Focus
- เหตุการณ์ “กบฏสันติภาพ 10 พ.ย. 2495” ทำให้ผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย คือ ผู้เขียน (สัมผัส พึ่งประดิษฐ์) ได้ติดคุกร่วมกับครูครอง จันดาวงศ์ ทั้งในคุกเมืองนนท์และคุกบางขวางเป็นเวลาหลายปี จนผู้เขียนได้เรียนรู้แบบอย่างอันดีงามของชีวิตของครูครอง จันดาวงศ์ และให้การคารวะและยกย่องว่าเขาเป็นผู้หนึ่งที่เป็น “คนดีศรีอีสาน”
- หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประชาชน นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักประพันธ์ นักศึกษา ปัญญาชน กรรมกร ชาวนา ชาวไร่ ได้ถูกกวาดล้างจับกุมคุมขังอย่างกว้างขวางทั่วประเทศรวมกระทั่งการประหารชีวิต และครูครอง จันดาวงศ์ ก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504
- การปราบปรามประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยด้วยอำนาจเผด็จการทำให้การต่อสู้อย่างสันติวิธีตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยไม่อาจเป็นไปได้ ประชาชนจึงต้องถอยร่นออกจากเมืองไปสู่ชนบท จากชนบทไปสู่ป่า และจากป่าไปสู่การจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อตอบโต้กับอำนาจเผด็จการ แม้ว่าปัจจุบันการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธด้วยความรุนแรงได้สงบลงและสังคมไทยได้มีการพัฒนาประชาธิปไตยผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 มาแล้ว โดยปัจจุบันกระแสแห่งการต่อสู้ได้แปรเปลี่ยนเป็นการต่อสู้โดยสันติตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่อำนาจเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ก็ยังอยู่ในกำมือของคนกลุ่มน้อยที่ครอบงำชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกร ชาวนา ชาวไร่ และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
นับเป็นโชคดีของผมที่มีโอกาสได้ร่วมชะตากรรมกับ คุณครอง จันดาวงศ์ เมื่อตอนถูกจับกุมในข้อหาฐานกบฏเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 หรือที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ 10 พ.ย.” นั่นเอง คุณครองถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 33 ส่วนผมถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 36 เราได้สัมผัสชีวิต กินอยู่ หลับนอน ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันตั้งแต่คุกลหุโทษ คุกเมืองนนท์ คุกบางขวางเป็นเวลาหลายปี ขณะนั้นคุณครองเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ ส่วนผมยังเป็นหนุ่มวัยรุ่น ผมได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดีงามของคุณครอง ได้รู้ชีวิตความเป็นอยู่ รู้นิสัยใจคอและความประพฤติ คุณครองเป็นผู้ที่มีจิตใจกล้าหาญ เสียสละ ขยันหมั่นเพียร ประหยัด เรียบๆ ง่ายๆ อ่อนน้อมถ่อมตน ทรหดอดทน รักชาติ รักประชาธิปไตย ภาพลักษณ์มีธาตุของความเป็นลูกชาวนา เป็นครู เป็นนักศึกษาปัญญาชน และเป็นนักการเมืองของประชาชนที่รักชาติรักประชาธิปไตยที่แท้จริง ควรแก่การคารวะและยกย่องว่าเป็น “คนดีศรีอีสาน” คนหนึ่ง
แม้อดีตจะล่วงเลยไปเป็นเวลาถึง 30 กว่าปีที่คุณครอง จันดาวงศ์ ได้เสียสละจากเราไป แต่การตายอย่างองอาจกล้าหาญของคุณครองด้วยอำนาจเผด็จการของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังเป็นที่จารึกจดจำของประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยไม่จางหาย เช่นเดียวกับคุณเตียง ศิริขันธ์, คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์, คุณถวิล อุดล และคุณจำลอง ดาวเรือง 4 อดีตรัฐมนตรีลูกอีสานที่ถูกสังหารด้วยเงื้อมมือของจอมเผด็จการหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
คำสั่งประหารชีวิตคุณครอง จันดาวงศ์ และคุณทองพันธ์ สุทธิมาศ สองลูกอีสานผู้รักมาตุภูมิ รักชาติ รักประชาชนเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 และการประหารชีวิตคุณรวม วงศ์พันธ์ ลูกสุพรรณบุรี นักรบของประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2505 ยังเป็นอนุสรณ์ตรึงใจในวีรกรรมของผู้กล้าหาญเหล่านี้มิรู้ลืม ขณะเดียวกันก็ให้เป็นที่จดจำถึงความโหดร้ายของอำนาจเผด็จการที่กระทำต่อประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยอย่างมิรู้ลืมเช่นกัน
การปราบปรามประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ยังผลให้ประชาชน นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักประพันธ์ นักศึกษาปัญญาชน กรรมกร ชาวนา ชาวไร่ ถูกกวาดล้างจับกุมคุมขังอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ การกำราบด้วยวิธีจับกุมคุมขังจนถึงประหารชีวิตนั้นเนื่องจากผู้ใช้อำนาจเผด็จการเชื่อว่า การปราบปรามเข่นฆ่าด้วยกำลังอำนาจสามารถทำลายข่มขู่ให้การเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยสงบลงได้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการใช้กำลังอำนาจปราบปราม แม้จะรุนแรงขนาดไหนก็หาหยุดยั้งการต่อสู้ของประชาชนลงได้ไม่ ตรงกันข้าม กลับทำให้เกิดพลังประชาชนถาโถมเข้าใส่อำนาจเผด็จการอย่างห้าวหาญและรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยทัศนะของประชาชนที่เชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยจะได้มาก็ด้วยพลังประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย
การปราบปรามประชาชนอย่างขนานใหญ่ รุนแรง โหดร้ายทารุณถึงประหารชีวิตด้วยการใช้อำนาจเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในครั้งนั้น เป็นประหนึ่งสัญญาณแจ้งเหตุให้ประชาชนได้รู้ถึงสถานการณ์อันเลวร้ายและความโหดร้ายทารุณของผู้ใช้อำนาจปกครองเผด็จการที่จะกระทำต่อประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นสัญญาณบอกเหตุหรือปรอทวัดอุณหภูมิว่าการต่อสู้ที่จะต้องร้อนระอุยิ่งขึ้นได้อุบัติขึ้นแล้วด้วย
อำนาจเผด็จการเป็นเหตุให้ทิศทางการต่อสู้ของประชาชนต้องหันเหไปจากวิถีทางสันติ สิทธิเสรีภาพของประชาชนอันพึงมีตามระบอบประชาธิปไตยต้องดับวูบ แสงสว่างแห่งระบอบประชาธิปไตยต้องมืดมิด เวทีประชาธิปไตยต้องกลับกลายเป็นสมรภูมิต่อสู้ ประหัตประหาร
ด้วยสถานการณ์ที่ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยต้องเผชิญกับอำนาจเผด็จการเช่นนี้ การต่อสู้อย่างสันติวิธีตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยจึงไม่อาจเป็นไปได้ ดังนั้นเพื่อความดำรงอยู่และในสภาพที่ต้องถูกบังคับจนไม่สามารถเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างสันติวิธีในเมืองได้ จึงต้องร่นถอยออกจากเมืองไปสู่ชนบท จากชนบทไปสู่ป่า และจากป่าไปสู่การจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อตอบโต้กับอำนาจเผด็จการที่ผู้ถูกใช้กำลังปราบปรามพึงกระทำเพื่อป้องกันตน ชนิดที่ไม่มีทางเลือกหรือหลีกเลี่ยงได้ การจับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการซึ่งมิใช่เป็นความปรารถนาของผู้รักสันติรักประชาธิปไตยจึงได้เกิดขึ้น สถานการณ์สู้รบด้วยกำลังอาวุธเป็นผลิตผลจากการปราบปรามด้วยกำลังอย่างโหดร้ายทารุณของอำนาจเผด็จการ ซึ่งได้ขยายตัวเป็นการประหัตประหารต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธกันใหญ่โตในกาลเวลาต่อมา
ปัจจุบันการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธด้วยความรุนแรงได้สงบลง กระแสแห่งการต่อสู้ได้แปรเปลี่ยนเป็นการต่อสู้โดยสันติตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยซึ่งได้พัฒนาถึงปัจจุบันจนเป็นกระแสหลัก พลังของประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยรักความเป็นธรรม แม้จะถูกคุกคามปราบปราม ถูกทำลายอย่างหนักก็หาได้สิ้นสลายลงไปไม่ กลับเติบใหญ่เป็นพลังต่อสู้คัดค้านอำนาจเผด็จการเพิ่มทวียิ่งขึ้น ดังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่อำนาจเผด็จการไม่สามารถปราบปรามกระแสคัดค้านของประชาชนที่รักชาติรักประชาธิปไตยดังเช่นในอดีตได้
แม้ยุคแห่งการใช้อำนาจเผด็จการปราบปรามประชาชน ด้วยกำลังดังเช่นในอดีตจะผ่านไป ใช่ว่าอำนาจเผด็จการจะหมดสิ้นไปก็หาไม่ หากแต่ได้พัฒนามาในรูปแบบใหม่ ภาพลักษณ์ใหม่หรือแอบแฝงอยู่ในกลุ่มอำนาจต่างๆ ในรูปแบบประชาธิปไตยหรือพรรคการเมืองที่ใช้อำนาจเงิน อำนาจเศรษฐกิจ อิทธิพล ซื้อสิทธิ ขายเสียง หลอกลวงประชาชน เพื่อยึดครองอำนาจรัฐหรือให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศ เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ปล้นชาติ ปล้นประชาชน ขายผลประโยชน์ให้กับต่างชาติ ในขณะที่สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนยังถูกจำกัดลิดรอน กฎหมายที่ใช้ปราบปรามในยุคเผด็จการที่ล้าหลังและไม่เป็นธรรมก็ยังคงอยู่ อำนาจเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองยังอยู่ในกำมือของคนกลุ่มน้อยที่ครอบงำชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกร ชาวนาชาวไร่และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สิทธิประชาธิปไตยหาได้เป็นของประชาชนโดยแท้ไม่ ชีวิตชาวนาชาวไร่ในชนบทต้องล่มสลาย ล้มละลายยากจน ไม่ต่างอะไรกับการปกครองด้วยอำนาจเผด็จการในอดีต
ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของคุณครอง จันดาวงศ์ จะต้องจับตามองและยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริงต่อไป
ด้วยความคารวะต่อดวงวิญญาณที่สงบของคุณครอง จันดาวงศ์ วีรชนผู้ยิ่งใหญ่ของประชาชน
ที่มา : สัมผัส พึ่งประดิษฐ์, “สืบทอดเจตนารมณ์ ครูครอง จันดาวงศ์,” ใน ครูครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ,2539), น. 112-116.
- ครอง จันดาวงศ์
- สัมผัส พึ่งประดิษฐ์
- ทองพันธ์ สุทธิมาศ
- จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- นโยบายการสร้างรัฐประชาชาติไทย
- วิทิต จันดาวงศ์
- เตียง ศิริขันธ์
- ถวิล อุดล
- จำลอง ดาวเรือง
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- ขบวนการเสรีไทย
- กบฏสันติภาพ
- โรงเรียนสว่างวิทยา
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- รัฐประหาร 2490
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- สงครามเกาหลี
- รัฐประหาร 2501