การอ่าน "เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (อาจารย์ปรีดี พนมยงค์) เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2476 ต้องทำความเข้าใจบริบทของประเทศไทยในช่วงก่อนปี 2476 ที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีความเป็นอยู่ลำบาก ไม่สามารถเข้าถึงที่ดิน เงินทุน เทคโนโลยี มีปัญหาชลประทานและถูกเก็บภาษีทีไม่เป็นธรรม ประกอบกับการค้าอยู่ในมือของต่างชาติ อาจารย์ปรีดีจึงเห็นว่าการที่จะได้มาซึ่งประชาธิปไตยต้องเริ่มจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนของชาวชนบท และในสมัยนั้นราษฎรยังคงอ่อนแอ แนวทางเดียวที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ให้ราษฎรคือรัฐบาลจะต้องมีบทบาทในการจัดการเศรษฐกิจ
อาจารย์ปรีดี ได้เสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง มีความมั่นคงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีความเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ ในด้านความมั่นคง เสนอให้รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตั้งแต่เกิดจนตาย มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินให้ราษฎรในจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ด้านเสถียรภาพ ให้รัฐจัดการเศรษฐกิจให้มีการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์เพื่อไม่ให้เกิดการว่างงานจากการที่เครื่องจักรและเทคโนโลยีช่วยประหยัดแรงงาน การสร้างเสถียรภาพการคลังและการเงิน การจัดให้มีธนาคารแห่งชาติ รวมทั้งจัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องอาศัยต่างประเทศ และให้มีเอกราชในทางเศรษฐกิจ
ในด้านความเท่าเทียม เสนอให้สหกรณ์มีการปกครองตามแบบเทศบาล เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ดิน ทุน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม และเสนอวิธีการหาเงินทุนด้วยการเก็บภาษีมรดก ภาษีทางอ้อม ซึ่งตรงกับหลักการคลังที่ความเป็นธรรมของการเสียภาษีอยู่ที่การบริโภค
เค้าโครงฯ ยังให้ความสำคัญด้านประสิทธิภาพ ให้ราษฎรวัยแรงงานเป็นข้าราชการเพื่อให้แรงงานใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี การให้เงินเดือนแตกต่างกันตามคุณวุฒิ ความสามารถ การให้รัฐจัดการเศรษฐกิจเนื่องจากการรวมกันทำจะประหยัดต้นทุนมากกว่าการปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ การให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการนำเครื่องจักรมาใช้จะช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และการรับรองกรรมสิทธิของเอกชนและการคิดประดิษฐ์คิดค้น จะเห็นได้ว่าเค้าโครงฯ ไม่ได้เป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์ เนื่องจากไม่มีการริบที่ดินของผู้มั่งมี และรัฐยังรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่มีอยู่เดิม และยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการประดิษฐ์คิดค้นของบุคคล ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญของการสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
แนวคิดเค้าโครงฯ ยังประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน เช่น รัฐควรมีบทบาทในการวางแผน กำกับดูแล วางกติกาให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำและการผูกขาด ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเศรษฐกิจและปัจจัยการผลิตจากภายนอกและสร้างความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจภายในประเทศ การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และการพัฒนา การคุ้มครองระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ การรวมที่ดินและการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการสังคม
มอง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในปัจจุบัน[1]
อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ[2]
บทความนี้จะเริ่มด้วยการแนะนำ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกของประเทศไทย เขียนโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (อาจารย์ปรีดี พนมยงค์) ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรกที่ได้เสนอแนวคิดรัฐสวัสดิการ หลักการและร่างกฎหมายว่าด้วยการประกันสวัสดิการทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม (เดือน บุนนาค, 2517 และวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 2543) หลังจากนั้นจะเป็นการมองเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในประเด็นที่เป็นประโยชน์และสามารถประยุกต์ใช้กับบริบทปัจจุบัน
1. รู้จัก “เค้าโครงการเศรษฐกิจ”
การจะทำความเข้าใจเค้าโครงการเศรษฐกิจได้อย่างถ่องแท้ จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของโลก และการหล่อหลอมแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์ปรีดี และบริบทของไทย ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2476
บริบทของโลกในช่วงปี พ.ศ. 2472-2475 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เศรษฐกิจระบบเสรีนิยมในอังกฤษเริ่มมีปัญหา มีคนว่างงานจำนวนมาก ทำให้เริ่มมีแนวคิดที่รัฐต้องเข้ามาวางแผนเศรษฐกิจแทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมซึ่งเป็นกระแสหลักของโลก เช่น ในกลุ่มสังคมนิยม (สหภาพโซเวียต) และกลุ่มฟาสซิสต์ (อิตาลี เยอรมัน ญี่ปุ่น) ที่เสนอให้รัฐเข้ามาจัดการเศรษฐกิจและในสมัยนั้นภาพของการที่รัฐจัดการเศรษฐกิจถูกมองเป็นภาพบวก ยังไม่มีใครเห็นผลเสียของการที่รัฐเข้ามาจัดการ ดังนั้น ในสมัยนั้นประเทศทั้งหลายต่างดำเนินนโยบายชาตินิยม พยายามพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจและคุ้มครองการค้า เช่น การตั้งกำแพงภาษี
ในช่วงที่อาจารย์ปรีดีศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2463-2469 ได้รับอิทธิพลของนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส “ชาร์ลส์ จี๊ด” ที่อธิบายแนวคิดภราดรภาพนิยมหรือลัทธิโซลิดาริสม์ (Solidarism) “มนุษยชาติต้องพึ่งพาอาศัยกันตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น จึงจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความลำบากของผู้อื่นด้วย ซึ่งการนี้เป็นมูลฐานแห่งความยุติธรรมของสังคม อย่างไรก็ตาม โซลิดาริสม์แตกต่างไปจากลัทธิสังคมนิยม คือ มีการเคารพในกรรมสิทธิ์ของบุคคลและยอมรับให้มีมรดกตกทอดได้ ตลอดจนให้ความอิสระเสรีต่อบุคคลในการใช้จ่าย นอกจากนี้ลัทธิโซลิดาริสม์ยังยอมรับความไม่เสมอภาคในสังคม ให้คนที่อ่อนแอและแข็งแรงรับผิดชอบการดำเนินชีวิตร่วมกันโดยความสมัครใจ ภายใต้ระบบประกันสังคม เพื่อความมั่นคงแห่งสังคม”
นอกจากนี้ “ชาร์ลส์ จี๊ด” ยังเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดสหกรณ์ “สหกรณ์สามารถตอบสนองความต้องการของตนด้วยวิธีการตนเอง คือ เป็นผู้ผลิตเอง พ่อค้าเอง นายธนาคารเอง เจ้าหนี้เอง และผู้ใช้แรงงานเอง” โดยมีความมุ่งหมายเพื่อล้มล้างกำไร กล่าวคือ สหกรณ์จะส่งคืนกำไรให้แก่สมาชิกตามที่มีส่วนร่วม และระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ยังสามารถดูแลการกระจายรายได้ให้เกิดความยุติธรรมยิ่งกว่าเครื่องมือทางกฎหมาย ซึ่งจะเห็นแนวคิดเหล่านี้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ (วิชิตวงศ์, 2546)
สำหรับบริบทของไทยในช่วงก่อนปี 2476 อาชีพหลักของคนไทยคือชาวนา (ประมาณ 80% ของประชากรทั้งประเทศ) รองลงมาคือข้าราชการ สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ ข้าว ดีบุก ยางพารา และไม้สัก การค้าอยู่ในมือของต่างชาติ โดยเฉพาะพ่อค้าชาวจีน ชาวนาในช่วงนั้นมีความเป็นอยู่ลำบาก จากการค้าข้าวผ่านคนกลาง โอกาสการเป็นเจ้าของที่ดินมีน้อย ชาวนายังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีในการผลิต เสียค่าเช่านา ถูกเก็บภาษีโค กระบือ และเงินรัชชูปการที่ไม่เป็นธรรม[3] รวมทั้งมีปัญหาชลประทาน ฝนแล้งและน้ำท่วม ในช่วงนั้นรัฐให้บริษัทเอกชนคือ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มขุนนางร่วมทุนกับต่างชาติ ได้สัมปทานขุดคลองทั่วประเทศ แต่การขุดคลองไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้บริษัทยังได้สัมปทานขยายที่ดินสองฝั่งคลอง ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น โอกาสที่ชาวนาจะเป็นเจ้าของที่ดินยิ่งน้อยเข้าไปอีก (จุรีรัตน์ เกียรตุมาพันธ์และคณะ, 2527)
จากการที่อาจารย์ปรีดีมีบิดาเป็นชาวนา ได้มีโอกาสสัมผัสและรับรู้สภาพของชาวนาไทยตั้งแต่เยาว์วัย จึงได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา ประกอบกับในขณะที่ศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสได้รับอิทธิพลจาก “ชาร์ลส์ จี๊ด” จึงได้ตกผลึกในความคิดว่า ปัญหาของประเทศไทยในขณะนั้นอยู่ที่เศรษฐกิจราษฎรในพื้นที่ชนบท การที่จะได้มาซึ่งประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จึงต้องเริ่มจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนของชาวชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา และจากการที่บริบทในช่วงนั้น ราษฎรอ่อนแอเนื่องจากมีความเป็นอยู่ลำบากแร้นแค้น ขาดที่ดิน เงินทุน เทคโนโลยี ลำพังชาวนาแต่ละบุคคลแต่ละครอบครัวจึงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ วิธีการแก้ไขปัญหาจึงต้องสนับสนุนให้ราษฎรที่เป็นชาวนายากจนรวมตัวกันเป็น “สหกรณ์” โดยสมาชิกสหกรณ์จะร่วมกันผลิต จัดการด้านตลาด และร่วมกันบริโภค
จะเห็นได้ว่าบริบทสมัยนั้น ราษฎรอ่อนแอ และการค้าตกอยู่ในมือต่างชาติ แนวทางเดียวที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ให้ราษฎรคือรัฐบาลจะต้องมีบทบาทในการจัดการเศรษฐกิจ ใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) รัฐจะต้องรับผิดชอบจัดการเศรษฐกิจอันเป็นส่วนรวมระดับชาติ โดยวางหลักการที่จะประกันสวัสดิภาพและสวัสดิการของราษฎร ตลอดจนความเสมอภาค โดยมิให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน รักษาเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ และพยายามพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ และ (2) ให้ความสนับสนุนต่อสหกรณ์ รวมถึงที่ดิน เงินทุนและเทคโนโลยี ตลอดจนกิจการสาธารณูปการและสาธารณูปโภคเพื่อช่วยเหลือราษฎรส่วนใหญ่ที่ยากจนและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
อาจารย์ปรีดี จึงได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2476 ให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจที่อาศัยหลักวิชา แผน และโครงการ โดยแบ่งการเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจตามหลักเอกราชทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการ ซึ่งเขียนไว้ใน “หมวดที่ 1 ประกาศของคณะราษฎร”ของเค้าโครงการเศรษฐกิจ “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ เป็นการนำแนวคิดที่ดีของลัทธิเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งเสรีนิยม และสังคมนิยมเข้ามาปรับปรุงมาเป็นเค้าโครงทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ในการอ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจจำเป็นต้องเข้าใจบริบทที่ว่า ในขณะที่อาจารย์ปรีดีเขียนเค้าโครงการเศรษฐกิจมีอายุเพียง 32 ปี และเขียนด้วยความรีบเร่ง เนื่องจากจะต้องรีบร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ เสนอรัฐบาลตามที่ได้แถลงต่อราษฎรไว้ในประกาศของคณะราษฎร โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้มีการพิจารณาในหลักวิชา “อะไรดีก็รับไว้ อะไรมีเหตุผลควรปฏิเสธก็เลิกไปได้” แล้วจึงค่อยมาคิดรายละเอียดในภายหลัง โดยหากมีการรับร่างเค้าโครงในหลักการแล้วจะตั้งคณะกรรมการ นักวิชาการ ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะชาวต่างประเทศมาช่วยกันทำ มาร่วมพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
การเขียนเค้าโครงด้วยความรีบเร่ง ทำให้อาจารย์ปรีดี ยังไม่ได้ตกผลึกในความคิดในเรื่องบทบาทของรัฐในการจัดการเศรษฐกิจ และไม่ได้มีการพิจารณาถ้อยคำที่ใช้อย่างรอบคอบ หรือมีการใช้ถ้อยคำบางคำไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงนำไปสู่การเข้าใจผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำที่ “รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ประกอบการหรือผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง” แทนที่จะใช้ถ้อยคำ “รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบดูแลการเศรษฐกิจ”
สาระสำคัญหลักของเค้าโครงการเศรษฐกิจ สรุปได้ดังภาคผนวก จะเห็นได้ว่า แนวคิดที่อาจารย์ปรีดี นำเสนอเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคง/เสถียรภาพ ความเท่าเทียม และ ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ
อาจารย์ปรีดีให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเสนอให้รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพ เนื่องจากเหลือวิสัยที่เอกชนจะทำได้ หรือ หากทำได้ราษฎรจะต้องเสียค่าประกันแพงจึงจะคุ้ม ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินให้ราษฎรในจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การให้รัฐจัดการเศรษฐกิจให้มีการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์เพื่อไม่ให้เกิดการว่างงานจากการที่เครื่องจักรและเทคโนโลยีช่วยประหยัดแรงงาน เนื่องจากรัฐสามารถจัดหาคนไปทำงานอย่างอื่นได้ หรือ ลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อให้คนมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นหรือไปทำงานในกิจการสาธารณะ มีการสร้างเสถียรภาพการคลังและการเงิน โดยจัดให้รายจ่ายและรายได้เข้าสู่ดุลยภาพ การจัดให้มีธนาคารแห่งชาติ รวมทั้งจัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยต่างประเทศ เพื่อป้องกันอันตรายจากการปิดประตูทางการค้า และให้ประเทศไทยมีเอกราชในทางเศรษฐกิจ[4]
อาจารย์ปรีดี ยังคำนึงถึงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย โดยเสนอให้ราษฎรวัยแรงงานเป็นข้าราชการเพื่อให้แรงงานใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี การให้เงินเดือนแตกต่างกันตามคุณวุฒิ ความสามารถ และยกเว้นให้บางคนไม่ต้องรับราชการเมื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ การให้รัฐจัดการเศรษฐกิจเนื่องจากการรวมกันทำจะประหยัดต้นทุนมากกว่า การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำจะใช้แรงงานสิ้นเปลืองกว่ารวมกันทำ การรวมที่ดินให้ผลดีทางวิทยาศาสตร์ การให้รัฐซื้อที่ดินกลับคืนเพื่อวางแผนการใช้ที่ดิน เครื่องจักรกล การทำคูน้ำทำได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก การให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการนำเครื่องจักรมาใช้จะช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และการรับรองกรรมสิทธิของเอกชน และกรรมสิทธิ์แห่งการคิดประดิษฐ์คิดค้น
และที่สำคัญอย่างยิ่ง สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจเป็นการสร้างความเป็นธรรม เนื่องจากราษฎรไม่มีทุนและที่ดินเพียงพอ ขาดเครื่องจักรกล การให้รัฐเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจและแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจครบรูปเป็นสหกรณ์ สมาชิกร่วมกันผลิต (โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและทุน และสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง) จำหน่าย ขนส่ง จัดหาของอุปโภคให้แก่สมาชิก และร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่ ทั้งนี้การจัดให้สหกรณ์มีการปกครองตามแบบเทศบาลย่อมทำได้สะดวกทำให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ดิน ทุน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ทำให้ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ชนบทสามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิต ได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าเพิ่มอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และหลุดพ้นจากอิทธิพลของนายทุน และการแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจเป็นสหกรณ์ยังเป็นการเตรียมพร้อมให้มีการปกครองในรูปแบบเทศบาล นอกจากนี้อาจารย์ปรีดีได้เสนอวิธีการหาเงินทุนรัฐบาลด้วยการเก็บภาษีมรดก ภาษีทางอ้อมเพื่อไม่ให้ราษฎรเดือดร้อนมาก[5]
อาจารย์ปรีดียังได้เสนอแนวทางการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศแบบก้าวหน้าที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญ ในการคำนวณความต้องการของราษฎรในเรื่องปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต และประมาณการปัจจัยที่ดิน แรงงาน เครื่องจักรกล และทุนที่ต้องใช้ กำหนดประมาณการว่าปีหนึ่งรัฐบาลจะทำได้อย่างไร
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์จึงจินตการว่าอาจารย์ปรีดีได้เสนอให้มีการสร้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการวางแผนเศรษฐกิจ โดยการกำหนดฟังก์ชั่นการผลิตที่ผลผลิตขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย ที่ดิน แรงงาน เครื่องจักร นอกจากนี้ อาจารย์ปรีดียังให้รัฐบาลมีความรับผิดรับชอบ (Accountability) ในแผนพัฒนาฯ โดยแจ้งผลการกระทำต่อมหาชนทุกสัปดาห์
โดยสรุป อาจารย์ปรีดี ได้เสนอ "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" เพื่อเป้าประสงค์ที่จะวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เข้มแข็งในการบรรลุภารกิจในหลักหกประการ ดังที่เขียนไว้ในหมวดสุดท้าย “ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก 6 ประการ” ได้แก่ เอกราช ความสงบเรียบร้อยภายในสังคม การเศรษฐกิจ ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่เค้าโครงการเศรษฐกิจไม่ได้ถูกนำมาพิจารณา เนื่องจากได้มีการประณามกล่าวหาอาจารย์ปรีดีว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” และบังคับให้หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางออกนอกประเทศ ต่อมาได้มีการสอบสวนหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ซึ่งความเห็นของกรรมาธิการเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้รับรองว่า "หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่มีมลทินในเรื่องที่ถูกกล่าวหา" (อ่านรายละเอียดได้ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24/2476 (สามัญ) สมัยที่ 2)
ซึ่งหากพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจจะเห็นได้ว่า ไม่ได้เป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่มีการริบที่ดินของผู้มั่งมี แต่รัฐยังรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่มีอยู่เดิม และยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการประดิษฐ์คิดค้นของบุคคล ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญของการสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีข้อยกเว้นให้เอกชนประกอบการเศรษฐกิจกรณีได้รับสัมปทานจากรัฐบาล และยกเว้นการรับราชการให้กับคนที่แสดงได้ว่า “มีฐานะที่จะเลี้ยงตัวเอง” และครอบครัว
2. มองเค้าโครงการเศรษฐกิจในปัจจุบัน
จากปี พ.ศ. 2476 ที่อาจารย์ปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจและสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จากบริบทก่อนปี 2476 ที่เศรษฐกิจไม่ซับซ้อน ขนาดของการเปิดประเทศยังมีไม่มาก อาชีพหลักของคนไทยคือทำนา แรงงานภาคเกษตรมีมากและใช้ไม่เต็มที่ ภาคเกษตรของไทยอ่อนแอ เกษตรกรมีความเป็นอยู่ลำบาก โอกาสเป็นเจ้าของที่ดินมีน้อย เกษตรกรเข้าไม่ถึงทุน เครื่องจักร และเทคโนโลยี ภาคเอกชนและภาคประชาชนอ่อนแอ ทำให้รัฐต้องมาจัดการเศรษฐกิจ ในปัจจุบันเศรษฐกิจมีความซับซ้อน มีระดับการเปิดประเทศและเชื่อมโยงกับกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้น มีการผลิตและส่งออกสินค้าที่หลากหลาย ภาคเกษตรไทยโดยรวมมีความเข้มแข็งมากขึ้น
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นของโลกในหลายสินค้า เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ไก่ กุ้ง ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรรายกลางและรายใหญ่ที่เข้าถึงชลประทาน มีการใช้เครื่องจักร/เทคโนโลยีทันสมัยในทุกกิจกรรมการผลิต มีผู้ประกอบการในชนบทมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายย่อยที่ดินต่อรายมีน้อย การใช้เครื่องจักร ปัจจัยการผลิตคุณภาพดี และเทคโนโลยี มีราคาแพงและไม่คุ้มสำหรับเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน รวมถึงความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวน ราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวน และไม่มีระบบสวัสดิการรองรับ และจากบทเรียนในอดีต พบว่า หากรัฐเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจจะเกิดปัญหาการผูกขาด การทุจริต และบทบาทการชี้นำภาครัฐไม่ทันกับภาคเอกชน
ปัจจุบันบริบทเศรษฐกิจและสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ในบางบริบทเค้าโครงฯ ไม่สามารถปรับใช้ได้ แต่แนวคิดเค้าโครงการเศรษฐกิจ ยังมีประโยชน์และสามารถประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน ดังนี้
1. ภาครัฐมีบทบาทในการวางแผนเศรษฐกิจเพื่อจะได้กำกับดูแล วางกติกา ในระบบเศรษฐกิจ ให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาการผูกขาด และช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยให้เกิดการปรับตัวทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
2. การพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจ สามารถประยุกต์ใช้ในเรื่องของการลดความเสี่ยงการพึ่งพาเศรษฐกิจและปัจจัยการผลิตจากภายนอก และสร้างความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจภายในประเทศ
3. การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และการพัฒนาการคุ้มครองระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพการผลิต อาจารย์ปรีดีให้ความสำคัญกับการยอมรับในกรรมสิทธิ์คิดค้นของบุคคล และให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และการพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นหลักประกันเอกราชและอธิปไตยของชาติทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่มีความก้าวหน้ามากและเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน
4. การรวมที่ดินและการพัฒนาการรวมกลุ่มของเกษตรกร/พัฒนาสหกรณ์ เป็นทางออกของเกษตรกรรายย่อยในไทยปัจจุบัน การรวมที่ดินเพื่อให้การจัดการการทำเกษตรทำได้ง่าย ลดต้นทุนการผลิต ในกรณีเกษตรกรรายย่อยมีที่ดินขนาดเล็ก อาจให้สหกรณ์ที่เข้มแข็ง หรือผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมเป็นคนจัดการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามแนวคิดภราดรภาพนิยม
5. การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการสังคม ต้องคำนึงถึงคุณภาพและความทั่วถึงในการให้บริการ และภาระงบประมาณภายใต้บริบทสังคมผู้สูงอายุ มีการขยายสวัสดิการสำหรับกลุ่มเกษตรกร การอุดหนุนการประกันภัยพืชผล และเพิ่มเติมสวัสดิการสำหรับกลุ่มคนยากจนและด้อยโอกาสโดยเฉพาะ
เอกสารอ้างอิง
- จุรีรัตน์ เกียรตุมาพันธ์, ประนุช ทรัพยสาร, และอัจฉรา ชุมดี. 2527. “วิกฤติข้าวกับปัญหาเศรษฐกิจไทย,” ใน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. 2484. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
- เดือน บุนนาค. 2517. ท่านปรีดีรัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. กรุงเทพฯ: สามัคคีธรรม.
- ปรีดี พนมยงค์. 2535 ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์,2535.
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2543. แนวความคิดทางเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ:คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส.
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2546. “มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) กับเศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จี๊ด,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24, ฉบับที่ 8 (มิ.ย. 46).
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2552. ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ฐานรากของถนนสู่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์, บรรณาธิการโดย ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล. กรุงเทพฯ: วศิระ.
- Pasuk Phongpaichit and Chris Baker. 1995. Thailand: Economy and Politics. New York: Oxford University Press.
ภาคผนวก
สรุปสาระสำคัญหลักเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)[6]
เนื้อหาของเค้าโครงเศรษฐกิจประกอบด้วย “ข้อระลึกในการอ่านคำชี้แจง” และสาระสำคัญ 11 หมวด
ข้อระลึกในการอ่านคำชี้แจง
แนวความคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรรม เห็นว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์ ก็มีอยู่ทางเดียว รัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ ความคิดดังกล่าวไม่ใช่ความคิดอุปาทานที่ยึดติดกับแนวคิดของลัทธิใดๆ แต่ได้นำแนวคิดที่ดีของลัทธิต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามเวลานั้น มาปรับปรุงขึ้นเป็นเค้าโครง ทั้งนี้ขอให้ผู้อ่านเค้าโครงการนี้ด้วยใจที่เป็นกลาง ปราศจากเหตุแห่งความลำเอียงและทิฐิมานะ และหากติดขัดสงสัยประการใดให้ถามและชี้แจงเหตุผล
สาระสำคัญหลักของเค้าโครงการเศรษฐกิจ
1. ด้วยเหตุแห่งความไม่เที่ยงแท้แห่งการดำรงชีวิต เช่น การเจ็บป่วยหรือพิการทำงานไม่ได้ ทำให้ราษฎรทุกคนควรได้รับการประกันความสุขสมบูรณ์จากรัฐบาล ตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพว่าจะได้ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต เนื่องจากเหลือวิสัยที่เอกชนจะทำได้หรือหากทำได้ราษฎรจะต้องเสียค่าประกันแพงจึงจะคุ้ม โดยรัฐบาลไม่ต้องเก็บเบี้ยประกันภัยจากราษฎรโดยตรง แต่อาจจัดให้แรงงานใช้ประโยชน์มากขึ้น หรือการเก็บภาษีทางอ้อม
2. การประกันความสุขสมบูรณ์ ต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร กำหนดให้เป็นหน้าที่รัฐที่จะต้องจ่ายเงินให้ราษฎรทุกคนเป็นจำนวนพอที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องการในการดำรงชีวิต (มีการเขียนรายละเอียดในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร)
3. การที่รัฐบาลจ่ายเงินเดือนเพื่อประกันความสุขสมบูรณ์ให้ราษฎรนั้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง (มีการเขียนรายละเอียดในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ) และมีข้อยกเว้นให้เอกชนประกอบการเศรษฐกิจกรณีได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจาก ราษฎรไม่มีทุนและที่ดินเพียงพอ “แรงงานเสียไปไม่ได้ใช้เต็มที่” (ชาวนาทำงานปีหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน ทำให้เวลาที่เหลือสูญเสียไป)
4. การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำจะทำให้ใช้แรงงานสิ้นเปลืองกว่าการรวมกันทำ และหากรัฐประกอบการเศรษฐกิจโดยนำเครื่องจักรกลมาใช้จะส่งผลดีไม่ส่งผลเสียดังเช่นให้เอกชนประกอบการที่การนำเครื่องจักรกลนำมาใช้จะส่งผลให้คนไม่มีงานทำ หากรัฐประกอบการเองจะสามารถสร้างงานอื่นให้กับผู้ไม่มีงานทำได้
5. วิธีการจัดหาที่ดิน แรงงาน และทุน เพื่อใช้ในการประกอบการเศรษฐกิจของรัฐ
ที่ดิน รัฐบาลจะซื้อที่ดินกลับคืนจากเจ้าของที่ดิน (เฉพาะที่ดิน ที่นา ที่ใช้ประกอบการเศรษฐกิจ ไม่รวมที่อยู่อาศัย) รัฐบาลอาจออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินตามราคาที่ดิน และรัฐบาลกำหนดให้เงินผลประโยชน์แทนดอกเบี้ย โดยเจ้าของที่ดินยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การซื้อที่ดินกลับมานี้เป็นวิธีที่ต่างกับวิธีริบทรัพย์ของคอมมิวนิสต์ เมื่อรัฐบาลได้ที่ดินกลับคืนมา จะได้สามารถวางแผนการใช้ที่ดิน การใช้เครื่องจักรกล การทำคูน้ำทำได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
แรงงาน รัฐบาลให้ราษฎรที่อยู่ในวัยแรงงาน เป็นข้าราชการเพื่อให้แรงงานใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี รัฐบาลกำหนดให้ราษฎรทำงานตามคุณวุฒิและความสามารถ เงินเดือนแตกต่างกันตามคุณวุฒิแต่กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำสุดที่พอเพียงแก่การดำรงชีพ และยกเว้นให้บางคนไม่ต้องรับราชการ เมื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
ทุน รัฐบาลจัดหาทุน โดยไม่ริบทรัพย์ของเอกชน แต่จะหาทุนโดยวิธีอื่น ได้แก่ การเก็บภาษี เช่น ภาษีมรดก ภาษีรายได้ หรือภาษีทางอ้อม การออกสลากกินแบ่ง การกู้เงิน และการหาเครดิต
6. ในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ ได้เสนอการจัดให้มีธนาคารแห่งชาติ โดยเอาเงินทุนสำรองและรัฐบาลและเงินกู้จากเอกชนมาเป็นทุนของธนาคารแห่งชาติ
7. การรับรองกรรมสิทธิของเอกชน ให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ซึ่งเอกชนหามาได้ และยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการคิดประดิษฐคิดค้นของบุคคล
8. การจัดให้รายจ่ายและรายได้เข้าสู่ดุลยภาพ ทั้งดุลยภาพภายในและดุลยภาพระหว่างประเทศ
9. การที่รัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจที่มีพลเมืองกว่า 11 ล้านคน เช่นประเทศไทย จำเป็นต้องแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจเป็นสหกรณ์ต่างๆ โดยสมาชิกรวมกันประกอบการเศรษฐกิจครบรูป คือ ร่วมกันประดิษฐ์ จำหน่าย ขนส่ง จัดหาของอุปโภคให้แก่สมาชิก และร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่ โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและทุน และสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง ทั้งนี้การจัดให้สหกรณ์มีการปกครองตามแบบเทศบาลย่อมทำได้สะดวก
10. รัฐบาลต้องถือหลักว่าจะต้องจัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยต่างประเทศ เพื่อป้องกันอันตรายจากการปิดประตูทางการค้า เพื่อให้ประเทศมีเอกราชในทางเศรษฐกิจ
11. การจัดทำแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้มีสภาทำหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ เกี่ยวกับกสิกรรม อุตสาหกรรม ขนส่งและคมนาคม การจัดสร้างที่อยู่ให้ราษฎรและการแยกงานออกให้สหกรณ์ต่างๆ โดยคำนวณสืบสวนหาความต้องการปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต และประมาณการปัจจัยที่ดิน แรงงาน ทุนที่ต้องใช้ แผนเศรษฐกิจแห่งชาตินี้ กำหนดประมาณการว่าปีหนึ่งรัฐบาลจะทำได้อย่างไร และแจ้งผลการกระทำต่อมหาชนทุกสัปดาห์
อาจารย์ปรีดี ได้เสนอ”เค้าโครงการเศรษฐกิจ” เพื่อเป้าประสงค์ที่จะวางรากฐานเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เพื่อบรรลุภารกิจในหลักการทั้ง 6 ประการ ดังที่เขียนไว้ในหมวดสุดท้าย “ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก 6 ประการ” ได้แก่ เอกราช ความสงบเรียบร้อยภายในสังคม การเศรษฐกิจ ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา
อ้างอิง
[1] ตัดมาจากการอภิปรายในงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 84 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม ณ สถาบันปรีดี
พนมยงค์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 และบทความที่ได้ตีพิมพ์ในหนังสืออาจาริยบูชา 80 ปี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
[2] รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
[3] ในสมัยที่อาจารย์ปรีดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2481-2484 ได้ปฏิรูประบบภาษีอากรให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) โดยจัดทำประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ยกเลิกเงินรัชชูปการ หรือเงินช่วยเหลือราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากราษฎรที่ไม่ได้รับราชการทหาร ซึ่งคนมีเงินหรือคนจนที่ไม่มีรายได้เสียรัชชูปการเท่ากัน และยกเลิกภาษีพัดสรและอากรเช่านา ซึ่งผู้เสียภาษีเป็นผู้ยากจน รวมถึงหารายได้ภาษีเพิ่มจากภาษีสรรพสามิต โรงงานยาสูบ มีการเปลี่ยนภาษีส่งออกเป็นแบบ Ad valorem tax การปรับอากรภาษีขาเข้าตามวัตถุประสงค์ (เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยเก็บอากรขาเข้าในอัตราสูง สินค้าจำเป็นเก็บอากรขาเข้าในอัตราต่ำ) จะเห็นได้ว่าอาจารย์ปรีดีให้ความสำคัญกับการจัดเก็บภาษีทางอ้อมผ่านภาษีการบริโภค เนื่องจากเห็นว่าความเป็นธรรมของการเสียภาษีอยู่ที่การบริโภค และความสามารถในการบริโภค จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการจ่ายภาษีมากกว่าความสามารถในการหารายได้
[4] ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเทศไทยได้ทำสัญญาไม่เสมอภาคกับหลายประเทศในจักรวรรดินิยมที่มีสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทยหลายประการ เช่น มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ประเทศไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ของราคาสินค้าขาเข้า มีข้อกำหนดอัตราภาษีศุลการกรอีกหลายประการ และจักรวรรดินิยมหลายประเทศมีสิทธิทางเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ได้สัมปทานป่าไม้ เดินเรือ และมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือประเทศไทย ในช่วงที่อาจารย์ปรีดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2480-2481 ได้เจรจาการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาค และสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทำให้สามารถบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ มีการทำสัญญาฉบับใหม่โดยยึดหลักความ
เสมอภาคระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่สัญญา ทำให้ประเทศไทยได้เอกราชและอธิปไตยทั้งทางศาลและเศรษฐกิจ รวมทั้งเอกราชทางการคลังโดยสมบูรณ์ เป็นการลดอำนาจและอิทธิพลของต่างประเทศที่มีเหนือประเทศไทย และที่สำคัญอย่างยิ่งส่งผลให้ประเทศไทยสามารถกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและจัดเก็บภาษีโดยอิสระ สามารถจัดระบบภาษีศุลกากรและประมวลรัษฎากรใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับอากรภาษีขาเข้าตามวัตถุประสงค์ สินค้าฟุ่มเฟือยเก็บภาษีขาเข้าในอัตราสูง ทำให้ประเทศไทยเกินดุลทางการค้า และเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก (เดิมประเทศไทยได้มีเงินปอนด์สเตอริ่งเป็นทุนสำรองเงินตราฝากไว้ที่ธนาคารอังกฤษ) อาจารย์ปรีดีได้จัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้มีความมั่นคง โดยการเก็บรักษาทุนสำรองของชาติเอาไว้เป็นทองคำแท่ง เนื่องจากการมองการณ์ไกลว่าเงินปอนด์
เสตอริ่งจะมีการลดค่า อาจารย์ปรีดีได้จัดการนำเงินปอนด์ที่เป็นเงินสำรองจำนวนหนึ่งมาซื้อทองคำเก็บไว้เป็นทุนสำรองที่ห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง และได้โอนเงินปอนด์เพื่อแลกซื้อเงินดอลล่าร์และทองคำแท่งเก็บไว้ที่สหรัฐอเมริกาอีกส่วนหนึ่ง และยุบหลอมเหรียญบาทและนำโลหะเงินไปขายที่สหรัฐอเมริกาก่อนที่สหรัฐฯจะประกาศเลิกซื้อโลหะเงิน ทำให้เสถียรภาพของค่าเงินบาทมีความมั่นคง และได้กำไรจากการจัดการซื้อและขายทองคำในช่วงราคาเพิ่มสูงขึ้น เป็นมูลค่า 5 ล้านบาท และได้นำมาใช้เป็นทุนก่อตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย เพื่อวางรากฐานเตรียมจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป (ปรีดี พนมยงค์, 2535 และ Phongpaichit and Baker, 1995)
[5] อาจารย์ปรีดี ได้มีแนวคิด “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ประกอบด้วย (1) ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของสังคม (2) ประชาธิปไตยทางการเมืองซึ่งเป็นโครงร่างการปกครอง และ (3) ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อเป็นหลักนำให้มนุษย์ปฏิบัติเพื่อประชาธิปไตย เศรษฐกิจและการเมืองของสังคม อาจารย์ปรีดี ยังได้กล่าวถึง “ระบบประชาธิปไตยเศรษฐกิจ หมายถึง ราษฎรส่วนมากของสังคมต้องไม่ตกเป็นทาสของคนจำนวนส่วนข้างน้อยที่อาศัยอำนาจผูกขาดเศรษฐกิจของสังคม และราษฎรทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันฉันท์พี่น้อง ออกแรงกายหรือแรงสมองตามความสามารถ เพื่อผลิตสิ่งอุปโภคและบริโภค (ชีวปัจจัย) ให้สมบูรณ์ ครั้นแล้วแต่ละคนก็จะได้รับผลด้วยความเป็นธรรม ส่วนแรงงานทางกายสมองที่ตนได้ทำ ผู้ใดออกแรงงานมากก็ได้มาก ผู้ใดออกแรงน้อยก็ได้น้อย” อาจารย์ปรีดีให้ความเอาใจใส่ต่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจอย่างมาก จะเห็นได้ว่าจากการเสนอให้มีการประกอบการเศรษฐกิจในรูปแบบสหกรณ์ครบรูปเพื่อเป็นกระจายปัจจัยการผลิตทั้งที่ดิน ทุน และเทคโนโลยี ให้อยู่ในการดูแลและใช้ประโยชน์โดยสหกรณ์ เพื่อให้ราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศในชนบทได้มีโอกาสเข้าถึงปัจจัยการผลิต ไม่ให้ปัจจัยการผลิตกระจุกตัวอยู่ที่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย และให้ราษฎรได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าเพิ่มอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมทั้งการเน้นในเรื่องจัดเก็บภาษีทางอ้อม เป็นข้อเสนอเพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 2552)
[6] อ่านรายละเอียดออนไลน์ ได้ที่ http://www.openbase.in.th/files/puey014.pdf