ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : ควบรวมกระทรวงกลาโหม - มหาดไทย

17
กรกฎาคม
2565

กองทัพญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ทำให้ดินแดนเวียดนามตกอยู่ในสภาพสุญญากาศ ปราศจากรัฐบาลใดๆ ปกครองประเทศ  เพราะญี่ปุ่นยึดอำนาจเบ็ดเสร็จในอินโดจีนจากฝรั่งเศสเพียงไม่กี่เดือนก่อนการยอมจำนนเปิดโอกาสให้เวียดมินห์ทำการยึดอำนาจมาอยู่ในมือของประชาชนเวียดนามอย่างแท้จริง

 

สถานที่ประชุมสภาประชาชนฯ ตำบลเตินจร่าว 16-8-1945 ประชาชนฮานอยลุกฮือขึ้น 19-8-1945
สถานที่ประชุมสภาประชาชนฯ
ตำบลเตินจร่าว 16-8-1945
ประชาชนฮานอยลุกฮือขึ้น 19-8-1945

 

ก่อนญี่ปุ่นชนะฝรั่งเศส ฝ่ายเวียดมินห์ได้ช่วยนักบินที่ถูกยิงตกบริเวณพรมแดนกว่างสี-เวียดนาม และได้นำนักบินอเมริกันไปส่งยังเมืองคุนหมิงอย่างปลอดภัย ทางหน่วย โอเอสเอส (Office of Strategic Services) ของอเมริกา เห็นความจริงใจในการต่อสู้กับญี่ปุ่นที่ถือเป็นศัตรูร่วมกัน จึงส่งเจ้าหน้าที่โอเอสเอสมาช่วยเวียดมินห์ฝึกกำลังพล และส่งอาวุธส่วนหนึ่งมาสนับสนุน หน้าที่ในการติดต่อกับโอเอสเอสเป็นภาระโดยตรงของ หวอเหงียนย้าป ท่านสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสสื่อสารกับอเมริกันที่รู้ภาษาฝรั่งเศสได้ดี ทว่าภายหลังสงครามกับญี่ปุ่น ซีไอเอซึ่งเกิดจากพื้นฐานเดิมของโอเอสเอส กลับมีแต่วัตถุประสงค์อันเลวร้ายไปทั่วโลก

ภายหลังญี่ปุ่นยอมแพ้ ในระหว่างวันที่ 3-15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เรียกประชุมสมัชชาพรรคที่ตำบลเตินจร่าว (Tan Trao) เขตจังหวัดเตียนกวาง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของขบวนการเวียดมินห์ กำลังผู้รักชาติทั่วประเทศลงมติให้เข้าทำการยึดอำนาจรัฐ ก่อนกองกำลังพันธมิตรอันได้แก่ทหารอังกฤษจะเข้ามาทางภาคใต้ของเวียดนาม นับตั้งแต่เส้นขนานที่ 17 ลงมาและทหารจีนของเจียงไคเช็ดเข้าทางภาคเหนือ ทั้งนี้เพื่อทำการปลดอาวุธกองทหารญี่ปุ่น ตามข้อตกลงก่อนการยอมจำนนของญี่ปุ่นกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองปอตสดัม

วันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1945 มีการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติประกอบด้วยผู้แทนจำนวน 60 คน จากภาคเหนือ, กลาง, ใต้ รวมทั้งผู้รักชาติเวียดนามโพ้นทะเล ผู้แทนต่างพรรคการเมือง กลุ่มศาสนาต่างๆ ชนชาติหมู่น้อย ได้มีมติเอกฉันท์ต่อข้อเสนอการเข้ายึดอำนาจของขบวนการเวียดมินห์โดยโฮจิมินห์เป็นประธาน นอกจากนี้ยังมีมติให้มีธงชาติ (พื้นแดงดาวทองอยู่ตรงกลาง) และเพลงชาติเวียดนาม

การยึดอำนาจรัฐในครั้งนี้เพื่อสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม บนพื้นฐานแห่งความเป็นเอกราชของชาติ สำหรับหน้าที่สำคัญของหวอเหงียนย้าป คือ การจัดตั้งขยายงานของกองทัพประชาชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น อนึ่ง สำหรับกฎหมายหรือกฎระเบียบดั้งเดิมของเจ้าอาณานิคมที่ไม่เป็นธรรม ก็ได้สร้างกฎระเบียบใหม่เพื่อความเป็นธรรมของสังคม ให้สิทธิในการปกครองตนเองแก่ชนชาติหมู่น้อย ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นแม่บทในกรอบแห่งรัฐธรรมนูญของประเทศต่อไป

เพียงเวลา 3 วันภายหลังสภาประชาชนแห่งชาติได้ลงมติให้ปฏิบัติการลุกขึ้นยึดอำนาจ กองกำลังเวียดมินห์สามารถยึดฮานอยได้ในวันที่ 19 สิงหาคม ส่วนที่ไซ่ง่อนยึดได้วันที่ 25 สิงหาคม ในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 26 สิงหาคม เวียดมินห์เข้ายึดอำนาจการปกครองจำนวน 56 จังหวัด จากจำนวนทั่วประเทศ 65 จังหวัด

 

คณะรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม
คณะรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม

 

วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ชาวเวียดนามประกาศเอกราช-อิสรภาพ ทั่วโลกล้วนรับทราบการเกิดขึ้นของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม

สำหรับไซ่ง่อนนั้น  เมื่อยึดได้แล้วผู้ปฏิบัติงานเวียดมินห์รีบจัดเรือเร็วไปที่เกาะปูโลกองดอร์ อันเป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองเพื่อปล่อยตัวสหายตนดุ๊กถัง ชาวพรรคคอมมิวนิสต์อาวุโสซึ่งมีอายุแก่กว่าโฮจิมินห์หลายปี ต่อมาสหายตนดุ๊กถังเข้ารับตำแหน่งรองประธานประเทศ ท่านผู้นี้เป็นปูชนียบุคคลนักต่อสู้ที่ชาวเวียดนามให้ความเคารพรักนับถือท่านหนึ่ง

หวอเหงียนย้าปเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีความสงบภายในของรัฐบาลชุดแรกแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม รัฐบาลชุดแรกนี้มีลักษณะเป็นรัฐบาลผสม โดยการร่วมมือกับกลุ่มการเมือง กลุ่มศาสนาที่มีความรักชาติและคัดค้านระบอบอาณานิคม

 

ประชาชนไซง่อนลุกฮือขึ้น 25-8-1945
ประชาชนไซง่อนลุกฮือขึ้น 25-8-1945

 

ดังนั้น ภาระหน้าที่ของท่านนอกจากการรับผิดชอบด้านการทหารจากการเป็นผู้บัญชาการ เป็นผู้ก่อตั้งกองทัพประชาชนขึ้นมา หน้าที่รักษาความสงบภายในก็เป็นงานที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันและเกี่ยวข้องกับงานด้านการทหาร จึงมีการคัดเลือกบรรดาสหายจากกองกำลังทหารที่ได้ต่อสู้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 เข้ารับหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบในประเทศ โดยเฉพาะนครฮานอย เมืองหลวงของประเทศ และถือเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจและกลไกการปกครองด้านการรักษาความสงบภายใน มีความจำเป็นและสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากการให้ความอารักขาโฮจิมินห์และสหายนำแห่งศูนย์กลางพรรค คณะรัฐบาล มีหน้าที่ปราบปรามพวกลูกสมุนระบอบเก่า ที่มุ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพของสาธารณรัฐฯ ปราบปรามพวกมิจฉาชีพที่มีสันดานอันแก้ไขไม่ได้ และขณะเดียวกันก็ดูแลคนที่เคยมีความผิดแต่สามารถกลับตัวเป็นคนดีให้เข้าสู่สังคม ฯลฯ ในส่วนภูมิภาคนั้น นอกจากส่งผู้ปฏิบัติงานเข้าไปช่วยแล้ว ก็ได้มอบนโยบายให้ปฏิบัติตามความเหมาะสมแต่ละสภาพ

 

กองกำลังปลดแอกเวียดนามกลับถึงฮานอย 28-8-1945
กองกำลังปลดแอกเวียดนามกลับถึงฮานอย 28-8-1945

 

เบาใด๋ จักรพรรดิหุ่นของฝรั่งเศส ยินดีสละราชย์เพื่อกลับมาเป็นพลเมืองสามัญของสาธารณรัฐฯ และได้รับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาล แต่ภายหลังกลับไปเป็นหุ่นเชิดให้ฝรั่งเศสจนถูกโงดินเดียม ผู้ได้รับการครอบงำจากอเมริกาปลดจากตำแหน่ง ต้องไปลี้ภัยในฝรั่งเศสตลอดชั่วอายุขัย สำหรับโงดินเดียมผู้เคยรับใช้ฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง ทางการได้ควบคุมตัวมาเจรจาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ แต่โงดินเดียมมีความดื้อรั้นไม่ยอมให้ความร่วมมือ จนทำให้สหายผู้รับผิดชอบบางคนต้องการควบคุมตัวไว้ แต่ในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัวไป

ทหารก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็คที่เข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นทางภาคเหนือของประเทศ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม มีความกังวลใจอย่างลึกๆ ว่าทหารจีนจำนวนนับแสนจะไม่กลับไปประเทศของตน เวียดนามเหนืออยู่ในระยะข้าวยากหมากแพงจากผลพวงของสงคราม จะต้องเลี้ยงดูอย่างไร เผลอๆ อาจถูกจับกลืนชาติไปเลย ความรู้สึกเช่นนี้ตรงกับความคิดของผู้นำขบวนการเสรีไทย ที่คัดค้านอย่างเต็มที่มิให้ทหารจีนเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในไทย โดยยินยอมให้กองทหารอังกฤษ แห่งกองบัญชาการภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ของ จอมพลเรือ ลอรด์ หลุยส์ เมาแบทเตนท์ เข้ามาในไทยเพื่อปลดอาวุธญี่ปุ่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ หวอเหงียนย้าปจึงได้รับมอบหมายให้เจรจากับผู้บัญชาการทหารก๊กมินตั๋ง ด้วยเหตุผลว่า “ทหารต้องพูดกับทหาร” จึงจะรู้เรื่องและตกลงกันได้ ผลบังเกิดตามคาด ทหารก๊กมินตั๋งยกกองทัพกลับประเทศจีน เพราะหวอเหงียนย้าปได้ให้เหตุผลกับผู้บัญชาการทหารจีนว่าสมาชิกแห่งพรรคก๊กมินตั๋งเวียดนาม ซึ่งก๊กมินตั๋งจีนเป็นพี่เลี้ยงอยู่ก็ได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของเวียดนามแล้ว ผู้บัญชาการทหารจีนต้องการข้าวสารจำนวนหนึ่ง ทางเวียดนามก็กัดฟันยอมเจียดให้ไป

หวอเหงียนย้าปได้แจ้งแก่ผู้บัญชาการทหารจีนก๊กมินตั้งว่า เรื่องของเวียดนามก็จะเจรจาโดยตรงกับฝรั่งเศสเอง โดยทราบมาว่าฝรั่งเศสจะคืนดินแคนแหลมจ้านเจียงตรงข้ามเกาะไหหลำ ซึ่งฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคม อันมีพื้นที่ที่ไม่กว้างใหญ่อะไรนักคืนให้กับจีน ในที่สุดจึงตกลงกันได้ด้วยดีทหารจีนถอนกลับเข้าประเทศเรียบร้อย เพราะตอนนั้นเจียงไคเช็คยังคิดว่า สามารถปราบเหมาเจ๋อตงได้ ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของอเมริกา หาไม่แล้วหากทหารก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้แตกทัพในปี ค.ศ. 1949 และยังอยู่ในเวียดนามคงเกิดเรื่องยุ่งยากอย่างใหญ่หลวงเป็นแน่

เนื่องจากอังกฤษได้รับมอบหมายให้มาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นทางภาคใต้ของเวียดนาม แต่เนื่องด้วยกำลังที่มีจำกัด  อังกฤษจึงจำต้องใช้ทหารญี่ปุ่นที่ถูกปลดอาวุธแล้ว ทำหน้าที่ถือปืนที่ไม่มีกระสุนยืนยามตามสถานที่สำคัญต่างๆ บริเวณเมืองใหญ่ เช่น ไซ่ง่อน, ญาจราง, ดานัง เป็นต้น และในส่วนที่เกี่ยวกับฝรั่งเศสนั้นยิ่งหนักไปใหญ่ เพราะความบอบช้ำจากสงครามโลกที่ผ่านมา จึงอาศัยใบบุญเกาะหลังอังกฤษเข้ามาด้วย เพื่อมุ่งหวังจะครอบครองอินโดจีนเป็นอาณานิคมอีก เช่นเดียวกับอังกฤษที่ในชั้นต้นก็ต้องการปกครองอินเดีย, พม่า, มลายู และศรีลังกาต่อไป รวมทั้งฮอลันดาที่ต้องการปกครองอินโดนีเซีย เป็นต้น

หวอเหงียนย้าป คือ ตัวจักรสำคัญในการเจรจากับฝรั่งเศส ภายใต้การนำของโฮจิมินห์และพรรค สิ่งที่ผ่านมาในอดีต ทางสันติบาลฝรั่งเศสในอินโดจีนมีประวัติการเคลื่อนไหวของชาวพรรคเวียดนามอย่างเป็นระบบและละเอียดลออ แต่สิ่งที่ฝรั่งเศสขาดไปหรือไม่อาจมองเห็นได้ ก็คือการพัฒนาแนวความคิดแห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ที่มีการยกระดับขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อมีการเจรจาเกี่ยวกับอนาคตเวียดนาม ผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสก็ได้สัมผัสกับคู่กรณี ได้แก่ หวอเหงียนย้าป ผู้บัญชาการกองทัพประชาชนเวียดนามในวัย 36 ปี ผู้ผิดแผกจากหวอเวียนย้าปในวัยหนุ่มฉกรรจ์เมื่อมีอายุเพียง 20 ปีเศษ

นักเคลื่อนไหวในสมัยนั้นและเคยถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้น แม่ทัพนายกองฝรั่งเศสไม่สามารถเข้าใจความก้าวหน้านี้ได้เลย ยังมัวแต่คิดดูถูกภูมิปัญญาของผู้บัญชาการทหารหวอเหงียนย้าป จึงทำให้การเจรจาต่อรองไม่เกิดผลตามที่ฝรั่งเศสต้องการ เพราะการกลับมาของฝรั่งเศสก็เพื่อเป็นเจ้าเข้าครองอย่างเดิม ส่วนทางเวียดนามนั้นเพื่อเอกราชของประเทศ สิ่งใดพอโอนอ่อนผ่อนไปโดยไม่ผิดหลักการก็พอจะเจรจากันได้

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายทราบดีว่าแผนการอันชั่วร้ายของฝรั่งเศสนั้นเป็นอย่างไร ทางเวียดมินห์ก็ได้กระทำทุกอย่างดังผู้คนทั้งหลายในโลกเห็นแล้วว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามที่เกิดใหม่เป็นผู้ใฝ่สันติและรักความเป็นธรรม

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), “จัดตั้งกองทัพประชาชน” , ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 44 - 51.