นโยบายต่างประเทศของไทยแต่โบราณกาล มีเป้าหมายจะรักษาเอกราชและความอยู่รอดของประเทศ โดยไม่ประสงค์จะมีส่วนเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีพิพาทหรือข้อขัดแย้งระหว่างประเทศใด ๆ ในตอนต้นปี ๒๔๘๒ มีข่าวลือกันว่ารัฐบาลไทยอันมีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะเข้าร่วมกับกระบวนการต่อต้านคอมมูนิสต์ รัฐบุรุษสำคัญของประเทศ ตั้งแต่พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาราชการต่างประเทศ ต่างปฏิเสธต่อเซอร์โจซาย ครอสบี้ อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยว่า ข่าวลือนั้นไม่เป็นความจริง อย่างมากที่อาจจะเป็นได้ก็คือ เป็นอุบายของญี่ปุ่นที่ประสงค์จะก่อกวนให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ข่าวที่ว่าประเทศไทยจะสละนโยบายเป็นกลาง และหันไปเข้ากับญี่ปุ่นก็ยังคงลือกันหนาหูเรื่อยมา เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๘๒ นาย เจ. เอช. แซ็ปแมน อุปทูตอเมริกาประจำกรุงเทพฯ รายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า กลุ่มทหารนิยมญี่ปุ่นที่ห้อมล้อมนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม พยายามจะให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย เพราะเห็นว่า การใช้กำลังเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดผลจริงจัง แม้ในบรรดารัฐมนตรีในคณะรัฐบาลไทยบางคนก็ยังมีความกริ่งเกรงว่า หลวงพิบูลสงคราม อาจจะหันเข้าข้างญี่ปุ่นในไม่เร็วก็ช้า อุปทูตจึงแนะให้ทางกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันยกเรื่องขึ้นปรารภเตือนอัครราชทูตไทยที่กรุงวอชิงตันอีกทางหนึ่ง ตอนนั้นนายแฟรนซีส บี. แซร์ (พระยากัลยาณไมตรี) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน พิจารณาเห็นสมควรที่จะติดต่อกับพระยาอภิบาลราชไมตรี อัครราชทูตไทย เป็นการส่วนตัว จึงได้ขอไปพบที่เมืองออสเตอร์วีลล์ อันเป็นเมืองพักร้อนในรัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ระหว่างการสนทนา นายแซร์ได้ถือโอกาสเปรยถึงข่าวที่ประเทศไทยจะหันไปเข้าข้างญี่ปุ่นในการศึกกับจีน พระยาอภิบาลราชไมตรีปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง โดยให้ความเห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจญี่ปุ่น
รัฐบาลไทยจะคงรักษาความเป็นกลางต่อไป พระยาอภิบาลราชไมตรียังได้ให้ตัวอย่างแก่นายแซร์ว่า รัฐบาลไทยได้รับการทาบทามจากอังกฤษว่า ถ้ารัฐบาลไทยให้คำมั่นสัญญาว่าจะอยู่ข้างอังกฤษเมื่อเกิดสงคราม รัฐบาลอังกฤษรับจะทำการป้องกันเมืองท่าของไทยจากการคุกคามของญี่ปุ่น ทางรัฐบาลไทยบอกปัดข้อเสนอนี้ โดยเห็นว่าจะขัดต่อนโยบายเป็นกลางของรัฐบาล นายแซร์ขอให้พระยาอภิบาลราชไมตรีส่งโทรเลขเข้ากรุงเทพฯ แจ้งความวิตกกังวลของนายแซร์ มิใช่ในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแต่ในฐานะเพื่อนเก่าแก่ของประเทศไทย มีความสำคัญว่า เอกราชและความผาสุกของประเทศไทย สำคัญอยู่ที่การรักษาความเป็นกลางโดยเคร่งครัดยิ่งเสียกว่าในอดีต ถ้านโยบายนี้เกิดเปลี่ยนแปลงไป อาจจะกระทบกระทั่งถึงเอกราชของประเทศไทย ไทยจะเสียประวัติดั้งเดิมได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม กระทรวงการต่างประเทศไทยออกคำแถลงเป็นทางการปฏิเสธข่าวไทยจะเปลี่ยนท่าทีเป็นกลาง และยืนยันในมิตรภาพเท่าเทียมกันสำหรับทุกชาติ และเมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอรมนีในวันที่ ๓ กันยายน ๒๔๘๒ ประเทศไทยประกาศความเป็นกลางทันทีในวันที่ ๕ เดือนเดียวกัน และนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ได้เสนอแนะแก่อัครราชทูตอังกฤษว่าน่าจะมีการพิจารณาทำสัญญาไม่รุกรานต่อกันระหว่างไทยกับอังกฤษและฝรั่งเศส
ตามรายงานลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๘๒ ถึงกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เซอร์โจซาย ครอสบี้ กล่าวว่า เท่าที่สดับตรับฟังดู นายดอลแบร์ ที่ปรึกษาฝ่ายการต่างประเทศของรัฐบาลไทย ไม่สู้จะเห็นด้วยกับข้อดำรินี้นัก เพราะเกรงว่าจะทำให้ญี่ปุ่นเกิดระแวงสงสัยขึ้นได้ ทางหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เสนอความเห็นต่อรัฐบาลไทยว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำสัญญาไม่รุกรานกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะการที่ประเทศคู่สงครามในยุโรปรับรู้ และเคารพความเป็นกลางของประเทศไทย นับเป็นการคุ้มกันเพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับฝรั่งเศสมีสัญญาเคารพอาณาเขตของกันและกันอยู่ก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตามในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๘๒ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้อัครราชทูตอังกฤษและฝรั่งเศสไปพบ และยื่นบันทึกช่วยจำว่าด้วยการทำสัญญาไม่รุกรานต่อกัน โดยเฉพาะในร่างที่เสนอจะทำกับฝ่ายฝรั่งเศสมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปรับปรุงเกาะในลำนํ้าโขงแทรกเข้าไปด้วย เพราะฝ่ายไทยเห็นว่า ข้อตกลงที่ทำไว้กับฝรั่งเศสเกี่ยวกับเขตแดนด้านแม่นํ้าโขง ซึ่งให้ถือเกาะในแม่นํ้าโขงทุกเกาะเป็นของฝรั่งเศสนั้นไม่ยุติธรรมต่อฝ่ายไทยและไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ญี่ปุ่นระแวงในท่าทีของไทย รัฐบาลไทยยินดีที่จะพิจารณาทำความตกลงทำนองเดียวกันกับฝ่ายญี่ปุ่นด้วย
การเจรจากับประเทศทั้งสามได้ดำเนินกระทั่งวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ รัฐบาลไทยได้ลงนามในสัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ และในวันเดียวกันนั้นก็ได้มีการลงนามในสัญญาเคารพบูรณภาพแห่งอาณาเขตต่อกันกับญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หนังสือการวิเทโศบายของไทยแล้ว
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “วิเทโศบายของไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), 38-41 น.
บรรณานุกรม :
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “วิเทโศบายของไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), 38-41 น.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- กนต์ธีร์ ศุภมงคล
- การวิเทโศบายของไทย
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ
- หลวงพิบูลสงคราม
- เจ. เอช. แซ็ปแมน
- พระยากัลยาณไมตรี
- พระยาอภิบาลราชไมตรี
- พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
- เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- สงครามมหาเอเซียบูรพา
- 80 ปีวันสันติภาพไทย
- ประเทศญี่ปุ่น
- ประเทศสหรัฐอเมริกา
- ประเทศอังกฤษ
- สัมพันธมิตร
- ฝ่ายอักษะ