“ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้”[1]
โดยไม่ต้องรอนาน การรับรองสิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกันระหว่างหญิง-ชาย ก็มาถึง เมื่อพระราชบัญญัติการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) 2475 ได้รับการประกาศใช้ สามวันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
และแม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ในเวลาต่อมา แต่การรับรองสิทธินี้ก็มีความต่อเนื่องโดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการใหญ่ ดังปรากฏในกฎหมายเลือกตั้งในหน่วยการปกครองทุกระดับฉบับต่อๆ มา
ฉากแรกในระบอบใหม่
ในบทความ “ต้นกล้าเฟมินิสต์สยาม” ตอนที่แล้ว จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์สยามในปลายศตวรรษที่ 19 ถึง ต้น ศตวรรษที่ 20 เติบกล้าขึ้นมาท่ามกลางการขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพ์สาธารณะ
ส่งผลให้การรับรองสิทธิทางการเมือง กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยกระดับสิทธิทางเพศหญิง-ชาย ภายใต้รัฐบาลคณะราษฎร เมื่อมีการตรากฎหมายหลากหลายส่วนรับรองสถานภาพที่เท่าเทียมกัน สะท้อนให้เห็นการยกระดับสิทธิผู้หญิงที่แตกต่างไปจากระบอบเก่า ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะบรรพ 5
คำอธิบายจากสภาผู้แทนราษฎรโดยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานอนุกรรมการพิจารณา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ช่วยให้เราเห็นเจตจำนงของระบอบใหม่ที่มองว่า ถ้าไทยใช้ระบบผัวเดียวเมียเดียวและให้สิทธิผู้หญิงเลือกตั้งด้วยก็จะยิ่งก้าวหน้ากว่าตะวันตก เพราะตะวันตกเป็นผัวเดียวเมียเดียว แต่ยังไม่ให้สิทธิเลือกตั้งกับผู้หญิง[2]
เหตุผลเพราะภายใต้ระบอบเดิมได้กำหนดการแบ่งแยกทางเพศไว้ในส่วนครอบครัว สัมพันธ์กับมโนทัศน์ลำดับศักดิ์ที่ตกทอดมาจากสังคมจารีต ซึ่งหมายถึงการกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คนไปตามลำดับความเหลื่อมล้ำต่ำสูง หรือผู้ใหญ่เหนือผู้น้อยและผู้ชายเหนือผู้หญิง แม้กระทั่งการแบ่งมรดกของชนชั้นสูงก็เป็นการแบ่งให้เมียทั้งหลายตามศักดิ์ของพวกเธอ[3]
สิทธิผู้หญิงกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
ไม่เพียงแค่สิทธิการเลือกตั้ง กฎหมายครอบครัวคือเป้าหมายหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะกรรมการคณะราษฎร โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มีหนังสือราชการสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งหมดภายใน 8 เดือนเพื่อให้สยามได้มี “เอกราชในทางศาล” โดยเนื้อหาที่สำคัญในบรรพ 5 ได้มีการรับเอาหลักผัวเดียวเมียเดียวมาใช้เป็นครั้งแรก[4] และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้จดทะเบียนภรรยาได้คนเดียวในวันที่ 22 มกราคม 2477
ฉะนั้น การยกระดับสิทธิของผู้หญิงในแง่นี้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลคณะราษฎรบรรลุ 1 ในเป้าหมาย 6 ประการของคณะราษฎร นั่นคือ หลักเอกราช
อย่างไรก็ตาม แม้ปรีดีจะมุ่งความสนใจไปที่หลักเอกราช แต่เมื่อพิจารณาผลของการยกระดับสิทธินี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไม่สามารถแยกเด็ดขาดจากหลักอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นหลักความเสมอภาค หลักเสรีภาพ หลักความปลอดภัย หลักการให้การศึกษา หรือเศรษฐกิจ เนื่องจากการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิทางเพศสภาพนี้ได้กินความลึกซึ้งไปในหลายมิติ
บทวิเคราะห์ของหนังสือ “Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular Culture in Thailand” โดย Scott Barme นำเสนอการแบ่งแยกทางเพศสภาพของสังคมไทยในต้นศตวรรษที่ 20 ผ่านวาทกรรมที่กำหนดช่วงชั้นทางสังคม ความเป็นชาย-หญิง บทบาททางเพศ การแต่งงาน ครอบครัว ฯลฯ ซึ่ง Barme เอง เรียกการเคลื่อนไหวของผู้หญิงสยามในช่วงเวลานี้ว่า “ต้นกล้าเฟมินิสต์” (proto-feminism)[5]
คุณูปการของหนังสือเล่มนี้คือการเผยให้เห็นประวัติศาสตร์ของการกดขี่ทางเพศ และการปลดปล่อยอิสรภาพของผู้หญิงสยามในเวลาดังกล่าวผ่านสิ่งพิมพ์สาธารณะ
มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาฉายให้เห็น เช่น การทำให้ร่างกายของผู้หญิงกลายเป็นสินค้า (commodifying) ผ่านการค้าประเวณีที่สัมพันธ์กับความยากจน อันมาจากการขาดโอกาสในทางสังคมและเศรษฐกิจ
การวิพากษ์ระบบผัวเดียวหลายเมีย เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้หญิงชนชั้นกลางในเวลานั้นช่วยผลักดันจนผู้นำของรัฐบาลใหม่มองเห็นการแบ่งแยกทางเพศที่สร้างสภาวะสองมาตรฐาน การควบคุมชีวิตทางอารมณ์ของผู้หญิงด้วยประเพณีคลุมถุงชน ไปจนถึงการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างชายและหญิง
เราอาจจะลองระลึกถึงเรื่องราวของ กอบกาญจน์ วิศิษฎ์ศรี นักเขียนหญิงผู้ใช้นามปากกา “กุหลาบขาว” เมื่อเธอได้ถวายฎีกาถึงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ใน พ.ศ. 2470 เพื่อร้องทุกข์แทนผู้หญิงคนหนึ่งที่ผัวได้หนีไปมีเมียใหม่และเธอยังถูกทำร้าย
เธอขอให้รัฐบาลออกกฎหมายจำกัดจำนวนเมียที่ชายจะมีได้ โดยให้เหตุผลว่าการมีเมียได้ไม่จำกัดของผู้ชายเป็นต้นตอให้มีการกดขี่ผู้หญิง
โดยไม่เกินความคาดหมาย ฎีกาของเธอถูกปฏิเสธ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงแทงเรื่องบอกปัดฎีกานี้ มีพระราชดำริว่าเพราะเป็นการร้องทุกข์แทนผู้อื่น ควรให้เจ้าทุกข์ร้องเอง
ภายหลัง กอบกาญจน์หันไปแสดงความคิดผ่านสื่อสิ่งพิมพ์แทน เธอได้เขียนเรื่อง “เมียน้อย” ตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายปักษ์หัวสำคัญแห่งยุคสมัยอย่าง “สุภาพบุรุษ” นำเสนอภาพปัญหาในครอบครัวที่มีเมียสองคนที่ต้องจบลงด้วยความขมขื่นของเมียน้อย[6]
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อันคึกคักในเวลานั้น ที่ช่วยกรุยทางไปสู่สำนึกทางการเมืองใหม่ เนื่องจาก Barme เห็นว่าวาทกรรมเหล่านี้เป็นการปลดปล่อยผู้หญิงให้พ้นจากความยากจนและการพึ่งพาผู้ชาย
ความเป็นธรรมทางเพศเป็น “กระบวนการ”
สิ่งที่ควรตระหนักคือ “ต้นกล้าเฟมินิสต์” ในเวลานั้น ยังไม่ถูกจัดอยู่ในขบวนการสตรีนิยมคลื่นลูกแรก เฉกเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันบนสองฟากมหาสมุทรแอตแลนติก ผู้หญิงที่นั่นเป็นกลุ่มคนสุดท้ายที่ได้สิทธิในการใช้สิทธิเลือกตั้ง (Universal suffrage) และต้องสู้เอามาด้วยชีวิต หลายกรณียังถูกจับทรมาน เช่น Emmeline Pankhurst แกนนำเฟมินิสต์สายปะทะ (Militant feminism) ในต้นศตวรรษที่ 20 ของอังกฤษ เมื่อเธอถูกคุมขัง การอดอาหาร คือเครื่องมือหนึ่งที่กลุ่มเฟมินิตส์ในอังกฤษใช้ในการยืนยันการต่อสู้ สิ่งที่รัฐบาลทำคือบังคับให้อาหารพวกเธอผ่านการต่อท่อสายยาง เพื่อไม่ให้พวกเธอตาย[7]
ขณะที่ไทยต่างออกไป สำหรับ Barme แล้ว การเคลื่อนไหวของต้นกล้าเฟมินิสต์ของสยามซึ่งกระทำโดยชนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่เกิดในฟิลิปปินส์ เป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากชนชั้นปกครองในยุคนั้นไม่สนใจความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชน
ในแง่นี้ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ภาพลักษณ์ของผู้หญิงสยามจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดชาตินิยมใหม่ที่กล้าหาญและเสียสละปกป้องประเทศจากการครอบงำของต่างชาติไปโดยปริยาย
ภายใต้ระบอบใหม่ สิทธิของผู้หญิงกลายมาเป็นแหล่งความชอบธรรมใหม่ แสดงให้เห็นผ่านนโยบายหลายเรื่องของรัฐบาลคณะราษฎร เช่น สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง การยกเลิกระบบผัวเดียวหลายเมีย[8] การกำหนดให้การแต่งงานทั้งหมดต้องจดทะเบียนสมรส การส่งเสริมการศึกษาให้แก่ผู้หญิงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม Barme เตือนเอาไว้ว่า แม้สยามจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ แต่อุดมการณ์ปิตาธิปไตยยังคงแฝงฝังอยู่ในสถาบันการแต่งงาน และผู้ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงข้างต้นยังคงจำกัดตัวอยู่ในกลุ่มผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งผู้หญิงที่ยากจนยังคงต้องเผชิญความทุกข์ทนจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่
ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้หย่าร้างได้หากสามีกระทำผิดทางเพศต่อเธอ การแบ่งทรัพย์สินที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสามีและภรรยา ซากเดนระบบผัวเดียวหลายเมียยังคงแทรกอยู่ในกฎหมายที่ดูเหมือนจะอารยะ รวมไปถึงการทำให้ความงามของผู้หญิงเป็นสินค้าพาณิชย์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เป็นต้น
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 90 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เราคงได้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศของต้นกล้าเฟมินิสต์ในเวลานั้นยังคงเดินทางมาจวบจนถึงเวลานี้
การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ยกระดับไปไกลกว่าสิทธิของหญิงและชายเท่านั้น หากแต่ยังแผ่ขยายโอบรับทุกเพศสภาพเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหว
การกลับมาพิจารณาต้นกล้าของเฟมินิสต์สยาม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอาจจะช่วยให้เราเห็นร่องรอยด้านที่เป็นคุณแก่การต่อสู้ทางการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านในยุคปัจจุบัน
ในฐานะที่การต่อสู้เป็นกระบวนการที่ต้องกระทำไปในทุกๆ วัน
[1] มาตรา 14 ของ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
[2] ร่างกฎหมายผัวเดียวเมียเดียว ที่ใช้เวลาพิจารณากว่า 20 ปี ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ถึงที่สุดได้ยุติลงด้วยการเดินตามประเพณีผัวเดียวหลายเมีย หากแต่มีการปรับปรุงเนื้อหาบางส่วน
[3] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพ: มติชน, 2561, หน้า 145-148
[4] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพ: มติชน, 2561, หน้า 169
[5] Ligaya Lindio-McGovern, Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular Culture in Thailand. By Barmé Scot. Lanham, Md.: Rowman and Littleeld, 2002. vii, 273 pp. The Journal of Asian Studies, Vol. 63 (2) May 2004, pp 543 - 544.
[6] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพ: มติชน, 2561, หน้า 116-117
[7] Riddell, Fern (6 February 2018). "Suffragettes, violence and militancy". British Library. Archived from the original on 10 September 2021. Retrieved 15 June 2022. และ Suffragette's account of force-feeding goes on museum display
[8] การยกเลิกนี้ รัฐบาลคณะราษฎรมิได้บังคับใช้ในทุกพื้นที่ของประเทศ หากแต่ยกเว้นไว้ในบางพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนใต้