ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

โทรเลขของนายปรีดี พนมยงค์ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 8

24
กรกฎาคม
2565

นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 เรื่อยมาจวบจนกระทั่งวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ภายหลังกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกรุกเข้ามาในเมืองไทยประมาณหนึ่งสัปดาห์เศษ สภาผู้แทนราษฎรปรึกษาหารือกันพร้อมลงมติแต่งตั้ง นายปรีดี ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ถือเป็นการแต่งตั้ง สืบเนื่องจาก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนเดิมถึงแก่อสัญกรรม

นายปรีดี มิคาดนึกว่าตนเองจะได้รับบทบาทสำคัญนี้ เขาปรารถนาจะส่งโทรเลขไปกราบถวายบังคมทูลรายงานให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงทราบ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ (Lausanne) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยความที่ขณะนั้น แม้ นายปรีดี จะหลุดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ประจำกระทรวงการคลัง ดังนั้น เขาจึงมอบหมาย นายบุญล้อม พึ่งสุนทร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ปราโมทย์) เลขานุการรัฐมนตรี ให้ช่วยดำเนินการติดต่อประสานงาน

ในวันถัดมา นายบุญล้อม ส่งหนังสือด่วน ที่ ต. 877/2484 ไปยังกระทรวงการต่างประเทศ 

 

สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง
17 ธันวาคม 2484

เรื่อง ขอให้ส่งโทรเลข
จาก เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ถึง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

รับบัญชานายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขอให้ช่วยจัดการส่งโทรเลข ดังสำเนาได้แนบเสนอมาด้วยแล้ว เพื่อถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์.

ขอแสดงความนับถือ
นายบุญล้อม พึ่งสุนทร

 

สองวันต่อมาทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือด่วน ที่ ค. 22751 /2484 ตอบกลับมายังกระทรวงการคลัง

 

กระทรวงการต่างประเทศ
19 ธันวาคม 2484

เรื่อง ขอให้ส่งโทรเลข
จาก เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ถึง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

หนังสือด่วนที่ ต. ๘๗๗ /๒๔๘๔ ลงวันที่ ๑๗ เดือนนี้ ว่า รับบัญชานายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขอให้ช่วยจัดการส่งโทรเลขดั่งสำเนาได้แนบเสนอมาด้วย เพื่อถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณะ โลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นั้น ได้รับและได้ดำเนินการแล้ว

ขอแสดงความนับถือ
นายกวด หุ้มแพร

 

เนื้อหาในโทรเลขของ นายปรีดี หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม คือ 

 

Having been elected by the Assembly, on the initiative and recommendation of the Government, to fill the vacancy in the Council of Regency, and released from my duties in the Cabinet, I beg to present to Your Majesty my respectful duties. I humbly assure Your Majest that, having received this unsought for honour, I shall carry out my duties with loyalty to the Throne, Your Majesty is the supreme guardian. I pray the Triple Gems to protect Your Majesty and to guide me in my endeavours to maintain the welfare of our nation.

PRIDI BANOMYONG
(LUANG PRADIST MANUDHARM)

 

ตามถ้อยความข้างต้น นายปรีดี เองคงมิได้คาดการณ์เลยว่าตนจะได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังที่เขาเขียนทำนอง “I humbly assure Your Majest that, having received this unsought for honour.” อันหมายความถึง เป็นการรับเกียรติยศที่ไม่เคยนึกจะปรารถนาหรือแสวงหามาก่อน

แท้จริง เบื้องหลังของการที่ นายปรีดี ต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น สืบเนื่องจากภายหลังกองทัพญี่ปุ่นยกทัพเข้ามายึดครองเมืองไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 พอช่วงวันที่ 10-12 ธันวาคม รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเจรจาขอกู้ยืมเงินบาทจากไทยเพื่อใช้จ่ายในกิจการของทหารญี่ปุ่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ยินยอม แต่ นายปรีดี ไม่เห็นด้วย และมองว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของไทย เพราะถ้าจะให้ญี่ปุ่นกู้ยืมเงินบาทงวดแรก ต่อไปคงจะขอกู้ยืมอีกเรื่อยๆ ทางเราก็จะต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ย่อมจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ จึงควรให้ทหารญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรใช้เองในกองทัพ พอสิ้นสุดสงครามค่อยประกาศยกเลิกธนบัตรนี้ เศรษฐกิจไทยก็จะไม่กระทบกระเทือน นั่นเป็นเหตุให้ นายปรีดี และ จอมพล ป. ถกเถียงกันอย่างรุนแรง ท้ายสุด จอมพล ป. ยืนยันว่าจะให้ทหารญี่ปุ่นกู้ยืมเงินบาทได้ พอวันที่ 15 ธันวาคม นายปรีดี ก็พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

โทรเลขของนายปรีดีเดินทางในอากาศไปถึงกรุงเบิร์น (Bern) เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์ ตอนนั้น หลวงอรรถกิติกำจร (กลึง พนมยงค์) ดำรงตำแหน่งเป็นอัครราชทูตไทยประจำที่นั่น ครั้นได้รับทราบความประสงค์ของนายปรีดี จึงส่งโทรเลขตอบกลับมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เมืองไทย โดยส่งตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (ตรงกับ พ.ศ. 2484) และทางกระทรวงการต่างประเทศได้รับเมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 19 ธันวาคม ปีเดียวกัน

ควรเล่าด้วยว่า ก่อนวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังคงเป็น นายดิเรก ชัยนาม แต่พอวันที่ 15 ธันวาคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการแทน และให้ นายดิเรก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ

หลวงอรรถกิติกำจร แจ้งว่าตนจะนำความเรื่องที่ นายปรีดี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ดังตอบรายงานผ่านโทรเลข

 

FOREIGN OFFICE,
BANGKOK.

I have received your telegram of 18th instant regarding the appointment of Pridi Banomyong as the member of the Council of Regency. I have informed His Majesty accordingly.

ARTHAKITTI.

 

ครั้นการส่งโทรเลขของนายปรีดีเป็นอันสำเร็จเรียบร้อย นายบุญล้อม ในฐานะเลขานุการของนายปรีดี จึงส่งหนังสือด่วน ที่ ต. 889/2484 ไปยังกระทรวงการต่างประเทศ 

 

สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง
22 ธันวาคม 2484

เรื่อง ส่งโทรเลข
จาก เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ถึง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

หนังสือที่ ค. ๒๒๗๕๑/ ๒๔๘๔ ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๘๔ แจ้งว่า ได้ดำเนินการส่งโทรเลขของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แล้วนั้น ได้รับทราบแล้วด้วยความขอบคุณ/

ขอแสดงความนับถือ
นายบุญล้อม พึ่งสุนทร
รักษาการแทน

 

นับแต่นั้นมา ทั้ง นายปรีดี และ นายบุญล้อม ก็มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงการคลัง

โทรเลขของ นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่ส่งไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อกราบถวายบังคมทูลต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ถือเป็นเอกสารชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งเปิดเผยให้เห็นเบื้องหลังการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของนายปรีดีในอีกแง่มุมหนึ่งได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

 

หมายเหตุ : อักขรวิธีสะกด ตามเอกสารชั้นต้น 

 

เอกสารอ้างอิง

  • หจช. (2) กต.2.1/177 โทรเลขนายปรีดี พนมยงค์ ถวายในหลวง ( 17-25 ธ.ค. 2484)
  • “ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2484”. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 58, ตอน 0 ก. (16 ธันวาคม 2484). หน้า 1821–1823.
  • ปรีดี พนมยงค์. โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558