ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“Little Women The Broadway Musical” สี่ดรุณี ละครเวทีแบบบรอดเวย์

25
มีนาคม
2566

 

ร่วมศตวรรษแล้วที่คนไทยคุ้นกับวรรณกรรมโลกเรื่อง Little Women นวนิยายของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott (1832-1888)) นักประพันธ์ชาวอเมริกัน หลังปลุกปั้นงานเขียนลงตะกร้ามาหลายแนว ในปี ค.ศ. 1868 เธอถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำวัยเด็กที่บ้านเกิดในเมืองคอนคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา ร้อยเรียงเรื่องราวภูมิหลังของชีวิตออกมา ด้วยความยาวที่หนาถึง 402 หน้า โดยใช้เวลาเขียนเพียง 4 เดือน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1880

ความจริงมีพลังเสมอ หลังจากนั้นนิยายเรื่องนี้ก็เปลี่ยนชีวิตเธอให้เป็นนักเขียนชื่อดัง ด้วยวรรณกรรมที่งดงามอยู่ในความทรงจำของคนไทยในชื่อ “สี่ดรุณี” ที่มีการนำไปดัดแปลงผ่านงานศิลปะการแสดงหลายแขนงทั้งในรูปแบบของ นิยายแปล ภาพยนตร์ ละครเวที ละครทีวี ละครเพลง โอเปรา และหนังสืออ่านนอกเวลาเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน สี่ดรุณีออกแบบงานสร้างได้งามล้ำตั้งแต่ยังเป็นหนังขาวดำ จนถึงภาพยนตร์เวอร์ชันสวยล่าสุดในปี ค.ศ. 2019

จนกระทั่งเมื่อ 23-26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเรื่องนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมในสาขาวิชาขับร้อง ปฏิบัติ และการแสดงละครเพลง เพื่อสร้างการเรียนรู้แบบมืออาชีพให้กับนักศึกษา โดยได้รับลิขสิทธิ์มาอย่างถูกต้องจาก Music Theatre International (MTI)

หัวใจสำคัญที่ทำให้ Little Women เป็นวรรณกรรมคลาสสิกไม่ใช่องค์ประกอบภายนอกที่บอกความยิ่งใหญ่ แต่คือภายในเนื้อหาที่ว่าด้วยความมุ่งมั่นฝันใฝ่ของคนที่รู้ตัวตนและจุดหมาย โดยเฉพาะผู้หญิงในยุคเก่าที่ถูกเผาด้วยความคาดหวัง ถูกฝังหัวด้วยค่านิยมในสังคมอุดมคติแบบโบราณ ประเด็นการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ต่อสู้ให้หลุดจากทุกอุปสรรค ด้วยการรู้จักก้าวข้ามความหวั่นไหวด้วยใจเปี่ยมพลัง ยังไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมโลก แต่การสร้างแรงผลักให้ผู้คนรู้จักวิธีเอาชนะบททดสอบด้วยทัศนคติที่ดี มีวิธีจัดการกับปัญหาอย่างน่าเกรงขาม คือความสง่างามที่น่าสนใจในทุกยุคทุกสมัย

 

 

“Little Women The Broadway Musical” เป็นเรื่องราวชีวิตที่เปี่ยมชีวาของหญิงสาวตระกูลมาร์ชสี่คนมี เม็ก โจ เบ็ธ และเอมี่ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองคอนคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตต์ โดยมีแม่ (มาร์มี่) ทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัว ในขณะที่พ่อ (มิสเตอร์มาร์ช) ไปทำงานในสมรภูมิสงครามกลางเมือง ในฐานะอนุศาสนาจารย์ของกองทัพพันธมิตรในสงครามกลางเมืองในอเมริกา เป็นช่วงเวลาที่ทั้งสี่สาวกำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ไล่เลี่ยกัน

Allan Knee ได้ยึดแก่นเรื่องเดิมของ Little Women มาเป็นแกนในการถ่ายทอดบทละคร โดยให้ความสำคัญกับฐานแรกที่หลอมให้คนเราแกร่งพร้อมก้าวคือ ครอบครัว โดยพุ่งเป้าเข้าจุดสำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างสายเลือด และความเป็นมนุษย์ที่มีความต่าง ด้วยบทที่สร้างรายละเอียดทางความคิด จิตสำนึก การกระทำ ความผูกพันของน้องพี่ที่มีต่อกัน ที่สำคัญคือหัวใจรักซึ่งภักดีต่อความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียนและการก้าวข้ามบททดสอบแสนสาหัสของ โจ — ผู้หญิงล้ำยุค ซึ่งถูกสร้างให้มาปลุกสำนึกของทุกคน ให้ดิ้นรนไม่ยอมแพ้แม้ต้องเผชิญกับภาวะหดหู่ ที่ต้องสู้กับศัตรูทั้งภายนอกภายในหนักหนาแค่ไหนก็ตาม แต่เธอไม่เคยทิ้งความฝัน…

สร้างสรรค์ดนตรีโดย Jason Howland (นักประพันธ์เพลงรางวัล Grammy Awards) / เนื้อร้องโดย Mindi Dickstein / วงดนตรี Mahidol Symphony Orchestra บรรเลงสดเต็มวงทุกรอบ ควบคุมวงโดย ผศ.ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ (ออม) — วาทยกร นักประพันธ์ และนักเรียบเรียงดนตรี จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล / Darren Royston Traditional Dance Choreographer / กำกับการแสดงโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์

 

 

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีสองสาขาที่จัดสร้างละครคือ ธุรกิจดนตรี (music business) ที่ผ่านมานักศึกษาสองสาขานี้สามารถเลือกทำอะไรก็ได้ที่เป็นการ produce การเลือกทำละครเวทีจึงเป็นเชิงจัดการในส่วนงานสร้างทั้งหมด อีกส่วนคือ สาขาวิชาขับร้อง ปฏิบัติ และการแสดงละครเพลง (musical theatre) บางโปรเจ็กต์เป็นละครเล็กสั้นๆ เขียนบทกันเอง แต่ถ้าเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ประจำปี จะไม่สร้างขึ้นมาใหม่แต่ซื้อลิขสิทธิ์เรื่องที่เลือก ละครประจำปี 2566 เรื่อง “Little Women The Broadway Musical” โดยมี อาจารย์ออย — ช่อลดา สุริยะโยธิน ทำหน้าที่เป็น producer และ อาจารย์นพีสี เรเยส (Napisi Reyes) ทำหน้าที่เป็น dramaturg จัดสร้างขึ้นภายในหอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นโรงละครขนาดกลาง 354 ที่นั่ง แถวหน้าสามแถวที่ติดกับวงดนตรีถูกว่างไว้ไม่ขายบัตร เพื่อการรับระดับเสียงที่สมบูรณ์ เมื่อก้าวเข้าไปภายในโรงละคร การออกแบบฉากสร้างจุดสะดุดตาตั้งแต่แรกพบ ต่างจากทุกเวอร์ชันด้วยแนวคิดของการออกแบบเวทีที่ใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้าวของเครื่องใช้ ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ที่มองเหมือนข้าวของเหลือใช้ เศษไม้สุมคล้ายกองขยะ แต่รองรับทุกก้าวขยับของตัวละครได้อย่างมั่นคงและลงตัว (ออกแบบฉากโดย อาจารย์ภัคพร พิมสาร และออกแบบแสงสวยโดย ทวิทธิ์ เกษประไพ) ลบภาพอลังการของฉากโอเปรา ลืมฉากบ้านงามสง่าในภาพยนตร์ ชวนให้ผู้ชมใช้จินตนาการร่วมไปกับการแสดง เสียงร้อง และเพลินไปกับเสียงเพลงที่ออร์เครสตาบรรเลงเต็มวงได้ไพเราะตลอดเวลาสองชั่วโมงครึ่ง

ทั้งหมด 27 เพลง (รวมโหมโรง overture) ที่ยกแพ็กมาพร้อมกับการซื้อบทละครจากบรอดเวย์ ในมูลค่าที่เป็น 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมกับส่วนประกอบอื่นๆ เช่น โน้ตเพลง สกอร์เพลงแยกชิ้นเครื่องดนตรี ฯลฯ (เมื่อเสร็จงานแล้วต้องส่งกลับตามธรรมเนียม และมีบริการ backing track ไว้ซ้อม ถ้าต้องการแต่ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งไม่จำเป็นสำหรับดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล เพราะทุกคนเล่นดนตรีได้)

ในดีลปกติการซื้อขายขึ้นอยู่กับรอบการแสดงคูณด้วยราคาบัตรที่คิดเป็นเงินดอลลาร์ต่อคน แต่ในกรณีเพื่อการศึกษาถือว่าไม่ใช่มืออาชีพ (amateur) จึงได้ rate ที่ถูกกว่า เงื่อนไขสำคัญคือไม่สามารถ ต่อ แต่งเติม จากต้นแบบได้ทั้งบทและเพลง (ส่วนใหญ่จะตัดบางช่วงออกไป) และไม่สามารถแปลงสื่อเพื่อจำหน่ายได้ทั้งการแสดงและดนตรีตามกฎการค้าสากล ลิขสิทธิ์จึงเป็นการซื้อครั้งต่อครั้งของการจัดแสดง งานละครประจำปีจึงเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์บทที่ซื้อมา เพื่อพัฒนานักศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ใน rate ที่เทียบเท่ามาตรฐานโลก 

 

 

Exclusive Interview

ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ : กำกับการแสดง

จบการศึกษาจาก Theatre Directing ที่ Middlesex University, London, UK ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2562 ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษที่ ม.บูรพา และ ม.มหิดล (กำกับการแสดง), ม.หอการค้าไทย สอนเขียนบท, และอีกหลายสถานะ Theatre director / Scriptwriter for film, TV & stage / Script Doctor Acting Coach / Lecturer of Play Directing ครูบิ๊กทำละครเพลงมาแล้วหลายเรื่อง มีทั้งที่เขียนเอง แปลมา แปลงมา เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 ณ เวที มณเฑียรทองเธียเตอร์ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ เรื่อง Rocky Horror Show ของ Richard O’Brien ครั้งล่าสุด Little Women The Broadway Musical นับเป็นเรื่องที่ 3 ที่ครูบิ๊กได้ร่วมงานกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ในฐานะผู้กำกับการแสดง (เรื่องแรก Ghost Opera The Musical และเรื่องที่ 2 CLOWN The Musical)

 

Little Women ผมอ่านตั้งแต่ยังเป็นหนังสือนอกเวลาสมัยมัธยมแล้ว เป็นยาขมมากสำหรับเด็กสมัยนั้น อ่านจบแล้วต้องคอยมาเล่าให้เพื่อนฟังเพราะภาษาอังกฤษเราดีกว่าเพื่อน ส่วนเพื่อนก็ดูแลวิชาอื่นให้เราเช่นคณิตศาสตร์ เล่นเป็นทีม หลังจากนั้นก็ได้ดูหนังอีกสองเวอร์ชัน หนังขาวดำกับสี ล่าสุดปี 2019 ได้ดูอีกเวอร์ชันหนึ่ง เพราะรู้จักเรื่องดีได้ดูตัวอย่างแล้วสวยจังเลยหนังเรื่องนี้

จนกระทั่งมาเจอที่นี่อีกเหมือนชะตาชีวิต เขาเกาะอยู่กับเรามานานแล้ว อยู่ในสต็อกของดุริยางคศิลป์อยู่นานพอสมควร กับอีกเรื่องคือ Sunday in the Park with George แต่ Little Women ถูกเลือกบนโจทย์ที่เอื้อกับนักศึกษา ทำขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาได้ฝึก สามารถจะเล่นได้ ต้องดูทรัพยากรด้วย เรื่องนี้ผู้หญิงเยอะ นักศึกษาผู้หญิงก็เยอะ อยากให้นักศึกษาเล่นเยอะที่สุดเท่าที่จะเยอะได้อยู่แล้ว แต่ละคนเลือกบทตัวละครมาเองเป็นอันดับแรก ลำดับสองจะเป็นการคัด range ของเสียงตามโน้ตว่าเพลงนี้ต้องการคนเสียงแบบไหน สูงหรือต่ำ ดูบุคลิกภายนอกด้วยแล้วจัดมาเป็นเซตเลย เอามาเทียบเคียงดูโทนหน้าตาเป็นพี่น้องกัน เซตแรกจะมีสองตัวละครที่แสดงสองแคสต์ แต่ที่เหลือต้องสามแคสต์แล้วสลับรอบกันแสดง เพื่อให้ทุกคนได้เล่นกันถ้วนหน้า” 

 

 

“ปกติมิวสิคัลจะเป็นงานมุ่งเน้นการโชว์ฉากยิ่งใหญ่อลังการ แต่เรื่องนี้เป็น musical drama เรื่องชีวิตครอบครัว เน้นเรื่องความสัมพันธ์ ความรู้สึกของตัวละคร เราไม่ได้เห็นมิวสิคัลบนเวทีแบบนี้มานานแล้ว พูดถึงเรื่องการก้าวข้ามผ่านชีวิตช่วงหนึ่งไปสู่อีกช่วงหนึ่ง (coming of age) พูดถึง โจ ตัวเอกของเรื่องซึ่งมีชีวิตอยู่ในสังคมที่กำหนดบทบาทของผู้หญิง แล้วคนส่วนใหญ่ก็ไปตามกระแสที่อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกัน แต่เมื่อเรามีความฝัน ความต้องการ ความอยากอะไรบางอย่าง ที่ค่อนข้างจะทะเยอทะยานมากกว่าเพื่อนๆ เราทั่วไป แล้วการไปถึงจุดจุดนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตัวละครจะทำอะไรได้บ้างท่ามกลางอุปสรรคมากมาย ที่คอยทดสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา จะไปถึงจุดจุดนั้นได้ยังไง

จุดที่น่าสนใจคือตัวละครมี positive thinking ในความขัดแย้งที่ต้องก้าวข้ามไป วิธีก้าวข้ามไปไม่ใช่การทำลายล้าง เราดูแล้วมีกำลังใจขึ้นรู้สึกอิ่มเอมไปกับการเลือกของตัวละครที่ไปสู่จุดหมายข้างหน้าได้ ด้านดนตรีผมไม่เก่ง แต่พอจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวโน้ตได้ ว่าอันไหนบทพูดไหนบทเพลงที่ถูกเรียงร้อยสอดประสานไว้กับดนตรีแล้ว ซ้อมกันวันที่มีสอนจันทร์กับศุกร์ ตัวละครทุกเซตสลับกันซ้อมกับครู นักศึกษาก็ไปตีความบทละครซ้อมกันเองด้วย อังคาร พุทธ พฤหัสบดีซ้อมร้องเพลง ซ้อมเป็นฉากๆ ก่อนแล้วนำแต่ละชิ้นมาต่อกัน ช่วงหลังก็ซ้อมถี่ขึ้นเพิ่มวันมากขึ้น”

 

 

คมละคร … ย้อนเบื้องหลังการแสดง 

นอกจากฉากจะถูกออกแบบให้ง่ายงาม แต่มีความประณีตในรายละเอียดของการจัดวางแล้ว การแสดงก็ใช้หลักการนี้เช่นกัน

 

“พยายามทำเรื่องนี้ออกมาให้ง่ายที่สุด ฉากแต่ละฉากให้ดูง่ายๆ แล้วให้ดนตรีทำงานเอง ถึงกินใจคนดู ไม่ต้องทำอะไรให้เยอะแยะวุ่นวายมากมายเลย ขนาดของโรงละคร ถ้าคนดูแถวหลังสุดยังเห็นตานักแสดงก็โอเค ถ้าไม่เห็นแสดงว่าใหญ่เกินไปแล้ว นักแสดงส่งมาไม่ถึง คนดูก็เข้าไปไม่ถึงด้วย เล่นใหญ่กว่านี้ mood มันไม่ได้ เรื่องเสียงนั้นมีไมค์ช่วย ทุกคนเรียนเรื่องการหายใจมา ไม่ต้องตะเบ็ง สำหรับละครเพลง เพลงต้องมาก่อน ดนตรีมาก่อน อย่างอื่นดึงขึ้นได้

ทุกคนมีเสียงเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง คนที่เล่นเป็นโจตอนรอบสุดท้ายมีเสียงกว้าง ชอบการตีความของเขา รักษาระดับเสียง การแสดงได้อย่างเป๊ะ บางคนอาจไม่เป๊ะแต่มีเสน่ห์ส่วนอื่นแทน เพราะการรักษาระดับที่ผู้กำกับกำหนดให้แต่ละคนจะทำได้ไม่เหมือนกัน พวกที่เชี่ยวเวทีมีสกิลเป็นมืออาชีพก็จะเป๊ะ แต่คนที่ยังใหม่หรือกังวลอะไรบ้างบางทีจะไม่เป๊ะ สมาธิมีทุกคนแต่บางทีมันมีการคลาดเคลื่อนเรื่องตำแหน่ง ไม่ตรงไฟบ้าง ถ้ามองภาพจากด้านคนดูอาจไม่ได้ feeling เท่ากับสิ่งที่วางเอาไว้แล้ว และเคยทำได้ เขาต้องมีชั่วโมงบินสูงถึงจะทำทุกอย่างได้เป๊ะ” 

 

 

ละครเพลงการแสดงเหมือนกับการพูดเพียงแต่มีทำนอง แล้วทำนองถูกคุมด้วยดนตรี บางครั้งพอความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเปลี่ยน ดนตรีก็เปลี่ยน บางทีมันเปลี่ยนนำ คนที่เป็นด้านดนตรีก็จะรู้ว่ามีอะไรบางอย่างซ่อนมาก็จะเปลี่ยนแอ็คตาม แต่ในละครพูดอาจจะออกมาในแอ็คชันอีกอย่าง ความคิดเปลี่ยน อารมณ์เปลี่ยน เจตนา และความต้องการของตัวละครเปลี่ยน

ช่วงเปลี่ยนนักแสดงต้องหาให้เจอว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยน พูดแต่ละประโยคร้องออกมาแต่ละประโยคเพื่ออะไร จะบ่นจะรำพึงอะไรออกมา การร้องเพื่อโต้ตอบกัน คือตัวขับดันอารมณ์ เพราะเพลงไม่ได้มาแค่เนื้อ แต่ดนตรี ทำนองนั้นมาหมดเลย

ซ้อมกันไม่นานพวกนี้มีทักษะเพราะอยู่ในคลาสเรียนอยู่แล้ว ฝึกอยู่แล้วทุกวัน มาถึงปั๊บก็ซ้อมเลย ยกเว้นเจอปัญหาอะไรบางอย่างก็จะใช้แบบฝึกหัดเฉพาะเรื่องแก้ไข เช่นฉากที่ตกลงไปในน้ำแข็งต้องสั่นแล้วพูด เสียงจะไม่ได้ เพราะไม่เคยตกน้ำในอากาศเย็น -33 องศาเซลเซียสขนาดนั้น ความทรงจำทางประสาทสัมผัสยังไม่มี เราต้องใช้วิธีอยู่ข้างหลังเขาแล้วดัน บอกให้เขาต้าน ขณะต้านร่างกายเกิดการเกร็งเหมือนต้านแรงดัน ลองพูดสิ แล้วจำความรู้สึกนี้เอาไว้ คนตกน้ำตัวจะเกร็ง เสียงถึงจะได้เหมือนคนตกน้ำแล้วสั่น นี่คือการแก้เป็นการโปรแกรมทางประสาทสัมผัส แล้วให้จำไว้ว่า tension ของร่างกายเป็นอย่างนี้นะ เวลาหนาวมากๆ จะพูดไม่ออก บางคนก็ทำได้ไม่เท่ากัน” 

 

 

การเคารพบท กับ วิธีตีความบท

ตัวอย่างบทที่ละเอียดละเมียดกับวิธีคิดบอกอารมณ์ความรู้สึกของคนสองวัย เมื่อต้องจัดการกับความโทมนัสขัดแย้งอย่างรุนแรงเรื่องสายสัมพันธ์สูงสุดของมนุษย์ ส่งผ่านสถานะของแม่กับลูก เมื่อโจโต้แย้งกับแม่หลังการตายของเบธ คำอธิบายของแม่บอกพื้นฐานการเลี้ยงดู ก่อนลูกสามารถอยู่แล้วสู้กับความจริงได้อย่างมีสติ

 

แม่ : ห้องใต้หลังคานี่เคยเป็นเหมือนที่พักใจของลูก ไม่ว่าลูกจะเศร้าหรือผิดหวัง ลูกจะวิ่งขึ้นมาที่นี่ ดันประตูเปิด และอีกสองสามชั่วโมงต่อมาก็กลับออกมาอย่างมีชีวิตชีวา แม่ไม่เห็นภาพโจที่เป็นแบบนั้นมานานแล้วนะ

โจ : หนูเขียนอะไรไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง แม่พูดถูก เมื่อก่อนหัวหนูแล่นคิดอะไรก็ได้ หนูเก่งมากเลยเรื่องนั้น เบธมักจะบอกหนูว่า พี่โจทำให้เมฆมลายหายจากท้องฟ้าได้ หนูอยากได้เบธคืนมา! หนูไม่น่าผิดสัญญาเลย หนูไม่น่าไปนิวยอร์กเลย… ถ้าหนูอยู่ที่นี่ต่อ…ทุกอย่างคงไม่เป็นแบบนี้

แม่ : หยุดเลยลูก! ไม่มีใครทุ่มเททุกอย่างให้เบธเท่าหนูแล้ว หนูเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้หรอก

โจ : แม่ทำได้ยังไงคะ? แม่ใช้ชีวิตต่อ ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ยังไง?

แม่ : ลูกคิดว่าแม่ใช้ชีวิตแบบนั้นเหรอ

โจ : แม่ทั้งแข็งแกร่ง ทั้งฉลาด ทำยังไงหนูถึงจะเป็นแบบแม่ได้? หนูจะแข็งแกร่งแบบแม่ได้ยังไง?

แม่ : อย่าพูดแบบนี้กับแม่เลยโจ แม่ไม่ได้ฝันถึงวันอันเศร้าหมอง แม่ไม่เคยคิดถึงเหตุผลให้รำพึงคร่ำครวญ แม่หวังว่าจะไม่ต้องรู้จักความใจสลาย แม่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ยังไง แม่ไม่ต้องการสิ่งใดอื่นนอกจากความดี แม่ต้องการเหตุผลเพื่อจะได้ยินดี ไม่ใช่ความว่างเปล่าเงียบงันนี้ แม่อยากได้วันอันชื่นมื่นสุขี แต่แม่ก็ปฏิเสธความรู้สึกเศร้าโศก แม่เจ็บปวดมากกว่าบาดแผลและความเศร้า มันจะต้องมีความหมายอะไรสักอย่างสิ ก็ในเมื่อชีวิตนี้ช่างแสนสั้น แม่ก็ต้องเรียนรู้บางอย่างเหมือนกัน แม่จะให้น้องเขาน้อยกว่านี้ได้ยังไง แม่ก็อยากให้เขาอยู่ต่อ แม่ก็อยากได้วันอันแสนสุขเหมือนกัน ลูกต้องมีความเชื่อ มีเหตุผลที่จะหวัง ลูกต้องมีความเชื่อว่าคำตอบมันจะมา ลูกจะยอมแพ้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แม่ไม่ยอมให้สิ่งนี้เอาชนะลูกไปได้ ลูกต้องสู้เพื่อให้น้องอยู่ในนั้น อยู่กับลูก จงเชื่อเถิดว่าเธอมีความหมาย จงเชื่อเถิดว่าเธอจะเป็นเช่นนั้นเสมอ น้องจะยังอยู่กับลูก น้องจะอยู่ในทุกวันที่ลูกต้องการจะพานพบ น้องจะอยู่ในทุกความอุดมสุขและความสำเร็จ น้องจะยังอยู่ถ้าลูกยังดำเนินชีวิตต่อไป จงก้าวต่อไป เต็มไปด้วยความหวัง น้องจะยังอยู่ที่นี่เพื่อวันที่งดงามของลูก

 

ฉากสำคัญนี้การตีความบทของนักแสดง ผู้กำกับต้องให้ระงับอารมณ์ เพราะอาจจะคอนโทรลเสียงสูงไม่ได้ ในเพลง “Days of Plenty” เพราะต้องประคองใจ

 

เสียงจะแกว่ง เพราะเพลงนี้ร้องยากมาก เวลาร้องต้องขึ้น peak คุยกับนักแสดงว่า ผู้หญิงคนนี้สามีอาสาไปทำงานช่วงเหตุการณ์สงคราม ต้องเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองถึงสี่คน คงไม่โอ๋ลูกหรอกแต่ละคนลิงจะตายไป มีความเป็นตัวของตัวเองสูง คงจะเลี้ยงแบบปล่อยๆ เวลาลูกทะเลาะกันเธอจะห้ามลูกยังไง เวลาลูกรู้สึกจิตตกเธอไม่โอ๋ลูกนะแต่จะพูดด้วยเหตุผล เป็นแม่ที่เข้มแข็งมาก ในยามสงครามบ้านเมืองไม่ได้อุดมสมบูรณ์อยู่เย็นเป็นสุขสักเท่าไหร่ ปากกัดตีนถีบกันพอสมควร เรื่องนี้ตัวละครจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ ทุกคนต้องเล่นแบบสนับสนุนโจเพราะเป็นเรื่องของโจ โจเป็นเจ้าของเรื่อง โจออกทุกฉาก อะไรที่ไม่เกี่ยวกับโจตัดออกไป เราอยู่กับโจ ไปกับโจตลอด โปรเฟสเซอร์แบร์คนรักได้ออกมาไม่กี่ฉาก แต่ก็เขียนจดหมายถึงกันตลอดตอนจบก็คลิกได้แต่งงานกัน” ผู้กำกับยืนยันแนวทางของวิธีตีความและการแสดง

 

 

Little Women ตัวละครทุกคนล้วน positive person ไม่มีตัวอิจฉา ไม่มีตัวร้าย แต่ทุกคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน เม็ก — พี่คนโตอยู่ใต้กรอบของสังคมวิคทอเรียนยุคศตวรรษที่ 18 หน้าที่คือแต่งงานออกเรือนและมีลูก เป็นค่านิยมที่ไม่ต่างจากขนบประเพณีชาวเอเชียซึ่งผู้หญิงมีหน้าที่หลักคือการเป็นแม่บ้าน

ในขณะที่ โจ หญิงแกร่งนอกกรอบ หัวก้าวหน้า มีความเป็นผู้นำสูง และเป็น feminist ที่ปฏิเสธการแต่งงานมาตั้งแต่ต้น เพราะเธอต้องการทุ่มเทเวลาให้กับครอบครัวที่รัก และงานเขียนที่เปี่ยมอุดมการณ์ต่อสังคมเกินหญิงยุคเก่า จนครูเฒ่าตามไม่ทัน ทุกคนมีวิถีของตัวเอง

เอมี่ — น้องน้อยสุดสวยแสนแสบ แอบเอางานเขียนโจไปเผา เพราะปีศาจเด็กผีมีปม รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีความสำคัญ ทำไมฉันได้แต่ข้าวของเหลือใช้จากพี่ๆ ที่ถูกส่งต่อกันมาตามประสาน้องเล็ก เอมี่จึงมีพี่เป็นแบบอย่าง พี่ทำอะไรฉันจะต้องทำให้ได้ เหมือนน้องอิจฉาแต่ผู้กำกับไม่ให้เธอแสดงเป็นตัวอิจฉา เพียงแค่น้อยใจ อยากเป็นคนพิเศษ แอ็คจึงออกไปทางขี้อ้อน สุดท้ายก็ได้แฟนเก่าของพี่โจไปครอบครอง

แม้กระนั้นสี่พี่น้องก็ผูกพันเหมือนชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤติคับขันเกิดขึ้นในครอบครัว โจต้องตัดผมขายช่วยค่าเดินทางให้แม่ไปวอชิงตันในวันที่พ่อป่วยหนัก ทำให้ป้ามาร์ช — ผู้อุปถัมภ์ใหญ่เปลี่ยนใจไปปั้นเอมี่เป็นสาวสังคมแทน ความเป็นตัวของตัวเองช่วยให้โจมีจุดยืนที่มั่นคงต่อความฝัน

 

 

ตัวอย่างซีนลึกซึ้งที่บอกความผูกพันพิเศษของสองพี่น้องโจกับเบธ ก่อนเบธตายเพราะโรคติดเชื้อแบคทีเรีย (Scarlet Fever) หรือที่คนไทยเรียก ไข้อีดำอีแดง ทั้งคู่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันที่ชายทะเล เบธให้โจฟังเสียงในหอยโบราณ บทต้องการสื่อว่า แม้เวลาผ่านไปกี่ร้อยกี่พันปีแต่บางอย่างยังคงอยู่เหนือกาลเวลา บทสนทนาบอกสายสัมพันธ์ผ่านสายใยในเสียงเพลง “Some things are meant to be” ที่ทั้งสองร้องร่วมกัน บอกบุคลิกพิเศษที่เป็นผู้หญิงแกร่งแต่อ่อนโยนของโจได้ชัดเจน

 

เบธ : “พี่โจ หนูมีอะไรจะให้พี่ แม่บอกว่าเปลือกหอยอันนี้มีอายุมากกว่า 1,000 ปี เลยนะ และหนูเชื่อว่าครั้งหนึ่งมันเคยมีชีวิตที่สุดยอดไปเลย ถ้าพี่แนบมันไว้ที่หูมันจะคุยให้พี่ฟัง”

โจ : มันบอกว่าอะไรเหรอ?

เบธ : “มันบอกว่าพวกเราโตกันเร็วเกินไป พี่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หนูภูมิใจกับพี่มากเลยพี่โจ”

โจ : “ตอนที่น้องเพิ่งเกิดมา ยังไม่ถึงชั่วโมงหนึ่งเลย พี่ก็บอกกับแม่ว่า ‘เบธเป็นของหนู’ ทุกคนมีคนพิเศษของตัวเองกันทั้งนั้น และพี่มีเธอ เบธที่น่ารักของพี่

แล้วทั้งคู่ก็ร้องเพลงด้วยกันในจินตนาการเสรีอย่างมีความสุข

เบธ - สมมุติว่าเราบินไปกับว่าวจินตนาการกันเถอะว่าเรากำลังบินไปในอากาศ

โจ - เราจะลอยสูงไปจนลับตา เบาเหมือนกระดาษ เราจะลอยละล่อง

เบธ - โลดแล่นไปให้สูงเหนือพื้นทราย สัมผัสสายลม ให้โลกก้มรับคำสั่งเรา

มารื่นรมย์ชื่นชมทิวทัศน์และดินแดนแสนไกล

โจ&เบธ - ล่องเรือไปกับสายลมสราญ ผ่านวันวานที่อยู่ใต้บงการของเราเท่านั้น

นั่นคือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่

เบธ : “หนูขอบอกความลับพี่หน่อยได้ไหม? หนูไม่เคยวางแผนเลยว่าหนูอยากจะทำอะไร ตอนหนูโตขึ้นแล้วหนูก็ไม่กลัวที่จะตายด้วยนะ แต่สิ่งที่ยากที่สุด คือการที่หนูจะต้องจากพี่ไป” 

 

 

บอกห้ามเล่นเศร้าเพราะตัวละครไม่เศร้า ตัวละครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ยิ่งเล่นเข้มแข็งคนดูยิ่งเศร้า แทนที่จะทำท่าใกล้ตายเลยบอกไม่ใช่ เธออย่าฉลาดเกินตัวละคร คือข้อระวังของละครเรื่องนี้เลย ตัวละครไม่เศร้าตัวละครเข้มแข็ง มันพูดให้กำลังใจกัน ซีนมันก็จะซึ้งเอง แต่ถ้าเศร้าทั้งสองคนซีนมันก็จะหมองๆ คือต้องคิดอย่างตัวละครว่า ตัวละครพยายามจะทำอะไรพูดเพื่ออะไร แล้วคนดูฉลาดคนดูเห็นเองอยู่แล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นความซึ้งจะตกอยู่ที่คนดู

อย่าแสดงโศกซึ้งจะตายอยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องทำพยายามป่วย ทุกอย่างต้องปกติมาก หลักการของ acting คือ ทำไมคนเราถึงร้องไห้ ทำไมถึงสะอื้นเพราะเราพยายามจะไม่ร้อง พยายามสกัดกั้นที่จะร้องถึงสะอื้น ไม่มีใครเอ็นจอยการร้องไห้หรอก นอกจากละครทีวีที่ทำปากสั่นระริกน้ำตาตกแล้วให้กล้อง close คือจะอวดอารมณ์ร้องน่ะ อย่าอวดอารมณ์ เพราะนั่นเรื่องของคนดู ไม่ใช่เรื่องของนักแสดงเลย หน้าที่ของนักแสดง คือ ตัวละครอยู่ในภาวะใด คือต้องทำอย่างนั้น (วิธีการสวนทางกัน ทั้งที่ละครเวทีคนดูอยู่ไกล กลับเล่นน้อย แต่ทีวีกล้อง close มากไปช่วยให้ใกล้เกินพอดี) มนุษย์ไม่ร้องโชว์ คนปกติไม่ทำอย่างนี้ ดูเหมือนป่วยทางจิต ซึ่งก็จะเหมาะกับประเภทของสื่อนั้นนะ ว่าต้องการจะสื่ออะไร มีคนชอบดูแบบนี้ ขึ้นอยู่กับผู้กำกับ อยากโชว์แบบไหนก็โชว์ได้ เราไม่ต่อต้านกัน” — ครูบิ๊กกำกับกล่าว

 

 

หลักคืออย่าเล่นแค่จุดแข็งของตัวละคร หาด้วยว่าแต่ละปมเป็นยังไง ทำไมพูดประโยคนี้ออกมา นิสัยจริงๆ เป็นยังไง ซึ่งแต่ละคนก็จะตีความแล้วมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่มีการตีความที่เป็นหลักคล้ายกันอยู่ วิธีการแสดงออกในวิสัยและลีลาการแสดงจะแตกต่างกันแต่ละคน ทุกคนทุกแคสต์ เช่น ตัวละครโจนางเอกที่มีความทโมน แต่จะทโมนกันคนละแบบ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหรือเลียนแบบกัน มี blocking (การเคลื่อนไหวในตำแหน่งที่จัดวาง) ที่ขอให้เหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องจังหวะเดียวกัน

การตีความตัวละครเราจะสังเกตจากบทที่มีอยู่ เป็นคนยังไง นิสัยยังไง ผมอ่านบทเฉพาะช่วงก่อนกำกับ ช่วงกำกับจะไม่เปิดบทเลย นั่งฟังอย่างเดียว ก่อนแสดงจำเป็นต้องอ่านนิยายไหม อ่านก็ได้ ไม่อ่านก็ได้ ดูแค่บทละคร บทบอกว่าอะไร ประโยคนี้บอกว่ายังไง อย่าเชื่อตัวหนังสือ บอกมีความสุขซึ่งอาจจะไม่สุขจริงก็ได้ คิดว่าพูดเพื่ออะไร เล่นที่เจตนาตัวละคร อย่าเล่นตามตัวหนังสือ อย่างนี้จะเป็นการไม่เคารพบทไหม? เคารพบทกับการตีความออกมันคนละเรื่องกันนะ การเคารพบทไม่ได้แปลว่าให้ตีความตามตัวหนังสือ แต่คือต้องดูบริบทของทั้งเรื่อง ดูเฉพาะบทของตัวเองไม่ได้

“สี่ดรุณีกับบริบทของสังคมไทยในเนื้อหามันอาจเชยไปแล้ว ในมุมปัจเจกที่ไม่ได้เป็นเรื่องยากประเด็นใหญ่ในสมัยนี้เลย พูดถึงเรื่องความฝันที่ต้องทำให้ได้ มีอุปสรรคในชีวิตพี่น้อง ความไม่เข้ากันเป็นเรื่องใกล้ตัวหมดเลย เราจะรักษาความฝันของเราไปได้ยังไง แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้คลาสสิกแล้วอยู่มานานคือเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว อินเนอร์ในความเป็นมนุษย์แค่นี้เลย แล้วบทละเอียดกับจุดนี้มาก มาจากเล่มภาษาอังกฤษ พอแปลเป็นภาษาไทยที่มีวรรณยุกต์ถอดเป็นเพลงจะยาก แล้วคนดูจะต้องใช้พลังกับมันเยอะหน่อย เรานำเพลงต้นฉบับมาร้องทั้งหมดเลย นักศึกษาที่นี่จะภาษาอังกฤษดีอยู่แล้ว งานนี้อาจไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่นักศึกษาได้เรียนรู้แล้วว่าละครเล่นอย่างนี้ ไม่ใช่เจอบทเล่นตามบทเจอเพลงพ่นตามเพลง ถ้าทำอย่างนั้นมันคือการอ่านหนังสือ ออกเสียงตามปกติเท่านั้น

 

 

การใช้วรรณกรรมไทย หรือการดัดแปลงเรื่องของต่างประเทศให้เป็นบริบทไทย

“Little Women The Broadway Musical” สามารถทำให้เป็นบริบทไทยก็ได้ เพียงแต่เงื่อนไขบางอย่างต้องแก้ เช่น พ่อไม่อยู่แล้วไปไหนล่ะ เราไม่มีสงครามไง ถ้าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสอง ไปทำอะไร อยู่แถวไหน ต้องคิดอะไรอย่างนี้อีก งานเต้นรำเหรอก็ไม่มี สถานที่เดียวที่เจอผู้ชายได้คืองานเต้นรำ ถ้าเปลี่ยนเป็นงานสงกรานต์ก็ไม่สวย มันมีหลายอย่างที่เป็นเรื่องจารีตเฉพาะถิ่นของเขา

คุณดาเรนผู้ออกแบบท่าเต้นแบบประเพณีฉากก่อนไปงานเต้นรำบอกให้ว่า “เจอกันทำยังไงจับมือแบบไหน ทุกอย่างมันมีความหมายอยู่ในท่าเต้น ก่อนเต้นรำมองหน้ากัน มองครั้งที่สองมีสัญญาณบางอย่างที่เข้าใจกัน สมัยนั้นผู้ชายเป็นใหญ่มีที่มาด้านวัฒนธรรมหมดเลย ท่าเต้นหมุนตัว ผู้ชายจับผู้หญิงหมุนเพื่อตัวเองจะได้ดูรูปร่างผู้หญิง ไม่ใช่แค่ท่าที่หมุนนะ ถ้ามองซ้ำแสดงว่าโอเคไปต่อจีบได้ เป็นสัญญาณที่รู้กันในสังคมไม่ออกนอกหน้า หรือเผลอชี้หน้าด้วยความเคยชินก็ไม่ได้ถือว่าหยาบคาย ซึ่งดูเถื่อนมากสำหรับฝรั่ง

สิ่งเหล่านี้นักแสดงต้องเรียนรู้ทั้งหมดเพราะเรื่อง mannerism (มารยาท) ที่ต่างกัน อากาศหนาวจากข้างนอกเข้ามาในบ้านสิ่งแรกที่ต้องทำคือถูมือ คือรายละเอียดที่ต้องเล่นไปด้วย การจับเนื้อต้องตัวจะไม่ทำถ้าไม่สนิทกันจริงๆ เขามีอาณาเขตของตัวเอง หรือการ shake-hand ในเรื่องนี้ก็ไม่มี มีแต่การกอด ซึ่งก็มีท่าทีที่ต้องทำให้ไม่อึดอัดแต่ต้องอบอุ่น อาจารย์ดูก (อ.นพีสี เรเยส Napisi Reyes : Dramaturg สอนกำกับการแสดง เขียนบท ประวัติศาสตร์ละครเพลง สัมมนาละครเพลง) จะคอยสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง period ให้ผม จะประกบกันตลอดเหมือนครูแนะแนว เช่นเรื่องสภาพสังคมในแต่ละช่วงเวลาอยู่กันยังไงบ้านช่อง มาช่วยเติมความรู้ให้ในเรื่องดนตรีด้วย ท่วงทำนองแบบนี้แปลว่าอะไร อย่างบางช่วงดนตรีมีจังหวะ March (เพลงเดินทัพ เดินแถว เข้าขบวน) ขึ้นมา อ๋อ ตัวละครคิดถึงพ่อซึ่งอยู่ในกองทัพ ซึ่งในบทไม่ได้เขียนแต่ดนตรีมันมาแล้วในระหว่างช่วงร้อง (Motive) การกำกับ Musical ต้องฟังเพลงด้วยเพราะบทไม่ได้อยู่ในตัวหนังสือ แต่อยู่ในเพลง” 

 

 

แม้ผู้ชมจะเห็นว่า สี่ดรุณี ดีสมบูรณ์แล้ว แต่ผู้กำกับยังมีจุดที่เห็นว่าควรแก้ไขเพิ่ม

 

“เรื่องการแสดงยังทำได้อีกในรายละเอียดของความเข้าใจในแต่ละห้วงเวลาที่ยังไม่สุดดี ได้มาตรฐานแล้วในระดับหนึ่ง จริงๆ มีรายละเอียดกว่านี้อีกเยอะ อย่างโจ การเล่นกับจังหวะดนตรีหรือท่วงทำนอง (motive) จะขึ้นหรือลงก็ตามคือ บท ทั้งหมดต้องตีความด้วยว่า mood อารมณ์เพลงตรงนี้ ความคิดตัวละครหรือท่าทีของตัวละครเปลี่ยนไปยังไง ต้องให้ตรงกัน ซึ่งในบทไม่ได้บอก แต่ผู้กำกับต้องช่วยตรงนี้ ต้องหาให้เจอว่าดนตรีที่เปลี่ยนไปอยู่ๆ ก็ฟูขึ้นมามันแปลว่าอะไร ตัวละครจะทำอะไรได้บ้าง มีรายละเอียดตรงนี้อีกเยอะมาก

เซตนี้เป็นนักแสดงที่เชี่ยวอีกระดับ เข้าใจ motive เพราะฉะนั้นเขาจะเล่นทุกเม็ดเลย แม้กระทั่งท่าชก พยักหน้า จะต้องลงจังหวะทั้งหมด รายละเอียดของเสียงดนตรีทำไว้หมดแล้ว อยู่ที่หาเจอหรือเปล่า บางทีผู้กำกับหาเจอแต่ไม่มีเวลาทำแล้ว หรือนักแสดงเจอแต่จังหวะไม่ได้ก็ไม่ได้งับ บางช่วงเปลี่ยนเสื้อผ้าไม่ทัน มี dead air นิดหนึ่ง ข้างหน้าพูดจบปั๊บข้างหลังต้องออกพอดี มันอาจติดขัดอยู่หลังฉาก อันนี้คือเรื่อง acting ที่อยากทำเพิ่ม ถ้ามีเวลาอีกสักสองอาทิตย์ก็จะสมบูรณ์มากขึ้น

เราซ้อมมาสองเดือน ผมไม่ชอบซ้อมนานบางทีมันช้ำ นักแสดงเหนื่อย ไม่มีอะไรก้าวหน้าเยอะ ควรอยู่ในห้วงเวลาประมาณนี้ แต่นักแสดงต้องทำการบ้านมาไม่ต้องรอผู้กำกับสั่ง พวกนี้เขาทำการบ้านมา ทักษะดีอยู่แล้วก็เลยเร็ว เราเลยทำงานได้ตามกำหนด เขามาสายดนตรีไงไม่ใช่สายแสดงต้องใส่เพิ่มให้ สายการแสดงจะเข้าใจรายละเอียดเรื่อง beat แต่จะไม่เข้าใจดนตรี มีน้อยคนนะที่มีสามอย่างครบ ร้อง เล่น เต้น performing arts มีหลักใหญ่สามอย่าง music, drama และ dance ละครเพลงคือสิ่งที่รวมสามอย่างเข้าด้วยกันในงานชิ้นเดียว คนที่ทำได้ครบคือ รัดเกล้า คนนี้เต้นเก่งมากเพราะเทรนมา แต่ไม่ค่อยมีใครให้เต้น เพราะเรียนร้องเพลงเรียนเต้นมาแต่เด็ก เล่นดนตรีก็ได้” (รัดเกล้า อามระดิษ : อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

 

พื้นที่ของงานศิลปะ คือพื้นที่ของประชาชน

 

ยากนะถ้าจะบอกว่าอยากได้พื้นที่สำหรับงานศิลปะก็ต้องเริ่มอีกว่า แล้วใครบริหารพื้นที่ล่ะ คนของรัฐ หรือของเอกชนที่เป็นพวกของใคร ถ้าคนของรัฐบาลมาบริหารพื้นที่ก็ไม่เอานะ ทำไม่เป็นก็อย่าทำ ไม่ใช่ใครก็ได้ ต้องเป็นคนที่เข้าใจ แล้วคนที่เข้าใจก็ต้องดูว่าใจกว้างพอไหม ในการที่จะมีศิลปะทุกอย่างให้อยู่รวมกัน สมมุติจะมีโรงละครในหอศิลป์ การบริหารงานไม่ใช่จะเอาแต่ที่ตัวเองชอบ วันนี้กล้าพูดเลยว่าหอศิลป์หรืออะไรก็ตามถ้าเป็นของรัฐหรือกึ่งของรัฐ ‘ถ้าฉันมีหน้าที่ดูแลที่นี่ฉันก็จะรวบรวมแต่งานที่ฉันชอบ’ อาจจะมีผลประโยชน์ หรืองานที่คิดว่าจำเป็นอะไรก็ตาม แล้วลืมคนอีกกลุ่มหนึ่ง ยกตัวอย่างงานต่อให้มีคุณค่ากับสังคมแค่ไหนร่วมสมัยแค่ไหน ถ้าคุณลืมเด็กหรือครอบครัวก็ไม่ได้นะ ประชาชนตาดำๆ ซึ่งบางทีเขาไม่รู้จัก art แต่เขาน่าจะเข้ามาในหอศิลป์หรือโรงละคร คุณลืมเขาไม่ได้นะ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำงานที่คุณชอบ งานที่ขับเคลื่อนสังคมหรืออะไรก็ตาม แต่เด็กที่เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่คุณลืมเขาไม่ได้ มีแต่งานร่วมสมัยโคตรดีเลยแล้วงานเด็กอยู่ไหนล่ะ หรืองานที่เด็กกับครอบครัวเข้ามาแล้วรู้สึกแปลกแยก วันหน้าเขาก็ไม่เข้ามา มีแต่อะไรไม่รู้เครียดว่ะ ประหลาดว่ะ พอเขาไม่มาเหยียบเราก็จะสูญเสียคนพวกนี้ไป หอศิลป์หรือโรงละครน่าจะเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนเลย พูดแล้วก็อยากด่าคือมันไม่ทั่วถึง ก็รู้นะว่าประเทศเราไม่ได้รวย ความคิดส่วนตัวผมนะ art เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเรื่องจิตใจและวิญญาณคนก็จริง แต่ถ้ายังมีคนหิวอยู่ บางทีไม่ต้องมาให้ art ก่อนก็ได้ เอาไปให้คนที่จำเป็นเฉพาะหน้าหรือเรื่องฉุกเฉินก่อน เราโอเคหมด art ไม่เป็นไรฉันอยู่ได้ ไม่ต้องเจริญตอนนี้ก็ได้ รออีกหน่อยได้ หรือไม่ต้องรอตายไปก่อนก็ได้ แต่พวกคุณอย่าเอางบไปกินกันเองนะตรงนี้สำคัญมาก

 

 

“เรายังมีความไม่ลงตัวในการมีชีวิตอยู่เยอะ บางทีเราก็ไปอยู่ในท่ามกลางกลุ่มคนที่เหมือนมีเจตนาดี สมมุติว่ามีสถานที่แห่งหนึ่งแล้วบอกว่าที่นี่ดีจังเลย ทุกคนน่าจะเข้ามาใช้ได้ เป็นที่ของทุกคนเข้ามาดูงานศิลปะ มาดูละคร ฯลฯ แต่มาบอกว่าที่นี่ควรจะมีแค่งานใหญ่ๆ ลง เพื่อเป็นหน้าตาของประเทศชาติ แต่คนกินข้าวแกงห้าบาทสิบบาทเข้าไม่ได้ ก็ไม่ถูกนะ เอาเงินใครสร้างล่ะ ถ้าไม่ใช่คนกินข้าวแกงห้าบาทสิบบาท เขาไม่มีสิทธิ์มีส่วนร่วมเหรอ หรือว่างานนี้ต้องมีแต่ปัญญาชนเข้า แล้วคนที่ไม่ใช่ปัญญาชนไม่ใช่คนเหรอ ถึงเขาไม่ศึกษาวันนี้ ถ้าให้โอกาสเขาก็โตขึ้นเอง ค่อยๆ ซึมซับ ไปให้เขารู้สึกว่าอยากจะเข้ามาก็จะดีขึ้นเอง แต่ทันทีที่มีพวกแบบนี้ เขาก็กลัวที่จะเข้ามาแล้วกลายเป็นคนโง่ เจอแบบนี้เรื่อยๆ จนช่างเถอะ… ต้องพึ่งปาฏิหาริย์ว่าเขาคงจะใจกว้างพอ เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ รู้สึกว่ามันเกินฤทธิ์เกินอำนาจที่จะทำได้”

 “ถ้าเป็นเรา ทักษะงานบริหารอาจจะไม่ดี แต่ถ้าเรามีพื้นที่สักแห่ง พื้นที่ของเราต้องเป็นมิตรกับทุกคน ใครก็เข้ามาได้ ทุกชนชั้น ทุกฝ่าย ไม่ว่าคุณจะเป็นกี่นิ้วชูมาก็แล้วแต่ พวกไหนเข้าได้หมด อย่าไปคุกคามคนอื่นที่เขาไม่เหมือนเรา ถ้าเขาอยากเข้ามาบ้างก็ให้เขาเข้ามา มันถึงจะเป็นที่ของทุกคนได้ แล้วมีพื้นที่ให้งานทุกประเภท ถ้าเป็นเอกชนก็จะกังวลเรื่องภาพลักษณ์ ตำแหน่งทางการตลาดอีกวุ่นวาย ถ้าเป็นของรัฐใครจะมาบริหาร เหนือผู้บริหารคนนี้จะมีคนไหนขึ้นไปอีก เมื่อก่อนอยากทำโรงละครเพราะคิดว่าจะทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้ หรือให้คนอื่นมาทำก็ได้ แต่พอนึกถึงการที่จะให้มันอยู่อย่างยั่งยืนนี่คือเรื่องใหญ่กว่าการสร้าง มีเงินสร้างแป๊บเดียวก็เสร็จ แต่การจะอยู่ต่อยากมาก ตอนนี้ไม่อยากทำแล้ว เหตุผลง่ายๆ ข้อเดียวเลย หาเงินซ่อมบำรุงยากมาก เป็นเรื่องของการดูแลซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งมันต้องดูแลอยู่เรื่อยๆ ดูแลคนอีกด้วย ตัดสินใจให้เป็นวาระ เราพยายามจะไปทุกที่ ทำให้สถาบันข้างนอก โรงเล็กบ้าง หอศิลป์บ้าง สร้างคนก็เท่าที่เราสร้างได้  ให้เป็นไปตามธรรมชาติ หว่านเมล็ดลงไปจะงอกหรือไม่งอกก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ได้หวังอะไรสูงมาก”

 

 

อาจารย์นพีสี เรเยส Napisi Reyes : Dramaturg

สอนกำกับการแสดง เขียนบท ประวัติศาสตร์ละครเพลง สัมมนาละครเพลง เป็นที่ปรึกษาด้านการละคร ให้ความเห็นเรื่องนโยบายหลักของมหาวิทยาลัยว่า

 

“โดยหลักสูตรอยากให้เด็กที่จบแล้วไปทำงานที่ไหนก็ได้ จะอยู่เมืองไทย หรือจะเดินทางไปออดิชันที่ต่างประเทศก็ได้ จึงเน้นการฝึกภาษาอังกฤษ หลักสูตรของเรามักมีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนด้วย เลยทำโปรดักชันเป็นภาษาอังกฤษกันเป็นประจำ แต่ละปีก็จะซื้อลิขสิทธิ์ละครเพลงบรอดเวย์มาทำโปรดักชัน สำหรับปีนี้ ซื้อ Little Women มาเพราะอยากให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย คราวที่แล้วเราทำ chorus line เป็นละครเพลงที่เต้นหนักมากไม่ลืมหูลืมตา เด็กก็ได้ฝึกเต้นอย่างหนัก พอมาปีนี้ เลยอยากให้นักศึกษาได้สัมผัสกับละครที่เน้นการแสดง รู้จักการวิเคราะห์และเข้าถึงตัวละคร เด็กๆ เราโชคดีที่มีวงดนตรีซึ่งก็เป็นนักศึกษาเหมือนกัน ลงทะเบียนเรียนเป็นวิชาเรียนเหมือนกัน มาบรรเลงให้ มีอาจารย์ธนพลซึ่งเป็นวาทยกรที่เก่งมากมาควบคุมดูแลให้ เราสร้างละคร (โปรเจ็กต์ใหญ่) เพียงปีละเรื่อง งบประมาณต้องใช้อย่างประหยัด งบประมาณมาจากวิทยาลัยส่วนหนึ่งผสมกับสปอนเซอร์และผู้ปกครอง และ ผู้ชม”

นอกจากจะซื้อลิขสิทธิ์บรอดเวย์มาทำแล้ว การสร้างสรรค์ใหม่เป็นบทละครเพลงไทยออริจินอลจริงๆ ก็จำเป็นเหมือนกัน ต้องพยายามทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ ในอนาคตเราอาจจะมีสลับเป็นละครเพลงไทยบ้าง ตอนนี้ก็มีการทดลองทำละครเพลงไทยเรื่องเล็กๆ จัดในสตูดิโอขนาดเล็กเอาไปแสดงในเทศกาลละครบ้าง ในเมืองบ้าง เป็นเชิงทดลอง แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เข้าเมืองทีก็มีค่าใช้จ่าย ค่าขนของ ค่ารถ ค่าโรงละคร ฯลฯ แต่ก็ยังอยากทำ มีหลายอย่างที่ต้องคิด อยากทำเทศกาลละครเพลง อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือเปิดการแสดงกับต่างประเทศ อยากให้ละครเพลงแผ่ขยายออกไปมากกว่าอยู่แค่ในเมืองไทย

 ตอนนี้เด็กที่จบสาขาละครเพลงที่ออกไปทำละครเวทีจริงๆ ยังมีจำนวนน้อย อาจเป็นเพราะเราเป็นสายดนตรี ส่วนมากจะไปเป็นนักร้อง เป็นครูสอนขับร้อง สอนดนตรี เป็นนักเต้น อะไรแบบนี้มากกว่า”

ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ด้านดนตรีเจริญก้าวหน้าดีขึ้นเรื่อยๆ เรามีศิษย์ที่เก่งมาก เรามี Pre-college (YAMP-Young Artists Music Program ระดับมัธยม) ที่เข้มแข็งมาก บางคนก็เรียนต่อที่มหิดล บางคนก็ไปต่อต่างประเทศได้เลย มีพรสวรรค์มีฝีมือที่เขายอมรับได้ง่ายๆ ได้ทุนด้วย เราผลิตคนเก่งระดับโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โอเปราก็ไปประกอบอาชีพในต่างประเทศได้ ออสเตรเลีย เยอรมัน อเมริกา ได้งานเป็นมืออาชีพไปเลย สายละครก็มีแต่ไม่มาก ดุริยางคศิลป์เพิ่งจะ 20 ปีกว่า ครูดูกมาสอนได้ 10 กว่าปี อยากเห็นการสนับสนุนจากรัฐเหมือนเกาหลี ที่เคยไปดูงาน รัฐจะขายของให้เลย ทำโบรชัวร์ จัดการแสดง เป็นสปอนเซอร์ให้ เชิญต่างประเทศมาดู กลายเป็นวัฒนธรรมส่งออก คนไหนได้ไป รัฐก็มีทุนให้อีกต่างหาก หรืออย่างเทศกาลละครเพลงที่เราเคยไปแสดงที่เกาหลี (เรื่อง Amelia, The Mystery of 157-337 The Musical เมื่อปี 2019) ผู้จัดเทศกาลเขาก็ดูแลการเดินทาง ที่พัก อาหารทุกสิ่งให้เราหมดเลย เพราะเขาพร้อมที่จะเรียนรู้จากต่างชาติด้วย”

 

 

พิชญะ เขมะสิงคิ : หนึ่งในทีมอาจารย์ประจำภาควิชาขับร้องและละครเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

“เนื้อหาเวอร์ชันมิวสิคัลค่อนข้างตรงกับต้นฉบับที่เป็นนวนิยายมากๆ ครับ ซึ่งรักษาเอกลักษณ์ ความคลาสสิกของโครงเรื่องและวรรณกรรมไว้ได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับมิวสิคัลหลายๆ เรื่องที่มีการดัดแปลงเนื้อหาจากต้นฉบับ

การแสดงในเรื่องนี้มีความดรามาสูงมาก ในแง่ของ เนื้อหา การตีความ/สื่อสาร การถ่ายทอด/เล่าเรื่อง การเข้าถึงตัวละคร และแทบจะไม่มี dance routine เท่าไหร่นัก แต่เน้นเรื่องทักษะการแสดงและการร้องเป็นอย่างมาก ซึ่งนักแสดงทุกคน ทุกแคสต์ทำได้ดีมากๆ

ดนตรีในเรื่องนี้ไพเราะมาก มีความยากและท้าทายสำหรับผู้ร้องมากๆ ทั้งในแง่ของการประพันธ์ดนตรีที่มีโครงสร้างแบบดนตรีคลาสสิกเยอะมาก ซึ่งทำให้ mood & tone ของดนตรี ยิ่งส่งเสริมไปกับเนื้อเรื่อง ทำให้องค์ประกอบทั้งหมด สมบูรณ์มากขึ้น”

 

 

Little Women The Broadway Musical” ยึดตอนจบแบบ happy ending ตามบทของบรอดเวย์ เพราะแนวทางของละครที่ขึ้นบรอดเวย์คือความบันเทิง (Feel good and Edutainment) สนุก แฝงสาระให้เรารู้สึกสนานอยากสานต่อได้ข้อคิด โดยใช้ความรู้สึกร่วมในอารมณ์ขันและความสุขมาเป็นตัวนำเพื่อดึงความสนใจก่อน ไม่ต่างจากวิธีปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ที่ควรเริ่มต้นด้วยแนวที่สนใจไม่ต้องคิดหนัก เช่น นิยายเริงรมย์ ก่อนพัฒนาไปตามเวลาและประสบการณ์ชีวิต ที่จะช่วยให้มีวิธีคิดและทัศนคติกว้างตามแนวทางที่ชอบมากขึ้น เป็นวิถีธรรมชาติที่การตลาดยึดเป็นคัมภีร์อมตะ เรื่องที่มีสาระหนักจึงจัดเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความสุขกับการลับสมองลองปัญญา การเปิดปลายเรื่องตอนจบแบบให้คิดเองว่าตัวเอกของเรื่องจะมีชีวิตต่อไปยังไงนั้น คือความหฤหรรษ์เกินบรรยาย มีความหมายเหมือนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อที่เสพ ไม่ว่าจะเป็น นิยาย ภาพยนตร์ หรือละครเวที ทั้งสองกลุ่มผู้ชมที่ความคิดต่างไม่ได้มีส่วนสร้างความแตกแยก เพราะ broadway คือ hollywood ของละครเวที ที่ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับความสุขอย่างเท่าเทียมแม้คิดต่างตามวิถีทางแห่งตน แต่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ร่มแห่งความรัก “Small Umbrella In The Rain” เพลงที่โจร้องคู่กับผู้ที่เป็นทั้งที่ปรึกษาในงานเขียนและคนรัก เขาคือ Professor Bhaer เพลงส่งสารออกมาเป็นซีนหวานสราญใจในฉากสุดท้าย ซึ่งมีความหมายเชิงสัญลักษณ์มากมาย เหมือนทุกเพลงใน “Little Women The Broadway Musical” แม้ใครไม่สนใจจะแปลความก็ได้แง่งามตามหน้าที่ของสุนทรียศิลป์ ทั้งคีตศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง

Professor Bhaer - ถ้าผมบอกว่าฝน คุณจะบอกว่าตะวัน ถ้าผมพูดว่า ใช่ คุณจะพูดว่า ไม่ เหมือนเราจบกันตั้งแต่ก่อนจะเริ่ม เราเถียงกันได้แม้กระทั่งคำว่า สวัสดี
ถ้าผมบอกว่า มาอยู่ในร่มด้วยกันสิ
Jo - ฉันก็จะตอบว่า ใครสนว่าจะเปียกปอนกัน
Professor Bhaer - เราสองต่างกันเหมือนกลางวันและกลางคืน
Jo - ไม่ เราสองต่างกันเหมือนหน้าหนาวและฤดูใบไม้ผลิต
Professor Bhaer - เราทะเลาะกันบ่อยๆ
Jo - เราเห็นต่างในทุกๆ อย่าง
Professor Bhaer - แต่ว่า … คุณทำให้ผมยิ้ม ทำให้ผมหัวเราะ ทำให้ผมเป็นห่วง
ภายในใจผมรู้สึกเจ็บปวด เมื่อไม่มีคุณ ถึงแม้ว่าเราจะไม่เหมือนกัน แต่คุณทำให้ผมมีความสุข ถ้าเรามีสิ่งเล็กน้อยที่เหมือนกัน ความรักก็เหมือนร่มคันน้อยกลางพิรุณ

แตกต่างทางความคิดไม่ใช่ปัญหาของชีวิตและการอยู่ร่วม ความรัก จะหลอมรวมให้เราเป็นหนึ่งเดียว

 

 

หมายเหตุ :

  • ภาพประกอบได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • ภาพประกอบโดย Music Theatre Mahidol และ Jira Angsutamatuch