ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เกร็ดเล็กๆ ของความเป็นสมัยใหม่ : นิคมนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

23
มีนาคม
2566

นับตั้งแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ประกาศเจตนารมณ์สำคัญไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”[1] โดยเป็นความมุ่งหมายจะให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบใหม่ที่คณะราษฎรได้สถาปนาขึ้นมา เจตนารมณ์อันแน่วแน่ของคณะราษฎรได้นำมาสู่การจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในเวลาต่อมา[2]

ดังปรากฏในหลักการและเหตุผลของในพระราชบัญญัติที่จัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองว่า

 

“โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นการสมควรที่จะรีบจัดบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยะประเทศ และให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็ว จึ่งเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเป็นพิเศษ”

หลักการของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง[3]

 

อาจกล่าวได้ว่า จุดมุ่งหมายการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือ ความต้องการที่จะให้ความรู้ด้านวิชาธรรมศาสตร์หรือก็คือ นิติศาสตร์ และการเมืองหรือความรู้ในด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นแบบแผนความรู้สมัยใหม่ที่รับมาจากต่างประเทศได้แพร่หลายออกไปสู่ราษฎรในประเทศได้มากขึ้น โดยการศึกษาในมหาวิทยาลัยจะเป็นแบบมหาวิทยาลัยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าศึกษา และสนับสนุนส่งเสริมให้ข้าราชการและผู้แทนตำบล ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนระบบการปกครองใหม่ได้ตระหนักและเข้าใจวิชาการสมัยใหม่ในการบริหารประเทศ[4]

ความต้องการให้ความรู้วิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์แพร่หลายนี้ จะเห็นได้จากระเบียบการเข้าเรียนและอัตราค่าธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2477 ได้กำหนดว่า ผู้อยู่ต่างจังหวัดซึ่งต้องการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ ถ้าไม่สามารถมาด้วยตนเองได้ กระทรวงธรรมการรับรองจะให้ความสะดวกโดยให้ยื่นใบสมัครและใบรับรองทางธรรมการจังหวัด เพื่อส่งต่อมายังสำนักงานเลขาธิการมหาวิทยาลัย[5]

การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ราษฎรในต่างจังหวัดที่สนใจจะเข้าศึกษาสามารถสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองคือการศึกษาที่ดี ไม่เพียงแต่เป็นประตูสู่การเข้าถึงโอกาส แต่ต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้เข้าศึกษาไม่ให้การเข้ามาศึกษาต้องเป็นภาระแก่ผู้เข้าศึกษา โดยเฉพาะผู้อยู่ในต่างจังหวัดที่มีรายได้น้อย

ในช่วงปี พ.ศ. 2478 ได้มีการดัดแปลงอาคาร 1 ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ชั้น 2 (ติดประตูทางเข้าด้านท่าพระจันทร์ ในปัจจุบันคือ ตึกอเนกประสงค์ 1) และตึก 4 (ซึ่งอยู่ใกล้ถนนพระอาทิตย์ ปัจจุบันคือห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์) แบ่งเป็นห้องพักจำนวน 80 ห้อง รองรับนักศึกษาเข้าพักได้ 80 – 160 คน[6] เรียกว่า “นิคมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เพื่อให้นักศึกษาที่มีภูมิลำเนาจากต่างจังหวัดและไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ สามารถพักอาศัยในนิคมดังกล่าวได้ เพื่อให้ได้รับโอกาสการศึกษาอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับผู้เรียนในกรุงเทพฯ โดยมี ศาสตราจารย์ เจ. เอฟ. ฮัตเจสสัน เป็นผู้อำนวยการนิคม[7] ในปีแรกนักศึกษาที่เข้าพักในนิคมมหาวิทยาลัยมีจำนวนเพียงแค่ 70 คน แต่ในปี พ.ศ. 2481 มีจำนวนมากกว่า 160 คน โดยประกอบไปด้วยนักศึกษาที่เรียนเต็มเวลาและนักศึกษาที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย[8]

ประเสริฐ ประภาสะโนบล ได้อธิบายลักษณะของห้องพักในนิคมมหาวิทยาลัยไว้ว่า “…ตึกยาวมีสภาพเหมือนกันทั้ง 2 ตึกคือ ภายในด้านหัวตึกจะเป็นห้องโถงใช้เป็นห้องอาหาร ทางเดินในตึกอยู่ตรงกลาง สองข้างเป็นห้องพักเล็กๆ ข้างละ 10 หรือ 12 ห้อง ไม่แน่ใจนัก และเหมือนกันทั้งชั้นล่างและชั้นบน รวมทั้งตึกคงมีห้องพักประมาณ 40 ห้อง ฉะนั้น นิคมจึงมีนักศึกษาพักอยู่ปีละประมาณ 80 คน และตามทะเบียนหรือทำเนียบ ปรากฏว่าตลอดสามปีเศษมีนักศึกษาเข้าพักในนิคมรวมทั้งสิ้น 161 คน... ห้องขนาดกว้างสักสองเมตรครึ่ง ยาวประมาณสามเมตร มีเตียงนอน ที่นอน หมอนมุ้ง โต๊ะเขียนหนังสือ ซึ่งด้านล่างเป็นตู้ใส่เสื้อผ้าของใช้ ข้างบนมีผ้าปิด เมื่อเปิดออกมาจะเป็นโต๊ะเขียนหนังสือได้ มีเก้าอี้นั่ง 1 ตัว ก็นับว่าพอสบายสำหรับชายโสดทั้งปวง หน้าห้องเหนือประตูเข้าห้องจะมีป้ายชื่อและนามสกุลติดไว้ทุกห้องสะดวกต่อญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงจะมาเยี่ยมเยียนได้มาก”[9]

เป้าหมายของนิคมนอกเหนือจากจะต้องการช่วยลดค่าใช้จ่ายของนักศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีเป้าหมายเพื่อฝึกหัดการใช้ชีวิตรวมกลุ่มของนักศึกษา สร้างความรู้สึกผูกพัน สามัคคี มีระเบียบวินัย เรียนรู้ระเบียบการเข้าสังคมเมืองสมัยใหม่ และมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมประเพณีตะวันตก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญทันสมัยและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอารยะในเวลานั้น[10]

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์) ผู้ประศาสน์การ ได้เคยอธิบายความสำคัญของเรื่องนี้ไว้ว่า

 

“...นักศึกษาในมหาวิทยาลัยนิคมซึ่งเข้าอยู่ร่วมกันดุจพี่น้อง รู้จักรักใคร่คุ้นเคยกันดีนี้ ในอีก 10 ปี ข้างหน้าหรือต่อไปเขาโตขึ้น เขาต่างแยกย้ายกันไปอยู่ทั่วทุกกระทรวงทะบวงกรม ทั่วทุกจังหวัด ตลอดพระราชอาณาจักร เขาอาจเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นนายอำเภอ เป็นผู้พิพากษา เป็นอัยการ ฯลฯ เขาจะช่วยเหลือกัน ประสานกันทำงานให้แก่ชาติ เขาจะรักใคร่และกลมเกลียวกันดีมาก เพราะเขาเคยรับประทาน เคยเล่น เคยเที่ยว เคยเรียน และเคยนอนร่วมกันมา แต่เมื่อครั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยนิคม...”[11]

 

เพื่อให้สามารถดำรงอยู่กันได้ปกติสุขตามเป้าหมายที่วางไว้ ฉะนั้น ภายในนิคมมหาวิทยาลัยจึงได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น เวลาเข้า-ออก การใช้ไฟฟ้า การนอน และการทำความสะอาด เป็นต้น ในขณะเดียวกันนักศึกษาที่เข้าพักในนิคมก็จะได้รับบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก[12]

นักศึกษาที่พักอาศัยในนิคมมหาวิทยาลัยจะเรียกว่า นักศึกษานิคม ม.ธ.ก. โดยการจะเข้าเป็นนักศึกษานิคมมหาวิทยาลัยจะกระทำได้เมื่อเป็นนักศึกษาแล้ว และยื่นความจำนงขอเข้าอยู่ในนิคม ซึ่งแผนกนิคมจะพิจารณาว่ามีห้องว่างในเวลานั้นหรือไม่ และนักศึกษาจะต้องชำระค่าเข้าพักเดือนละ 5 บาท ซึ่งในระเบียบจะกำหนดว่านักศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายค้างกับนิคมมหาวิทยาลัยจะไม่มีสิทธิสอบ แต่มหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้ผัดผ่อนได้[13] เพราะมหาวิทยาลัยเข้าใจความจำเป็นและความสามารถในการชำระเงินของนักศึกษา

ในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษานิคม ม.ธ.ก. นั้น สะดวกสบายในระดับหนึ่ง เพราะไม่ต้องเดินทางเนื่องจากอยู่ในมหาวิทยาลัย และค่าครองชีพก็ไม่ได้แพงมากนัก นอกจากนี้ นิคมไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเป็นที่พักให้กับนักศึกษา แต่ยังช่วยให้นักศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานแล้วมีที่พักราคาถูกให้ได้พักอาศัย

ประเสริฐ ประภาสะโนบล เล่าว่า “...สภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษานิคมนี้ก็มีสภาพที่กินอยู่กันอย่างง่ายๆ ตื่นเช้าขึ้นมาประมาณหกโมงครึ่งถึงเจ็ดโมง นายเนี้ยวก็จะนำกาแฟมาและขนมปังทาเนยหรือปาท่องโก๋ (สุดแต่จะสั่งกันไว้) มาวางไว้หน้าห้อง แล้วเคาะประตูบอกว่ากาแฟมาแล้ว เราก็จะเปิดประตูนำมารับประทานในห้องบางท่านก็กินนมขวด ซึ่งสมัยนั้นมีของบริษัทแดรี่ฟาร์มหรือบ้านกล้วยฟาร์มมาส่งให้เป็นประจำก็มี ค่ากาแฟหรือนมสดขวดนี้ก็ชำระกันเดือนละครั้ง ของนายเนี่ยวกาแฟ-ขนมปัง ประมาณมื้อละสิบสตางค์ เดือนละประมาณสามบาท นมสดขวดประมาณเดือนละสิบสลึง ดูๆ ก็รู้สึกว่าถูกเหลือเกิน แต่กระนั้นเรื่องขอผลัดชำระก็คงมีเป็นประจำอยู่นั่นเอง เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ จวนแปดโมงก็แต่งตัวไปฟังเล็กเชอร์ ซึ่งจะเริ่มเวลา 8.00 – 10.00 น. ทุกวัน เว้นวันอาทิตย์เท่านั้น (สมัยนั้นยังทำงานวันเสาร์ครึ่งวัน)

…เมื่อฟังเลคเชอร์เสร็จ นักศึกษาที่ทำงานก็ไปทำงาน ส่วนนักศึกษาที่ไม่ทำงานโดยเรียนอย่างเดียวก็กลับเข้าห้องพักหรือจะไปธุระอื่นใดก็สุดแต่ละคน นักศึกษาที่พำนักนิคมนี้ส่วนใหญ่จะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย มีผู้ที่เรียนอย่างเดียวตึกละประมาณห้าถึงหกคน ซึ่งพวกไม่ทำงานนี้จะสนิทสนมกันมาก เพราะมีเวลาอยู่ด้วยกันมากกว่าพวกที่ทำงาน...เวลาที่นักศึกษานิคมส่วนใหญ่จะพบปะกันก็ได้แค่ตอนเย็น-ค่ำ ซึ่งพวกไปทำงานก็จะกลับมา อาหารเย็นส่วนใหญ่จะผูกปิ่นโต มีแม่ค้าส่งปิ่นโตอยู่สองสามเจ้า อาหารปิ่นโตจะเป็นข้าวและกับข้าวสองอย่างของหวานหนึ่งอย่าง ส่งทุกวันวันละหกสลึง หากเพิ่มกับข้าวคนละสามอย่างจะตกเดือนละสองบาท ตกค่ำเรามักจะเอากับข้าวมารวมกัน 3 - 4 คนต่อโต๊ะ เพราะกับข้าวคนละเจ้าไม่เหมือนกันเราจึงได้กินหลายอย่าง”[14]

นิคมมหาวิทยาลัยได้ยุติลงในปี พ.ศ. 2482 เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีการขยายตัวในการให้บริการทางวิชาการ และจำเป็นต้องใช้สถานที่สำหรับการเรียนการสอนมากขึ้น รวมถึงจำนวนนักศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นด้วย และการขยายพื้นที่นิคมมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถจะกระทำได้ ทำให้ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองต้องยุติกิจการนิคมมหาวิทยาลัยลง[15]

นิคมนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอาจจะเป็นมุมหนึ่งในประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทว่า ความสำคัญของการจัดตั้งนิคมมหาวิทยาลัยนี้ยังมีความสำคัญต่อการส่งเสริมและช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับคนในต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับระบอบการปกครองใหม่ และเข้าไปเป็นกลไกสำคัญในการบริหารประเทศต่อไป

 

[2] ไสว สุทธิพิทักษ์, ‘ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 28 มิถุนายน 2565). สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2565.

[3] คงวิธีการสะกดตามคำในเวลานั้น

[4] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 มาตรา 37.

[6] วารุณี โอสถารมย์ (บรรณาธิการ), นามานุกรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 77 ปี 77 คำ (บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2554) 26.

[7] ประวัติศาสตร์นอกตำรา, ‘ค้นหาความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ใน "ตึกโดม" ธรรมศาสตร์: ประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.162’ (30 พฤศจิกายน 2565) <https://www.youtube.com/watch?v=yDrWpWjxKjY&t=1171s> สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565.

[8] วารุณี โอสถารมย์ (เชิงอรรถ 6) 27

[9] ประเสริฐ ประภาสะโนบล, ‘ชีวิตนักศึกษานิคม ม.ธ.ก.’ ใน ดวงทิพย์ วรพันธุ์ (บรรณาธิการ) หนังสือธรรมศาสตร์ 60 ปี (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2537) 83.

[10] วารุณี โอสถารมย์ (เชิงอรรถ 6) 27.

[11] เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร (บรรณาธิการ) หนังสือธรรมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2512) 338

[12] วารุณี โอสถารมย์ (เชิงอรรถ 6) 27.

[13] ประเสริฐ ประภาสะโนบล (เชิงอรร 9) 83; ประวัติศาสตร์นอกตำรา (เชิงอรรถ 7).

[14] เพิ่งอ้าง.84

[15] วารุณี โอสถารมย์ (เชิงอรรถ 6) 27; การนับปี พ.ศ. อาจจะมีการคลาดเคลื่อนตามการปรับเปลี่ยนการใช้ปีปฏิทินไทย ในบางสื่อจึงอาจจะใช้ปี พ.ศ. 2481 แทน แต่ในบทความนี้ผู้เขียนยึดปีตามการนับปฏิทินใหม่.