ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

คำปราศรัยของนายปรีดี : ความก้าวหน้าจะต้องมีชัยต่อความล้าหลัง

6
กันยายน
2565

 

คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ 

ต่อธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพ 

วันที่ 28 ก.ค. 2514 ณ ชานกรุงปารีส

 

ท่านธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพ ผู้เป็นกัลยาณมิตรของผมทั้งหลาย โอกาสนี้เป็นโอกาสหนึ่งที่ผมมีความปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งในการที่ท่านทั้งหลายผู้ใฝ่ในสันติภาพของชาติไทยที่จะคงอยู่ด้วยกันอย่างสันติกับประเทศต่างๆ ที่มีระบบสังคมต่างๆ กัน ได้อุตสาหะเดินทางจากกรุงเทพฯ หลายพันกิโลเมตรมาประชุมที่กรุงเบลกราดเพื่อแสวงหาสันติภาพ โดยวิถีทางกฎหมายซึ่งเป็นวิถีทางอันหนึ่งซึ่งท่านทั้งหลายมีความรู้และความชำนาญ และเมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็ยังได้เสียสละโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากเดินทางต่อมาจนถึงกรุงปารีส เพื่อทัศนาจรสิ่งที่เพิ่มความรู้ในทางประวัติศาสตร์และความรู้ทั่วไป ซึ่งองค์การที่เป็นธุรในการเดินทางได้กำหนดรายการไว้แทบจะหาเวลาว่างเป็นของส่วนตัวได้ยาก แม้กระนั้นท่านทั้งหลายก็ยังได้อุทิศเวลาอันมีค่าส่วนหนึ่งของท่านมาเยี่ยมผมจนถึงที่พัก ณ ชานกรุงปารีส ผมจึงขอขอบคุณท่านทั้งหลายในไมตรีจิตอันแสดงออกซึ่งความเป็นกัลยาณมิตรของผม

เมื่อเราได้พบกันก็เป็นธรรมดาที่เราต้องสนทนากัน แต่การสนทนาของเราไม่เป็นภัยต่อผู้ใด เราได้สนทนากันส่วนมากถึงความระลึกถึงแต่หนหลังเมื่อครั้งท่านทั้งหลายได้เริ่มเข้าเรียน ตั้งแต่เมื่อครั้งเรายังมีเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และบางท่านก็ได้เรียนจนเสร็จชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท และบางท่านซึ่งมีอายุมากจัดอยู่ในรุ่นน้องของผมที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แม้จะมิได้เรียนจากผมโดยตรงแต่ก็ได้อ่านคำสอนและตำราของผมอยู่บ้างจึงเรียกผมว่าอาจารย์เหมือนดังรุ่นน้องๆ และก็เป็นธรรมดาที่ผู้รักชาติอันแท้จริงทั้งหลายไม่อาจอดเว้นแสดงออกถึงความเป็นห่วงใยในชาติไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา เกี่ยวข้องกับบางสิ่งบางอย่างของหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านทั้งหลายยังจำได้ และบางท่านก็คงยังจำเพลง 24 มิถุนา ที่ราษฎรไทยได้ร้องกันมาเป็นเวลาช้านานและเป็นที่ยอมรับกันมากว่า 20 ปี

หลัก 6 ประการย่อๆ ก็คือ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์ของชาติ, การรักษาความปลอดภัยในประเทศเพื่อให้การประทุษร้ายต่อกันให้ลดลงให้มาก, การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคและมีเสรีภาพอันเป็นสิทธิของมนุษยชน และ ก็ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้วว่าสหประชาชาติได้มีปฏิญญาในเรื่องนี้ เมื่อ ค.ศ. 1948 และหลักประการที่ 6 คือ ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ซึ่งท่านทั้งหลายที่เป็นนักศึกษามาแล้วนั้น ก็ได้กล่าวถึงสภาพการณ์แต่หนหลังที่ท่านทั้งหลายได้ประสบมาในระหว่างที่ท่านศึกษาอยู่ที่สถาบันของเรา และทุกท่านก็ยังมีความทรงจำในเรื่องนี้ได้ดีอยู่ว่ามหาวิทยาลัยของเราได้เอาใจใส่ที่จะให้ผู้ต้องการศึกษาได้มีโอกาสศึกษาอย่างเต็มที่

บางท่านก็ได้ระลึกว่าเมื่อครั้งกระทรวงธรรมการสมัยนั้น ได้จัดระบบการศึกษาใหม่ให้มีเตรียมอุดมศึกษาแทนมัธยม 7 และ 8 ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองของเราเรียกว่าเตรียม-ปริญญา เราได้ยอมรับหลักการที่มีการสอบแข่งขันให้เข้าเรียนตามจำนวนที่กำหนด แต่เนื่องจากมีผู้สมัครมากเกินกว่าจำนวนที่จะรับเป็นนักศึกษาเตรียมปริญญา ทางผมซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การก็คิดว่าพวกที่สอบได้เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้จะไปเรียนที่ไหนก็ไม่มีที่เรียน จึงได้จัดให้เขาเหล่านั้นเป็นนักเรียนสมทบเตรียมปริญญา และเรียนหลักสูตรเหมือนกันกับเตรียมปริญญา

ในการนี้ต้องเตรียมสถานที่ให้พอ คือ ในชั้นแรกก็ดัดแปลงอาคารเก่า ซึ่งกรมช่างแสงเก็บอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้ในบริเวณวังหน้าที่มหาวิทยาลัยซื้อมานั้น ให้เป็นที่เรียนแม้จะเป็นพื้นดินหรือพื้นอิฐแต่ที่สำคัญก็คือได้มีที่เรียน

ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยมีทุนขึ้นก็ได้สร้างอาคารเพื่อให้นักศึกษามีที่เรียน แต่ในปีหลังๆ ตึกก็ไม่พอที่จะให้เรียน เพราะต้องการช่วยผู้ซึ่งไม่มีที่เรียน ดังนั้นจึงได้สร้างโรงไม้มุงหลังคาจากบนพื้นดินในบริเวณมหาวิทยาลัย ซึ่งยังมีที่ว่างอยู่เพื่อช่วยให้ผู้ประสงค์ศึกษาได้มีสถานที่ศึกษา เพราะเราเห็นว่าสาระแห่งการศึกษามีความสำคัญแม้สถานที่จะเรียนภายใต้หลังคาจาก

ในวันนี้ ผมมีความยินดีที่ธรรมศาสตร์บัณฑิตบางคนที่มาพบผมซึ่งมีตำแหน่งเป็นตุลาการชั้นผู้ใหญ่ แจ้งว่าได้เคยศึกษาในโรงที่มุงด้วยหลังคาจาก ในฐานะศิษย์เก่าที่ละการเรียนภาษาฝรั่งเศสมาเกือบ 30 ปีแล้ว ไม่เคยมาเมืองนอกก่อนเลย เพิ่งจะมาคราวนี้ ท่านผู้นั้นเปรียบตนเองเหมือนดังลูกทุ่ง ผมจึงได้ทดลองนำจดหมายภาษาฝรั่งเศสซึ่งองค์การแห่งนี้เขียนมาถึงให้ดู แล้วให้ลองอ่านให้ฟังก็ยังอ่านให้ผมฟังได้มีคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และก็ยังสนทนาถึงวิชาอื่นๆ ที่เคยเรียนมาเมื่อยังเป็นวัยรุ่นอยู่ที่แผนกเตรียมปริญญาฯ ก็ทำให้ผมยินดีที่ธรรมศาสตร์บัณฑิตบางคนที่ผ่านเตรียมปริญญาฯ ใต้หลังคาจากยังมีพื้นความรู้เบื้องต้นอันเป็นความรู้ทั่วไปดีอยู่มากจึงขอสรรเสริญ

ส่วนธรรมศาสตร์ผู้อื่นที่ได้เรียนบนตึกก็เป็นเพราะเมื่อสอบแข่งขันเข้าเรียนเตรียมปริญญาฯ ได้ที่ดีกว่าก็เป็นธรรมดาว่าได้เรียนบนตึกและก็ได้มีความรู้ตามหลักสูตรเหมือนกับเพื่อนนักศึกษาอื่นๆ โดยมิได้มีความดูหมิ่นดูแคลนว่าใครได้เรียนที่ตึกและใครได้เรียนใต้หลังคาจากความสามัคคีที่แสดงให้ผมเห็นในการที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน และที่ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของธรรมศาสตร์บัณฑิต จนบรรลุสำเร็จที่ให้ธรรมศาสตร์บัณฑิตและนิติศาสตร์บัณฑิตได้เป็นวิสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา ก็แสดงถึงความสามัคคีของธรรมศาสตร์บัณทิต ส่วนมากที่สุดที่ได้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ผมจึงขอถือโอกาสสรรเสริญและขอบใจไว้เป็นอย่างมาก ณ ที่นี้ด้วย

ขอกล่าวถึงสถานที่เรียนกฎหมายอีกสักเล็กน้อยว่า ในสมัยที่ผมเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมและเนติบัณฑิตอีกท่านหนึ่งซึ่งมาด้วยวันนี้ แม้จะเป็นรุ่นน้องแต่อาจเคยเรียน ณ สถานที่เดียวกันก่อนที่จะย้ายไปเรียนที่อาคารห้างแบดแมนเก่า ซึ่งต่อมาเป็นอาคารกรมโฆษณาการ หรืออาจมีคนแจ้งให้ทราบว่า โรงเรียนกฎหมายเดิมนั้น เป็นอาคารไม้สองชั้นตั้งอยู่ระหว่างศาลสถิตยุติธรรมเก่าและเก๋งจีนที่ชั้นล่างเป็นศาลอาญา ชั้นบนเป็นที่ทำการเนติบัณฑิตยสภา โรงเรียนกฎหมายเป็นเรือนไม้ดังกล่าวนั้น ก็เป็นสถานที่เพาะเนติบัณฑิตรุ่นเก่าหลายรุ่น เวลาสอบไล่ก็ไปสอบกันที่ระเบียงวัดพระแก้ว คือในสมัยนั้นมีสถานที่ที่พอเรียนพอสอบไล่ที่ไหนได้ก็เรียนและสอบกันที่นั่น มิได้เปลืองงบประมาณของแผ่นดินที่จะต้องถือเอาอาคารโอ่อ่าเป็นเงื่อนไขสำคัญ

บางท่านได้ถามถึงความเก่าเรื่องการศึกษาของเนติบัณฑิตยสภาว่าจัดแบบใด เอาหลักมาจากประเทศไหน ผมก็ได้ชี้แจงว่า เสด็จในกรมหลวงราชบุรี ท่านได้ทรงเริ่มจัดขึ้น โดยหลักความเหมาะสมแก่สภาพของไทยเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีหลายสิ่งหลายอย่างท่านได้เอาหลักแห่งการศึกษาที่บาร์ของอังกฤษมา แต่ท่านไม่ได้เอามาทั้งดุ้น ขอให้ท่านทั้งหลายเมื่อกลับประเทศไทยแล้วให้เอาหลักสูตรโรงเรียนกฎหมายตั้งแต่สมัยในกรมพระองค์นั้น มาเทียบดูกับหลักสูตรของบาร์ในอังกฤษสมัยนั้น ก็จะเห็นได้ว่าในสมัยนั้นบาร์ของอังกฤษไม่มีการสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง แต่นักเรียนกฎหมายไทยรุ่นที่ 1 ได้เรียนกฎหมายระหว่างประเทศคดีเมืองโดยเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกรกิจ (โรแลงส์ จักแมง) เป็นผู้สอน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 ซึ่งเป็นปีที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมแบ่งการสอนออกเป็น 2 ภาค ในภาคที่ 1 ก็มีวิชาที่เรียกว่า “ธรรมศาสตร์” หรือ จูริสปรูเด้นซ์ ในภาษาอังกฤษซึ่งที่บาร์อังกฤษสมัยนั้นไม่มีการสอน ก็นับว่าโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมได้มีหลักสูตรที่ก้าวหน้าขึ้นมาอีกก้าวหนึ่ง (วิชาธรรมศาสตร์นั้นเมื่อได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว ได้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า ความรู้เบื้องต้นแห่งกฎหมาย)

บาร์ของอังกฤษนั้น เป็นประเพณีของอังกฤษโดยเฉพาะ ซึ่งแต่เดิมเป็นสถาบันที่ผูกขาดการว่าความและอบรมทนายความ แม้ผู้เสร็จจากมหาวิทยาลัยมีปริญญาสูงเพียงใดก็จำต้องมาศึกษาซึ่งเป็นประเพณีเฉพาะของอังกฤษ ส่วนในประเทศไทยสมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนกฎหมายอยู่ก็ปรากฏแก่ตนเองว่า เนติบัณฑิตยสภาสมัยนั้นไม่ผูกขาดการเป็นทนายความตามแบบอังกฤษ คือ ผู้ใดที่พอมีความรู้ในทางกฎหมายก็ขออนุญาตเป็นทนายความเฉพาะเรื่องได้ เช่น ผมเมื่อครั้งเป็นนักเรียนกฎหมายก็เคยขออนุญาตพิเศษเป็นทนายความในคดีระหว่างอัยการสมุทรปราการ โจทก์ นายลิมซุ่นหง่วน จำเลย ซึ่งถูกฟ้องว่าเรือใบเดินทะเลของตนไปชนพลับพลาในหลวงที่ปากน้ำ ผมในฐานะทนายต่อสู้ว่าเป็นภัย นอกอำนาจ เวลานั้นยังไม่มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้ศัพท์ใหม่ว่า เหตุสุดวิสัย ผมจึงต้องใช้ศัพท์เก่าที่ปรากฏในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จอ้างคดีตัวอย่างสมัยพระเอกาทศรถ ในคดีจีนเก๋งเซ่งที่เป็นผู้เช่าสำเภาไปค้าขายและถูกพายุอับปางลงกลางทะเลเจ้าของเรือได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย คดีว่ากันจนถึงฎีกาต่อพระเอกาทศรถ ซึ่งทรงวินิจฉัยว่าเป็น ภัยนอกอำนาจ ผู้เช่าเรือไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย ขอให้ท่านทั้งหลายไปตรวจดูคำพิพากษาฎีกาในปี พ.ศ. 2463 ผมได้กล่าวเลยไปถึงฎีกาเก่าๆ ดังกล่าวแล้วออกจะมากไปแต่สาระก็อยู่ที่ว่า

เนติบัณฑิตยสภาของไทยสมัยนั้น มิได้เอาอย่างอังกฤษมาทั้งดุ้น ท่านผู้ใหญ่สมัยนั้นถือว่า ชาติไทยเป็นชาติเอกราชไม่ใช่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ที่อังกฤษทำอย่างไรเราต้องทำอย่างนั้น หรือฝรั่งเศสทำอย่างไรเราจะต้องเอาอย่างนั้น เราเอาสิ่งที่ดีของเขามา โดยสมานกับสภาพท้องที่กาลสมัยให้เหมาะสมแก่ไทยเรา

มีบางคนเคยกล่าวไว้ว่า ผมได้นำหลักสูตรของฝรั่งเศสมาวางไว้ในแผนกเตรียมปริญญาและการศึกษาปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้ที่เคยกล่าวเช่นนั้นไม่พิจารณาให้รอบคอบว่าในประเทศฝรั่งเศสเอง มีหลักสูตรอย่างใดและที่ผมได้นำไปสำหรับมหาวิทยาลัยของเรานั้น เป็นการเอาอย่างของประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศใดมาทั้งดุ้น ผมได้กล่าวแล้วว่าสิ่งใดของอังกฤษหรือฝรั่งเศสหรือของประเทศใดซึ่งเป็นวิธีการที่ดี เราก็ย่อมที่จะเอาแต่เพียงเป็นเยี่ยงแล้วปรับปรุงให้เหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาลสมัยของไทย และมีส่วนที่เราเห็นว่าเหมาะสมของเราเองปรุงแต่งขึ้นเพื่อของไทยเราโดยเฉพาะ ก็ผู้ที่เคยกล่าวตำหนิเช่นนั้นรังเกียจหลักสูตรที่อ้างว่าเอามาจากฝรั่งเศส เขาจะให้เอาหลักสูตรอะไรที่มิได้มีตัวเยี่ยงมาจากประเทศอื่นบ้าง

แต่ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเถิด ปัญหาก็อยู่ที่ว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาเตรียมปริญญาก็ดี ผู้ที่เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตก็ดี มีความพอใจในความรู้ที่ได้ศึกษามาจากหลักสูตรนั้นหรือไม่ และได้ใช้ความรู้นั้นๆ ประกอบอาชีพได้หรือไม่ เท่าที่ผมได้รับทราบจากท่านทั้งหลายที่มาในวันนี้และจากเพื่อนของท่านที่มิได้มาในวันนี้ก็แสดงความพอใจ ซึ่งมิใช่แสดงความพอใจเพื่อจะเอาใจผม แต่ความสำเร็จในการงานที่ท่านได้บรรลุผลสำเร็จเป็นบทพิสูจน์คำพูดอันจริงใจของท่าน 

ในส่วนผมซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การได้วางหลักสูตรโดยคำนึงที่จะให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา มีโอกาสได้ประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง โดยมิได้จำกัดอยู่เพียงกฎหมายแต่อย่างเดียวเพราะอาชีพนี้มีอยู่จำกัด ดังนั้นในขั้นเตรียมปริญญาจึงพยายามให้ได้ศึกษาวิชาหลายๆ อย่างซึ่งไม่มีในมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส แต่เพื่อที่จะให้ผู้สำเร็จเตรียมปริญญาแม้จะมิได้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตก็ไปประกอบอาชีพลูกจ้างในวิสาหกิจหรือไปประกอบอาชีพอิสระได้ ซึ่งผมมีความยินดีที่หลายคนได้มีความสำเร็จในการค้าและการเศรษฐกิจต่างๆ และบางคนก็อาศัยวิชาดนตรีที่ตามหลักสูตรเตรียมปริญญาบังคับให้เล่นเครื่องดนตรีได้อย่างน้อยคนละหนึ่งอย่างนั้น เมื่อนักศึกษาผู้นั้นไม่สามารถเรียนชั้นปริญญาตรีได้สำเร็จก็ไปเล่นเครื่องมือดนตรีร่วมกับวงดนตรีแล้วในที่สุดก็เป็นหัวหน้าวงดนตรีถือเอาการดนตรีเป็นอาชีพสำคัญ

ส่วนผู้สำเร็จขั้นปริญญาตรีซึ่งมีการเรียนทั้งกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนรวมทั้งเศรษฐศาสตร์ด้วยนั้น นอกจากเป็นผู้พิพากษา อัยการและทนายความแล้ว ก็เป็นนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายตำรวจ สหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการคลัง, การเศรษฐกิจ, การทูต และอื่นๆ อีกมากหลาย ดังนั้น ถ้าผมจะให้นักศึกษาขั้นปริญญาตรีเรียนแต่กฎหมายอย่างเดียว ก็คงจะต้องคอยตำแหน่งว่างซึ่งมีอยู่จำกัดเฉพาะในทางกฎหมายเท่านั้น ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นบทพิสูจน์ในทางปฏิบัติ ซึ่งท่านทั้งหลายเป็นผู้แสดงให้ประจักษ์แก่ราษฎรไทยแล้ว

บัดนี้จะขอกล่าวในทางทฤษฎีของวิทยาศาสตร์สังคมว่า การที่ผมได้กำหนดให้นักศึกษาขั้นปริญญาตรีเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยนั้น ก็มีเหตุผลว่า มนุษยชาติที่ร่วมกันอยู่เป็นมนุษยสังคมนั้นก็โดยต้องมีเศรษฐกิจเป็นรากฐาน คือ จำต้องมีปัจจัยในการดำรงชีพและออกแรงงานทางกาย หรือทางสมองเพื่อผลิตปัจจัยในการดำรงชีพนั้นขึ้นมา และในการนั้นก็จำต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในการผลิตชีวปัจจัย เศรษฐกิจจึงเป็นรากฐานสำคัญของมนุษยสังคม ส่วนสังคมใดจะเป็นไปโดยวิธีใดนั้น ก็สุดแท้แต่ความสัมพันธ์ในการผลิตชีวปัจจัย คือ ถ้าเป็นความสัมพันธ์ฉันพี่น้องอย่างระบบปฐมสหการ สถาบันการเมืองของสังคมก็เป็นไปเช่นนั้น ถ้าเป็นไปตามระบบทาสหรือระบบศักดินาระบบทุนหรือท่านทั้งหลายไปกรุงเบลกราดมาซึ่งที่นั่นเขาเรียกว่าสังคมนิยมตามแบบของเขา สถาบันของสังคมนั้นๆ ก็เป็นไปตามความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจของเขา และประเทศจำต้องมีกฎหมาย กฎหมายนั้นก็บัญญัติขึ้นตามระบบของแต่ละสังคมซึ่งมีรากฐานมาจากระบบเศรษฐกิจของสังคม

ฉะนั้น การที่ให้นักศึกษาขั้นปริญญาตรีซึ่งแม้จะดำเนินอาชีพกฎหมายได้เรียนเศรษฐศาสตร์ก็เพื่อให้รู้ถึงพื้นฐานของสังคมซึ่งเป็นที่มาแห่งสถาบันการเมืองและกฎหมายของสังคมและก็ให้มีความรู้กว้างขวางในทางเศรษฐกิจ แม้ผู้ที่ดำเนินวิชาชีพทางกฎหมาย ภาษิตโบราณเคยกล่าวไว้ว่า “รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม” ท่านทั้งหลายที่มาในวันนี้ก็ดีหรืออีกหลายคนที่มาพบผมก็ดี ไม่เคยมาร้องอุทธรณ์ต่อผมว่า ท่านถูกแบกวิชาที่ผมให้ไว้จนหามไม่ไหวแล้ว แต่ตรงกันข้ามกลับบอกผมว่าอยากจะหาความรู้เพิ่มเติม ผมก็ชรามากแล้วจึงขอให้ท่านทั้งหลายได้ค้นคว้าศึกษาด้วยตนเองต่อไป ตามแนวที่ผมเคยให้การอบรมไว้เมื่อก่อนแจกปริญญาบัตรว่า

ปริญญาที่มอบให้นั้นเปรียบประดุจเพียงแต่ยื่นกุญแจให้เท่านั้น ขอให้ท่านนำกุญแจนั้นไปไขคลังมหาศาลแห่งความรู้ของมนุษยชาติที่ได้สะสมมา และกำลังพัฒนาอยู่ในทุกวันนี้ และกำลังจะพัฒนาต่อไปในอนาคต

ขอให้ท่านทั้งหลายได้เดินก้าวหน้าต่อไป โดยไม่ต้องกังวลบุคคลใดๆ ที่จะมารั้งให้ถอยหลัง ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และสรรพวิชาทั้งปวง ตลอดจนความก้าวหน้าของมนุษยสังคมอาจถูกรั้งไว้ได้บางระยะเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ไม่มีพลังใดๆ ที่จะยับยั้งไว้ได้ชั่วกัลปาวสาน คือ ความก้าวหน้าจะต้องมีชัยต่อความล้าหลัง

ในโอกาสนี้ ขออวยพรให้ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิต ผู้ใฝ่ในสันติภาพซึ่งเป็นกัลยาณมิตรของผมทั้งที่มาในวันนี้ และมิได้มาในวันนี้ จงประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพร้อมด้วยความเจริญก้าวหน้า และบำเพ็ญคุณประโยชน์เพื่อความยุติธรรมของราษฎรเละความเป็นเอกราชประชาธิปไตยของชาติไทย อันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคนนั้นเทอญ.

หมายเหตุ : ตั้งชื่อเรื่องโดยบรรณาธิการ

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. “คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพ วันที่ 28 ก.ค. 2514 ณ ชานกรุงปารีส.” ใน “คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ และบางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย” อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. อู๊ต นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม. อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชศรีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 20 เมษายน 2517”. (กรุงเทพฯ: สหประชาพาณิชย์.2517), หน้า 2-8.