ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI interview: ‘ไกรศรี ตุลารักษ์’ เล่าเรื่องคุณพ่อ ‘สงวน ตุลารักษ์’

8
ธันวาคม
2565

 

“ผมเกิดวันที่ 7 ธันวาคม 2470 ในขณะที่บ้านเมืองยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ผมอายุประมาณ 5 ขวบ ยังไม่รู้เรื่อง จำเรื่องราววันนั้นไม่ได้ ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงวันที่ 7 วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เป็นวันที่ผมมีอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์…”

 

ความสัมพันธ์ของคุณพ่อกับอาจารย์ปรีดี

ผมไม่สนิทกับท่านแต่เคยเจอ เพราะคุณพ่อจะไปหาท่านบ่อยแล้วพาผมไปด้วย พวกผู้ใหญ่คุยอะไรกันตอนนั้นผมไม่รู้เรื่องเพราะยังเล็กมาก

 


‘สงวน ตุลารักษ์’

 

คุณพ่ออยู่กับ อ.ปรีดีมาตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475 หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง อ.ปรีดีก็สนับสนุนคุณพ่อในเรื่องการงาน เห็นความตั้งใจและความสามารถในเรื่องของราชทัณฑ์ ต่อมาย้ายไปทำงานที่คุกจังหวัดยะลา และได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำที่นั่น

ตอนนั้นผมก็ 10 ขวบ คุณพ่อพาผมไปอยู่ด้วย ตอนท่านไปทำงานก็จะพาผมไปฝากกับข้าหลวง ไปเรียนหนังสือเป็นโรงเรียนในเมือง ต่างจังหวัดพื้นที่ห่างไกลในเวลานั้นเรียกว่าแทบจะไม่มีอะไร มีแต่หลังคา ประตู ไม่มีหน้าต่าง พื้นก็พื้นดิน

คุณพ่อเองก็เป็นกังวลเรื่องการเรียน การใช้ชีวิตของผม จึงส่งผมกลับมาที่กรุงเทพฯ ให้ไปอยู่กับคุณน้าที่ศาลาแดง และให้ไปสมัครเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ชั้นป.4 ได้หัดภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนคุณพ่ออยู่ที่ยะลาไม่กี่ปีก็ย้ายกลับมา ช่วงปี 2483 คุณพ่อกลับมากรุงเทพฯ ด้วยการสนับสนุนของ อ.ปรีดีโดยให้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองโรงงานยาสูบ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เข้าสู่ห้วงของสงครามโลกครั้งที่สองที่เข้าสู่ประเทศไทย

 

ย้อนความทรงจำเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย 

 

 

ในวันนั้น ผมกำลังเรียนหนังสืออยู่ คุณพ่อเรียกสมาชิกในครอบครัวมา แล้วบอกว่าที่ญี่ปุ่นบุกไทยนั้นไม่ถูกต้อง เราต้องต่อต้าน แต่ว่าจะทำอย่างไรก็ยังไม่รู้ แล้วคืนนั้นพวกลูกศิษย์ของ อ.ปรีดีก็ไปเจอกันที่บ้านของ อ.ปรีดี ก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี อ.ปรีดีบอกให้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แต่ว่าตอนนั้นการคมนาคมถูกญี่ปุ่นควบคุมเกือบหมด ทำให้ไปไหนไม่ได้

คุณจำกัด พลางกูร เป็นคนแรกที่อาสาไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร ไปถึงก็ส่งรหัสวิทยุภาษาไทยบอกคุณจำกัด แล้วก็เงียบหายไป 3 เดือน ไม่ได้ข่าว อ.ปรีดีก็เลยบอกว่าต้องส่งอีกรุ่นหนึ่งไป ให้คุณพ่อไป ก็ไม่อยากไปคนเดียว เพราะถ้าเกิดทิ้งครอบครัวเอาไว้ เดี๋ยวญี่ปุ่นรู้ว่าคุณพ่อหนีไป จะเอาครอบครัวไปทรมาน ก็เลยต้องเอาครอบครัวไปด้วย

คณะที่เดินทางไปด้วยกันก็จะมี คุณแดง คุณะดิลก ซึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ นักเรียนเก่าอังกฤษ ภาษาดี และ คุณวิบูลย์ วิมลประภา ซึ่งเป็นเลขาของโรงงานยาสูบซึ่งก็เป็นนักเรียนเก่าฝรั่งเศส แล้วก็เอาน้องชายคุณพ่อ คนนั้นรู้ภาษาจีน

คนครอบครัวของผมมีคุณแม่ และพี่สาว แผนการของพวกเราคือการบอกว่าจะไปติดต่อเรื่องยาสูบที่ญี่ปุ่น แต่จะไปลงเรือที่เวียดนาม ทำไม่รู้ไม่ชี้เดินทางไปเรื่อย แต่พอใกล้เมืองจีน ไม่รู้จะไปไหน หาทางข้ามไปข้ามไปเมืองจีน ก็มีพ่อค้าแม่ค้าที่ข้ามไปข้ามมาประจำ ญี่ปุ่นไม่ได้ไปเอาเรื่องอะไร ชาวพื้นเมืองเขาก็ค้าขายกัน เราก็เลยทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำเป็นพ่อค้าแม่ค้าญวน เขาเดินข้ามไป เราก็เดินข้ามไป เสี่ยงมาก ถ้าพวกญี่ปุ่นสงสัย มันจับแน่ นี่มันไม่สงสัย เลยรอดไปได้

ข้ามไปเมืองจีนได้ก็ส่งโทรเลขไปจุงกิงบอกว่าเรามาจากเมืองไทย จะมาติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรว่าเมืองไทยมีการต่อต้านสู้ญี่ปุ่น ทางเมืองจีนเขาก็ส่งเจ้าหน้าที่มารับ เดินทางกว่าจะถึงจุงกิงทุลักทุเลมาก เดินเท้าใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะเดินถึง เดินทางมีทั้งนั่งรถ ลงเรือ นั่งเกี้ยว คานหาม และเดินเท้าอีก สลับไปสลับมาอย่างนี้ เรียกว่าความสะดวกไม่มี พอถึงจุงกิงก็แจ้งให้เขาทราบว่าที่เมืองไทยมี “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น”

สำหรับคุณจำกัดมีเรื่องการเมืองเข้ามายุ่ง คือ จีนก็อยากจะได้หน้าว่าได้ช่วยเมืองไทย จะได้มีอิทธิพลหลังสงคราม มีอิทธิพลในเมืองไทย ส่วนอังกฤษก็อยากจะได้หน้า เพราะถ้าญี่ปุ่นแพ้ อังกฤษก็จะเข้ามาดูแลเมืองไทยด้วย

ทางฝ่ายอเมริกา ม.ร.ว.เสนีย์ ถามว่า “คุณจำกัดคือใคร? ไม่รู้จัก” ที่จริงในอเมริกาก็มีน้องชายคุณจำกัดอยู่คนหนึ่ง ในอังกฤษก็มีน้องชายอีกคนหนึ่ง คนที่อังกฤษก็สมัครเป็นเสรีไทยด้วย ถ้า ม.ร.ว.เสนีย์จะช่วยจริงๆ ถามน้องชายของคุณจำกัดก็รู้แล้วว่าใครเป็นใคร คุณจำกัดคือใคร? ม.ร.ว.เสนีย์ก็บอกว่า “ต้องเสียค่าเดินทางค่าใช้จ่ายเป็นหมื่นเหรียญ แล้วใครจะรับผิดชอบ” คุณจำกัดก็เลยต้องตกค้างอยู่ที่จุงกิง

ทีนี้พอไปถึง ทางจีนเริ่มจะเชื่อถือแล้ว ก็ติดต่อขอไปอเมริกา ตอนนั้นเสรีไทยฝ่ายอเมริกามีกลุ่มหนึ่งมาอยู่เมืองจีนแล้ว เพื่อจะหาทางเข้าเมืองไทย ก็เจอกับเสรีไทยรุ่นหนึ่ง เขาก็เชื่อว่าคุณพ่อเป็นเสรีไทยจริงๆ ต้องการติดต่อจริงๆ เขาจึงรวมตัวกันบอก “ถ้า ม.ร.ว.เสนีย์ไม่รู้ไม่ชี้ จะสละเงินเดือนให้เป็นค่าเรือบินไปอเมริกา” แต่ผลสุดท้าย ม.ร.ว.เสนีย์ก็ยอม แต่พวกนั้นเขาก็เอาเงินให้กับคุณพ่ออีก 500 เหรียญเป็นค่าใช้จ่าย

 

งานที่รับผิดชอบกับภารกิจเมื่อเข้าร่วมฝึกเพื่อรอวันออกรบ

 

 

คุณพ่อไปอเมริกาแล้วก็ไปอังกฤษ ผลสุดท้าย OSS ขอตัวคุณพ่อไปประจำอยู่ที่ซีลอน ให้เป็นฝ่ายประสานงานกับเสรีไทยในเมืองไทยตั้งปีกว่า คุณพ่อถึงบอกทางเมืองจีนขอให้ครอบครัวตามไปที่ซีลอน ผลสุดท้ายทางเมืองจีนเขาก็ยอม แต่ก็ยังมีตัวแทนไทย คือคุณวิบูลย์ วิมลประภา ยังอยู่ที่เมืองจีน เป็นตัวแทนไทย คุณแม่ พี่สาว กับผมก็ไปซีลอน หลังสงครามได้เอกราชถึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นศรีลังกา แต่ตอนนั้นเรียกซีลอน พี่สาวก็ไปช่วยงานรับวิทยุเมืองไทยแล้วก็แปลเป็นภาษาอังกฤษให้ฝ่าย OSS นอกจากนั้นผมยังช่วยเรื่องเอกสาร เพราะรู้เรื่องภาษาฝรั่งกับเขาหน่อย แผนที่ที่เป็นภาษาไทย เราก็เขียนเป็นภาษาฝรั่งให้เขา

หลังจากนั้น คุณพ่อพาผมไปอยู่แคมป์ทหารที่แคนดี คุณแม่กับพี่รำไพอยู่ที่โคลัมโบ ระหว่างนั้น อ.ปรีดีส่ง คุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล ไปช่วยงานที่วอชิงตัน คุณพ่อเป็นคนพาไป เพราะคุณกนต์ธีร์ไม่คุ้นเคยกับอเมริกา สมัยนั้นก็มีคุณพระพิศาล หลวงสุขุมฯ ก็ไปที่ซีลอนเพื่อจะเดินทางต่อไปอเมริกา

ระหว่างที่อยู่แคนดี ตอนนั้นเริ่มมีคนไทยจากเมืองไทยส่งเสรีไทยรุ่นๆ ไปที่ซีลอนเพื่อไปฝึกราชการลับ ไม่ได้ไปออกรบ แต่ว่าให้เป็นคนรับส่งวิทยุ ใช้ Morse code กดเหมือนโทรเลข ผมใช้เวลาฝึกอยู่ในค่ายเล็กๆ ริมทะเลนี้ประมาณ 3 เดือน มีทั้งใช้โทรเลข ใช้อาวุธจะมีปืนสั้น ปืนยาว carbine ใช้ระเบิด TNT ฝึกกระโดดร่ม โดดเสร็จแล้วต้องรีบเก็บให้เร็วที่สุด ห้ามทิ้งอะไรไว้เพราะไม่อย่างนั้นญี่ปุ่นมาเจอจะแย่

เมื่อฝึกจบก็แล้วแต่ทางเมืองไทยว่าต้องการให้ไปที่ไหน ทั้งหมดมี 4 รุ่น ตอนที่คุณพ่อส่งผมไปฝึกเป็นรุ่น 4  รุ่น 1 รุ่น 2 ฝึกจบก็ถูกส่งกลับเข้าทำงานในเมืองไทย 2 รุ่น แยกย้ายกันไปตามจังหวัดต่างๆ ก็แล้วแต่ทางเมืองไทยต้องการ  รุ่น 3 รุ่น 4 ก็รอฟังว่าจะให้ไปที่ไหน แต่ญี่ปุ่นยอมแพ้เสียก่อน ยังไม่ทันได้ไปรบกับเขา

 

“ตอนที่ไปร่วมฝึกไปอย่างเต็มใจที่จะทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่รู้สึกห่วงตัวเองเลย เราเห็นคุณพ่อ เห็น อ.ปรีดี เห็นการทำงานของพวกท่านเรื่อยมา ถ้ามีโอกาสอยากเดินตามรอย อยากทำประโยชน์ให้ชาติบ้านเมือง”

 

เมื่อตอนเด็กๆ ครอบครัวเราอยู่แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา หน้าร้อนคุณพ่อก็ต้องการให้ลูกๆ รู้จักชีวิตบ้านนอกหน้าร้อน ก็จะขึ้นรถไฟไปที่ฉะเชิงเทรา จากตัวจังหวัดก็นั่งเรือยนต์ไปตามแม่น้ำ มีบ้านป้าอยู่ริมแม่น้ำคือพี่สาวคุณพ่อ เรียกว่าบ้านนอกจริงๆ ไม่มีประปา ไม่มีไฟฟ้า น้ำที่ใช้ก็คือน้ำในแม่น้ำ

ถ้าเกิดต้องการจะใช้น้ำใสก็เอาน้ำจากแม่น้ำใส่โอ่งแล้วแกว่งสารส้มก็จะได้น้ำใส น้ำกินก็รองเอาจากหลังคาคือน้ำฝน ไฟฟ้าก็จุดตะเกียง เรียกว่าบ้านนอกจริงๆ คุณพ่อก็ทำแบบนี้อยู่หลายปี เพื่อให้ผมคุ้นเคยกับชีวิตบ้านนอกว่าเป็นอย่างไร

ผมยังจำได้ตอนที่พ่อสอนว่ายน้ำ พ่อเอามะพร้าว 2 ลูกผูกติดกันมาคาดที่หน้าอก หัดอยู่นาน ว่ายไม่เป็นสักที มีอยู่วันหนึ่งมะพร้าวที่ผูกติดกันนั้นขาด ผมเหมือนลูกหมาตกน้ำ ลูกหมาตกน้ำมันไม่ยอมจม ตะกุยไปเรื่อยจนว่ายน้ำได้ ผมก็ตะกายจนว่าน้ำได้ จนว่ายน้ำเป็น

นี่คือวิธีการสอนของพ่อ เรียนรู้ที่จะอยู่ เรียนรู้ที่จะอดทน เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด แล้วผมก็ได้ใช้ทุกอย่างจริงๆ ในวันที่ผมต้องไปอยู่ที่แคนดี ในวันที่ต้องฝึกเพื่อรอวันไปรบกับทหารญี่ปุ่น

 

ความภูมิใจที่ยังคงอยู่ในหัวใจ

“ขบวนการเสรีไทย” ไม่เคยเปิดเผยตัวเอง สงครามจบก็แยกย้าย แยกตั้งแต่วันที่อ.ปรีดีประกาศตอนสวนสนาม แล้วทุกอย่างก็เงียบไม่มีใครพูดถึงจนกระทั่ง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คิดว่าเราควรจะทำบุญอะไรกันบ้าง ปีหนึ่งพบกันดีไหม พวกเสรีไทยและทายาท ทำบุญปีละหนดีไหม หลังจากนั้นก็มีการนัดพบแล้วก็ปฏิบัติกันมาเรื่อยๆ ต้องขอบคุณท่านผู้หญิงฯ ที่ทำให้มีการรวมตัว

ถึงตอนนี้จะอายุมาก 95 ปีแล้ว บางเรื่องก็จำอะไรไม่ได้ หลงๆ ลืมๆ แต่เมื่อไหร่ที่เล่าให้ลูกหลานฟัง หรือเล่าให้พวกคุณๆ ฟัง ผมนึกถึงเหตุการณ์กับขบวนการเสรีไทยไม่ลืม ถึงแม้จะจำได้ไม่มาก แต่ไม่เคยลืม เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของผม 

 

“เราก็ไม่ได้เคลมว่าเราเป็นคนกู้ชาติ เราช่วยชาติเฉยๆ เสรีไทยสายอังกฤษส่วนหนึ่งก็บอกปิดทองหลังพระก็ไม่ถูก เพราะว่าเดินไปด้านหลังพระเราก็เห็น ใครปิดทองไว้เราก็เห็น เราต้องเรียกว่าปิดทองก้นพระ เพราะอยู่ก้นพระแล้วไม่มีใครเห็น…ขบวนการเสรีไทยเป็นอย่างนั้น”

 

 

เรียบเรียง โดย ณภัทร ปัญกาญจน์
สัมภาษณ์ ณ วันที่ 29 กันยายน 2565