนด์สเตอร์ลิงเป็นทุนสำรองส่วนใหญ่แล้ว ก็ยังมีทองคำเป็นทุนสำรองอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย และทองคำนี้เก็บรักษาไว้ในประเทศอังกฤษ
เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำหนักลงๆ และประชาราษฎรใกล้จะตายมิตายแหล่ รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คำนึงแต่เพียงดุลยภาพแห่งงบประมาณ ยิ่งกว่าชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎร เมื่อรีดเอาเงินภาษีถึงขีดอีกนิดเดียว ฟางเส้นเดียวอูฐเป็นต้องหลังหัก หามิได้อูฐล้มไปนานแล้ว รัฐบาลก็กู้เงินจากต่างประเทศ และยอมเสีย
ดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 7 ร้อยละ 8 ต่อปี ที่จริงครั้งนั้น นอกจากดุลย์ข้าราชการออกแล้ว ถ้าพวกเจ้าที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายและมีเงินปีเสวยปีละมากๆ จะให้รัฐบาลกู้เงิน หรือ รัฐบาลเสนอกู้ หรือ ลดเงินลงบ้าง ซึ่งนอกจากจะบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรแล้ว ยังจะไม่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศและโดยต้องเสียดอกเบี้ยแพง
ในที่สุดรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ งงงันต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า คิดเห็นว่าอันทองคำที่ไทยมีอยู่ในต่างประเทศนั้น หาค่ามิได้แล้ว สู้แต่ข้าวสุกข้าวสารเมล็ดเดียวก็ไม่ได้ ว่าแล้วก็สั่งให้ขายทองคำนั้นเสีย แต่เพื่อรักษาค่าของเงินตราไทย ตามความเห็นของรัฐบาล จึงให้ซื้อปอนด์สเตอร์ลิงไว้และประกอบเพิ่มเป็นเงินทุนสำรองเงินตราไทย โดยนัยและบทบังคับของพระราชบัญญัติเงินตรา
เมื่อรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเข้าบริหาร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงเรื่องการที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ขายทองคำไป รัฐมนตรีคลังได้ตอบเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2476 ว่า
“เมื่อประเทศอังกฤษออกจากมาตราทองคำในเดือน กันยายน พ.ศ. 2474 นั้น รัฐบาลเห็นเป็นการสมควรที่คงจะอยู่ในมาตราทองคำต่อไป ฉะนั้นตามนโยบายนี้ รัฐบาลจึงได้เปลี่ยนทุนสำรองที่ถือเป็นสเตอร์ลิงก์เป็นทองคำแท่งและเงินตราของประเทศที่ใช้มาตราทองคำ
...ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. นี้ รัฐบาลได้เชื่อมเงินบาทกับปอนด์สเตอร์ลิง และกำหนดอัตราและจ่ายในอัตราเดิมคือปอนด์ละ 11 บาท แต่ทุนสำรองที่เป็นทองคำและเงินตราของประเทศใช้มาตราทองคำก็คงถือต่อไป และด้วยเหตุที่ปอนด์สเตอร์ลิงอันเป็นมาตราของเงินบาทมิได้อยู่ในมาตราทองคำ ราคาทุนสำรองจึงสูงและต่ำอยู่ทุกวัน
...สำหรับเงินตราของประเทศที่ใช้มาตราทองคำ นอกจากเทียบกับเงินปอนด์สเตอร์ลิงโดยตรงมิได้แล้ว ยังมีเหตุพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ว่าเงินตราของประเทศนั้นอาจหลุดจากมาตราทองคำเมื่อใดก็ได้ ข้อนี้ก็เป็นความจริงดั่งคาดหมายไว้ คือสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกจากมาตราทองคำเมื่อวันที่ 15 เมษายนนี้
...ในเดือนพฤษภาคมที่แล้วนี้ รัฐบาลจึงได้ขายทองคำเเท่ง และถือปอนด์สเตอร์ลิงเป็นทุนสำรอง ข้อที่จะกล่าวให้เห็นพ้องในการมาขายทองและยึดปอนด์สเตอร์ลิงมีอยู่อย่างเดียวว่า ถ้าราคาปอนด์สเตอร์ลิงตกต่ำก็กระทำให้ราคาเงินบาทตกต่ำไปด้วย แต่เหตุนี้จะเกิดได้ก็ในเมื่อราคาปอนด์สเตอร์ลิงก็จะตกต่ำถึงขีดที่จะต้องทิ้งจากการเป็นมาตรฐานของเงินตราสยามนั้น รัฐบาลในครั้งนั้นเห็นว่าความข้อนี้ยังห่างไกลนัก และเป็นความกลัวเกินกว่าเหตุ เพราะค่าปริวรรตปอนด์สเตอร์ลิงมีราคายืนที่สม่ำเสมอเป็นเวลาช้านานแล้ว และมีประเทศอื่นหลายประเทศได้ยึดปอนด์สเตอร์ลิงเป็นมาตรฐานเงินตราของเขาเช่นกันเเละมากขึ้นทุกที
...เมื่อรัฐบาลมีหน้าที่ตามกฎหมายรับและจ่ายเงินบาทกับปอนด์สเตอร์ลิง ก็ควรถือทุนสำรองในเงินตราที่มีราคาตามที่ต้องรับจ่ายนั้น คือ ถือเป็นปอนด์สเตอร์ลิง เเล้วก็อาจจะนำไปหาผลประโยชน์ให้งอกเงยได้ ซึ่งในยามการฝืดเคืองเช่นนี้ย่อมเป็นเหตุที่จะต้องคำนึงมาก แต่ถ้าถือเป็นทองคำเเท่งอยู่แล้วมีจะต้องเสียค่ารักษา และเมื่อต้องการขายก็หาเป็นการสะดวกไม่ เพราะบางประเทศก็ห้ามมิให้ส่งทองคำออกนอกประเทศ
...การรักษาค่าปริวรรตเงินตราให้คงที่ เป็นสิ่งสำคัญมากในการค้าขาย เพราะพ่อค้าต้องการทราบว่า เมื่อทำการค้าขายลงไปแล้วตนจะได้รับเงินเท่าใด ถ้าค่าปริวรรตไม่แน่นอนพ่อค้าก็ไม่กล้าทำการค้า เกรงว่าจะขาดทุนโดยค่าปริวรรตอันมิได้อยู่ในความบังคับของตน… รัฐบาลยังมีหนี้สินและดอกเบี้ยจะต้องชำระเป็นปอนด์สเตอร์ลิง ฉะนั้นรัฐบาลก่อน (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) จึงเห็นว่า การถือทุนสำรองเป็นปอนด์สเตอร์ลิงย่อมไม่ขัดกับประโยชน์ของประเทศเรา”
และปรากฏในขณะนั้นว่ารัฐบาลจะได้รายได้จากการนำปอนด์สเตอร์ลิง ไปหาผลประโยชน์ราวปีละ 1 ล้านบาท ส่วนค่ารักษาทองคำในอเมริกาและในฝรั่งเศสเป็นเงินราวสี่หมื่นบาทต่อปี
รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำอย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่เล็งการณ์ ไกลผิด และผลที่ได้ไม่คุ้มกับที่เสียไป และต่อมารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่เงินตราจึงได้ขายเหรียญบาทจำนวนหนึ่งไป แม้ในครั้งนั้นราคาแร่โลหะเงินในตลาดโลกจะไม่สู้ดีนักก็ตาม รัฐบาลขายได้แต่เพียงน้ำหนักเนื้อเงิน 1 เอานซ์ (.999 เปอร์เซ็นต์ของความบริสุทธิ์) เพียง 25.78 เซนต์อเมริกันเท่านั้น แล้วก็ใช้เงินที่ขายได้นั้นซื้อปอนด์สเตอร์ลิงอีก
การกระทำของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังว่ามานี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สังเกตและศึกษาอย่างใกล้ชิด และเห็นว่าหาเป็นทางที่จะนำมาซึ่งเสถียรภาพอันมั่นคงของการค้าและการเงินอย่างแท้จริงไม่ เพราะสักวันหนึ่งไทยคงจะได้รับผลสะท้อนจากการที่อังกฤษได้รับผลนั้นเป็นแน่ แต่สำหรับทองคำนั้น อย่างไรก็ยังมีค่าสำหรับมนุษย์อยู่นั้นเอง
ภายหลังการปฏิวัติแล้ว คือ ในวันที่ 22 กันยายน 2481 รัฐบาลได้ขายเหรียญบาทของเงินคงคลังเเละทุนสำรองเงินตราไปอีก เป็นการขายเหรียญบาท ในฐานะแร่โลหะเงินเกือบสิ้นเชิง และเมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้าดำรงตำเเหน่งรัฐมนตรีคลัง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ตอบกระทู้ถามของสมาชิกในสภาฯ ถึงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2481 ว่า
“ประเทศสยามได้ออกจากมาตราเงินมานานแล้ว และทั้งโลหะเงินก็มีราคาไม่มั่นคงย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงสมควรที่จะขายเงินเหรียญบาท ซึ่งเป็นโลหะเงินเสีย เพื่อจัดการหาโลหะทองคำมาแทนโลหะเงิน การขายโลหะเงินไปเพื่อประโยชน์ที่จะซื้อโลหะที่มีความมั่นคงมาแทนเช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ประเทศ…”
การยุบหลอมเหรียญบาทซึ่งขนไปจากประเทศไทย เเละการขายโลหะเงินที่ได้ ได้สำเร็จลุล่วงไปเมื่อปลาย มีนาคม 2481 ในสหรัฐอเมริกา คือ
จำนวนเหรียญบาทที่ได้ยุบหลอม .......................... 52,436,000 บาท
เนื้อเงินที่ได้รับ (เนื้อ.999) ............................... 22,816,381.11 เอานซ์
รายได้ (ก่อนหักรายจ่าย) ค่าเนื้อเงิน ................... 9,811,043.91 ดอลลาร์
เบ็ดเตล็ด .......................................... 7,131.90 ดอลลาร์
รวม ........................................... 9,818,175.81 ดอลลาร์
รายจ่าย ........................................ 236,503.36 ดอลลาร์
รายได้สุทธิ ..................................................... 9,581,672.45 ดอลลาร์
ค่าเนื้อเงินที่ขายได้นั้นเท่ากับ 43 เซนต์ต่อหนัก 1 เอานซ์ (.999) หรือ เหรียญบาท 1 เหรียญขายได้ 42.28 สตางค์ เป็นโชคดีของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยไม่น้อย เพราะถ้าขายช้าไป 3 หรือ 4 เดือน จะขายได้ราคาต่ำกว่านี้มาก เพราะกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ได้เลิกซื้อเนื้อเงินในราคานั้น ในเวลาต่อมาใกล้ๆ กัน เพียงวันที่ 10 กรกฎาคม เนื้อเงินมีราคาเพียง 35 เซนต์ ต่อ 1 เอานซ์เท่านั้น และสมมติว่าในเวลานั้น รัฐบาลไทยจะทำเหรียญบาทออกมาใหม่ โดยเอาเงิน 9,581,672.45 ดอลลาร์ที่ขายได้ ซื้อเนื้อเงินมาทำเหรียญบาทใหม่จะได้ถึงประมาณ 62,436,000 บาท คือได้มากกว่าเก่าราว 10,000.000 บาท
‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ ทราบดีว่า การที่จะทำให้เงินตราไทยมั่นคงเพื่อเศรษฐกิจของชาติจะรุ่งเรืองได้นั้นจะควรทำอย่างไรและในประการใด โดยที่ได้ศึกษาและสังเกตการณ์ การเงินและการค้าตลอดจนการเศรษฐกิจของโลกอยู่ตลอดมาอย่างถี่ถ้วน ไม่งมงายอยู่ในลัทธิเศรษฐกิจหนึ่งใด แต่การปรับให้เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ฝักใฝ่อยู่มากที่สุด และคราวนี้ เมื่อได้เงินมา 9 ล้านดอลลาร์เศษนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ จะจัดการอย่างไรต่อไปดังที่ได้เเถลงไว้ในสภาเเล้ว ว่าจะจัดซื้อทองคำเข้ามาเก็บไว้ภายในประเทศ
เมื่อรัฐมนตรี ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีคำสั่งลงไปให้กรมคลัง อันเป็นเจ้าหน้าที่จัดการซื้อทองคำในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดต่อมาไม่ถึง 2 วัน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้รับบันทึกเสนอความเห็นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีข้อความแย้งกับที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สั่งลงไป เปล่าเลย, เจ้าหน้าที่ผู้เสนอบันทึกความเห็นนั้น ไม่มีเจตนาที่จะขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือมีเจตนาร้ายเเต่ประการใด
เขาได้บันทึกแย้งโดยความสุจริตและด้วยความหวังดีต่อชาติ เขาได้อ้างถึงวิธีการที่เคยปฏิบัติมา คือ เห็นควรให้ใช้เงินนั้นซื้อปอนด์สเตอร์ลิงประกอบเข้าเป็นทุนสำรอง และทั้งจะได้ดอกเบี้ย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้อ่านและพิจารณาบันทึกของเขาอย่างดี พอใจในการคัดค้านของเจ้าหน้าที่ ที่เขากล้าหาญ และพยายามทำงานเพื่อชาติ แต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีผู้ดำเนินนโยบาย ทั้งเป็นผู้ที่เล็งการณ์ไกลในภายหน้า
รัฐมนตรีไม่ใช่ผู้ทำงานรูทีน หรืองานประจำวันซึ่งเสมียนเสนอตามลำดับชั้นขึ้นมาจนถึงปลัดกระทรวงไม่มีอะไรใหม่ วนเวียนอยู่ตลอดเวลา 365 วัน เเต่รัฐมนตรีต้องรอบรู้ในกิจการของชาติ ด้วยการศึกษาค้นคว้าเเละดำเนินนโยบาย การที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ สั่งให้ซื้อทองคำ นอกจากจะเห็นว่าทองคำเป็นโลหะที่มีค่าอยู่เสมอเเล้ว ยังขีดเส้นไปหาจุดที่ว่า ในไม่ช้าประเทศทั้งหลายก็จะวิ่งเข้าหาทองคำ ยิ่งกว่านั้นพฤติการณ์ทางการเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นมาและในระยะนี้ ได้บอกเหตุการณ์ในอนาคตแล้วว่า สงครามจะต้องเกิดขึ้นแน่ เเละอังกฤษจะต้องเข้าสู่สถานะสงคราม เมื่อเป็นเช่นนั้นการมีเงินปอนด์สเตอร์ลิงเป็นทุนสำรอง ก็จะนำความยุ่งยากและเสียหายมาสู่ประเทศไทย
เวลานั้นทองคำจะเป็นที่เสน่หาของนานาชาติ จะกลายเป็นสิ่งวัดค่า แล้วไทยจะได้ทองคำมาจากไหน และสำหรับประเทศไทยเอง เมื่อสงครามระหว่างมหาอำนาจเกิดขึ้น ก็ยังไม่แน่ว่าจะอยู่เป็นกลางได้หรือว่าจะเข้ากับฝ่ายใด ทองคำเท่านั้นจะช่วยพยุงการเป็นอยู่ของประเทศไทยไว้ได้
แต่มีเหตุอีกประการหนึ่ง ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ตระหนักอยู่ในใจ สิ่งนั้นก็คือ การที่เป็นมาแล้วด้วยการที่คนไทยได้ศึกษาเล่าเรียนในประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาเมืองไทยได้รับราชการเป็นใหญ่เป็นโต บางคนซึ่งอาจเป็นส่วนข้างมากมีความนิยมและลุ่มหลงอังกฤษ บางคนมีนิสัยใจคอเป็นคนอังกฤษไปเลย และในยุคกระโน้น มีคนธรรมดาสามัญน้อยเต็มที และยิ่งกระทรวงการคลังซึ่งมีที่ปรึกษาเป็นคนอังกฤษด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าความลุ่มหลงเช่นนี้มีอยู่เป็นอันมาก
‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่คลังของเราบางคนรู้สึก หลงใหลคนอังกฤษยิ่งกว่าคนอังกฤษรู้สึกหลงใหลในตัวของเขาเองเสียอีก” เเละสำหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เองนั้น มีบางคนเข้าใจว่าโปรอังกฤษหรือต่างชาตินักหนา แต่ถ้าพิจารณาให้รอบคอบเเล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ โปรทุกๆ ชาติที่มีความสัมพันธ์กับชาติไทย และโปรในทางที่ชาติไทยต้องได้รับประโยชน์ไม่ใช่เสียประโยชน์ ดั่งที่จะเห็นได้จากการได้รับผลสำเร็จในการแก้ไขสนธิสัญญา และในบั้นปลายก็ได้ปรากฏแก่ราษฎรไทยทั้งหลายว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ โปรชาติไทย รักชาติไทยมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด เหนือชีวิตของตนเสียอีก ในการดำเนินการบริหารนั้น ถ้าเป็นกรณีที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติไทยไว้ เเละกรณีนั้นจะต้องขัดเเย้งกับอังกฤษ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้หลีกเลี่ยงไม่ปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาการคลังซึ่งเป็นคนอังกฤษ หลีกเลี่ยงเด็ดขาด
‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ กล่าวว่า “ผมไม่ได้รุกรานอังกฤษ หรือทำให้เขาเสียหายอย่างใดเลย” เมื่อเจ้าหน้าที่อันจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีเสนอบันทึกแย้งขึ้นมาเช่นนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงสั่งลงไปอีกครั้งหนึ่งว่า “ให้จัดซื้อทองคำในลอนดอนและขนเข้ามาเก็บไว้ในประเทศไทย” ในที่สุดปรากฏว่า เงินจำนวนนั้นซื้อทองคำได้ 679 เเท่ง เป็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ 173,818,545 เอานซ์ ในราคา 34.765 ดอลลาร์ต่อทองหนัก 1 เอานซ์
ทองคำจำนวนนี้ได้ขนมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยของกรมคลัง ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ต้องเสียค่ารักษาให้แก่ต่างประเทศ แต่การไม่ต้องเสียค่ารักษานั้นไม่เป็นเหตุที่ทำให้รัฐมนตรีคลังผู้นี้ต้องกระทำเช่นนั้น
ต่อมา ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สั่งให้ซื้อทองคำภายในประเทศอีกด้วย โดยซื้อจากเหมืองทองคำ โต๊ะโม๊ ซื้อให้พอ มากพอที่รัฐมนตรีคลังผู้มีสายตาไกลเเละรู้เท่าถึงการณ์จะมั่นใจ มั่นใจในการที่จะสร้างความมั่งคั่งให้เเก่ชาติ เเละสร้างความมั่นคงให้แก่ระบอบเงินตราไทย
รัฐบุรุษผู้เดียงสาต่อการคลัง เช่น ดร.ปรีดี พนมยงค์ นี้ไม่ใช่คนไร้ความคิด และมีสายตาพิการ ที่จะขนเอาทองคำของชาติ หรือเอาทองคำของชาติไปไว้ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเอาประเทศชาติเข้าไปให้ถูกผูกมัดอยู่กับชาตินั้น เพราะเป็นการนำเอาความมั่นคงและความเป็นอิสระของชาติที่เป็นเอกราชไปแอบไว้ภายใต้การกดดัน บีบของชาติอื่นนั้นและใน “วาระหนึ่ง” ก็ไม่แน่ว่าประเทศไทยจะได้คืนมาหรือไม่
‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ กล่าวให้เหตุผลต่อไปอีกว่า “ผมคาดว่าสงครามจะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้านี้และประเทศไทยซึ่งยังมีนโยบายไม่แน่นอนจะต้องตกอยู่ในภาวะคับขันอย่างที่สุด และจะต้องช่วยตัวเอง ถ้าหากสงครามยังไม่เกิด เครดิตของประเทศไทยก็เป็นที่เชื่อถือของต่างประเทศเป็นที่พึงพอใจแล้ว ถ้าหากเราจะกู้เงินต่างประเทศมาลงทุนเพื่อประโยชน์ของราษฎร เราก็คงกู้ได้เพราะเครดิตของเราดี” เป็นการแน่นอนเหลือเกินรัฐบาลที่มีรัฐมนตรีอย่าง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ รัฐมนตรีที่ไม่ทำลายชาติ ประเทศไทยย่อมได้รับผลดีจากการบริหารและการสัมพันธ์กับนานาชาติเสมอ
ต่อมาก็ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นดั่งที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ คาดคะเนไว้ สงครามระเบิดขึ้นในยุโรป และต่อมาสงครามก็ได้ระเบิดขึ้นในเอเชีย ตลอดเวลาที่ประเทศไทยประสบกับภาวะคับขันนั้นทองคำเหล่านั้นได้ก่อคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างวันที่สงครามเกิดขึ้นในยุโรป จนถึงวันที่ประเทศไทยเข้าสู่สงคราม เเต่เเล้วโดยการกระทำของรัฐบาลระหว่างมหาสงครามเอเชียบูรพา อัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คือ ได้ให้ญี่ปุ่นขนทองคำของชาติไทยไปเมืองญี่ปุ่น
เมื่อสงครามสงบลงเเล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ เเละต่อมา พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้พยายามเจรจากับสหรัฐอเมริกา ผู้ครอบครองประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอรับเอาทองคำจำนวนนั้นคืน เกือบจะสำเร็จอยู่เเล้วก็มีเหตุเกิดขึ้นให้การดำเนินการนั้นชะงักไปเเละเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาสู่ตำเเหน่งนายกอีกครั้ง ประเทศไทยก็ได้คืนมาซึ่งกรรมสิทธิ์แห่งทองคำนั้นจากประเทศญี่ปุ่น
มันเป็นเรื่องที่เเปลกอยู่ไม่น้อยเเปลกจริงๆ ทองคำที่ซื้อครั้งกระโน้น ก็ซื้อในสมัยที่ จอมพล ป. เป็นนายกฯ ได้คืนมาก็สมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกฯ อีก กงเกวียนกำเกวียนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่มีข้อที่สงสัยอยู่ว่าทองคำที่ได้คืนมานี้เป็นทองคำรายเดียวกับที่ญี่ปุ่นเอาไปหรือหาไม่ โดยที่ทองคำรายนี้สหรัฐอเมริกาได้แถลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2492 ว่า ทองคำรายนี้ทหารอเมริกันที่ยึดครองญี่ปุ่นได้พบการผูกหูหมายเหตุว่า “สำหรับใช้เป็นราคาสินค้าทั้งหลายทั้งปวง ที่ญี่ปุ่นได้กวาดซื้อจากประเทศไทยระหว่างมหาสงคราม” คือ เขาแถลงว่าอย่างนี้ “ ....The U.S. position is that occupation forces found the gold…. for French Indo China and Siam in payment for Japanese purchases, and the gold therefore legally belongs to those countries.... The gold going to Siam would pay for Japanese purchases of rubber, rice, tin and other commodities during the war……..etc.”
ถ้าเป็นเช่นนั้นทองคำที่จอมพล ป. ให้ญี่ปุ่นขนเอาไป ไปไหนเสียเล่า หรือว่าเป็นรายเดียวกัน ถ้าเป็นรายเดียวกัน ก็คือ “อัฐยายซื้อขนมยาย” นั้นเองกระมัง แต่แล้วทองคำที่กรรมสิทธิ์ตกมาเป็นของชาติไทย และมีมูลค่า 43,700,000 ดอลลาร์นี้ หาได้กลับมาสู่การครอบครองของประเทศไทยไม่ เพราะว่า รัฐบาลจอมพล ป. ได้ให้ขนไปฝากไว้ที่ธนาคารเฟเดรัล รีเซิร์ฟในนครนิวยอร์ค เมื่อต้นเดือน มกราคม 2493 เสียแล้ว สถานะการณ์ของโลกเวลานี้รุนแรงยิ่งกว่าสมัยที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ สั่งให้ซื้อทองคำเข้ามาเก็บไว้ในประเทศเสียอีก ถ้าประเทศไทยประสบภาวะคับขัน จะทำอย่างไร เป็นที่เชื่อได้ว่า ต่อไปนี้ประเทศไทยรัฐบาลไทยจะไม่มีความคิด และดำเนินนโยบายการเมืองเป็นอิสระต่อไปอีกแล้ว ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยมาหลายครั้งแล้วว่า เมื่อถึงคราวประเทศไทยต้องช่วยตัวเองทุกครั้งไป รัฐบาลไทยไม่มีเครดิตพอที่จะให้ต่างประเทศเชื่อถือเสียแล้วหรือ
‘รัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์’ ได้พิจารณาสถานการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของโลกอยู่เสมอมาตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเมืองและการเศรษฐกิจของอังกฤษซึ่งมีผลกระทบถึงประเทศไทยอยู่ด้วย จากการพิจารณาพฤติการณ์โดยละเอียดถี่ถ้วนนี้เอง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้อาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญขีดเส้นไปหาจุดที่อังกฤษจะเดินไป และแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สั่งให้โอนเงินปอนด์สเตอร์ลิงของรัฐบาลจากอังกฤษไปซื้อดอลลาร์อเมริกันไว้จำนวนหนึ่งเป็นครั้งแรกก่อน และต่อมาเมื่อเห็นว่าพฤติการณ์ใหม่ขึ้นอีกอย่างหนึ่งโดยแน่นอน ดร.ปรีดี พนมยงค์ สั่งให้โอนเงินปอนด์สเตอร์ลิงจากอังกฤษจำนวนหนึ่งค่อนข้างมากไปซื้อดอลลาร์ในอเมริกาไว้อีก
แต่โดยที่เหตุการณ์กระชั้นชิด จึงสั่งให้โอนทางโทรเลข การซื้อดอลลาร์ได้สำเร็จเรียบร้อยทุกประการ และแล้วพอรุ่งขึ้นเท่านั้น อังกฤษประกาศลดค่าเงิน (devaluation) จาก 1 ปอนด์ต่อ 4.26 ดอลลาร์ลงเป็นต่อ 4.06 ดอลลาร์ ผล.... ประเทศไทยได้กำไรหลายล้านดอลลาร์ จากการกระทำของรัฐมนตรีผู้นี้ เงินจำนวนนี้ฝากไว้ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างมหาสงครามครั้งที่เเล้ว เสรีไทยในสหรัฐอันมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าก็ได้ใช้จ่ายจากเงินจำนวนนี้
ถ้ากล่าวถึงการที่อังกฤษลดค่าเงิน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2492 จาก 4.03 ดอลลาร์ลงเป็น 2.80 ดอลลาร์ต่อ 1 ปอนด์ เกือบร้อยละ 50 น่าเสียดาย ไม่ใช่น่าดอก เสียดายจริงๆ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐมนตรีคลังถึง 3 คน ล้วนแต่เอ๊กสเปิร์ท ทั้งนั้น แต่ประเทศไทยนอกจากไม่ได้อะไรแล้ว ยังต้องเสียหายอีก เสียหายสองต่อ ต่อเเรกก็คือความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างวันเวลาที่อังกฤษลดค่าเงิน จนถึงวันที่รัฐบาลไทยคิดออกและตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรดี กว่า 10 วัน แล้วประกาศอัตราแลกเปลี่ยนออกมาจากอัตราเดิมที่ 1 ปอนด์ เท่ากับ 40 บาท และ 1 ดอลลาร์เท่ากับ
10 บาท เป็น 1 ปอนด์ เท่ากับ 35 บาท และขึ้นราคาดอลลาร์ลดค่าเงินบาทลง เป็นดอลลาร์ละ 12.50 บาท ต่อจากนี้ความเสียหายต่อที่สองก็เกิดขึ้นสืบเรื่อยๆ ไปจนกว่าจะจัดการให้เหมาะสมและถูกต้อง เหตุผลที่รัฐบาลเเถลงมาเเล้วนั้น ฟังดูแล้วหวาดเสียว รัฐบาลน่าจะรู้ว่าระยะหนึ่งประเทศจะต้องมีเงินตราต่างประเทศเท่าใด จะได้มาอย่างไร
งานย่อยๆ ของ ‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ ในการรักษาเสถียรภาพของเงินตราไทยนี้ยังมีอีกหลายประการ อาทิเช่น เมื่อระยะที่ญี่ปุ่นเตรียมสงครามเต็มที่ เหรียญกษาปณ์ทองแดงราคา 1 สตางค์เริ่มจะหายไปในตลาด ทั้งนี้เพราะแร่โลหะทองแดงในเหรียญกษาปณ์นั้น มีราคาสูงกว่า 1 สตางค์ แต่การหายไปเช่นนั้นไม่ได้รอดพ้นความสังเกตของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งคอยจ้องอยู่เสมอมา
‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ สั่งให้กรมคลังลดอัตราเนื้อโลหะทองแดงในเหรียญกษาปณ์ 1 สตางค์ ลงทันทีให้มีส่วนผสมของโลหะทองแดงซึ่งเมื่อคิดเป็นราคาโลหะแล้วน้อยกว่า 1 สตางค์ เหรียญกษาปณ์ทองแดง 1 สตางค์ที่ทำออกมาใหม่นี้ ไม่เป็นที่ปรารถนาของพ่อค้าโลหะเสียแล้ว มันหยุดทำหน้าที่เป็นสินค้าโลหะเสียแล้ว มันหยุดทำหน้าที่เป็นสินค้าแต่กลับทำหน้าที่เป็นเงินตรา ใช้วัดค่าสิ่งของต่างๆ ต่อไป
ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์. สร้างเสถียรภาพเงินตราไทย, ใน, ดร. ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่สอง (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), น. 506-520