วันที่ 4 ธันวาคม 2484 เป็นวันที่ตื่นเต้น และตื้นตันใจของบรรดาประชาชนชาวไทย เพราะเป็นวันที่เลือดนักรบของไทยหลังให้แก่ปิตุภูมิ และเป็นวันที่คนไทยทั้งปวงรู้สึกสลดรันทดใจอย่างที่สุด จะมองดูหน้าใครก็มีแต่ซีดเซียว น้ำตาคลอ ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะเจ็บแค้น และรู้สึกเสื่อมเกียรติแห่งความเป็นไทยยิ่งนัก คนไทยทุกคนต้องการทําลายผู้ที่ละเมิดอธิปไตยของชาติ และที่ฝรั่งเขียนประวัติศาสตร์ไทยให้คนทั้งโลกเรียนและรู้ว่า
"After five hours of token resistance on Dec. 8, 1941. Siam yielded to Japanese Occupation and became one of the springboards in World War II for the Japanese campaign against Malaya."
ขอย้อนกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนวันที่ 8 สักเล็กน้อย เรายังคงจะจํากันได้แม่นยำชั่วชีวิตเรา ชั่วชีวิตลูกหลานของเราและชั่วชีวิตของชาติไทยนี้ที่รัฐบาลไทยได้เคยแสดงออก ซึ่งนโยบายเป็นกลาง ขณะที่สงครามใกล้เข้ามาทุกที ๆ และได้ชักชวนแนะนําให้คนไทยทุก ๆ คนสู้ตาย สู้ผู้ที่ล่วงละเมิดอธิปไตยสู้ จนถึงขนาดเผาเมือง ใช้อาวุธชนิดเท่าที่จะพึงมี แม้แต่หมามุ่ย “ตัวตายดีกว่าชาติตาย” โคลงสยามานุสติของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
“หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
ไทยก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤๅ
เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสกุลไทย
และ
ใครรานใครรุกด้าว แดนไทย
ไทยรบจนสุดใจ ขาดดิ้น
เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล ยอมสละ สิ้นแล
เสียชีพไป่เสียสิ้น ชื่อก้องเกียรติงาม”
โคลงสองบทนี้หาได้ประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าทั้งสองข้างของกระทรวงกลาโหมโก้ ๆ เท่านั้นไม่ แต่ได้ถูกนํามาอ่านกระจายเสียง เข้าหูประชาชนราษฎรไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะไม่มีการชักจูงหรือโฆษณาชวนเชื่อ ราษฎรไทยทุกคนก็คงจะรบแน่ ขอให้รัฐบาลซึ่งเป็นหัวหน้าบอกสักคําเดียวเถอะว่า รบ!
สําหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ตระหนักเรื่องที่ไทยจะต้องประสพสถานะสงครามนี้มานานแล้ว วันที่ญี่ปุ่นรุกเข้าอินโดจีน นั่นคือวันที่ตัดสินได้ว่า ไทยหลีกสงครามไม่พ้น โดยญี่ปุ่นจะต้องบุกเข้าประเทศไทย ญี่ปุ่นมหาอํานาจที่ไม่ใช่โง่ ย่อมทราบดีว่าการสงครามที่มีผลนั้นต้องอาศัยขุมกําลังทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร อาหาร ข้าวปลา และอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศไทย ญี่ปุ่นต้องเอาให้ได้ไม่ว่าด้วยวิธีใด ไม่เช่นนั้นแล้ว การที่ญี่ปุ่นจะทำสงครามกับมหาอํานาจที่มีกําลังอันมั่นคงทุก ๆ ทางนั้น ก็คือการที่ชาติญี่ปุ่นจะต้องถึงซึ่งความพินาศเท่านั้นเอง
นโยบายของชาติไทย ในด้านการทหารนั้น ในยุครัฐบาลประชาธิปไตยตอนหลังนี้ ปรากฏว่ารัฐมนตรี ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นพ้องด้วยกับรัฐมนตรีกลาโหม หรือรัฐมนตรีอื่น ๆ โดยฉะเพาะนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม ย่อมเป็นได้ที่ฝ่ายหนึ่งนิยมและเชี่ยวชาญในทางการเศรษฐกิจและนิยมใช้วิธีการทางการทูตเป็นส่วนมาก ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นถึงจอมพลยอดทหาร และถือว่าเชี่ยวชาญในทางการทหาร ดังนั้น ทัศนะของบุคคลทั้งสองจึงย่อมจะขัดกัน ดังจะเห็นได้ในคราวที่ไทยพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส ในครั้งนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้คัดค้านในการที่จะส่งกําลังทหารเข้าไปในดินแดนนั้น และในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชา ธรรมศาสตร์และการเมือง ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้ห้ามไม่ให้นักศึกษาเดินขบวน มิใช่ไม่สนับสนุนการที่ไทยเรียกร้องเอาดินแดนอื่นมา คนไทยอื่น ๆ อยากได้ดินแดนที่ฝรั่งเศสเอาไปจากไทย อย่างไร ดร.ปรีดี พนมยงค์ก็อยากได้เช่นนั้น
แต่เวลานั้นนักศึกษาทั้งหลายอยู่ในฐานะเลือดเข้าตา มิเชื่อฟังคำห้ามปรามและแล้วก็พากันเดินขบวนเรียกร้องดินแดนอื่น เพราะอิทธิพลของการโฆษณา การปลุกใจมากมายนัก แต่ในที่สุดนักศึกษาทั้งหลายก็ได้เข้าสู่ห้องประชุม ฟังผู้ประศาสน์การของตนพูด พูดถึงวิธีการที่ไทยจะได้รับความยุตติธรรมที่ไทยจะได้ดินแดนคืนโดยสันติวิธี ข้าพเจ้ายังจำวันนั้นได้ดี นักศึกษาทุกคนเงียบ ไม่มีเสียง แม้แต่เสียงหายใจจากเพื่อนที่อยู่ข้าง ๆ ข้าพเจ้า และวันนั้นเองที่ข้าพเจ้าได้พบกับความไม่พอใจอย่างยิ่งของผู้ประศาสน์การ
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันปลายเดือนพฤศจิกายน ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้ประสพกับความพิศวงอยู่ไม่น้อย ในการพิจารณาปัญหาสถานการณ์ของประเทศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แถลงปัญหาสําคัญเกี่ยวแก่การตัดสินใจว่า ประเทศไทยควรจะทําอย่างไร เพราะสงครามตะวันออกไกลจะระเบิดอยู่แล้ว หลังจากได้กล่าวถึงความคิดความเห็นที่ได้ยินได้ฟังมาจากสังคมต่าง ๆ ในกรุงเทพ
แล้วก็ทราบว่า มีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่เป็นสองฝักสองฝ่าย ฟังไปทางไหนก็ไม่แน่ล้วนแต่แกว่งโอนไปทั้งนั้น และในที่สุดว่า “ควรจะตัดสินใจกันเสียให้แน่นอน” และได้เห็นว่า ในรูปการที่จะเกิดขึ้นในระยะใกล้นี้ รัฐมนตรีกลาโหมคงจะระดมทหารไม่ทัน! ในที่สุดเสียงของรัฐมนตรีก็แตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีนายกรัฐมนตรี เอนเอียงเข้าไปทางญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่รบดอกนะ และฝ่ายนี้เป็นฝ่ายข้างมาก แต่อีกฝ่ายหนึ่งข้างน้อยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำสําคัญ ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนเป็นส่วนมากเห็นไปในทางที่ไทยต้องรบ ต้องสู้กับผู้ที่ละเมิดอธิปไตย และเอนเอียงไปในทางฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังประกาศโจ่งแจ้งโครม ๆ อยู่วันยังค่ำกับผู้ที่ละเมิดอธิปไตย
และแล้วในคืนวันที่ 7 ธันวาคม เวลาประมาณ 23.00 น. คณะรัฐมนตรีก็ได้ประชุมเป็นการด่วน เพราะทสุโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น พร้อมด้วยทูตทหารญี่ปุ่นได้ยื่นคําขาดแก่รัฐบาลเวลานั้น ปรากฏว่าจอมพล ป. ไปอยู่ที่ค่ายวัฒนาทางปราจีนบุรีก่อนประชุม ดูสับสนอลหม่านไม่น้อย ดร.ปรีดี พนมยงค์กับหลวงอดุลฯ เดินเข้าเดินออกปรึกษาหารือกัน ไม่มีเรื่องอะไร นอกจากการคิดสู้เป็นขั้น ๆ ทําอย่างไรชาติไทยจะอยู่ได้เท่านั้น และแล้วก็ได้แยกกันไปนั่งที่ที่ประชุม “เอ้า! นั่งประชุมให้เป็นระเบียบกันเสียที” ดร.ปรีดี พนมยงค์ กล่าวขึ้น การประชุมได้แต่ปรึกษาหารือกันทั่ว ๆ ไป แต่ไม่มีใครมีอํานาจสั่งการ จนกระทั่ง 2 น. ของวันที่ 8 นายกฯ ก็ยังไม่กลับ พลโทมังกร พรหมโยธี ตัดสินใจสั่งการแทนนายกฯ แต่สายเสียแล้ว สายโทรเลข โทรศัพท์ ถูกญี่ปุ่นตัดขาด และแม้จะสั่งทางวิทยุก็ไม่ทัน จนกระทั่งญี่ปุ่นรุกเข้าถึงทุก ๆ จุด บางปู ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส
แต่คนไทย ทั้งทหาร ทั้งหญิงทั้งชาย เด็ก ผู้ใหญ่ สู้จริงอย่างว่า และเผาเมืองจริง สู้จนตัวตาย ไม่มีสักแห่งเดียวที่ญี่ปุ่นเป็นต่อ แต่แล้วพอสายหน่อยของวันนั้น โดยคําสั่งของนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นักรบไทยต้องโยนอาวุธทิ้งแล้วก็ร้องไห้ ร้องไห้โดยที่ว่า ชาติ เกียรติ วินัย และ กล้าหาญของเขา ไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไปแล้ว ตัวเขาไม่ตาย แต่ชาติเล่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ?
ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งให้นักรบไทยหยุดรบ และยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศนั้น ก็เช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันอย่างเคร่งเครียด ที่ประชุมเงียบเหงา แต่ข้างนอกที่ประชุมบนตึกทําเนียบนั่นเอง ทูตญี่ปุ่นนั่งรอคําตอบของรัฐบาลไทย และยิ่งกว่านั้น ก็คือคําตอบของคนไทยทั้งชาติอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนมากมีความเห็นไปในทางที่ยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศ ซึ่งอันแท้จริงก็คือ ให้ญี่ปุ่นตักเอาตวงเอาจากความมั่งคั่งทางทรัพยากรและกําลังคนของไทย แต่อีกฝ่ายหนึ่งอันมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนยังคงยืนยันความเห็นของตนอยู่อย่างเดิม คือให้สู้ สู้ไปตามมีตามเกิด
ดร.ปรีดี พนมยงค์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า “แต่ถึงอย่างไร มันก็ต้องมีทางออก หรือสู้ได้หรือไม่ได้มาตอบกันง่าย ๆ โดยยังไม่ได้พยายามหาลู่ทางดูให้ทั่วอย่างไรได้ เราต้องแสวงหาทางนั้น มันจะต้องมีทางแน่ ๆ!” ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวยันคําเสนอของนายกรัฐมนตรี แต่ผลในที่สุดความต้องการของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นอันพ่ายแพ้แก่นายกรัฐมนตรีและเสียงข้างมาก คำสั่งจึงออกไปยังเหล่านักรบทุกด้านดังกล่าวแล้ว
ในวันที่ 10 ธันวาคม 2484 คือ 3 วันต่อมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อพิจารณาสัญญาร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่นอันที่จริง ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้รู้สึกว่า การที่จะประชุมและพิจารณากันนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรนัก เพราะตนมีความคิดเห็นไปในอีกทางหนึ่งมาตั้งแต่ต้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ และคณะมีความคิดเห็นตรงกัน ได้คัดค้านการที่จะทํากติกาสัญญานี้อย่างรุนแรง แต่ในที่สุด ผลก็เป็นอย่างที่เคยเป็น ในวันรุ่งขึ้นที่ 11 ประเทศไทยก็ได้ผูกมัดกับญี่ปุ่นโดยกติกาสัญญานั้น “มหามิตร” กับนายกรัฐมนตรีไทยได้กระทําพิธีสาบาลกันต่อหน้าพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต
มันประหลาดไหม ? ที่การกระทําของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ตั้งแต่ต้นมา มีอย่างไรญี่ปุ่นรู้หมด และเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาเต็มเมือง ญี่ปุ่น และทูตทหารญี่ปุ่นก็บุกเข้าวังสวนกุหลาบ ยื่นคําขาดให้จอมพล ป. เอาดร.ปรีดี พนมยงค์ อีตาขรัวนี้กับวิลาศออกไปให้พ้นวงการรัฐบาลทีเดียว” จอมพลในครั้งนั้นยังเห็นว่า “อีตาขรัวนี้เป็นเพื่อนร่วมตาย ขอให้ยกเป็นผู้สําเร็จราชการเถอะในฐานะที่มีความดีความชอมมาก” แล้วว่า ดร.ปรีดี ซึ่งนั่งอยู่ในที่นั่นด้วย “อีตาขรัวยังยกมือไหว้ประหลก ๆ" กล่าวว่า “ขอบคุณ กัปตัน”
ภาพเอกสารราชการที่ลงนามโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2487
สภาผู้แทนราษฎร โดยพระยามานวราชเสวี ประธานแห่งสภาฯ ได้ประกาศแต่งตั้ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สําเร็จเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2484 โดยที่รัฐบาลเสนอมาว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงคราม บรรดากิจการต่าง ๆ ของรัฐบาลควรจะได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบกว่าปรกติ เห็นว่าในปัจจุบันนี้ เมื่อได้พิจารณาสถานะการณ์ทั่ว ๆ ไปแล้ว คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ก็ควรประกอบให้เข้มแข็งมีผู้ทรงคุณพร้อมที่จะให้เป็นที่เชื่อถือได้ทั้งราษฎรในประเทศและต่างประเทศ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ยุคนั้นจึงมี 3 ท่านคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ซึ่งชราภาพมากแล้ว และต่อมาได้ถึงแก่อนิจกรรม กับดร. ปรีดี พนมยงค์
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งเซอร์โจไซอาห์ครอสบ อดีตอัครราชทูตอังกฤษประจําประเทศไทยกล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่าเป็น “นักประชาธิปไตยผู้มั่นคง แต่เชิดชูการปกครองระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญไว้เหนือสิ่งอื่นใดผู้นี้จะเป็นหัวหน้า ซึ่งคนไทยผู้ใฝ่เสรีนิยมจะบ่ายหน้าไปหาเมื่อเวลามาถึงเพื่อสถาปนารัฐบาลตามระบอบรัฐธรรมนูญอันแท้จริงขึ้นปฏิบัติการต่อไป ภายในความคุ้มครองของ “สหประชาชาติ” หลังจากการตัดสินใจเมื่อคืนวันที่ 7 ธันวาคม และก่อนนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เริ่มงาน “รับใช้ชาติ” โดยการร่วมมือกับบรรดาผู้ใฝ่สันติและนิยมระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย อาทิ พลตํารวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส และคนอื่น ๆ ต่อไป
เมื่อเริ่มยุคใหม่ก็เปิดฉากขึ้นด้วย “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย” มอตโตอันนี้จําเป็นและสําคัญยิ่ง ในภาวะที่ประเทศไทยกําลังถูกฉุดกระชากลากถูเข้าไปอยู่นี้ คนไทยทุกคนจะต้องรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวและทําตามผู้นํา คือรัฐบาลแต่ผู้นํานั้นต้องเป็น Leader ไม่ หมายไกลไปถึงผู้เผด็จการ หรือ Dictator ซึ่งเป็นการขัดกับระบอบ ประชาธิปไตย เหตุการณ์ยุคนั้นอยู่ในความทรงจําของชาวไทยทั้งหลายดีแล้ว ข้าพเจ้าขอผ่านไป ความผูกมัดที่ประเทศไทยมีอยู่กับ “มหามิตร” ญี่ปุ่น เท่าที่เป็นมาแล้วนั้น นับว่ามากมายอยู่แล้ว แต่ด้วยผลจากการรบของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับชัยชนะและความสําเร็จทุก ๆ ด้านอย่างดียิ่ง ความหวังในผลสําเร็จแห่งการสร้างวงไพบูลย์ มหาอาเซียบูรพาใกล้เข้ามา เหมือนแสงเงินแสงทองที่เรือง ๆ อยู่ที่ขอบฟ้าตะวันออก รัฐบาลไทยเล็งการณ์ไกลต่อไปอีก โดยในวันที่ 25 มกราคม 2485 ได้รัดรึงชาติไทยเข้าไปสู่ความวิปโยคถูกเปลาะหนึ่งคือ ได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และแล้วบริเตนใหญ่ก็ได้ประกาศสงครามตอบแทน ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นมิได้ถือว่าอยู่ในสถานะสงครามกับประเทศไทย แต่ถือว่าไทยถูกญี่ปุ่นครอบครอง
ทั้งนี้โดยการกระทําของคนไทยผู้รักชาตินั้นเอง การกระทําใด ๆ ในนามของพระมหากษัตริย์ เช่นในรูปพระราชบัญญัติ พระราชกําหนด พระราชกฤษฎีกา พระบรมราชโองการตามปกติ ผู้สําเร็จราชราชการแทนพระองค์จะต้องลงนามด้วยกันทั้งหมด แต่พระบรมราชโองการประกาศสงครามครั้งนี้ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หาได้ลงนามทุกท่านไม่ และคนหนึ่งก็คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มิได้ลงนามด้วย การที่ไม่ลงนามนั้นเป็นเพราะโดยเจตนาที่จะไม่ลง กล่าวคือเมื่อได้วี่แววว่าจะมีการประกาศสงคราม ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้พูดจาฝากฝังไปกับเพื่อนฝูงบางคนถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขอให้ระงับความคิดและการกระทํานี้เสีย สําหรับการร่วมสงครามกับญี่ปุ่นโดยที่มีต้องประกาศสงคราม แต่เหตุการณ์ในเวลานั้น ไม่มีสิ่งใดที่สามารถจะห้ามเจตนาและการกระทําของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสียได้ ดร.ปรีดี พนมยงค์จึงได้ออกจากทำเนียบที่พักลงเรือเร็วหลบไปพักผ่อนอยู่เสียที่บ้านอยุธยาเพื่อเป็นการหลบหลีกที่จะไม่ลงนามในประกาศสงครามและถือโอกาสนั้นพยาบาลมารดาของตนซึ่งกำลังป่วยอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่มิได้ลดละปฏิบัติการตามหน้าที่นําต้นฉะบับประกาศสงครามติดตามขึ้นไปจนได้แต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ยังยืนยันไม่ลงนามอยู่นั้นเอง
เหตุผลที่สําคัญยิ่งที่มีอยู่ในใจก็คือว่า ถ้าหากลงนามไปแล้วก็เป็นการยากที่จะให้สัมพันธมิตรเชื่อถือ ในการที่จะทําการกอบกู้เอกราชของชาติในภายหลัง ทั้งจะเป็นอุปสรรคและปัญหาที่ใหญ่ยิ่งติดตามมาด้วย นับตั้งแต่วาระนั้นเป็นต้นมา งานกู้ชาติของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ที่เคยเก็บเงียบอยู่นั้นก็ได้ดําเนินไปด้วยดี แม้ต้องเสี่ยงกับภยันตรายและอุปสรรคนานาประการ คนไทยผู้รักชาติได้ถูกส่งเล็ดลอดออกไปนอกประเทศ เพื่อติดต่อกับสัมพันธมิตรและดําเนินการตามคําสั่ง ทั้งทางด้านจีน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา บางคนก็ได้เอาชีวิตไปทิ้งเสียในดินแดนเหล่านั้น ด้านภายในประเทศขบวนเสรีไทยก็ได้ก่อตั้งและมั่นคงเป็นปึกแผ่น คนสําคัญ ๆ ของประเทศได้เข้าร่วมมือกันเป็นอย่างดี บุคคลเหล่านั้นที่สําคัญก็คือ นายทวี บุณยเกตุ, พลตํารวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส, พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ, นายดิเรก ชัยนาม, พลโท สินาดโยธารักษ์, นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย เป็นต้น นอกจากนั้นก็คือ คนไทยผู้รักชาติทั้งหลายรวมด้วยกันหลายแสนคน ผู้ซึ่งพร้อมที่จะเข่นฆ่าศัตรูเพื่อรักษาและกู้เอกราชของชาติไทยไว้ องค์การขบวนเสรีไทยนี้ ได้รับการรับรองจากสัมพันธมิตรว่าเป็นองค์การกู้ชาติ หาใช่เป็นกองโจรอย่างความเข้าใจของคนไร้สติไม่ นอกจากนั้นยังได้รับการรับรองในทางที่ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สถานะสงคราม คือประกาศสงครามโดยการกระทําของท่านผู้นำอันเป็นการขัดกับเจตนาของราษฎรไทย และบัดนี้ราษฎรเหล่านั้นได้ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อกวาดล้างขับไล่ญี่ปุ่นให้ออกไปพ้นแผ่นดินไทยแล้ว ต่อมาไม่นานผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ผู้นี้ ก็ได้รับคําสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยวิทยุไทยก็ได้อ่านคําสั่งนั้นคือ “ให้นายปรีดี พนมยงค์ ไปประจํากองบัญชาทหารสูงสุดในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย”
ดร.ปรีดี พนนมยงค์ ได้ประสพความยุ่งยากคับขันมานานแล้ว และคราวนี้เป็นเรื่องใหญ่อยู่ แต่ทว่าในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่หวั่นต่อคําสั่ง หรือเหตุการณ์นั้น ๆ ตำแหน่งที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ดํารงอยู่นั้นเป็นตำแหน่งตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ทําอะไรก็เสมือนหนึ่งพระมหากษัตริย์ทำ ในงานสาธารณะใด ๆ ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเชิญไปในฐานะของพระมหากษัตริย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่อาจจะยกมือไหว้นายกรัฐมนตรี เพราะว่ามันไม่เหมาะเว้นไว้แต่ว่าเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างเพื่อนที่เคยร่วมตายกันมา ซึ่งอยู่ในเอกเทศ ไม่ใช่สาธารณะสถานย่อมจะสร้างความพอใจให้แก่นายกรัฐมนตรีได้ และในกรณีที่ถูกสั่งให้ไปประจํากองบัญชาทหารสูงสุดนี้ ปัญหามีว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์หรือใคร ๆ จะแยกความเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ออกจากตัวนายปรีดี พนยงค์ได้หรือไม่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เห็นว่านายกรัฐมนตรีหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ให้กระทําการใด ๆ ตรงข้ามผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ซึ่งไม่มีตําแหน่งนี้ตามกฎหมาย) เสียด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงตัดสินใจ ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งอันเป็นโมฆะนั้น การไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หาเป็นทางสําหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ไม่ แม้จะเป็นการกระทําเพื่อรักษาไว้ซึ่งกฎหมายและของบ้านเมือง เพราะเป็นการขัดคำสั่ง คําบัญชา “ฟ้าดินบันดาลอย่างไรบุคคลก็ต้องเป็นอย่างนั้น” จริงนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่มีความประสงค์จะขัดแย้งต่อนายกรัฐมนตรีเลย เพราะว่าผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์อีกผู้หนึ่งก็ได้ปฏิบัติตามคําสั่งนายกรัฐมนตรีทุกประการอยู่แล้ว แต่ทว่าเพื่อความคงอยู่ของกฎหมายและระเบียบการแผนผังอันดีงาม ดั่งกล่าวแล้วข้างต้น
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องสู้เหตุการณ์อันตราย, รอบด้านที่จะมีมาถึงตัวแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร “สถานทูตอิตาเลียน หรือสถานทูตเยอรมัน หรือสถานทูตญี่ปุ่น กองทหารญี่ปุ่นที่ไหน ๆ มันไม่ได้ทั้งนั้น และยิ่งร้ายก็คือ วิ่งเข้าไปหาศัตรู ในที่สุด ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้รับการอารักขาจากทหารเรือ โดยผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ตนมีตําแหน่งองค์รักษ์ประจําอยู่จึงสั่งให้เรือรบและทหารเรือให้ความอารักขา ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงได้รับความปลอดภัย และพอจะมีโอกาสทํางานเพื่อชาติต่อไปอีก ดร.ปรีดี พนมยงค์ต้องการความร่วมมือจากบุคคลทุก ๆ ชั้นในชาติ เพื่อให้ดําเนินการกู้ชาติเป็นไปด้วยดี และแล้ววันหนึ่ง โดยที่เป็นผู้รู้จักใกล้ชิดกันมานานเคยเห็นอกเห็นใจกัน ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้เอ่ยปากชักชวน พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ในทํานองปรารภถึงเรื่องชาติบ้านเมือง และขอให้ทรงริเริ่มคิดทําการกู้ชาติบ้านเมืองเพราะพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา นับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและรัฐประศาสนศาสตร์ผู้หนึ่ง ทั้งมีเลือดเจ้าอยู่เต็มที่ แต่เป็นเจ้าที่เป็นนักประชาธิปไตยอยู่เป็นอันมาก ดร.ปรีดี พนมยงค์ หวังว่าอย่างไรเสีย พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา คงจะเห็นพ้องและหันเข้ามาร่วมในคณะกู้ชาติด้วยเป็นแน่ แต่ผิดหวัง ผิดหวังที่ไม่สําเร็จในการชักชวนเท่านั้นไม่เป็นไรนัก แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ต่อมาไม่กี่วัน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ตกเป็นผู้ต้องหาของท่านผู้นำ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
กล่าวคือในวันที่ 22 กันยายน 2486 จอมพล ป. ได้เรียกพวกก่อการ 24 มิถุนายน ไปประชุมที่ทำเนียบ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า และกล่าวต่อที่ประชุมว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้วางแผนการณ์จับจอมพล ป. พิบูลสงคราม, เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น, เป็นการกระทําที่ทรยศต่อชาติ สรุปข้อกล่าวหาว่า ดร. ปรีดี พนมยงค์ กระทําตนเป็นเปียร โดบา โดกลิโอ ซึ่งกําจัดมุสโสลินีจากตําแหน่งผู้นํา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2486 แล้วนําชาติอิตาเลียนเข้ามาร่วมสงครามกับพันธมิตรขับไล่กองทหารเยอรมันในดินแดนอิตาลีให้พ้นไป การกระทําของมาโดกลิโอแม้แต่อยู่ในฐานะ Co-belligerent มิใช่ ally แต่ก็ได้ช่วยชาวอิตาเลียนและประเทศอิตาลีให้พ้นความพินาศไว้ได้
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตั้งกรรมการ 4 นาย เพื่อทําการสอบสวน ดร.ปรีดี พนมยงค์กรรมการ 4 นายนี้ คนสําคัญที่สุด ก็คือพลตํารวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส รองหัวหน้าใหญ่แห่งขบวนเสรีไทยนั่นเอง ซึ่งได้ตีโต้ด้วยคารมกับจอมพล ป. ในที่ประชุมมาอย่างหนัก ส่วนกรรมการคนอื่น ๆ ก็คือ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม พลเรือตรี ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ และพลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน แต่วันที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ถูกกล่าวหาว่าคิดและชักชวนนั้น บังเอิญไม่ตรงกับวันที่พฤติการณ์ของบาโดกลิโอได้เกิดขึ้น คณะกรรมการจึงไม่อาจชี้ได้ว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้กระทําการเช่นข้อกล่าวหานั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ปลอดภัยไปได้หวุดหวิด
อันที่จริงนั้น การทํางานกู้ชาติครั้งนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์และคณะต้องการให้ชาติเข้าสู่สถานเดิม พฤติกรรมของบาโดกลิโอย่อมเป็นแนวทางที่ดี ที่ควรจะยึดถือและดําเนินการตามภาวะจึงมาคํานึงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นการจําเป็น เพราะจําเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายของชาติ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้คิดล้มหรือโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยอาศัยเหตุส่วนตัวแต่อย่างใดเลย นอกจากแต่มั่นใจว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็คงตระหนักอยู่ในคติ “ตัวตายดีกว่าชาติตาย” เช่นคนไทยทุก ๆ คน แต่การที่จะชี้แจงหรือขอร้องให้ จอมพล ป. ลาออกเองนั้นก็คงทำไม่สำเร็จแต่เมื่อเป็นเรื่องของชาติและเป็นเรื่องที่ต้องทำแล้ว ก็ต้องทําไปให้สําเร็จ แต่ไม่ใช่โดยกำลังเพราะกำลังที่มีอยู่เวลานั้นสําหรับปราบญี่ปุ่น ไม่ใช่ปราบไทยกันเอง
ทั้งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญจึงหันเข้าใช้สันติวิธีที่ไม่ต้องใช้ “กฎหมาย และปล่อยให้ทุก ๆ สิ่งทุกอย่างที่นายกรัฐมนตรีต้องการเป็นไป” พระราชกำหนดหลายฉะบับซึ่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้นี้ได้ลงนาม และสําคัญที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ พระราชกําหนดสร้างนครหลวงเพชรบูรณ์ และพระราชกําหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล 2487 ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐบาลเสนอขออนุมัติพระราชกําหนดนต่อสภาผู้แทนสภาฯ ไม่อนุมัติพระราชกําหนดเหล่านี้ก็ตกไป และแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2487
ในวันที่ 31 กรกฎาคมนั้นพลโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตําแหน่งตามจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบและอนุมัติให้ลาออกตามพระประสงค์...สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 ตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว นายควง อภัยวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 สิงหาคม 2487 สืบต่อมา รัฐมนตรีร่วมคณะล้วนแต่เป็นผู้มีอาวุโส และเชี่ยวชาญการบริหารพร้อมที่จะทํางานให้แก่ชาติในภาวะคับขันที่สุดนี้ และคนหนึ่งที่สําคัญยิ่งก็คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งมันเป็นเรื่องศัตรูภายใน และเป็นศัตรูที่เกิดขึ้นแก่ใจ หาใช้ศัตรูภายนอก หรือศัตรูทางการเมืองอันคอยลอบกัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ดร.ปรีดี ต้องการที่จะให้ความสมัครสมานสามัคคีมีในหมู่คณะ และปรารถนาอย่างที่สุดที่จะให้ดําเนินการบริหารชาติบ้านเมืองไปในทางที่จะบรรลุอุดมคติ นําความสุขความสมบูรณ์มาสู่ จึงต้องตัดสินใจโดยเลือกเอาในทางที่จะให้ความสามัคคีในหมู่คณะยังคงมีอยู่ในกาลต่อไปด้วยอํานาจแห่งเจตนาดีต่อราษฎรไทย จึงต้องตัดสินใจเลือกเอาในทางที่จะให้ความสามัคคีในหมู่คณะยังคงมีอยู่ในกาลต่อไปด้วยอำนาจแห่งเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง นอกจากความสามัคคuจะมีอยู่แล้วบรรดาเพื่อนที่ทำการปฏิวัติมาด้วยกันจะได้ละทิ้งความรู้สึกที่เห็นแก่ตัว และมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและราษฎร ในโอกาสนั้นก็จะได้ร่วมการบริหารกันต่อไป ดร. ปรีดี พนมยงค์ จึงบอกให้ ดร.ทวี ตะเวทีกุล ศิษย์ของท่าน ไปซื้อกระเป๋าเดินทางและให้เตรียมสิ่งของอันจําเป็นลงกระเป๋าจะเดินทางออกไปอยู่เสียเองนอกประเทศให้พ้นหูพ้นตา และด้วยความหวังว่าความสามัคคีจะยังคงอยู่ในหมู่คณะต่อไป แต่ความต้องการของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในครั้งนี้ไม่สําเร็จเพราะเมื่อพระยาพหลฯ ได้ทราบเข้าก็ได้รีบรุดมาพบกับ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ท่านกล่าวแก่ ดร.ปรีดี ว่า “คุณหลวงไปไม่ได้ อยู่กับผม ช่วยกันทํางานต่อไป ขอให้อดทนอย่างที่ผมอดทน” ฉะนั้น บรรดาเสื้อผ้าที่จัดลงกระเป๋าเดินทางแล้วก็ถูกรื้อคืน
ความพยายามของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ในขบวนเสรีไทยเพื่อจะให้ประเทศไทยได้คืนมาซึ่งสถานะเดิมก่อนสงครามนั้น ทุก ๆ คนได้พยายามอย่างที่สุด และนั่นก็คือ ได้ขอร้องหรือแจ้งไปยังกองบัญชาการสัมพันธมิตรเพื่อลงมือกวาดล้างญี่ปุ่นหลายครั้งหลายหน แต่ถูกห้ามปรามเรื่อยมา เหตุผลที่เขาอ้างมา ประการหนึ่งก็คือ สัมพันธมิตรกําลังระดมสรรพกําลังเพื่อกวาดล้างนาซีและหัวหน้าใหญ่คือ ฮิตเลอร์ให้ราบเสียก่อน และต่อมาเมื่อเยอรมนียอมแพ้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2488 แล้วสัมพันธมิตรก็ระดมสรรพกําลังมาเผด็จศึกด้านอาเซีย เข้าห้ำหั่นญี่ปุ่นทุกแนวทุกจุดและขบวนเสรีไทยได้กําหนดวันหนึ่งในต้นเดือนกันยายน เพื่อเป็นวันลงมือทําการกวาดล้างญี่ปุ่นทุกคนรอคอยวันนั้น วันที่คนไทยทุกคนจะลุกขึ้นกวาดล้างญี่ปุ่นให้พ้นแผ่นดินไทยหลังจากที่ได้กวาดล้างลิดรอนย่อย ๆ มาแล้วหลายต่อหลายราย และครั้งนี้ก็คือการพิสูจน์คติที่ว่า “ตัวตายดีกว่าชาติตาย” อย่างแน่แท้
ตลอดเวลาของการทำงานกู้ชาติครั้งนี้ของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้ทุ่มเทความคิดและกําลังกายเสี่ยงภัยอันตรายรอบด้าน ไหนญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่เต็มเมืองไทย ซึ่งมีจมูกไวต่อกลิ่นยิ่งกว่าแร้ง และไหนคนไทยที่พิศมัยต่อญี่ปุ่นจะไม่พอใจและอาจขัดขวาง ความยากลําบากครั้งนี้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ สวัสดิวัฒน เชษฐาของพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งเข้ามาร่วมงานกู้ชาติอยู่กับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ว่า
“ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหลวงประดิษฐ์ฯ ทํางานในการต่อต้านครั้งนี้ ด้วยความพยายามเต็มสติกําลัง ความสามารถ อดทน มิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย มิได้เห็นแก่ตัว และภยันตรายที่จะมาถึงตน จนพวกเราทั้งหลายที่เข้ามาจากต่างประเทศต้องพากันขอร้องหลายครั้งหลายคราว ให้เตรียมตัวที่จะคิดป้องกันตนเองเสียบ้าง มิฉะนั้นการงานของประเทศจะเสียหมด ถ้าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นอันตรายไป ตลอดเวลาที่หลวงประดิษฐ์ฯ มัวแต่คิดถึงความปลอดภัยของผู้อื่น กังวลถึงความปลอดภัยของพวกเจ้านายที่บางปะอิน และความอดอยากของคนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อญี่ปุ่นจะเข้ามาทําลายต่อที่ประเทศไทย
ในที่สุดเราต้องบังคับให้หลวงประดิษฐ์ฯ กระทําตามแผนการณ์รักษาความปลอดภัยของเรา ถ้าญี่ปุ่นเข้าตีเมื่อใดหลวงประดิษฐ์ฯ จะต้องออกเดินทางไปสู่ยังที่ปลอดภัยโดยทันที” แต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่พึงใจที่จะปฏิบัติตามคําขอร้องนั้นคือ สู้ด้วยกัน และถ้าตายก็ขอตายด้วยกัน “ตัวตายดีกว่าชาติตาย”
ครั้งหนึ่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสวันเปิดสมัยประชุมวันที่ 25 มิถุนายน 2488 ตอนหนึ่งของคำสุนทรพจน์มีว่า
“...แม้ว่าการสงคราม ด้านยุโรปได้สงบลงแล้ว สงครามทางด้านอาเซียได้ดําเนินอย่างดุเดือด สมรภูมิได้เข้ามาใกล้ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนที่จะต้องมีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันทั้งชาติเพื่อกระทำการกอบกู้เอกราชและอธิปไตยอันสมบูรณ์ของประเทศไทยให้ดํารงคงไว้ ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างมากว่า ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหลายคงจะได้คํานึงความสําคัญในเรื่องนี้ ขอให้ท่านทั้งหลาย จงช่วยกันมุ่งบําเพ็ญกรณีกิจเพื่อนโยบายใหญ่ อันเป็นจุดหมายปลายทาง การเรียกร้องความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนในวาระสําคัญก็ย่อมจะสําเร็จได้ด้วยดี”
นี่เป็นคําเตือน และเป็นคําขอร้องต่อคนไทยทั้งชาติ เพื่อร่วมมือร่วมใจกันเมื่อสมรภูมิเข้ามาใกล้ประเทศไทย และจากคำสุนทรพจน์นี้ เราก็เห็นได้ชัดว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ มีเจตนามุ่งหมายอย่างไร ถ้าไม่ใช่การร่วมมือร่วมใจกันกวาดล้างญี่ปุ่น เพื่อกอบกู้เอกราชของชาติไทย
หมายเหตุ :
- คงอักขรและวิธีสะกดตามต้นฉบับ
- คัดเลือกต้นฉบับที่มีเนื้อหาเฉพาะเรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ในบทบาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยจากบรรณาธิการ
บรรณานุกรม :
บทความในหนังสือ :
- ไสว สุทธิพิทักษ์, “ตอนที่ 9 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ใน ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งแรก, (กรุงเทพฯ: มปท, 2493), น. 553-600.