ขอเชิญชวนคุณผู้อ่านย้อนเวลาไปยังช่วงต้นทศวรรษ 2480 เพื่อสัมผัสกับบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในยุคนั้น ซึ่งจะจัดขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม หรือนักข่าวนักหนังสือพิมพ์รวมถึงคนทั้งหลายพากันเรียกขานว่า “สภาหินอ่อน”
สำหรับคราวนี้ ผมจะพาทุกท่านไปเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2481 (ถ้านับเทียบศักราชแบบปัจจุบันก็จะตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ. 2482 แล้ว) โดยมุ่งเน้นเปิดเผยถึงบทบาทของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ชี้แจงกรณีการขายเงินเหรียญบาท เพื่อแก้ไขปัญหาสถานภาพของเงินตราที่กำลังผันผวนด้วยวิธีการอันส่งผลกระทบกระเทือนต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 5/2481 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 เริ่มประชุมเวลา 15.35 น. ดำเนินการประชุมโดยประธานสภา คือ พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) สมาชิกเข้าประชุมทั้งสิ้น 145 คน
จวบจนล่วงถึงเวลา 16.08 น. นายพุฒเทศ กาญจนเสริม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ตั้งกระทู้ถาม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“ข้าพเจ้าขอตั้งกะทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องการขายเงินเหรียญบาทดั่งมี ข้อความต่อไปนี้
๑. ได้ทราบว่ารัฐบาลได้ขายเงินเหรียญบาทสยามออกไปนอกประเทศ เป็นความจริงเพียงไรหรือไม่
๒. ถ้าเป็นความจริง ได้ขายไปเป็นจำนวนเท่าไร ราคาที่ขาย ขายไปบาทละเท่าไรและขายให้แก่ประเทศใด
๓. การขายได้ขายเงินเหรียญบาทไปทั้งหมดหรือเป็นแต่เพียงแบ่งขายไปบ้าง
๔. มีนโยบายอย่างไรจึงถือโอกาสนี้ขายเงินเหรียญบาทไป และการขายไปเช่นนี้ ได้ประโยชน์แก่ประเทศอย่างไรหรือไม่
๕. เงินที่ขายไปได้ทำเครื่องหมายไว้เพื่อป้องกันการย้อนกลับรั่วไหลเข้ามาสยามไว้หรือไม่
๖. การขายเงินคราวนี้ได้เสียค่าใช้จ่ายและค่าขนส่งไปเท่าไร และผู้ซื้อหรือผู้ขายเป็นผู้เสีย”
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้คำตอบแจกแจงตามแต่ละข้อคำถามว่า
“๑. รัฐบาลได้ส่งเงินเหรียญบาทสยามออกไปนอกประเทศเพื่อขายเป็นเนื้อเงินจริง
๒. จำนวนเหรียญบาทที่ส่งออกไปขายนั้น 52,436,000 บาท
๓. จำนวนที่ส่งเพื่อขายนี้เป็นจำนวนเหรียญบาทซึ่งอยู่ในความครอบครองของรัฐบาล
๔. รัฐบาลที่แล้วมามีนโยบายว่า ประเทศสยามได้ออกจากมาตราเงินมานานแล้ว และทั้งโลหะเงินก็มีราคาไม่มั่นคง ย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงเห็นสมควรที่จะขายเงินเหรียญบาท ซึ่งเป็นโลหะเงินเสีย เพื่อจัดหาโลหะทองคำมาแทนโลหะเงิน การขายโลหะเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่จะซื้อโลหะที่มีความมั่นคงมาแทนเช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ประเทศ
๕. เงินที่ส่งออกไปนั้น จะต้องจัดการถลุงเสียก่อนแล้วจึงขายโรงงานที่รับถลุงมีการควบคุมเป็นอย่างดี จึงหวังว่าจะไม่มีการย้อนกลับรั่วไหลเข้ามาในสยาม ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง การขายคราวนี้ได้กระทำเป็น ๒ ขั้น คือขั้นต้นได้เอาเงินเหรียญไปถลุงให้เป็นโลหะเงินเสียก่อน ซึ่งเป็นการทำให้เครื่องหมายบนเหรียญบาทนั้นลบศูนย์หายไป ขั้นที่สองเป็นขั้นขาย ซึ่งเท่ากับเป็นการขายโลหะเงิน หาใช่เป็นการขายเหรียญบาทสยามไม่
๖. ค่าใช้จ่ายและค่าขนส่งต่างๆ นั้น ในเวลานี้ยังตอบไม่ได้ เพราะเหตุว่าการขายยังไม่เสร็จสิ้น คือการถลุงนั้นยังทำไม่เสร็จทั้งหมด รัฐบาลหวังว่าการขายจะเสร็จสิ้นในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ซึ่งเมื่อการขายเสร็จสิ้นแล้วจะชี้แจงให้ท่านสมาชิกทราบได้โดยละเอียด
อนึ่ง มีข้อความบางประการซึ่งรัฐบาลจะตอบให้พิสดารไปยิ่งกว่าที่แล้วมาไม่ได้นั้น รัฐบาลก็หวังที่จะชี้แจงให้ท่านสมาชิกและประชาชนทราบ เมื่อการขายได้เสร็จสิ้นในกำหนดที่กล่าวมาแล้ว คือราวปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน”
ฟังท่านรัฐมนตรีแล้ว นายพุฒเทศยังมิคลายสงสัยจึงถามต่อว่า
“การขายเงินไปในคราวนี้ขายไปฉะเพาะเนื้อเงินบริสุทธิ์หรือว่าขายเป็นเงินตรา”
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมตอบ
“ได้ชี้แจงแล้วว่าในคราวนี้เราทำสองขั้น ขั้นต้นเอาเหรียญบาทไปถลุง ไม่ใช่เป็นขั้นที่ขาย เมื่อจะถลุงแล้วจึงขายเนื้อเงิน ระหว่างนี้อยู่ระหว่างถลุง”
ส.ส. ศรีสะเกษก็ซักต่อเนื่อง
“ข้าพเจ้าขอเรียนถามว่า ถ้าไม่ได้ทำเครื่องหมายไว้ เชื่อแน่แล้วหรือว่าเงินจะไม่ย้อนกลับเข้ามาอีก และถ้าหากว่าเงินย้อนกลับเข้ามาอีก จะมีทางป้องกันอย่างไรหรือไม่”
รัฐมนตรีการคลังยังคงแถลงตอบ
“ในการที่จะให้บริษัทได้ถลุงนั้น ทางรัฐบาลได้พิจารณาแล้วว่าบริษัทนั้นได้มีความมั่นคงเพียงไร และเขาได้จัดการควบคุมการงานของเขาในการที่ถลุงเหรียญเงินเป็นอย่างไร และเป็นที่พึงพอใจของรัฐบาลที่แล้วมาแล้วว่าโรงงานที่เราจ้างเขาถลุงนี้เป็นโรงงานที่ไว้ใจได้ที่จะไม่มีการรั่วไหลเงินออกมา”
ส่วนนายพุฒเทศมิวายสอบถามอีก
“การขายเงินคราวนี้ รัฐบาลมีความรู้สึกไหมว่ารัฐบาลเสียเปรียบจากการขายเงินคราวนี้หรือไม่”
ด้านหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ยืนยันชัดเจนว่า
“คือก่อนที่จะขายนั้นรัฐบาลได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่เสียเปรียบ แต่อย่างไรก็ตาม ราคาที่จะได้รับจากการซื้อขายคราวนี้คงมากกว่าที่แล้วมา”
คุณผู้อ่านอาจจะนึกสงสัย เหตุใดหนอ การตั้งกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังที่ผมได้ยกมาแสดงข้างต้นนั้น จึงดำเนินไปด้วยท่วงทีอย่างเข้มข้นจริงจัง แสดงว่ากรณีขายเงินเหรียญบาทคราวนี้ย่อมมีความสลักสำคัญยิ่งนัก
ครับ ผมจะบอกเล่าเบื้องหลังของเรื่องนี้ให้ทุกท่านกระจ่างใจ
นับแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 เมื่อ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีดำริที่จะจัดตั้ง ‘แบงก์ชาติ’ หรือธนาคารกลางของประเทศขึ้นมาเพื่อบริหารกิจการของคนไทย มิต้องคอยพึ่งพาธนาคารที่บริหารโดยชาวต่างชาติ เขานำเสนอความคิดนี้ต่อ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ มองว่า น่าจะใช้ แบงก์สยามกัมมาจล ที่เปิดมานานแล้วมาทำเป็นแบงก์ชาติ เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม สถานที่และพนักงานที่จะทำงานก็มีอยู่เดิม
ด้าน นายปรีดี มองว่า แบงก์สยามกัมมาจล กับ แบงก์ชาติ เป็นรูปแบบกิจการคนละด้านกันและมีระบบการทำงานที่แตกต่างกัน เขาปรารถนาเพียงให้นายกรัฐมนตรีช่วยเหลือเรื่องเงินทุนจัดตั้งโดยแบ่งมาจากงบประมาณแผ่นดินสักจำนวน 20 ล้านบาท หาก หลวงพิบูลฯ ยังคงย้ำทำนองว่า แม้ตนจะสนับสนุนแนวคิดของ หลวงประดิษฐ์ฯ เต็มที่ แต่รัฐบาลไม่มีงบประมาณเลย ถ้าอยากจะตั้งแบงก์ชาติจริงๆ นายปรีดี คงจะต้องหาเงินทุนมาเอง
ในที่สุด หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็แลเห็นหนทางที่จะใช้ในการหาเงินทุน กล่าวคือ ช่วงเวลานั้น เนื้อโลหะเงินมีมูลค่าสูงในตลาดโลก ยิ่งถ้านำไปหลอมแล้วนำไปขาย ก็จะได้งบประมาณมาจำนวนไม่น้อย สำหรับเมืองไทย เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรจัดพิมพ์ธนบัตรใบละหนึ่งบาทออกใช้แทนเมื่อปี พ.ศ. 2480 แล้ว ก็ส่งผลให้มีเหรียญบาทที่เคยทยอยผลิตสะสมมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมากมายล้นเหลือ โดยเก็บรักษาไว้ ณ ห้องมั่นคง (Strongroom) ในพระบรมมหาราชวัง
เหรียญบาทเหล่านั้นทำด้วยเนื้อโลหะเงินบริสุทธิ์ คุณภาพดี ไม่ลอกดำง่ายๆ ครั้นจะเก็บเอาไว้เฉยๆ ต่อไปถ้าเนื้อโลหะเงินมีราคาตกต่ำลง พอจะนำไปขายอีกก็คงกำไรหดลงมาก จึงน่าจะนำเหรียญบาทเหล่านั้นไปถลุงแล้วขายเนื้อโลหะเงินตั้งแต่ตอนที่ราคายังดีๆ แล้วนำงบประมาณที่ได้มาจากการขายไปซื้อทองคำฝากเพิ่มเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ พร้อมนำกำไรบางส่วนมาเป็นเงินทุนจัดตั้ง แบงก์ชาติ
ด้วยเหตุนี้เอง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จึงนำเสนอเรื่องการจะขายเงินเหรียญบาทต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอมติอนุมัติให้รัฐบาลสามารถนำเหรียญบาทออกขายได้ โดยแจกแจงรายละเอียดว่า ทางรัฐบาลไทยจะจ้างบริษัทต่างประเทศทำการถลุงเหรียญบาทให้เป็นเนื้อโลหะเงินเสียก่อน จากนั้น ก็จะนำไปขายต่อให้บริษัททำเครื่องเงินในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บริษัท GORHAM SILVER SMITH และบริษัท REED & BARTON ทั้งยังกำหนดให้ ธนาคารสยามกัมมาจลทุน (ปัจจุบันคือธนาคารไทยพาณิชย์) เป็นตัวแทนนายหน้าจัดจำหน่ายและรับเงินแทนกระทรวงการคลัง
แนวความคิดของรัฐมนตรีคลังนามปรีดีดังกล่าวอาจจะฟังดูแปลกหูในยุคนั้นกระมัง นายพุฒเทศ ส.ส.ศรีสะเกษ จึงเกิดข้อกังขาและตั้งกระทู้ถามซักไซ้ไล่เรียงอย่างแข็งขัน แต่นั่นก็เนื่องจาก ส.ส. ผู้นี้อยากจะให้การดำเนินงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างโปร่งใส
ท้ายสุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติอนุมัติให้รัฐบาลสามารถนำเงินเหรียญบาทออกไปถลุงแล้วจัดจำหน่ายได้ กระทั่งต่อมารัฐบาลจึงมอบหมายให้กรมพาหนะทหารบกซึ่งขณะนั้นผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมคือ นายพันเอก พระอินทรสรศัลย์ (สอาด แพ่งสภา) นำกำลังทหารและรถบรรทุกไปขนเหรียญบาทออกมาจากห้องมั่นคง
การขายเงินเหรียญบาทคราวนั้น รัฐบาลไทยได้รับกำไรอย่างงดงามเป็นมูลค่านับสิบล้านบาท ส่งผลให้ทางกระทรวงการคลังมีเงินทุนที่จะใช้ในการจัดตั้ง แบงก์ชาติ จนเป็นผลสำเร็จ ให้ชื่อว่า “สำนักงานธนาคารชาติไทย” สถานที่ทำการอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ประธานในพิธีคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
วกกลับไปที่ นายพุฒเทศ กาญจนเสริม สักหน่อย เขาได้ครองตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดศรีสะเกษ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เมืองขุขันธ์” จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 เป็น ส.ส. เขต 2 (ส.ส. เขต 1 คือ นายเทพ โชตินุชิต)
ควรกล่าวด้วยว่า ตอนนายพุฒเทศได้เป็น ส.ส. ปลายปี พ.ศ. 2480 นั้น จังหวัดศรีสะเกษยังใช้ชื่อเดิมว่า “จังหวัดขุขันธ์” กระทั่งในปี พ.ศ. 2481 จึงเปลี่ยนชื่อจังหวัดใหม่
ก่อนเป็น ส.ส. นายพุฒเทศ ประกอบอาชีพทนายความ สำหรับเมืองขุขันธ์หรือจังหวัดศรีสะเกษอันอยู่ติดชายแดนเขมรนั้น ชาวบ้านมักจะเลือกทนายความให้มาเป็นผู้แทนราษฎร ด้วยมองว่าเป็นผู้รู้กฎหมาย น่าจะพึ่งพาได้ตอนที่พวกตนเกิดกรณีพิพาทต่างๆ นานา
นายพุฒเทศ ยังเป็นที่เลื่องลือเพราะเป็นผู้หาเสียงเลือกตั้งโดยการจ้างคณะโขนมาจัดแสดง
ควรกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะโขนสำคัญแห่งเมืองขุขันธ์ยุคนั้นมีอยู่ 2 คณะ ได้แก่
1. คณะโขนของ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ ก่อตั้งคณะขึ้นปลายทศวรรษ 2420 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระยาขุขันธ์ได้นำครูโขนมาจากกรุงเทพฯ และกัมพูชามาฝึกหัดการแสดง โดยนักแสดงจะเป็นผู้ชายล้วน เนื้อหาคัดเอาบางตอนมาจากเรื่องรามเกียรติ์ มีบทร้องและบทพากย์เป็นภาษาเขมรตลอดทั้งเรื่อง
2. คณะโขนของพระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี กาญจนเสริม) ก่อตั้งคณะขึ้นต้นทศวรรษ 2450 ต่อมา บัวแก้ว กาญจนเสริม บุตรสาวของพระยาบำรุงได้สืบทอดจัดการแสดงต่อ เนื้อหาคัดเอาบางตอนมาจากเรื่องรามเกียรติ์เช่นกัน เพียงแต่คณะนี้ใช้ภาษาไทยในการแสดงบทร้องและบทพากย์ตลอดทั้งเรื่อง
นายพุฒเทศ เลือกจ้างคณะโขนของ บัวแก้ว กาญจนเสริม ที่เป็นญาติกันมาจัดแสดงให้ชาวบ้านรับชมบริเวณหนองปวงตึก ปรากฏว่ามีผู้มาเข้าชมจำนวนมากมายจนฝุ่นฟุ้งตลบไปทั่ว แม้กระทั่งคนที่อยู่ห่างไกลก็ยังอุตส่าห์ขี่ม้านั่งเกวียนมาชม ผลของการหาเสียงครั้งนั้นทำให้นายพุฒเทศได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร
กล่าวโดยสรุป หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงบทบาทในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไว้หลายประการ กรณีการขายเงินเหรียญบาทก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาสถานภาพของเงินตราในภาวะที่ผันผวนปรวนแปร โดยพยายามคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุดแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของการหาเงินทุนอันนำไปสู่การจัดตั้ง ‘แบงก์ชาติ’ หรือ สำนักงานธนาคารชาติไทย หรือที่ปัจจุบันเรารู้จักกันดีว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
- ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. การเมืองสองฝั่งโขง : งานค้นคว้าวิจัยระดับปริญญาเอกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การรวมกลุ่มทางการเมืองของ ส.ส. อีสาน พ.ศ. 2476-2494. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.
- ปทุมรัตน์. “ขายเหรียญบาทไป ได้แบงก์ชาติมา.”วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2542. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.
- ประเทือง ม่วงอ่อน. นักการเมืองถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2556.
- ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517.
- รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓ (สามัญ) พ.ศ. ๒๔๘๑ เล่ม ๑. พระนคร: สำนักงานเลขาธิการสภา, 2482.