ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ : การเมืองก็ส่วนตัว ส่วนตัวก็การเมือง

7
มกราคม
2566

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องนิยามสองคำที่จะใช้ในบทความนี้ คำแรกคือ “ประชาธิปไตย” แน่นอนว่าในแต่ละประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยจะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่มีลักษณะบางอย่างที่เป็นหลัก เพื่อความชัดเจน ตอนที่ดิฉันพูดถึง “ประชาธิปไตย” นั้นหมายถึง ระบอบการเมืองการปกครองที่ราษฎรแต่ละคนเท่ากัน ไม่มีคนใดที่เหนือกว่าหรือต่ำกว่าคนอื่น ประชาชนแต่ละคนมีสิทธิเท่ากัน ไม่มีคนใดๆ ที่มีสิทธิพิเศษ ประชาชนแต่ละคนมีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในสังคมและการเมืองที่ไม่ต่างกัน ไม่มีคนใดที่ถูกบีบบังคับไม่ให้มีเสียงเพราะมีเงินน้อยกว่าหรือการศึกษาต่ำกว่าหรือคิดต่างจากคนอื่น

นอกจากนั้น ในระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสังคมและเครื่องมือเพื่อปกป้องความเท่าเทียมกันนี้ เช่น ประชาชนแต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก ความคิด แม้ความคิดที่อาจจะต่างจากความคิดกระแสหลักหรือต่อต้านกระแสอำนาจไม่ได้ถือว่าสิ่งที่เป็นอาชญากรรม นอกจากนี้ในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ว่ามีแต่หลักนิติธรรมที่สร้างกฎหมายให้ทุกคนปฏิบัติตาม แต่กฎหมายต้องเป็นกฎที่เป็นธรรมและเครื่องมือที่ช่วยปกป้องประชาธิปไตยและราษฎรแต่ละคน ไม่ใช่สิ่งที่กลับมาทำลายประชาธิปไตยหรือประชาชน ได้เรียกกันสั้นๆ ว่ามีสามอย่างที่เป็นเสาหลักสำคัญของประชาธิปไตย คือ ความเท่าเทียมกัน สิทธิเสรีภาพ และ การเคารพความแตกต่าง

คำที่สองคือ “เรา” ผู้เขียนหมายถึงผู้ที่ห่วงถึงประชาธิปไตย ผู้ที่สนใจช่วยกันสร้าง ส่งเสริม และปกป้องประชาธิปไตย ผู้ที่อยากลงมือทำให้ต้นไม้ประชาธิปไตยโตมาเป็นต้นใหญ่พอที่จะให้ประชาชนอยู่ใต้ร่มของสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะเรียกกระบวนการนี้สั้นๆ ว่า “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”

ประเด็นหลักของบทความชิ้นนี้ที่ผู้เขียนอยากจะเสนอ คือ เรายังไม่ค่อยใส่ใจบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนี้เพียงพอ อันนี้เป็นปัญหาที่คงเรียกได้ว่ามีผลที่ทั้งเล็กและใหญ่ ที่กระทบต่อทั้งผู้หญิง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการเขียนประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นกัน บทความชิ้นนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วนส่วนที่หนึ่งจะอธิบายปัญหาด้วยสายตานักเรียนประวัติศาสตร์ ส่วนที่สองจะพยายามเริ่มแก้ปัญหาด้วยการเสนอกระแสประวัติศาสตร์ใหม่

แม้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกัน และเป็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่การที่ผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ถูกรับความสนใจเพียงพอ อันที่จริงแล้วมีที่มาที่มิได้ซับซ้อนอะไร หากเป็นเรื่องของการดูถูกผู้หญิง และไม่ตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิง (บางครั้งแม้แต่ไม่เห็นผู้หญิงเสียด้วยซ้ำ) ไม่ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แม้ในหมู่ผู้ที่รักประชาธิปไตย ในตัวผู้หญิงที่รักประชาธิปไตยเอง และแม้แต่ตัวผู้เขียนเองที่วิจารณ์ปัญหานี้อยู่

ทั้งนี้ การดูถูกผู้หญิงนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนยาก เป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะและผลหลายรูปแบบหลายชนิด ทั้งที่เป็นนามธรรมและที่เป็นรูปธรรม เช่น ผู้หญิงและผู้ชายทำงานตำแหน่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพหรือผู้บริหารบริษัท ผู้ชายมักจะเลื่อนตำแหน่งเร็วกว่าและได้เงินสูงกว่า ผู้ชายมีโอกาสลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรมากกว่าผู้หญิง หรือรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีหรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยมากกว่าผู้หญิงมีเรื่องหนึ่งที่ผู้หญิงมีโอกาสมากกว่าผู้ชาย นั่นคือโอกาสถูกการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ยังไม่มีที่ใดในโลกนี้ที่ผู้หญิงปลอดภัยจากอันนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุการดูถูกผู้หญิงนั้นไม่ใช่เกิดจากว่าผู้ชายเก่งกว่าหรือดีกว่า แต่เป็นสิ่งที่มาจากทั้งการกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกและอุดมคติที่มาจากการกระทำเช่นนี้

การดูถูกผู้หญิงนี้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างไร ในบริบทการต่อสู้ การดูถูกผู้หญิงก็มีปรากฏการณ์หลายลักษณะ ทั้งในแง่ที่ว่า ผู้หญิงได้ปฏิบัติและมีบทบาทในการต่อสู้อย่างไร และในแง่ที่ว่าการลงมือของผู้หญิงอย่างนี้ถูกมองอย่างไร นานๆ ครั้ง จะมีผู้หญิงได้ขึ้นเวทีปราศรัยหรือนำประชาชนเดินขบวนบนท้องถนนหรือได้เป็นผู้นำสาธารณะหรือเป็นผู้นำในการเขียนทฤษฎีการต่อสู้[1] เพราะปกติแล้ว ผู้ชายจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ออกเป็นผู้นำสาธารณะมากกว่าผู้หญิง ไม่ใช่ว่าไม่มีผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราทุกคนคงได้นึกถึงบุคคลผู้หญิงที่เรารู้จักที่เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว ทั้งอดีตและปัจจุบันที่ขาดเสียมิได้ แต่ผู้หญิงก็ทำงานเบื้องหลังมากกว่าหรือยิ่งกว่านั้นคงทำงานอย่างที่เรียกได้ว่า ปิดทองหลังพระ บางครั้งพวกเธอก็เลือกทำงานเช่นนี้ บางครั้งก็ไม่มีโอกาสเลือกหรือเข้าถึงบทบาทอื่น นอกจากนั้นบางครั้งผู้หญิงและการกระทำของผู้หญิงก็ถูกมองไม่เห็น ทั้งๆ ที่พวกเธออยู่แนวหน้าเสียด้วยซ้ำแต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใด สิ่งที่เป็นปัญหาคือผู้หญิงมักจะถูกมองไม่เห็นและไม่ได้ถูกบันทึกในตำนานประวัติศาสตร์เพียงพอ

ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นปัญหา ปัญหาก็มิใช่เพียงแค่ว่าเราไม่เห็นการกระทำหรือได้ยินเสียงของผู้หญิงแต่ละคนที่ลงมือร่วมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้นเรากลับมีภาพของประชาธิปไตย และทางเดินของประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ และไม่เข้าใจโดยไม่มีภาพส่วนต่างๆ ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างรอบด้าน ซึ่งไม่ใช่แค่ปฏิบัติการสาธารณะอย่างการเดินประท้วงและการชุมนุม แต่ประกอบด้วย การฝัน การคิดและร่างข้อเรียกร้อง การสนับสนุนเพื่อนและญาติๆ ที่สู้อยู่ เป็นต้น การเสียสละ บางครั้งประสบความสำเร็จ บางครั้งกลับพ่ายแพ้แก่ฝ่ายอำนาจ แล้วกลับมาเริ่มต้นฝันอีกครั้งใหม่ นี่เป็นวงจรแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยระหว่างและหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวงจรที่เป็นสิ่งที่หลายๆ คนคงรู้จักจากประสบการณ์ในชีวิต มีช่วงประชาธิปไตยบ้าง มีช่วงเผด็จการบ้าง สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือในแต่ละสมัยมีประชาชนที่กล้าหาญที่สู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันและความยุติธรรม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย

ผู้เขียนมองการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่ความเป็นไปได้ของประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย หลักการ 6 ข้อ ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 เป็นภาพอย่างชัดเจนของสิ่งนี้[2] ผู้เขียนสนใจข้อ 4 โดยเฉพาะวลีที่ว่า “จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)” เป็นพิเศษ แน่นอนว่าก่อนการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ประชาชนไม่มีสิทธิเสมอภาคกัน คณะราษฎรไม่ได้พูดถึงความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง แต่ด้วยสายตาว่าผู้หญิงเป็นราษฎรเหมือนกัน

ผู้เขียนอยากเสนอว่าให้เราแปลข้อนี้ให้ความหมายเพิ่มขึ้น คงอ่านได้ว่า “จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่พวกผู้ชายมีสิทธิยิ่งกว่าผู้หญิงเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)” ผู้เขียนอ้างถึงข้อนี้เพื่ออธิบายความสำคัญที่ผู้เขียนให้กับช่วงหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 คือ ก่อนนั้นไม่มีประชาธิปไตย หลังจากนั้นประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นกระบวนการที่กำลังสร้างเสริมเรื่อยๆ ตลอดไปไม่เคยหยุด ปัจจุบันนี้ประชาธิปไตยคงยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรจะเป็น ผู้เขียนอยากจะเสนอว่าเราควรมองการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 นี้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้การที่ผู้หญิงมีพื้นที่ในกระบวนการนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เหมือนกัน

ปัญหาของการไม่ให้ความสนใจเพียงพอต่อบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ได้มีการพูดถึง และวิเคราะห์วิจารณ์จากหลายมุมมองหลายจุดยืน แต่จากมุมมองและฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ไทยของผู้เขียน เวลาที่ผู้เขียนพูดถึงประวัติศาสตร์ไม่ได้หมายถึงอดีตที่ผ่านไปอย่างเงียบๆ แต่หมายถึงอดีตที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และความสัมพันธ์ระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต[3] (Galeano, 2001: 78)

ในการใช้มุมมองนี้ในการพูด ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากศิลปินคิวบันอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อ Felix Gonzalez-Torres เขาเคยพูดว่า “ผมเป็นศิลปิน ภูมิใจในการเป็นศิลปินอย่างที่ เช เกบารา เคยพูดในทศวรรษหกสิบ ว่าไม่ว่าอะไรที่คุณทำ นั่นจะเป็นสนามเพลาะของคุณ เพราะฉะนั้นงานศิลปะจึงเป็นสนามเพลาะของผม แล้วผมก็เชื่อในประเด็นของตัวเองผู้คนก็มักจะเข้าใจผิด ไปคิดว่าการอภิวัฒน์จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องให้ทุกคนเข้าไปสู้อยู่ในสนามเพลาะ แต่ไม่ใช่นะ เราต้องมีช่างทำผม คนทำขนมปัง ช่างไม้ เชฟทำขนมอบ ศิลปิน ... ดังเช่นที่การหนีจากอุดมคติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทางออกทางเดียวคงเป็นการยอมทำงานอยู่กลางข้อขัดแย้งกันที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของเรา”[4] (Spector, 1997: 83) ต้องมีนักอภิวัฒน์ที่ประกอบทุกอาชีพ และการอภิวัฒน์ได้เกิดในทุกที่ ไม่ใช่แค่บนท้องถนนตอนกำลังเดินขบวนอยู่

นี่หมายความว่าผู้เขียนคงไม่ใช่นักเรียนปกติด้วยซ้ำ เป็นนักเรียนที่คิดว่าการเล่าประวัติศาสตร์ และการเขียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ห่างไกลจากสังคมหรือห่างไกลจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นส่วนหนึ่งอันสำคัญที่ขาดมิได้ แน่นอนอยู่แล้วว่าปกติผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์เป็นผู้มีอำนาจ ที่คงไม่ใช่อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์แบบกระแสหลักเป็นประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ประชาชน ก็เลยหมายความว่าตอนที่ผู้ที่รักประชาธิปไตยเขียนประวัติศาสตร์ ก็ควรเขียนด้วยเจตนาต่อต้านอยุติธรรมทุกชนิด (ดู สุพจน์ ด่านตระกูล, 2528) แล้วด้วยการเสี่ยงว่าอาจจะให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ที่หมายถึงการเล่าการเขียนการรำลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และความสัมพันธ์ระหว่างอดีตและปัจจุบันมากเกินไป

ผู้เขียนเห็นว่าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องสำนึกถึงวิธีสู้ทุกรูปแบบทุกชนิด ไม่ใช่แต่อย่างที่มองเห็นง่ายๆ ในที่สาธารณะ การกระทำที่เห็นง่ายๆ มักถูกบันทึกบ่อยกว่าสิ่งที่ต้องพยายามเห็น ประวัติศาสตร์ที่สำนึกถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยสายตาเปิดกว้างอย่างนี้ยอมรับ และบันทึกถึงการกระทำอันหลากหลายที่ขาดไม่ได้ในการสร้างประชาธิปไตย ในเวลาเดียวกันประวัติศาสตร์แบบนี้ได้ผลักให้ เรามองเห็นถึงสิ่งที่ต้องมีเพื่อที่จะไม่พ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่งอย่างชัดกว่าเดิม ผู้เขียนอยากจะเสนอว่าประวัติศาสตร์ก็คงยิ่งสำคัญในสมัยที่มืดมิด เพราะอดีตเป็นแหล่งหนึ่งที่ให้หลักฐานว่าความมืดไม่ถาวรและแสงสว่างเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ : การเมืองก็ส่วนตัว ส่วนตัวก็การเมือง

สิบวันหลังจากการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ใน วันที่ 3 กรกฎาคม 2475 ท่านปรีดีเขียนจดหมายถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เพื่อชี้แจงในสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนและหลังวันที่ 24 นั้น ท่านปรีดีเริ่มต้นด้วยการขอโทษที่ไม่ได้บอกความจริงว่าจะไปไหนตอนที่ออกจากบ้านก่อนวันที่ 24 โดยบอกว่ากำลังไปอยุธยาแต่อันที่จริงไปเตรียมทำการอภิวัฒน์กับคณะราษฎรแทน ในจดหมายท่านปรีดีเขียนว่า “คิดถึงเธอและลูก ตั้งใจจะมาบ้านแต่เห็นว่า เวลานี้ควรอยู่ที่นี่กับทหารดีกว่า” (ชมัยภร แสงกระจ่าง, 2555: 90-92) ส่วนเนื้อหาอื่นในจดหมาย ผู้เขียนอ่านและเข้าใจในแง่ว่าเป็นการขอให้เชิญท่านผู้หญิงพูนศุขมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองของประเทศสยาม[5]

ท่านปรีดีเขียนถัดไปว่า “ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเป็นปกติต่อไป” (อ้างแล้ว) หลังจากนั้นครั้งแล้วครั้งเล่าชีวิตของครอบครัวผู้กล้าหาญนี้ไม่ค่อยได้กลับเป็นปกติ เพราะตอนที่ท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขและลูกๆ ต่อต้านความอยุติธรรมและพยายามสร้างสังคมที่เป็นธรรม ฝ่ายอำนาจก็ตอบโต้ด้วยความโหดร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก

ตอนส่วนสุดท้ายของจดหมายฉบับนี้ท่านปรีดีเริ่มสรุปด้วยอารมณ์ปลอบใจว่า “การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว” (อ้างแล้ว) ผู้เขียนอ่านสองประโยคนี้ซ้ำๆ ด้วยจิตสำนึกของนักเรียนประวัติศาสตร์ ผู้คนยุคหลังที่รับรู้ดีว่าท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขต้องประสบเผชิญเหตุการณ์อย่างไรในชีวิตหลังจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสี่สิบปีหลังจากวันการอภิวัฒน์ในชีวิตของท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขและชีวิตของประชาชนไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้แสดงว่าโดยปกติแล้ว การเมืองก็ส่วนตัว ส่วนตัวก็การเมือง

ไม่ใช่แต่ว่าภรรยามีบทบาทอย่างที่ท่านปรีดีเขียนไว้ แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุขสะท้อนว่าเป็นบทบาทที่ไม่ได้ห่างจากการเชื่อมโยงใกล้ชิดระหว่างโลกการเมืองและชีวิตส่วนตัวที่จริงอันนี้เป็นความจริงตลอดในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะพูดถึงผู้หญิงหรือผู้ชายแต่เป็นความจริงที่ชัดมากในกรณีการจับท่านผู้หญิงพูนศุขในข้อหากบฏสันติภาพในปี 2495 ทั้งความกล้าหาญและการเสียสละไม่ได้เป็นแค่เรื่องการเมือง แต่เป็นสิ่งที่เป็นส่วนตัวอย่างลึกซึ้งเหมือนกัน

ตอนนั้นท่านปรีดีไม่ได้อยู่ประเทศไทย โดยลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน[6] แต่ท่านผู้หญิงพูนศุข ยังดำเนินชีวิตดูแลครอบครัวในกรุงเทพฯ ทำขนมเค้กขายเพื่อมีรายได้เลี้ยงลูก ไม่ใช่แต่ว่าท่านผู้หญิงพูนศุขต้องอยู่ดำเนินชีวิตโดยปราศจากท่านปรีดี แต่ยังต้องอดทนกับการตรวจตราโดยรัฐตลอดด้วยซ้ำ มีตำรวจสันติบาลที่ “เฝ้า” อยู่หน้าบ้าน

สำหรับขบวนการสันติภาพได้เริ่มต้นมาก่อนนั้น ไทยเริ่มมีขบวนการสันติภาพในปี 2483 การเคลื่อนไหวก็เติบโตสูงสุดในช่วง 2493-2535 หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2493 วันที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกลงจะลงเข้าสนับสนุนฝ่ายจักรพรรดินิยมอเมริกาในสงครามเกาหลี ด้วยการสนับสนุนทั้งเสบียงอาหารและทหาร ขบวนการสันติภาพนำโดยเจริญ สืบแสง  พระภิกษุธรรมทัต วัดสุทัศน์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักศึกษา นักการเมือง ทนายความ ชาวนาชาวไร่ และกรรมกรที่ร่วมลงมือคัดค้านสงครามเรียกร้องสันติภาพ (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2553 : 289-304)

คุณปาล ลูกชายคนโตของท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการและชวนคุณแม่ลงชื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหว ตอนที่ย้อนกลับเขียนระลึกถึงกรณีนั้น ท่านผู้หญิงพูนศุขเขียนอธิบายว่า “ปาลได้ขอให้ข้าพเจ้าร่วมเซ็นชื่อคัดค้านสงครามเรียกร้องสันติภาพสากล ข้าพเจ้าเซ็นชื่อในกระดาษที่มีผู้ลงนามก่อนหน้านี้อย่างไม่รีรอไม่ต้องปลุกระดม ไม่ต้องอธิบายเหตุผล ข้าพเจ้ายังจำเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ภาพทหารญี่ปุ่นยาตราทัพเข้ามาในแผ่นดินไทย ภาพเปลวไฟสีแดงฉานจากระเบิดที่ทิ้งลงตรงสถานีรถไฟบางกอกน้อย ภาพตัวเองที่ต้องอุ้มลูกสาวคนเล็กลงหลุมภัยอย่างชุลมุนภาพของคนที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักในยามสงคราม…” (พูนศุข พนมยงค์, 2551 : 207) จากประสบการณ์ส่วนตัวท่านผู้หญิงพูนศุขเข้าใจอย่างสุดซึ้งว่า สงครามเป็นภัยต่อชีวิตของประชาชนและความสงบสุขของสังคม สงครามเป็นสิ่งที่ต้องคัดค้าน

แต่การเคลื่อนไหวสันติภาพกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์รัฐเผด็จการที่มีอำนาจขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านเรียกร้องสันติภาพ และตอบโต้ด้วยการกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ เริ่มเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ด้วยการจับกุมคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และคนอื่นๆ คุณปาลถูกจับในวันที่ 13 อีกสองวันหลังจากนั้นท่านผู้หญิงพูนศุข ถูกจับในระหว่างไปงานที่บ้านของคุณเฉลียว ปทุมรส ในวันนั้นมีตำรวจมาจับคุณเฉลียว นายตำรวจคนหนึ่งบอกว่าจะควบคุมตัวท่านผู้หญิงพูนศุขเหมือนกัน แม้เขาจะไม่ได้แสดงหมายจับแต่บอกว่าเคยเห็นหมายจับที่ออกเรียบร้อยแล้ว และในเวลาเดียวกันมีตำรวจอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังออกไปจับท่านผู้หญิงที่บ้านของตนเอง

ท่านผู้หญิงพูนศุขเขียนถึงการสูญเสียอิสรภาพว่า “ข้าพเจ้าถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หนักอึ้งและยิ่งรัดยิ่งแน่น เป็นเวลา 84 วันเต็ม” (พูนศุข พนมยงค์, 2551ข: 210) มีโซ่ตรวนที่ถูกเชื่อมด้วยเหล็กอันเย็น แต่ก็มีที่ถูกเชื่อมด้วยวัตถุอื่นๆ ที่แข็งเหมือนกัน

ท่านผู้หญิงพูนศุขเขียนว่าช่วงนั้น “ข้าพเจ้าค่อยๆ ทบทวนตนเองว่าทำผิดอะไรหรือ ถึงถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” (พูนศุข พนมยงค์, 2551ข: 21) แค่การลงชื่อนั้นเรียกว่าเป็นกบฏได้หรือ แต่หลังจากเริ่มถูกกระบวนการสอบสวนสาเหตุการจับกุมปรากฏออกชัดขึ้น นายตำรวจที่ทำการสอบสวน พระพินิจชนคดีสนใจถามแค่คำถามเดียว คือท่านปรีดีอยู่ที่ไหน ในการระลึกถึงช่วงนั้นท่านผู้หญิงพูนศุข เขียนว่าตนเองอยากทราบเหมือนกัน เพราะว่าไม่ได้ติดต่อกับท่านปรีดีตั้งแต่วันที่ลี้ภัยออกจากประเทศไทยเลย

ท่านผู้หญิงพูนศุขต้องดำเนินชีวิต 84 วันหลังลูกกรงที่กองสันติบาลที่กรมตำรวจหลังจากนั้นอัยการต้องส่งฟ้องหรือปล่อยตัวท่านผู้หญิงพูนศุขตามกฎหมาย แม้กรมตำรวจจะเสนอให้ฟ้องว่าเป็นกบฏ อัยการมีความเห็นว่าหลักฐานไม่พอ ท่านผู้หญิงพูนศุขถูกปล่อยตัว วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2496 ท่านผู้หญิงพูนศุขเขียนว่าตอนนั้น “รู้สึกบอบช้ำทางจิตใจและร่างกายเป็นอย่างมาก” (พูนศุข พนมยงค์, 2551ข: 217) อีกสองเดือนหลังจากนั้นท่านตกลงที่จะเดินทางออกจากประเทศไทย ก่อนที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเดินทาง ได้แวะไปหาลูกชาย คุณปาล ที่ศาลอาญา ในขณะที่ท่านผู้หญิงพูนศุขไม่ได้ถูกส่งฟ้อง คุณปาลและผู้ที่ถูกจับกุมอีกประมาณ 50 คนถูกฟ้องในข้อหากบฏต่างๆ เช่น กบฏสันติภาพ กบฏกู้ชาติ ฯลฯ ตอนที่สองคนได้เจอกัน ท่านผู้หญิงพูนศุขลาลูกชายและอธิบายว่า สถานการณ์การเมืองและสังคมอันยากคับแคบทำให้ตัดสินใจว่า จะเดินทางออกจากประเทศ (พูนศุข พนมยงค์, 2551ก: 232) จากนั้นศาลตัดสินสั่งให้คุณปาลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ลดเหลือ 13 ปี 4 เดือน ดำเนินชีวิตหลังลูกกรง 5 ปีแล้วก็ได้รับอิสรภาพในเดือนมีนาคม 2500 โดยได้รับนิรโทษกรรม ปีนั้นพอดีท่านผู้หญิงพูนศุขกลับประเทศไทยเพื่อดูแลคุณแม่ที่ป่วยและได้เจอลูกชายในภาวะที่มีอิสรภาพในสังคม แต่ก็เพียงชั่วคราว ก่อนที่รัฐเผด็จการของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะขึ้นมาควบคุมอำนาจใหม่

ตอนที่ผู้เขียนนึกถึงชีวิตและบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แน่นอนว่ามีความทรมานและการเสียสละที่มาจากการเป็นภรรยาและการเป็นแม่อย่างชัดเจน แต่การอ่านงานเขียนการบันทึกที่ท่านผู้หญิงเขียนเกี่ยวกับช่วงกบฏสันติภาพและการกักขังในครั้งนั้น ความกล้าหาญอีกชนิดหนึ่งก็ปรากฏออกมาชัดเช่นกันท่านผู้หญิงพูนศุขยืนยันในความเงียบ-การไม่พูดตอนที่นายตำรวจที่สอบสวนถามว่าท่านปรีดีอยู่ที่ไหน ความกล้าหาญนี้มีรูปแบบที่สำคัญ เช่น การได้เห็นความยุติธรรมท่ามกลางความมืด ท่านผู้หญิงพูนศุขเล่าถึงการฉลองวันเกิดครบรอบ 41 ปี ญาติและเพื่อนๆ ฝากขนมเค้กวันเกิดให้ ท่านผู้หญิงพูนศุขเขียนว่า “ขนมเค้กวันเกิดแบ่งกันรับประทานในหมู่ผู้ต้องหาหญิง และยังเผื่อแผ่ตำรวจสันติบาลที่ควบคุมข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าไม่ลืมตำรวจที่รักความเป็นธรรมและรู้สึกเห็นอกเห็นใจข้าพเจ้า ทั้งนี้พวกเขาจำต้องปฏิบัติไปตามหน้าที่” (พูนศุข พนมยงค์, 2551ข: 216)

แม้ว่าท่านผู้หญิงพูนศุขถูกกักขังตัดสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ยังเห็นความเป็นมิตรสหาย ความเป็นมนุษย์ของผู้คุม การเมืองก็ส่วนตัว ส่วนตัวก็การเมืองสำนึกถึงภคินีภาพในที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขาดไม่ได้เช่นกัน

 

บทสรุป (ที่เป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง)

หากจะสรุปอย่างรวบรัดถึงสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญ และเป็นแหล่งบันดาลใจสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของผู้หญิงตัวหลักในเรื่องเล่านี้ อาจเป็นดังนี้ สำหรับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แล้ว การเมืองก็ส่วนตัว และส่วนตัวก็การเมือง และต้องหาความเป็นมนุษย์ในทุกที่ แม้ว่าจะมืดมิด

ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ได้เข้าใจผิด หากแต่ยังมีอีกบางประเด็น ที่ผู้เขียนอยากสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตและการต่อสู้ และอยากจะทิ้งไว้เพื่อคนอื่นที่สนใจเขียนถึงต่อไปหลังจากคณะราษฎรนำการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในประเทศสยาม นับแต่วันนั้นถึงปัจจุบันนี้ประชาชนยังคงต่อสู้เพื่อทำให้ประชาธิปไตยเป็นจริง หากพิจารณาถึง 89 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีการต่อสู้ต่างๆ ที่พยายามสร้างสังคมให้มีความเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพ และเคารพความแตกต่าง และแม้ว่าครั้งแล้วครั้งเล่าที่มีอุปสรรคที่มาในรูปแบบการรัฐประหารและระบอบเผด็จการการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่เคยหยุด ไม่เคยหายไป

ผู้เขียนเลือกมองการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผ่านเลนส์ของนักเรียนประวัติศาสตร์ เพราะผู้เขียนคิดว่าวิธีที่เรามอง เข้าใจ และบันทึกอดีตมีผลต่อปัจจุบันและอนาคต อดีตไม่ได้สำคัญเพียงเพราะได้เป็นแหล่งแรงบันดาลใจ แต่สำคัญเพราะได้เป็นแหล่งความรู้และบทเรียนว่าต้องผสานความคิดและการกระทำต่างๆ ทั้งที่มองเห็นและที่มองไม่เห็นในการต่อสู้อย่างไร

เมื่อผู้เขียนสะท้อนย้อนคิดถึงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบกระแสหลัก (ไม่ใช่เพียงกระแสหลักธรรมดา แต่เป็นกระแสหลักของผู้ที่รักประชาธิปไตย) ประวัติศาสตร์เหล่านั้น มักเน้นแต่ผู้ชาย ปัญหาก็คือเราจะได้ภาพของการต่อสู้ที่ออกมาไม่สมบูรณ์

ผู้เขียนสังเกตว่า นี่ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่เกิดในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาสากลซึ่งมีที่มาที่เข้าใจไม่ยาก กล่าวคือ การดูถูกผู้หญิง แม้ว่าเป้าหมายอันหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือความเท่าเทียมกัน แต่การดูถูกผู้หญิงก็ยังมีอยู่ การดูถูกผู้หญิงนับเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนไม่ได้มีที่ทางอยู่บนหน้าตำนานประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะการดูถูกผู้หญิงเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แม้ในกลุ่มผู้ที่รักประชาธิปไตย โดยมีสาเหตุสองอย่าง คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ที่ไม่ใช่งานที่อยู่แนวหน้า อย่างเช่นการนำการเดินขบวน การพูดบนเวที การเขียนทฤษฎีการต่อสู้ แต่ทำบทบาทอื่นที่ขาดมิได้มักจะไม่ถูกบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย (แต่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย) และในกรณีที่ผู้หญิงทำหน้าที่เป็นแนวหน้าผู้เขียนก็เห็นพวกเธอถูกบันทึกถึงน้อยกว่า

ใน พ.ศ. 2517 อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้บรรยายให้กับสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส เรื่อง “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” ในการบรรยายครั้งนั้นอาจารย์ปรีดีพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และสังเกตว่าแม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็ยังมีทรรศนะเผด็จการอยู่ในสังคม อาจารย์ปรีดีพูดถึงกระบวนการ “ดีนาซิฟิเคชั่น” ในประเทศในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเสนอแนะว่าการสร้างทรรศนะประชาธิปไตยแทนทรรศนะเผด็จการเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ควรขาด[7] (ปรีดี พนมยงค์, 2517) เราควรจะคงได้ขยายไอเดียนี้และมองการเปลี่ยนคำนิยามของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเนื้อหาที่เหมาะ และขาดมิได้ในการเขียนประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อให้ครอบคลุมผู้หญิงว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการส่งเสริมทรรศนะประชาธิปไตย

เช่นเดียวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเอง กระบวนการนี้ต้องเป็นสิ่งที่จะไม่มีวันสิ้นสุด สุดท้ายผู้เขียนเล่าถึงชีวิตและการต่อสู้ของผู้หญิง ซึ่งเป็นเพียงการเริ่มต้นยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ผู้เขียนเห็นว่าควรถูกเขียนบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเช่น

ครูระคน จุลลภมร ที่เป็นครูในจังหวัดศรีสะเกษ ที่ถูกจับกุมยุคสฤษดิ์ ถูกกักขังในคุกหลายปีเช่นเดียวกับคุณทองใบ ทองเปาด์ และอีกหลายๆ คนในข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ครูรัตนา สกุลไทย ที่ถูกสังหารในวาระเดียวกันกับครูโกมล คีมทอง ก่อน 14 ตุลาคม 2516

คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ทำงานเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมในกรณีเขื่อนปากมูล

คุณจินตนา แก้วขาว ที่ทำงานเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

คุณจิตรา คชเดช ที่ทำงานเพื่อสิทธิคนงาน

คุณพะเยาว์ อัคฮาด ที่ทำงานเพื่อหาความจริงและเข้าถึงความยุติธรรมในกรณีการฆ่าลูกสาว คุณกมนเกด อัคฮาด และคนอื่นที่ถูกฆ่าในการสลายชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

ผู้หญิงเหล่านี้เป็นผู้ที่ควรถูกเขียนถึงในตำนานประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้หญิงที่ได้ถูกเอ่ยนามข้างต้นนี้ เป็นผู้หญิงที่หลายคนคงนึกถึงแล้วหรือรู้จักชื่อแล้ว เพียงแต่พวกเธอคงยังไม่ได้รับความสนใจเพียงพอ และมีผู้หญิงอีกหลายต่อหลายคนที่ผู้เขียนไม่ได้อ้างชื่อและยังไม่ได้รู้จักชื่อด้วยซ้ำ ผู้หญิงที่ร่วมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งในแนวหน้าและเบื้องหลังในที่ต่างๆ ถ้าหากเราได้ขยายเลนส์การมอง สำนึก และบันทึกชีวิตของผู้ที่ลงมือในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราจะได้รวมบทเรียนเพิ่มเพื่อเป็นเครื่องมือในปัจจุบันและอนาคต ขอให้ทุกคนร่วมเขียนประวัติศาสตร์แบบใหม่กันต่อไป

 

ที่มา : ตัดตอนมาจาก. ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น. “ประวัติศาสตร์การต่อสู้ : ผู้หญิงและประชาธิปไตยตั้งแต่การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475.” จุดยืน 9, ฉ.1(2565): 53-80.

 


[1] หากนึกถึง “คัมภีร์ฝ่ายซ้าย” ทั้งไทยและต่างชาติ เราก็มักจะนึกเห็นนักคิดชาย เช่น นักทฤษฎีต่างชาติ วี.ไอ. เลนิน, เหมา เจ๋อตง, อันโตนิโอ กรัมชี และโนม ชอมสกี และนักทฤษฎีไทย ปรีดี พนมยงค์, จิตร ภูมิศักดิ์ และสุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ ซึ่งมิได้หมายความว่าไม่มีผู้หญิงที่เขียนทฤษฎีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่พวกเธอมักไม่ถูกอ้างว่าเป็นส่วนสำคัญของคัมภีร์ที่ว่า

[2] 1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมืองในทางศาลในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

[3] Eduardo Galeano นักเขียนก้าวหน้าชาวอุรุกวัย เขียนไว้ว่า “ไม่มีประวัติศาสตร์สักอันหนึ่งที่ใบ้ไม่ว่าพวกเขาครอบงำ ทำให้แตกกระจาย โกหกปิดความจริงถึงขนาดไหน ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราไม่ยอมปิดปาก ถึงอย่างไรก็ตาม ว่ามีอาการหูหนวกและอวิชชา กาลเวลาที่เคยเกิดยังเดินข้างในกาลเวลาที่เกิดอยู่” (“No history is mute. No matter how much they own it, break it, and lie about it, human history refuses to shut its mouth. Despite deafness and ignorance, the timethat was continues to tick inside the time that is.”) (Eduardo Galeano, Upside Down: A Primer for the Looking-Glass World (New York: Picador, 2001), หน้า 78.

[4] 6 “The idea that I am trying to threaten the museum is wrong. I have always said, without any irony, that I love the art world. This is the world that I know, I am an artist and proud of it. As Che Guevara said during the 1960s, whatever you do, that's your trench. So this is my trench and I trust my agenda. People misunderstand this, thinking that for the ‘revolution’ to succeed, everyone must literally go into the trenches. But no, we need hairdressers, bakers, carpenters, pastry chefs, artists ... As it is impossible to ever escape ideology, maybe the only way out is to work with the different levels of contradiction in our culture.” อ้างใน Nancy Spector, Felix Gonzalez-Torres (New York: Guggenheim Museumn, 1997), หน้า 83. Felix Gonzalez-Torres มีผลงานหลายๆ ขึ้นที่ท้าทายความหมาย และบทบาทของศิลปะและพิพิธภัณฑ์ในสังคม เขาเกิดปี 2500 เสียชีวิตตอนยังเป็นหนุ่มในปี 2539.

[5] ในหมู่ผู้หญิงที่มักมองว่าเป็น “แค่” ภรรยาของคณะราษฎรมีไม่ใช่แต่ท่านผู้หญิงพูนศุขที่ยังไม่ได้ถกเขียนถึงอย่างเพียงพอ แต่มีผู้หญิงอีกหลายๆ คน หนังสือเรื่องนี้ที่เพิ่งออกไม่กี่เดือนก่อนผู้เขียนแก้บทความชิ้นนี้ คือ ชานันท์ ยอดหงษ์, หลังบ้านณะราษฎร: ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2564).

[6] ไม่นานหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เนื่องจากเขียนเค้าโครงเศรษฐกิจที่ผู้มีอำนาจกลัวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ถอนราก เลยทำให้ท่านปรีดีเลือกลี้ภัยไปนอกประเทศ ในวันที่ 12 เมษายน 2476 หลังจากรัฐประหารวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490 โดยกลุ่มทหารตำรวจเผด็จการ ท่านปรีดีตกลงลี้ภัยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นหลบกลับมาช่วงสั้นๆ ต้นปี 2492 เพื่อพยายามยึดอำนาจคืนจากเผด็จการ แต่ประสบการพ่ายแพ้ หลังจากนั้นตอนวันที่ 6 สิงหาคม 2492 ตกลงลี้ภัยครั้งที่สาม ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ท่านปรีดีไม่ได้กลับประเทศไทยอีก.

[7] อาจารย์ปรีดีเขียนไว้ว่า “ในสยามก่อน 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งปกครองโดยระบอบเผด็จการ ก็เป็นธรรมดาที่หลายคนซึ่งมีทรรศนะนาซีปกครองได้ครองตำแหน่งสำคัญที่มีอิทธิพลในรัฐบาลสมัยนั้นแต่ภายหลังที่นิสิตนักศึกษา โดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้เสียสละชีวิตร่างกายความเหน็ดเหนื่อยต่อสู้ระบอบเผด็จการนั้นสำเร็จ และมีรัฐบาลซึ่งรับรองว่าดำเนินนโยบายประชาธิปไตยนั้นก็มีสิ่งที่รอดหูรอดตาไป ในการที่บางคนซึ่งได้รับการฝึกฝนจนเกิดทรรศนะนาซีดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่อีกซึ่งให้ความเกื้อกูลสนับสนุนผู้ที่มีทรรศนะนาซีอย่างเดียวกัน ผมจึงเห็นว่าฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่ควรมองข้ามปัญหา “ดีนาซิฟิเคชั่น” นี้ ซึ่งเป็นพลังสำคัญอย่างหนึ่งให้แก่การฟื้นตัวของระบอบเผด็จการนาชีส่วนหลายคนมิได้มีทรรศนะนาซี แต่เคยมีทรรศนะเผด็จการนั้น”: ปรีดี พนมยงค์, “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร,” วารสาร อมธ. ฉบับตุลาคม 2517.