Focus
- ปัจจุบันสังคมไทยมีความหลากหลายสูง ทั้งในเรื่อง generation และความหลากหลายในมิติอื่นๆ เช่น ความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ จุดยืนทางด้านวัฒนธรรม และสังคมการเมืองที่แต่ละกลุ่มต่างมีอำนาจในมือของตัวเอง
- นอกเหนือจากอำนาจตามวัฒนธรรมประเพณี อำนาจทหาร และอำนาจการปกครองที่เป็น 3 สิ่ง ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แล้ว ยังมีอำนาจที่ cut across (ตัดขวาง) ทั้งหมดเรียกว่าอำนาจของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิด democracy of information (ประชาธิปไตยแห่งข้อมูลข่าวสาร) และทำให้คนตระหนักว่าเราไม่ใช่คนตัวเล็กตัวน้อย เราทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงพร้อมที่จะขยับขึ้นมา แล้วมีสิทธิ์ในการที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองของประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้
- กระบวนการทางการเมืองในประเทศทั่วไปมีสามขั้นตอน โหวต – ต่อรอง - ก่อตั้งรัฐบาล แต่ในประเทศไทย คือ โหวต – ต่อรอง – บิด – หันเห – (กลับไป) ก่อตั้งรัฐบาล ใครจะเริ่มเปลี่ยนจุดยืนไปอย่างไร ใครจะเปลี่ยนสีใครจะทำอะไรอย่างไร จะชัดขึ้นเรื่อยๆ
- เทคโนโลยีให้อำนาจประชาชน ประชาชนจึงพึงตระหนักในเรื่อง ownership (ความเป็นเจ้าของ) ไม่หยวนๆ ที่ใครจะเกี้ยเซียะกับใคร โดยมี hidden agenda (วาระซ่อนเร้น) แต่ด้วยอำนาจของเทคโนโลยี ประชาชนทำอะไรได้บ้าง เช่น flash mob เมื่อไม่พอใจต้องรวมตัวกันและแสดงออกว่าฉันไม่เห็นด้วยและไม่ยอมการกระทำเช่นนี้คืออารยะขัดขืนต่อความไม่ชอบธรรม การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจะไม่ใช่แค่กาแล้วปล่อยให้ใครตัดสินใจอะไรกับเสียงที่เราได้ แต่แสดงความเป็นเจ้าของและทำให้การเลือกตั้งเป็นของเราอย่างแท้จริง
ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : ฝ่ายหนึ่งต่อสู้ให้คนคนเดียว อีกฝ่ายหนึ่งต่อสู้ให้คนส่วนใหญ่ การต่อสู้ให้คนส่วนใหญ่ก็เหนื่อยเป็นธรรมดา เพราะว่าผลจะเกิดกับคนหมู่มาก เพราะฉะนั้นอย่างที่ผมบอก ดุลยภาพแห่งอำนาจไม่ได้มีแค่ 2 ฝั่งตอนนี้เราเป็น 3 ขาแล้ว และถ้าเรามองในแง่ generation ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญเรื่อง generation ของประเทศนั่งอยู่ตรงนี้ อาจารย์ลองเล่าให้ฟัง อาจารย์วิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้หรือแม้แต่อดีตที่ผ่านมา อาจารย์มองการเมืองอย่างไร ปกติเวลาเราพูดถึงเรื่องของการเมืองเราจะเชิญนักรัฐศาสตร์นักนิติศาสตร์มา แต่วันนี้เราได้รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการซึ่งเป็นนักการตลาด อาจารย์เขียนหนังสือหลายเล่ม เรื่องการตลาดและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องของธุรกิจการตลาด ขอกราบเรียนเชิญ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ อาจารย์มองดุลยภาพแห่งอำนาจผ่านเลนส์ generation
รศ.ดร.พิภพ อุดร : ขอบคุณท่านคณบดีอัครพงษ์ เรียนว่านั่งอยู่บนเวที ได้ฟัง wisdom (ปัญญา) จากคน generation ก่อนๆ แล้วได้รับพลังจากคน generation หลังๆ นี้ ผมรู้สึกตื่นเต้น แล้วต้องเรียนว่านี่เป็นสิ่งที่สะท้อนสถานะปัจจุบันของสังคมไทยค่อนข้างชัด ว่าเราอยู่ในสังคมที่มี diversity (ความหลากหลาย) สูงมาก ไม่ได้สูงเฉพาะในเรื่อง generation ที่มีมาตั้งแต่ silent generation, baby boomer, generation x, generation y และ generation z เท่านั้น แต่ว่ายังมีความหลากหลายในมิติอื่นๆ มิติทางด้านความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ จุดยืนทางด้านวัฒนธรรม สังคมการเมืองมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ และแต่ละกลุ่มต่างมีอำนาจในมือของตัวเอง
ดุลยภาพแห่งอำนาจเกิดขึ้นได้เมื่อแต่ละกลุ่มมีประโยชน์ร่วมกัน มีที่ทางของตัวเองในสังคม มีพื้นที่ที่อำนาจของตัวเองได้ใช้ ได้แสดงบทบาท เมื่อใดก็ตามที่เห็นความปั่นป่วนวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคม สะท้อนว่าอำนาจกำลังไม่ได้ดุล อำนาจจึงต้องพยายามที่จะหาที่หาทางสำหรับตัวเอง แต่เวลาเราเห็นสังคมสงบราบเรียบอาจจะมีเหตุผล 2 ประการ
1) เพราะเกิดดุลยภาพแห่งอำนาจจริง 2) เพราะมีบางอำนาจมีขนาดใหญ่ จนกระทั่งครอบงำอำนาจอื่นๆ จึงเป็นความสงบเฉพาะเบื้องบนผิวน้ำ แต่ยังเกิดคลื่นใต้น้ำอยู่ เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์เรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้าที่คนไปก่นด่าหรือต่อว่า กกต. ในด้านหนึ่ง มีคนออกมาอธิบายว่าเป็นข้อผิดพลาดที่ไม่ใหญ่ เพียงแต่ว่าไม่ได้เปลี่ยนผลการเลือกตั้งอะไร แล้วในด้านหนึ่ง คนบอกว่าทำไมไม่ดูว่าเสียงแต่ละเสียงว่านั้นมีความหมาย จะไปทำให้แต่ละคนเขาสูญเสียสิทธิอำนาจนั้นได้อย่างไร แต่สิ่งที่ต้องมองลึกไปกว่านั้นคือ ในครั้งนี้คนทุกคน take ownership (แสดงความเป็นเจ้าของ) ของการเลือกตั้งมากกว่าสมัยก่อน
เมื่อก่อนคิดว่าแค่เข้าคูหากาบัตร 5 วินาทีแล้วหมดหน้าที่ ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกคนคิดว่าเสียงที่กาลงไปจะไปไหนต่อ เสียงจะต้องถูก protect (ปกป้อง) จะต้องเดินไปตามเจตนารมณ์ ประชาชนตระหนักบทบาทตรงนี้มากขึ้นและไม่ต้องการให้เสียงตัวเองเมื่อกาแล้วไปไหนอย่างไรก็ได้ อันนี้คือเรื่องที่หนึ่ง
เรื่องที่สอง เหตุที่เกิดความรู้สึกแบบนี้มากขึ้น เพราะเกิดอำนาจอีกอำนาจหนึ่งขึ้นมา อำนาจที่นอกเหนือจากอำนาจทางด้านตามวัฒนธรรมประเพณี อำนาจทหาร อำนาจการปกครองที่เป็น 3 สิ่ง ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จริงๆ เกิดอำนาจที่ cut across (ตัดขวาง) ทั้งหมด เราเรียกว่าอำนาจของเทคโนโลยี อำนาจของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิด democracy of information (ประชาธิปไตยแห่งข่าวสาร) แต่เดิมทุกคนมีหน้าที่เป็นคนรับข้อมูลข่าวสาร ปัจจุบันทุกคนเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารได้ เกิด free flow of information (การไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูล) เกิด space (พื้นที่) ที่เป็น free flow of ideology (การไหลเวียนอย่างอิสระของอุดมการณ์) แปลว่าทุกคนสามารถจะสื่อสารส่งข้อความแสดงตัวตนและชักชวนผู้คนได้ โดยมีต้นทุนที่น้อยมาก และอำนาจเหล่านี้ทำให้คนตระหนักว่าเอาเข้าจริงแล้ว เราไม่ใช่คนตัวเล็กตัวน้อย เราทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงพร้อมที่จะขยับขึ้นมา แล้วมีสิทธิ์ในการที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองของประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ คิดว่านี่คือเรื่องใหญ่เรื่องที่หนึ่ง เทคโนโลยีไปเปลี่ยนวิธีคิดของคนตัวเล็กตัวน้อย ให้ลุกขึ้นมาตระหนักในพลังและอำนาจที่เขามี
สาม ที่เกิดขึ้นตามมาคือว่าหลังจากเข้าไปโหวต ปกติ process (กระบวนการ) ของการโหวตในประเทศทั่วไป พูดโดยหลักการก่อนว่าสักสาม step (ขั้นตอน) โหวตเสร็จ เราจะมองไปข้างหน้านับจากวันที่ 14 โหวตเสร็จ negotiate (ต่อรอง) ระหว่างบรรดาผู้ที่มีเสียงแล้ว form (ก่อตั้ง) รัฐบาล วิธีการจะง่ายๆ ตรงไปตรงมาแบบนี้ แต่ไม่ใช่ในประเทศนี้ โหวตเสร็จ negotiate (ต่อรอง) และจะตามมาด้วย twist (บิด) เมื่อมี negotiate (ต่อรอง) กันแล้วอาจจะยังไม่ลงตัวจะเริ่มกระบวนการจัดการใช้กฎกติกาและผู้มีอำนาจต่างๆ ในการที่จะดูว่าเราจะบิดเกณฑ์ จะตีความ จะปรับเปลี่ยน จะจัดการอะไรได้บ้าง และพอ twist (บิด) แล้วจะตามมาด้วยการ divert (หันเห) หันเหเปลี่ยนจุดยืนของกลุ่มต่างๆ เพื่อจะกลับเข้าไป form (ก่อตั้ง)กันอีกที เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าในเมืองไทยต่อให้เสียงออกมานั้นชัดเจนอย่างที่อยากจะเห็นนี้ แต่จะไม่เดินไปสู่การ negotiate (ต่อรอง) และจะเกิดอีก สอง step (ขั้นตอน) ว่าด้วยการ twist (บิด) และ การ divert (หันเห) ซึ่งอันนี้เราจะเห็นได้ชัดว่าใครจะเริ่มเปลี่ยนจุดยืนไปอย่างไร ใครจะเปลี่ยนสี ใครจะทำอะไรอย่างไร จะชัดขึ้นเรื่อยๆ
แล้วผมคิดว่าสิ่งที่เมื่อเทคโนโลยีให้อำนาจกับประชาชน ประชาชนตระหนักในเรื่อง ownership (ความเป็นเจ้าของ) แล้ว ท่านอาจารย์อยากให้พูดถึงผู้มีอำนาจ แต่ขอพูดกับประชาชนก่อนว่าสิ่งหนึ่ง ที่อยากจะขอให้เลิกโดยเด็ดขาดเมื่อตัวเองตระหนักในอำนาจที่มีแล้ว เลิกหยวนๆ ยอมไป จะได้เดินหน้ากันต่อไป เราต้องหยุด ไม่หยวนๆ ใครจะเกี้ยเซียะกับใคร เราอย่าไปหยวนๆ เราอย่ารับว่าคนมีอำนาจทำอะไรก็ได้ในอำนาจที่เขามี ตั้งแต่หนึ่ง กกต. บอกว่าบัตรสองใบ เขตกับพรรคเป็นคนละเบอร์ nonsense (ไร้เหตุผล) ที่สุด แล้วทำไปโดยมี hidden agenda (วาระซ่อนเร้น) หรือจริงๆ ไม่ค่อย hidden (ซ่อนเร้น) เท่าไร แต่ agenda (วาระ) ค่อนข้างชัดว่าไม่ต้องการให้เกิดการที่จะได้เสียง landslide หรือถล่มทลายอะไรก็แล้วแต่ ทำให้ยากแล้วกัน
คนที่มี authority (อำนาจ) ทำอะไรต้องมี legitimacy (ความชอบธรรมทางกฎหมาย) ต้องมีความชอบธรรม คุณมีอำนาจแต่ขาดความชอบธรรม ส่วนใหญ่เรายังมีค่านิยมว่าหยวนๆ ให้เขาทำไปเดี๋ยวเขาต้องรับผิดชอบ ผมคิดว่ามาถึงวันนี้ด้วยอำนาจของเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถที่จะบอกว่าหนึ่ง เราไม่หยวนๆ เมื่อเราไม่หยวนๆ เราทำอะไรได้บ้าง
ใช้กันทั่วโลกตอนนี้คือ flash mob เมื่อไม่พอใจต้องรวมตัวกันและแสดงออกว่าฉันไม่เห็นด้วยและไม่ยอมให้เกิดการกระทำเช่นนี้ อารยะขัดขืน ทำไมจะต้องยอม การเมืองภาคประชาชนมาถึงจุดที่บอกว่า ถ้าเราใช้เทคโนโลยีทำให้เราพลิกกลับขึ้นมามีบทบาทได้ ตระหนักได้ เราต้องใช้เทคโนโลยีนี้สร้างให้เรามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ทำให้เราสามารถที่จะบอกว่า เราไม่หยวน เราไม่ทน ถ้าคุณมีอำนาจคือมี authority (อำนาจ) แต่คุณทำอะไรไม่มี legitimacy (ความชอบธรรมทางกฎหมาย) ไม่มีความชอบธรรม เราจะไม่ยอมอีกต่อไป แล้วความรู้สึกแบบนี้ สร้างความปั่นป่วนนิดหน่อย แต่การเกิดของใหม่ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง จะต้องเกิดความรู้สึกแบบนี้ แล้วเราจะ move ไปข้างหน้าได้ หากเราทุกคนร่วมกันแล้วยืนหยัดว่า นี่เรา take ownership (แสดงความเป็นเจ้าของ) กับการเลือกตั้งครั้งนี้และเราจะไม่ใช้แค่กาแล้วปล่อยให้ใครตัดสินใจอะไรกับเสียงที่เราได้ take ownership (แสดงความเป็นเจ้าของ) และทำให้การเลือกตั้งเป็นของเราอย่างแท้จริงครับ
รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง
ที่มา : รศ.ดร.พิภพ อุดร. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 – 12.35 น. ณ ชั้น 9 สถาบันไทยคดีศึกษา อาคารอเนกประสงค์ 1 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์