(1)
โทรเลข ร.ม.ต. ต่างประเทศอเมริกันถึงเอกอัครรัฐทูตอเมริกันประจำอังกฤษ
740.0011 PW/S-1545: Telegram
The Secretary of State to the Ambassador in the United Kingdom.
(Winant)
Washington, August 15, 1945 - 3 p.m.
6922: British Embassy has informed us.
a) that FonOff has authorized Mountbatten personally to advise RUTH to make announcement as soon as possible after final Japanese surrender disavowing Thai declaration of war upon Great Britain and United States and all measures flowing therefrom which may operate to prejudice of Allies, repudiating alliance and all other agreements with Japan, placing Thailand and its armed forces at service of Allies, and declaring his readiness to send a representative immediately to Kandy to get in touch with Allies. British suggested that announcement might also state that RUTH had informed British and American Governments at an earlier stage that resistance movement wished to initiate overt action against the enemy and refrained only on express request of Allies for operational reasons.
b) that FonOff also informed Mountbatten if RUTH takes necessary initiative as advised, British are disposed, because of support by Thai resistance movement and of Allied request not to take action last May, to forego pressing for separate act of unconditional. surrender which under existing circumstances would be considered normal procedure, and to mold their policy according to Thai readiness to make restitution for the past and to cooperate for the future.
c) that if RUTH follows advice and sends representative to Kandy, British propose to communicate with Dept before commencing negotiations regarding the terms on which they would be prepared to terminate state of war.
BYRNES
แปลเป็นภาษาไทย
เลขที่ 740.0011 PW/S-1545 : โทรเลข
ร.ม.ต. การต่างประเทศถึงเอกอัครรัฐทูตในสหราชอาณาจักร
(ไวแนนท์)
วอชิงตัน, 15 สิงหาคม 1945 เวลาบ่าย 3 โมง
(ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 1945 เวลา 3 น. กรุงเทพฯ)
6922. สถานเอกอัครราชทูตบริติชแจ้งเราว่า
(ก) กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษใต้อนุญาตเมาน์ทแบทเตนแนะนำเป็นส่วนตัวมายัง “รูธ” ให้ประกาศโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นได้ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนในที่สุดแล้วนั้น บอกปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่อบริเตนใหญ่และ ส.ร.อ. อีกทั้งมาตรการทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการนั้นที่ดำเนินไปเป็นที่เสียหายแก่สัมพันธมิตร ยกเลิกการเป็นพันธมิตรและข้อตกลงอย่างอื่นทั้งสิ้นกับญี่ปุ่น ให้ประเทศไทยและกองกำลังทหารไทยบริการสัมพันธมิตรและแถลงว่าพร้อมที่จะส่งผู้แทนไปยังนครแคนดีทันทีเพื่อติดต่อกับสัมพันธมิตร บริติชได้เสนอว่าประกาศนั้นอาจกล่าวด้วยว่า “รูธ” ได้แจ้งแก่รัฐบาลบริติชและอเมริกาตั้งแต่ระยะเนิ่นๆ แล้วว่าขบวนต่อต้านต้องการริเริ่มปฏิบัติการต่อสู้ศัตรูอย่างเปิดเผยและยับยั้งไว้ก็เพราะคำร้องขอโดยเฉพาะเจาะจงของสัมพันธมิตรเพื่อการปฏิบัติทางการทหาร
(ข) ให้เมาน์ทแบทเทนแจ้งด้วยว่า ถ้า “รูธ” ริเริ่มที่จำเป็นตามคำแนะนำนั้น บริเตนก็พร้อมแล้วเพราะความอุปการะของขบวนต่อต้านของไทยและคำร้องขอของสัมพันธมิตรที่มิให้ลงมือปฏิบัติการเปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่แล้วมา ในการที่ (บริติช) ไม่ดำเนินต่อไปซึ่งการบังคับให้ (ไทย) ทำเอกสารการยอมจำนน (ยอมแพ้) โดยไม่มีเงื่อนไขซึ่งตามสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ก็เป็นวิธีธรรมดา (ที่ต้องทำเช่นนั้น) และ (บริติช) จะปรับปรุงนโยบายของตนตามที่ไทยพร้อมจะคืนให้ซึ่งสิ่งที่แล้วมาในอดีตและที่ร่วมมือในภายหน้า
(ค) ถ้า “รูธ” ทำตามคำแนะนำและส่งผู้แทนไปยังนครแคนดี บริติชเสนอที่จะติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันก่อนที่จะตั้งต้นเจรจาเกี่ยวกับข้อความที่เขา (ไทย) เตรียมทำให้สถานะสงครามสุดสั้นลง
(ลงนาม) เบิร์นส์
(ร.ม.ต. กระทรวงการต่างประเทศ)
(2)
ทันใดที่ปรีดีฯ ได้รับสาส์นของ ลอร์ด เมานท์แบทเตนดังกล่าวใน (1) ข้างบนนั้นแล้ว ปรีดีฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงได้เชิญนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี และนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี สั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรีมาปรึกษาเพื่อที่จะประกาศสันติภาพและเห็นควรว่า นายทวี บุณยเกตุ เป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศนั้นมีความดังต่อไปนี้
ประกาศสันติภาพ
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2487)
ปรีดี พนมยงค์
โดยที่ประเทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ เมื่อพุทธศักราช 2484 อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว ในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง และทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก
เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติ ดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงคราม และการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว
บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้กระทำ ณ นครปอตสดัมแล้ว สันติภาพจึงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย อันเป็นความประสงค์ของประชาชนชาวไทย
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้
บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง คือรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริด เชียงตุง และเมืองพานนั้น ประเทศไทยไม่มีความปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านี้ และพร้อมที่จะจัดการเพื่อส่งมอบในเมื่อบริเตนใหญ่พร้อมที่จะรับมอบไป
ส่วนบรรดาบทกฎหมายอื่นๆ ใด อันมีผลเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่และเครือจักรวรรดิก็จะได้พิจารณายกเลิกไปในภายหน้า บรรดาความเสียหายอย่างใดๆ จากกฎหมายเหล่านั้น ก็จะได้รับชดใช้โดยธรรม
ในที่สุดนี้ ขอให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ตลอดจนชนต่างด้าวซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย จงตั้งอยู่ในความสงบ และไม่กระทำการใดๆ อันจะเป็นการก่อกวนความสงบเรียบร้อย พึงยึดมั่นในอุดมคติ ซึ่งได้วางไว้ในข้อตกลงของสหประชาชาติ ณ นครซานฟานซิสโก
ประกาศ ณ วันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2488 เป็นปีที่ 12 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ทวี บุณยเกตุ
รัฐมนตรี
ข้อสังเกต คำอ้างของ 2 อดีตนายกฯ ไทย
อดีตนายกรัฐมนตรีไทยซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 2 ท่าน ได้กล่าวคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการที่ปรีดีฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. และบริเตนใหญ่ว่าเป็นโมฆะ ปรีดีจึงขอชี้แจงท่านผู้อ่านผู้ฟังดังต่อไปนี้
(ก) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2525 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีไทยและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงในที่ประชุมงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” ที่จัดขึ้น ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีใจความตอนหนึ่งว่า
“ตอนเสร็จสงครามใหม่ๆ เราก็ประกาศสงครามเป็นโมฆะภายใน ฝรั่งมันก็หัวร่อเอา โมฆะอะไร ไอ้ดัทช์คนหนึ่งมันถูกเอาไปขัง Death Railway เมืองกาญจน์เหลือแต่กระดูก ทำอะไรก็ไม่อ้วน มันบอกว่า แล้วยังไงล่ะ โมฆะแล้ว เนื้อผมได้คืนไหม ถ้าไม่ได้คืน เขาไม่รับนับถือเลยประกาศเป็นโมฆะนี่.....”
ปรีดีฯ ขอเสนอท่านที่มีสติปัญญาซึ่งต้องการสัจจะโปรดอ่านสำเนาเอกสารหลักฐานจากหนังสือรัฐบาลอเมริกันชื่อ “Foreign Relations of the United States” ฉบับ ค.ศ. 1945 เล่ม 6 หน้า 1278-1279 ซึ่งลงพิมพ์สำเนาโทรเลขของ ร.ม.ต. ต่างประเทศอเมริกันถึงเอกอัครรัฐทูตอเมริกันประจำอังกฤษที่ 740.0011 PW/S-1545 ลงวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ซึ่งกระทรวงอเมริกันนั้นได้แจ้งให้เอกอัครรัฐทูตอเมริกันประจำอังกฤษทราบว่า รัฐบาลอเมริกันได้อนุญาตให้ ลอร์ด เมานท์แบทเตนแนะนำ “รูธ” (ปรีดีฯ) ว่าภายหลังที่ญี่ปุ่นได้ยอมจำนนแล้ว ให้ปรีดีฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประกาศโดยเร็วที่สุดปฏิเสธการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และ ส.ร.อ. ดังปรากฏข้อความเต็มตามโทรเลขนั้น ซึ่งปรีดีฯ ได้นำลงพิมพ์ไว้ในข้อ 24 (1) ข้างต้นนั้นแล้ว ปรีดีฯ ก็ได้จัดการตามคำแนะนำนั้นซึ่งสืบเนื่องจากข้อเสนอของปรีดีฯ ตามเอกสารหลักฐานหลายฉบับซึ่งได้ลงพิมพ์ไว้ในข้อ 23 นั้นแล้ว อันเป็นผลที่บริเตนใหญ่ไม่บังคับให้ประเทศไทยต้องทำเอกสารการยอมจำนนหรือการยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะรัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามบริเตนใหญ่และ ส.ร.อ. และบริเตนใหญ่ก็ได้ประกาศสงครามต่อประเทศไทย ซึ่งตามสภาพการทำสงครามนั้นประเทศไทยจะต้องทำเอกสารการยอมจำนนหรือยอมแพ้ ถ้าหากปรีดีฯ มิได้ประกาศว่าการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และ ส.ร.อ. เป็นโมฆะ
ฉะนั้นที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่า “ฝรั่งมันก็หัวร่อเอา” นั้น ก็เป็นฝรั่งที่ไม่รู้เรื่องความจริงที่รัฐบาลอังกฤษและ ส.ร.อ. ได้ตกลงกับปรีดีฯ ไว้ก่อนประกาศสันติภาพที่ประกาศว่าสงครามต่อประเทศทั้งสองนั้นเป็นโมฆะ ส่วนท่านอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น ถ้าสนใจเอกสารหลักฐานแท้จริงที่รัฐบาลอังกฤษอเมริกันเปิดเผยแล้วนั้น ท่านก็ควรกล่าวตามหลักฐานเอกสารแท้จริง จะเป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังที่จะได้ทราบประวัติศาสตร์ที่แท้จริงไว้โดยไม่ต้องหลงเชื่อฝรั่งชาติใดหรือชาติดัทช์ที่พูดจาเหลวไหล
(ข) นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกคนหนึ่งได้แสดงปาฐกถา ณ หอประชุมคุรุสภาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหัวข้อเรื่อง “ชีวิตของข้าพเจ้า” ซึ่งเจ้าภาพได้พิมพ์ปาฐกถานั้นแจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายควงฯ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2511 ปาฐกถาดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนหลายประการเกี่ยวกับการงานของปรีดีฯ ซึ่งปรีดีฯ จะได้ชี้แจงในโอกาสสมควรต่อไป ณ ที่นี้ปรีดีฯ ขอชี้แจงความจริงเฉพาะตอนที่นายควงฯ กล่าวถึงการประกาศว่าการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และ ส.ร.อ. เป็นโมฆะและการปลดอาวุธของทหารญี่ปุ่นภายหลังสงครามดังต่อไปนี้
ข.1 ในหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายควงฯ หน้า 133 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้
“เมื่อเลิกสงครามนั้น ประชาชนชาวไทยทุกคนสบายใจแต่ที่ไหนได้ผมหัวอกเป็นหนอง จะหาทางออกอย่างไรจึงจะเอาประเทศให้รอด ทางหลวงประดิษฐ์ฯ (หมายถึงปรีดีฯ) ฟังวิทยุแล้วก็เรียกผมไปหา บอกว่า ควงๆ ญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว เขาขอยอมแพ้โดยแจ้งผ่านทางรัสเซีย ทีนี้ผมจะหาทางออกอย่างไรเล่าญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ไปแล้ว แต่เมืองไทยยังรบอยู่คนเดียวถึง 15 วัน ท่านทั้งหลายคงไม่ได้นึกหรอกว่าผมไม่ได้ยอมอะไรกับใครเลย และจอมพล ป. ก็ประกาศสงครามกับเขาเสียด้วย ใครๆ ก็ยอมแพ้กันไปหมดแล้ว เหลือแต่เมืองไทยเท่านั้นที่ยังไม่ยอม ตกลงว่าผมนี่ดูจะเก่งกาจนักรบอยู่คนเดียวได้ตั้ง 15 วัน”
คำกล่าวของนายควงฯ ตอนนั้นคลาดเคลื่อนความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คือ
ประการที่ 1 ปรีดี (หลวงประดิษฐ์ฯ) มิได้บอกนายควงฯ ว่า “ญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว เขาขอยอมแพ้โดยแจ้งผ่านทางรัสเซีย”
ปรีดีฯ และท่านผู้สนใจฟังข่าวสงครามด้วยตนเองตลอดมาก็ยังจำได้ว่าญี่ปุ่นเริ่มขอเจรจาเลิกสงครามกับสัมพันธมิตรโดยผ่านรัฐบาลสเปนซึ่งเป็นฝ่ายอักษะด้วยกันกับญี่ปุ่น แต่สเปนประกาศความเป็นกลางของตน ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ตอบไปยังรัฐบาลสเปนว่าญี่ปุ่นต้องยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Surrender) ญี่ปุ่นจึงขอต่อรองไปว่า ญี่ปุ่นยอมแพ้ไทยโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ขอให้สถาบันพระจักรพรรดิคงดำรงอยู่ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงตอบสเปนไปอีกว่า ญี่ปุ่นต้องให้พระจักรพรรดิของตนฟังคำสั่งบังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสัมพันธมิตรที่จะไปยึดครองญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงแจ้งผ่านรัฐบาลสเปนยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขโดยยังคงมีสถาบันพระจักรพรรดิซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตร
ฉะนั้นญี่ปุ่นจึงตกลงยอมแพ้โดยผ่านทางรัฐบาลสเปน มิใช่ผ่านทางรัสเซีย ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ควรรู้ความนึกคิดของญี่ปุ่นที่รักษาศักดิ์ศรีของตนในการที่ไม่ยอมถ่อมตนลงมาแจ้งการยอมแพ้ผ่านรัสเซีย
ประการที่ 2 ปรีดีฯ ขอให้ท่านที่มีสติปัญญาซึ่งปรารถนาสัจจะ โปรดพิจารณาหลักฐานประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะพบความจริงได้ว่าญี่ปุ่นยอมแพ้สัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ต่อมาอีก 1 วันคือวันที่ 16 สิงหาคมปีนั้นเอง ปรีดีฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกาศสันติภาพว่าประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. และบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ประกาศสันติภาพนั้นนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษาของวันเดือนปีนั้นแล้ว
ฉะนั้นการที่นายควงฯ พูดว่า “ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ไปแล้ว แต่เมืองไทยยังรบอยู่คนเดียวถึง 15 วัน” นั้น จึงเป็นคำพูดที่เคลื่อนต่อความจริงถึง 15 เท่า
ข.2 นายควงฯ พูดในปาฐกถาต่อไปว่า
“คุณพระอร่ามมรณชิต ท่านรับฟังวิทยุต่างประเทศพอได้เรื่องอะไรก็มาเล่าให้ฟัง ผมจึงไปหาหลวงประดิษฐ์ฯ บอกว่า อาจารย์ ถ้าจะได้ความแล้ว ไอ้เรื่องโมฆะของอาจารย์ท่านจะใช้ได้...ผมให้หลวงประดิษฐ์ฯ ช่วยร่างประกาศให้ผม แล้วผมก็ไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ทางสภาพอแว่วข่าวว่าเราจะประกาศว่า การทำสงครามของเราเป็นโมฆะก็เอะอะสงสัยกันใหญ่ ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ผมบอกว่า นี่นิ่งๆ นะคุณ ประเดี๋ยวผมจะประกาศเอง แล้วผมก็เดินไปกระซิบกับบรรดาสมาชิกสภาว่า คราวนี้ถ้าพวกคุณไม่ยกมือให้พร้อมเพรียงกันละก็ ตายนะคุณ ผมไม่รู้ด้วยนา ในที่สุดพวกนั้นก็ตกลง พอผมประกาศว่าการทำสงครามเป็นโมฆะ สภาก็ลงมติเห็นชอบ แหม ยกมือกันพรึบหมดแล้วพวกนั้นก็สบายใจ นึกว่าหมดธุระแล้ว แต่ไม่ใช่หมดนะเราต้องฟังอังกฤษและอเมริกาเขาจะว่าอย่างไร
ต่อมาอีกประมาณ 3 วัน อเมริกาก็ปล่อยข่าวออกมาว่าเห็นด้วยไม่เอาธุระกับไทย ส่วนอังกฤษยังแบ่งรับแบ่งสู้ ผมก็รอดตัว ภายหลังลอร์ด หลุย เมานท์แบทเตน โทรเลขมาถึงผมให้จัดการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยทั้งหมด ผมก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรดี ถ้าให้ทหารไทยไปปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นก็จะเกิดเบ่งกันขึ้น แล้วก็อาจเกิดเรื่องใหญ่ ผมจึงเชิญนายพลนาตามูระมาบอกว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรเขาสั่งมาอย่างนี้จะให้ฉันทำอย่างไรเพราะเราก็เป็นเพื่อนกัน นายพลนาตามูระบอกว่าท่าน ไม่ต้องวิตกหรอก ฉันจะปลดอาวุธตัวเอง ท่านส่งทหารไปรับมอบอาวุธตามจำนวนก็แล้วกัน เรื่องก็เป็นอันเรียบร้อย”
ปรีดีฯ ขอให้ท่านมีสติปัญญาซึ่งปรารถนาสัจจะโปรดสังเกตคำพูดของนายควงฯ ที่คลาดเคลื่อนจากหลักฐานประวัติศาสตร์หลายประการดังต่อไปนี้
ประการที่ 1
ตามเอกสารหลักฐานของสัมพันธมิตรซึ่งปรีดีฯ ได้นำมาลงพิมพ์ไว้ในข้อ 24 (1) นั้น ปรากฏชัดว่า รัฐบาลอังกฤษพร้อมด้วยความเห็นชอบของรัฐบาลอเมริกันได้อนุญาตให้ ลอร์ด เมานท์แบทเตนแนะนำมายังปรีดีฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ประกาศว่า การประกาศสงครามที่รัฐบาลไทยทำต่อบริเตนใหญ่และ ส.ร.อ. นั้นเป็นโมฆะ มิใช่เป็นเรื่องที่แนะนำมายังนายควงฯ ฉะนั้นจึงมิใช่นายควงฯ มาขอหรือมาสั่งให้ปรีดีฯ ช่วยร่างประกาศดังกล่าวให้นายควงฯ นำไปแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นเรื่องที่ปรีดีฯ ได้รับสาสน์จาก ลอร์ด เมานท์แบทเตน แล้วจึงเชิญนายควงฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรีมาประชุมที่บ้านปรีดีฯ เพื่อพิจารณาประกาศสันติภาพ โดยเห็นควรให้นายทวี บุณยเกตุเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะเป็นการไม่เหมาะสมที่นายควงฯ จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเนื่องจากนายควงฯ ได้แสดงเปิดเผยต่อสัมพันธมิตรว่าเป็นผู้ร่วมมือกับญี่ปุ่น
ประการที่ 2
คำพูดของนายควงฯ ที่ว่าเมื่อนายควงฯ ประกาศว่าการทำสงครามเป็นโมฆะซึ่งสภาลงมติเห็นชอบตามสำนวนของนายควงฯ ว่า “แหมยกมือกันพรึบหมด” ครั้นแล้วนายควงฯ ก็พูดต่อไปว่า “แล้วพวกนั้นก็สบายใจนึกว่าหมดธุระแล้ว แต่ไม่ไช่หมดนะ เราต้องฟังอังกฤษและอเมริกาเขาจะว่าอย่างไรต่อมาอีกประมาณ 3 วัน อเมริกาก็ปล่อยข่าวออกมาว่าเห็นด้วยไม่เอาธุระกับไทย ส่วนอังกฤษก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ผมก็รอดตัว..”
ปรีดีฯ ขอให้ท่านที่มีสติปัญญาซึ่งปรารถนาสัจจะก็สามารถวินิจฉัยได้เองว่า คำพูดดังกล่าวของนายควงฯ ปราศจากมูลแห่งความจริง เพราะรัฐบาลอังกฤษโดยความเห็นชอบของรัฐบาลอเมริกันอนุญาตให้ลอร์ด เมานห์แบตเตน แนะนำมายังปรีดีฯ ให้ประกาศว่า ประกาศสงครามต่ออังกฤษและ ส.ร.อ. นั้นเป็นโมฆะเมื่อปรีดีฯ ได้มีประกาศดังกล่าวแล้วจึงไม่ต้องรอฟังเสียงของสองประเทศนั้นอีกประมาณ 3 วัน
ประการที่ 3
ตามที่นายควงฯ อ้างว่าลอร์ด หลุย เมานท์แบทเตนโทรเลขมาถึงนายควงฯ ให้จัดการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยให้หมด และนายควงฯ ไปถามนายพลญี่ปุ่นว่าจะให้นายควงฯ ทำอย่างไร และนายพลญี่ปุ่นก็บอกว่าจะปลดอาวุธตนเองนั้นก็เป็นเรื่องเหลวไหลปราศจากมูลความจริงซึ่งขัดต่อเอกสารหลักฐานและสภาพการที่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่เห็นสภาพแก่นัยน์ตาตนเองและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ระลึกภาพได้ว่า กองทหารอังกฤษได้เดินทางเข้ามาทำการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย มิใช่นายพลญี่ปุ่นปลดอาวุธทหารของตนเองโดยมอบอาวุธให้แก่ทหารไทย
หมายเหตุ เพื่อความเป็นธรรมแก่นายควงฯ ปรีดีฯ จึงขอเชิญคำไว้อาลัยซึ่งกรมหมื่นพิทยลาภฯ (พระองค์เจ้าธานีนิวัติ) อดีตอภิรัฐมนตรี, อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, อดีตประธานองคมนตรีได้ประทานไว้ในหน้าต้นแห่งหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายควงฯ ดังต่อไปนี้
ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของนายควง อภัยวงศ์นี้ ข้าพเจ้าพูดได้ด้วยจริงใจว่านับถือความว่องไวเฉลียวฉลาด และน้ำใจกล้าซึ่งปรากฏมาเนืองๆ ในเวลาที่ล่วงมาแล้ว จึงขอสนองคำขอร้องของเจ้าภาพด้วยคำอาลัยข้างบนนี้
กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
วันที่ 30 เมษายน พุทธศักราช 2511
หมายเหตุ :
- คำสะกดดังที่ปรากฏในบทความให้คงตามเอกสารต้นฉบับ
- ตั้งชื่อบทความโดยบรรณาธิการ
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. “ประกาศสันติภาพ.” ใน “ชีวประวัติย่อ นายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง 24 กรกฎาคม 2525)”. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. 2526). หน้า 50-60.
- ชีวประวัติโดยย่อของนายปรีดี พนมยงค์
- ปรีดี พนมยงค์
- การประกาศสันติภาพ
- ฝ่ายสัมพันธมิตร
- กองทัพญี่ปุ่น
- รูธ
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ลอร์ด เมานท์แบทเตน
- ควง อภัยวงศ์
- นายทวี บุณยเกตุ
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
- สหประชาชาติ
- การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่
- พรรคประชาธิปัตย์
- เสนีย์ ปราโมช
- กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- Death Railway
- Foreign Relations of the United States
- ชีวิตของข้าพเจ้า
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข
- Unconditional Surrender
- จักรพรรดิญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- พระอร่ามมรณชิต
- อาเกโตะ นากามูระ
- กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
- พระองค์เจ้าธานีนิวัติ