นับแต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ได้เกิดกระแสความตื่นตัวของหลากหลายกลุ่มคนที่แสดงความนิยมยินดีและส่งเสริมสนับสนุนต่อระบอบประชาธิปไตย มุ่งมั่นเทิดทูนรัฐธรรมนูญ รวมถึงศรัทธาในหลักการของ คณะราษฎร ผู้ทำการ “อภิวัฒน์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลัก 6 ประการ อันประกอบด้วย
(1) รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
(2) รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
(3) บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
(4) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
(5) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวแล้ว
(6) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
พระภิกษุสงฆ์ คือ บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะกระตือรือร้นเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองแบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่เนืองๆ ดังปรากฏหลักฐานที่มีพระภิกษุจำนวนไม่น้อยส่ง “ลิขิต” (จดหมาย) มายังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลคณะราษฎรตลอดช่วงปลายทศวรรษ 2470
สำหรับคราวนี้ ผมใคร่เอ่ยถึงกรณีของ พระภิกษุอนันต์ แสงสุภา แห่งวัดจันทาราม ตำบลท่าวัง เมืองนครศรีธรรมราช ผู้อุตสาหะแต่งบทแหล่เทศน์อันเนื้อหาว่าด้วย หลัก 6 ประการ ของ คณะราษฎร ส่งมาให้ทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีช่วยตรวจอ่าน เมื่อช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 พร้อมแนบ “ลิขิต” อีกฉบับ ความว่า
วัดจันทาราม ท่าวัง นครศรีธรรมราช
วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
“อาตมาภาพ ขอเจริญพรบพิธ ท่านเจ้าคุณพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฎฐมนตรี ซึ่งเป็นประมุขของชาติ เพื่อได้โปรดทราบ
ด้วยอาตมาภาพมีความพอใจช่วยชาติในครั้งผจนภัยกับพวกขบถครั้งนี้ยิ่งนัก เพราะบ้านเมืองเราได้ดำเนินมาแล้วเป็นอันดี แต่เมื่อมีมารมาผจนเสียดังนี้ อาตมายินดีทุกเมื่อ แต่เวลานี้ได้อุปสมบทเป็นภิกษุเสียแล้ว มิฉะนั้นจะพยายามเข้ามาถวายชีวิตร์ กับพวกขบถโดยจริงใจ เพราะอาตมาได้รับใช้สนองพระเดชพระคุณในกองตำรวจภูธรมาแล้ว ๓ ปี เมื่อออกจากกองแล้วก็เข้ารับราชการอยู่ในแผนกสรรพากร รับประทานเงินเดือนในชั้น ๓ หน้าที่เสมียนสมุหบัญชีในจังหวัดตะกั่วป่า พึ่งลาออกอุปสมบท พ.ศ ๒๔๗๕ นี้
ความดีของบพิธที่จัดกระทำนี้ ก็เท่ากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน ทั้งราษฎร์ของเรายังได้รับความลดหย่อนกว่าเก่าเป็นมาก ก็นับว่าเป็นข้อกตญญูกตเวทิตาของคนเราอันยิ่งใหญ่ เรื่องนี้ความเห็นของเจ้าบวรเดชไม่มีหวังอะไรแก่ประชาราษฎร์ มีอย่างเดียวจะขี่คอราษฎร์เล่นเท่านั้น จึงชอบกันขบถขึ้นเป็นหมู่พวก แค่บพิธจะได้จัดธรรมนูญขึ้นเป็นประทานแก่ชาตินั้น อาตมาหมั่นชี้แจงแก่ประชาชนหมู่มากทุกครั้งเทศนา เพื่อยกการเปนไปของรัฎฐธรรมนูญ (ขออภัย) อาตมาเปนนักเทศทำนอง อาตมาได้แต่งเป็นแหล่ออกเทศนา มีเนื้อความ ๖ ข้อแต่ต้นจนปลาย เนื้อความดังได้จดแนบมาพร้อมกับหนังสือแสดงความช่วยเหลือในการครั้งนี้ แต่ความตั้งใจของอาตมาหวังว่าคนจำพวกใด ที่เปนอกตัญญูต่อชาติแล้วหาเปนสีสง่าไม่เลย มีแต่จะอับจนปราชัยไปทุกเมื่อ
ทั้งนี้ขอบพิธ ได้กรุณาตรวจเนื้อความแต่งเป็นคำเทศนี้ด้วย แลได้โปรดสั่งเจ้าหน้าที่ประกาศทางหนังสือพิมพ์ให้ด้วย คนเราแม้จะเปนภิกษุสามเณรก็จะลากทิ้งต่อรัฎฐบาลเสียไม่ได้ เพราะจัดเข้าในจำพวก ๔ เหล่าควรนับถือมี ๔ นั้นคือ ๑. บิดามารดา ๒. ผู้ครองแผ่นดิน ๓. อุปชาอาจาริย์ ๔. พระพุทธเจ้า ทั้ง ๔ นี้แลเปนประมุขของชาติที่จะเปนสวัสดิ์มงคล
เพราะฉะนั้น อาตมาขอเรียนว่า ตามข้อความที่ระบุมานี้ โดยความจริงใจสลากชีวิตรช่วยชาติทุกเมื่อ
ควรประการใดสุดแล้วแต่จะโปรด
พระอนันต์ แสงสุภา
ต่อมาทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ น. 5160/2476 ตอบกลับมายังพระภิกษุอนันต์ ซึ่งลงนามเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขณะนั้นคือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
วันที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๖
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นมัสการมายัง พระภิกษุอนันต์ แสงสุภา
ลิขิตท่านมีมายังนายกรัฐมนตรีลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ศกนี้ ส่งแหล่เทศน์ซึ่งท่านแต่งขึ้น มีเนื้อความ ๖ ข้อ และเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มาขอให้ช่วยตรวจแก้นั้น ได้รับทราบแล้ว เรื่องนี้ท่านมีสิทธิที่จะทำได้ การที่ส่งมาให้ตรวจทางนี้เป็นการผิดทางการ.
ด้วยความเคารพ
ธำรง
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
เนื้อความใน “ลิขิต” ข้างต้น ย่อมสะท้อนว่า พระภิกษุอนันต์ เป็นผู้เอาใจใส่ต่อสถานการณ์ความเป็นไปของประเทศ แม้จะกำลังดำรงอยู่ในสมณเพศ ยิ่งบริบทช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 นั้น ข่าวคราวเรื่อง กบฏบวรเดช นำโดย พระองค์เจ้าบวรเดช ที่ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎร น่าจะได้รับการจับตามองจากราษฎรผู้เลื่อมใสระบอบรัฐธรรมนูญทั้งหลาย มิหนำซ้ำ การที่ พระภิกษุอนันต์ แต่งบทแหล่เทศน์เรื่อง หลัก 6 ประการ ก็คงมาดหมายจะพยายามเผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐบาลคณะราษฎรให้ขยายไปสู่ราษฎรวงกว้าง
น่าเสียดายเหลือเกินที่ต้นฉบับบทแหล่เทศน์ของพระภิกษุอนันต์สูญหายไปแล้ว ชนรุ่นหลังจึงมิได้สัมผัสกับสำนวนฝีปาก และทราบว่าผู้แต่งอธิบายถึง หลัก 6 ประการ เช่นไรบ้าง
วัดจันทาราม เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่บริเวณใจกลางชุมชนท่าวัง-ท่ามอญอันเสมือนย่านเศรษฐกิจสำคัญ สร้างมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2340 (ตรงกับยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1) กุฏิต่างๆมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบหัวเมืองปักษ์ใต้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินของวัดให้เป็นโบราณสถาน เมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2541
“วัดจัน” ตามที่ชาวบ้านเรียกขาน ถือเป็นแหล่งรวมวิชาช่างศิลป์ ในอดีตชาวนครศรีธรรมราชนิยมส่งบุตรหลานให้มาอยู่วัดแห่งนี้เพื่อศึกษาวิชาเชิงช่างต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างโลหะ เป็นต้น เลื่องลือกระทั่งมีคำกล่าวกันว่า “อยากเป็นช่างให้ไปอยู่วัดจัน”
ล่าสุดเมื่อช่วงวันที่ 16-20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ได้มีการจัดเทศกาลงาน “เหวนวัดจัน” (ภาษาถิ่นภาคใต้อันหมายถึง ตระเวนวัดจัน) เชิญชวนให้คนที่มาเที่ยวชมงานดื่มด่ำกับบรรยากาศเมืองนครศรีธรรมราชแบบย้อนยุค
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีอิทธิพลและส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของราษฎรชาวสยามช่วงปลายทศวรรษ 2470 อย่างมาก จะเห็นได้ว่ามิใช่เพียงแค่ราษฎร หรือ ฆราวาสเท่านั้น หากยังรวมถึงพระภิกษุสงฆ์ผู้ครองเพศบรรพชิตด้วย
เอกสารอ้างอิง
- หจช.สร. 0201.10/15 พระภิกษุอนันต์ แสงสุภา ส่งแหล่เทศน์หลัก 6 ประการมาให้ตรวจเนื้อความ (พ.ศ. 2476)
- “ประกาศกรมศิลปากรเรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 83 ง (21 กันยายน 2541). หน้า