ฉันได้ยินนามท่านพุทธทาสนานมาแล้ว เคยอ่านหนังสือของท่านมาบ้าง ตอนที่ท่านมาเทศนาอบรมผู้พิพากษาที่มหามกุฎฯ นายปรีดีไปฟังเป็นบางคร้ัง ฉันก็ไปด้วย ...ประมาณปี พ.ศ. 2485 นายปรีดีนิมนต์ท่านมาสนทนาที่บ้านพัก คือ ทําเนียบท่าช้าง เวลานั้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์นิมนต์ ท่านมาปรึกษาเรื่องที่ว่าจะขอให้ท่านช่วยเปิดสวนโมกข์อีกแห่งที่อยุธยา แต่มีอุปสรรคที่ทําให้ไม่สําเร็จเสียก่อน เนื่องจากสงคราม …
ชอบที่ท่านบอกว่า หาสุขได้จากทุกข์ อันนี้แน่นอน เพราะตัวฉันเองประสบมาแล้ว ได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัส เดี๋ยวนี้ ก็เรียกว่าคลายแล้ว แก่แล้ว ไม่รู้จะทุกข์อะไรอีก
บ้านเกิดนายปรีดีที่อยุธยาตั้งอยู่หน้าวัดพนมยงค์ แต่ไม่ได้บวช คือ ใกล้ชิดพระ แต่ว่าไม่ได้บวช ส่วนฉันตอนเด็กเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ วันศุกร์ก็ต้องไปโบสถ์ แต่ว่าที่เรายังเชื่อมั่นในศาสนาพุทธ เพราะว่าครอบครัวมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา
คุณพ่อฉัน (พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา) ท่านมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ให้เชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ฉันอยู่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม หลังอาหารค่ําคุณพ่อมักพาลูก ๆ ไปเยี่ยมบ้านเพื่อนที่ถนนสาทร เดินตัดผ่านป่าช้าสีลม โดยฉันมักจะรั้งท้ายแถว ตอนนั้น ถือว่าเป็นการผจญภัย แต่ต่อมาได้กลายเป็นความแข็งแกร่งเมื่อเผชิญกับเรื่องต่าง ๆ
ฉันกับนายปรีดีใช้ชีวิตกันอย่างเรียบ ๆ นายปรีดีไปทํางานก็กลับบ้านตามเวลา กลับมาก็ทํางาน ไม่มีเวลาที่จะไปเที่ยวสนุก ตั้งแต่แต่งงานมา เงินเดือนให้ฉันหมด ใช้จ่ายอะไรไม่ฟุ่มเฟือย เก็บหอม รอมริบไว้ อย่างเช่นชุดสูทใส่มา 35 ปีแล้ว ก็ใส่ชุดนั้นลงโลงและก็เผา ทั้งชีวิตมีสูทไม่กี่ชุด นับได้เลย สอนลูกไม่ให้ฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย เงินทอง ไม่ได้หามาได้ง่าย ๆ ชีวิตต้องอยู่อย่างเรียบง่าย
ท่านเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี คือ ดูแลเอาใจใส่เราดี ยกย่องเรา ไม่มีความลับ มีความลับครั้งเดียวก็ตอนเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475
เย็นวันที่ 23 มิถุนายน นายปรีดีบอกว่าจะไปอยุธยา จะไปลาบวช ฉันยังไปส่งที่สถานีรถไฟ ตกกลางคืน ลูกชายซึ่งเลี้ยงง่ายที่สุด คืนนั้นร้องไม่หยุดเลย เช้าวันรุ่งขึ้น (24 มิถุนายน) ฝนตกหยิม ๆ ท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งเป็นน้าของคุณแม่ฉัน ท่านมาบอกว่ามีคนมารายงานว่า มีทหารมาจับทูลกระหม่อมชาย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ฉันไม่ทราบว่า ใครเป็นใครในเหตุการณ์นั้น จนกระทั่งบ่ายจึงทราบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พอสักประมาณสามทุ่ม มีคนมาที่บ้าน บอกว่าจะมาขอเครื่องแต่งตัวนายปรีดี เพื่อที่จะใส่ไปประชุมเสนาบดีในวันรุ่งขึ้น พอรู้ว่านายปรีดีร่วมก่อการด้วยก็ตกใจมาก
ในชีวิตของเรานั้นมีมรสุมถาโถมเข้ามาเป็นระลอก ครั้งแรกเห็นจะเป็นเรื่องที่นายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ท่านเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ อยากให้บ้านเมืองเจริญ แต่กลับถูกเนรเทศไปประเทศฝรั่งเศส ไปแค่ 6 เดือน รัฐบาลเจ้าคุณพหลฯ (พระยาพหลพลพยุหเสนา) ก็ได้เรียกตัวกลับมา
ต่อมา คือ กรณีสวรรคตสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 นายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการการลอบปลงพระชนม์ หลายสิบปีต่อมา นายปรีดีได้ฟ้องผู้กล่าวร้ายต่อศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งศาลได้ประกาศความบริสุทธิ์ของนายปรีดี
แล้ววันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารใช้รถถังกับปืนกลยิงใส่ทําเนียบท่าช้าง ฉันตะโกนสวนเสียงปืนไปว่า “อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก” ตอนน้ันปาล ลูกชายคนโตบอกให้ทุกคนนอนราบกับพื้น ส่วนนายปรีดีได้หลบหนีลงเรือจ้างไปแล้ว เพราะถ้ายังอยู่ อาจถูกจับเป็น หรือจับตายก็ได้ จึงต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีลอบเข้ามาดําเนินการฟื้นระบอบประชาธิปไตย แต่ประสบความล้มเหลว ไปหลบซ่อนอยู่ที่บ้านผู้รักความเป็นธรรมท่านหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อนที่สวนฝั่งธนฯ ฉันได้ข้ามฟากไปเยี่ยม ขากลับเดินจากท่าน้ําสาทรกลับบ้านป้อมเพชร์ที่ถนนสีลม เดินผ่านป่าช้า ขณะนั้นฟ้ายังไม่สาง และไม่มีผู้คนบนท้องถนน ฉันนึก ขอบคุณคุณพ่อที่เมื่อ 20 ปีก่อน ท่านเคยพาเดินผ่านป่าช้า แต่ครั้งนี้มีฉันเพียงคนเดียว
ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2495 ลูกชายคนโตถูกจับกุมในข้อหา “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” หรือ “กบฏสันติภาพ” และอีก 2 วันต่อมาฉันก็ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกัน ถูกคุมขังในกองสันติบาล กรมตํารวจ 84 วัน เวลาที่เขาสอบสวนได้แต่ถามว่ารู้ไหม นายปรีดีอยู่ที่ไหน บางทีก็หลอกถามว่า รู้หรือเปล่านายปรีดีนอกใจ ฉันก็ไม่ทุกข์ ไม่เกรงกลัวและไม่เชื่อคํายุยงด้วย อิสรภาพทางกายไม่มี แต่อิสรภาพทางใจมี ฉันพยายามนึกถึงสิ่งที่เชื่อมั่นว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม
และความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงที่สุดในชีวิต คือ การจากไปไม่มีวันกลับของนายปรีดี เราเป็นคู่ชีวิตที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา 55 ปี ฉันพยายามปรับใจรับความจริงนี้ให้เร็วที่สุด เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีชีวิตต่อไป นายปรีดีสั่งไว้ว่าเผาให้เป็นเถ้าถ่านแล้วเอาไปลอยทะเลให้หมด ไม่ให้เก็บอัฐิไว้เลย มาจากธรรมชาติต้องกลับสู่ธรรมชาติ
ฉันไม่ได้คิดว่า ตัวเองมีความเข้มแข็งเป็นพิเศษ ถ้าคนอื่น ๆ ต้องเจอเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนฉันก็คงต้องอดทนและเข้มแข็งเหมือนกัน
นายปรีดีกับฉันยึดหลักธรรมที่ว่า ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย เราพยายามทําความดี ความประพฤติปฏิบัติ ของเราแน่วแน่อยู่ในธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไม่ประพฤติผิด เราไม่เอา เราไม่ทํา
เราไม่จํา ใครทําร้ายเราเราไม่จํา อโหสิกรรมให้หมด ระลึกถึงแต่พระคุณของคนที่ดีกับเรา ช่วยเหลือเรา คนที่เขาช่วยเหลือเรามีนับไม่ถ้วน คนไม่รู้จักนะ มีนายตํารวจคนหนึ่ง ระหว่างเราถูกจับ ไม่เคยรู้จักเลย เขาช่วยเรา ปฏิบัติต่อเราอย่างดี คืนก่อนที่จะครบกําหนดไปศาล เพื่อฟังคําตัดสินว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง นายตํารวจคนนี้ไปช่วยสืบจากเพื่อนที่เป็นอัยการมาบอกว่า เราจะไม่ถูกฟ้อง ช่วยให้เราสบายใจ
เราประกอบกรรมดีไม่เคยทําร้ายใคร เราเชื่อกฎแห่งกรรมมาก วันหนึ่งจะต้องปรากฏ แม้บางทีสิ้นชีวิตไปแล้วก็ยังไม่เห็น แต่เราอยู่นานเกินไปจึงได้เห็น เห็นหมด เพราะฉะนั้นปลงได้ เห็นคนตั้งแต่เกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทองแล้วปลายชีวิตเป็นอย่างไร บางคนต้นชีวิตดูไม่ได้เลย แต่ตอนปลายชีวิตกลับรุ่งเรือง เห็นหมด เพราะอยู่มานานเลยได้เห็นของ เหล่านี้ มันเป็นเรื่องกรรมทั้งนั้น
ระหว่างพํานักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ท่านพุทธทาสยังเคยส่งหนังสือธรรมะไปให้ และนายปรีดีก็ได้มีจดหมายตอบขอบพระคุณท่านมา ต่อเมื่อฉันกลับมาเมืองไทยแล้วจึงได้ไปกราบนมัสการท่าน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2536 ท่านได้แสดงสัมโมทนียกถาเรื่อง นิพพานคือความไม่มีอารมณ์
ถึงวันนี้ฉันวางหมด ไม่เอา คือ เราป่านนี้แล้ว 94 ย่างเข้า 95 มีพอกินพอใช้ ไม่เดือดร้อนอะไร ไม่มีหนี้สิน ได้น้อยใช้น้อย ทานอาหารก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ อาหารมื้อกลางวันเหลือก็เก็บไว้กินมื้อเย็น
ทุกวันนี้ก็สุขดี แข็งแรงดีตามวัย สวดมนต์ก่อนนอนทุกวัน ทํามาตลอดตั้งแต่รู้ความ อยู่ที่ไหนก็ทำ นาน ๆ จึงไปฟังเทศน์ของพระคุณเจ้าที่เคารพบ้าง อ่านหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสบ้าง ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) บ้าง เตรียมใจวันที่ต้องจากไปเป็นไปตามกฎธรรมชาติ
ฉันไม่ประมาทในเรื่องนี้ เมื่ออายุ 86 ปี 9 เดือน ได้เขียนคําสั่งถึงลูก ๆ ทุกคน ทั้งดวงตาและร่างกายได้อุทิศให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฉันไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น และแม้แต่การสวดอภิธรรมก็ไม่ต้องมี มีเพียงพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระสงฆ์ที่ฉันนับถือมาแสดงธรรมเทศนาก็พอแล้ว
ที่มา: หนังสือ ร้อยคน ร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส พ.ศ. 2549 สัมภาษณ์โดย รัชพล กาญจนาคม เรียบเรียงโดย กริช วัฒนกาล
- พูนศุข พนมยงค์
- พุทธทาสภิกขุ
- สวนโมกขพลาราม
- พระพรหมคุณาภรณ์
- ประยุทธ์ ปยุตฺโต
- ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา
- บ้านป้อมเพชร์
- 24 มิถุนายน 2475
- อภิวัฒน์สยาม 2475
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- เจ้าพระยายมราช
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
- สมุดปกเหลือง
- ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
- กรณีสวรรคต ร.8
- รัฐประหาร 2490
- 8 พฤศจิกายน 2490
- กบฏสันติภาพ 2495
- รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม
- ปาล พนมยงค์
- ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย
- ปรีดี-พูนศุข
- ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น