ในการประเมินของหน่วยงานสำรวจประชาธิปไตยในระดับนานาชาติ พบว่าแนวโน้มของระบอบเผด็จการของโลกแบบที่เราเคยเห็นในทศวรรษ 1990 มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันมิได้มีหน้าตาเป็นอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ หากแต่ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ไปสู่ระบบผสมหรือ (Hybrid Regime) ซึ่งย้ายอำนาจดิบที่เคยครองผ่านการใช้กำลัง มาสู่การใช้ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นแทน
ในงานเขียนเรื่อง “Fragile Democracies” โดย แซมูเอล อิสซาคารอฟฟ์ (Samuel Issacharoff) ในปี 2015 พบว่า หนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เข้ามากำกับอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติซึ่งประเทศประชาธิปไตยโดยส่วนใหญ่แล้วจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขณะที่ไทยเองยังมีอาการน่ากังวลต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือ 16 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มการตีความแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหารหลายครั้ง
เมื่อพิจารณาร่วมกับการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2560 ก็อาจจะกล่าวได้ว่าหนทางประชาธิปไตยข้างหน้าของไทย ยังเต็มไปด้วยขวากหนาม สิ่งที่น่าสนใจ คือ หลังการเปลี่ยนถ่ายอำนาจกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่พิสดาร ในปี 2562 สำเร็จแล้ว
เราจะสามารถระบุระดับของประชาธิปไตยไทยไว้ตรงไหน และเมื่อวางไว้ในบริบทสากลแล้ว ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ใด?
โดยทั่วไปการประเมินว่าประเทศไหน มีช่วงชั้นของประชาธิปไตยอยู่ในระดับใด มักมีการประเมินกันหลากหลายตัวชี้วัด เช่น ระดับสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง เสรีภาพของสื่อมวลชน ความเท่าเทียมทางเพศ ประสิทธิภาพของรัฐบาล ฯลฯ ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดที่มีหลายองค์กรเข้าร่วมในการสำรวจ เช่น ธนาคารโลก, Freedom House, OECD, UN Human Development Index เป็นต้น
ทว่า ตัวชี้วัดหลักที่ถูกนำมาใช้ประเมินกัน มี 5 ประการ โดยอิงข้อมูลจาก Democracy Index ได้แก่ กระบวนการเลือกตั้ง บทบาทของรัฐบาล การมีส่วนร่วมทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง และ เสรีภาพของพลเมือง
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้ง 5 ประเด็นที่กล่าวมา จะพบว่าในช่วง 3-4 ปี หลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทย สถานการณ์ประชาธิปไตยไทยยังไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าในการประเมินเมื่อปี 2018 การประเมินครั้งนั้น แบ่งชนิดของรัฐทั่วโลกออกเป็น 4 รูปแบบ คือ
- ระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian)
- ระบอบผสม (Hybrid Regime)
- ประชาธิปไตยที่ยังบกพร่อง (Flawed Democracy)
- ประชาธิปไตยสูง (Full Democracy)
จากการสำรวจของรายงานชิ้นเดิมพบว่า ประเทศกลุ่มอำนาจนิยมมีอยู่ถึงร้อยละ 37.1 เช่น จีน เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม อิหร่าน และในหลายประเทศของภูมิภาคแอฟริกา ขณะที่กลุ่มระบอบผสม มักเกิดขึ้นในประเทศลาตินอเมริกา และบางประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น รัสเซีย และ เตอร์เคีย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 17.2
ในส่วนของกลุ่มประชาธิปไตยที่ยังบกพร่อง ซึ่งไทยสังกัดในกลุ่มนี้ พบว่ามีอยู่ทั่วโลกประมาณร้อยละ 39.3 ซึ่งยังมีจำนวนมากที่สุดในโลก และมีหลายประเทศอยู่ในเกณฑ์นี้ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา แต่มีความแตกต่างในระดับค่าเฉลี่ยของแต่ละประเทศในกลุ่มนี้อยู่สูง
เหตุผลเพราะเกณฑ์ที่ใช้วัดความเป็นประชาธิปไตย มิได้ประเมินจากปัจจัยไม่กี่ตัว หากแต่รวมถึงทุกมิติของสังคมด้วย เช่น การเลื่อนชั้นทางสังคม ความพึงพอใจของพลเมืองต่อรัฐบาล เป็นต้น
ขณะที่ในกลุ่มสุดท้ายเราจะพบว่า กลุ่มที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง กลับกระจุกตัวในกลุ่มประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ รัฐสวัสดิการ อันมีอยู่ประมาณร้อยละ 6.4 กลุ่มประเทศเหล่านี้ อาทิ ประเทศในกลุ่มยุโรปเหนือ ไม่ว่าจะเป็น สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ หรือ กลุ่มทวีปออสเตรเลีย เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
ข้อสังเกตที่ควรใคร่ครวญ คือ ในบรรดากลุ่มประเทศเหล่านี้ เริ่มมีสัดส่วนของผู้นำทางการเมืองที่เป็นเพศหญิงสูงขึ้นอย่างชัดเจน เช่น นิวซีแลนด์ สวีเดน และฟินแลนด์
ในไทย การขยับระดับของประชาธิปไตยยังน่ากังวล เนื่องจากเป็นการขยับตัวแคบๆ ในโซนท้ายของกลุ่มประชาธิปไตยบกพร่องที่สุ่มเสี่ยงจะไปสู่ระบอบผสม แบบที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่
เราจะเห็นสถานการณ์นี้ได้ชัดขึ้น จากการประเมินในปี 2020 โดยพบว่าในจำนวน 167 ประเทศทั่วโลก กลุ่มที่เป็นประชาธิปไตยสูง (Full Democracy) มีจำนวน 23 ประเทศ ขณะที่ประชาธิปไตยที่ยังบกพร่อง (Flawed Democracy) มีจำนวน 52 ประเทศ ระบอบผสม (Hybrid Regime) มีจำนวน 35 ประเทศ และระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian Regime) จำนวน 57 ประเทศ
แนวโน้มนี้ดูผิวเผินจะเห็นว่าก่อนวิกฤติโรคระบาดใหญ่ระหว่างปี 2020-2022 สถานการณ์ประชาธิปไตยดูเหมือนจะมีทิศทางที่ดีขึ้นทั่วโลก นั่นคือกลุ่มระบอบผสมมีจำนวนลดลง หากแต่เมื่อพิจารณาลงไปจะพบว่ากลุ่มที่ขยายตัวขึ้น คือ ระบอบอำนาจนิยม ทั้งในกรณีของรัสเซีย หรือหลายประเทศในแอฟริกา โดยเฉพาะการรัฐประหารในมาลีและซูดาน เป็นต้น
ฉะนั้น เส้นทางของประชาธิปไตยในโลกสากล ยังคงเป็นการขับเคี่ยวระหว่างโลกเสรีกับอำนาจนิยมในรูปแบบใหม่ ซึ่งมีใบหน้าที่ต่างออกไปจากยุคหลังสงครามเย็น คำถามคือในภาวะสองเสี่ยงเช่นนี้ ประเทศไทยซึ่งมีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ จะขยับเข้าใกล้ถึงความปรารถนาสังคมประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด
ในตอนหน้าเราจะมาพิจารณาถึง โครงสร้างสถาบันการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับเป็นสิ่งกำหนดลักษณะและเนื้อหาของประชาธิปไตย เพราะแม้จะมีการร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า 20 ฉบับ กลับมีเพียงไม่กี่ฉบับที่ยอมรับกันได้ว่า มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ประชาธิปไตยสมบูรณ์
- ประชาธิปไตย
- ภีรดา
- Fragile Democracies
- Samuel Issacharoff
- ศาลรัฐธรรมนูญ
- รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
- ธนาคารโลก
- Freedom House
- OECD
- UN Human Development Index
- Democracy Index
- กระบวนการเลือกตั้ง
- บทบาทของรัฐบาล
- การมีส่วนร่วมทางการเมือง
- วัฒนธรรมทางการเมือง
- เสรีภาพของพลเมือง
- ระบอบอำนาจนิยม
- รัฐสวัสดิการ