ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ฐานะทางประวัติศาสตร์ของรัฐประหาร 2490

9
พฤศจิกายน
2565

แน่นอนว่า ในประเทศที่มีการรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน เช่น ไทย การจะระบุรูปแบบเฉพาะของการใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ด้านหนึ่งคือ รัฐประหารในไทยมีแบบแผนที่แตกต่างกัน อีกทั้งบริบทของแต่ละช่วงเวลาก็มีความผันแปรไปแต่ละช่วงเวลา เหล่าพันธมิตรและเครือข่ายของผู้ก่อการก็สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามกงล้อประวัติศาสตร์

แต่แม้ว่าเวลาจะล่วงผ่านมายาวนาน เหตุการณ์ยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ในทางวิชาการถือกันว่าเป็นตัวแบบหลักของการยึดอำนาจถัดจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามตัวแสดงทางการเมือง บริบททางการเมือง โครงสร้างสถาบันทางการเมือง ฯลฯ

ในกรณีนี้ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ เสนอว่า บริบทนี้เริ่มก่อรากฐานทางทฤษฎีที่กองทัพเป็นผู้พิทักษ์ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว ภายใต้สภาวะถูกคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ การคอร์รัปชัน และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เช่น เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ รัชกาลที่ 8[1] ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 อันเป็นส่วนหนึ่งในข้ออ้างของการยึดอำนาจในเวลาอีก 1 ปี ถัดมา

รายงานชิ้นนี้ ต้องการอธิบายฐานะทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการรัฐประหารครั้งนั้น เพื่อชี้ให้เห็นลักษณะเฉพาะอันเป็นแบบแผนให้ผู้นำการรัฐประหารในยุคหลังเดินตาม โดยมี 3 ลักษณะสำคัญดังนี้ คือ หนึ่ง ปิดฉากบทบาทคณะราษฎร สอง ต้นแบบการยึดอำนาจในยุคหลัง และ สาม เปลี่ยนโครงสร้างสถาบันการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ

หนึ่ง ปิดฉากบทบาทคณะราษฎร

การวางแผนยึดอำนาจของ “คณะทหาร” (คณะรัฐประหารเรียกตัวเองเช่นนั้น) ที่นำโดยนายทหารนอกราชการ อันมี พลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำ เริ่มปฏิบัติการจับกุมผู้นำของรัฐบาล และได้จัดกำลังส่วนหนึ่ง ประกอบไปด้วย น.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.ท.ถนอม กิตติขจร และ นายประพันธ์ ศิริกาญจน์ ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญ (ฉะบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จะได้รับการลงนามโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ถัดจากนั้นเกิดกระบวนการปราบปรามนักการเมืองที่สนับสนุนคณะราษฎรสายปรีดี พนมยงค์ นักการเมืองฝ่ายซ้าย นายทหารที่สนับสนุนปรีดี ผู้นำขบวนการแรงงานและนักศึกษาหัวก้าวหน้า และต่อมาก็เป็นจอมพล ป. ค่อยๆ ถูกกำจัดออกไป[2] เหตุการณ์นี้สืบเนื่องและหนักมากขึ้นในครึ่งแรกของทศวรรษ 2490 และถึงจุดสูงสุดในเหตุการณ์ “กบฏสันติภาพ” ในปี 2495 ซึ่งสมาชิกของขบวนการสันติภาพนี้ คือ นักการเมืองที่สนับสนุนคณะราษฎรสายปรีดี พนมยงค์

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ รัฐธรรมนูญที่เคยเป็นสิ่งที่ได้รับการเชิดชูภายใต้ระบอบใหม่หลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีความหมายเปลี่ยนไป นิยามประชาธิปไตยถูกให้ความหมายใหม่จากปัญญาชนอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยม โดยเป็นการปรับประชาธิปไตยแบบเสรีให้เข้ากับกลุ่มอำนาจที่เพิ่งโค่นคณะราษฎรลงไป กล่าวคือ พวกเขามิได้ย้อนกลับไปยังสมบูรณาสิทธิราชย์ แต่เลือกอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชนชั้นนำ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยอย่าง เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย”

ในแง่นี้แล้ว แม้ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตสมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถถ่วงทานอุดมการณ์ของอนุรักษนิยมและกษัตริย์ ที่กลับมามีอำนาจหลังรัฐประหาร 2490 ได้

ภายใต้บริบทของทศวรรษ 2490 จึงเริ่มมีกระบวนการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์หลังจากนั้น ทั้งในรัฐธรรมนูญ 2490 และรัฐธรรมนูญ 2492 ก่อนจะมีการช่วงชิงฐานะการนำในระยะเวลาอันสั้นในรัฐธรรมนูญ 2495 แต่ก็นับว่าอิทธิพลของคณะราษฎรได้ปิดฉากลงไปแล้ว

สอง ต้นแบบการยึดอำนาจในยุคหลัง

ไม่มีองค์กรกองทัพใด จะสั่งสมทักษะของการยึดอำนาจรัฐประหารมากที่สุดเท่ากับกองทัพไทย เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติและรัฐประหารที่มีจำนวนมากกว่า 13 ครั้ง ปฏิบัติการนั้น เป็นการใช้หน่วยทหารที่คุมกำลังเข้าจับตัวผู้นำรัฐบาล ในกรณีรัฐประหาร 2490 คณะรัฐประหารเริ่มเข้าคุมตัว หลวงธำรงนาสวัสดิ์ และความพยามยามคุมตัว ปรีดี พนมยงค์ ที่ทำเนียบท่าช้าง ถัดจากนั้นจึงเป็นการประกาศยึดอำนาจและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในเวลาต่อมา

หนึ่งในวิธีการการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารในยุคหลังอันเป็นที่ยอมรับว่ามีต้นแบบมาจากรัฐประหาร 2490 คือ ข้ออ้างของการรัฐประหาร ซึ่งคณะรัฐประหาร 2490 อาศัยเหตุผลดังนี้

  1. รัฐประหาร ทำขึ้นเพื่อประเทศชาติโดยส่วนรวม มิใช่เพื่อบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ 
  2. รัฐประหาร ที่โค่นล้มรัฐบาลหลวงธำรงฯ จะจัดตั้งรัฐบาลรัฐบาลขึ้นใหม่ โดยจะยึดมั่นในหลักการชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
  3. รัฐประหาร ทำขึ้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศของกองทัพบกที่ได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างไม่ยุติธรรม
  4. รัฐประหาร กระทำขึ้นเพื่อให้การปกครองของประเทศกลับมีประสิทธิภาพดังเดิม และเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
  5. รัฐประหาร ทำขึ้นเพื่อคลี่คลายคดีวางแผนปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจับกุมบุคคลผู้มีส่วนร่วมมาลงโทษ และ
  6. รัฐประหาร ทำขึ้นเพื่อขจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซากไปจากประเทศและทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปชั่วกาลนาน

คณะทหารที่ทำการยึดอำนาจ ตระหนักดีถึงการได้รับการยอมรับที่ไม่มากพอ ฉะนั้นการเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย โดยจัดตั้ง “กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จึงเป็นสิ่งจำเป็นและพึงตระหนัก

ในการยึดอำนาจในยุคหลังทุกครั้ง นอกจากข้ออ้างการรัฐประหารแล้ว เหล่าผู้ยึดอำนาจจำเป็นต้องยึดโยงกับฐานอำนาจอื่นนอกเหนือสถาบันรัฐสภา สิ่งสำคัญที่ตามมาทุกครั้ง จึงเป็นการยกเลิกองค์กรที่เชื่อมโยงกับประชาธิปไตย

ตัวอย่างเช่น คณะรัฐประหาร 2490 นอกจากจะยกเลิกคณะรัฐบาลแล้ว พวกเขาจำต้องยกเลิก สภาผู้แทนราษฎรและพฤฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นเดียวกันกับรัฐประหารในยุคหลัง สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกยกเลิกไป แล้วแทนที่ด้วยสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง

สาม เปลี่ยนโครงสร้างสถาบันการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ

“… การกระทำรัฐประหาร ในขั้นแรกเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและ กฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบัน แต่เมื่อได้กระทำรัฐประหารสำเร็จจนผู้กระทำ รัฐประหารได้เข้าครองอำนาจอันแท้จริงในรัฐแล้ว ผู้กระทำรัฐประหารก็เป็น รัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเลิกล้มรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่ได้ และอาจออกรัฐธรรมนูญและกฎหมายใหม่ได้ บรรดาการกระทำที่ได้เป็นการละเมิด รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่เดิมย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อไป

ฉะนั้น เมื่อคณะทหารได้ก่อรัฐประหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ขอพระราชทานให้ตรารัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับเดิมย่อมเป็นอันล้มเลิกไป โดยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีชุดเก่าซึ่งแต่งตั้งโดยอาศัยตามรัฐธรรมนูญเดิม ก็ต้องหมดไปด้วย ไม่จำเป็นจะตั้งให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมลาออก ฉะนั้น ในกรณีนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทีเดียว และขอได้โปรดเข้าใจเพิ่มเติม ด้วยว่า ไม่ใช่แต่คณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่หมดไปในตัว แม้สถาบันต่างๆ ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญเดิม เช่น พฤฒสภาและสภาผู้แทนก็เป็นอันเลิกล้มไปในตัวด้วยเหมือนกัน”[3]

ข้อความข้างต้น สะท้อนถึงกระบวนการฉีกรัฐธรรมนูญด้วยข้ออ้างรัฏฐาธิปัตย์อย่างเป็นระบบ สิ่งนี้เป็นกระบวนที่สืบทอดมายังปัจจุบัน นั่นคือหลังการยึดอำนาจจำเป็นต้องตรากฎหมายพิเศษขึ้นมาปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐประหาร ในอดีตที่ผ่าน นอกเหนือจากการใช้กฎอัยการศึกและกฎหมายพิเศษแล้ว

เราจะเห็นว่ามีการให้อำนาจเด็ดขาดแก่ผู้นำคณะรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ และตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาจัดการกุมอำนาจ เช่น มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างมหาศาลในมาตรา 44 เป็นต้น

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2490 ก็เช่นกัน เหล่าคณะรัฐประหารกำหนดโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 98 มาตรา โดยแบ่งเป็น 8 หมวด ได้แก่หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 อภิรัฐมนตรี หมวด 3 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม หมวด 4 อำนาจนิติบัญญัติ หมวด 5 อำนาจบริหาร หมวด 6 อำนาจตุลาการ  หมวด 7 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และหมวด 8 บทสุดท้ายและบทเฉพาะกาล

พึงสังเกตว่า มีการเพิ่ม หมวดอภิรัฐมนตรี ขึ้นมา ซึ่งต่อมาจะพัฒนาขึ้นมาเป็นองคมนตรีสภา อันเป็นองค์กรที่คณะราษฎรได้ยกเลิกไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และองคมนตรีสภา ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญ 2492 จนสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีอำนาจที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเกี่ยวข้องกับองคมนตรีจะมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ 2534 ที่ร่างขึ้นในสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

โดยในส่วนของการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 16 ระบุแต่เพียงให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยตัดเนื้อหาในส่วนของการ “ให้ความเห็นชอบ” ของรัฐสภา ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2492 นี่คือบทบาทที่เพิ่มขึ้นขององค์กรที่เป็นผลมาจากการรัฐประหาร 2490

เหล่านี้คือ ฐานะทางประวัติศาสตร์ ที่นับเป็นจุดพลิกผันของสังคมไทย อันมีจุดตั้งต้นมาจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 หรือ 75 ปีที่ผ่านมา

 

[1] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ: Silkworm Books, หน้า 342

[2] เพิ่งอ้าง หน้า 342-348

[3] สุชิน ตันติกุล, รัฐประหาร 2490, กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2515. หน้า 160-161