
ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 นั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนสุดท้ายที่มาจากการแต่งตั้ง คือ นายศิริ สันตะบุตร ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมี ‘คุณครู’ คนสำคัญคนหนึ่งชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” กระนั้น ศิริก็ไม่เคยอ้างกับสาธารณชนว่าตนเองเป็นลูกศิษย์สายตรงของนายปรีดี พนมยงค์ แต่อย่างใด แม้ว่าเขาจะเคารพนับถือและอุทิศชีวิตเพื่อท่านผู้นี้อย่างมากก็ตาม
ลูกศิษย์สายตรงของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ศิริ สันตะบุตร เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2455 ที่อำเภอพระนคร กรุงเทพฯ เป็นบุตรของ ขุนกุมา โรวาท [เกิด – ผู้เป็นบุตรชายของหลวงภักดีนิกร (สันตา)] กับ นางเคลื่อน
ศิริสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดชนะสงคราม มัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และระดับอุดมศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม โดยสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตเมื่อ พ.ศ. 2474 ขณะอายุได้ 19 ปี
เมื่อนาย ปรีดี พนมยงค์ สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายของรัฐจากประเทศฝรั่งเศส และกลับมารับราชการในกรมร่างกฎหมาย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2471 แล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ ยังได้สอนหนังสือในโรงเรียนกฎหมายด้วย เช่น กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (ภาค 2 พ.ศ. 2472 และ 2473) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 มาตรา 1012-1297 (ภาค 2 พ.ศ. 2472) และที่สำคัญ คือ การรับผิดชอบวิชาใหม่อย่างวิชากฎหมายปกครอง ในปี พ.ศ. 2474
ศิริไม่เพียงแต่เรียนกับหลวงประดิษฐ์ฯ ที่โรงเรียนกฎหมายเท่านั้น ยังได้มารับการอบรมพิเศษที่บ้านถนนสีลม (ที่พำนักในเวลานั้นของปรีดี) พร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน โดยที่คุณหลวงมิได้คิดเงินลูกศิษย์เลย เพราะอยากถ่ายทอดวิชาความรู้ นี่จึงเป็นเหตุให้ลูกศิษย์ศรัทธามาก
ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2477 ศิริได้ไปกราบอวยพรวันเกิดหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ซึ่งเกิดวันและเดือนเดียวกัน ปีชวดเหมือนกัน แต่ห่างกัน 1 รอบ) คุณหลวงจึงแจ้งให้ทราบว่าจะมีการจัดอบรมผู้ตรวจการเทศบาลรุ่นแรก (เพิ่งตั้งขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475) และกำลังจะเปิดรับสมัคร ศิริกับเพื่อนที่ไปด้วยกันจึงตัดสินใจไปสอบเข้ารับการอบรมและผ่านการสอบในอันดับดีจนได้เริ่มการทำงานเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่หัวหน้าตรวจการเทศบาลจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อ 1 ตุลาคม 2477

เมื่อจบจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2474
คนนั่งเก้าอี้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
นักปกครองผู้ซื่อสัตย์สุจริต

ขณะดำรงตำแหน่งนายอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี (2483-2489)
ในปี 2478 หลวงอรรถสิทธิสุนทร (พล.ต.ต. อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร) ย้ายมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงจังหวัดสิงห์บุรี แนะนำให้ศิริไปสอบนายอำเภอ แม้เขาจะลังเลในตอนต้น แต่คุณหลวงได้ให้เหตุผลหลายประการ ทั้งยังกล่าวว่า “คุณไปทำหน้าที่ใดทำได้ทั้งนั้น” พร้อมกับยื่นใบสมัครให้ ด้วยความเคารพในความปรารถนาดีและความเกรงใจ เขาจึงไปสมัครสอบ เมื่ออายุ 23 ปี ศิริเป็นนายอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2479 แล้วในวันที่ 23 พฤษภาคม 2483 ย้ายมาเป็นนายอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดเดียวกัน ก่อนจะย้ายไปเป็นนายอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ 6 ธันวาคม 2491 ครั้น 30 มิถุนายน 2493 ย้ายมาเป็นปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วจึงย้ายเข้ารับราชการที่ส่วนกลางตั้งแต่ 19 เมษายน 2495 ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกอบรม กองการปกครอง และเจริญก้าวหน้าตามลำดับโดยได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาการ และสถิติคดี กองการสอบสวน, หัวหน้ากองการสอบสวน กรมมหาดไทย, หัวหน้ากองวิชาการ, ผู้อำนวยการส่วนการปกครองภูมิภาค, ผู้ตรวจราชการ ฯลฯ จนเกษียณอายุจากราชการ เงินเดือนเต็มขั้นชั้นพิเศษ

พล.ต.ต. อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร
ที่กระทรวงมหาดไทยนี่เองที่ศิริได้พบปูชนียบุคคลที่เขานับถือมากอีกครั้ง คือ พล.ต.ต. อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร และได้ทำงานร่วมกันมายาวนาน ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 ในงานที่กรมมหาดไทยและกรมตำรวจต้องร่วมกันรับผิดชอบในการสืบสวน จับกุม ฯลฯ ตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อนันต์ สงวนนาม ลูกน้องที่เคยรับราชการร่วมกับ พล.ต.ต. อรรถสิทธิ์ และศิริ ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งสองเป็นเหมือน ‘คู่บุญ’ ของกันและกันทีเดียว ทำงานเข้ากันได้ มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ยอมรับเหมือนกัน
ดังที่ ส. ศิวรักษ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “คุณศิรินับถือคุณหลวงอรรถสิทธิฯ เป็นอย่างมาก และสนิทสนมกับท่านตลอดจนท่านถึงอสัญกรรมล่วงลับไปก่อน โดยที่ท่านผู้นี้ก็เป็นแบบอย่างในทางความซื่อสัตย์สุจริตและความกล้าหาญทางจริยธรรม ให้คุณศิริและขุนนางตงฉินทั้งหลายอย่างน่ายกย่องยิ่ง”

ศิริไปดูงานภาคอีสานกับนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เมื่อ พล.ต.ต. อรรถสิทธิ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2517 ก็ได้ชักชวนให้ศิริมารับตำแหน่งสำคัญอย่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในทันที ดังจะเห็นได้ว่ามีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ศิริเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2517 หรือเพียง 1 สัปดาห์ภายหลังการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของ พล.ต.ต. อรรถสิทธิ์ เท่านั้น
เวลานั้น นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งสนิทสนมกับศิริ ได้ชักชวนให้เขารับตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นเดียวกัน นายป๋วยจึงมาบ่นกับนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่า “คุณหลวงอรรถสิทธิฯ มาขอตัวคุณศิริไปเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสียแล้ว” เวลานั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นตำแหน่งทางการเมือง เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการทบวงหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ซึ่งในปี 2517 นั้นเป็นช่วงรอยต่อภายหลังจากการรวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” เมื่อ พ.ศ. 2514 และเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” ในปี 2515 งานต่างๆ ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ระหว่างท้องถิ่นกับภูมิภาคยังลักลั่นกัน ศิริจึงเข้ามาจัดการงานเหล่านี้ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบสวัสดิการของลูกจ้าง กทม. การจัดซื้อจัดจ้าง และการกระจายอำนาจ การตัดสินใจไปยังเขตต่างๆ เป็นต้น

ปลัดกรุงเทพมหานครในเวลานั้น คือ คุณหญิงนันทกา สุประภาตะนันทน์ ได้กล่าวถึงศิริว่า “ท่านเป็นคนอ่อนโยน…เป็นคนตรงเป็นไม้บรรทัด” และกล่าวถึงหลักในการบริหารงานของเขาว่า “ท่านเคยพูดกับดิฉันว่า ‘คุณทำงานไปเถิดตามทางที่คุณคิดว่าถูกต้อง อย่าไปคิดว่า ผมคิดอย่างไรหรือจะขัดใจผมในเรื่องใด สิ่งใดที่เป็นความถูกต้องเที่ยงธรรม ผมจะสั่งตามนั้น ถ้าเมื่อใดคุณเห็นว่า ผมสั่งงานไม่ถูกไม่ควร คุณมาเตือนผมได้เสมอ’” คือ เป็นหัวหน้าที่ให้อิสระกับผู้ร่วมงาน และพร้อมรับฟังคำเตือนจากผู้ร่วมงานนั่นเอง
นอกจากนี้ คงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ ซึ่งเป็นเลขานุการของศิริในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ตลอด 1 ปี 3 เดือนนั้น เล่าถึงความซื่อตรงของศิริไว้อย่างน่าสนใจ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การประชุมงานของ กทม. ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรูปคณะกรรมการ ซึ่งมีจำนวนมากและจ่ายเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน ศิริได้ยกเลิกคณะกรรมการต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ทั้งที่ถ้ายิ่งประชุมมาก ก็จะได้เบี้ยประชุมมาก และในฐานะประธานกรรมการต่างๆ ใน กทม. นั้น เขาขอรับเพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ของเบี้ยประชุมเท่านั้น เป็นเหตุให้กรรมการคนอื่นๆ จำเป็นต้องลดเบี้ยประชุมตามไปด้วย อันเป็นการประหยัดงบประมาณของ กทม. ไปได้มาก เพราะบางคนเป็นกรรมการอยู่ทุกคณะ ประชุมมากจนหาเวลาปฏิบัติงานประจำไม่ค่อยได้ ดังนี้เป็นต้น
เรื่องที่สอง คือ ตอนจะหมดสมัยดำรงตำแหน่ง ศิริได้สั่งให้ทำบัญชีของขวัญต่างๆ ซึ่งได้รับมาจากแขกต่างประเทศที่มาเยี่ยมและมอบให้ในฐานะที่เขาเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเก็บรวบรวมไว้ที่ กทม. ทั้งสิ้น มิได้ถือเอาเป็นของส่วนตัวเลย และเมื่อ พล.ต.ต. อรรถสิทธิ์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2518 ศิริก็ออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันเดียวกัน ใช้ชีวิตวัยเกษียณที่บ้านถนนประดิพัทธ์ กับครอบครัว และหนังสือที่เขารัก
มูลนิธิปรีดี พนมยงค์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
เสด็จเปิดที่ทำการชั่วคราว มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ณ ซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ พ.ศ. 2526
(ศิริอยู่แถวหน้า ขวาสุด)
ในด้านชีวิตส่วนตัว ศิริสมรสกับคุณหญิงจันทนี (สกุลเดิม ชิตศุข) มีบุตร-ธิดารวม 4 คน คือ ศิรินี ศุทธินี จิรวุฒิ และจริย์วัฒน์ กล่าวถึงความสัมพันธ์กับอาจารย์ของเขาอย่างนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลี้ภัยในต่างแดนหลังเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผันแปร พวกเขาขาดการติดต่อไปนานหลายสิบปี

ประชุมกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 25 กรกฎาคม 2530
จนภายหลังจากที่ปรีดีย้ายมาพำนักในประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2513 และบุตรชายคนเล็กของศิริ ซึ่งได้รับทุนกระทรวงการต่างประเทศไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ได้มีโอกาสรู้จักและสนิทสนมกับปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข ทำให้ “สัมพันธภาพเมื่อหนหลังระหว่างนายปรีดีกับคุณศิริจึงได้สานต่อ” (คำของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของศิริกับปรีดีต่อไปอีกว่า “ภายหลังที่นายปรีดีถึงแก่กรรม บรรดาศิษย์และผู้ศรัทธาได้ก่อตั้งมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ คุณศิริได้รับเลือกให้เป็นกรรมการและรองประธานมูลนิธิฯ เท่าที่ทราบตั้งแต่เกษียณอายุราชการ คุณศิริมิได้รับเป็นกรรมการ ณ ที่ใดทั้งสิ้น ในการประชุมกรรมการมูลนิธิฯ คุณศิริได้สละเวลามาร่วมประชุมและได้ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์แก่มูลนิธิเสมอมา”

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มาอวยพรวันเกิดศิริที่บ้านถนนประดิพัทธ์ เมื่อ 10 พฤษภาคม 2535
(คุณหญิงจันทนี, ท่านผู้หญิงพูนศุข, ศิริ)
บรรณานุกรม
- ความทรงจำ. ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายศิริ สันตะบุตร ป.ช., ป.ม. วันอังคารที่ 7 สิงหาคม 2544 ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- ส. ศิวรักษ์. อ่านคน-ไทย. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2548
ที่มา : กษิดิศ อนันทนาธร. “ศิริ สันตะบุตร : ผู้ว่าฯ กทม. ลูกศิษย์สายตรงปรีดี พนมยงค์” เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2022, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2022
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- กษิดิศ อนันทนาธร
- ศิริ สันตะบุตร
- ปรีดี พนมยงค์
- ขุนกุมา โรวาท
- หลวงภักดีนิกร
- หลวงอรรถสิทธิสุนทร
- อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร
- อนันต์ สงวนนาม
- ส. ศิวรักษ์
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์
- สัญญา ธรรมศักดิ์
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์
- นันทกา สุประภาตะนันทน์
- คงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์
- มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
- จันทนี สันตะบุตร
- จันทนี ชิตศุข
- พูนศุข พนมยงค์