ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

“สุนี เทพรักษา” นักการทูตเสรีไทยที่ไม่ควรลืม

27
ธันวาคม
2565

เมื่อทางกองบัญชาการทหารสูงสุดของสหประชาชาติ โดยลอร์ด หลุยส์ เม้านต์แบตตัน ตอบปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมพูดเรื่องการเมืองกับฝ่ายไทยในปลายเดือนธันวาคม 2487 ท่านปรีดี พนมยงค์ เล็งเห็นว่าจำเป็นจะต้องอาศัยสหรัฐอเมริกาเป็นที่พึ่งด่านสุดท้าย ซึ่งความจริงสหรัฐอเมริกาวางท่าทีอันเหมาะสมสำหรับไทยอยู่แล้ว ถ้าได้แรงดันจากทางสหรัฐฯ ช่วยบางทีอาจจะผ่อนคลายความแข็งกร้าวของอังกฤษได้บ้าง ท่านปรีดีจึงมีดำริส่งผู้แทนคณะต่อต้านเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อสมทบกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และคุณสงวน ตุลารักษ์ เจรจากับรัฐบาลอเมริกัน

ในชั้นแรก ท่านคิดจะส่งคุณทวี ตะเวทิกุล อธิบดีกรมการตะวันตกออกไปเพื่อการนี้ แต่เมื่อใกล้เวลาเข้าจริงท่านเปลี่ยนใจ จะให้ข้าพเจ้าซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงหัวหน้ากองไปแทน คุณทวีเป็นผู้นำความมาบอกข้าพเจ้าว่าสุขภาพไม่สู้จะดี ขอให้ข้าพเจ้าออกไปแทน ข้าพเจ้ายังโสดอยู่ ไม่มีภาระทางครอบครัว มีมารดาที่เป็นห่วงเพียงคนเดียว จึงไม่ขัดข้องในการไปปฏิบัติงานนอกประเทศในลักษณะนั้น คุณทวีสั่งให้ข้าพเจ้าเตรียมทำหนังสือมอบอำนาจการเจรจากับรัฐบาลอเมริกันเป็นทางการ โดยให้จัดเป็นคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เป็นหัวหน้าคณะ คุณสงวน ตุลารักษ์ และข้าพเจ้าเป็นผู้แทนอีก 2 คน

ท่านปรีดีติดต่อกับฝ่ายสหรัฐฯ ผ่าน โอ.เอส.เอส. แจ้งความประสงค์ให้ทราบและสั่งให้ข้าพเจ้าไปพบที่ทำเนียบท่าช้างเพื่อรับคำสั่งรายละเอียด คืนนั้นข้าพเจ้าต้องค้างที่ทำเนียบเพื่อลงเรือของกรมศุลกากรเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นก่อนสว่าง ข้าพเจ้าลามารดาว่า ต้องไปราชการต่างจังหวัดชั่วระยะเวลาหนึ่ง คืนนั้นอยู่สนทนากับท่านปรีดีจนดึก เป็นการสนทนาตัวต่อตัวครั้งที่สองในชีวิตของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ารู้จักท่านปรีดีสมัยทำงานที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อแรกตั้ง ท่านเป็นผู้ประศาสน์การ ข้าพเจ้าเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ซึ่งคุณวิจิตร ลุลิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการมหาวิทยาลัยขอให้ไปนั่งจดรายงานการประชุมคณะกรรมการมหาวิทยาลัย ท่านปรีดีนั่งหัวโต๊ะ ข้าพเจ้าอยู่สุดท้ายปลายโต๊ะไม่เคยเข้าใกล้หรือพูดจากับท่านเลย ข้าพเจ้าเคยสนทนาตัวต่อตัวกับท่านครั้งแรกเมื่อข้าพเจ้าสอบชิงทุนรัฐบาลหน่วยกระทรวงการต่างประเทศได้ จะไปศึกษาวิชากฎหมายและการทูตที่ประเทศฝรั่งเศส

ตอนนั้นท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ท่านสั่งให้ข้าพเจ้าไปพบเพื่อวางแนวการศึกษาให้ข้าพเจ้าจดโดยละเอียด ข้าพเจ้าเรียนสำเร็จกลับมารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ท่านย้ายไปว่าการกระทรวงการคลังเสียแล้ว จึงไม่ได้พบท่านอีกเลย ครั้นญี่ปุ่นขึ้นประเทศไทยข้าพเจ้าทราบท่าทีและแผนการของท่านทางคุณทวี ตะเวกุล ตลอดเวลาที่ประจำอยู่ญี่ปุ่น และภายหลังกลับมาประเทศไทย ทุกสิ่งทุกอย่างข้าพเจ้ารับทราบทางคุณทวีทั้งนั้น ในการพบท่านครั้งที่สองในห้องรับแขกชั้นบนของทำเนียบท่าช้าง ข้าพเจ้าได้รับทราบคำสั่งโดยละเอียดถึงแนวทางที่ท่านประสงค์จะให้ข้าพเจ้าไปปฏิบัติในสหรัฐอเมริกา

ท่านเริ่มด้วยการขอบใจข้าพเจ้าที่ยอมรับเดินทางออกไปนอกประเทศแทนคุณทวี ท่านเตือนว่าการไปครั้งนี้มิใช่การเดินทางธรรมดา จะต้องไม่คำนึงถึงความสะดวกสบายส่วนตัว จะต้องเสี่ยงภัยตลอดทาง ข้าพเจ้าจะต้องไปในลักษณะแอบแฝง ตามแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายอเมริกันจะจัดให้ ข้าพเจ้าจะไม่มีสิทธิเสรี เขาจะให้ทำสิ่งใดก็ต้องทำสิ่งนั้น จนกว่าถึงกรุงวอชิงตัน ข้าพเจ้าจึงจะเปลี่ยนไปอยู่ในคณะของท่านทูตเสนีย์ ปราโมช ช่วยทูตในการเจรจากับรัฐบาลอเมริกัน และถ้าสามารถจะเป็นไปได้กับฝ่ายอังกฤษ

คืนนั้นก็อีกท่านเป็นผู้พูดฝ่ายเดียว ข้าพเจ้าได้แต่รับฟังท่านและถ้อยคำของท่าน ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักในความห่วงใยอย่างสุดซึ้งในอนาคตของชาติบ้านเมืองเท่านั้น ท่านกล่าวด้วยความตื้นตันว่า เมื่อรัฐบาลไทยสั่งหยุดยิงและยินยอมให้ญี่ปุ่นส่งทหารผ่านประเทศไทย ใครๆ ก็มองเห็นความจำเป็น แต่การผูกพันตัวภายหลังต่อมาทีละขั้นให้กระชั้นชิดกับฝ่ายญี่ปุ่นนั้นสิที่ท่านไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการประกาศสงครามทำตนเป็นศัตรูกับอังกฤษและสหรัฐฯ การยอมรับมอบดินแดนทางมลายูและพม่าจากญี่ปุ่น ตลอดจนการกล่าวโจมตีอังกฤษและสหรัฐอเมริกานอกลู่นอกทางออกไป บทสนทนาทางวิทยุกระจายเสียงของนายมั่นนายคง ที่ไม่ละเว้นแม้แต่กษัตริย์ราชวงศ์อังกฤษ ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นเหตุให้อังกฤษเกิดความขัดเคืองใจโดยไม่จำเป็น

นอกจากจะประกาศสงครามตอบแล้ว อังกฤษยังงดเว้นไม่ยอมติดต่อทางการเมืองกับฝ่ายไทยอย่างใดเลย เมื่อลอร์ด หลุยส์ เม้านต์แบตตัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสหประชาชาติติดต่อมาในปลายเดือนธันวาคม 2487 ขอให้เราส่งผู้แทนไปที่แคนดี ก็ได้ปฏิเสธล่วงหน้าว่าจะไม่พูดเรื่องการเมืองกับผู้แทนไทย ฝ่ายเราพยายามทุกทางที่จะแสดงให้เห็นว่า การร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นมิใช่เจตนาอันแท้จริงของประชาชนชาวไทย เราอยากจะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นภายนอกประเทศ เพื่อยืนยันความร่วมมือที่ไทยพร้อมจะให้แก่ฝ่ายสหประชาชาติ พยายามมาหลายปีแล้วส่งคนออกไปเจรจาครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากท่าทีอันแข็งกร้าวของอังกฤษนั่นเอง

ความดำริที่จะส่งข้าพเจ้าออกไปคราวนี้ ก็เพื่อให้ไปสมทบกับทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ยกเรื่องเจรจาเป็นทางการกับรัฐบาลอเมริกัน แต่จุดหมายปลายทางที่แท้จริงอยู่ที่ทำอย่างไรจะให้อังกฤษเปิดเผยท่าทีเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยออกมาให้แน่ชัด ก่อนที่ญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้สงครามขั้นเด็ดขาด มิฉะนั้นแล้วไทยจะตกเข้าอยู่ข้างฝ่ายปราชัยร่วมกับญี่ปุ่น ถ้าเราสามารถจัดตั้งรัฐบาลภายนอกประเทศได้ ก็จะเป็นทางกระชับความสัมพันธ์กับฝ่ายสหประชาชาติ ถ้ารัฐบาลอเมริกันยังมีเหตุผลเป็นอุปสรรคต่อการตั้งรัฐบาลดังกล่าว ก็จะต้องพยายามขอให้รัฐบาลอเมริกันช่วยคะยั้นคะยออังกฤษให้ผ่อนปรนให้ไทยบ้าง อย่างน้อยให้รับหลักการเคารพเอกราชและอธิปไตยของประเทศไทย ไม่มุ่งร้ายต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตของไทยเช่นที่มีข่าวกระเส็นกระสายออกมาทุกวี่วัน

ในขณะเดียวกันไทยพร้อมที่จะคืนดินแดนในมลายูและพม่าให้แก่อังกฤษ ท่านกรุณาชี้แจงข้อเท็จจริงหลายข้อหลายประการให้ข้าพเจ้ายึดถือเป็นปัจจัยประกอบการเจรจากับฝ่ายอเมริกัน รวมตลอดทั้งแผนดำเนินงานภายหลังที่ได้เปลี่ยนรัฐบาลจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐบาลควง อภัยวงศ์

รุ่งขึ้นออกเรือบ่ายหน้าไปทางเกาะกระดาษ ซึ่งเป็นที่นัดหมาย โดยมีร้อยเอก บุญมาก เทศบุตร เป็นเจ้าหน้าที่วิทยุไปด้วยเพื่อติดต่อกับฝ่ายอเมริกัน เมื่อไปถึงเกาะกระดาษ นายวรกิจบรรหาร เจ้าของเกาะ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี คืนแรกท่านพาออกไปรอเครื่องบินทะเลที่ฝ่ายอเมริกันจะส่งมารับพร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ของ โอ.เอส.เอส. มาประจำกองบัญชาการคณะต่อต้านญี่ปุ่น รออยู่ตลอดคืนไม่เห็นวี่แววของเครื่องบิน คืนที่สองออกเรือไปลอยลำรอในทะเลที่อ้างว้างอีก ก็ไม่มีเครื่องบินมา บังเอิญมองเห็นเรืออีกลำหนึ่งตะคุ่มๆ ในระยะห่างพอสมควรเกรงกันว่าจะเป็นเรือญี่ปุ่น จึงเตรียมการต้อนรับไว้โดยต่างกุมปืนแน่น ข้าพเจ้าคนเดียวไม่มีอาวุธติดตัว เดชะบุญเป็นเรือชาวประมงออกหาปลา จึงไม่มีเหตุการณ์อย่างใด

วันที่สาม ร้อยเอก บุญมากชักใจเสีย คิดจะพาคณะกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากนัดหมายแล้วอีกฝ่ายไม่มา ถ้าขืนออกไปรอเป็นคืนที่สาม ความปลอดภัยอาจน้อยลง จะต้องให้กรุงเทพฯ นัดหมายใหม่ให้แน่นอน โดยจะต้องเปลี่ยนบริเวณรับส่ง ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะออกมาแล้วก็น่าจะไปให้ได้ การกลับกรุงเทพฯ เพื่อออกมาใหม่สำหรับข้าพเจ้าดูไม่ค่อยเข้าที ในที่สุดตกลงกันให้รออีกคืนเป็นคืนสุดท้าย คืนนั้นระหว่างที่เราออกเรือไปลอยลำคอยอยู่กลางดึก ได้ยินเสียงกระหึ่มของเครื่องบินมาแต่ไกล ทางเราจุดไต้สัญญาณบอกพื้นที่ที่จะให้เครื่องบินทะเลร่อนลง นักบินกระทำได้เรียบร้อย เรือเราเข้าไปเทียบรับพันตรี กรีนลี และร้อยเอก เว็สตั้น นายทหารอเมริกัน โอ.เอส.เอส. ลงขึ้นเรือของเราข้าพเจ้าขึ้นเครื่องบินน้ำท่ามกลางความมืด เราไม่ทันเห็นหน้าค่าตากัน มาทราบชื่อเสียงก็ภายหลัง

ข้าพเจ้าไปคราวนั้นไปตัวเปล่า ไม่มีกระเป๋าหรือของใช้ไม้สอยติดตัวไปด้วยเลย หนังสือเดินทางก็ไม่มี มีแต่หนังสือมอบอำนาจของผู้สำเร็จราชการที่ซ่อนไว้กับตัว ขึ้นไปบนเครื่องบินแล้วข้าพเจ้าภาวนาสวดมนต์เช่นที่เคยก่อนนอน เวลาเครื่องบินลำเลียงของเสร็จแล้วบินขึ้นข้าพเจ้ายึดผนังภายในเครื่องบินแน่นเพราะไม่มีสายรัด ลำเครื่องบินวิ่งกระทบพื้นน้ำทะเลดังสนั่น เร่งความเร็วไม่ถึงนาทีเครื่องบินก็ลอยตัวในอากาศ เจ้าหน้าที่ในเครื่องบินมีเพียงสี่คน คนหนึ่งทำหน้าที่คุมปืนกลเป็นยามตลอดทาง ข้าพเจ้าพยายามจะนอนให้หลับแต่ไม่สำเร็จ

นอกจากเครื่องยนต์จะดังสนั่นมาก ข้าพเจ้ายังตื่นเต้นกับการเดินทางบนเครื่องบินทหาร เจตสิกคิดไปถึงเรื่องต่างๆ ไม่ทราบว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทางหรือไม่ บินผ่านทะเลอันดามันตลอดคืน รุ่งขึ้นเครื่องบินลงที่เมืองมาดราสของอินเดีย ที่นั่นมีเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันชั้นร้อยเอกกับร้อยโทมารับ จัดเครื่องแบบทหารอเมริกันชั้นร้อยโทให้ข้าพเจ้าแต่ง ข้าพเจ้าคิดชื่อสมมติขึ้นเองว่า “สุนี เทพรักษา” เพื่อขอความคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง

ชื่อนี้เป็นชื่อที่ข้าพเจ้าใช้ตลอดเวลาเดินทางครั้งนั้น ตั้งแต่ออกจากอ่าวไทยจนกระทั่งกลับกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ โอ.เอส.เอส. ที่เกี่ยวข้องเรียกข้าพเจ้าว่า “ซันนี่” จนกระทั่งทุกวันนี้ เฉพาะเมื่อคณะผู้แทนไทยไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันเท่านั้นที่ข้าพเจ้าใช้ชื่อจริง เพราะเป็นชื่อที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจเต็มในการเจรจาของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ในบันทึกของกระทรวงการต่างประเทศตอนนั้น ใช้ชื่อ “สุนี เทพรักษา” เพื่อความปลอดภัย

เราค้างที่เมืองมาดราสหนึ่งคืน รุ่งขึ้นเดินทางโดยเครื่องบินทหารไปลงที่เมืองแคนดีเกาะลังกา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2488 ข้าพเจ้าไปพบเจ้าหน้าที่ โอ.เอส.เอส. เขาสอบถามเหตุการณ์ในประเทศไทยตามสมควร พบกับคุณสงวน ตุลารักษ์ แล้วต่อมาเข้าพบพลตรี โดโนเวน หัวหน้า โอ.เอส.เอส. ซึ่งรับจะพาเราทั้งสองโดยสารเครื่องบินประจำตำแหน่งของท่านเดินทางต่อไปกรุงวอชิงตัน

ข้าพเจ้าดีใจจริงๆ ที่ได้พบอาจารย์เสนีย์ ปราโมช ผู้สอนวิชาลักษณะนิติกรรมและหนี้ให้ข้าพเจ้าที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ข้าพเจ้ารู้จักท่านอาจารย์ดีกว่านักศึกษาอื่นเพราะข้าพเจ้าเป็นคนชอบซัก ท่านชอบตอบ เสร็จชั่วโมงการสอนแล้วอาจารย์และนักศึกษายังอยู่ต่ออีกนาน บางครั้งเกือบชั่วโมง บัดนี้จะได้มาร่วมงานกันเพื่อความอยู่รอดของชาติ แต่ข้าพเจ้าเคยเป็นศิษย์ท่านอย่างไร ข้าพเจ้าก็ยังคงวางตนเป็นศิษย์ของท่านอย่างนั้น เราเริ่มปรึกษาหารือในเรื่องการงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทันที ข้าพเจ้าได้กราบเรียนให้ท่านทราบถึงความประสงค์ในการจัดตั้งคณะผู้แทนไทยเพื่อเจรจากับฝ่ายอเมริกันครั้งนี้ ซึ่งหลักสำคัญอยู่ที่การจัดตั้งคณะรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศ และปัญหาเรื่องท่าทีของอังกฤษต่อประเทศไทย

ฝ่ายบัญชาการทหารสูงสุดสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รายงานให้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษทราบเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ว่าทาง โอ.เอส.เอส. ได้ลักลอบนำบุคคลชื่อสุนีออกไปจากประเทศไทยเพื่อไปสมทบกับม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พร้อมด้วยเอกสารที่ไม่ยอมเปิดเผยให้ผู้ใดทราบ ทางอังกฤษส่งพันตรี กิลครีสต์ ไปพบสุนี ยืนยันว่าเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ แต่สุนีไม่ยอมแจ้งความประสงค์ของการออกมาให้ทราบ นอกจากย้ำว่าจะทำการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร มิใช่เฉพาะกับฝ่ายอเมริกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เซอร์ จอร์ช แซนซัมที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษที่กรุงวอชิงตันรายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชได้นำสุนีไปพบ แจ้งให้ทราบว่าได้รับมอบหมายจากผู้สำเร็จราชการโดยมีหนังสือแต่งตั้ง และมีคำสั่งด้วยวาจาให้ดำเนินการขนานกันไปกับอีกสองคณะที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ส่งไปจุงกิงและแคนดี ม.ร.ว.เสนีย์และคณะจะเข้าเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันในไม่ช้า โดยที่เซอร์ จอร์ช ทราบจาก เอส.โอ.อี. ว่าฝ่ายอังกฤษจะไม่ยอมรับผู้แทนทางการเมืองของไทยทางแคนดี จึงข้องใจว่า ถ้าฝ่ายอเมริกันเกิดรับฟังและเจรจาทางการเมืองกับฝ่ายไทยแล้ว อังกฤษจะไม่อยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนหรือที่จะยอมให้ฝ่ายอเมริกันเดินล้ำหน้าอังกฤษไปในด้านการเจรจากับไทย

ด้วยเหตุนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษและ เอส.โอ.อี. จึงได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ว่าการจะยืนกรานไม่ยอมพูดการเมืองกับคณะผู้แทนไทยทางแคนดีน่าจะไม่เหมาะสม รัฐบาลอังกฤษจึงสั่งการไปยังลอร์ด หลุยส์ เม้านต์แบตตัน อนุมัติให้แจ้งต่อผู้แทนไทยด้วยตนเองหรือโดยที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองเน้นในหลักการว่า รัฐบาลอังกฤษปรารถนาที่จะเห็นประเทศไทยเป็นประเทศอิสระ มีอธิปไตยและเอกราช และยินดีจะกลับฟื้นความสัมพันธไมตรีระหว่างอังกฤษกับไทย แต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงมาตรการที่ประเทศไทยจะช่วยในการขับไล่ญี่ปุ่นออกจากดินแดนไทย ให้ญี่ปุ่นต้องปราชัยในที่สุด และมาตรการที่ฝ่ายไทยจะแก้ไขความเสื่อมเสียที่ไทยได้ก่อให้เกิดแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรสืบเนื่องจากการที่ไทยเข้าข้างญี่ปุ่น และร่วมรักษาความมั่นคงและความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีในอนาคต

เซอร์ จอร์ชรายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2488 ว่าได้พบกับสุนีและเสนีย์ สุนีอ้างว่าคณะผู้แทนนี้ขนานกันกับที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่งไปจีนและแคนดี เซอร์ จอร์ชแสดงความห่วงใยว่าถ้าอเมริกันเกิดรุดหน้าเจรจาเรื่องการเมืองโดยอิสระ อังกฤษจะทำอย่างไร นายสเตอร์นเดล เบนเนทท์ ตอบว่าถ้าไทยมาพูดเรื่องการเมือง ก็ขอให้เบี่ยงบ่าย เพราะจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลก่อน

ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในกรุงวอชิงตันไม่กี่วัน ก็ได้ทราบความแตกแยกในบรรดากลุ่มเสรีไทยในสหรัฐฯ ท่านทูตเสนีย์ และพันโท ขาบ กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกไม่สู้จะกินเกลียวกัน โดยเหตุผลทั้งทางราชการและทางส่วนตัว เสรีไทยจึงแบ่งเป็นสองพวก คือ พวกท่านทูตมีหลวงดิษฐการภักดี และคุณมนี สานะเสน เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญ และพวกผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก มีคุณอนันต์ จินตกานนท์ เลขานุการตรี สนับสนุน นักเรียนนักศึกษาก็พลอยแตกกันไปด้วย เมื่อนักศึกษาสมัครเข้าไปเป็นทหารในองค์การ โอ.เอส.เอส. ตามสายงานจึงอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพันโท ขาบ ประกอบกับพันโท ขาบ เป็นผู้ชอบสนุก บ้านที่พักของท่านเปิดแก่นักศึกษาผู้เพิ่งเป็นทหารทุกคน จึงมีการพบปะสังสรรค์กันแทบทุกวัน คุณเทียบ กุญชร ผู้ภริยาก็ช่างทำกับข้าว มีการเลี้ยงดูกันเป็นเนืองนิจ

ฝ่ายท่านทูตเสนีย์เป็นคนเคร่งครัดในหน้าที่การงาน เจ้าระเบียบแบบแผนไม่ชอบสนุกสนานเฮฮา เมื่อมีเวลาว่างท่านก็เล่นดนตรี วาดภาพอะไรของท่านไป ประกอบกับในยามยากของบ้านเมืองเช่นนั้น ท่านคิดหาทางประหยัดการใช้จ่ายของสถานทูตและของข้าราชการ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา ทางรัฐบาลอเมริกันยินยอมให้ท่านเบิกเงินของรัฐบาลไปใช้จ่ายได้ แม้จะเลยปีงบประมาณแล้ว และมิได้รับงบประมาณใหม่จากประเทศไทย การลดจ่ายเงินประจำเดือนย่อมกระทบกระเทือนเป็นธรรมดา ยิ่งผู้มีรายได้น้อยก็ยิ่งรับน้ำหนักมาก อาทิเช่นนักศึกษาเคยได้อยู่เดือนละ 90 เหรียญ ลดลงไป 5 เหรียญ ก็ย่อมแย่

การขัดกันกระจายไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาก็คือ มีสงครามกระดาษชำระ ทางสถานทูตใช้โดยถือเป็นของสถานทูต ข้าราชการบางคนอยากจะขอแบ่งไปใช้บ้าง เมื่อไม่ได้ก็เกิดขัดใจ สิ่งเล็กสิ่งน้อยเหล่านี้ เมื่อรวมกันเข้า กลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งไม่มีผู้ใดคอยแก้ไข อีกสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาไม่พอใจเป็นอย่างมากก็คือ ในยามที่สถานทูตเฝ้าเทศนาขอให้ช่วยกันประหยัดการใช้จ่าย สถานทูตยังคงเช่าสถานที่ตากอากาศยามคิมหันตฤดูไว้เพื่อให้ข้าราชการได้แบ่งไปพักผ่อนตามควรแก่โอกาส การแตกแยกเลยพาดพิงไปถึงการปฏิบัติงานด้วย ความจริงท่านทูตเสนีย์ไม่สู้จะไว้อกไว้ใจพันโทขาบเท่าใดนัก เริ่มโดยเข้าใจว่าพันโทคนนี้เป็นผู้ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งไปกรุงวอชิงตันเพื่อให้สอดส่องการปฏิบัติงานของทูต เมื่อขาดความไว้วางใจ ท่านทูตจึงไม่สู้อยากจะให้พันโท ขาบ มีหน้าที่เกี่ยวกับฝ่ายอเมริกันทาง โอ.เอส.เอส. เท่าใดนัก ถึงกับหน้าที่ภายใน โอ.เอส.เอส. เองก็เลยแบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนท่านทูตและฝ่ายสนับสนุนพันโท ขาบ

นายพลตรี โดโนเวน เคยกล่าวว่า ใครก็ตามรวมทั้งท่านเสนีย์ด้วย ถ้ายินดีจะสวมเครื่องแบบออกไปทำการสู้รบหรือปฏิบัติการอย่างอื่นให้แก่ โอ.เอส.เอส. ท่านรับทั้งนั้น ในกรมกิจการตะวันออกไกล กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับประเทศไทย ก็ยังแบ่งเป็นสองพวกเหมือนกัน นายมอฟเฟ็ตสนิทสนมกับท่านทูตเสนีย์ นายแลนดอนผู้เคยเป็นบาดหลวงสอนศาสนาอยู่ที่จังหวัดตรังในประเทศไทย รู้สึกจะชอบพันโท ขาบ จึงไม่สู้จะลงเส้นกับท่านทูตนัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณสงวนและข้าพเจ้า เราถือว่าเป็นคนที่ถูกส่งจากประเทศไทยเพื่องานเฉพาะกิจ เราไม่เกี่ยวข้องพันพัวกับความเป็นไปในกรุงวอชิงตัน เราจึงไม่ต้องการเข้าร่วมในการแตกแยกภายใน ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามภาระหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมาย ฉะนั้น เราจึงไปทั้งสองแห่ง ทั้งที่สถานทูต และที่บ้านผู้ช่วยฝ่ายทหารบก เราร่วมทำงานและร่วมสนุกด้วยกัน

ในด้านงาน เรามีประชุมกันที่สถานทูตระหว่างท่านทูตเสนีย์  คุณหลวงดิษฐการภักดี, คุณมนี สานะเสน, คุณสงวน ตุลารักษ์ และข้าพเจ้า ปรึกษาหารือในการเตรียมการเจรจากับฝ่ายสหรัฐฯ ในการประชุมภายในครั้งแรก ข้าพเจ้ารายงานให้ที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทย โดยชี้แจงว่าการจัดส่งคณะผู้แทนออกมาเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งนี้ แท้ที่จริงแล้วมุ่งประสงค์อยู่ที่ท่าทีของอังกฤษ สหรัฐฯ ดีต่อประเทศไทยตลอดมา อังกฤษยังไม่ยอมเปิดเผยท่าทีที่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของไทย วิธีที่ฝ่ายเราคิดไว้ก็คือหากเราสามารถจัดตั้งรัฐบาลไทยชั่วคราวนอกประเทศได้ ก็พอจะเป็นปัจจัยให้มีการติดต่อทางการเมืองกับฝ่ายสัมพันธมิตรทุกประเทศรวมทั้งอังกฤษด้วย ฉะนั้นในหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งคณะผู้แทนในการเจรจากับรัฐบาลอเมริกันจึงได้เน้นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวพลัดถิ่นโดยเฉพาะ

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง และตกลงให้ท่านทูตเสนีย์ เป็นผู้ยกร่างบันทึกที่จะยื่นต่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ต่อมาได้มีการประชุมภายในอีกเพื่อพิจารณาร่างบันทึกของท่านทูตเสนีย์ ข้าพเจ้าขอจารึกไว้ ณ ที่นี้ถึงความเป็นประชาธิปไตยของท่านทูตเสนีย์ ทุกคนขอแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างบันทึกได้ทุกข้อ เมื่อตกลงกันแล้วท่านทูตเสนีย์รับไปจัดการปรับปรุงบันทึกใหม่ตามมติของที่ประชุม เป็นบันทึกลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2488

การประชุมครั้งแรกที่กระทรวงการต่างประเทศนัดในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2488 ฝ่ายอเมริกันมีนาย เจ. ดับบลิว บัลเลนไทน์ อธิบดีกรมกิจการตะวันออกไกล และนาย อี. สแตนตัน ผู้ช่วยฝ่ายไทยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยคุณสงวนและข้าพเจ้า ท่านทูตยื่นบันทึกลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ให้แก่นายบัลเลนไทน์ พร้อมกับหนังสือมอบอำนาจจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และแถลงประกอบการเสนอขอจัดตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นโดยขอให้สหประชาชาติรับรอง

ความจริงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นนี้ เมื่อครั้งคุณสงวนและคุณแดงออกไปกรุงวอชิงตัน ก็ได้ไปทาบทามทางกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันไว้แล้วแต่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2486 แต่ท่านทูตเสนีย์ ยังไม่สู้จะเห็นด้วย เรื่องจึงเงียบไป ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2487 นายแลนดอนเจ้าหน้าที่โต๊ะไทยในกรมกิจการตะวันออกไกลเชิญท่านทูตเสนีย์ไปพบและแจ้งให้ทราบว่า ทางอเมริกันได้รับสาสน์จากคุณหลวงอรรถกิติกำจรทูตไทยที่สต็อกโฮล์มแจ้งว่า ท่านปรีดีใคร่จะขอให้ท่านเสนีย์จัดตั้งคณะรัฐบาลไทยเสรีขึ้นในสหรัฐฯ และขอให้ท่านทูตเสนีย์ส่งผู้แทนไปพบที่กรุงสต็อกโฮล์มเพื่อปรึกษาหารือวางแผนดำเนินงาน ท่านทูตเสนีย์ให้ความเห็นว่า ความประสงค์ในสาสน์ฉบับนั้น ขัดต่อหลักการของท่านที่เคยแถลงไว้ว่า ท่านทำงานเสรีไทยไม่มุ่งประสงค์จะได้ตำแหน่งหน้าที่อย่างใด จึงยังไม่แน่ใจว่าที่สั่งมาเช่นนั้น ท่านปรีดีหมายประการใด นายแลนดอนตอบว่าอาจจะเป็นเพราะท่านปรีดีมีแผนที่จะอยากหนีออกจากประเทศไทยก็ได้ จึงใคร่จะให้เตรียมองค์การอย่างใดไว้ก่อน นายมอฟเฟ็ต หัวหน้ากองในกรมกิจการตะวันออกไกลเตือนว่า การส่งผู้แทนทูตจากวอชิงตันไปกรุงสต็อกโฮล์มอาจจะไม่พ้นสายตาของฝ่ายข้าศึก ท่านทูตเสนีย์ขอให้กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันส่งคนไปทูตไทยที่สวีเดนดีกว่า ได้ความอย่างไรค่อยแจ้งให้ท่านทราบ

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2487 ท่านทูตเสนีย์แจ้งต่อนายมอฟเฟ็ตว่า ในทัศนะของท่าน การจัดตั้งรัฐบาลไทยเสรีมีท่านเป็นหัวหน้านั้น เกรงจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ท่านไม่มีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ และจะไม่ทำเป็นอันขาด ถ้าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยืนยันว่ามีความจำเป็นจริงๆ ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น เนื่องด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อาจถูกฝ่ายญี่ปุ่นบีบบังคับมากขึ้น ท่านทูตก็จะรับไว้พิจารณาดู

ต่อมาอีกสัปดาห์หนึ่ง นายมอฟเฟ็ตแสดงความเห็นต่อท่านทูตเสนีย์ว่า นอกจากจะมีเหตุผลอื่นบังคับให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ การจัดตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นในสหรัฐฯ จะไม่ช่วยประเทศไทย และอาจจะก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่สหรัฐฯ ก็ได้ เนื่องจากอังกฤษไม่เห็นด้วย ในบันทึกที่อธิบดีกรมกิจการตะออกไกลเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2488 มีข้อความตอนท้ายว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่งผู้แทนไปจุงกิงตามคำเชิญของจอมพล เจียง ไคเช็ค เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐบาลไทยชั่วคราวขึ้นที่จุงกิง ซึ่งหากประเทศจีนรับรองแล้ว ก็จะได้ให้ฝ่ายสหรัฐฯ และอังกฤษรับรองอีกด้วย ทั้งนี้เพราะผู้สำเร็จราชการเชื่อว่า ญี่ปุ่นกำลังเตรียมการจะเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศไทยแล้ว และในขณะเดียวกันผู้สำเร็จราชการกำลังส่งผู้แทนอีกคนหนึ่งมากรุงวอชิงตัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีหนังสือมอบอำนาจจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้เปิดการเจรจากับฝ่ายอเมริกันเป็นทางการ กระทรวงการต่างประเทศจึงต้องรับฟังและเจรจาด้วย ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2488 ฝ่ายไทยเริ่มอธิบายว่า การกระทำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการสั่งให้ฝ่ายไทยหยุดยิงต่อสู้กำลังทหารญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ก็ดี การยินยอมให้ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารผ่านประเทศไทยก็ดี ตลอดจนการประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 ล้วนเป็นการกระทำขัดต่อเจตนารมณ์อันแท้จริงของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ เป็นการละเมิดกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบที่ผ่านรัฐสภาโดยชอบ สำหรับการประกาศสงครามยังเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญไทยด้วย เพราะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้ทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยมิได้ลงนามในประกาศสงครามครบถ้วน

ประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วยกับการร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่น จนในที่สุดได้มีการล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามลง และจัดตั้งรัฐบาลควง อภัยวงศ์ขึ้นแทนรัฐบาลใหม่ แม้จะอยู่ในบังคับต้องทำตนเป็นมิตรกับญี่ปุ่น แต่ก็เปิดโอกาสให้ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นปฏิบัติการร่วมมือกับฝ่ายสหประชาชาติโดยใกล้ชิด รัฐบาลควงย่อมไม่สามารถทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย จึงจำต้องจัดให้มีรัฐบาลไทยพลัดถิ่นขึ้นเป็นปากเสียงที่แท้จริงของประชาชนชาวไทย ซึ่งจะปฏิเสธการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการกระทำอื่นๆ ในด้านการร่วมมือกับญี่ปุ่น ตลอดจนการรับดินแดนบางส่วนของมลายูและพม่า ในการนี้ รัฐบาลพลัดถิ่นจำต้องได้การยอมรับนับถือจากฝ่ายสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้แก่คนไทยว่าฝ่ายสหประชาชาติมิได้รังเกียจเดียดฉันท์ประเทศไทย หากเห็นอกเห็นใจในการที่ต้องตกอยู่ในอำนาจของญี่ปุ่น

ฝ่ายอเมริกันอธิบายว่ายังไม่ตระหนักในความจำเป็นที่อ้างถึง เพราะการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอาจจะก่อให้เกิดความสับสน จะอธิบายได้อย่างไรว่า ประเทศไทยมีทั้งรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและในขณะเดียวกันมีรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศอีกคณะหนึ่ง บางทีอาจจะมีทางสนองความต้องการของไทยได้ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการเสรีคณะหนึ่ง โดยไม่ต้องเรียกเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นจะสะดวกกว่า

ฝ่ายไทยพยายามชี้แจงว่า รัฐบาลพลัดถิ่นย่อมปฏิบัติการใดๆ ได้ในนามของประชาชนชาวไทยอย่างเต็มที่ พร้อมด้วยการยอมรับนับถือของฝ่ายสหประชาชาติ การมอบอำนาจที่คณะผู้แทนไทยได้รับมาก็เพื่อให้เจรจาจัดตั้งคณะรัฐบาลพลัดถิ่น แยกต่างหากจากรัฐบาลภายในประเทศ และเมื่อจำเป็นก็จะมีบุคคลชั้นผู้นำของขบวนต่อต้านออกมาร่วม มิใช่เพียงคณะกรรมการเท่านั้น ประชาชนไทยจะเข้าใจในความสำคัญของรัฐบาลพลัดถิ่นยิ่งกว่าคณะกรรมการหากฝ่ายอเมริกันไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะรัฐบาลพลัดถิ่น และขอให้เป็นเพียงคณะกรรมการไปพลางก่อน ฝ่ายไทยจะต้องขอเวลาปรึกษาหารือกันดู โดยจะต้องฟังความเห็นของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทางกรุงเทพฯ

ในบันทึกของฝ่ายไทย ได้กล่าวถึงความต้องการจะได้รับความช่วยเหลือในรูปให้ยืมให้เช่าจากรัฐบาลอเมริกัน ในข้อนี้ฝ่ายอเมริกันชี้แจงว่า ถ้าเป็นความช่วยเหลือในด้านทหาร จะต้องติดต่อทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอเมริกัน

ฝ่ายอเมริกันได้ถือโอกาสถามถึงการเลือกปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยเคยถือเป็นนโยบายต่อคนต่างด้าวก่อนสงครามว่า จะคงดำเนินต่อไปหรือไม่ ฝ่ายไทยตอบว่านโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยภายหลังสงครามย่อมจะตั้งอยู่บนมูลฐานการไม่เลือกปฏิบัติ คนต่างด้าวทุกประเทศจะได้รับผลปฏิบัติอย่างคนชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งและอย่างคนไทยโดยปราศจากการกีดกัน

ในตอนท้ายก่อนสิ้นประชุม ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ฝ่ายอเมริกันทราบว่า ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเซอร์ จอร์ช แซนซัม ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษทางสันถวไมตรีแล้ว ขอมอบให้อยู่ในดุลยพินิจของนายบัลเลนไทน์ที่จะแจ้งให้เซอร์ จอร์ช ทราบถึงการเจรจาระหว่างอเมริกันกับไทย ถ้าฝ่ายอังกฤษมีความคิดเห็นอย่างใดหวังว่าทางฝ่ายอเมริกันคงจะแจ้งให้ทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ว่าอังกฤษมีนโยบายจะปฏิบัติอย่างไรกับประเทศไทยหลังสงคราม อังกฤษยังไม่ยอมเปิดเผยท่าทีของอังกฤษเลย ทั้งยังไม่ยอมจะเจรจาการเมืองกับไทยด้วย หากฝ่ายอเมริกันสามารถช่วยให้อังกฤษแสดงท่าทีออกมาให้ชัดเจน ก็จะเป็นการดีเพราะภายในประเทศไทยมีข้อเกรงกลัวห่วงใยในเรื่องนี้มาก

หลังจากที่ได้พบกับคณะผู้แทนไทยแล้ว นายบัลเลนไทน์ เชิญ เซอร์ จอร์ช แซนซัมไปพบที่กระทรวงการต่างประเทศ และตามรายงานที่เซอร์ จอร์ช ส่งกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายบัลเลนไทน์ได้บอกเล่าเก้าสิบให้เซอร์ จอร์ช ทราบในรายละเอียดของการพูดจากับคณะผู้แทนไทย และแสดงความเห็นว่า ยังไม่สู้จะมองเห็นประโยชน์เพียงใดนักที่ผู้สำเร็จราชการเสนอจะให้มีการปฏิเสธการประกาศสงครามของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงนั้น

แต่น่าที่จะพิจารณาปัญหาเรื่องการรับรองคณะกรรมการไทยเสรีซึ่งจะมีผู้แทนประจำที่กรุงวอชิงตัน ลอนดอน และจุงกิง คำขอของคณะผู้แทนไทยดูจะเกินความจำเป็นเฉพาะหน้าไปบ้าง แต่ก็ไม่ควรจะเพิกเฉยละเลยเสียทีเดียว นายบัลเลนไทน์รับว่าท่าทีของรัฐบาลอังกฤษแตกต่างจากของรัฐบาลอเมริกัน เพราะอังกฤษมีผลประโยชน์โดยตรงในดินแดนที่ติดต่อกับประเทศไทย ส่วนสหรัฐฯ คำนึงถึงแต่ประโยชน์ทั่วไป อย่างไรก็ตาม ทั้งสองรัฐบาลน่าจะตกลงกันในหลักการสำคัญๆ เพื่อป้องกันมิให้จุงกิงชิงดำเนินการฝ่ายเดียวไปก่อน

วันที่ 6 มีนาคม นายอีเดนสั่งให้ลอร์ด แฮลีแฟ็กซ์ ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันที่ได้แจ้งผลของการเจรจากับคณะผู้แทนไทยให้ทราบ และยินดีที่จะรับปรึกษาหารือด้วยก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันจะติดต่อกับคณะผู้แทนไทยต่อไป ในขณะเดียวกัน นายอีเดนได้แจ้งเนื้อหาของการสนทนาระหว่างนายเดนิงกับคุณดิเรก ชัยนาม เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ให้ฝ่ายอเมริกันทราบด้วย

พึงสังเกตว่า เมื่อมีคณะผู้แทนไทยออกไปจุงกิง ทางฝ่ายจีนแจ้งให้ทั้งอังกฤษและอเมริกันทราบเสมอ เมื่อคุณดิเรกเดินทางออกไปแคนดี และข้าพเจ้าออกไปกรุงวอชิงตัน ทั้งอังกฤษและอเมริกันต่างแจ้งให้แก่กันทราบ แต่มิได้แจ้งต่อฝ่ายจีนเนื่องจากเกรงข่าวจะรั่วไหลถึงหูญี่ปุ่น

วันที่ 16 มีนาคม กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันมีหนังสือถึงสถานอัครราชทูตอังกฤษเสนอแนะให้รัฐบาลอังกฤษ จีนและอเมริกันตกลงกันในเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการไทยเสรีนอกประเทศไทย เพื่อเป็นทางสนับสนุนงานของคณะต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย และได้แจ้งให้อังกฤษทราบด้วยว่าจอมพล เจียง ไคเช็ค พร้อมที่จะยินยอมให้คณะกรรมการไทยเสรีนี้ตั้งทำการอยู่ในกรุงวอชิงตัน ฝ่ายอังกฤษตอบเมื่อวันที่ 5 เมษายน ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว และไม่เชื่อว่าจะทำประโยชน์อย่างใดได้ นอกจากจะเพิ่มความยุ่งยากให้เกิดขึ้นภายในประเทศไทย และจะทำให้ญี่ปุ่นมีปฏิกิริยารุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อมีทางติดต่อกับหัวหน้าขบวนการต่อต้านโดยตรงได้แล้ว ก็ควรจะดำเนินการอย่างลับๆ ต่อไปอีกจนกว่าจะถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในดินแดนไทยที่ได้รับการปลดปล่อยแล้ว

ต่อมาเมื่อปรากฏว่า ฝ่ายสหประชาชาติจะจัดให้มีการประชุมตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นที่นครซานฟรานซิสโกในเดือนเมษายน 2488 ประเทศที่จะเข้าร่วมการประชุมได้จะต้องเป็นประเทศที่ประกาศสงครามกับอักษะ คณะผู้แทนไทยได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการให้แถลงต่อฝ่ายอเมริกันว่า ฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยพร้อมที่จะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นทันที ซึ่งทางฝ่ายอเมริกันได้ขอร้องให้รอไว้ก่อน เพราะการประกาศเช่นนั้น อาจจะสร้างความไม่พอใจให้แก่ญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นปฏิบัติการรุนแรงจนถึงกับยึดครองประเทศไทยอย่างเด็ดขาดได้ ฝ่ายสหประชาชาติยังต้องการให้ประเทศไทยช่วยสหประชาชาติทางใต้ดินไปก่อน จะเป็นประโยชน์ต่อสหประชาชาติมากกว่าเกิดการแตกหักระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ฝ่ายอเมริกันขอรับทราบเจตจำนงของฝ่ายไทยไว้ แต่จะยังไม่ให้ดำเนินงานจนกว่าทุกฝ่ายจะพร้อม

วันที่ 20 มีนาคม 2488 นายเบรน ประจำกองบัญชาสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร มีโทรเลขถึงกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า ข่าวจากกระแสอเมริกันว่า รัฐบาลไทยคิดว่าญี่ปุ่นอาจจะเข้ายืดควบคุมประเทศไทยในเร็ววัน และรัฐบาลไทยตัดสินใจจะต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ แต่คงสู้ได้ไม่เกินเดือน ถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอก

นายเบรนรายงานอีกว่า ไม่มีหลักฐานว่าญี่ปุ่นจะผลุนผลันดำเนินการเช่นนั้น เพราะยังมีท่าทีพอใจในรัฐบาลไทยอยู่ ถ้าขืนใช้กำลังเข้ายึดไทย จะได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายไทย ซึ่งญี่ปุ่นจะต้องอาศัยกำลังใหญ่หลวงจึงจะสำเร็จ และไม่สมเหตุสมผลในทางโฆษณาของญี่ปุ่นว่าด้วยวัตถุประสงค์ของสงคราม ข่าวลือนี้อาจจะมาจากไทยที่ร่ำร้องแสวงหาอาวุธจากภายนอก นายเบรนเชื่อว่าญี่ปุ่นคงไม่ปฏิบัติการอย่างใดนอกจากจะทราบแน่นอนว่าไทยเตรียมการต่อต้านหรือมีการคุกคามจากภายนอก

ในระหว่างที่เจรจาทางกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่าย โอ.เอส.เอส. ได้เสนอแนะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีโทรเลขส่งเสริมให้กำลังใจแก่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศตกลงให้ส่งโทรเลขมีข้อความดังนี้ “ความพยายามของท่านและของผู้ร่วมงานกับท่านที่จะปลดเปลื้องประชาชาติไทยจากผู้กดขี่ เป็นที่ทราบตระหนักอย่างดี และจะไม่ล้มเหลว ข้าพเจ้าอวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จและขอแสดงความนับถืออย่างอบอุ่นที่สุดมา ณ ที่นี้

โดยที่ทราบว่า ข้าพเจ้าเคยไปปฏิบัติราชการในประเทศญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่ง ฝ่าย โอ.เอส.เอส. ถามข้าพเจ้าตอนหนึ่งว่า ถ้าจะส่งข้าพเจ้ากลับไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ช่วยสอดแสวงหาข่าวสารให้ จะได้หรือไม่ เพื่อให้ โอ.เอส.เอส. มั่นใจว่าฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรทุกวิถีทาง ข้าพเจ้าตอบไปเลยว่า ถ้ามีสิ่งที่เขาเห็นว่า ข้าพเจ้าจะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายสหประชาชาติ ข้าพเจ้ายินดีจะทำให้ โอ.เอส.เอส. จึงได้เริ่มให้ข้าพเจ้าฝึกการใช้วิทยุพูดส่งข่าวติดต่อจากพื้นดินกับเครื่องบินในอากาศ เขาจัดให้ข้าพเจ้าไปฝึกโดยพาไปยังที่เปลี่ยวนอกกรุงวอชิงตัน ลองพูดติดต่อทางวิทยุกับเครื่องบินที่ผ่านมา ขั้นต่อไปจะให้ฝึกโดดร่มจากเครื่องบิน แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะดำเนินการจริงจังอย่างใดและเมื่อใด พอดีข้าพเจ้าได้รับโทรเลขด่วนจากผู้สำเร็จราชการสั่งให้ข้าพเจ้ารีบกลับประเทศไทยด่วน เพราะหายตัวไปเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว พวกญี่ปุ่นทั้งทหารและพลเรือนในประเทศไทยที่รู้จักข้าพเจ้า เริ่มถามถึงข้าพเจ้า เพื่อมิให้ฝ่ายญี่ปุ่นเริ่มหวาดระแวงในท่าทีของฝ่ายไทย ข้าพเจ้าจึงควรรีบกลับประเทศเสียทีหนึ่งก่อน ความดำริของ โอ.เอส.เอส. ที่จะส่งข้าพเจ้าไปญี่ปุ่นจึงเป็นอันพับไป

เมื่อข้าพเจ้าได้รับคำสั่งนี้ในต้นเดือนเมษายน ข้าพเจ้าได้ไปขอพบกับนายบัลเลนไทน์เพือแจ้งให้ทราบว่า ข้าพเจ้าเสียใจที่ต้องลากลับเสียแล้ว ทั้งๆ ที่ปฏิบัติการยังไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่ส่งข้าพเจ้ามา แม้แต่ท่าทีของอังกฤษต่อประเทศไทยก็ยังไม่ได้ความคืบหน้าเลย ข้าพเจ้าจึงใคร่จะขอให้นายบัลเลนไทน์ช่วยติดต่อสอบถามฝ่ายอังกฤษก่อนที่ข้าพเจ้าจะเดินทางกลับว่าอังกฤษจะเอาอย่างไรกับประเทศไทยแน่ นายบัลเลนไทน์เห็นใจ รับกับข้าพเจ้าว่าจะติดต่อกับฝ่ายอังกฤษดูอีก ต่อมานายบัลเลนไทน์ได้เชิญทูตเสนีย์และข้าพเจ้าไปพบเมื่อวันที่ 9 เมษายน แล้วแจ้งว่า ฝ่ายอังกฤษยินยอมให้แจ้งต่อฝ่ายไทยด้วยวาจาว่า

“(1) อังกฤษถือว่า เป้าหมายสุดท้ายของสหรัฐอเมริกาและของอังกฤษสำหรับประเทศไทยมีลักษณะอย่างเดียวกัน

(2) อังกฤษไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในความจริงใจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ปรารถนาจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร และ

(3) อังกฤษรู้สึกว่าพึงดำเนินการติดต่อโดยตรงกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยที่ได้รับการปลดปล่อยแล้วตามความดำริของผู้สำเร็จราชการฯ”

นายบัลเลนไทน์ไม่ขัดข้องในการที่ข้าพเจ้าขอจดถ้อยคำเหล่านั้นไว้เพื่อไปรายงานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ขอให้เข้าใจว่า ทั้งนี้เป็นเพียงตามเจตนารมณ์ของฝ่ายอังกฤษเท่านั้น มิใช่ถ้อยคำตัวต่อตัวที่เซอร์ จอร์ช แซนซัน แจ้งต่อนายบัลเลนไทน์ และในการแจ้งให้ฝ่ายเราทราบ ทางอเมริกันไม่ประกันความผูกพันของฝ่ายอังกฤษ

ได้ความจากฝ่ายอเมริกันเพียงเท่านี้ ฝ่ายเราก็พอใจแล้ว การเดินทางออกไปสหรัฐฯ ของข้าพเจ้าไม่เสียเที่ยวทีเดียว เพราะถ้อยคำในข้อ (1) จะแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากอังกฤษรับจะเคารพเอกราชและอธิปไตยของประเทศไทยหลังสงคราม และด้วยคำในข้อ (2) เป็นการยอมรับนับถือความร่วมมือที่ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้าได้ให้แก่สหประชาชาติ นายบัลเลนไทน์ยังได้ให้คำมั่นว่า แม้ข้าพเจ้าจะเดินทางกลับประเทศไทยแล้วทางกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันยังหวังที่จะพูดจากับฝ่ายอังกฤษและฝ่ายไทยต่อไป

ความจริงในตอนนั้น ทางรัฐบาลอังกฤษได้ทำใจเกี่ยวกับประเทศไทยไว้แล้วโดยกำหนดเป็นแนวนโยบายในการเจรจากับรัฐบาลไทยที่ได้รับการปลดปล่อยจากญี่ปุ่นว่า ฝ่ายไทยจะต้องปฏิเสธการร่วมมือกับญี่ปุ่นให้สิ้นเชิง ตกลงยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผลประโยชน์ของอังกฤษอันสืบเนื่องจากความร่วมมือกับญี่ปุ่น และทำความตกลงทางทหารกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่นแล้วรัฐบาลอังกฤษจึงจะยอมรับนับถือรัฐบาลไทยใหม่นั้น อังกฤษต้องส่งข้อเสนอนี้ไปหารือกับรัฐบาลจักรภพที่เกี่ยวข้องอยู่ จึงยังไม่ยอมเปิดเผย

ฝ่ายอเมริกันจัดให้ข้าพเจ้าบินออกจากกรุงวอชิงตันไปเมืองแคนดี เจ้าหน้าที่ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดี แจ้งให้ทราบว่า บังเอิญเครื่องบินไปประเทศไทยเพิ่งออกไปเมื่อวันก่อนที่ข้าพเจ้าเดินทางถึง จะต้องรอเครื่องบินเที่ยวต่อไป ถ้าอยากจะกลับเร็วกว่านั้น ก็อาจจะต้องลงโดยโดดร่มข้าพเจ้าไม่ขัดข้อง เพราะความประสงค์ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยากจะให้ข้าพเจ้ากลับโดยเร็วที่สุดที่เป็นได้ เขาปรึกษาหารือกัน

วันต่อมาแจ้งต่อข้าพเจ้าว่า จะจัดเครื่องบินพิเศษพาข้าพเจ้ากลับประเทศที่จุดหมายที่ได้นัดแนะไว้กับฝ่ายต่อต้านแล้ว เครื่องบินน้ำอังกฤษนำข้าพเจ้ามาลงที่น่านน้ำไทยบริเวณหน้าจังหวัดเพชรบุรี จากนั้นเรือศุลกากรของคุณหลวงบรรณากรโกวิทนำข้าพเจ้ากลับกรุงเทพฯ ทำนองเดียวกับที่เคยนำข้าพเจ้าไปเกาะกระดาษ วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าไปปฏิบัติราชการที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นปกติ มารดาของข้าพเจ้าดีใจที่ข้าพเจ้ากลับบ้านแล้วหลังจากที่ไปต่างจังหวัดเสียกว่าสามเดือน

ข้าพเจ้าเดินทางออกไปต่างประเทศตอนนั้นไปอย่างตัวเปล่า ไม่มีข้าวของสิ่งใดติดตัวไปด้วยเลย เวลาขากลับประเทศไทย ข้าพเจ้าก็กลับตัวเปล่าเหมือนกัน นอกจากเสื้อผ้าที่นุ่งห่มอยู่กับตัวแล้ว หาได้มีสิ่งอื่นใดติดมาไม่ แม้แต่ธนบัตรเงินเหรียญอเมริกันที่ข้าพเจ้าได้รับจากสถานทูตด้วยความกรุณาของท่านทูตเสนีย์ ปราโมช เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นระหว่างนักอยู่ที่กรุงวอชิงตันเหลือติดตัวระหว่างเดินทางมาแคนดี 100 เหรียญ ข้าพเจ้าก็ได้มอบให้แก่นาวาอากาศเอก ทวี จุลทรัพย์ ซึ่งเพิ่งออกไปในงานของขบวนการต่อต้าน และบังเอิญพบกันที่เมืองโคลอมโบโดยเห็นว่า อาจจะเป็นประโยชน์แก่คุณทวีมากกว่าข้าพเจ้า ถ้าข้าพเจ้าเก็บติดตัวมา นอกจากจะไม่มีประโยชน์อย่างใด เพราะสมัยนั้นไม่มีการแลกเปลี่ยนเงินตราอเมริกันหรืออังกฤษกับเงินบาทไทยเป็นทางการ ยังอาจจะเป็นภัยแก่ข้าพเจ้าเองอีกด้วย หากระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ข้าพเจ้าเกิดต้องเจอกับทหารญี่ปุ่น ข้าพเจ้าก็จะอธิบายไม่ได้เต็มปากว่า ได้ธนบัตรเงินเหรียญอเมริกันมาอย่างไร จากที่ไหน

ส่วนความดำริของ โอ.เอส.เอส. ที่จะให้หาข่าวสารโดยตรงจากภายในประเทศญี่ปุ่นนั้น ผู้แทน โอ.เอส.เอส. ทางกรุงเทพฯ ได้ยกเป็นประเด็นขึ้นปรึกษากับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เหมือนกัน โดยเน้นในความจำเป็นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องได้รับเพื่อประกอบการวางแผนยุทธศาสตร์ในการยึดครองประเทศญี่ปุ่นในภายหน้า โอ.เอส.เอส. เรียกโครงการนี้ว่าโครงการแจ๊กป๊อท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็มองเห็นประโยชน์เหมือนกัน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะหาทางส่งเครื่องรับส่งวิทยุเข้าไปได้อย่างไร โอ.เอส.เอส. เสนอให้ใช้เครื่องรับส่งจิ๋ว “Punch and Judy” และจะฝึกคนให้จัดเจนกับการใช้เครื่องนี้ให้ แต่ก็ยังมีปัญหาจะส่งทั้งคนทั้งเครื่องเข้าถึงญี่ปุ่นได้อย่างไร เพราะในตอนนั้นไม่มีทางที่จะส่งคนไทยเข้าไปถึงประเทศญี่ปุ่นได้ แม้แต่นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ก็ยังได้รับการปฏิเสธจากญี่ปุ่นแล้วว่าไม่มีเครื่องบินที่จะรับตัวบินไปญี่ปุ่นได้ ความดำริของ โอ.เอส.เอส. ในด้านนี้ จึงเป็นอันจำต้องระงับ โดยไม่มีทางทำได้สำเร็จ

เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เริ่มติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่นทันที เพื่อแก้ข้อระแวงสงสัยที่ข้าพเจ้าหายหน้าหายตาไปนานเป็นเวลาหลายเดือน ที่ข้าพเจ้าต้องติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่นก็เนื่องจากข้าพเจ้าเคยไปประจำอยู่ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว จึงมีความสัมพันธ์ติดต่อกับพวกญี่ปุ่นบ้าง ทั้งๆ ที่ในตำแหน่งหน้าที่แล้ว ข้าพเจ้าปฏิบัติงานด้านการเมืองด้านตะวันตก

เป็นธรรมดาอยู่เองที่งานของกรมการเมืองตะวันตกยามสงครามย่อมมีน้อย เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าไปช่วย “รู้ธ” ในการดำเนินงานใต้ดินของท่าน ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ประจำอยู่กับผู้แทนของ โอ.เอส.เอส. ในกรุงเทพฯ ซึ่งในตอนนั้นมีพันตรีกรีนลีเป็นหัวหน้า ตามปกติเมื่อข้าพเจ้าไปราชการที่กรุงวอชิงตัน เวลามีปัญหาที่จะติดต่อกับผู้แทน โอ.เอส.เอส. “รู้ธ” ได้อาศัย คุณทวี ตะเวทิกุล ซึ่งเป็นผู้แทนประจำพวก โอ.เอส.เอส. อยู่ ต่อเมื่อมีเรื่องสำคัญ “รู้ธ” จึงจะมาพบพวก โอ.เอส.เอส. ด้วยตัวเอง ครั้นเมื่อมีข้าพเจ้ามาช่วยคุณทวี ตะเวทิกุล อีกคนหนึ่ง ฝ่ายไทยเราจึงมีผู้แทนประจำที่ทำการของ โอ.เอส.เอส. สองคน การที่ “รู้ธ” มาพบด้วยแต่ละครั้งย่อมเป็นการเสี่ยงภัยไม่มากก็น้อย พวกเราจึงเห็นว่า “รู้ธ” ไม่พึงเสี่ยงเช่นนั้นเป็นนิจศีล หากมีเรื่องสำคัญจะต้องปรึกษาหารือกันก็น่าจะกระทำได้โดยตัวแทนของ “รู้ธ” พันตรีกรีนลีในชั้นแรกแสดงความไม่พอใจที่ไม่สู้จะได้เห็นหน้า “รู้ธ” บ่อยอย่างที่เคย เขาคิดไม่ถึงว่าญี่ปุ่นคอยสอดส่องการเคลื่อนไหวของ “รู้ธ” อยู่ตลอดเวลา ต้องพยายามทำความเข้าใจกับเขานานพอดู เขาจึงเข้าใจ

หมายเหตุ :

  • ตั้งชื่อโดยบรรณาธิการ
  • ตัดตอนมาจากบทความ เรื่อง “สุนี เทพรักษา”

ที่มา : กนต์ธีร์ ศุภมงคล, สุนี เทพรักษา, ใน “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ กนต์ธีร์ ศุภมงคล”, (กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์, 2556), หน้า 154-167.