ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 26)

6
กุมภาพันธ์
2568

Focus

  • บทความนี้ นายปรีดี พนมยงค์ แสดงหลักฐานว่าการประชุมก่อตั้งคณะราษฎรเกิดขึ้นในปี 2469 ไม่ใช่ 2467 ตามที่ พล.ท.ประยูรฯ อ้าง โดยมีข้อขัดแย้งหลายประเด็น เช่น สถานที่ประชุม ผู้เข้าร่วมประชุม แนวคิดอุดมการณ์ รวมทั้งต้องการเอาการทหารมานำการเมือง และกรณีการแต่งตั้งผู้นำคณะราษฎร  ที่สำคัญคือ พล.ท.ประยูร บิดเบือนว่าคณะราษฎรก่อตั้งด้วย “หลัก 3 ประการ” ไม่ใช่ “หลัก 6 ประการ”
  • ที่มาของหลักฐานประวัติศาสตร์ชุดนี้ เนื่องมาจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี ซึ่งการฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 

 

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
เรื่องวิเคราะห์วิจารณ์การก่อตั้งคณะของ ร.ท.ประยูรฯ ที่บ้าน ร.ท.ประยูรฯ

 

ข้อ 20.

วิเคราะห์วิจารณ์

การก่อตั้งคณะของร.ท.ประยูรฯ ที่บ้านร.ท.ประยูรฯ

20.1.

ข้อสังเกตทั่วไป

ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมย่อมสังเกตได้ว่า พล.ท.ประยูรฯ ได้กล่าวไว้ใน “สรุปการปฏิวัติ” ของท่านที่ข้าพเจ้าได้คัดมาลงพิมพ์ไว้ในข้อ 2 แล้วว่านายพลผู้นั้นได้ปฏิเสธว่า “คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน” ฉนั้นท่านจึงเขียนปฏิเสธอีกมากมายหลายเรื่องที่ตกลงกันในที่ประชุมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 และหลายเรื่องที่คณะราษฎรได้ปฏิบัติดังที่ข้าพเจ้าได้เสนอท่านผู้อ่านไว้ในหลายข้อก่อน ๆ นั้น รวมทั้งพล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธว่าคณะฯ มิได้แต่งตั้งพระยาพหลฯเป็นหัวหน้าและปฏิเสธว่าคณะฯ มิได้ตั้งผู้ใดเป็นหัวหน้าส่วนโดยเฉพาะ และท่านปฏิเสธ “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎรโดยท่านถือเพียง “หลักการ 3 ประการ” ประกอบด้วย“หลักการยึดอำนาจ 3 ประการ” ของท่านดังที่ข้าพเจ้าได้วิเคราะห์วิจารณ์ไว้ในข้อ 11 ฯลฯ

ท่านนายพลคนนั้นจึงได้เขียนถึงการประชุมก่อตั้งคณะของท่านที่ “บ้าน” ของท่านเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2467 ไว้ในหนังสือของท่านดังต่อไปนี้

(1) หน้า 100-101 มีความตอนหนึ่งว่า

ปรีดี พนมยงค์ กับ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ

ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศส ก็ได้พบกับ ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมกันมากได้ร่วมชั้นในโรงเรียนนายร้อยมาตั้งแต่ปีที่ 2 ได้มาเรียนภาษาในโรงเรียนนี้พร้อมกับ ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก) ซึ่งเป็นญาติโยงสัมพันธ์กับสกุลภมรมนตรีทางสายอินทรกําแหง จึงได้ถือโอกาสให้มาอยู่รวมกันในบริเวณและชักชวนให้มาร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งท่านทั้งสองได้มีความสนใจอย่างจริงจัง ส่วนคุณปรีดีได้ชักชวนนายจรูญ

สิงหเสนี (หลวงศิริราชไมตรี) ซึ่งเป็นข้าราชการสถานทูตได้อีก 1 คน และข้าพเจ้าได้เดินทางไปชวน ดร.ตั้ว ลพานุกรม จากสวิทเซอร์แลนด์ กับนายแนบ พหลโยธิน ซึ่งศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในกรุงปารีสเข้ามาอีกผู้หนึ่ง ครั้นเมื่อรวบรวมได้ 7 คน ก็ได้เริ่มเปิดการประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2467 ที่บ้านพักของข้าพเจ้าที่ 5 Rue du Sommerard ซึ่งเป็นการประชุมกันครั้งแรก ข้าพเจ้าได้ถือเป็นวันอุดมมงคลฤกษ์ซึ่งตรงกับวันเกิดของข้าพเจ้า ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้เสนอให้ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ผู้อาวุโสและเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ เป็นประธานในการประชุม”

(2) หนังสือของพล.ท.ประยูรฯหน้า 102-104 ได้เขียนไว้อย่างที่สํานักพิมพ์บรรณกิจเรียกว่า “ละเอียดลออ” ถึงการนัดประชุมกันที่ “บ้านของข้าพเจ้า” (ประยูรฯ)เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2467 มีความดังต่อไปนี้

“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สวรรคตพื้นแผ่นดินรัชกาลที่ 7

ในปีนี้เอง พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) เริ่มประชวรกระเสาะกระแสะแล้วเสด็จสวรรคตในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567  ข้าพเจ้ารู้สึกสลด (พิมพ์ตามหนังสือพล.ท.ประยูรฯ) ใจยิ่ง เพราะได้ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้ามาตั้งแต่น้อย ทรงนำสมัครฝากเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยด้วยพระองค์เอง และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดพกของข้าพเจ้า ทั้งยังโปรดเกล้าฯ อุปสมบท ให้เป็นนาคหลวงอีกด้วย พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์นั้นยิ่งด้วยบิดามารดาบังเกิดเกล้า ครั้นแล้วสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7

คุณปรีดีและข้าพเจ้าก็ปรารภกันว่า ควรจะรอดูท่าทีว่าจะมีอะไรที่จะทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขรากฐานการปกครอง แต่แล้ว นอกจากทรงแต่งตั้งคณะอภิรัฐมนตรีขึ้น ซึ่งไม่มีความหมายในระบอบประชาธิปไตยประการใด นอกจากนั้นสภาพของบ้านเมืองและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็เริ่มทรุดโทรม คุณปรีดีและข้าพเจ้าก็ตกลงดําเนินการ คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองกันต่อไป

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศเยอรมนี กับท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อตอนเดินทางกลับเข้าประเทศฝรั่งเศสก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเหยียดหยาม หาว่าเป็นประเทศที่อยู่ในเครือการปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีน ในที่สุดเมื่อถกเถียงกันอยู่พักหนึ่ง เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสก็จำนน แต่ก็บอกว่าเป็นเมืองเหาเมืองหมัด จะรู้จักได้อย่างไร ควรจะมาอยู่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเสียจะได้รุ่งเรือง ทําให้จอมพล ป. พิบูลสงครามเดือดดาล และบอกกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสว่า ระวังให้ดีเถอะ สักวันหนึ่งไอ้หมัดไอ้เหาจะกัดให้ประเทศฝรั่งเศสเน่าไปทั้งชาติ ข้าพเจ้าจึงได้ถือโอกาสชวนจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อปราบฝรั่งเศสเอาดินแดนคืน ซึ่งท่านจอมพลกําลังขุ่นแค้นตกลงใจบอกเอาเลย จึงได้เพื่อนร่วมคิด คู่ชีวิตที่สําคัญที่สุดมาร่วมมือร่วมคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันต่อไป

เมื่อได้เพื่อนร่วมคิดร่วมตายครบ ๗ คน ก็ได้นัดประชุมกันที่บ้านของข้าพเจ้า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2467 ดังกล่าว”

ต่อจากนั้นท่านนายพลฯได้กล่าวว่าที่ประชุมตกลง “หลักการ 3 ประการ” และ “หลักการยึดอํานาจ 3 ประการ” ซึ่งข้าพเจ้าได้ชี้แจงแล้วในข้อ 11 ในหัวเรื่อง “พล.ท.ประยูรฯปฏิเสธหลัก 6 ประการของคณะราษฎรโดยท่านถือเพียง “หลักการ” 3 ประการประกอบด้วย “หลักการยึดอํานาจ 3 ประการ” นั้น

20.2.

ความเหมือนกันระหว่างการประชุมคณะของร.ท.ประยูรกับการประชุมก่อตั้งคณะราษฎร

(1) รายชื่อบุคคลที่เข้าร่วมประชุม

บุคคล 7 คนที่เข้าร่วมประชุมของคณะร.ท.ประยูรฯ นั้นมีรายชื่อตรงกันกับบุคคลที่เข้าร่วมประชุมก่อตั้งคณะราษฎรเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2469 คือ ร.ท.ประยูรฯ, ร.ท.แปลกฯ(หลวงพิบูลสงคราม), ร.ต.ทัศนัยฯ(หลวงทัศนัยนิยมศึก), หลวงสิริราชไมตรี(จรูญ สิงหเสนี), นายตั้ว ลพานุกรม, นายแนบ พหลโยธิน, นายปรีดี พนมยงค์

(2) สถานที่ประชุม

อาคารหมายเลข 5 ถนน ดี ซอมเมอราด์ ( Rue du Sommerard )

แต่ต่างกันเฉพาะเรื่องที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่า “บ้านของข้าพเจ้า(ประยูรฯ)”

ส่วนข้าพเจ้า(ปรีดี)ได้ชี้แจงไว้ในข้อ 17.1.(ค) ใจความว่า อาคารดังกล่าวเป็นสถานที่

มีห้องเล็กและห้องใหญ่ให้คนเช่า ข้าพเจ้าในฐานะสภานายก“สามัคยานุเคราะห์สมาคม”ได้เคยจัดให้นักเรียนไทยไปเข่าอยู่ตามฐานะของแต่ละคนที่สามารถเสียค่า เช่าห้องขนาดไหน ร.ท.ประยูรฯ ได้เช่าห้องขนาดตามฐานะขณะนั้นของท่าน ส่วนผู้ก่อตั้งคณะราษฎรฯ ได้ช่วยกันออกเงินค่าเช่าห้องขนาดใหญ่เป็นเวลา 3 วันเพื่อใช้เป็นสถานที่อย่างสมเกียรติแก่การก่อตั้งคณะราษฎร โดยมิได้รบกวนห้องขนาดย่อมของร.ท.ประยูรฯ เพราะคน 7 คนจะเบียดเสียดเยียดยัดกันเกินไปแล้วก็จะไม่ปลอดโปร่งในการ ประชุมปรึกษาเรื่องสำคัญ

20.3

ความต่างกันระหว่างการประชุมก่อตั้งคณะของร.ท.ประยูรฯ กับการประชุมก่อตั้งคณะราษฎร

(1) ปีที่มีการประชุม

เฉพาะวันเดือนที่มีการประชุม คือ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ นั้นตรงกับวันประชุมก่อตั้งคณะราษฎร แต่ต่างกันที่สำคัญคือ “ปี” ซึ่งพล.ท.ประยูรฯ ยืนยันไว้ 2 ครั้งว่าเป็น “พ.ศ. 2467” จึงมีใช้การพิมพ์ผิด คือเป็นเรื่องการประชุมก่อตั้งแห่งคณะของร.ท.ประยูรฯ ที่ต่างกับการก่อตั้งคณะราษฎร เมื่อพ.ศ. 2469

ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านที่ปรารถนาสัจจะโปรดสังเกตบางประการดังต่อไปนี้

ประการที่ 1

ถ้าถือตามข้ออ้างของพล.ท.ประยูรฯ แล้ว การประชุมคณะของท่านนั้นก็คงมีขึ้น 6 เดือนภายหลังที่บางคนถือเอาว่าร.ท.ประยูรฯ “ชักจูง” ข้าพเจ้าเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2469 ให้ร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ

ถ้าขณะนั้น ร.ท.ประยูรฯ เข้าศึกษาในโรงเรียนรัฐศาสตร์กรุงปารีสแล้ว ก็ไม่ควรละทิ้งการศึกษาไปทัศนาจรเยอรมนีกับร.ท. แปลกฯ—ภายหลังที่พระมงกุฎเกล้าฯ(รัชกาลที่ 6 ) สวรรคต…เพราะระหว่างนั้นราษฎรไทยกําลังอยู่ในความทุกข์ สามัคยานุเคราะห์สมาคมได้ขอร้องให้สมาชิกทุกคนไว้ทุกข์โดยพันผ้าดําไว้ที่แขนเสื้อและได้ขอให้สมาชิกช่วยกันเขียนบทความภาษาฝรั่งเศลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกแด่ในหลวงพระองค์นั้นที่จะรีบพิมพ์ให้ทันงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ

อีกประการหนึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าปีการศึกษาสําหรับโรงเรียนขั้นอุดมและมหาวิทยาลัยนั้นเริ่มต้นในเดือนตุลาคมและสิ้นปีการศึกษาปลายเดือนมิถุนายนปีต่อมา นักศึกษาส่วนมากที่สุดที่อุตสาหะเต็มที่ในระหว่างปีการศึกษานั้น ข้าพเจ้านั้นปฏิบัติอย่างนักศึกษาส่วนมาก โดยเฉพาะข้าพเจ้าต้องเรียนหนักเพื่อเตรียมสอบไล่ประกาศนียบัตรชั้นสูงหลายวิชาสําหรับปริญญาเอก ข้าพเจ้าจึงไม่มีเวลาพอที่จะค้นคว้าทางวิชาการเพิ่มเติมตามที่เพื่อนร่วมคิดเปลี่ยนการปกครองมอบหมายให้ต่างกับกรณีที่ข้าพเจ้าสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงเหล่านั้นแล้วจึงเหลือแต่เพียง เตรียมเขียนวิทยานิพนธ์ซึ่งมีเวลาว่างพอจะช่วยเหลือเพื่อนได้ในระหว่างเวลา 2 ปีก่อนการประชุมก่อตั้งคณะราษฎรใน พ.ศ. 2469

ประการที่ 2

ถ้าถือตามข้อเขียน“ละเอียดลออ”ของพล.ท.ประยูรฯ พรรณนาถึงการไปทัศนาจรกับร.ท.แปลกฯ ภายหลังสวรรคตรัชกาลที่ 6 แล้ว ผู้อ่านบางคนก็จะเข้าใจไปในทํานองว่าร.ท.แปลกฯ เพิ่งถูกร.ท.ประยูรฯ “ชักจูง”ให้ร่วมเปลี่ยนการปกครองที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองตอนกลับจากไปทัศนาจรเยอรมนี จึงเป็นการแปลกอยู่บ้างที่ร.ท.แปลกฯ ได้ขอให้ข้าพเจ้าช่วยจัดการเช่าห้องติดกับห้องที่ข้าพเจ้าเช่าอยู่ในอาคารหมายเลข 10 ถนน “เดส์ การ์มส์”(rue des Carmes)เราทั้งสองพบกันแทบทุกวันและหลายครั้ง ทําอาหารรับประทานด้วยกันนั้น ช่างกระไรที่ไม่ปรารภระหว่างกันบ้างถึงเรื่องที่ควรเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ?

ประการที่ 3

ในพ.ศ. 2467 นั้นนายแนบ พหลโยธิน ยังศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษภายใต้ความดูแลสถานทูตสยามประจํากรุงลอนดอน นายแนบฯ เพิ่งย้ายจากอังกฤษมาเตรียมศึกษาขั้นปริญญาเอกในฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2468

(2)

เรื่องที่ปรึกษาตกลงในที่ประชุม

ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมย่อมสังเกตตามที่ข้าพเจ้าได้อ้างหลักฐานไว้ในข้อ 11 และข้อ 17 แล้วนั้นว่าเรื่องที่ปรึกษาตกลงในที่ประชุมของคณะร.ท.ประยูรฯ กับของคณะราษฎรนั้นต่างกันมากจนเกือบเป็นเรื่องของแต่ละคณะ

(3)

ตําแหน่งหัวหน้าคณะของร.ท.ประยูรฯ ยังว่างอยู่

“ผู้ก่อตั้งคณะราษฎร”  ได้ปฏิบัติตามสามัญสำนึกดังกล่าวแล้วในข้อ 5.1. และ 5.2. นั้นคือเมื่อบุคคลหลายคนร่วมกันประกอบกิจการใด  ๆ ก็ต้องตกลงกันให้คนหนึ่งเป็นหัวหน้า  ฉนั้นผู้ก่อตั้งคณะราษฎรจึงตกลงกันให้มีหัวหน้าชั่วคราว และมีหัวหน้าส่วนรวมทั้งกล่าวแล้วในข้อ 17 และขออื่น ๆ นั้น

แต่ตามที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 100-101 ซึ่งข้าพเจ้าคัดมาลงพิมพ์ไว้ในข้อ 20. 1. (1) นั้น พล.ท.ประยูรฯ มิได้กล่าวว่าคณะผู้คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ตกลงกันให้ผู้ใดเป็นหัวหน้าคณะ หากพล.ท.ประยูรฯ กล่าวว่าที่ประชุมตกลงให้มี “ประธานในการประชุม” ซึ่งหมายถึงในการประชุมครั้งนั้นเท่านั้น ตําแหน่ง นี้ท่านว่าได้แก่ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ซึ่งข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงตําแหน่งนี้ใน (4)

ใน(3) นี้ ข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมได้โปรดอ่าน “สรุปการปฏิวัติ” ของพล.ท.ประยูรฯ ซึ่งข้าพเจ้าได้คัดมาลงพิมพ์ไว้ในข้อ 5 (ก) ซึ่งพล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ดังต่อไปนี้

“คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้แต่งตั้ง พ.อ.พระยาทรงสุรเดช หรือ นายปรีดี พนมยงค์ หรือผู้ใดเป็นหัวหน้าส่วนโดยเฉพาะ ในวันยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้เสนอให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นผู้นำฯ ในฐานะอาวุโส และจัดตั้งเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารร่วมกับ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์(พิมพ์ชื่อตามที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้)”

ดังนั้นถ้าหากผู้ใดถือว่าข้อเขียนของพล.ทประยูรฯ เป็น “ข้อเท็จจริงที่เป็นจริง” แล้ว ตำแหน่งหัวหน้าคณะของร.ท.ประยูรฯ ยังว่างอยู่ ส่วนจะสมควรให้ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ คนใดครองตำแหน่งนั้นก็...เสียแล้ว

(4)

ประธานที่ประชุมต้องมีอาวุโสและเป็นนายทหารเสนาธิการ

พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้เกี่ยวกับคุณสมบัติของประธานที่ประชุมดังต่อไปนี้

“ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้เสนอให้ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ผู้อาวุโสและเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ เป็นประธานการประชุม”

ข้าพเจ้าขอเสนอข้อสังเกตแด่ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 พล.ท.ประยูรฯ กำหนดคุณสมบัติของผู้สมควรเป็นประธานในการประชุมไว้คือต้องเป็น “อาวุโส” ประกอบด้วยเป็น “นายทหารฝ่ายเสนาธิการ

ประการที่ 2 ผู้ร่วมประชุมคนใดที่มีเพียง “อาวุโส” ทาง “วัยวุฒิ” คืออายุสูงกว่าคนอื่นก็ดี หรือ “คุณวุฒิ” ที่ศึกษาขั้นอุดมมาช้านานกว่าคนอื่น เช่นนายตั้ว ลพานุกรม ก็ดี, หรือมี “ตําแหน่ง” สูงกว่าคนอื่นเช่นหลวงสิริราชไมตรี ก็ดีนั้นไม่อยู่ในข่ายที่จะเป็นประธานในการประชุมได้ แม้เพื่อนคนนั้นเช่นนายตั้วฯ ที่เป็นกรรมการสามัคยานุเคราะห์สมาคมผู้รู้ระเบียบการประชุมสมาคมฯ มาแล้วหลายปีนั้นก็ไม่อาจดําเนินการประชุมคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เรียบร้อยได้จึงจําต้องมี “นายทหารฝ่ายเสนาธิการ” ซึ่งแม้ท่านผู้นั้นเพิ่งมาถึงฝรั่งเศสก่อนหน้าร.ท.ประยูรฯ ไม่กี่เดือนและกําลังเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนทหารปืนใหญ่นั้น อันเป็นการแสดงว่าคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองของร.ท.ประยูรฯ นั้นถือเอา “การทหารนําการเมืองและเศรษฐกิจ” มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

ประการที่ 3 ขณะพิมพ์หนังสือเล่มนั้นของพล.ท.ประยูรฯ นั้น หลวงทัศนัยนิยมศึก(ร.ต.ทัศนัยฯ), ดร.ตั้ว ลพานุกรม, จอมพลพิบูลฯ (ร.ท.แปลกฯ), นายแนบ พหลโยธิน, ก็ได้วายชนม์ไปแล้ว จึงไม่มีโอกาสชี้แจงความจริงยังเหลือขณะนี้คือ พล.ท.ประยูรฯ, ปรีดี, และหลวงสิริราชไมตรีซึ่งชราแล้วจึงหลงลืมเรื่องเก่ากว่า 50 ปีนั้นไปมาก

ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมโปรดคิดว่า แม่ในสมัยต่อ ๆ มานั้นจอมพลพิบูลฯ มีอาวุโสกว่าผู้ก่อการคนอื่น ๆ ทั้งในทางยศและในตำแหน่ง แต่ในขณะพ.ศ. 2467 ซึ่งท่านเพิ่งไปศึกษาที่ฝรั่งเศสได้ไม่นานนั้น ถ้าหากร.ท.ประยูรฯ เสนอให้ท่านเป็นประธานที่ประชุมครั้งนั้นโดยอ้างว่าท่านมีอาวุโสและเป็นนายทหารเสนาธิการ ท่านก็คงจะไม่รับตําแหน่งที่เสนอนั้นเพราะไม่ใช่เรื่องของเสนาธิการที่จะกำกับการประชุมของเพื่อนที่มีมารยาทในการประชุมซึ่งจะไม่ก่อการอาละวาดเหมือนดังที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนนิยายเกี่ยวกับพระยาทรงฯ ไว้ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในข้อต่าง ๆ นั้น

อนึ่งถ้าสมมติว่าร.ท.ประยูรฯ เสนอเช่นนั้นและร.ท.แปลกฯรับตามข้อเสนอของร.ท.ประยูรฯแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมอีกหลายคนก็คงจะขอถอนตัวเพราะโบราณไทยท่านกล่าวไว้ว่า “คนยังไม่ได้กินข้าวเปลือก” ฉนั้นหลายคนก็สังเกตได้ว่ายังไม่ทันดำเนินเรื่องก็ถูก “ชักจูง” ให้ถือเอาตามเสนาธิการทหารนำการเมืองการเศรษฐกิจ ฯลฯ เสียแล้ว

 

ภาคผนวก

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรคตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :