ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ ถิ่นกำเนิดแห่งปฐมวัย

28
พฤษภาคม
2565

 

“หวอเหงียนย้าป” (VO NGUYEN GIAP) เกิดที่หมู่บ้านอานซา (AN XA) จังหวัดกว๋างบิ่นห์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1911

เกี่ยวกับวันเดือนปีเกิดนี้ ในขั้นต้นมีความสับสนพอสมควร เนื่องจากบันทึกตามปฏิทินจันทรคติในขณะนั้น ทำให้นักเขียนชีวประวัติชาติตะวันตกเข้าใจคลาดเคลื่อน และระบุลงไปว่าเกิดในปี ค.ศ.1910 บ้าง แต่หลังจากการตรวจสอบยืนยันจึงปรากฏแน่ชัดว่าวันเกิดที่แท้จริงคือ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1911 นั่นเอง ที่ผ่านมา นักแปลเรื่องเวียดนามของบ้านเรา มักถ่ายทอดชื่อภาษาไทยของหวอเหงียนย้าปด้วยสำเนียงที่เพี้ยนไปว่า โง (หรือโว) เหงียนเกี๊ยป

“หวอเหงียนย้าป” เป็นบุตรคนที่ 5 จากครอบครัวชาวชนบทยากจนที่มีลูกถึง 7 คน บิดาของท่านมีความรู้และเป็นแพทย์แผนโบราณของหมู่บ้าน เนื่องจากมีความคิดทางการเมือง ต้องการต่อสู้คัดค้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่เข้ามาปกครองเวียดนาม จึงได้ถ่ายทอดมายังลูกทุกคน เช่นเดียวกับครอบครัวของโฮจิมินห์

 

 

ครอบครัวชาวเวียดนามส่วนใหญ่ทั้งในชนบทและตัวเมือง ยกเว้นพวกเชื้อสายขุนนางศักดินาและข้ารับใช้ฝรั่งเศส อาทิเช่น ครอบครัวของโงดินเดียม แห่งเมืองเว้ เป็นต้น ถึงแม้จะเป็นครอบครัวที่มีลูกมากแต่ปรากฏว่าลูกทุกคนมีผลการเรียนดีเยี่ยม

“หวอเหงียนย้าป” เริ่มเรียนหนังสือกับบิดาและผู้รู้ในหมู่บ้านด้วยการอ่านตัวอักษรจีน แต่ออกเสียงด้วยภาษาเวียดนาม ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่จีนเข้ามาปกครองเวียดนามเป็นเวลา 700 - 800 ปี จีนได้นำเอาวัฒนธรรมตัวอักษรจีน ขนบธรรมเนียมต่างๆ เข้ามาด้วย ทำให้ผู้มีความรู้เวียดนามสามารถเขียนอ่านตัวอักษรจีนที่มีความหมายและออกสำเนียงเป็นภาษาเวียดนามได้

 

 

สำหรับอักษรเวียดนามที่ใช้ตัวอักษรละตินแทนนั้น พวกบาทหลวงโรมันคาทอลิคนิกายเยซูอิตได้เรียบเรียงคิดค้นขึ้นก่อนสมัยฝรั่งเศสเข้ามายึดครอง โดยใช้ในบทสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า ทำให้ง่ายแก่การเรียนรู้ ถึงแม้ว่าวรรณยุกต์ในภาษาเวียดนามจะมีถึง 7 เสียง ต่างกับวรรณยุกต์ไทยที่มี 5 เสียง แต่ก็ได้สร้างเครื่องหมายเหนือตัวอักษรให้ออกเสียงวรรณยุกต์ตามต้องการ

เพราะฉะนั้น เมื่ออ่านตัวอักษรจีนได้แล้ว ชาวเวียดนามรุ่นต่อมาก็สามารถเรียนรู้ภาษาเวียดนามที่ใช้อักษรละตินมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างการต่อสู้กู้เอกราช เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือให้ได้กว้างขวางและรวดเร็ว ภาษาเวียดนามตัวอักษรละตินจึงแพร่หลายไปทั้งประเทศตราบเท่าทุกวันนี้

อันที่จริง ทางการฝรั่งเศสต้องการให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเพียงภาษาเดียว เช่น ได้เคยทำสำเร็จมาแล้วในดินแดนแอฟริกาที่เป็นอาณานิคม ทั้งนี้เนื่องจากว่าส่วนใหญ่ดินแดนเหล่านั้นสังคมยังมิได้มีการพัฒนามาก ยังอยู่ในยุคชุมชนบุพกาล จึงง่ายที่จะนำภาษาฝรั่งเศสเข้ามาใช้เต็มรูปแบบ หากแต่ละประเทศในแหลมอินโดจีนอันได้แก่เวียดนาม เขมร และลาวนั้น สังคมพัฒนาขึ้นสู่สังคมศักดินาแล้ว และมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง เช่น ประเทศลาวก็มีอักษรของชาติตัวเอง รวมทั้งผู้รักชาติลาวอันได้แก่ เจ้าเพ็ดชะลาด ก็ได้ต่อสู้คัดค้านการนำเอาอักษรโรมันมาใช้แทนจนเป็นผลสำเร็จ เขมรก็มีภาษาของตนเองเช่นเดียวกัน ส่วนเวียดนามนั้นก็ใช้ภาษาของตนที่มีตัวอักษรโรมันเป็นหลัก แม้ว่าภาษาฝรั่งเศสจะถูกใช้เป็นภาษาราชการตามระบอบการปกครองอาณานิคม

จังหวัดกว๋างบิ่นห์ ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศ เหนือเส้นขนานที่ 17 ขึ้นไปเล็กน้อย ทิศเหนือของกว๋างบิ่นห์ติดกับจังหวัดเง่ห์อาน บ้านเกิดของ โฮจิมินห์ ทางทิศตะวันออกติดทะเล ทิศตะวันตกขนาบด้วยแนวเขาแบ่งเขตแดนกับลาว ทางใต้ติดกับจังหวัดกว๋างตริ และใต้ลงไปคือเมืองเว้ อันเป็นเมืองหลวงของจักรพรรดิราชวงศ์เหวียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม

สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูงและติดฝั่งทะเล มีเนื้อที่ทำการเพาะปลูกไม่มากจึงเป็นเขตที่กันดาร ผู้คนมีความยากจน อาชีพของผู้อยู่ติดทะเล ได้แก่ ทำประมง แต่ก็ต้องประสบกับภัยธรรมชาติอันได้แก่พายุไต้ฝุ่นที่พัดกระหน่ำระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี ชีวิตชาวประมงต้องเซ่นสังเวยไปกับภัยธรรมชาติ แต่ก็เป็นที่สังเกตว่าพายุไต้ฝุ่น หรือความกดอากาศต่ำ เมื่อเข้าฝั่งเวียดนามกลับนำฝนมาตกในเมืองไทย ส่งผลดีแก่การทำนาของไทย

เมื่อ หวอเหงียนย้าป ถือกำเนิดในปี ค.ศ. 1911 นั้น ฝรั่งเศสปกครองอินโดจีนมาแล้ว 27 ปี คือนับตั้งแต่ ค.ศ. 1884 เป็นต้นมา ฝรั่งเศสได้ใช้รูปแบบการปกครองที่อาศัยระบบขุนนางศักดินาแห่งราชวงศ์ของเวียดนามเป็นมือเป็นเท้า เรื่อยลงไปถึงขุนนางระดับล่างที่ดูแลตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ทำหน้าที่เก็บภาษีรีดนาทาเร้นชาวนาผู้ยากจน เก็บส่งทางการฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือเศษเล็กเศษน้อยก็เอาเข้ากระเป๋าของพวกตนเอง สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

 

 

แม้ฝรั่งเศสเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914-1917 แต่สงครามนี้ก็เป็นเรื่องการแก่งแย่งผลประโยชน์ในหมู่ชาติที่สร้างความมั่งคั่งจากการขยายตัวของระบบทุน สำหรับอินโดจีนนั้นเกือบเรียกได้ว่าไม่ได้รับการกระทบกระเทือนใดๆ ตรงกันข้ามกลับสร้างความมั่งคั่งให้แก่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการขูดรีดเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มหาศาล อาทิเช่น ถ่านหินแอนทราไซด์ชนิดดีเยี่ยมที่สามารถให้ความร้อนสูงสุด เหมาะสำหรับถลุงเหล็กกล้า ก็ถูกขุดค้นเป็นเหมืองเปิดจากเมืองคำฝาทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

มีการก่อสร้างทางรถไฟจากเหนือสุดของประเทศไปทางใต้ถึงเมืองไซ่ง่อน อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดทางใต้ รวมทั้งการก่อสร้างทางรถไฟจากฮานอยไปยังเมืองคุนหมิงแห่งมณฑลยูนนาน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โครงการพื้นฐานเหล่านี้ล้วนมีวัตถุประสงค์ในการกอบโกยทรัพยากรของประเทศเวียดนาม และก็เป็นการลงทุนจากเงินภาษีอากรที่เก็บเกี่ยวเอาจากชาวเวียดนาม

ดังนั้น ชีวิตในเยาว์วัยของ หวอเหงียนย้าป ก็ถือว่าไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษมากไปกว่าเด็กน้อยในวัยเดียวกัน นอกจากจะมีความสนใจเรื่องราวการต่อสู้ของวีรชนเวียดนามในอดีต การเล่นของเด็กๆ ก็มุ่งไปสู่การสู้รบและในการละเล่นดังกล่าว หวอเหงียนย้าปจะทำหน้าที่เป็นนายทัพในการวางแผนยุทธวิธี สามารถเอาชนะต่อฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังพลมากกว่า และสิ่งนั้นก็เท่ากับว่าเป็นการชี้อนาคตสู่การเป็นนักการทหารผู้ยิ่งใหญ่ในกาลต่อมา

ภายใต้ระบอบอาณานิคม ฝรั่งเศสได้สร้างโรงเรียนมาตรฐานชั้นดีของระดับมัธยม ศึกษาตอนต้นและตอนกลาง รับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเพื่อทำงานรับใช้การปกครองของตน การเรียนการสอนหนักไปในทางใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นพื้น ในฐานะที่หวอเหงียนย้าปมีผลการเรียนดีจึงสามารถสอบผ่านเข้าโรงเรียนประเภทนี้ที่จัดสร้างขึ้น ณ เมืองเว้ อันถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งโฮจิมินห์ก็เคยเป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้ ก่อนถูกไล่ออกด้วยโทษฐานเข้าร่วมการต่อสู้คัดค้านการปกครองของฝรั่งเศส

ณ โรงเรียนแห่งเมืองเว้ หวอเหงียนย้าปมีโอกาสรู้จักและสนิทสนมกับ อาจารย์ดั่งถายมาย บุคคลผู้นี้รู้จักกันดีว่าเป็นปัญญาชนผู้รักชาติ คัดค้านระบอบอาณานิคมจนถูกเพ่งเล็ง แต่ก็ไม่อาจทำอะไรท่านได้ เพราะเกรงว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตเกินกว่าเหตุ อาจารย์ดั่งถายมายมีความประทับใจในความคิดทางการเมืองของหนุ่มน้อยหวอเหงียนย้าป ที่ได้รับการบ่มเพาะเบื้องต้นจากทางบ้าน นอกจากการให้ความรู้ความเข้าใจทางการเมืองแล้ว ดั่งถายมายทราบดีว่าหวอเหงียนย้าปมาจากครอบครัวยากจน จึงได้ให้การสนับสนุนเกื้อกูลตามโอกาสอันควร ทำให้มิตรภาพระหว่างอาจารย์กับศิษย์สนิทสนมแน่นแฟ้นยาวนาน

 

 

ดังได้กล่าวแล้วว่า การที่ฝรั่งเศสสร้างโรงเรียนแบบอย่างผลิตชาวเวียดนามเพื่อผลประโยชน์ของตน โดยสามารถบรรจุผู้เรียนจบไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองระดับไม่สูงนัก และบางส่วนก็ส่งไปเป็นเจ้าหน้าที่ในลาวและเขมร เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ก็อาศัยวิชาความรู้จากโรงเรียนเหล่านี้มาเพิ่มความเชื่อมั่นในความรักชาติและความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราช ดังเช่นหวอเหงียนย้าปและชาวเวียดนามผู้เคยได้รับการศึกษาจากระบบการเรียนที่ฝรั่งเศสจัดตั้งขึ้นก็ได้กลับกลายเป็นผู้ต่อสู้กู้ชาติจำนวนมากมาย

นับตั้งแต่ฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามเป็นอาณานิคมของตน ผู้รักชาติชาวเวียดนามได้ลุกขึ้นต่อสู้กับฝรั่งเศสหลายกลุ่ม หลายรูปแบบ บางส่วนคิดเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศในทวีปเอเชียที่มีความก้าวหน้าพัฒนากว่าประเทศอื่น จึงไปขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากญี่ปุ่น มีการจัดส่งคนไปฝึกวิชาทหาร แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งเห็นได้ชัดว่ากำลังถูกญี่ปุ่นใช้เป็นเครื่องมืออีกทอดหนึ่ง เข้าทำนอง ‘หนีเสือปะจระเข้’ ทำให้ชาวเวียดนามกลุ่มนี้รู้สึกผิดหวังที่ไม่สามารถพึ่งพาญี่ปุ่นได้ ฟานโบ่ยเจอว ผู้รักชาติอีกท่านหนึ่งก็ได้รวบรวมจัดตั้งกลุ่มของตนขึ้นเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศส แต่ก็ถูกปราบปรามจนกระทั่งส่วนหนึ่งต้องอพยพหลบภัยเข้ามาในสยาม

แม้หวอเหงียนย้าป ศึกษาเรียนรู้กลุ่มต่อต้านต่างๆ พอสมควร แต่ก็ยังมีความสับสนและยังไม่มีความมั่นใจในชัยชนะ เพราะเห็นว่าการจัดตั้งองค์กรยังขาดประสิทธิภาพ ทฤษฎีชี้นำไปสู่การปฏิบัติก็ยังขาดความชัดแจ้ง

 

 

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1930 ขณะ หวอเหงียนย้าป อายุ 19 ปีนั้น โฮจิมินห์ ได้ออกเดินทางจากสยามไปยังฮ่องกง และสามารถจัดการประชุม พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีอยู่สามพรรคให้รวมกันเป็นพรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และผลจากการนี้ทำให้หวอเหงียนย้าปเกิดความตื่นตัว ยกระดับจิตสำนึกทางการเมือง มองเห็นแนวทางการต่อสู้ที่ถูกต้องแจ่มชัด โดยมีองค์ประกอบของพรรคการเมืองที่เป็นพรรคนำ และผู้นำพรรคที่เด็ดเดี่ยวเป็นที่ยอมรับของชาวพรรคและคนทั่วไป บุคคลผู้นี้คือ โฮจิมินห์ ซึ่งในขณะนั้นรู้จักกันในนาม เหวียนอ๋ายก๊วก หรือ แปลเป็นไทยว่า เหวียนผู้รักชาติ

เมื่อมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่น หวอเหงียนย้าป ในวัยหนุ่มมิได้ลังเลใจเลยในการเข้าเป็นสมาชิกแห่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งการปฏิบัติงานของพรรคเป็นไปในลักษณะของงานใต้ดิน

 

ี่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), ถิ่นกำเนิดแห่งปฐมวัย, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 15-23.

... สำหรับผมนั้น นายพลย้าปเป็นเสมือน "แจ็ค" (เอเชีย) "ผู้ฆ่ายักษ์" (ฝรั่ง) และชัยชนะจากสงครามครั้งใหญ่ที่นายพลย้าปมีต่อฝรั่งเศส ในวันที่ 7 พฤษภาคม 1954 (2497) นั้น เป็นดังการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของระบอบอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการก้าวหน้าเข้าสู่ยุคแห่งการกำเนิดของ "ชาติใหม่" (The New Nations) ในภูมิภาคของเรา

.

...แต่ที่สำคัญในเชิงอัจฉริยภาพการสงครามแล้ว ชัยชนะที่กองทัพเวียดมินห์มีต่อกองทัพฝรั่งเศสที่หมู่บ้านเดียนเบียนฟู เป็นการบ่งบอกถึงขีดความสามารถทางทหารที่นายพลย้าปมี และมีไม่แตกต่างจากอัจฉริยภาพของแม่ทัพในการสงครามที่โลกยกย่องอีกหลายๆ คน อัจฉริยภาพเช่นนี้ถูกตอกย้ำไม่ว่าจะเป็นการยุทธ์ในเทศกาลตรุษญาน (The Tet Offensive) ในปี 1968 (2511) แม้จะก่อให้เกิดการสูญเสียขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นการยุทธ์ที่ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่ชนะสงครามในเวียดนาม และชัยชนะสำคัญที่สุดต่อมาก็คือการปิดฉากสงครามเวียดนาม โดยการเปิดการยุทธ์ด้วยสงครามตามแบบที่ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามใต้ประสบความพ่ายแพ้ในเดือนเมษายน 1975 (2500) ซึ่งก็คือความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาด้วย

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะสำคัญที่ส่งผลให้ชื่อของ "นายพลหวอเหงียนย้าป" ถูกบันทึกเป็นหนึ่งในนักการทหารที่สำคัญของโลกนั้น มาจากการยุทธ์ที่เดียนเบียนฟู ดังจะเห็นได้ว่าการรบดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในบทเรียนที่นักประวัติศาสตร์สงครามต้องศึกษา และยังจะเห็นอีกด้วยว่าหนังสือประวัติศาสตร์สงครามแทบจะทุกเล่มก็ว่าได้ จะต้องกล่าวถึงการยุทธ์ที่เดียนเบียนฟูเอาไว้ เพื่อให้นักการทหารรุ่นหลังได้ศึกษา ทั้งความสำเร็จและความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นจากยุทธการดังกล่าว

ดังนั้น จึงเป็นที่น่ายินดีว่าพี่ศุขปรีดาได้นำเอาประวัติท่านนายพลย้าปมาให้พวกเราได้อ่าน ซึ่งหนังสือนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกับนักการทหารที่ต้องการแสวงหาความรู้จากการสงครามในอดีต และทั้งยังจะเป็นประโยชน์แก่บรรดาผู้ที่น่าสนใจเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการทำความรู้จักกับผู้นำของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเวียดนาม... วันนี้สังคมไทยไม่ทำความรู้จักกับเวียดนามไม่ได้แล้ว..."

เนื้อหาในหนังสือ ประกอบไปด้วยเรื่องราวของ 'หวอเหงียนย้าป' ตั้งแต่ถิ่นกำเนิดปฐมวัยเข้าสู่การเป็นนักอภิวัฒน์หนุ่ม เมื่อครั้งที่มีโอกาสได้พบกับโฮจิมินห์เป็นครั้งแรกและได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในด้านการทหารจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธในการต่อสู้เพื่อกู้เอกราช ปฏิบัติการและแผนการต่างๆ ในการเผด็จศึกเดียนเบียนฟูซึ่งชัยชนะในครั้งนั้นนำมาซึ่งข้อตกลงเจนีวา ปี คศ. 1954 (2497) เป็นต้น

หนังสือ "หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินท์"

ขนาด A5 จำนวน 192 หน้า

ราคาเล่มละ 180 บาท ค่าจัดส่ง 30 บาท

มีจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย ไม่ผลิตเพิ่ม!

สั่งซื้อได้ที่นี่ : "หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินท์"