ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สองปีกพลังสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

29
กันยายน
2565

จากตอนที่แล้ว ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ในประชาธิปไตยแบบสากล จะเห็นว่าการประเมินระดับประชาธิปไตยโดย Democracy Index ได้อาศัยตัวชี้วัดหลายเรื่อง โดยมีจุดร่วมสำคัญอยู่ใน 5 ประเด็น ได้แก่ กระบวนการเลือกตั้ง บทบาทของรัฐบาล การมีส่วนร่วมทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง และเสรีภาพของพลเมือง ผลที่ตามมา คือ ในกลุ่มประเทศที่ได้รับการเมินให้เป็น ประชาธิปไตยสูง (Full Democracy) นั้น ส่วนใหญ่ใช้แนวทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy)

กล่าวคือ ในทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยแบบเสรี ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สื่อมวลชนมีอิสระในการตรวจสอบรัฐ การใช้อำนาจบริหารแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขันทางการเมืองอย่างเปิดกว้าง

ขณะที่ในทางเศรษฐกิจ เหล่าประเทศยุโรปเหนือมักสร้างเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการ แต่ก็มิได้ปล่อยปละให้นายทุนสูบเอาทรัพยากรจากประชาชนไปสู่คนเพียงหยิบมือ กลไกในการกระจายความมั่งคั่งนั้นจึงกระทำผ่านสิ่งที่เรียกว่า “รัฐสวัสดิการ”

ข้อที่ควรพิจารณา คือ  การขึ้นมามีบทบาทนำทางการเมืองของเพศหญิง ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ล้วนเป็นดอกผลของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศและการเมือง ซึ่งเป็นสองปีกพลังที่เกื้อหนุนให้ประเทศไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์

เราลองพินิจชีวิตของ 2 ผู้นำที่สำคัญแห่งยุคสมัย คนแรก คือ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เธอได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากการบริหารประเทศในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด ทั้งยังรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ได้อย่างดี 

 

จาซินดา อาร์เดิร์น ที่มา : วิกิพีเดีย
จาซินดา อาร์เดิร์น
ที่มา : วิกิพีเดีย

 

ชีวิตของอาร์เดิร์น ถือเป็นดอกผลของคนชั้นล่างในสังคมโดยแท้ เธอคือสมาชิกสหภาพแรงงาน เริ่มทำงานการเมืองด้วยการเป็นนักวิจัยในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านั้นได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสหภาพเยาวชนสังคมนิยมนานาชาติ อาร์เดิร์นได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2008 ฉะนั้นเมื่อชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายทางการเมืองจึงปรากฏออกมาเป็นชุดของคุณค่าประชาธิปไตยแบบเสรีทั้งสิ้น กล่าวคือ ในทางการเมืองพยายามรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชน เปิดรับผู้อพยพจากดินแดนที่ยากแค้นหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่ล่าทางการเมือง

เราคงได้เห็นว่า มีคนไทยจำนวนหนึ่งเลือกที่จะพลัดที่นาคาที่อยู่ไปปักหลักยังดินแดนนี้ นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา หนึ่งในนั้นคือ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตมือปราบปรามการค้ามนุษย์คนสำคัญของไทย ที่เลือกลี้ภัยทางการเมืองหลังจากที่เขาถูกรังแก จากการสืบสวนหาผู้กระทำผิดจากการค้าชีวิตชาวโรฮิงยา แล้วพบว่ามีความเกี่ยวพันกับคนในกองทัพและผู้นำระดับสูง

ในทางเศรษฐกิจ การรักษาสมดุลของอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับคุณภาพชีวิตดำเนินไปอย่างสอดคล้องกัน ในการประเมินระดับคุณภาพชีวิต นิวซีแลนด์ติดระดับ TOP ของโลกเสมอ นี่คือเครื่องการันตีผู้นำหญิง อันเป็นลูกสาวของสหภาพแรงงานได้เป็นอย่างดี

 

ซานนา มาริน ที่มา : วิกิพีเดีย
ซานนา มาริน
ที่มา : วิกิพีเดีย

 

ขณะที่คนถัดมา คือ ซานนา มาริน (Sanna Marin) เธอเป็นผู้นำฟินแลนด์ ที่ตัดสินใจครั้งสำคัญในการพาประเทศเข้าร่วมสมาชิกองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งทำให้ฟินแลนด์ต้องทิ้งฐานะประเทศปลอดกำลังทางการทหารครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

หญิงสาวในวัยเพียง 36 ปี เกิดขึ้นมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อติดสุราเรื้อรัง และใช้ความรุนแรงกับแม่ของเธอ จนกระทั่งคุณพ่อต้องเข้ารับการบำบัดด้วยสวัสดิการของรัฐ แม่ได้แต่งงานใหม่กับคนรักที่เป็นเลสเบี้ยน เธอจึงเติบโตขึ้นมาจากครอบครัว LGBTIQ+ โดยแท้ และศึกษาต่อด้วยการทำงานเลี้ยงตัวเอง งานการเมืองครั้งแรกของเธอคือเทศบาลท้องถิ่น ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในเวลาไม่นาน

อะไรคือเนื้อนาบุญที่ทำให้ 2 ผู้นำหญิง ปรากฏขึ้นได้ หากไม่ใช่การออกแบบสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันการเคารพความเท่าเทียมทางเพศ ก็เป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ ในการพยุงสถานะของระบอบประชาธิปไตย

เราจะเห็นเงื่อนปมที่ว่ามาได้ชัดยิ่งขึ้น เมื่อคิดร่วมกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ การหันไปสู่แนวทางอนุรักษนิยม-ชาตินิยม มากขึ้นในหลายประเทศ หรือในภาษาสื่อมวลชนเรียกว่าปรากฏการณ์ “หัวขวา”

ปรากฏการณ์นี้หมายถึง กระแสอุดมการณ์ฝ่ายขวา ที่เชื่อในลัทธิชาตินิยม และพยายามผลักดันนโยบายที่ต่อต้านเสรีภาพและความเสมอภาค ผ่านการเลือกตั้ง ดังที่เกิดในกรณีของ ลิส ทรัสส์ (Liz Truss) หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษ เมื่อเธอขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากการลาออกของ เดวิด คาเมรอน (David Cameron) สิ่งแรกๆ ที่ ทรัสส์ประกาศ คือ นโยบายการต่างประเทศที่แข็งกร้าว

ในระดับที่แรงมากกว่า เกิดขึ้นที่อีตาลี จอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) หัวหน้าพรรค Brothers of Italy พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์กลาง-ขวา กำลังเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีนำจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วม สิ่งนี้สร้างความกังวลใจยิ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษ เมื่อเมโลนี ยืนยันหนักแน่นถึงการปฏิเสธการสนับสนุนยูเครน การต่อต้านสิทธิการทำแท้งของผู้หญิง ไปจนถึงต่อต้านสิทธิในการสมรสของคนที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน เป็นต้น   

ฉะนั้น การพิจารณาระดับของประชาธิปไตยในทางสากล จำเป็นจะต้องเพ่งมองจากหลายปัจจัย การเพิ่มสูงขึ้นของสัดส่วนผู้หญิงในฐานะผู้นำทางการเมืองไม่เพียงพอในการอธิบายพัฒนาการประชาธิปไตย ดังที่กำลังเกิดขึ้นหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษของ ลิส ทรัสส์ หรือ จอร์เจีย เมโลนี ที่อีตาลี รวมไปถึงกระแสฝ่ายขวาในฝรั่งเศสเองอย่าง มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen)