ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : นักอภิวัฒน์หนุ่ม

4
มิถุนายน
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ ถิ่นกำเนิดแห่งปฐมวัย

‘หวอเหงียนย้าป’ จบจากโรงเรียนที่เมืองมัธยมเว้ด้วยผลการเรียนดีเยี่ยม รวมทั้งการสนับสนุนในด้านทุนการเรียนจากทั้งทางการ และ อาจารย์ดั่งถายมาย หวอเหงียนย้าปสามารถสอบเข้าเรียนที่ วิทยาลัยอัลแบรต์ ซาโรต์ (Lýcee Albert Sarraut) อันเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย วิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางกรุงฮานอย ใช้ระบบการเรียนการสอนแบบเดียวกับฝรั่งเศสอย่างเคร่งครัด และมีความยากลำบากมาก การสอบผ่านการศึกษาระบบนี้เรียกกันทั่วไปว่า จบบั๊ค (Baccalaureate)

การเรียนชั้นปลายในช่วงนั้นแบ่งออกเป็นสองสาย คือ สายปรัชญาและสายวิทยาศาสตร์คล้ายกับเมืองไทย เราเคยมีเตรียมอักษรศาสตร์และเตรียมวิทยาศาสตร์ แต่ระบบบั๊คฝรั่งเศสและส่วนใหญ่ที่ใช้ในยุโรปดูเหมือนว่าจะมีความยากกว่าระบบในบ้านเรา และเมื่อผ่านบั๊คแล้วก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ทันทีโดยไม่ต้องไปสอบเข้าอีกครั้ง เจ้าสุพานุวง ผู้นำลาวก็ผ่านวิทยาลัยอัลแบรต์ ซาโรต์ ผ่านบั๊คสายวิทยาศาสตร์ก่อนไปศึกษาต่อ ณ สถาบันวิศวกรรมสะพานและถนนจากปารีสด้วยคะแนนเกียรตินิยม ส่วนหวอเหงียนย้าปก็ผ่านบั๊คสายปรัชญาและเข้าเรียนต่อในโรงเรียนกฎหมายที่ฮานอยทันที

 

หวอเหงียนย้าปกับเหวียนธิกวางถาย
หวอเหงียนย้าปกับเหวียนธิกวางถาย

 

โรงเรียนกฎหมายฮานอยซึ่งยึดถือหลักสูตรจากฝรั่งเศส มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองของเราในยุคนั้น อนึ่ง ศาสตราจารย์โรแบรต์ แลงกาต์ ผู้เคยสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นผู้ร่วมงานในการชำระกฎหมายตราสามดวงฉบับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี ค.ศ. 1938 - 1939 ก็เคยสอนอยู่ที่โรงเรียนกฎหมายฮานอยเช่นกัน แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหวอเหงียนย้าปเคยเรียนกับศาสตราจารย์แลงกาต์หรือไม่เพียงใด

อย่างไรก็ตาม เส้นทางแห่งความคิดของบุคคลทั้งสองย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองของไทยหลายท่านต่างก็มีความภาคภูมิใจหวอเหงียนย้าป ในฐานะที่ท่านก็ผ่านการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแห่งฮานอย ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องในฐานะนักการทหารผู้มีชื่อเสียงก้องโลก

หวอเหงียนย้าป ประกอบอาชีพขณะที่เรียนวิชากฎหมาย ด้วยการเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง

ในฐานะแห่งครูวิชาประวัติศาสตร์ ท่านตั้งใจถ่ายทอดวิชาความรู้และปลุกใจเยาวชนมีความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติการต่อสู้ของชนชาติเวียดนามในการกอบกู้อิสรภาพที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลุกขึ้นสู้ของวีรสตรีสองพี่น้องแห่งตระกูลจรึง (Trung) ในระหว่าง ค.ศ. 40 - 43 วีรสตรีจรึงจั๊ค (Trung Trace) และ จรึงหยี่ (Trung Nhi) ได้นำการลุกขึ้นสู้ผู้ปกครองชาติฮั่นจากทางเหนือ จนสามารถก่อตั้งอาณาจักรขึ้นมาได้ทางเขตจังหวัดวินห์ฟุ๊กในปัจจุบัน แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกำลังที่เหนือกว่า ท่านสู้จนตัวตายโดยไม่จำนน

ภายหลังข้อตกลงเจนีวา ค.ศ. 1954 นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล ของจีน ได้เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับเวียดนามเป็นครั้งแรก ท่านได้เดินทางไปแสดงความคารวะต่อศาลเจ้าของสองวีรสตรีเวียดนาม นับเป็นการขออโหสิกรรมต่อสิ่งที่ชาติใหญ่ได้ทำต่อชาติเล็กในอดีต

ลูกศิษย์ของหวอเหงียนย้าปหลายคนที่ได้รับการปลูกจิตสำนึกความคิดให้รักชาติ ได้เข้าร่วมขบวนการกอบกู้เอกราช มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งในด้านการทหารและด้านการเมือง

จรั่นฮึงด่าว วีรชนในประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่งที่หวอเหงียนย้าปยกย่องนับถือสูงสุด และได้นำเอาเรื่องราวการต่อสู้รบของท่านกับผู้รุกรานจากทางเหนือ ซึ่งกำลังลี้พลมหาศาลบุกเข้ายึดครองเวียดนาม ได้ถูกหยิบยกมาเป็นบทเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ การใช้ยุทธวิธีแห่งการสู้รบที่ใช้กำลังน้อยกว่าหลอกล่อให้ศัตรูถลำลึกเข้ามาเป็นระยะทางยาวไกล แล้วฝ่ายต่อต้านก็ใช้กำลังซุ่มโจมตีตัดเสบียง และติดตามต่อเนื่องเมื่อข้าศึกเหนื่อยล้า อันถือเป็นปฐมบทของสงครามจรยุทธ์แห่งเวียดนาม

 

วีรชนผู้ร่วมต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส
วีรชนผู้ร่วมต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส

 

ฟานดิ่ง ผู้นำช่วงปี 1885 - 1895
ฟานดิ่ง ผู้นำช่วงปี 1885 - 1895

 

หวอเหงียนย้าป เข้าสู่การเป็นนักหนังสือพิมพ์ ด้วยฝีมือและความรู้ในลักษณะของปัญญาชนที่มีทักษะการเขียนบทความ ท่านปลูกจิตสำนึกให้ชาวเวียดนามเกิดความภาคภูมิใจในชาติ ทำให้เกิดความต้องการค้นหาวิธีการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส

อาจารย์ดั่งถายมาย ผู้ซึ่งต่อมาจะได้ความเกี่ยวข้องกับชีวิตของหวอเหงียนย้าป ในฐานะพ่อตากับลูกเขย ท่านค้นคว้าเรียบเรียงประวัติศาสตร์ชนชาติเวียดนามตามทฤษฎีแห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และท่านก็ได้เสนอแนะให้ความรู้ทางทฤษฎีเพิ่มเติมแก่นักอภิวัฒน์ผู้นี้อย่างต่อเนื่อง

หวอเหงียนย้าป ได้พบรักและแต่งงานกับ เหวียนธิกวางถาย (NGUYEN THI QUANG THAI) นักอภิวัฒน์สตรีที่มีบทบาทในการต่อสู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักอภิวัฒน์ทั้งหลายในยุคนั้น และเธอก็เป็นน้องสาวของ สหายเหวียนธิมิงห์คาย วีรสตรีผู้ถูกทางการฝรั่งเศสประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตินในเวลาต่อมา

หวอเหงียนย้าป และ เหวียนธิกวางถายมีบุตรสาวด้วยกันหนึ่งคน หลังจากนั้นไม่นานทั้งสองถูกจับกุม ทั้งนี้เนื่องจากหน่วยสืบราชการลับอินโดจีนซึ่งเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากพอสมควร ด้วยการใช้ชาวเวียดนามทรยศต่อชาติเป็นเครื่องมือทำการสืบติดตามข่าวคราวนักอภิวัฒน์ทุกคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ เริ่มตั้งแต่การเคลื่อนไหวของโฮจิมินห์เป็นต้นมา หน่วยสืบราชการลับสืบทราบว่ามีบทความที่เขียนโดยโฮจิมินห์แต่ใช้นามแฝง ส่งมาจากต่างประเทศ และลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยหวอเหงียนย้าป ทั้งสามีและภรรยาจึงถูกจับกุม ในข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคง

ผู้รักชาติชาวเวียดนามที่ถูกจับกุมในระหว่าง ค.ศ. 1930 - 1939 มีจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกแห่งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ตามข้อมูลความผิดที่ถูกยัดเยียดหนักบ้างน้อยบ้าง ที่ถือเป็นโทษหนักก็จะถูกประหารชีวิต แม้กระทั่งตัวโฮจิมินห์เองก็มีคำสั่งศาลอินโดจีนให้ประหารชีวิตคาไว้ ทั้งๆ ที่ยังไม่สามารถจับกุมเอาตัวมาได้

มีสหายชาวคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ถูกจับกุมในช่วงระยะเวลานั้นอันได้แก่ ฟ่ามวันด่ง, เจรื่องจริง, หวอเหงียนย้าป ซึ่งต่อมาท่านเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้

เหตุการณ์ในยุโรปนับจากทศวรรษ ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา ทำให้ฟาสซิสต์อิตาลีและนาซีเยอรมัน เข้ามามีอำนาจปกครองประเทศเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ อังกฤษซึ่งเป็นชาติที่มีอาณานิคมมากที่สุดในโลก เห็นโอกาสดีได้ยุให้ฮิตเลอร์เข้าสู้รบทำลายคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต แต่สำหรับการเมืองภายในฝรั่งเศสไม่มีความแน่นอน ส่งผลให้กลุ่มพรรคแนวร่วมประชาชน อันประกอบไปด้วยพรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคอื่นๆ ที่มีแนวทางไปทางซ้ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นโยบายหนึ่งของรัฐบาลนี้คือการหาช่องทางสมานฉันท์ต่อปัญหาอินโดจีน ด้วยการเปิดเสรีอย่างมีขอบเขต ให้สามารถดำเนินกิจกรรมบางอย่างเกี่ยวกับการเมืองได้บ้าง รวมทั้งปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่ไม่ถูกตั้งข้อหาร้ายแรงนัก ในจำนวนนี้ทั้งหวอเหงียนย้าปและสหายอีกหลายคนจึงได้รับการปล่อยตัวออกมา

บรรดาสหายรุ่นหนุ่มรวมทั้งหวอเหงียนย้าปที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาในครั้งนั้น ต่างรู้สึกว่าการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผยไม่อาจเป็นไปได้แล้ว เพราะตำรวจขึ้นชื่อบุคคลเหล่านี้ไว้ในฐานะที่ต้องติดตาม ถือว่าเป็นบุคคลอันตรายต่อผู้ปกครองอาณานิคม จึงต้องแยกย้ายกันไปเคลื่อนไหว ในเขตที่สามารถจัดตั้งมวลชน ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นดินแดนทุรกันดาร ประกอบด้วยชาวนุง ชนชาติหมู่น้อยอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจาย อำนาจปกครองของเจ้าอาณานิคมไม่สามารถปกครองพื้นที่ได้ทั้งหมด มีชายแดนติดกับมณฑลยูนนานและเขตที่ติดต่อกับมณฑลกวางสี อันเป็นเขตที่กองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นไม่สามารถเข้ามาในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นของจีน

 

จิตรกรวาดภาพราษฎรมอบดาว (อาวุธ) และยกย่องให้เตรืองตงดิ่งเป็นผู้นำการต่อต้านฝรั่งเศส
จิตรกรวาดภาพราษฎรมอบดาว (อาวุธ) และยกย่องให้เตรืองตงดิ่งเป็นผู้นำการต่อต้านฝรั่งเศส

 

หวอเหงียนย้าป ฟ่ามวันด่ง และสหายที่ร่วมกันเข้ามาเคลื่อนไหวทางเขตงาน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ได้รับข่าวการเดินทางกลับเวียดนามของโฮจิมินห์ โดยเส้นทางจากสหภาพโซเวียตผ่านประเทศจีนในปลายปี ค.ศ. 1940 เป็นโอกาสที่หวอเหงียนย้าปจะได้พบกับโฮจิมินห์ ผู้นำเวียดนามที่สหายทุกคนให้ความเคารพนับถือสูงสุด และเชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของโฮจิมินห์และพรรคคอมมิวนิสต์ จะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

หวอเหงียนย้าปพลัดพรากจากภรรยาไปปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีโอกาสพบกันอีกเลย จนกระทั่งได้ทราบว่าภรรยาเสียชีวิต ส่วนบุตรสาวก็ได้พบกันในภายหลัง ปัจจุบันบุตรสาวของท่านคงมีอายุร่วม 70 ปีแล้ว

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), นักอภิวัฒน์หนุ่ม, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 24-30.