ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การจัดตั้งธนาคารชาติจากอุดมคติของการอภิวัฒน์ 2475 สู่แนวทางปฏิบัติในเค้าโครงการเศรษฐกิจ

10
ธันวาคม
2567

ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานธนาคารชาติไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 (บุคคลด้านซ้ายมือ คือ พระยาทรงสุรรัชฎ์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารชาติไทย)
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ในประเทศที่การเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองนั้น นับว่าธนาคารเป็นส่วนประกอบอยู่ไม่น้อย แต่การที่ประเทศใดมีธนาคารมากมาย นอกจากจะเป็นคุณแก่การเศรษฐกิจแล้ว ในทางกลับก็อาจจะก่อภัยขึ้น อันเป็นโทษแก่การเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน เพราะธนาคารอยู่ได้ เพราะความเชื่อถือและเอาเงินของผู้ฝากมาหมุนเวียน ถ้าหมุนไม่ทัน เช่นกรณีที่ผู้ฝากหลายรายถอนเงินจํานวนมาก ธนาคารไม่อาจเรียกเงินจากผู้กู้ไปทันจ่ายคืน ก็ย่อมจะทําให้ธนาคารต้องปิดหรือล้มได้ และในกรณีที่ธนาคารดำเนินการตามปรกติ แต่เกิดมีการเก็งกําไร (Speculation) ธนาคารเข้าไปมีส่วนอยู่ด้วย ในกรณีเช่นนี้ ย่อมทําให้การเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในฐานะปั่นป่วน ราคาสินค้าแพงขึ้นเป็นต้น

เมื่อเป็นดังนี้รัฐจึงจําเป็นต้องควบคุมและต้องช่วยเหลือธนาคารตามควรแก่กรณี แต่สําหรับประเทศไทยนั้นแม้จะมีกฎหมายควบคุมการธนาคาร ก็เป็นแต่การควบคุมไม่ให้ธนาคารประกอบกิจที่จะเป็นอันตรายแก่ฐานะของธนาคารและของลูกค้าเท่านั้น เป็นการช่วยเหลือธนาคารในประการอื่นไม่ ตลอดเวลาที่เป็นมาธนาคารส่วนมากในประเทศไทยก็เป็นธนาคารของคนต่างด้าวและส่วนมากก็เป็นของคนอังกฤษ

ส่วนธนาคารสยามกัมมาจล หรือธนาคารไทยพาณิชย์ แม้เป็นธนาคารไทยก็ไม่สู้จะตรงความหมายนัก ฉะนั้น การที่รัฐบาลใด ๆ จะหวังให้ธนาคารเหล่านี้ให้ความช่วยเหลือแก่พ่อค้าที่เป็นคนไทยเพื่อให้การค้าและการเศรษฐกิจของประเทศเป็นส่วนรวมอยู่ในฐานะที่จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้นั้น ย่อมเป็นการหวังยาก

ในต่างประเทศ เช่นในสหรัฐอเมริกา ธนาคารพาณิชย์บางแห่งนอกจากทำหน้าที่ประกอบกิจทั่วไปแล้ว ยังทําหน้าที่เป็นผู้ออกธนบัตรอีกด้วย เช่น National Banks หรือ Federal Reserve Banks และเช่นเดียวกันในยุโรปหรือในอังกฤษที่มีธนาคาร ซึ่งทําหน้าที่ทั้งกิจการธนาคารธรรมดาแล้ว ยังเป็นผู้ออกธนบัตรอีกด้วย เช่น Bank of England, Reichsbank ในเยอรมนี, Banque de France ในฝรั่งเศส, หรือ Bank Of Japan ในญี่ปุ่น ธนาคาร เหล่านี้เรียกกันว่าเป็นธนาคารแห่งชาติ คือเป็นธนาคารแห่งธนาคารทั้งหลาย

นอกจากท่าหน้าที่ควบคุมธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ โดยปริยายแล้ว ยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่ธนาคารพาณิชย์ในเมื่อต้องการใช้เงินมากอันเป็นการผิดปรกติอีกด้วย การธนาคารในประเทศนั้น ๆ จึงมั่นคง และเจริญรุ่งเรือง เป็นคุณแก่ประเทศชาติของเขา ตลอดมาแต่ธนาคารแห่งชาติเหล่านี้ ในบางประเทศหาได้เป็นของรัฐไม่ เช่น ในญี่ปุ่น หรือในอังกฤษ เป็นของเอกชน แต่ในอังกฤษนั้น เมื่อพรรคกรรมกรเข้ามาเป็นรัฐบาลในปี พ.ศ. 2488 ต่อมา 3 ปี ก็ได้โอนเอาธนาคารนี้มาเป็นของรัฐ แต่รัฐบาลอังกฤษมิใช่เป็นคอมมูนิสต์ดอก, เขาเป็นโซเชียลิสต์ต่างหาก ส่วนในประเทศอื่น ๆ ธนาคารชาติมักจะเป็นธนาคารของรัฐทั้งสิ้น

ในประเทศไทยแต่เดิมมาหาได้มีธนาคารชาติไม่ การออกธนบัตรที่เป็นหน้าที่ของกองเงินตรากระทรวงการคลัง เมื่อรัฐบาลจะกู้เงินก็ต้องผ่านธนาคารพาณิชย์หรือจัดการโดยตรงโดยกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังจึงทําหน้าที่นอกจากหารายได้แล้ว ยังทำหน้าที่คล้ายธนาคารอีกด้วย การที่เป็นมาเช่นนี้ ย่อมหาเปิดโอกาสหรืออํานวยประโยชน์ เพื่อให้การค้าการเศรษฐกิจของชาติ เจริญขึ้นตามควร ไม่ เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงชัดว่า ไม่เป็นดังนั้นแล้ว ยังไม่สนใจที่จะให้ธนาคารพาณิชย์มั่นคงอีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น รัฐได้เสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้ไปเป็นอันมาก ตัวอย่างเช่นการที่กระทรวงทะบวงกรมหรือองค์การของรัฐนําเงินไปฝากไว้ใน ธนาคารพาณิชย์เพื่อการจ่ายของตน เป็นต้น ทําให้รัฐบาลขาดโอกาสหมุนเวียนไปตามความจําเป็นได้

ภายหลังการปฏิวัติแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะให้มีธนาคารแห่งชาติขึ้น จะเห็นได้ดังที่ได้เขียนไว้ในเค้าร่างโครงการเศรษฐกิจ แต่แล้วด้วยอุปสรรคการลงมือในเรื่องนี้ จึงยังไม่มี แต่ถึงกระนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ก็ได้พยายามศึกษาในเรื่องนี้ ศึกษาสถานการณ์เพื่อจะลงมือ ยิ่งกว่านั้นในวงการทั่ว ๆ ไป ก็ปรากฏมีการแสดงความคิดเห็นที่จะให้รัฐมีธนาคารแห่งชาติ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ผู้มีความเชี่ยวชาญในทางเศรษฐกิจผู้หนึ่ง ได้เขียนบทความเรื่องนี้ลงในหนังสือพิมพ์

ในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่าเมื่อไรรัฐบาลจะจัดตั้งธนาคารชาติแห่งชาติ แต่ในขณะนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ กําลังบริหารอยู่ในกระทรวงมหาดไทย และต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ไม่มีเวลาพอที่จะลงมือเรื่องนี้ได้ และบัดนี้ในกระทรวงการคลัง การสร้างภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่ราษฎรก็สําเร็จลุล่วง ไปแล้ว ฉะนั้นงานขั้นต่อไป ก็คือ การสร้างธนาคารแห่งชาติขึ้น

ดร.ปรีดี พนมยงค์ไม่ลืม แต่ก็ไม่แคร์ต่อคําวิจารณ์อย่างหั่นแหลก ในสมุดปกขาวเรื่องธนาคารชาตินี้ ที่มีไปในทํานองไม่เห็นด้วย

แต่การที่จะดําเนินการในเรื่องใหญ่โต เช่น ธนาคารชาตินี้ ย่อมจําเป็นจะต้องใช้ความระมัดระวัง และรอบคอบ ยิ่งกว่าความรอบคอบตามธรรมดา เพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายใด ๆ เสียทั้งสิ้น อันที่จริงความดําริเรื่องการตั้งธนาคารแห่งชาติของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ที่เคยปรารภในคณะรัฐบาล ก่อนที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์จะเข้าบริหารในกระทรวงการคลังนี้ ได้เคยถูกคัดค้านอย่างหนักจากที่ปรึกษาการคลังซึ่งเป็นชาวต่างประเทศมาแล้ว

และตั้งที่ปรึกษาฝ่ายไทย คือ ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยันต์ ซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษ ก็มีความโน้มเอียงไปในทางที่ไม่เห็นด้วย รายงาน (Report) คัดค้านของที่ปรึกษาการคลังซึ่งเป็นชาวต่างประเทศนั้น เชื่อว่าแม้บัดนี้ก็คงจะยังอยู่

ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้ถูกคัดค้านทํานองเดียวกันอีก แต่มิได้ยอมจํานนต่อการคัดค้านนั้น ลงมือทําและทําไปทีละขั้น ๆ เพราะอย่าว่าแต่ธนาคารแห่งชาติเลย แม้แต่ธนาคารพาณิชย์ธรรมดาก็ยังเป็นของใหม่สําหรับเมืองไทยอยู่ และยิ่งกว่านั้นคนของเรายังไม่มี และที่มีบ้างก็ไม่พอแก่การที่จะลงมือดําเนินการเต็มที่ สู้หาความชํานิชํานาญไปเป็นชั้น ๆ จะดีกว่า

ขณะที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ตระเตรียมเรื่องนี้อยู่ก็พอดีเกิดมหาสงครามขึ้นในยุโรป ซึ่งมีผลกระทบกะเทือนถึงกิจการธนาคารและการค้าในประเทศไทย เงินตราไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มสเตอร์ลิงก์ ก็ได้รับความกระทบกะเทือน และพออังกฤษควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และการธนาคารในประเทศไทยก็เริ่มอยู่ในฐานะยุ่งยาก ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้ลงมือดําเนินงานในเรื่องการธนาคาร แห่งชาติโดยทันที จะรอช้าต่อไปอีกไม่ได้แล้ว

ธนาคารชาติไทย หน้าที่เป็นธนาคารของรัฐ และเป็นธนาคารของธนาคารทั้งหลาย และตลอดเวลามาตั้งแต่ได้ตั้งขึ้น จนกระทั่งบัดนี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมหาศาล

งานอันหนึ่งที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้สร้างไว้ให้แก่ประเทศชาติไทย ภายหลังการแก้ไขสนธิสัญญากับนานาชาติสําเร็จลง การจัดและปรับปรุงระบบภาษีอากรใหม่ให้เป็นธรรม การใช้นโยบายศุลกากรอย่างดียิ่ง ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพของเงินตรา และการจัดให้มีธนาคารชาติขึ้น ปรากฏว่า การค้า การเศรษฐกิจของชาติ และรายได้ของรัฐ ได้ดําเนินไปด้วยดี และเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก พอจะอนุมานได้ว่า ราษฎรนอกจากได้รับความเป็นธรรมทางการเสียภาษีอากรแล้ว ยังได้มีอาชีพประกอบเป็นชิ้นเป็นอัน มีความสุขสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็คงไม่ถึงจุดหมายที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ปรารถนา เพราะเขาเหล่านั้น ทั้งชาติ ยังไม่ได้รับการประกัน คือ ยังไม่มีการประกันสังคม (Social Insurance) รัฐมนตรีคลังจะทําอย่างไรกับเรื่องนี้ได้เล่า ?

ตลอดระยะเวลาที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนี้ งานของท่านได้สร้างเสถียรภาพทางการเงินของชาติเป็นลำดับมา ดังจะเห็นได้จากสถิติธนบัตรออกใช้ ในปีต่าง ๆ ซึ่งไม่มีภาวะเงินเฟ้อ Inflation อยู่เลย 

ข้อที่น่าคิดอีกอันหนึ่งก็คือ การร่วมมือกันทำงานตามอุดมคติของการปฏิวัติ ซึ่ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยึดมั่นอยู่กับหลวงพิบูลสงครามในระยะนี้ นับว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอันมาก ประเทศไทยได้รุ่งเรือง ก้าวหน้าไปโดยรวดเร็ว ทั้งในทางวัตถุและจิตต์ใจ ตลอดจนทางอารยธรรมและวัฒนธรรม 

นับว่าอุดมคติของการปฏิวัติได้ใกล้ความสำเร็จเข้าไปมากที่สุดแล้ว และคงจะถึงจุดหมายแห่งความสำเร็จในวันข้างหน้า อนาคตอันใกล้นี้...ถ้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 วันของเหตุการณ์ที่ทำให้อุดมคติของรัฐบุรุษทั้งสอง ดร.ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงครามแยกกันไปคนละทาง

...8 ธันวาคม 2484 The Day of Infamy. 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกด และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

บรรณานุกรม

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สิริธรรมนคร, 2493)