ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

31 พ.ค. 2504 - 31 พ.ค. 2565 บทเรียนการประหารชีวิต ครูครอง จันดาวงศ์ และ ครูทองพันธ์ สุทธิมาศ

31
พฤษภาคม
2565

31 พฤษภาคม 2504 คือ วันประหารชีวิต ‘ครูครอง จันดาวงศ์’ และ ‘ครูทองพันธ์ สุทธิมาศ’ ณ สนามบินลับเสรีไทยในอดีต หรือ สำนักงานอัยการจังหวัดสว่างแดนดินในปัจจุบัน

ครูครอง และ ครูทองพันธ์ ถูกจับกุมในวันที่ 6 พฤษภาคม 2504 รวมทั้งลูกชายคนโต (วิทิต จันดาวงศ์) และชาวบ้านที่เคยพบปะครูครอง ครูทองพันธ์ รวม 148 คน การจับกุมครั้งนี้มีการตั้งข้อหาลอยๆ ขึ้นมาก่อน คือ อั้งยี่และซ่องโจรเพื่อควบคุมตัวไว้ แต่เบื้องลึกแท้จริงนั้น รัฐบาลเผด็จการในยุคนั้นต้องการกำจัดอดีตเสรีไทยสายท่านปรีดี พนมยงค์ เสียมากกว่า เพราะข้อหาที่ทำให้ครูครองและครูทองพันธ์ต้องถูกประหารชีวิตนั้นมีใบสั่งมาจากต่างชาติอยู่ก่อนแล้ว

สืบเนื่องจากการต่อต้านสงครามเวียดนาม ลาว เกาหลีของครูครองและชาวบ้านนั้นขัดผลประโยชน์ของต่างชาติ นายทุน และข้าราชการบางคน ข้อหาที่ทำให้ครูครองและครูทองพันธ์ต้องถูกประหารชีวิตที่แท้จริง คือ การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ กบฏต่อภายในและภายนอกราชอาณาจักร

การกำจัดครูครองจึงเสมือนเป็นการกำจัดฐานคน ความรู้ และผู้สนับสนุนแนวคิดของท่านปรีดีไปโดยปริยาย เพราะครูครองเป็นลูกศิษย์ที่สำคัญคนหนึ่งของท่านปรีดี พนมยงค์

การจับกุมครูครอง ครูทองพันธ์ และอีกหลายๆ คนในวันนั้น จนถึงการสั่งประหารมีนัยยะของเผด็จการอย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งวันที่ 31 พฤษภาคม คือ วันเกิดลูกชายคนโตของครูครอง (วิทิต จันดาวงศ์) การประหารครูครองและครูทองพันธ์จึงเปรียบเสมือนเป็นการสะกด และข่มขวัญคนในครอบครัว รวมทั้งประชาชนทั้งหลายที่รักและศรัทธาครูครองและครูทองพันธ์ในเชิงจิตวิทยาโดยปริยาย

การต้องข้อหาของบุคคลทั้งสองเรื่องคอมมิวนิสต์และกบฏฯ ก็เพื่อที่จะใช้กฎหมายมาตรา 17 ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมใดๆ ถึงในแม้ในข้อเท็จจริงนั้น ครูครองไม่ได้มีรายชื่อของการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการใดๆ แต่การพบปะพูดคุยกับสมาชิกในพรรคเป็นครั้งคราวหรือในบางโอกาส ถือว่าเป็นเรื่องปกติของบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือและศรัทธาจากประชาชน

การกล่าวหาครูครองจึงเป็นเพียงการสร้างข่าว หรือ ข้อมูลอันเป็นเท็จของฝ่ายอำนาจรัฐเสียมากกว่า เพราะแรงศรัทธาของประชาชนในสกลนคร, อุดรธานี, หนองคาย, นครพนม ฯลฯ นั้น มีมากกว่าผู้นำฝ่ายเผด็จการ

หากศึกษาแนวคิดต่างๆ ของครูครองให้ละเอียดจะพบว่า ครูครองให้ความสำคัญกับแนวคิดต่างๆ ของท่านปรีดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแนวคิด หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ท่านปรีดีเป็นผู้เขียนขึ้น ซึ่งครูครองประกาศเจตนารมณ์มาตลอดว่า จะต้องทำให้ประเทศไทยมี “เอกราช” โดยสมบูรณ์ ตามหลักข้อ1 ไม่ว่าจะเป็นเอกราชทางการเมือง ทางการศาล หรือทางเศรษฐกิจ โดยจะไม่ยินยอมให้ต่างชาติเข้ามามีอำนาจเหนือประเทศไทย ไม่ว่าทางใดหรือทางหนึ่งเช่นในอดีต ครูครองจึงต่อต้านการตั้งฐานทัพอเมริกาในไทยมาตลอด รวมทั้งต่อต้านการส่งทหารไทยไปรบที่เวียดนาม ลาว และเกาหลี

ครูครองพยายามทำหลัก “เศรษฐกิจ” ตามประกาษคณะราษฎร ข้อที่ 2 โดยริเริ่มจากภายในครอบครัวเป็นลำดับแรก แล้วจึงกระจายความคิดเหล่านี้ไปสู่ประชาชนโดยรอบ จึงนำไปสู่การช่วยเหลือกัน (เข้าแรง) ต่างๆ นานาที่พอจะทำได้

ด้านเศรษฐกิจภายในครอบครัว ครูครองเองไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่  เนื่องด้วยต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จากฝ่ายอำนาจรัฐตลอดเวลา ความอดอยากยากจนภายในครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น บางครั้งต้องอยู่กันแบบอดมื้อกินมื้อ เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวก็จะนำข้าวสาร ข้าวเปลือก ปลาร้ามาให้ครอบครัวครูครองเป็นครั้งคราว

“ความปลอดภัย” ตามประกาศคณะราษฎร ข้อที่ 3 นั้น ตัวครูครอง ครอบครัวและประชาชนในพื้นที่ต่างได้ความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะชีวิต ทรัพย์สินไม่มีความปลอดภัยจากรัฐเผด็จการเลยแม้แต่น้อย

“ความเสมอภาค” ณ เวลานั้น แทบหาไม่มี เหตุเพราะชนชั้นนำภาครัฐในยุคนั้น ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจะสั่นคลอนต่ออำนาจรัฐเผด็จการ หรือหากจะถามถึงเรื่อง “เสรีภาพ” กลับยิ่งถูกจำกัดและลิดรอนสิทธิ จนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย

ในด้าน “การศึกษา” ดังประกาศข้อสุดท้าย ครูครองพยายามพูดให้ประชาชนเข้าใจเสมอว่า การพัฒนาชาติ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้นจะต้องมาจากการได้รับการศึกษาที่ดีจากรัฐ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลเผด็จการกลับจำกัดระดับการศึกษาของประชาชนไว้เพื่อกดขี่และควบคุมได้ง่าย

นอกจากนี้แล้วครูครองยังได้นำแนวคิดปัจจัย 4 คือ 1.ที่อยู่อาศัย 2.อาหาร 3.ยารักษาโรค 4.เครื่องนุ่งห่ม มาให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เพราะทุกอย่างที่กล่าวมานี้ แม้แต่ครอบครัวของครูครองเองก็ประสบปัญหาเช่นกัน ชาวบ้านจึงประสบปัญหาไม่ต่างจากครอบครัวครูครอง

ครูครองได้พยายามสอนทุกคนในครอบครัวก่อนเป็นลำดับแรก หากเปรียบเทียบแนวคิดก็คือ “กำเนิดครอบครัวและระเบียบสังคมของมนุษย์” และ “แลไปข้างหน้า” (ภาคปฐมวัย, ภาคมัชฉิมวัย) ซึ่งเป็นงานเขียนของ อาจารย์กุหลาบ สายประดิษฐ์

เนื่องด้วยได้รับความรู้ แนวคิดต่างๆ จากท่านปรีดี และคนใกล้ชิดฝ่ายประชาธิปไตย ครูครองจึงตั้งมั่นอยู่ในความเป็น “คนของประชาชน” ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็น “วีรบุรุษ” หรือ “วีรชนเอกชน” เลยแม้แต่น้อย ครูครองจึงได้สอนทุกอย่างเท่าที่จะมีโอกาสต่อลูกๆ เสมอ แต่การที่จะได้อยู่กับครอบครัวของครูครองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถูกจับจ้องเล่นงานจากฝ่ายอำนาจรัฐตลอดเวลา

ด้วยเหตุที่ครูครองเองไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ท่านจึงมิได้ระวังตัวตลอดเวลา เพราะท่านคิดว่าบ้านเมืองมีขื่อมีแป แต่สิ่งที่ครูครองคิดนั้นผิดถนัด เพราะความอิจฉาริษยาที่เผด็จการมีต่อครูครอง การวางแผนเพื่อกำจัดครูครองนั้นทำกันมานาน แต่ไม่สำเร็จ

เมื่อสบโอกาส เผด็จการจึงรีบกำจัดครูครองและครูทองพันธ์โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้ภายหลังจอมพลสฤษดิ์จะกล่าวว่ารู้สึกผิดที่สั่งประหารชีวิตครูครองและครูทองพันธ์ แต่ทุกอย่างก็สายเกินไป นั่นจึงเป็นเพียงสำนึกของ “อาชญากรรัฐ” ที่ไม่มีความจริงใจ การตั้งข้อหา “คอมมิวนิสต์” ในอดีต จึงไม่ต่างจากการตั้งข้อหา 112 ในปัจจุบันต่อประชาชนและเยาวชนผูัเห็นต่าง

ดังนั้น คนในยุคปัจจุบันควรจะศึกษาเรียนรู้แนวคิด การต่อสู้ทางการเมือง เพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตยของคนในอดีตให้ถ่องแท้เพื่อปรับใช้ในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่เราทั้งหลายจะต้องพิจารณากัน เพราะการต่อสู้ทางการเมืองนั้นเป็นการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง และยังเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทางเศรษฐกิจที่ชนชั้นนำยึดกุมเอาไว้

การประหารชีวิตครูครองและครูทองพันธ์ จึงเป็นบทเรียนต่อสังคมไทยที่รัฐเผด็จการต้องการ “ตัดไม้ข่มหนาม” มายังลูกชายครูครอง จึงสั่งประหารครูครอง,ครูทองพันธ์ในวันครบรอบวันเกิดลูกชายครูครอง ในวันนั้นจึงเป็นทั้งวันตายของพ่อและครบรอบวันเกิดของผู้เป็นลูก ให้ผู้เป็นลูกได้จดจำและสะเทือนใจมาจนถึงทุกวันนี้

หากคนไทยศึกษาโลกก็จะเรียนรู้การต่อสู้ทางการเมืองในทางสากลว่าเขาทำกันอย่างไรจึงประสบผลสำเร็จแล้วจึงได้ความรู้เป็น “โลกทัศน์” และหากศึกษาชีวิตการต่อสู้ทางการเมืองของผู้นำการต่อสู้แต่ละบุคคลว่าเขาทำอย่างไรจึงประสบผลสำเร็จจึงจะได้ความรู้ที่เป็น “ชีวทัศน์” และสุดท้ายประชาชนชาวไทยที่รักชาติ รักประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะตัดสินใจกันเองว่าจะทำอย่างไรดีหรือจะทำอะไรดี ?

“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” คำกล่าวสุดท้ายของ ครูครอง จันดาวงศ์ หวังเป็นอย่างยิ่งคนในยุคปัจจุบันจะทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงในเร็ววันเหมือนดั่งคำสั่งเสียของครูครอง จันดาวงศ์

การจับกุมครูครองและครูทองพันธ์ จนท้ายที่สุด ได้มีการสั่งประหารชีวิต ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนชาวไทยผู้มีหัวใจรักในประชาธิปไตยควรจะทวงความยุติธรรมให้กับทุกคนในอดีตหรือไม่ … หรือมีเพียงแค่ไม่กี่คนที่จักให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้