ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 : ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่มีในหนังสือเรียน

26
กุมภาพันธ์
2566

 

พวกปรปักษ์ประชาธิปไตยเรียก “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ว่า “ขบถวังหลวง” บางคนก็พลอยเรียกเช่นนั้น โดยไม่พิจารณาตามหลักวิชาการแท้จริงว่า ขบวนการดังกล่าวนั้นเป็นขบถต่อระบบปกครองประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นโดยถูกต้องสมบูรณ์ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ หรือเป็นขบวนการที่ต่อต้านพวกปฏิกิริยาที่ทำลายระบบประชาธิปไตยซึ่งได้สถาปนาถูกต้องสมบูรณ์ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ปรีดีฯ จึงขอเสนอท่านที่ปรารถนาสัจจะโปรดใช้สติปัญญาระลึกและศึกษาความเป็นมาดังต่อไปนี้

 

(1)

(ก) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยังทรงดำรงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทรงมีพระราชอำนาจทำการแทนปวงชนชาวสยามได้โดยไม่ต้องมีผู้รับอำนาจจากราษฎรรับสนองพระบรมราชโองการนั้น พระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ระบบปกครองนั้นจึงถูกต้องสมบูรณ์ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย

ธรรมนูญฉบับนั้นได้กำหนดวิธีตราพระราชบัญญัติไว้ซึ่งการแก้ไขธรรมนูญการปกครองแผ่นดินก็จะต้องดำเนินตามวิธีการที่ธรรมนูญนั้นได้กำหนดไว้ มิใช่จะทำโดยพละการของบุคคลใดคณะใดที่ฝ่าฝืนวิธีการตามธรรมนูญฉบับนั้น

(ข) ต่อมารัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งอนุกรรมการของสภาผู้แทนราษฎรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ร่างขึ้นโดยร่วมมือกับพระองค์นั้น สภาได้ลงมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

(ค) ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รัชกาลที่ 8 ได้ทรงตรารัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคมโดยใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตราขึ้นโดยถูกต้องตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม ทุกประการ ดังนั้นระบบการเมืองประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 จึงเป็นระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นโดยสืบต่อมาจากธรรมนูญการปกครองฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475

 

(2)

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้มีบุคคลคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ยึดอำนาจรัฐล้มระบบประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นอย่างถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญดังกล่าวใน (1) ข้างบนนั้น ต่อมาในวันที่ 9 เดือนนั้นคณะบุคคลดังกล่าวก็ได้สถาปนาระบบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีสมญาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ซึ่งนอกจากมิใช่ระบบการเมืองประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยชอบตามที่ได้กล่าวใน (1) นั้นแล้ว หากระบบรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารทำขึ้นเองนั้นก็มิใช่เป็นระบบปกครองที่สมบูรณ์ในตัวของรัฐธรรมนูญนั้นเองด้วย ดังจะเห็นได้ดังต่อไปนี้

(ก) ขอให้นักวิชาการแท้จริงดูต้นฉบับรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้นที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งสำนักพิมพ์ “นิติเวชช์” รวบรวมโดย ร.ต.ท.เสถียร วิชัยลักษณ์ เนติบัณฑิตไทยและรัฐศาสตรมหาบัณฑิต กับ พ.ต.ท.สืบวงศ์ วิชัยลักษณ์ นิติศาสตรบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “รวมรัฐธรรมนูญ” อย่างตรงไปตรงมามิได้มีการตัดตอนบิดเบือนให้ผิดไปจากต้นฉบับราชกิจจานุเบกษา ปรากฏชัดแจ้งในตอนต้นของรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มที่ปรีดีฯ ถ่ายภาพมาพิมพ์ไว้ดังต่อไปนี้

 

 

ผู้นิยมประชาธิปไตยสมัยนั้น แม้มิใช่อาจารย์หรือนักศึกษากฎหมายก็ตาม แต่เมื่อได้เห็นหัวรัฐธรรมนูญมีความปรากฏดังนั้น ก็ใช้สามัญสำนึกได้ทันทีว่า หัวเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เขียนตำแหน่งผู้ลงนามในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งในภาษาไทยคำว่า “คณะ” หมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แต่เหตุใดจึงมีผู้ลงนามเพียงคนเดียว คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” ส่วนหลายคนที่มีจิตใจสังเกตก็แสดงความเห็นว่าเมื่อก่อนหน้าวันที่ 8 พฤศจิกายนนั้น เคยได้ฟังวิทยุกรมโฆษณาอ่านประกาศกฎหมายหลายฉบับ คือ เมื่ออ่านคำว่า “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” แล้วก็อ่านต่อไปถึงชื่อคณะนั้นที่ลงนาม ซึ่งผู้ลงนาม 2 ท่านคือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” และ “มานวราชเสวี” (พระยามานวราชเสวี) แสดงว่าคณะนั้นประกอบด้วยบุคคล 2 คน ฉะนั้นผู้ใช้ความสังเกตจึงเห็นได้ทันทีว่ารัฐธรรมนูญ (ฉบับใต้ตุ่ม) ดังกล่าวเริ่มแสดงถึงการเป็นโมฆะตั้งแต่หัวเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น

ส่วนนักวิชาการแท้จริงสมัยนั้นก็ได้ค้นคว้าเอกสารหลักฐานแท้จริง แทนที่จะถือเอาคำบอกเล่าเป็นหลักวิชาการนั้น ก็พบประกาศในราชกิจจานุเบกษาและวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลที่ได้ลงและแจ้งประกาศตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะยังทรงพระเยาว์ ตามประกาศลงวันที่ 16 มิถุนายน 2489 มีความดังต่อไปนี้

 

“โดยที่รัฐสภาอาศัยร่างตามความในมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ปรึกษากันเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2489 และลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประกอบด้วย

1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธาน

2. พระยามานวราชเสวี

โดยมีข้อตกลงว่า ในการลงนามในเอกสารราชการนั้นให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2489
วิลาส โอสถานนท์
ประธานรัฐสภา”

 

ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มซึ่งกรมขุนชัยนาทฯ องค์เดียวเป็นผู้ลงนามจึงเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดในประกาศแต่งตั้ง “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2489

ส่วนระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และฉบับต่อๆ มาอาทิ ฉบับ 2517 ที่ถือเอาฉบับ 2492 เป็นแม่บทนั้นจึงเป็นโมฆะ และองค์การใดที่กำลังเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญโดยถือเอาฉบับ 2517 เป็นแม่บทนั้นจึงชักจูงให้บุคคลทำสิ่งที่เป็นโมฆะ

ข้อสังเกต

มีหนังสือบางเล่มที่พิมพ์รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ จำหน่ายได้จัดทำหัวเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มโดยพลการ ซึ่งขัดต่อราชกิจจาฯ เล่มที่ปรีดีฯ อ้างไว้อาทิบางเล่มได้ตัดคำว่า “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ออกไป คงมีแต่ชื่อ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” เป็นผู้ลงนาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่ากรมขุนชัยนาทฯ ลงนามในฐานะใด ซึ่งต่างกับที่เคยปฏิบัติมาว่าผู้ลงนามในหัวเรื่องบทกฎหมายใดๆ นั้นให้แจ้งว่า “ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…” และถ้าผู้สำเร็จราชการหลายคนก็แจ้งว่า “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ถ้าในกรณีที่แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯ ไว้คนเดียว ผู้ลงนามก็บอกตำแหน่งของตนว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

ฉะนั้นขอให้นิสิตนักศึกษาที่ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นใช้ความรู้รอบคอบตรวจดูให้ถี่ถ้วน ในกรณีที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จฯ ได้ลงนามครบถ้วนตามข้อกำหนดในประกาศแต่งตั้งหรือไม่ ไม่ควรศึกษาแต่เพียง “ย่อรัฐธรรมนูญ” เพื่อสะดวกในการสอบไล่เท่านั้น

(ข) ในตอนท้ายแห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 9 พฤศจิกายน 2490 (ฉบับใต้ตุ่ม) นั้น ปรากฏความดังต่อไปนี้

 

“จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
5 พฤศจิกายน 2490”

 

นิสิตนักศึกษาและสามัญชนที่แม้มิใช่นักวิชาการก็เห็นได้โดยไม่ยากว่า “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” เป็นตำแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งผิดต่อกฎหมาย และผู้นั้นไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้นนอกจากรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มเป็นโมฆะตามที่ได้กล่าวใน (ก) ข้างบนนั้นแล้ว ก็ยังเป็นโมฆะอีกสถานหนึ่งเพราะผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการไม่มีอำนาจหรือสิทธิใดๆ ตามกฎหมายที่จะทำเช่นนั้นได้

(ค) ขอให้นิสิตนักศึกษาที่มีปัญญาประกอบด้วยสติโปรดพิจารณาว่า การที่บุคคลหลายคนได้ร่วมมือกันทำรัฐประหาร ทำลายระบบปกครองประชาธิปไตยที่สถาปนาโดยระบบรัฐธรรมนูญฉบับ นั้นได้ทำการที่เข้าลักษณะเป็น "กบฏ" หรือไม่ และกฎหมายนิรโทษกรรมที่ได้ตราขึ้นโดยรัฐสภาที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้น ถือว่าถูกต้องในทางนิตินัยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

(3) 

ปรีดีฯ ได้รวบรวมนักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าถึงเวลาสมควรแล้วที่จะลงมือใช้กำลังอาวุธต่อสู้คณะรัฐประหารกับพวกที่ทำลายระบบปกครองประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489

ปรีดีฯ จึงเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการลับ และนำการต่อสู้ฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งขณะนั้นระบบปกครองของประเทศเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 9 พฤศจิกายน 2490 (ฉบับใต้ตุ่มที่เป็นโมฆะ)

วัตถุประสงค์ของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ได้แถลงเมื่อขบวนการได้ยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ ว่าขบวนการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นระบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489

ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ จึงมิใช่กบฏต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จึงไม่ควรที่ผู้รณรงค์เพื่อความเป็นประชาธิปไตยจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มและระบบต่างๆ ที่สืบเนื่องจากระบบใต้ตุ่มโดยใส่ความว่า ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นขบถวังหลวง

ข้อสังเกต

ในการต่อสู้ระหว่างขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 กับขบวนปรปักษ์ประชาธิปไตยเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นั้น ในหลวงมิได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ฉะนั้นการยึดวังหลวงชั่วคราวจึงไม่มีภยันตรายต่อพระมหากษัตริย์

 

ลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนภายหลังนำขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ่ายแพ้

เมื่อปรีดีฯ ได้นำขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ่ายแพ้ต่อฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยแล้ว ปรีดีฯ ได้หลบอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ครั้นแล้วจึงเล็ดลอดเดินทางเรือไปยังเกาะแห่งหนึ่งซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของวิลันดา และจากเกาะดังกล่าวได้เล็ดลอดมายังสิงคโปร์ และจากสิงคโปร์ไปฮ่องกง แล้วเดินทางจากฮ่องกงไปขอลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลาประมาณ 21 ปี ครั้นถึง ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) จึงเดินทางจากประเทศจีนมาอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบันนี้ [ข้อเขียนในส่วนนี้ นายปรีดี พนมยงค์ได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ในหนังสือ ชีวประวติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง 24 กรกฎาคม 2525)]

 

เส้นทางที่ผู้เขียนใช้เดินทางออกจากสยามในครั้งที่ 2
เส้นทางที่ผู้เขียนใช้เดินทางออกจากสยามในครั้งที่ 2

 

ถูกใส่ความว่าสมคบการปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8

ระหว่างที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศนั้น ปรีดีถูกโฆษณาใส่ความว่าสมคบการปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ผู้บริสุทธิ์หลายคนต้องถูกประหารชีวิต ส่วนปรีดีฯ ได้ฟ้องผู้ใส่ร้ายต่อศาลยุติธรรมไทย จำเลยยอมประกาศขอขมาปรีดีฯ ดังต่อไปนี้

 

 

ประกาศ

ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทสยามรัฐ จำกัด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  นายสำเนียง ขันธชวนะ  นายประจวบ ทองอุไร และนายประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง ในข้อหาละเมิดโจทก์ ตามคดีดำหมายเลขที่ 7236/2513 เนื่องจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2513 และหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2513 ลงข้อเขียนซึ่งเขียนโดย นายสำเนียง ขันธชวนะ ในฐานะนามปากกา ส.ธ.น. ซึ่งมีใจความว่าโจทก์พัวพันในคดีสวรรคตนั้น

จำเลยขอแถลงความจริงว่า โจทก์ไม่เคยเป็นจำเลยในคดีสวรรคตเลย และไม่เคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำ เมื่อโจทก์ไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษ จึงถือว่าโจทก์ยังบริสุทธิ์

ส่วนการที่โจทก์หลบหนีออกจากประเทศไทยนั้น เป็นเพราะหลบหนีรัฐประหาร จึงขอให้ผู้อ่านทราบความจริง และขออภัยในความคลาดเคลื่อนนี้ด้วย

บริษัทสยามรัฐ จำกัด
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
นายสำเนียง ขันธชวนะ
นายประจวบ ทองอุไร
นายประหยัด ศ. นาคะนาท

 

 

ประกาศ

ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท ไทยเดลี่การพิมพ์ จำกัด ที่ 1  นายสาร บรรดาศักดิ์ ที่ 2  นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย ที่ 3 และนายจำนง แก้วโสวัฒนะ ที่ 4 เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในข้อหาละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหมิ่นประมาทโดยใส่ความ ทำให้โจทก์เสียหาย ความคดีหมายเลขดำที่ 113/2514 เนื่องจากหนังสือพิมพ์หลักเมืองสมัยไทยเดลี่ ฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2513 หน้าที่ 8 ลงข้อความซึ่งเขียนโดยจำเลยที่ 2 ใช้นามปากกาว่าขวานทอง ในคอลัมน์ตอบปัญหาขัดข้องหมองใจ เป็นการหมิ่นประมาทนายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่าเป็นคนลืมชาติกำเนิดของตนเอง ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา จะเป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักประชาธิปไตยไม่ได้ และเป็นอ้ายโจรปล้นราชบัลลังก์ มีการพัวพันในกรณีสวรรคตด้วยนั้น

บัดนี้ ข้าพเจ้าจำเลยทั้งสี่คน ได้รู้สำนึกว่าข้อความที่จำเลยเผยแพร่ข้างต้นนั้นมิได้มีมูลความจริงแต่ประการใดเลย

ข้าพเจ้าจำเลยทุกคนจึงขออภัย นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม โจทก์ ที่ถูกข้าพเจ้าทั้งหลายใส่ความด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ได้กรุณาให้อภัยและถอนฟ้องคดีแล้ว

นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย

ในนามบริษัทไทยเดลี่การพิมพ์ จำกัด จำเลยที่ 1
นายสาร บรรดาศักดิ์ จำเลยที่ 2
นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย จำเลยที่ 3
นายจำนง แก้วโสวัฒนะ จำเลยที่ 4

 

รัฐประหารปฏิกิริยา

และการลี้ภัยครั้งแรกไปยังสิงคโปร์และจีน

-1-

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหาร โดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษนิยมขวาจัด และพวกคลั่งชาติ โค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า พวกเขาได้บุกเข้าไปในบ้าน เพื่อจะทำลายชีวิตข้าพเจ้ารวมทั้งภรรยาและบุตรเล็กๆ หาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีสวรรคตฯ จอมพลพิบูลฯ ซึ่งถูกปล่อยก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน เพราะกฎหมายอาชญากรสงครามไม่มีผลย้อนหลังมาใช้บังคับ ก็ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ทำให้มีอำนาจควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภามิได้มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมอีกต่อไป แต่จะมาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากประมุขแห่งรัฐ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ก่อนรัฐประหาร อายุต่ำสุดของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้ 23 ปี แต่ตามรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารกำหนดไว้เป็น 35 ปี ซึ่งเท่ากับอายุต่ำสุดของผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ก็ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาประเทศไทยก็ถูกปกครองโดยรัฐธรรมนูญฟาสซิสต์กึ่งฟาสซิสต์ และฟาสซิสต์ใหม่ๆ ฯลฯ อีกหลายฉบับ ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองหลายประการ

รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพวกอนุรักษนิยมขวาจัดเป็นส่วนใหญ่แต่ต่อมาไม่กี่เดือน ทหารก็จี้ให้ รัฐบาลชุดนี้ลาออก และจอมพลพิบูลฯ ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทย เพื่อลี้ภัยไปอยู่ในสิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ

ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนเดินทางได้ไปพบนาวาเอก สแตรทฟอร์ด เดนนิส (Captain S. Denis R.N.) ซึ่งเคยร่วมต่อสู้ระหว่างสงครามภายใต้การนำของลอร์ดเมาน์ทแบทเตน และขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อขอให้ติดต่อกับทูตอังกฤษ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ของข้าพเจ้าในการเดินทางไปสิงคโปร์ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เดนนิสและนาวาเอก การ์เดส (Catain Gardes U.S.N) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรืออเมริกันได้ร่วมมือกันนำข้าพเจ้าออกจากท่าเรือกรุงเทพฯ จนกระทั่งออกไปยังทะเลลึกโดยเรือยนต์ของการ์เดส ซึ่งนำทางโดยการ์เดสเอง พร้อมด้วยภรรยาและน้องภรรยา ต่อมาเราก็ลงเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ กัปตันเรือบรรทุกน้ำมันและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และอำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง

-2-

ขณะนั้นสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะให้สิทธิแก่ข้าพเจ้าในการลี้ภัยทางการเมือง ข้าพเจ้าก็ทราบดีว่า สิทธิอันนั้นจะมีอยู่ตราบเท่าจนกว่าอังกฤษรับรองระบอบปกครองใหม่ของสยามเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอให้สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน และนานกิง (ซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลใหม่) ออกหนังสือเดินทางการทูตพร้อมด้วยวีซ่าแก่ข้าพเจ้า เพื่ออนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังประเทศอื่นได้ เอกอัครราชทูตทั้งสองยินดีทำตามที่ข้าพเจ้าขอไป ข้าพเจ้าจึงได้รับวีซ่าทางการทูตจากสถานทูตจีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ

ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 7 เดือน เพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการกลับสู่สยาม ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่ามิตรของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งกำลังเตรียมก่อการต่อต้านรัฐบาลของคณะรัฐประหารอย่างลับๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่นๆ ในระหว่างนั้น

-3-

ปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 ข้าพเจ้าเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง ซึ่งบรรดามิตรชาวไทยของข้าพเจ้า และกงสุลใหญ่ของสยามเวลานั้นได้ให้การต้อนรับอย่างดี

จากฮ่องกง เราเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเพื่อนชาวจีนที่เกิดในสยาม และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงบางคนได้ต้อนรับเรา

นายสงวน ตุลารักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงและตัวข้าพเจ้าได้ไปพบเอกอัครรัฐทูตเม็กซิโกเพื่อขอวีซ่า ซึ่งเขาประทับตราให้โดยไม่มีปัญหาเลย

เราคิดกันว่าจะเดินทางไปเม็กซิโกโดยแวะผ่านซานฟรานซิสโก ขณะที่เรากำลังยื่นหนังสือเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีนอยู่นั้น ได้มีชาวอเมริกันหนุ่มคนหนึ่งชื่อนอร์แมน ฮันนาห์ (Norman Hannah) ซึ่งเป็นรองกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ ได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าจากมือเจ้าหน้าที่จีนผู้นั้น และได้ขีดฆ่าวีซ่าอเมริกัน ซึ่งสถานเอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำลอนดอนเป็นผู้ออกให้ข้าพเจ้า 

ข้าพเจ้าจึงประจักษ์แก่ตัวเองว่า รองกงสุลหนุ่มอเมริกันผู้นี้ ช่างมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ของจีนและแม้กระทั่งเอกอัครรัฐทูตอเมริกันเอง (ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบว่า รองกงสุลผู้นี้เป็นสายลับของ ซี. ไอ. เอ.) นอกจากนั้น ข้าพเจ้าก็ยังได้เข้าใจอีกว่า เหรียญอิสริยาภรณ์และคำประกาศเกียรติคุณที่รัฐบาลอเมริกันมอบให้แก่ข้าพเจ้านั้น ไม่มีค่าอันใดเลย เพราะข้าพเจ้ากลับถูกมองว่าเป็นอาชญากรเสียด้วยซ้ำ อันเป็นข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่เป็นศัตรูระหว่างสงครามของสหรัฐเอง (ซึ่งก็คือ จอมพลพิบูลฯ) ทั้งนี้โดยการปฏิเสธไม่ให้ข้าพเจ้าแวะผ่านบนผืนแผ่นดินอเมริกัน แม้จะเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ชาวอเมริกันที่เซี่ยงไฮ้พยายามติดต่อกับข้าพเจ้า เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมให้พบ 

วันหนึ่งเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเคยทำงานร่วมกับข้าพเจ้าเมื่อคราวต่อต้านญี่ปุ่น ได้เชิญชวนข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารกลางวันกับเขาในฐานะเพื่อน ข้าพเจ้าประหลาดใจที่ได้พบกงสุลใหญ่อเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับวีซ่าครั้งนั้น และแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า นายพล ยอร์ช มาร์แชล รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันได้สั่งให้ประทับวีซ่ากลับคืนในหนังสือเดินทางของข้าพเจ้า 

ต่อมาไม่นาน นอร์แมน ฮันนาห์ อดีตรองกงสุลอเมริกันก็ได้ย้ายไปประจำกรุงเทพฯ องค์การ ซี. ไอ. เอ. นี้เอง ที่เป็นผู้สนับสนุนให้ตำรวจสันติบาลไทยจับกุมภรรยาและบุตรชายคนโตของข้าพเจ้า ภรรยาของข้าพเจ้าถูก “ควบคุมตัว” ที่สันติบาลเป็นเวลา 84 วัน ส่วนปาลบุตรชายคนโต ซึ่งขณะนั้นอายุ 20 ปี ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี โดยอ้างข้อหาว่าเป็นกบฏภายในราชอาณาจักร ปาลได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อคราวครบรอบกึ่งพุทธกาล พ.ศ. 2500

ฮันนาห์ได้ย้ายไปประจำที่อัฟกานิสถานชั่วระยะเวลาสั้นๆ ต่อมาก็กลับมาประจำกรุงเทพฯ ในฐานะที่ปรึกษาสถานทูตอเมริกัน วันหนึ่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสได้มอบสำเนารายงานซึ่งเขียนโดยฮันนาห์ เกี่ยวกับ เหตุการณ์เรื่องวีซ่าครั้งนั้นแก่ข้าพเจ้า รายงานฉบับนั้นเต็มไปด้วยคำโกหกมดเท็จมากมาย ฮันนาห์ เขียนเล่าในตอนหนึ่งว่า หลังจากขีดวีซ่าอเมริกันบนหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าแล้ว เขาก็เดินทางมาพบข้าพเจ้าที่โรงแรม ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ต้อนรับเขาอย่างฉันมิตร และเราก็รับประทานอาหารร่วมกัน

ข้าพเจ้าสาบานได้ว่าไม่เคยพบหน้าฮันนาห์อีกเลยตั้งแต่วันเกิดเหตุครั้งนั้น

 

นายปรีดี-ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ หน้าบ้านพักที่เมืองกวางตุ้ง (1965)
นายปรีดี-ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ หน้าบ้านพักที่เมืองกวางตุ้ง (1965)

 

นายปรีดี พนมยงค์ และ ประธานเหมาเจ๋อตง บริเวณประตูสันติภาพแห่งสวรรค์ (1 ตุลาคม 1965)
นายปรีดี พนมยงค์ และ ประธานเหมาเจ๋อตง บริเวณประตูสันติภาพแห่งสวรรค์
(1 ตุลาคม 1965) 

 

ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2513 ข้าพเจ้าได้ข่าวว่า ฮันนาห์ได้พ้นจากตำแหน่งในกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาแล้ว

ข้าพเจ้าไม่ได้มีความโกรธเคืองนายฮันนาห์ เป็นการส่วนตัว เพียงแต่อยากให้ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันตระหนักว่าเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ของพวกสายลับ ซี. ไอ. เอ. นั้น บางทีก็สูญเสียไปกับรายงานที่บิดเบือน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจที่เป็นผลเสียแก่ชาวอเมริกันเอง

-4- 

เมื่อเจียงไคเช็คได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สนามบินเซี่ยงไฮ้แล้ว ก็ได้แสดงความปรารถนาจะให้ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในจีนโดยยืนยันกับข้าพเจ้าว่าไม่เคยลืมคุณูปการของข้าพเจ้าที่มีต่อสัมพันธมิตรระหว่างสงคราม และเขาจะไม่ส่งข้าพเจ้าข้ามแดนกลับไป เนื่องจากเขาจำได้ดีว่ารัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ได้ปฏิบัติต่อประเทศจีนด้วยความไม่ซื่อสัตย์และปราศจากความละอายใจ ในการนี้เขาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ข้าพเจ้าระหว่างพำนักอยู่ในจีน

-5-

วันที่ 1 ตุลาคม ในปีเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้ข่าวว่า รัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ได้จับกุมนายทหารและนักการเมืองหลายคน ซึ่งวางแผนจะก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น แต่สมาชิกของกลุ่มคนหนึ่งเกิดทรยศหักหลังพรรคพวกขึ้นมาขบวนการต่อสู้ครั้งนั้นโดย พลตรี เนตร เขมะโยธิน (ยศในขณะนั้น) นักเรียนเก่าโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูงแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสมาชิก “ขบวนการเสรีไทย” ระหว่างสงคราม และเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ครั้งนี้ การพยายามก่อกบฏครั้งนี้เรียกชื่อว่า “กบฏ 1 ตุลาคม 2491”

ส่วนคนที่สามารถหลบหนีการจับกุม ได้ส่งตัวแทนของเขามาพบข้าพเจ้า เพื่อวางแผนก่อการอภิวัฒน์โค่นรัฐบาลปฏิกิริยาอีกครั้งหนึ่ง เราได้ตกลงกันว่า จะให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการก่อการอีกครั้งหนึ่ง โดยร่วมมือกับเพื่อนๆ ทหารเรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้รักชาติ ประชาธิปไตยและทหาร ตำรวจผู้รักชาติ รวมทั้งบรรดาแม่ทัพเรือ และนายพลคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าเสนาธิการกองทัพบก และถูกคณะรัฐประหารปลดออกจากตำแหน่ง

เมื่อมิตรของข้าพเจ้าที่เมืองไทยแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า โอกาสอำนวยแล้ว เราจึงเช่าเรือขนาด 20 ตัน เพื่อเดินทางอย่างลับๆ ออกจากฝั่งทะเลจีนไปยังตะวันออกของอ่าวสยาม

 

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย
26 กุมภาพันธ์ 2492

-1-

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 (ตรงกับวันเสาร์) เวลา 21 น. ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบรรดามิตรได้ออกจากบ้านที่ข้าพเจ้าหลบซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ (ที่ถนนสีลม) เพื่อมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งผู้ร่วมขบวนการฯ อันประกอบด้วยลูกศิษย์ลูกหาของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่ง และผู้รักชาติคนอื่นๆ กำลังรอคอยข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าได้สั่งการให้กองหน้าเข้าไปปลดอาวุธกองทหารซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวัง (กองรักษาการณ์ด้านประตูวิเศษไชยศรี) เพื่อที่เราจะเข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้นที่นั่น พระบรมมหาราชวังนี้มิได้ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ 5 แล้ว (ยกเว้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 6)

ผู้บังคับหน่วยทหารกองรักษาการณ์ฯ ที่พระบรมมหาราชวังมิได้ต่อต้านการจู่โจมอย่างฉับพลันของกองหน้าของขบวนการฯ ดังนั้นภายในเวลา 15 นาที เราก็ควบคุมบริเวณพระบรมมหาราชวังได้หมด พร้อมกันนั้นก็ได้มีการยิงต่อสู้กันโดยฝ่ายขบวนการฯ ได้ใช้ปืนครกยิงสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาล กองพันทหารราบที่ 1 ของฝ่ายตรงข้ามพยายามที่จะออกจากที่ตั้ง แต่ถูกกระสุนปืนและระเบิดของฝ่ายเราสกัดไว้ได้ เรายึดสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ไว้ได้ และมอบให้อยู่ในความควบคุมของนายทหารยศนายพันผู้หนึ่ง (อดีตเสรีไทย) ในคืนวันที่ 26 และ 27 กุมภาพันธ์ มีการต่อสู้ประปรายระหว่างฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยกับฝ่ายรัฐบาล

-2-

น่าเสียดายที่กำลังสนับสนุนจากฝ่ายทหารเรือถูกสกัดกั้นโดยกองกำลังซึ่งจงรักภักดีต่อฝ่ายรัฐบาล

เวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทหารฝ่ายรัฐบาลภายใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับคำสั่งให้ยิงถล่มพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายขบวนการฯ

เมื่อเห็นว่ากำลังสนับสนุนของเราเดินทางมาไม่ทันเวลา และเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัตถุที่ล้ำค่าของชาติในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กองกำลังของฝ่ายขบวนการฯ ถอยร่นมาอยู่ในกองบัญชาการกองทัพเรือที่พระราชวังเดิม ข้าพเจ้าได้จัดการให้บรรดาเพื่อนร่วมขบวนการฯ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเรือซึ่งนายพลเรือผู้หนึ่งเป็นผู้จัดหาให้

ส่วนข้าพเจ้าจะอยู่ที่พระราชวังเดิม เพื่อรอคอยกำลังสนับสนุน ระหว่างนั้นทหารฝ่ายรัฐบาลได้ควบคุมพระนครไว้ได้ทั้งหมดแล้ว การก่อการเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ของข้าพเจ้าจึงประสบความพ่ายแพ้ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง”

นายทหารฝ่ายรัฐบาลที่ได้เข้าร่วมปราบปรามขบวนการฯ ของเรา ต่างได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นต้นว่า พลตรีสฤษดิ์ฯ ได้เลื่อนยศเป็นจอมพลเมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมาใน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ฯ ทำรัฐประหารโค่นจอมพลพิบูลฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตน ฝ่ายหลังต้องลี้ภัยไปอยู่อเมริกา และต่อมาก็ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น แรกทีเดียวจอมพลสฤษดิ์ฯ เองไม่ได้ครองอำนาจอย่างเปิดเผยโดยมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่ พลเอก ถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) 1 ปีต่อมา จอมพลสฤษดิ์ฯ ก็ได้ทำรัฐประหารครั้งใหม่และโค่นล้มรัฐบาลถนอมฯ แล้วจอมพลสฤษดิ์ฯ เองก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทำการปกครองประเทศจนกระทั่งตายเมื่อ พ.ศ. 2505

ตั้งแต่นั้นมา พลเอก ถนอม กิตติขจร ก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง พลเอกถนอมฯ ได้เลื่อนยศเป็นจอมพลและดำเนินการปกครองประเทศต่อมาตามรัฐธรรมนูญเผด็จการที่จอมพลสฤษดิ์ฯ ร่างขึ้น หลังจากนั้นจึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งซึ่งกำหนดให้สมาชิกของวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ โดยนายกรัฐมนตรีนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯ และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2515 รัฐธรรมนูญที่จอมพลถนอมฯ เป็นผู้ประกาศใช้ก็ถูกทำลายโดยตัวจอมพลถนอมฯ เอง เพื่อนำเอาระบอบเผด็จการเข้ามาแทนที่

-3-

เที่ยงคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นาวาโท มนัส จารุภา ได้นำข้าพเจ้าไปยังที่หลบซ่อนแห่งหนึ่ง ที่นั่น ภรรยาและบุตรชายของข้าพเจ้า ได้ช่วยพาข้าพเจ้าไปยังบ้านของผู้รักความเป็นธรรมคนหนึ่ง ซึ่งเขาได้กรุณาให้ที่พัก แก่ข้าพเจ้าตลอดระยะเวลา 5 เดือน (28 กุมภาพันธ์ - 6 สิงหาคม 2492) แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งสินบนนำจับด้วยรางวัลมูลค่าสูงแก่ผู้ที่บอกที่ซ่อนของข้าพเจ้า แต่ผู้รักความเป็นธรรมผู้นี้ ก็ไม่ได้มีความอยากได้ผลประโยชน์อันนี้เลย

สองปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2494 นาวาตรีมนัสฯ และนาวาเอกอานนท์ ปุณฑริกาภา ได้ก่อการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏแมนฮัตตัน” เนื่องจากการปฏิบัติการครั้งนั้น ซึ่งหน่วยทหารเรือนำโดยนาวาตรีมนัส จารุภา ได้เข้าจี้ตัวจอมพลพิบูลฯ ระหว่างพิธีรับมอบเรือ “แมนฮัตตัน” ต่อหน้าเอกอัครราชทูตอเมริกันและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของทั้งสองประเทศ

นาวาโทมนัสฯ และหน่วยทหารของเขาได้จับกุมจอมพลพิบูลฯ ไปลงเรือหลวง “ศรีอยุธยา” การรบจึงเริ่มขึ้นระหว่างกำลังของกองทัพเรือฝ่ายหนึ่ง กับกำลังของกองทัพบกและกองทัพอากาศอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในเบื้องแรกดูเหมือนว่าทางทหารเรือจะควบคุมกรุงเทพฯ ไว้ได้ แต่กองทัพอากาศได้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่เรือหลวงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นหน่วยบัญชาการของฝ่ายก่อการฯ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของจอมพลพิบูลฯ ซึ่งอยู่ในเรือนั้นเลย จอมพลพิบูลฯ ได้เรียกร้องผู้ที่จงรักภักดีต่อตนมิให้ใช้กำลังอาวุธแต่ให้เจรจาโดยสันติกับฝ่ายก่อการฯ แต่เครื่องบินได้ทิ้งระเบิดเรือหลวงฯ ที่ทอดสมออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาจนกระทั่งจมลงในไม่ช้า จอมพลพิบูลฯ หลบหนีออกจากเรือลำนั้นอย่างหวุดหวิดด้วยการกระโดดน้ำและว่ายมาถึงฝั่ง ซึ่งบรรดาผู้ที่จงรักภักดีได้ให้การต้อนรับ จึงสามารถกลับเข้ามายังกองบัญชาการของรัฐบาลได้

หน่วยทหารบกอื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียงได้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล และรบชนะฝ่ายทหารเรือ จนในที่สุดกองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็สามารถควบคุมกรุงเทพฯ ได้อีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายทหารเรือหลายคน รวมทั้งผู้บัญชาการทหารเรือ และพลเรือนบางคนที่ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมกับฝ่ายก่อการฯ

ขณะที่นาวาโทมนัสฯ และนาวาเอกอานนท์ฯ พร้อมด้วยนายทหารกองทัพบกอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมกับฝ่ายก่อการฯ สามารถหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ในพม่า ผู้ก่อการฯ อีกจำนวนหนึ่งก็สามารถหลบหนีไปลี้ภัยในลาว กัมพูชา และ สิงคโปร์

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน นาวาโทมนัสฯ ก็กลับคืนสู่กรุงเทพฯ นาวาโทมนัส จารุภา ได้ถูกจับกุมพร้อมปาล บุตรชาย และภรรยาของข้าพเจ้าในข้อหา “กบฏสันติภาพ” พ.ศ. 2495 ส่วนนาวาเอกอานนท์ฯ ก็เดินทางกลับจากพม่าไม่นานนักหลังเหตุการณ์ โดยคาดว่าอาจจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งปล่อยตัวนาวาตรีมนัสฯ กับบุตรชายข้าพเจ้าและผู้ต้องหากบฏอื่นๆ แต่เสียดาย เขากลับถูกจับกุมและศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ต่อมาก็ได้รับการลดโทษและในที่สุด ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษในเดือนสิงหาคม พ ศ.2515

-4-

หลังจากความพ่ายแพ้ของกบฏวังหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยในการเข้าร่วมก่อการฯ ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมเหล่านี้ ปรากฏว่าบางคนไม่มีส่วนรู้เห็นกับการก่อการฯ ดังกล่าวเลย ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกผู้ก่อการฯ ประมาณ 15 คนเป็นเวลาเกือบ 9 ปี และได้ปล่อยตัวคนอื่นๆ อีกมากมาย เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ หลายคนหลบหนีการจับกุมไปได้ และหลบซ่อนในต่างจังหวัดบ้าง ในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง หรือที่แน่กว่านั้น ก็อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างเปิดเผยด้วยความใจเย็นคิดว่า ไม่มีพยานคนใดสามารถยืนยันว่าได้ เห็นตนเข้าร่วมก่อการฯ ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ 26 จนถึงเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์

ถึงอย่างไรก็ดี อดีตรัฐมนตรี 4 คน ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมลงมือก่อการฯ ในวันนั้นกับเรา กลับถูกจับกุมทั้ง 4 คน

ก่อนวันก่อการฯ 1 วัน นายทองอินทร์ฯ  นายถวิลฯ และนายจำลองฯ ได้รับคำเตือนให้อยู่ในบ้านของตน และมิให้ปรากฏตัวจนกว่าฝ่ายก่อการฯ จะประสบชัยชนะ ด้วยเหตุนี้ทั้ง 3 คนนี้ จึงอยู่ในบ้านของตนเฉยๆ แต่จอมพลพิบูลฯ และฝ่ายปฏิกิริยาได้จับกุมพวกเขาด้วยเหตุผลว่ามักทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล ส่วนนายทองเปลวฯ นั้นอยู่ที่ปีนังเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนการก่อการฯ ด้วยซ้ำ และข้าพเจ้าก็ไม่เคยขอให้เขาเข้าร่วมการก่อการฯ ด้วยเลย

ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจของจอมพลพิบูลฯ ก็ประกาศว่าได้เห็นนายทองเปลวฯ และตำรวจก็ได้ส่งโทรเลขถึงเขาโดยใช้ชื่อภรรยาของอดีตรัฐมนตรีท่านนี้เป็นผู้ส่ง นายทองเปลวฯ จึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยไม่ทันนึกว่าเป็นกลลวงของตำรวจ ทันทีที่ถึงกรุงเทพฯ ก็ถูกจับกุม

อดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 คน ได้รับการทารุณกรรมจากฝ่ายตำรวจปฏิกิริยาจนปางตาย เพราะบาดแผลจากการถูกซ้อมอย่างป่าเถื่อน ดังนั้น เพื่อที่จะอำพรางบาดเหล่านั้น ค่ำวันหนึ่ง ตำรวจก็ได้จับคนทั้ง 4 ซึ่งมีอาการปางตาย ใส่รถบรรทุกคุ้มกันโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธปืนกลเบา และติดตามด้วยรถยนต์ตำรวจ ซึ่งกำกับโดยนายพันตำรวจผู้หนึ่ง เมื่อรถบรรทุกมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 20 กม. รถยนต์ 2 คันก็จอดนิ่ง หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ลงจากรถ และสาดกระสุนใส่ผู้บริสุทธิ์ทั้ง 4 คน

วันรุ่งขึ้น ตำรวจก็ประกาศว่า ระหว่างการย้ายผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งนั้น ได้มีโจรจีนมลายูยิงปืนใส่ตำรวจ เพื่อชิงตัวผู้ต้องหา ตำรวจจึงจำเป็นต้องโต้ตอบด้วยปืนกลเบา และกระสุนปืนก็ถูกผู้ต้องหาทั้ง 4 คนถึงแก่ความตาย ไม่มีใครในเมืองไทยเชื่อแถลงการณ์ของตำรวจ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า โจรจีนมลายู (ในขณะนั้น) อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ราว 1,000 กม.

-5-

ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้สอดคล้องกับบันทึกคำให้การของตำรวจ และบันทึกคำให้การของพยานในการพิจารณาคดีผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อการกบฏที่ศาลอาญา

18 ปีภายหลังจากความล้มเหลวของกบฏแมนฮัตตัน หรือ 20 ปีเต็มหลังจากกบฏวังหลวง คือ ในปี พ.ศ. 2512 ชาวอเมริกันผู้หนึ่งชื่อวิลเลียม วอร์เรน (William Warren) เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้เขียนหนังสือ เกี่ยวกับประวัติจิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามราชาไหมไทย ในตอนหนึ่งเกี่ยวกับการตายของ 4 อดีตรัฐมนตรีดังกล่าว 

นายวอร์เรนได้กล่าวหาข้าพเจ้าว่า ได้กระโดดลงน้ำเพื่อหนีเอาตัวรอด โดยทอดทิ้งเพื่อน ขณะที่กองกำลังทหารของจอมพลพิบูลฯ กำลังโจมตีกองบัญชาการของข้าพเจ้า

อาจารย์ผู้นี้เอ่ยถึงข้าพเจ้า เพราะคิดว่า จิม ทอมป์สัน ซึ่งรู้จักข้าพเจ้านั้น รู้ประวัติศาสตร์สยามดี อย่างไรก็ตามจิม ทอมป์สันได้เดินทางมาถึงสยามหลายเดือนหลังจากญี่ปุ่นยอมจำนน ไม่ใช่เข้ามาในช่วงสงครามตามที่นายวอร์เรนกล่าวอ้าง อีกประการหนึ่ง เขาสับสนระหว่างตัวข้าพเจ้ากับจอมพลพิบูลฯ ที่กระโดดลงน้ำหนีในระหว่างเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน เป็นที่น่าเสียดายสำหรับนักศึกษาไทย ที่อาจารย์ผู้นี้ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ เพราะว่า เขาเป็นผู้ให้คำแนะนำนักศึกษาในการเตรียมทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งต้องใช้การค้นคว้าข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งเอกสารทางกฎหมายที่เปิดเผยต่อสาธารณชน แต่อาจารย์ผู้นี้กลับพอใจแต่เพียงข่าวลือตามที่ได้ยินมาจากฝ่ายที่มีทัศนคติเดียวกัน จึงน่าสงสัยในความรู้ที่เขาศึกษาเล่าเรียนมา

วัตถุประสงค์ของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ได้แถลงเมื่อขบวนการได้ยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ว่า ขบวนการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นระบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489

 

ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่การก่อการรัฐประหาร 2490
เหตุแห่งการเกิดขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 

 

 

ที่มา : 

หมายเหตุ : ตั้งชื่อบทความโดยบรรณาธิการ