หนังไทยสายพันธุ์ใหม่กับงานสร้างปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวที่นำความประทับใจมาให้วงการ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม “เธอกับฉันกับฉัน” YOU & ME & ME ทำให้กลุ่มผู้ชมที่ไม่ดูหนังไทยต่างหันมาจับตาคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างในงานสร้างของหนังเรื่องนี้ ทั้งที่ต้นสังกัด GDH559 ไม่ได้โถมทุ่มโฆษณาแต่ปูมาในสื่อออนไลน์และขยายกิจกรรมแบบซึมลึก สร้างกระแสความรู้สึกถวิลอดีต (Nostalgia) โดยเขี่ยเส้นเรื่องเข้าจุดขายตามนโยบาย “เราจะมุ่งสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความรู้สึกดีๆ เพื่อยกระดับความสุขมวลรวมของผู้ชมทุกคน” บนสูตรสำเร็จของตลาดที่ไม่ขาดความสดใหม่ใสกระจ่างทั้งทีมสร้างและนักแสดงที่มาแบบแจ้งเกิดยกเซตได้สำเร็จ ไม่ต่างกับ “แฟนฉัน” หนังแนวเดียวกัน ค่ายเดียวกัน ที่มาแรงลอยลำทำลายสถิติแบบเอิกเกริก
20 ปีผ่านไป “เธอกับฉันกับฉัน” ผ่านการตกผลึกในอีกระดับของทีมบริหารและทีมสร้าง ที่ย่างก้าวผ่านช่วงวัยแห่งการแสวงหาและทดลอง เข้าสู่ครรลองของการเรียนรู้ด้วยปัญญาปฏิบัติในปัจจุบัน
สิ่งยืนยันด่านแรกคือการแหวกไฟเขียวให้กับบทภาพยนตร์โดย วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และพัฒนาบทภาพยนตร์ ซึ่งมีบทบาทสูงอยู่เบื้องหลังความสำเร็จแรกในงานสร้างทุกเรื่องของ GDH559 รวมทั้งหนังของสองผู้กำกับใหม่ (ไม่รวมซีรีส์) วรรณแวว - แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ กับแรงปรารถนาสูงที่จะส่งสารเรื่องจิตวิญญาณและความผูกพันพิเศษในสายสัมพันธ์ของความเป็นฝาแฝด โดยมี บรรจง ปิสัญธนะกูล รับหน้าที่โปรดิวเซอร์เป็นครั้งแรก
“เธอกับฉันกับฉัน” แหวกกฎเหล็กสำเร็จพร้อมแจ้งเกิดดาวเด่นคู่ใหม่ให้วงการด้วยออราสง่างามทั้ง ธิติยา จิระพรศิลป์ (ใบปอ) และ อันโทนี บุยเซอเรท์ (โทนี) เป็นแม่เหล็กที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมยกก๊วนชวนกันดูหนัง และกำลังเดินสายฉายประกวดกวาดรางวัลกันอีกในหลายประเทศทั้งในเขตเอเชียและยุโรป ด้วยจุดแข็งที่ไม่ใช่จุดขายภายในประเทศนี้
“เธอกับฉันกับฉัน” YOU & ME & ME ส่งสารผ่านชีวิตแฝดคู่ ยู กับ มี ที่เป็น soulmate กัน ตรงกับช่วงเวลาที่หลายประเทศกำลังตื่นกลัวกับข่าวลือเรื่องปรากฏการณ์โลกจะแตกในวันสิ้นปี 1999 และต่างกำลังเตรียมรับกับปัญหา Y2K ที่จะส่งผลถึงฐานข้อมูลในระบบ Digital Data ซึ่งจะรวนกวนโลก ท่ามกลางปัญหาการเลิกราของพ่อแม่ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจคนทั้งบ้าน และการก้าวเข้ามาของ หมาก — หนุ่มน้อยที่เป็นรักครั้งแรกของทั้งสอง ทำให้โลกทั้งใบของสองพี่น้องที่เคยแชร์ร่วมกันตลอดมา ถึงเวลาที่ต้องไตร่ตรองว่า ระหว่างความรักที่มีต่อคนอื่น กับความรักตัวเองและคนในครอบครัวนั้นอะไรสำคัญที่สุด
การจัดการกับโจทย์รักรบกวนจิตและวิกฤตในครอบครัว คือตัวพิสูจน์พัฒนาการของวุฒิภาวะ ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นก้าวสู่วัยหนุ่มสาว (Coming of Age) ในช่วงปิดเทอม คือ จุดเพิ่มสีสันและเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง แนวของหนังจึงไม่ใช่เพียงหนังรักวัยรุ่น แต่เป็นหนังครอบครัวที่เข้าข่าย Romantic realism ที่มีมิติของความเป็นมนุษย์แฝดนำเส้นเรื่อง โดยจับจุดเด่นในคุณสมบัติพิเศษตามธรรมชาติ ที่สามารถเกิดมาพร้อมกับความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน (ทั้งแฝดแท้และแฝดเทียม) โดยไม่ได้โยงถึงสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบกันว่า ฝาแฝดไม่ได้เป็นคู่แข่งที่แย่งชิงกัน แต่แฝดเทียมสามารถแข่งขันกันเองได้มากกว่าแฝดแท้, ฝาแฝดไม่ได้มีลายนิ้วมือหรือ DNA ที่เหมือนกัน, ฝาแฝดไม่ได้รับรู้สัญชาตญาณหรือความรู้สึกในใจของกันและกันเสมอไป แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติพิเศษของฝาแฝดที่สามารถทำได้ทุกคู่ ฯลฯ
เพราะในความจริงแต่ละคู่แฝดคือคนละคน แม้จะถูกเลี้ยงมาด้วยกัน อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน แต่ความสนใจและบุคลิกจะคนละแบบกันอย่างสิ้นเชิง แม้แฝดแท้จะรูปลักษณ์เหมือนกันมาก แต่บทเลือกจับจุดเด่นเป็นพิเศษของสัญชาตญาณและความรู้สึกเบื้องลึกในใจของแฝดมานำเสนอเป็นแกนหลักของเรื่อง พร้อมใส่รายละเอียดได้อย่างละเมียดละไม
จุดสำคัญของหนัง คือ การสร้างคุณค่าจากสาร และใส่ทุกองค์ประกอบศิลป์ให้สัมผัสได้ด้วยหัวใจผู้ชม เทคนิคถ่ายทำและสร้างภาพแบบ split frame กับ face scan ไม่ใช่เรื่องยากมากสำหรับบริษัทที่มีพื้นฐานงานโฆษณา ถ้าทุนถึงใครก็เนรมิตให้ได้ดี โลกที่เจริญแล้วจึงให้ความสำคัญกับเนื้อหา (บท-script) ว่าเป็นที่สุดของความสำคัญ เพราะนั่นคือหัวใจของภาพยนตร์
ในครอบครัวชนชั้นกลางของยูกับมีกำลังระส่ำระสายหนัก เมื่อพ่อไม่สามารถประคองเศรษฐกิจในบ้านได้ อาจมีเหตุกินแหนงแคลงใจมากมายกว่านั้น แต่นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายของแม่ (ศุภักษร ไชยมงคล) ที่เลือกจะไม่ทนจึงต้องแยกทาง เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ยูกับมีปิดเทอม ทั้งสามกลับบ้านยายที่จังหวัดนครพนม ดินแดนไทยตรงข้ามฝั่งลาว ช่วงที่มีภูมิประเทศสวยที่สุดขนานไปกับแม่น้ำโขง
หนังเลือกฉากและองค์ประกอบเข้ากับยุคแบบแทบไม่ต้องเซตใหม่ และเสริมรายละเอียดเข้าไปให้ประณีตงามตามความหมายของบท ให้ความรู้สึกเหมือนดูหนังสารคดีชีวิตรักวัยรุ่นย้อนยุค ที่ไม่เน้นโชว์แหล่งท่องเที่ยวหรือโบราณสถานสำคัญของจังหวัด จัดเป็นหนังอาร์ตอินดี้ที่เน้นความสวยงามตามเส้นเรื่อง โดยไม่เปลืองประดิษฐ์ช็อตหรูหราเกินจำเป็น และน่ากลับไปค้นหาตามรอยหนัง ประหนึ่งว่าตัวละครเคยมีชีวิตชีวาอยู่ในช่วงเวลานั้นจริงๆ
“เราอยากให้ Mood & Tone ของ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ ดูมีความเรียลลิสติก เหมือนชีวิตจริง ไม่ได้ดูจัดวาง ทั้งเรื่องจะมีรายละเอียดเล็กๆ ที่แทรกอยู่ในวิถีชีวิต มันเกิดจากการที่เราไปดูโลเคชันจริง ซึ่งในแต่ละที่ไม่ได้มีแค่ตัวละคร แต่มันจะมีอย่างอื่นประกอบด้วย เราอยากให้สิ่งที่ถ่ายออกมามันเหมือนในชีวิตจริงที่สุด”[1]
ผู้กำกับวรรณกล่าวยืนยันแนวคิดการออกแบบงานสร้าง ภายใต้แนวทางพหุวัฒนธรรมระหว่างจีนกับเวียดนามของจังหวัดนครพนม สถานที่ถ่ายทำหลักซึ่งเป็นเสมือนอีกหนึ่งตัวละครสำคัญรองจากผู้แสดง (สองศักดิ์ กมุติรา ออกแบบงานสร้าง Production Design / กฤษดา นาคะเกตุ กำกับภาพ)
ผู้กำกับคู่แฝด แวววรรณ - วรรณแวว ให้รายละเอียดในธรรมชาติของความเป็นคู่แฝด และความเป็นผู้หญิงในงานการกำกับได้ละเอียดอ่อนลุ่มลึก ลำพังสาวน้อยใบปอที่แสดงเป็นยูกับมีคู่แฝดสองคนก็รักล้นได้แล้ว แต่ยังมีหนุ่มหมาก มากเสน่ห์เข้ามาเสริมเพิ่มความโรแมนติกได้อีก
แม้บทไม่พีคในปมดรามา แต่ว่าครอบคลุมในเหตุและผลที่ต้องการสื่อถึงความผูกพันพิเศษของแฝด ที่เป็นเหมือนตัวแทนทุกความสัมพันธ์ของมนุษย์ มีความรักครั้งแรกเข้ามาฉุดผู้ชมเร้าอารมณ์ให้รู้สึกร่วมได้มากขึ้น การแสดงเป็นแฝดคู่สองบุคลิกควบกับสแตนด์อินสลับแสดงร่วมกับ น้ำแข็ง — ณัฐวสา ศรีนูเดช ที่ต้องก๊อบปี้กันและกันในขั้นตอนการถ่ายทำ ถูกนำด้วย workshop มาอย่างดีก่อนที่จะเปิดกล้อง แม้น้องใบปอจะแยกได้เพียงช่องเสียงต่ำกับแอ็คที่ทำได้เป็นธรรมชาติ แค่นี้ก็เฉียบขาดจนแจ้งเกิดเฉิดฉายขายความใหม่สดใสสองบุคลิกได้แล้ว เมื่อมารวมกับโทนีหนุ่มน้อยเจ้าเสน่ห์นัยน์ตาหวาน แม้เว่าลาวบ่คักแต่ก็หลงรักได้เลยทั้งเรื่องท็อปฟอร์มทั้งคู่ ดูรู้อนาคตไกล
ครูปราง — ศศินันท์ พัฒนะ Acting coach เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานหนักของนักแสดงใหม่ว่า
“ข้อดีของนักแสดงหน้าใหม่ คือมีเรื่องเซอร์ไพรส์ได้ตลอดเวลา เราจะเจอโมเมนต์ที่เป็นธรรมชาติที่มีเสน่ห์หลายครั้งมากๆ ข้อดีอีกอย่างคือ พวกเขาไม่ได้แบกความคาดหวัง อยากทำอะไรก็ทำ พวกเขารู้ตัวว่าจะต้องเจอบทหนักในหนังเรื่องนี้ ทำให้ยิ่งเต็มที่กับการบ้านที่เราให้โจทย์ไป โดยเฉพาะการนั่งวิเคราะห์บทสนทนาของตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง เพราะว่าแต่ละประโยคที่พูดออกมา นักแสดงต้องทำการบ้านว่าพูดเพราะอะไร เพื่ออะไร เบื้องหลังของประโยคหมายความว่าอะไร โดยนั่งคุยกับครู พี่วรรณ พี่แวว นอกจากการวิเคราะห์ ใบปอยังต้องเขียนไดอารีทุกฉากในฐานะ ยู และ มี เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกเหมือนตัวละคร ซึ่งจะเหนื่อยมากๆ ในช่วงก่อนถ่ายทำ แต่พอช่วงออกกอง ทุกอย่างนั้นดีเลย เขาทำออกมาได้อย่างมีเสน่ห์ และจริงใจ สำหรับครูนี่คือเรื่องเซอร์ไพรส์ที่ได้เจอ”[2]
เหตุเกิดจากสองสาวเล่นซนปลอมตัวเข้าสอบแทนกัน นั่นเป็นเหตุดึงเข้าพบ หมาก ตัวแปรสำคัญที่เข้ามาเป็นโจทย์หัวใจ จากจุดเริ่มในโรงเรียนแล้วโลกก็ลากมาพบกันอีกที่นครพนม เพิ่มความสนิทสนมมากขึ้น แม้หนุ่มยังแยกไม่ออกว่าสาวคนไหนใครคือยูหรือมี ความที่ตัวติดกันและมีกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิด ก็ทำให้วัยรุ่นว้าวุ่นอ่อนไหว ไม่แน่ใจว่าชอบใครในความเหมือนแม้มีจุดต่าง
ถ้าเรื่องแนวนี้ถูกสร้างให้เป็นยุคสมัยใหม่ในโจทย์ของผู้ลงทุนรุ่นเก๋า อาจทำเอาหวือหวาน่าหวาดเสียวต่อเส้นศีลธรรมตามคำสั่งของตลาด และทุนผูกขาด ที่ไม่อาจละเมียดละไมได้ขนาดนี้ เพราะสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมเยาวชนจนไม่อาจยับยั้ง
ผู้เขียนนั่งสังเกตกริยาของเด็กที่ยกโขยงกันมาชมทั้งชุดนักเรียนหลายกลุ่มในแต่ละรอบ ขอบคุณทีมสร้างที่เปิดทางให้วัยรุ่นยุคใหม่ได้สัมผัสกับความคิดความรู้สึกที่อบอุ่นอ่อนโยน เรียนรู้ที่จะให้เกียรติกันและกันผ่านตัวละคร ตอนที่ยูชวนหมากจูบสะกดใจให้ทุกกลุ่มซุ่มลุ้นสยิว แอบหวิวจนเกือบเงียบกริบ ได้ยินเสียงกระซิบที่ฟังไม่ได้ศัพท์กับเพื่อนๆ พึมพำ เด็กหญิงคนนั่งใกล้ก้มหน้าหลบตาต่ำตั้งแต่คำแรก แทรกด้วยเสียงคิกคัก เขินน่ารักกันทั้งโรง ก่อนยกโขยงกลับไปด้วยความรู้สึกภายในที่ต่างกัน บางคนอาจคาดหวังในเนื้อหนังที่เซ็กซีกว่านี้ ในขณะที่หลายคนซึมซับสาร อิ่มใจไปกับความลึกละไมของเนื้อหา นักแสดง และงานสร้าง หนังเองก็เลือกข้างคุณผู้ชมเช่นกัน
บรรยากาศของความเป็นชนบทที่สะอาดสดใสในสิ่งแวดล้อมและผู้คน (ตัวละครทั้งที่บ้านยายและบ้านเรียนกับเด็กทโมนน่ารักของพ่อครูสอนพิณ) คือบันทึกของยุคสมัยที่ทำให้โทนรวม (Mood & Tone) ของหนังมีเสน่ห์ โดยเฉพาะในฉากสำคัญหลายตอนที่ซ่อน Magic moment เช่น งานวัดศูนย์รวมกิจกรรมสำคัญของชุมชนและคนชอบกัน และมันถูกใช้ให้เป็นฉากบอกรักบนลานม้าหมุนแทนชิงช้าสวรรค์ที่มากความหมาย แต่ได้อารมณ์ลึกละมุนกว่า โลกใบเล็กหมุนไปช้าๆ มีสายตาแทนคำตอบ
หลังจากยูหนีเที่ยวกับหมากสองคนเป็นผลให้บาดหมางคลางแคลงใจกับ มี (ตัวจริงที่พบหมากครั้งแรก) ทำให้แฝดน้องน้อยใจเหมือนกลายเป็นส่วนเกินในชีวิตกันและกัน ที่สำคัญความรู้สึกที่มีต่อหมากก็ยากจะอธิบาย ยูงอนง้อด้วยการดึงมีไปดูงานวัด กำลังเตรียมเก็บก่อนกลับ ใกล้ค่ำกลางลานล้อมผ้า ยูจุดพลุโอ่งโยงประกายฉายความสุขสู่กันสองคน พร้อมบ่นสัญญาว่าจะไม่ทิ้งกันแต่จะปันความสุขทุกอย่างไม่ต่างจากที่เคยมา
ในคืนฟ้าสวยที่ทั้งสามนัดดูดาวกลางนามาถึง ฉากที่ควรซึ้ง Romance สุด กลับสะดุดเพราะต้องการพิสูจน์ความจริงในใจ ใครคือคนที่หมากรักและจะเลือก ดาวตกก็อธิษฐานไม่ทันเพราะมัวทะเลาะกัน ความฝันกับความรักร่วงดับลับไปกับดาวตก หมากแสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วยการตัดสินใจไม่เลือกใคร เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจและเสียเพื่อน งามล้ำฉ่ำใจทั้งฉากและบทที่มากความหมายในสายสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนก่อนเติบโต
ความเป็นคนอื่น คือ ธรรมชาติแปลกแยกที่แทรกอยู่ในทุกความสัมพันธ์ของผู้คน ที่ไม่ใช่แค่ความเป็นเพื่อน พี่น้อง (และไม่จำเป็นต้องแฝด) แม้กระทั่งในสายใยที่ใกล้ชิดอย่างแม่กับลูกก็ไม่ต่างกัน ในวันที่ยูบอบช้ำจากการเปิดเผยความจริงในเกมสลับตัว ครอบครัวก็เดินทางมาถึงวันที่คู่แฝดต้องเลือกว่าใครจะไปอยู่กับพ่อที่กรุงเทพฯ ใครจะอยู่กับแม่ที่บ้านเกิดนครพนม
ยูแอบฟังแม่คุยสายได้ยินว่าแม่เลือกมีไว้ ยูจึงต้องไปอยู่กับพ่อ เพียงแค่นี้หัวใจดวงน้อยก็แตกสลายไม่ต่างจากพ่อแม่ที่ครอบครัวต้องแตกแยก ความเศร้าแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของความรู้สึก เป็นปัญหาที่ซ่อนลึกอยู่ในทุกความเคลื่อนไหวแต่มองไม่เห็นเป็นรูปธรรมตลอดเรื่อง คือภาพจำลองของสัจธรรมที่ว่า ทุกอย่างในโลกนี้เป็นสิ่งชั่วคราว ล้วนก้าวเข้ามาให้เราพบพานเพื่อผ่านพ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของผู้คน แม้นในความเป็นพ่อแม่ก็ไม่ใช่ข้อแม้ที่จะยกเว้นว่ามีความยุติธรรมโดยกำเนิด
แม่ให้เหตุผลว่ายูมีความเป็นผู้ใหญ่ที่ควรไปดูแลพ่อ แต่ในความเป็นจริงคือแม่มีจริตที่ชิดใกล้กับมีมากกว่า เพราะความเป็นหญิงแกร่งเหมือนกัน ซึ่งควรไปดูแลพ่อผู้ต้องการคนปกป้อง ตรงข้ามกับยูที่มีความเป็นศิลปิน ละเอียดอ่อน อ่อนโยน อ่อนไหว และบอบบางที่ควรได้อยู่กับแม่ที่เข้มแข็ง แม้แม่ยืนยันว่ารักทั้งสองเท่ากัน แต่ในความเป็นจริงของปุถุชนนั้น น้ำหนักของตาชั่งย่อมเอียงเป็นธรรมดา นับประสาอะไรกับคนนอกที่บอกรัก
หนังเน้นคุณสมบัติพิเศษของความเป็นแฝดที่มีจิตสัมผัสซึ่งจะกระหวัดถึงกันได้ดีกว่าคนทั่วไป ทั้งในบทสนทนาและส่งซีนสวยมาในวันเกิดเหตุเรือล่ม ยูเกือบจมน้ำขณะลอยลำบนเรือกลางสระบัวกับหมาก กระชากมีแทบเหาะมาในทันใดก่อนทำสัญญาใจเราจะไม่ห่างกัน จนถึงวันที่ยูต้องจากเพื่อไปอยู่กับพ่อ หนังหักมุมล่อให้ใจหาย สุดท้ายก็ Happy ending ลากมีมาปิ๊งกลาง บขส. ท่ามกลางบรรยากาศซึมเศร้าเหงางาม กับความผิดพลาดของข้อมูลข่าวรถคว่ำ แต่หนูร่ำไห้ไม่ออกแค่หลอกให้ลุ้น
ขอบคุณบท Feel Good ที่พูดแทนหัวใจผู้ชมเกินข่มไหว เพราะหนังให้ภาพจำลองชีวิตวัยรุ่นที่พิสุทธิ์สดใส เติบโตมากับยุคสมัยที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านวัฒนธรรมและสังคม ทุกคนต้องการมีตัวตนบนโลกใหม่ จิตใจและสายใยพิเศษของความเป็นแฝดคือความเท่าเทียมที่มากกว่าความเป็นพี่น้องธรรมดาทั่วไป มีโลกภายในอีกใบที่ซ้อนทับอยู่กับโลกของความจริงภายนอก เมื่อต้องออกผจญกับสถานการณ์ที่คับขัน ทั้งคู่จะเป็นเกราะกันภัยให้กันและกัน ในโลกสองชั้นที่แบ่งปันอย่างเป็นอิสระ เพื่อจะเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน สิ่งที่ทำได้ก่อนคือเสียสละให้กับครอบครัว ผู้ชายคนเดียวที่สามารถแยกทั้งคู่แต่ไม่มีวันขาดออกจากกันได้ คือ พ่อ ผู้ให้กำเนิดเท่านั้น
มีกับยูตกลงแยกกันอยู่อย่างเต็มใจตามคำขอของแม่ บอกเนื้อแท้การเติบโตตามวัยในวุฒิภาวะที่พร้อมจะเผชิญโลกแห่งความจริง ที่ไม่ได้มีเพียงสิ่งสวยงามเท่านั้น และไม่สำคัญว่าโลกจะแตกวันไหน หนังตัดจบไว้อย่างงดงามตามความเป็นจริงของชีวิต ส่งสารให้คิดต่อ
“เธอกับฉันกับฉัน” ร่วมพิชิตรางวัลเป็นขวัญกำลังใจให้คนสร้างหนังไทยได้ทุนทำงานไปสานต่อก่อฝันในวันข้างหน้า GDH รายงานว่า เพียงหนึ่งสัปดาห์ที่เข้าฉายหนังกวาดรายได้กว่า 30 ล้านบาท และเป็นความหวังต่อเทศกาลหนังนานาชาติทั่วโลก ในฐานะตัวแทนภาพยนตร์ไทย ‘Osaka Asian Film Festival 2023’ ประกาศให้ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 13 ภาพยนตร์เข้าชิงรางวัล GRAND PRIX และ Most Promising Talent Award ในสาย Competition และยังได้รับเลือกจากงานเทศกาลภาพยนตร์ ‘Udine Far East Film Festival 2023’ ประเทศอิตาลี ให้เข้าร่วมแข่งขันรางวัลภาพยนตร์ขวัญใจมหาชน (Audience Award) เปิดให้ทุกคนร่วมโหวตขับเคี่ยวกับภาพยนตร์คุณภาพจากทั่วโลกอีกกว่า 20 เรื่อง[3] เอาใจช่วยหนังไทยให้ไปต่อ
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความจาก GDH
[1] บทสัมภาษณ์แวววรรณ — วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์, ภาพยนตร์เรื่อง “เธอกับฉันกับฉัน”, สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2566
[2] บทสัมภาษณ์ครูผู้ฝึกสอนการแสดง, ภาพยนตร์เรื่อง เธอกับฉันกับฉัน, บริษัทผู้สร้าง GTH, สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2566.
[3] ‘เธอกับฉันกับฉัน’,รางวัลจากเทศกาลหนังนานาชาติ, สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2566.
- ภาพยนตร์
- กวินพร เจริญศรี
- เธอกับฉันกับฉัน
- YOU & ME & ME
- GDH559
- GTH
- GDH
- แฟนฉัน
- วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์
- วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์
- แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์
- บรรจง ปิสัญธนะกูล
- ฝาแฝด
- ธิติยา จิระพรศิลป์
- อันโทนี บุยเซอเรท์
- Y2K
- Coming of Age
- Romantic Realism
- ศุภักษร ไชยมงคล
- สองศักดิ์ กมุติรา
- กฤษดา นาคะเกตุ
- ศศินันท์ พัฒนะ