Focus
- วงการภาพยนตร์ไทยในยุคสมัยใหม่ ยังคงเผชิญกับวิกฤติของการควบคุมและกำกับ มากกว่าการส่งเสริมจากรัฐ ผ่านคณะกรรมการเซนเซอร์ตรวจสอบหลายเรื่องประเด็น ทั้งด้านศาสนา จริยธรรม ฯลฯ ที่มีหลักเกณฑ์คลุมเครือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพบปัญหามาตรฐานในการเซ็นเซอร์ของคณะกรรมการฯหลายกลุ่ม
- ความพยายามของผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในการช่วยตนเองเพื่อผลิตหนังที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมยังคงดำเนินต่อไป พร้อมแบกรับความเสี่ยงของการขาดทุน การถูกจัดเรตหนัง และการถูกเซ็นเซอร์ให้ต้องปรับแก้หลายจุดและหลายตอนของหนังหลายเรื่อง ในขณะที่รัฐหยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้ แต่มิได้ตรงจุดแห่งความจำเป็นเท่าที่ควร ด้วยข้อจำกัดของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ 2551 กฎกระทรวงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และความล่าช้าของรัฐบาลและระบบราชการในกระทรวงวัฒนธรรมที่รับผิดชอบนโยบายและการพัฒนางานด้านนี้
- หลากทัศนะประชาพิจารณ์ต่อ “ทิศทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” และประสบการณ์การต่อสู้ของหนังไทยร่วมสมัย อาทิ โดยผู้สร้าง ผู้ชม สื่อมวลชน และฝ่ายการเมือง นำเสนอทิศทางของการปรับปรุงเชิงนโยบายและการปฏิบัติเพื่อนำพาการผลิตหนังไทยให้ตอบสนองยุคสมัยแห่งอนาคต จากข้อเสนอเหล่านั้น ผู้เขียนสนับสนุนในประเด็นต่อไปนี้ (1) รัฐสวัสดิการสำหรับอาชีพอิสระ อันรวมถึงทีมงานฝ่ายผลิตภาพยนตร์ไทย (2) ยกเลิกกฎการเซนเซอร์ภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้สร้างคิด-ทำงานอย่างมีอิสระภาพ (3) จัดตั้งสถาบันฝึกอบรมบุคลากรด้านการผลิตภาพยนตร์ เช่น นักออกแบบ นักแสดง เขียนบท กำกับ ฯลฯ เพื่อให้โอกาสและสรรหาผู้ที่มีศักยภาพอย่างเปิดกว้าง (4) ส่งเสริมการส่งประกวดหนังในต่างประเทศ เพื่อเปิดตลาด เปิดโอกาสทางธุรกิจ (5) ส่งเสริมวัฒนธรรมการดูหนัง และปรับปรุงการเสพสื่ออย่างเข้มแข็ง 4 มิติ ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการศึกษาวิชาศิลปะ โรงหนังชุมชน ระบบของโรงภาพยนตร์และรอบฉาย และการจัดระเบียบการให้ทุนทำหนัง
22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน พฤษภาคม 2566 นับเป็นวิบัติการเมืองไทยในยุครัฐประหาร ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงไม่ต่างจากวิกฤติของวงการภาพยนตร์ไทย ที่อุณหภูมิความร้อนเพิ่มระดับเหมือนจะไล่ขับภาวะโลกละลาย หลายปัจจัยที่เป็นปัญหาหมักหมม โดยเฉพาะคู่ข่มตลอดกาลระหว่างผู้สร้างกับกองเซนเซอร์ ที่เผลอไม่ได้เหมือนจ้องจะฆ่าให้ตายกันไปข้าง มีตัวอย่างหลายเรื่องที่ดาหน้ากันมาล้วนประเด็นศาสนา จริยธรรม ฯลฯ โดยมีหลักเกณฑ์ที่เกิดความคลุมเครือ เจือวิจารณญาณที่ไร้มาตรฐานของคณะกรรมการฯ หลายกลุ่ม ซึ่งล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุน วิ่งวุ่นต่อเนื่องในปี 2558 ค่ายใหญ่รวมยักษ์อย่าง GTH ช็อกวงการด้วยอวสานพันธมิตร จาก Grammy - Tai Entertaiment - Hub ho hin ติดปีกบินสู่อาณาจักรใหม่ GDH 559 Co., Ltd (จากการรวมตัวของ บ.จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด : บ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ บ.หับโห้หิ้น บางกอก จำกัด) จัดเป็นผู้สร้างบัญญัติใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ไทยในยุคปัจจุบัน ที่ฝันไกลใจถึงพึ่งได้
ย้อนไปในงาน “เทศกาลภาพยนตร์ไทย” หนึ่งในกิจกรรมของ “เทศกาลไทยในสหราชอาณาจักร-ไทยแท้แท้” ที่จัดขึ้น ณ สถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งอังกฤษ (บาฟตา) (British Academy of Film and Television Arts : BAFTA) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน 2558 (2015) เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ ในงานนี้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ไทยได้นำภาพยนตร์คัดสรร 7 เรื่องไปจัดฉาย ได้แก่ คิดถึงวิทยา, แผลเก่า, เกมปลุกผี, ต้มยำกุ้ง 2, ปู่สมบูรณ์, ภวังค์รัก และ พระมหาชนก โดยมีตัวแทนจากประเทศไทย คือ สุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ กรรมการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ไปแสดงทัศนะ ให้สัมภาษณ์และร่วมพูดคุยกับ นิธิวัฒน์ ธราธร ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และนักแสดง พลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ และนิธิวัฒน์ ธราธร ที่เดินทางไปร่วมงานในครั้งนั้นด้วย ที่บีบีซีไทย อาคาร New Broadcasting House เกี่ยวกับ “ทิศทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย”[1] บทสนทนาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ยืนยันนโยบายหวานของรัฐบาลเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ความว่า ….
“วงการหนังไทยเราเติบโตด้วยภาคเอกชนมานานมากแล้ว แต่ด้วยความซับซ้อนของสังคมทำให้เอกชนที่ลงทุนไปอาจจะไม่สามารถทำรายได้คุ้มค่ากับการลงทุน เลยร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่เพิ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมมาเมื่อประมาณไม่เกิน 10 ปีนี่เอง สิ่งที่เราพบเห็นจากภาครัฐคือจะออกไปในทางควบคุม มากกว่ากำกับดูแล มากกว่าการส่งเสริม ขณะนี้เราได้ประสานงานกับทางภาครัฐเพื่อจัดตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างแท้จริง ซึ่งทำได้หลายรูปแบบทั้งในเรื่องของการให้ทุนสนับสนุน ที่ไม่ใช่การเอาเงินมาจ้าง แต่เป็นเรื่องสร้างการศึกษา เช่น พัฒนาการเขียนบท หรือว่าหาตลาดที่ภาพยนตร์ไทยสามารถขายได้ แล้วทำวิจัยเพื่อดูว่าจริงๆ แล้วภาพยนตร์ไทยแนวอะไรเจาะกลุ่มไหน เพราะลำพังจะหวังแค่คนไทยดูหนังไทย อุตสาหกรรมเราก็ไม่มีวันเติบโต ทำอย่างไรให้ภาพยนตร์ไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น
สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม กำลังมีนโยบายที่จะร่าง พ.ร.บ. องค์การมหาชน สำหรับภาพยนตร์ เพื่อการส่งเสริมภาพยนตร์อย่างแท้จริง เราหวังใจว่าน่าจะเสร็จภายในรัฐบาลนี้นะคะ จะมีการส่งเสริมที่ชัดเจนขึ้น มีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนทำให้หนังไทยโตจริงๆ ไม่ใช่โตเฉพาะในประเทศ แต่จะโตในต่างประเทศด้วย”
8 ปี ผ่านไป… นโยบายลอยหายไปกับสายลมแห่งการรอคอยอีกเช่นเคย กระทั่งถึงวันนี้ ไม่มีใครรอคอยอีกต่อไปแล้ว การรวมพลังสู้ยิบตา ไม่ต่างกับการที่ต้องใช้ชีวิตอยู่เพื่อสู้กับนโยบายเผด็จการของรัฐบาลตกยุค แม้มวลชนลุกขึ้นสู้ท่ามกลางความหวัง แต่ยังมีเงื้อมเงาของปิศาจที่ไม่อาจกำจัดไปให้สิ้นซากอย่างถอนรากถอนโคน คอยจ้องแต่จะโค่นอธิปไตยไม่สิ้นสุด
ภาพยนตร์ไทยที่ถูกกรรไกรเซนเซอร์ปาดออกไปในแต่ละวินาที ล้วนมีผลต่อการสร้างสรรค์ทั้งทางตรงและทางอ้อม งบที่ต้องถนอมต้องยอมเสียไปกับการจัดการเพื่อให้ผ่านเร็วที่สุด หลายเรื่องล้วนมาจาก วิจารณญาณ การวินิจฉัย จากกรรมการผู้ถูกทวงถามถึงมาตรฐานความเป็นธรรมอย่างสม่ำเสมอตลอดมา เพราะไม่มีอะไรเป็นมาตรวัดที่ชัดเจน นอกจากทัศนคติส่วนตัวของกรรมการแต่ละชุด โดยเฉพาะในประเด็นที่อ่อนไหวต่อศีลธรรมอันดีงาม จึงมีเพียงความเป็นมนุษย์เท่านั้นคือเครื่องมือสำคัญในการตัดสินชะตากรรมของศิลปะแขนงที่ 7 ในปี 2558 การแบนภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” ที่ถูกจัดว่าเป็นความเสื่อมเสียของพระพุทธศาสนา ก่อนฉายใช้เวลาไม่เกินสัปดาห์หลังเปลี่ยนชื่อใหม่ แล้วเฉือนหนังออกไป 3 นาที ทั้งที่บทก็บอกพฤติกรรมตัวละคร สะท้อนบาปลงโทษชัดเจนอยู่แล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า..เหมือนมาตรฐานเซนเซอร์ไทยจะขึ้นอยู่กับใจของผู้ตัดสิน ด้วยเหตุนี้สังคมใหม่ใน Social Media อันทรงพลัง จึงเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินด้วยเสียงมหาชน ในปี 2564 การแบนเรื่อง “เอหิปัสสิโก” (Come And See) หนังกึ่งสารคดีที่เปิดเปลือยวงการศาสนา ด้วยกรณีศึกษาจากเหตุการณ์วัดพระธรรมกาย ด้วยอดีตเจ้าอาวาสถูกกล่าวหาว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นในปี 2560 แม้การนำเสนอจะมีความเป็นกลางอย่างสายตาคนนอก ที่มองเข้าไปให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ก็เกือบไม่ได้ฉายเพราะแนวคิดหลากหลายจากทุกสายที่เกี่ยวข้อง เกิดปริศนาศรัทธาธรรมให้ต้องถกเถียง เพื่อประคองตาชั่งกองเซนเซอร์ไม่ให้เอียง แล้วเสียงของความจริงก็ชนะทุกสิ่งตามกฎแห่งสัจธรรม ก่อนมีการนำเรต “ห้ามฉาย” ภายใต้ พ.ร.บ. ภาพยนตร์ 2551 ซึ่งหลุดสมัยไม่เข้ายุค มาใช้ทำร้ายหนังไทยไปมากกว่าที่เป็นอยู่…
หลังโควิด โรงหนังที่ปิดเพิ่งจะเปิดหลังผ่านช่วงอัมพาตมาไปไม่นาน งานไล่ล่าผู้เคราะห์ร้ายก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง คราวนี้พี่ใหญ่ บ.ไฟว์สตาร์ โดนแบนฟ้าผ่ากลางงานแถลงข่าว “หุ่นพยนต์” หนังแนวสยองขวัญสั่นประสาท ประกาศความกล้าฝ่าธรรมเนียมผีไทย โดยผู้กำกับหนัง “พี่นาค” ยอดฮิต ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ (กำลังเตรียมภาค 4) “หุ่นพยนต์” โดน 6 กระทง ไม่หลงทางกลางเรต ฉ. 20- ห้ามคนอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือ เฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้น (ไม่รู้ต้องกำหนดทำไม ในเมื่อคนอายุ 20 ปี ก็มีวุฒิภาวะที่ดูได้ทุกแนวอยู่แล้ว มาตรฐานจึงอยู่ที่ความรู้สึกของผู้ตรวจ) แต่สุดท้ายก็สรุปลงตรงฉาย 2 versions “หุ่นพยนต์” ไม่ตัด แต่ได้เรต ฉ. 20- (ให้อิสระคนดูได้ตีความเอง) และ “ปลุกพยนต์” ร่นเหลือ น.18+ ซึ่งต้องตัดตามสั่งแต่ยังคงอรรถรส - contentที่เป็นสาระสำคัญไว้ และใส่รายละเอียดขยายความเพิ่มอีก 4 นาที เพื่อแก้ปมปัญหาเรื่องศาสนา แม้ว่าต้องถอดโปรแกรมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น!?!? ทั้ง “หุ่นพยนต์” และ “ปลุกพยนต์” ต้องถอดก่อน 11 พฤษภาคม’66 รวมเวลาฉายไม่ถึงเดือน!?!? แม้ว่ามีความต้องการของผู้ชมมากมายเรียกร้องเข้ามา
“หุ่นพยนต์” หนังที่เล่นกับความลวงในบ่วงศรัทธา เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ระหว่างผีนรกในร่างคน กับคนที่แปรเป็นปิศาจเพราะอำนาจมนต์ดำ หนังส่งกองเซนเซอร์ครั้งแรกมีคำสั่ง ห้ามฉาย หลังใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ออกไปหลายล้านแล้ว หลังยื่นอีกครั้ง คำสั่งออกในวันฉายรอบ GALA PREMIERE 7 มีนาคม 2566 ผลการพิจารณาได้เรต ฉ.20- จึงต้องเลื่อนฉายจาก 9 มีนาคม 66 เป็น 12 เมษายน 66 (ผู้กำกับตั้งรับไม่ทันต้องบวชถือศีล 8 ประโลมใจเพราะประสบการณ์ใหม่ในชีวิต) เกิดกรณีที่คนดูจองบัตร-จ่ายเงินไปแล้ว แต่ดูไม่ได้ คือความวุ่นวายที่ตามมาจากการจัดเรตที่ไร้มาตรฐาน เพราะงานเซนเซอร์คือดุลยพินิจที่ต่างกันของกรรมการแต่ละท่าน ตามตัวอย่างที่เป็นประเด็นด้านเนื้อหา คือปัญหาที่ต้องแก้ด่วนดังนี้
1. ตัดฉากชื่อวัดเทพหุ่นพยนต์ (เป็นวัดในจินตนาการที่ไม่มีอยู่จริง จึงต้องตัดคำว่า “วัด” ออกจากป้ายเหลือเพียง เทพหุ่นพยนต์ คนดูเข้าใจได้ว่าป้ายวัด)
2. ตัดฉากเณรชกต่อยในผ้าเหลือง และให้มีคำหยาบคายน้อยลงเท่าที่สามารถทำได้ (ห้ามชกต่อย และควรด่ากันด้วยถ้อยวาจาสุภาพสุด เท่าที่จะทำได้)
3. ตัดฉากคลุกอาหารให้เด็กชื่อเต๊ะกิน เหมือนรังแก (เล่นมุกพิซซาของคนเมืองที่ไม่สามารถยกทิ้งทั้งซีน เพราะคือสารบอกบริบทการอยู่ร่วมซึ่งส่งผลถึงซีนต่อไป)
4. ตัดฉากเณรกอดผู้หญิงในการต่อสู้ (เกรงศีลขาดเพราะ Bodyguard เป็นเณร)
5. ตัดฉากท่องศีล (ข้อที่ 2) ในขณะฆ่าคนที่ขโมยของ (มือถือสาก ปากท่องศีล)
6. สังเกตว่าพระเณรในเมืองไทยต้องโกนหัวโกนคิ้ว แต่เรื่องนี้ไม่มีพระหรือเณรที่โกนคิ้วเลย (ในหนังเณรบวชมานานแล้ว แต่หนังบางเรื่องผมยาวกว่ากลับผ่าน!?)
รายงาน ประชาพิจารณ์ : “วิบากกรรมหนังไทย “Bad Boyz Band” และหนทางสู่ชัยชนะของภาพยนตร์ไทย”
ช่วงวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจทุกวงการหยุดเคลื่อนไหวตามสภาพการณ์ของโลกในปี 2562-2564 ถึงเป็นช่วงถดถอยของหนังไทย แต่การต่อสู้กับคมขวานฝานใจของกองเซนเซอร์ยังดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด และร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ “Insects in the Backyard” (แมลงรักในสวนหลังบ้านของผู้กำกับ กอล์ฟ — ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์) ใช้เวลา 8 ปีที่ดิ้นรนกว่าจะพ้นจากเงื้อมมือมัจจุราช ผ่านการต่อสู้เลือดสาดมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2560 เป็นเหตุให้ในวันนี้ผู้กำกับเลือดใหม่รวมพลังกับเพื่อนร่วมอาชีพที่ประสบปัญหาเดียวกัน เพื่อยืนยันการสร้างมาตรฐานงานตรวจสอบภาพยนตร์ไทยให้เป็นธรรม ด้วยเกณฑ์การตัดสินที่มีความเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นเหตุเบี่ยงเบนและบั่นทอนคุณภาพเชิงประเด็น (content) ของการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ไทย ล่าสุด บ.ไรเตอร์ แล็บ ผู้สร้างภาพยนตร์ “Bad Boyz Band เด็กกว่าแล้วไง..ก็หัวใจมัน I Rock You” ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเรตจนต้องเลื่อนฉายจาก 20 เมษายน 2566 เป็น 4 พฤษภาคม 2566 จึงจัดกิจกรรมเสวนา “วิบากกรรมหนังไทย Bad Boyz Band และหนทางสู่ชัยชนะของภาพยนตร์ไทย” ขึ้น เมื่อ 25 เมษายน 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้กำกับ กอล์ฟ พรรคก้าวไกล กอบความเจ็บช้ำน้ำใจกลั่นออกมาเป็นทางเลือกใหม่ที่ทุกคนต้องปรบมือให้เอาใจช่วย เห็นด้วยอย่างไร้เงื่อนไขและข้อโต้แย้ง
“Bad Boyz Band” เป็นหนังล้อเลียน Gangster โดย Rocker รุ่นจิ๋ว แนว Comedy (Kidz & Family) เรื่องราวชาวร๊อกแก๊งผู้มีความฝันบรรเจิด ต้องการแจ้งเกิดด้วยฝีมือเกินตัว มีความรักครั้งแรกหล่อเลี้ยงพลัง มีความหวังเป็นกำลังใจ ให้ต่อสู้กับทุกอุปสรรคแม้หนักเกินตัว นำแสดงโดย ด.ช.อิสระ ไชยศิริ, เอ็มม่า ปาณิสรา หยาง, แจ็ค — เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์, เอม — ภูมิภัทร ถาวรศิริ, ด.ญ.รสริน ตัญวัฒนา, ด.ช.วิกร ธนากรอัครกุล, ด.ช.ปัณณวิชญ์ จิรวัฒน์ธนัทกุล, ด.ช.ปรรณ พานิชเจริญ สร้างโดย บริษัทไรท์เตอร์ แล็ป จำกัด โดยมี ยอด สุขวิวัฒน์ เป็นที่ปรึกษา, กฤษณนัยย์ พิรยารังสรรค์ ควบคุมการผลิตภาพยนตร์, กำกับการแสดงโดย ตั๊ก-ฉันทนา ทิพย์ประชาติ (ผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่เจ้าของผลงาน “หน่าฮ่าน” สนานสนุก)
หลังจบการฉายหนังเต็มเรื่อง ผู้จัดเปิดงานเสวนาด้วยที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้าง หลังจากห่างการทำหนังเด็กไปนานถึง 20 ปี กลับมาครั้งนี้มีเหตุผลที่มากกว่าการสร้างงาน และ เรต น. 15+ ที่ได้มา คือเหตุผลในการจัดงานเสวนาในครั้งนี้
หยอง กฤษณนัยย์ พิรยารังสรรค์ Producer — ทำหนังแนวอื่นเทคนิคมันยาก ผมเคยเป็นทีมงานหนัง “มะหมาสี่ขาครับ” ได้เห็นคนดูที่มากันเป็นครอบครัวเป็นอะไรที่มีความสุขมากครับ ก็เลยอยากทำเรื่อง “Bad Boyz Band” เป็นความตั้งใจที่อยากจะให้คนดูมีความสุขแบบในภาพจำที่เคยมีครับ เรื่องนี้ถ้าเด็กต่ำกว่า 15 ปี ต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วยเพื่อให้คำแนะนำ ผู้ปกครองได้ยินแบบนี้อาจจะไม่สบายใจที่จะให้ลูกมาดูหนัง คือเรื่องที่ใหญ่มากและกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากจะสื่อสารคืออายุต่ำกว่า 13 เป็นต้นไป ถ้าได้เรตนี้นักแสดงผมอาจจะอดดูทันทีเพราะต่ำกว่า 12 คือความเจ็บปวดของคนทำหนัง กว่าจะหาเงินมาทำหนังจนสำเร็จได้ แล้วต้องมาเจอกับระบบเซนเซอร์ที่รู้สึกไม่ค่อยเป็นธรรมสำหรับเรา กองเซนเซอร์ให้เหตุผลว่ามีฉากขุดฮวงซุ้ยแล้วเด็กขโมยแหวนที่ศพไป เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควร
พิธีกรขอความคิดเห็นผู้ชม หลังดูหนังจบได้ข้อคิดอะไรจากหนัง และประเด็นที่เป็นปัญหาเซนเซอร์ - ขโมยของ โยนความผิดให้คนอื่น โกหก ตัวแทนกลุ่มตอบ
พ่อ ผู้ชม — ปกติผมพยายามถามไถ่ลูกหลังเลิกเรียน คุยกัน เขาก็เล่าให้ฟังวันนี้เป็นไงที่โรงเรียนมีอะไรบ้าง ได้ดูตั้งแต่ต้นจนจบมีสิ่งที่ต้องบอกลูกว่าไม่ดี ต้องสอนลูกไม่ให้โกหกเพราะไม่งั้นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นไป เรื่องนี้ให้คิดว่าถ้าคิดทำอะไรไม่ปรึกษาผู้ใหญ่จะทำให้เกิดเรื่องขึ้นมาได้ หนังน่าได้ น. 13 อยู่ที่การโปรโมตของหนังด้วยครับ ว่าเป็นแนวไหนจะได้ชวนผู้ปกครองไปดูได้
น้องอั่งเปา ผู้ชม — มีบางจุดที่ดูแล้วคิดว่า ผู้ปกครองต้องให้คำแนะนำน้องค่ะ เด็กบางคนไม่สนิทกับพ่อแม่เพราะผู้ใหญ่ใช้อารมณ์ก่อนถามเหตุผล ทำให้เด็กไม่กล้าคุยกับพ่อแม่ ถ้าผู้ปกครองได้ดูจะทำให้เด็กกับครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้นได้ค่ะ
สื่อมวลชน — ช่วงครึ่งแรกเหมือนหนังเด็กแก่แดดธรรมดา ภาพรวมทั้งเรื่องดี ชัดเจนเรื่องการต่อสู้เพื่อความฝันของเด็กพันธุ์ใหม่ แม่อยากให้ลูกเป็นนางงามตามความฝัน แต่ลูกยืนยันความใฝ่ฝันเรื่องดนตรี ครึ่งหลังหนังทำได้ดีในประเด็นการสู้เพื่อฝันยืนยันตัวตนกับหนทาง โดยเฉพาะฉากแสดงดนตรีบนเวที เรื่องขโมยของก็ซนแสบตามประสาวัยรุ่น ความผิดดูไม่ร้ายแรงถ้าเทียบกับความรุนแรงในโลกของความจริง ที่เขาจำเป็นต้องมีเกราะกันใจ แต่ทำให้ได้เห็นบท present ความฉลาด มีไหวพริบ มีความเป็นผู้นำ และมีความพยายามในการแก้ปัญหา หนังควรได้เรต ท. หรือ ส. ด้วยซ้ำ
หมอเลี๊ยบ พรรคเพื่อไทย (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) — ฟังจากความเห็นแล้วเป็นเรื่องของสองคนยลตามช่อง (เป็นคำอุปมาอุปไมย “สองคน ยลตามช่อง” ความว่า ‘คนหนึ่ง มองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวแพรว’ มีความหมายว่า มนุษย์ทุกคนมีความคิดและปัญญาที่ผิดแผกแตกต่างกันอะไรเลย แม้กับการมองในสิ่งเดียวกัน และความคิดมนุษย์นั้นหลากหลาย…ยิ่งกว่าจำนวนดาวที่พราวประดับฟ้า…)
เรื่องนี้ สุดท้ายแล้วอาจต้องมาดูว่าเราต้องการให้เด็กเติบโตมาเป็นคนแบบไหน เราต้องการปกป้องเด็กจนกระทั่งเด็กไม่รู้ แล้วให้เขาไปเผชิญในโลกกว้างโดยที่ไม่มีเกราะป้องกันอย่างนั้นหรือเปล่า ดูจากท่านที่พูดหลังสุดว่าควรเป็นเรตส่งเสริมด้วยซ้ำไป ควรให้เด็กได้ดูได้เห็นสิ่งที่มีอยู่จริงในสังคม ถึงเขาไม่เห็นในหนังแต่ก็เห็นในชีวิตจริง เราอยากให้เด็กปิดตัวจากโลกหรือเปล่า เด็กจะเรียนรู้ต้องมีผู้ปกครองนะ ผมคิดว่าเด็กทุกวันนี้เขาโตกว่าวัยรุ่นผมมาก รุ่นผมอาจจะเป็นแบบหนึ่ง แต่รุ่นนี้เขามีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหนังสือจากสื่อมากมาย
เราต้องจับตาดูว่าในสังคมแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่อง Creative Economy หรือ Soft Power ภาพยนตร์เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องผลักดัน ทั้งในแง่ศิลปะภาพยนตร์ และในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราต้องกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่เรากำหนดกันไว้ในลีค (league) ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนใหม่หรือไม่ อย่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์มันตั้งแต่ปี 2551 คือ 15 ปีมาแล้ว กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ. ก็สิบกว่าปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นหลายๆ เรื่องควรต้องทบทวนให้สอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น ส. / ท. / น.13 / น.15 / น.18 หรือแม้แต่ ฉ. ก็ตาม ต้องดูว่ามาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้นั้น มันสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปหรือเปล่า ภาพยนตร์ที่ถือว่าเป็นสื่อสารมวลชนซึ่งสื่อไปถึงประชาชนทั่วไป ถูกจำกัดการเผยแพร่มากที่สุด แต่ไม่เคยมีใครเซนเซอร์หนังสือที่พิมพ์เลย ไม่เคยมีใครเซนเซอร์หนังสือที่ผิด ดนตรีที่ผิด แต่เราจำเป็นต้องเซนเซอร์ครับ
ตรงนี้เราอาจต้องมาดูว่ามาตรการต่างๆ สอดคล้องหรือไม่ รวมทั้งรายละเอียดของ rating ต่างๆ ด้วย ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือยัง เพราะจากการเซนเซอร์เรื่องอื่นๆ ด้วยทำให้เห็นว่าวันนี้บริบทของสังคมเปลี่ยนไปมาก มาตรการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ควรถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน เพราะไม่อย่างนั้นหากเรายังมีกฎระเบียบที่มันยังล้าสมัย ถึงจุดหนึ่งมันจะไปต่อไม่ได้ เราจะไม่สามารถทำให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เราได้เสพศิลปะเท่านั้น แต่เป็นกลไกเครื่องยนต์ในการที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ออกไปสู่ตลาดโลก ต้องมีการคุยอย่างเอาจริงเอาจังครับ
โก้ วรนัยน์ วาณิชกะ พรรคชาติพัฒนากล้า — โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าหนังทุกเรื่องมีสิ่งดีและไม่ดี มีทั้งผู้ดีผู้ร้ายในเรื่องนั้น มีข้อที่ผู้ปกครองต้องอธิบายให้เด็กๆ รับรู้อยู่แล้วนะครับ แต่ผมอยากจะมองในมุมกว้างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังไทย กองเซนเซอร์มีกฎหมายมาตรา 29 อยู่แล้วที่ต้องปฏิบัติตาม เนื้อหาในหนังต้องถูกแก้ไข ตัดทอน หรือห้ามไม่อนุมัติเลย ถ้าเนื้อหานั้นเป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบสุขเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และเกียรติภูมิของประเทศไทย เรามีประเด็นศีลธรรมอันดี เรามีประเด็นความมั่นคง และเรามีประเด็นเกียรติภูมิของประเทศไทยมาเกี่ยวข้องกับการเซนเซอร์หนัง เวลากองเซนเซอร์ออกรีวิวหนังจะมีขาประจำที่เขาเชิญมาเป็นตัวแทนจากศาสนาพุทธ จากตำรวจ ทหาร บางทีมีตัวแทนจากสำนักอัยการด้วย
สรุปหมายความว่าผู้ที่กำกับดูแลหนังที่เราดู ทั้งทหารและตำรวจเขาจ้องดูว่าสิ่งที่ควรเซนเซอร์เป็นเรื่องของศีลธรรมและความมั่นคง สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกของยุคสงครามเย็น แต่บริบทของสังคมปัจจุบันมันเปลี่ยนไปมากแล้ว เราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ยุคโซเชียลมีเดีย ยุคดิจิทัล แต่กฎหมายและ Mindset ของราชการยังอยู่ในยุคสงครามเย็น ยุคที่กลัวว่าหนังเรื่องหนึ่งอาจทำให้ประชาชนลุกฮือเป็นกบฏต่อประเทศได้ ยุคที่ยังมองว่าหนังเรื่องหนึ่งอาจทำให้เยาวชนทั้งประเทศไม่ยอมไปเรียนหนังสือกบฏต่อพ่อแม่ได้ ซึ่งนั่นเป็นบริบทของสงครามเย็นเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว
ในขณะเดียวกันสิ่งย้อนแย้งที่เกิดขึ้นก็คือ เราอยากจะทำ soft power อยากจะส่งออกไปทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันอุปกรณ์ที่เราจะส่งออกคือ หนังไทยถูกกำกับดูแลโดยทหารตำรวจ คำถามจึงมีอยู่ว่า Innovation Creativity จะอยู่ตรงไหนในหนังที่เป็นศิลปะ เพราะทุกคนรู้ว่าศิลปะมันไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัด หนัง “ปรสิต” ของเกาหลีที่ชนะออสการ์ เขาท้าทายเรื่องชนชั้น หนัง Squid Game ที่เราดูตอนติดโควิด เขาท้าทายทุนนิยม สิ่งที่โลกต้องการคือ สิ่งที่ท้าทายไม่มีขีดจำกัด แต่ประเทศไทยเราขีดจำกัดตีกรอบโดย ทหาร ตำรวจ และพราหมณ์
หนังถูกปิดกั้นด้วยเรต น. 15 ปัญหาที่ต้องแก้
กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พรรคก้าวไกล — พอเรามาพบว่าเรื่องนี้ น.15 ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรตที่แนะนำ ไม่จำเป็นว่าเด็กอายุ 15 ปีเท่านั้นถึงจะดูได้ เด็กกว่านั้นก็ดูได้เพียงแต่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูด้วย ได้ยินว่าเด็กตัวเล็กๆ ที่เป็นลูกเพื่อนตัวเล็กๆ ก็อยากดูหนังเรื่องนี้เหมือนกัน พอรู้ว่าเรต น.15 ผู้ปกครองจะรู้สึกกลัว มีคำถาม ถ้าอายุน้อยกว่านั้นมันเหมาะสมจริงหรือเปล่า เป็นเรตที่ไม่ได้ตรวจบัตรประชาชนนะคะ (ตรวจบัตรต้องเรต 20 จึงจะสามารถซื้อตั๋วดูหนังได้)
การที่เราต่อสู้ให้มี พ.ร.บ. ภาพยนตร์ เพราะเราจะหนีจากการเซนเซอร์อยู่แล้ว ต้องการให้ พ.ร.บ. ส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพของคนทำงานศิลปภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นการที่เราให้มี พ.ร.บ. เพื่อจะจัดเรตติงแปลว่า เราไม่อยากให้มาเซนเซอร์เนื้อหาใดๆ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ พอเรามี พ.ร.บ. ปี 2551 กอล์ฟก็เป็นผู้กำกับหนังไทยคนแรกที่ประเดิมเรตติงด้วยการโดนแบน[2] (Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน) เป็นเรื่องแรกของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ก็มีความเจ็บช้ำมาตั้งแต่บัดนั้นจนถึงวันนี้ ก่อนหน้านี้ก็เป็น “หุ่นพยนต์” ตอนนี้ก็มาถึง “Bad Boyz Band” ซึ่งเรารู้สึกนี่มันอะไรกัน ทำไมถึงมาคอยจ้องจำกัดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนองานศิลปะภาพยนตร์ทุกรูปแบบ รัฐกำลังกลัวอะไรอยู่ กลัวเสรีภาพของคนทำหนังเหรอ? กลัวที่เราจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เหรอ กลัวเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่เราอยู่ได้เหรอ? จริงๆ แล้วหน้าที่หลักของภาพยนตร์ก็คือ ต้องสามารถนำเสนอประเด็นทางสังคมในแง่ต่างๆ ได้
ยอด สุขวิวัฒน์ ที่ปรึกษา บริษัทไรท์เตอร์ แล็บ — วันนี้มีเสวนาเราต้องกลับมารับฟังความคิดของหลายคน ทั้งในแง่คนดูทั่วไป สื่อ หรือว่าคนที่ทำงานการเมือง ผมถือว่าเป็นตัวแทนของเสียงประชาชนส่วนใหญ่ เพราะเราไม่คิดว่าคนทำหนังจะคิดถูกต้องไปทุกอย่าง พอฟังแล้วได้เห็นว่าทุกคนคิดเหมือนที่เราคิดคือ Bad Boyz Band เป็นหนังที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย เด็กก็ดูได้ ที่มีสื่อให้ความเห็นว่าควรเป็นเรต ส. ส่งเสริมด้วยซ้ำ เพราะจริงๆ เนื้อหาเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีคุณธรรม ทำความผิดให้คนอื่นเดือดร้อนควรสำนึกผิดแล้วแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น พอเกิดปัญหาขึ้นมาสภาพความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน
สิ่งที่เราเคยวางแผนเอาไว้ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นหนังที่เด็กสิบขวบอายุเท่ากับดาราในเรื่องก็ควรดูได้ เราวางแผนทุกอย่าง วิธีการนำเสนอ การใช้สื่อให้เข้าถึงกลุ่มเด็กกับครอบครัว ก็เลยผิดแผนการตลาดที่ทุกอย่างใช้เงินทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ สื่อโซเชียลเข้าถึงกลุ่มครอบครัว กลุ่มเด็ก 9-10 ขวบ บางคนอาจคิดมันไม่ได้มี Impact ถึงขนาดที่ว่าเกิดการแบน แต่พ่อแม่บางคนก็กลัวเพราะเขาไม่ได้ดูหนังก่อน ไม่กล้าพาลูกมาดู นานแล้วที่ไม่มีหนังสำหรับครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ เป็นวัตถุประสงค์หลักของเราหลังโควิด 2 ปี ผ่านไป
พอเกิดเหตุเรต เราก็เลื่อนการฉายเพราะอยากให้กรรมการได้พิจารณาอีกรอบ การจัดเสวนาและมีการทำแบบสอบถามเพราะเราต้องการที่จะมีข้อมูลไปนำเสนอคณะกรรมการว่า ไม่ใช่เพราะเราดื้อ เราเข้าใจได้ว่าบางทีมันมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน ระหว่างคนทำหนังกับคณะกรรมการ แต่เราต้องการให้คณะกรรมการมีข้อมูลที่มากขึ้น คือ ฟังจากเสียงของประชาชน เสียงคนดูเสียงของพ่อแม่ด้วย ถ้ากรณีที่ผลของประชาพิจารณ์ออกมาว่า หนังเรื่องนี้ต้องเป็น 15+ หรือ 18 เราก็จะไปจัดการในเรื่องถ่ายซ่อม ตัดต่อใหม่แล้วยื่นเข้าไปใหม่ เพื่อให้หนังออกมาตามวัตถุประสงค์แรก ก็จะทำให้เด็กดูได้ ในการยื่นใหม่เราก็จะยื่นไปพร้อมกับข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้กรรมการเห็นว่าเราไม่ได้ใช้แค่ความคิดเห็นของพวกเรา ทุกคนที่นี่มีความเห็นว่าเป็นหนังที่เด็กดูได้ ถ้าแบบนี้เราอาจไม่ต้องถ่ายซ่อมแล้ว อาจเทกบางฉากที่เขาคอมเมนต์มา เช่น ขุดสุสานอาจตัดต่อ แล้วยื่นเข้าไปใหม่ พร้อมกับข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือ
worst case ต่อให้มีข้อมูลทุกอย่างแล้ว ถ้าคณะกรรมการยังยืนยัน 15+ เหมือนเดิม เราต้องยื่นใหม่ซึ่งใช้เวลา 30 วันหลังจากการยื่นครั้งแรก นั่นคืออีกหนึ่งเหตุผลที่เราต้องเลื่อนการฉาย อย่างน้อยเรามีข้อมูลอยู่ในมือเวลาที่เราทำการตลาดสื่อสารออกไป ยังบอกพ่อแม่ให้สบายใจได้ว่าเราเคยทำประชาพิจารณ์แล้วนะเชื่อเรา เชื่อประชาชนที่เคยดูหนังเรื่องนี้แล้ว พาลูกมาดูได้สบายใจ ไม่ใช่เพราะว่าเราต้องการทำธุรกิจกับพ่อแม่ แต่มีที่มาที่ไป มีเสียงของประชาชนจริงๆ ให้เราเดินหน้าต่ออย่างสบายใจมากขึ้นครับ
ผู้ชม อภิชาติ สอนนิติศาสตร์ — เมื่อสักครู่หลายท่านพูดมีประเด็นที่น่าสนใจเยอะมาก ผมอยากให้ข้อมูลไว้เป็นประโยชน์ เรารู้ว่าเด็กทุกวันนี้โตกว่าเราเยอะมาก ผมอยากฟังว่าลูกสาวผมคิดอย่างไรกับหนังเรื่องนี้ “หลังจากดูหนังเรื่องนี้ส่วนตัวแล้วชอบค่ะ หนังสนุกพูดจากใจเลย แม้มีการกระทำบางอย่างที่ไม่โอเค แต่เรื่องนี้ควรได้เรตทั่วไปค่ะ เพราะไม่ใช่ร้ายแรงอะไร สำหรับเด็กบางคนที่ไม่สามารถแยกแยะได้ขนาดนั้น น่าใส่คำเตือนลงไปนิดหนึ่งว่า การขโมย blackmail แบบนี้ควรได้รับโทษ และเพราะอะไรทำไมถึงไม่สมควรทำ คิดว่าไม่ควรโดน เรต 13-15 เลยค่ะ”
ความคิดของผมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง อย่างแรกเลยเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดเรต ไม่ควรมีครับ ถ้ามีแล้วทำไม่ได้ครบทุกสื่อ แล้วทำไปเพื่ออะไร มันคือปิดโลกทั้งโลกด้วยฝ่ามือ สื่อที่เข้าถึงคนทุกคนภาพยนตร์เป็นแค่เศษเสี้ยว สื่อออนไลน์ใครเซนเซอร์ครับ อีกสารพัดสื่อที่เด็กๆ เสพอยู่ทุกวันนี้ แล้วเราจัดการกันอย่างไร เอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัด เอาข้อมูลอะไรมาประเมินผลว่า ทำไปแล้วเกิดผลอะไรขึ้นมาบ้าง ถ้ามีแล้วไม่เกิดประโยชน์จะมีไปเพื่ออะไร ถ้าจะให้มีประโยชน์ต้องทำให้สำเร็จจริงๆ
ถ้าเทียบกับสมัยผมเรียนมัธยม หนังที่ดังถึงทุกวันนี้คือ น้ำพุ ครับ มีฉากรุนแรงฉีดกันเลยครับ ไปอยู่ถ้ำกระบอกอ้วกกันกระจายเลยครับ ทุกซีนในหนังผมจำได้หมด เก็บไว้เตือนตัวเอง สำหรับผมการนำเสนอภาพยนตร์ออกมาเช่นนี้ คนดูมีความฉลาดพอ เราดูแล้วเห็นเจตนารมณ์ของผู้สร้าง นักแสดง ตัวละครแต่ละคน สิ่งที่เขาสื่อสารออกมาทำให้เห็นพลังของครอบครัว ตรงนี้ต่างหากเป็นมุมที่ควรจะมอง ดังนั้น ในความละเมียดบรรจงสร้างเรื่องราวขึ้นมาหนึ่งเรื่อง ถามว่าคนที่ไปเป็นคณะกรรมการเซนเซอร์ คุณละเมียดพอในการพิจารณาแค่ไหน เหมือนเวลาที่คุณมองแมลงสาบคุณไปที่ไหนก็จะเจอแต่แมลงสาบ มองดอกไม้ไปที่ไหนก็เจอแต่ดอกไม้ ในมุมผมควรให้เป็นเรตทั่วไป มีสื่อที่มันหยาบคายรุนแรงเต็มไปหมดไปจัดการพวกนั้นเถอะ
หมอเลี๊ยบ — 3 ประเด็นนะครับ เรื่องนี้ควรจะเป็นเรตอะไร เรามีทั้ง ส. ส่งเสริม / ท.ทั่วไป / 13+ / 15+ / ความเห็นผมคิดว่าควรเป็น ท. ที่คนทั่วไปสามารถดูได้ ยังไม่ถึงขนาดส่งเสริมเลย เห็นด้วยกับคุณอภิชาติที่ว่า ในเรื่องราวมีบอกอยู่แล้วว่า ผลลัพธ์ในการกระทำจะเกิดอะไรขึ้น หรือว่ามีคำเตือนก็ทำไป ประเด็นแรกคิดว่าไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ว่าให้เป็นเรต 15+ ประเด็นที่ 2 แล้วจะทำอะไรกัน ถ้าเราดู พ.ร.บ. ปี 2551 ในรายละเอียดของการจัดเรตมันไปอยู่ในกฎหลักสูตรว่าแต่ละเรตมีลักษณะอย่างไร ท. ต้องไม่มีลักษณะของ 13+ / 15+ แล้วแจงข้อต้องห้าม ตรงนี้สามารถไปแจ้งกับกระทรวงได้เพราะว่าบางเรื่องมันครอบจักรวาลมาก แล้วแต่การตีความ ถ้าเป็นกฎกระทรวงตรงนี้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สามารถแก้กฎกระทรวง แล้วก็ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาได้เลย ภายในไม่เกิน 100 วัน
ในระดับของพระราชบัญญัติที่จะต้องเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ตรงนั้นอาจจะเป็นประเด็นที่ต้องมีการแก้ไขพอสมควร เพราะเราจะบอกไม่มีการจัด rating ได้ไหม ไม่มีคณะกรรมการได้ไหม แต่เราสามารถกำหนดได้ว่ากรรมการจะมาจากไหน ขณะนี้บอกว่า 4 คนมาจากภาครัฐ 3 คนมาจากภาคเอกชน แต่เท่าที่ดูจากความเป็นจริง 3 คน จากเอกชนจะเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุ ในแง่ของ mindset อาจจะแตกต่างกันออกไป ที่มาจากภาครัฐเองก็อาจมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาจมองโลกอีกแบบหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป ตรงนี้เป็นอำนาจของกระทรวงวัฒนธรรมสามารถจะเลือกได้ว่า เอาคนที่ทันสมัยหน่อย เข้าใจโลกหน่อย เข้าใจบริบทต่างๆ ที่มันเปลี่ยนไปหน่อย มาเป็นคณะกรรมการ อันนั้นคือขั้นตอนที่คิดว่าระยะสั้นสามารถทำได้ภายใน 1-2 ปี
ประเด็นที่ 3 คือ แล้วมันควรจะเป็นอย่างไร มันมีมาตรฐานในระดับโลกที่เขาทำกันอยู่แล้ว ถ้าเรายกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกาไม่มีการจัดเรตโดยรัฐแต่เป็นการจัดเรตโดยเอกชน MPA (Motion Picture Association) เป็น self rating ไม่ต้องให้รัฐมายุ่ง วงการภาพยนตร์ก็คล้ายวงการหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน คือเราสามารถดูแลตัวเองได้ จึงมีการจัดเรตโดยภาคเอกชนที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือแม้แต่ถ้าคิดว่าการส่งจัดเรตภาพยนตร์จะมีค่าใช้จ่ายไม่ต้องส่งก็ยังได้เลย เป็น non rate, unrate แล้วแต่ความสมัครใจของผู้สร้างภาพยนตร์ ควรจะเป็นความรับผิดชอบของคนในวงการภาพยนตร์ที่มีต่อสังคม ถ้าจะไปต่อควรเริ่มจากตรงนี้ คือรัฐไม่ต้องยุ่งแล้ว
นโยบายพรรคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย อย่างแท้จริง
ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะออกนโยบายอย่างไรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
หมอเลี๊ยบ เพื่อไทย — อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็คล้ายกับอุตสาหกรรมหนังสือ แฟชั่น อาหาร กีฬา เรามองทุกอย่างนี่คือ soft power บางคนอาจมองว่าคำนี้มันเกร่อ จริงแล้วคุณเข้าใจความหมายหรือเปล่าว่ามันคืออะไร? ผมขอยกตัวอย่าง soft power ตรงข้ามกับ hard power ที่หมายถึงการรุกราน ครอบงำ เช่น รัสเซียพยายามจะรุกรานยูเครน มีกองทหาร รถถัง เครื่องบิน มีเรื่องการต่อรองระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลว่าฉันจะรุกคุณนะ คุณจะยอมแพ้ไหม ถ้าไม่ยอมฉันจะเข้าไปชิงพื้นที่อย่างนี้เป็นต้น ส่วน soft power กองทหาร คือ talent ต่างๆ (n. ความสามารถพิเศษ, พรสวรรค์, ผู้ที่มีความสามารถพิเศษ, ผู้มีพรสวรรค์ ฯลฯ) talent ที่อยู่ในภาพยนตร์ เช่น นักแสดง ผู้กำกับ คนเขียนบท, ในวงการแฟชั่นคือนักออกแบบแฟชั่น, ในวงการหนังสือคือนักเขียน ในวงการอาหารคือ chef เป็นต้น เราต้องการกองทหารของ soft power ที่มีความรู้ความสามารถพอสมควร เราต้องการเรือดำน้ำ อาจจะเป็นภาพยนตร์, รถถังอาจเป็นอาหารไทย, เราต้องการเครื่องบิน อาจจะเป็นมวยไทย เป็นต้น ทั้งหมดจะเป็นเหมือนอุปกรณ์
ที่สำคัญคือเราต้องการการทูตเชิงวัฒนธรรม เราต้องการการทำงานแบบต่างประเทศที่รุกเข้าไปในประเทศต่างๆ โดยให้เขารู้สึกยอมรับสิ่งที่เราเสนอให้ ยินยอมพร้อมใจที่จะเสพวัฒนธรรม (talent) ของเรา เริ่มต้นเลยบอกว่ามีปัญหาเรื่องเงินทุน อาจจะต้องมี seed money สำหรับคนที่ทำหนังอิสระ คนที่เริ่มต้นทำหนังจะต้องมีเงินทุนตั้งต้น ตอนนี้มี seed money จากรัฐบาลต่างประเทศด้วยซ้ำไป ต้องพยายามหา กระตุ้นให้เกิดแหล่งทุนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น crowdfunding ถ้าเราทำเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโต ดอกเบี้ยต่ำ ผมว่ามีคนพร้อมลงทุนมากมาย เราต้องพยายามพัฒนาคนในวงการ ทุกวันนี้มีคนเรียนจบหนังมากมายปีหนึ่งสามพันคนแล้วหายไปไหนหมด ตกงาน?? ถ้าเราเรียนรู้จากบทเรียนเกาหลีใต้ในช่วงแรก เขาเอาสปีลเบิร์กมาช่วยพัฒนาคนเขียนบทเพื่อให้มี talent ที่แข็งแรง หลังจากนั้นทำอย่างไรถึงจะส่งออกสู่ตลาดโลกได้
อีกประเด็นที่ได้ฟังจากคนในวงการคือ เรื่องการทำงานหนัก แต่โอทีไม่มากนัก แล้วไม่มีการดูแลเรื่องสวัสดิการ ตอนนี้มีสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ เราพยายามชูประเด็นนี้อยู่ ผลักดันส่งเสริมภาพยนตร์ไทยไปต่างประเทศ มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ยิ่งมีจุดขายที่ชัดเจนจะเป็นการเปิดโอกาสสำหรับหนังทุกแนว ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เราสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในประเทศไทย ถ้าหากมันมีเทคโนโลยี virtual มาเป็นตัวทดแทนในการถ่ายทำก็ยิ่งดีมากขึ้น (virtual คือการจำลองการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ แบบเสมือนจริง เพื่อทดลอง ก่อนการนำไปใช้ในสถานการณ์จริง) หรืองานอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น จะไปถ่ายในโลเคชันต่างๆ ลำบากมาก พรรคเพื่อไทยเราอยากทำโปรโมชันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำเรื่องไปถ่ายที่รถไฟฟ้าขอยากมาก
มีหลายเรื่องที่อยากทำ ปัญหาอยู่ที่ว่ามันต้องมีเจ้าภาพ ต้องมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำหน้าที่นี้ สำหรับทุกแขนงของ soft power เราเรียนรู้จากเกาหลีใต้มีหน่วยงานหนึ่งชื่อ KOCCA (Korea Creative Content Agency เป็นหน่วยงานรัฐบาลที่ดูแลและประสานงานด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมเนื้อหาของเกาหลีใต้)[3] เขาบุกเบิกมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ผมไปเยี่ยมที่เกาหลีใต้ได้คุยกับ KOCCA เบื้องต้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมันเป็นโครงการในประเทศของเขาซึ่งไปไกลแล้ว แต่ของเราเจออุปสรรคทางการเมืองมากมายอาจต้องเริ่มต้นใหม่ ไต้หวันก็มี TAICCA (TAIWAN CREATIVE CONTENT AGENCY)[4] เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ TCCA (THAILAND CREATIVE CONTENT AGENCY) อันนี้ก็เป็นแผนจะได้ทำหรือไม่ก็อยู่ที่ว่าเรามีโอกาสหรือไม่ครับ
ถ้าพรรคชาติพัฒนากล้าได้เป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาเรื่องเรตติงอย่างไร นโยบายอย่างไร
โก้ — คำถามที่ว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำอะไร น่าจะเหมาะกับพรรคเพื่อไทยมากกว่า ทางนี้น่าจะเป็นคำถามว่าถ้าได้ร่วมรัฐบาล ถ้าไปร่วมกับอีกฝั่งทุกสิ่งที่เราฝันเป็นไปไม่ได้ ถ้าได้ร่วมกับอีกฝั่งทุกสิ่งที่เราฝันมีโอกาสเป็นไปได้ ถ้าได้ร่วมรัฐบาลสิ่งแรกที่จะต้องทำคือแก้กฎหมายก่อน เพราะกฎหมายคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง มาตรา 29 กฎหมายที่ดูแลอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ควรเป็นกฎหมายที่พูดถึงศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เกี่ยวกับความสงบสุขมั่นคงของเรา ไม่เกี่ยวกับเกียรติภูมิของประเทศไทย สิ่งแรกที่กฎหมายต้องเข้าใจ ต้องแก้ไขคือ ศิลปะไม่เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะไม่เกี่ยวกับทหาร ศิลปะไม่เกี่ยวกับเกียรติภูมิ ซึ่งคืออะไรผมยังไม่แน่ใจเลย กลัวประเทศไทยเสียหน้าเหรอ จริงๆ แล้วศิลปะต้องขัดหน้า ตบหน้าเลย นั่นคือศิลปะ เพราะฉะนั้นสามสิ่งนี้ต้องเอาออกไปจากกฎหมายที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์
รื้อโครงสร้างแล้ว ตั้ง Creative Content Agency เหมือนเกาหลีใต้ บุคลากรต้องไม่เป็นคนในเครื่องแบบสีไหนทั้งนั้น ควรจะเป็นคนเหมือนที่นั่งอยู่บนเวทีแบบนี้ เป็นคนในวงการ ไม่ว่าจะเป็นคนในอุตสาหกรรมบันเทิงหรือวิชาการก็แล้วแต่ ร่างกฎกำกับดูแลกันว่า อุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทยถ้ามีจุดประสงค์จะนำ soft power เข้าสู่ตลาดโลก จะขายวัฒนธรรมของเราเพื่อสร้าง BRANDINGของประเทศ เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจของประเทศไทย ตอบโจทย์สถานธรรมการเมืองของประเทศไทยบนเวทีโลก ด้วย soft power อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นกระบวนการนี้ เราจะทำอย่างไร อันนี้คือภารกิจของ Creative Content Agency ที่พวกเราจะต้องสร้างขึ้น นั่นคือสิ่งที่พรรคชาติพัฒนากล้าต้องการจะทำ ขอบคุณครับ
ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะออกนโยบายอย่างไรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
กอล์ฟ ก้าวไกล — เราได้จัดพูดคุยกับคนในแวดวงศิลปะหลายแขนงเกี่ยวกับ content อุตสาหกรรมเพลง ภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ถ้าพรรคก้าวไกลได้ร่วมรัฐบาล กระทรวงแรกที่เราอยากจะเป็นรัฐมนตรีก็คือกระทรวงวัฒนธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเกี่ยวกับการเปลี่ยน mindset ของคนในชาติ ต้องแก้กฎหมายอย่างที่ท่านทั้งสองบอกเลยค่ะ ต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่แรกแล้วว่า พ.ร.บ. ภาพยนตร์ ต้องมีเพื่อส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพทางความคิด ของคนทำงานศิลปะ ของคนทำงานภาพยนตร์ และต้องส่งเสริมสนับสนุนให้คนในประเทศสามารถมีเสรีภาพทางการวิจารณ์ได้ด้วย
การวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ควรมีในการทำงานศิลปะของประชาชนคนไทย แต่ทำไมกฎหมาย พ.ร.บ. ปี 2551 ถึงมาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออก กอล์ฟเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนแรกเลยที่โดนแบนภายใต้กฎหมายนี้ suffer มาก ต้องต่อสู้นานถึง 7 ปี กว่าที่จะบอกได้ว่าเราไม่ได้เป็นคนผิดศีลธรรมอันดี เหมือนที่พี่โก้บอก ไม่ควรเอามาตรศีลธรรมอันดีมาบอกว่าหนังเรื่องไหนควรดู เรื่องไหนไม่ควรดู เพราะคุณกำลังดูถูกสมองของคนในชาติ ว่าไม่สามารถดูแล้วตัดสินได้ด้วยตัวเองเลยเหรอ
ภาพยนตร์เป็นงานศิลปะชนิดเดียวที่ถูกเซนเซอร์ด้วยกฎหมาย ทำไมอย่างอื่นไม่โดน ไม่มีกฎหมายไปควบคุมเลย สิ่งที่ควรจะโดนเซนเซอร์ที่สุด ควรตรวจสอบมากที่สุดคือหนังสือเรียน ที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ค่ะ ถามว่ามีใครตรวจสอบหนังสือก่อนที่จะออกมาให้เด็กๆ เรียนหรือเปล่า คุณดูแลหรือเปล่าว่าเนื้อหาที่กำลังสอนให้เด็กเป็นคนแบบไหน จะเจริญเติบโตมาด้วยการใช้สมองได้ อย่างที่คุณเอาหนังสือเรียนแบบนั้นมาให้เขาเรียนจริงๆ เหรอ ตรงนี้ทำไมไม่ตรวจสอบดูแล กลับกลายเป็นว่าพยายามกำจัดสิทธิเสรีภาพของภาพยนตร์ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าต้องเสียเงินเข้าไปดูในโรง สื่อที่ไม่ได้เสียเงินเข้าไปดูในโรงคุณเคยหันไปดูหรือเปล่า
แน่นอนส่วนตัวดิฉันไม่เคยคิดจะให้ไปมีการเซนเซอร์ในทุกๆ สื่ออยู่แล้ว ถ้าสื่อไหนมีเนื้อหากระทบบุคคลใด เรามีกฎหมายที่จะจัดการอยู่แล้ว ถ้ากระทบเรา เราก็ไปฟ้อง ไม่ใช่ว่าทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี ฉันเป็นผู้ใหญ่ที่มีสมองมากกว่าพวกคุณนะ ฉันจะตรวจหนังทุกเรื่องแล้วบอกว่าหนังเรื่องไหนควรจะได้เรตอะไร แน่นอนที่มาของคณะกรรมการก็บอกว่าต้องใช้ดุลยพินิจ ถามว่าดุลยพินิจแต่ละคนมีเท่ากันไหม ในความเป็นมนุษย์มันมีไม่เท่ากันอยู่แล้ว คณะกรรมการที่มีอยู่ 5 ชุด ชุดละ 7 คน ถามว่าทุกคนมีดุลยพินิจเท่ากันไหม ถ้าเราเกิดดวงดีได้ชุดนี้บอกว่าหนังเราผ่าน ถ้าดวงไม่ดีได้อีกชุดบอกไม่ผ่านแล้วมาตรฐานอยู่ตรงไหน แน่นอนว่าเราต้องแก้กฎหมาย แล้วเราก็พยายามตลอดเวลาเพื่อให้มันออกมาส่งเสริมสนับสนุน ไม่ใช่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ให้มีเซนเซอร์ เราหนีจากเซนเซอร์มาแล้ว พอมามี พ.ร.บ. ภาพยนตร์ก็ยังโดนเซนเซอร์ซ้อนเซนเซอร์ โดยคนที่เขาบอกว่าเป็นตำรวจศีลธรรมซึ่งงงมาก
เมื่อตอนที่กอล์ฟเป็น ส.ส. ได้เสนอเรื่องในสภาว่า ควรมีกองทุนภาพยนตร์ กองทุนที่จะมาส่งเสริมศิลปะในแขนงต่างๆ กองทุนจะมาจากไหน? ในการที่เราเสียภาษี ทุกบาททุกสตางค์ที่เราชมงานศิลปะ ควรจะเก็บรายได้มา เช่นภาษี ตั๋วหนัง 100 บาท เก็บมาแค่ 1 บาทเข้ากองทุนได้ไหม เพื่อมาส่งเสริมภาพยนตร์ ไปชมละครเวทีเก็บมาตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมงานศิลปะแต่ละแขนงได้ไหม สิ่งสำคัญที่สุดเงินทุนหลักเลยต้องมาจากรัฐบาลก่อน ตอนนี้เรามีเงินทุนที่มาส่งเสริมอยู่ไม่แน่ใจว่ากี่ล้าน แต่เราเห็นว่าควรจะมีกองทุนใส่เข้าไปเลย 5,000 ล้านบาท แน่นอนกองทุนใหญ่จากภาษีประชาชน หรือเป็นเงินที่เอามาบริหารจัดการเพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างยั่งยืน
กอล์ฟ ก้าวไกล - ถามว่าเงินอย่างเดียวช่วยได้ไหม ไม่ได้ค่ะ เราต้องส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมการดูหนัง การเสพสื่ออย่างเข้มแข็ง มี 4 มิติ ได้แก่
1. เปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาวิชาศิลปะ
หลักสูตรการเรียนการสอนในทุกวันนี้เราเห็นว่าไม่พัฒนา สอนให้วาดรูปที่เห็นเป็นธรรมชาติ ใครวาดเหมือนก็จะได้คะแนนเต็มสิบ ใครวาดไม่เหมือนก็ได้คะแนนน้อย แล้วไม่มีโอกาสขึ้นมาบอกว่า เรามีความคิดอย่างไรถึงวาดรูปแบบนี้ออกมา เช่น ครูให้วาดรูปส้มก็ต้องเป็นส้ม ไม่เหมือนก็ได้ 0 คะแนน ถ้ามีคนวาดส้มเปลือกทุเรียนคนนี้จะได้คะแนนเท่าไหร่ ทั้งที่คนนี้อยากออกไปหน้าห้องแล้วบอกว่า แม่ผมชอบกินส้ม แม่ชอบกินทุเรียน โตขึ้นผมอยากจะเป็นเกษตรกรที่ผสมพันธุ์ส้มมีรสเป็นทุเรียนหรือ ผสมทุเรียนแล้วมีรสส้มออกมา มันจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ไม่รู้แต่นี่คือจินตนาการของเด็ก แล้วเขามีสิทธิ์ที่จะใช้จินตนาการนั้นด้วย
เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนเราต้องเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาวิชาศิลปะ ให้เข้าใจในศิลปะอย่างรอบด้าน แล้วสามารถอธิบายในสิ่งที่ตัวเองทำ คือการส่งเสริมการใช้สมองเป็นจินตนาการของเด็ก แต่การเรียนศิลปะทุกวันนี้เป็นการฆ่าตัดตอนทางจินตนาการของเด็กโดยสิ้นเชิง ไม่ได้สอนให้เด็กใช้ imagination หรือวิพากษ์ วิจารณ์ วิเคราะห์ เพราะเราไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ครูควรให้เด็กได้ฟังความคิดเห็นจากเพื่อนๆ ได้ด้วย เรามีแต่บอกว่าต้องทำตามแบบนี้ แม้แต่หนังสือเรียนก็ยังสอน mindset แบบนั้น เด็กเติบโตมาจะเป็นแบบไหน เราต้องวางรากฐานหลักสูตรการศึกษาใหม่หมด เพื่อให้คนเข้าใจ เพื่อให้เด็กเติบโตมาอย่างมีวัฒนธรรมที่เข้าถึงงานศิลปะ เข้าถึงสื่อต่างๆ ได้อย่างเข้มแข็ง
2. จัดให้มีโรงหนังชุมชน สนามฝึกหัดก่อนลงแข่งในอุตสาหกรรมระดับประเทศ
การที่เราจะส่งเสริมให้มีกระบวนการแข่งขันทางการค้า แล้วไม่มีการผูกขาดโรงภาพยนตร์ เราอาจจะมี 1 มหาวิทยาลัย 1 โรงหนัง เป็นโรงหนังชุมชนที่สามารถทำให้นักเรียนนักศึกษาที่เรียนภาพยนตร์สามารถฝึกกระบวนการทำงานทำหนัง เสร็จเอาเข้าโรงหนังในพื้นที่ ทุกมหาวิทยาลัยสามารถทำได้ อุปกรณ์มีอยู่แล้ว ทำไมไม่เอาสิ่งที่มีอยู่แล้วฝึกให้เขาทำธุรกิจ สามารถหาคนดูของเขาตั้งแต่อยู่ในมหาวิทยาลัย ประชากรในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีหลายหมื่นคน ถ้าเขาทำหนังเรื่องหนึ่งเข้าในระบบนี้มีการฝึกต่อสู้กับระบบทุนใหญ่ที่เป็นโรงภาพยนตร์ได้อีก ถ้าเข้าโรงภาพยนตร์คุณเสีย 200 บาท ถ้าคุณเข้าโรงภาพยนตร์ชุมชนในมหาวิทยาลัยคุณเสียแค่ครึ่งเดียว ระบบธุรกิจเราสามารถแบ่งกับคนทำหนังคือ นักศึกษาที่ทำหนังสามารถมีงบประมาณไปทำต่อได้ นี่คือการเรียนรู้ทางธุรกิจ เพิ่มการต่อสู้กับทุนใหญ่ที่ผูกขาดทางการค้าอยู่ด้วย
3. โรงและรอบฉายภาพยนตร์ที่ถูกบังคับผูกขาด
เห็นอยู่ว่าเราไม่มีทางเลือกที่จะดูหนังด้วยตัวเอง เพราะโรงหนังเลือกหนังให้คุณดู เมื่อมีหนังใหญ่ระดับโลกมาลง โลเคชันหนึ่งมีสิบโรง ทุกโรงเกือบทุกรอบเป็นหนังใหญ่เรื่องนั้น แล้วมีหนังเหลือจากโปรแกรมก่อนหน้านั้นสองเรื่อง เรื่องละหนึ่งรอบ แล้วเรามีสิทธิ์เลือกดูได้จริงหรือเปล่า? เราถูกผูกขาดทางการค้าอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องมีระบบให้หนังไทยสามารถมีพื้นที่ มีเวลาที่จะเติบโต โรงหนังต้องไม่ผูกขาดทางการค้า สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาลต้องมีงบใหญ่มาส่งเสริมสนับสนุนคนทำเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน สำคัญสุดคือมีเสรีภาพทางความคิดถึงจะเกิดการพัฒนาได้ ถ้าเราไม่มีเสรีภาพทางความคิดเราไม่สามารถคิดงานศิลปะได้อย่างเติบโตแน่นอน
4. การให้ทุนควรมีกติกาที่เป็นธรรม
รัฐต้องให้ทุนอย่างเข้าใจ ที่ผ่านมาไม่ใช่ไม่มีนะ มีค่ะ แต่เป็นการให้ทุนแบบผักชีโรยหน้า Thailand Thai Grand Content อยากเป็นแบบหนังที่ประสบความสำเร็จระดับโลกทุกเรื่อง สมมุติมีคนขอไปจะทำหนังสิบล้าน แต่กระทรวงมีเงินอยู่นิดหนึ่งไม่กี่ร้อยล้าน ทำอย่างไรถึงจะแบ่งงบไปให้กับหนังได้ทุกเรื่อง เราต้องเลือกหนังที่มีศักยภาพจะดังไปทั่วโลกก่อน ผู้กำกับมีชื่อเสียง โพรเจกต์นี้มีสิทธิ์ดัง ขอไปสิบล้านให้ล้านนึงแปะ Thailand Thai Grand Content ไปด้วย ซึ่งมันเป็นไปได้ไหม ได้หนึ่งล้านแต่โพรเจกต์นี้มันสิบล้านน่ะ แล้วจะทำหนังจบไหม คุณให้เงินแบบไม่จริงใจ คุณให้ทุนแบบขอเป็นผักชีแล้วแบ่งไปด้วย ขอมีชื่อเสียงไปด้วย ถ้าหนังเรื่องนี้มันประสบความสำเร็จระดับโลก ก็มีหนังไทยหลายเรื่องที่ต้องแปะชื่อโครงการทั้งที่เขาไม่ได้ให้เงินทั้งโพรดักชัน
เพราะฉะนั้นการให้ทุนต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจน และส่งเสริมสนับสนุนให้มันเกิดตั้งแต่วิธีการคิด วิธีการทำ กระบวนการสร้าง สำคัญสุดคือ เมื่อหนังเสร็จแล้วมันต้องมีงบเข้ากระบวนการโปรโมต ที่จะทำให้รู้จักหนังเรื่องนี้ไปทั่วโลกด้วย สิ่งสำคัญคือหน่วยงานรัฐบาลที่จะสามารถทำให้เกิดทั้ง 4 มิตินี้ขึ้นมาได้ สิ่งสำคัญที่สุดคนทำหนังรู้ดีเรื่องการหาทุนทำหนัง ธุรกิจอื่นใดเราสามารถไปกู้ธนาคารได้ค่ะ แต่หนังธนาคารไม่ให้ค่ะเพราะดูแล้วเป็นชิ้นงานที่ไม่น่าจะคืนเงินได้ รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับธนาคารด้วยว่า ในเมื่อคุณบอกว่ามันคือ soft power จะส่งเสริมให้ไประดับโลก แต่กระบวนการที่จะหาเงินมาทำงานยังยากเลย ตรงนี้เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดว่า ถ้าเราได้ไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมก็จะจัดการให้เปลี่ยนแปลงในระบบ ตั้งแต่รากฐาน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ตั้งแต่รากจนถึงปลาย การที่เราจะเก็บผลไม้กินได้ เราไม่สามารถไปเก็บของคนอื่นแล้วมาบอกเป็นของเรา ถ้าเราอยากจะได้ก็ต้องปลูกตั้งแต่ราก ต้องเสริมใส่ปุ๋ยให้มันแข็งแรง จึงจะได้ผลไม้ที่เราภาคภูมิใจว่าเราสร้างมากับมือ ขอบคุณค่ะ
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลจะออกนโยบายอย่างไรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
แทนคุณ จิตต์อิสระ ประชาธิปัตย์ — ผมสนใจเรื่องหนังมากกำลังคิดบทของตัวเองด้วย คิดว่าหนังไทยถึงเวลาที่จะต้องช่วยกันสนับสนุน โดยมีกลไกสำคัญคือบทหนัง เพราะว่าบทหนังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทำอย่างไรถึงจะมีนักเขียนบทที่เก่งๆ เข้าใจความเป็นหนังโลก แล้วก็เชิดชูตัวตนของเรา ถ้าเราคิดหรือทำเหมือนหลายประเทศ เราจะสูญเสียตัวตนไปเรา ถ้าเราเหมือนเขาจะมีเราไว้ทำไม จริงไหมครับ บทหนังจึงเป็นจุดเริ่มต้นอันดับแรกเลย ทำอย่างไรถึงจะสามารถระดมสมองระดมความคิดมาได้ ผมเคยคุยกับนักเขียนบทเก่งๆ ของเกาหลี เขาพูดอยู่ประโยคเดียวทำให้ผมเข้าใจมากเลยว่า เกาหลีทำของเก่าให้ใหม่ครับ เขาไปขุดสิ่งที่เป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี มาแปลงสภาพอย่างอาหาร หรือมาเล่าเรื่องใหม่เช่นการแต่งกาย ถือเป็นนโยบายว่าอย่างน้อย 30% ของหนังเกาหลีจะต้องใส่เรื่องอาหารการกินเข้าไปเป็นวัฒนธรรมของเขา
ของไทยเราจริงๆ มีอะไรที่ไม่ได้ด้อยกว่าเขาเลย แต่…แต่เราให้ความสำคัญกับบทน้อยเกินไป ผมเคยคุยกับพี่ๆ หลายคนที่เป็นนักเขียนบทนะครับ เขาบอกว่านายทุนให้เวลาน้อยมาก ไม่เกินสามเดือน ในขณะที่บทอย่าง Squid Game ใช้เวลาปีกว่า ระหว่างเขียนบทค่ายหนังดูแลอย่างดี เพื่อให้ได้บทดีที่สุดออกมา แล้วมันก็ขายได้ทั่วโลก แล้วก็มีทุนให้ด้วย เรื่องทุนสำคัญมากเลย เป็นที่น่าเสียดาย ปัจจุบันต้องยอมรับว่านายทุนเข้ามาเป็นคนทำหนังมากขึ้น แล้วก็ใช้กลไกที่ไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ในการแย่งพื้นที่โรงฉาย มีการแข่งขันกัน ถ้าเราทำหนังยังไม่มีแหล่งทุนที่สนับสนุน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์พยายามจะหาว่าเรามีกองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ อยู่แล้ว อยากให้เติมทุนเข้ามาสนับสนุนหนังครับ
ผมคิดว่า “Bad Boyz Band” มีความผสมผสานระหว่าง แฟนฉัน กับ โดราเอมอน โดยเฉพาะในตอนที่แจ็คแฟนฉันบอกว่าเคยเป็นอดีตนักร้อง หนังมีพัฒนาในแง่มุมของบทที่ทำให้เราได้ระลึกถึงความหลังตอนวัยเด็กที่ก้าวกระโดด ที่เป็นความก้าวหน้าคือความรักระหว่างวัย ในจุดเปลี่ยนเราควรต้องช่วยกันบอกต่อให้มากที่สุด เราควรเปิดกว้าง เพราะหนังแบบนี้ ไม่ควรได้ น.15 + ควรจะเป็นหนังสำหรับคนทั่วไปดูได้ ขอยืนยันอีกหนึ่งเสียงว่า เราควรต้องช่วยส่งเสริมหนังแนวนี้ ด้วยเพลงหรือเนื้อหาก็ดีไม่มีอันตรายที่เป็นอุปสรรคอะไรเลย แล้วก็ไม่ได้สร้างความเชื่อที่ผิดๆ ให้กับเด็ก เยาวชน ในตลาดของเรามีหนังเด็กน้อยมาก จนถึงน้อยเกินไป ช่วงเวลาสำคัญอยากเห็นครอบครัวจูงมือลูกหลานไปดูหนังดีๆ มากขึ้น
ส่วนตัวผมเป็นคนให้ความสำคัญกับจินตนาการ เพราะผมเชื่อว่าหนังที่ดีต้องเริ่มจากจินตนาการ มองให้เห็นในภาพที่คนอื่นทั่วไปมองไม่เห็นคิดไม่ถึง อาจจะเป็นสิ่งใหม่บ้างเก่าบ้างมาผสมผสานกัน เรามีความเชื่อมีสายมูเยอะ เราต้องหาแนวทางของหนังที่มีความเป็นไทย เวลาเราขายงานออกไปมันคือการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศออกไปพร้อมกันด้วย ผมไม่อยากให้เราส่งออกหนังผีอย่างเดียว หรือว่าหนังตลกที่ไม่ค่อยมี sense เท่าไหร่ อยากให้หนังมีมิติความซับซ้อนทางวัฒนธรรมกับความเชื่อที่สร้างสรรค์ ผมคิดซีรีส์ไว้ได้คุยกับผู้กำกับหลายท่านให้คำแนะนำว่า ส่วนใหญ่เป็น Streaming หมดแล้ว ต้องคิดถึงโรงฉายคิดถึงคนดูด้วย ขอเป็นกำลังใจให้พี่หยอง เพื่อนๆ น้องๆ ทุกคนที่ทำหนังว่า อย่าท้อแท้ท้อถอยนะครับ ถึงเวลาที่เราต้องรวมพลังกันคิดบทดีๆ แล้วก็ใช้วิธีคิดแบบสากล Think Global Act Local เพื่อให้หนังของเรามีที่ยืนบนเวทีโลก ขอบคุณครับ.
“Bad Boyz Band เด็กกว่าแล้วไง ก็หัวใจมัน I Rock you”
วันที่ 11 เมษายน 2566 มีมติออกมาว่าได้เรต 15+ แต่แผนเดิมต้องฉายหนังวันที่ 14 เมษายน 66 ตามแผนโฆษณา 14 โรง 14 จังหวัดทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องรับเรต น.15 มาก่อนเพื่อให้ทันฉาย สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามแผน แม้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการแก้ปัญหา ช่วงสุดท้ายของการเสวนา — ประชาพิจารณ์ ในวันที่ 25 เมษายน 66 คณะทำงานเพื่อการรณรงค์เรียกร้องมาตรฐานการเซนเซอร์ภาพยนตร์ไทย รู้สึกมีความหวังมากขึ้นด้วยกำลังใจจากเสียงของผู้เข้าร่วมงาน ที่ให้การตอบกลับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประหนึ่งเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แม้งานครั้งนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นเพื่อส่งถึงคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เรียบร้อยแล้ว แต่การจัดเรตของ “Bad Boyz Band” ยังคงเรต น.15 ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ทันวันฉายจริง 4 พฤษภาคม 2566 แต่ผลของการรวมพลังครั้งนี้แรงสั่นสะเทือนจะส่งถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างแน่นอน
ยอด — ดีใจที่ผู้ทำงานการเมืองมา ทำให้ได้คำตอบ ข้อเสนอแนะที่ตรงใจ แต่อยากฝากไว้ว่า ในโลกของความเป็นจริงหนังที่อยู่ใน steaming platform อาจมีเนื้อหาที่ล่อแหลมมากกว่าเรื่องนี้อีกนะ นั่นแสดงว่าคณะกรรมการไม่อยู่บนพื้นฐานในโลกของความเป็นจริงหรือเปล่า เราควรเปลี่ยนจากวิธีสอนด้วยการบอกการสั่ง เป็นคุยกันแบบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้เขาได้คิดบ้างเพื่อให้มีวุฒิภาวะทางปัญญาเป็นของตัวเอง ผมก็ผ่านการทำงานในอุตสาหกรรมนี้มานานมาก เคยเข้าไปประชุมกับหน่วยงานของรัฐหลายครั้งซึ่งก็จะมีนโยบายในการส่งเสริมตลอด เราฟังมานานมากแล้วก็ยังอยู่ที่จุดเดิม 20 ปีผ่านไป อยากเห็นวันนี้คนรุ่นใหม่ๆ มาช่วยเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง
หม่อง — ขอให้ Bad Boyz Band เป็นเรื่องสุดท้ายที่กองเซนเซอร์จะกระทำเช่นนี้ครับ
50 ปี แห่งการต่อสู้ของหนังไทยร่วมสมัย
ในเส้นทางการต่อสู้กว่าศตวรรษของภาพยนตร์ไทยร่วมสมัย หนึ่งในพี่ใหญ่ที่เป็นเสาหลักของวงการหนังไทยคือ ไฟว์สตาร์ โปรดักชัน (Five Star Production) บริษัทผู้ผลิตครบวงจร ทั้งโรงถ่าย ภาพยนตร์ ละครทีวี รายการทีวี ฯลฯ ที่สร้างสรรค์งานทุกแนวทั้งหนังตลาด — ART MOVIE เพื่อเป็นเวทีบันเทิงของคนไทย และให้โอกาสบุคลากรทุกฝ่ายได้เติบไต่ไปพร้อมกันอย่างมีคุณภาพ ไฟว์ฯ จึงมีสถานะที่เป็นทั้งสถาบันปั้นคนสร้างหนัง และบ้านหลังใหญ่ของคนในวงการหนังไทย จากปีก่อตั้ง 2516 ถึงปัจจุบัน 2566 รวม 50 ปี ผ่านบ้านไฟว์ฯ มีผลงานคุณภาพที่กลายเป็นมรดกของชาติ คือประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ามากกว่าสามร้อยเรื่อง ล้วนสร้างปรากฏการณ์ต่อเนื่อง เป็นฟันเฟืองที่สำคัญของสังคม ให้แนวคิด มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน มาจนถึงผู้บริหารรุ่นที่สามนาม อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร เป็นอีกหนึ่งความหวังของคนรุ่นใหม่ ไฟว์ฯ ยังทันสมัยและใส่ใจคุณภาพหนังอยู่เสมอ
ล่าสุด หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ประกาศให้ พฤษภาคม 2566 เป็นเดือนแห่งการร่วมจารึกตำนานผู้สร้างปรากฏการณ์ให้กับ ไฟว์สตาร์ โปรดักชัน ด้วยโปรแกรมพิเศษรวมภาพยนตร์ยอดนิยม และผลงานที่หอภาพยนตร์ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ รวม 15 เรื่อง เพื่อจัดฉายให้ประชาชนชมฟรีตลอด[5] เดือน : บ้านทรายทอง (2523), น้ำพุ (2527), ผีเสื้อและดอกไม้ (2529), บุญชูผู้น่ารัก (2530) , กระโปรงบานขาสั้น (2536), สติแตกสุดขั้วโลก (2538), เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (2546), เฉือน (2552), พี่นาค (2562), หลวงตา, คนทรงเจ้า (2532), กว่าจะรู้เดียงสา, คู่กรรม, อำแดงเหมือนกับนายริด, พี่นาค ฯลฯ และกิจกรรมลานดารา ประทับรอยมือรอยเท้าของ สุริยา เยาวสังข์ ดารานำใน “ผีเสื้อและดอกไม้” ฯลฯ พร้อมสนทนาเข้มในหัวข้อ “50 ปี ไฟว์สตาร์ โปรดักชัน” เสมือนหนึ่งผู้นำของผู้สร้างหนังไทยทุกยุค ที่ยังยืนหยัดอย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมยืนยันต่อคนรักหนังไทย และคนทำหนังรุ่นใหม่ว่า “คุณไม่ได้สู้กับทุกปัญหาอยู่เพียงลำพัง เรายังสู้เคียงข้างอย่างมีความหวังไปด้วยกัน”.
วาระ(ด่วน)แห่งชาติ
จากผลการประชาพิจารณ์ผู้เขียนเห็นด้วยกับผู้เข้าร่วมเสวนา และขอสนับสนุนแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานานต่อรัฐบาลใหม่ โดยหยิบยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขธรรมนูญเดิมอย่างเร่งด่วนเพราะล้าสมัยไม่ทันยุค และไม่เอื้อต่อการสร้างงานอย่างมีคุณภาพ เพื่อเสริมฐานใหม่ให้หนังไทยอย่างถาวร ดังต่อนี้
1. รัฐสวัสดิการสำหรับอาชีพอิสระทุกสาขาควรได้รับ ตัวอย่างเช่น ทีมงานฝ่ายผลิตภาพยนตร์ไทยที่ทำงานหนักแต่ไม่มีความปลอดภัยในสาขาวิชาชีพ ฯลฯ
2. ยกเลิกกฎการเซนเซอร์ภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้สร้างคิด-ทำงานอย่างมีอิสรภาพ
3. จัดตั้งสถาบันฝึกอบรมบุคลากรด้านการผลิตภาพยนตร์ เช่น นักออกแบบ นักแสดง เขียนบท กำกับ ฯลฯ เพื่อให้โอกาสและสรรหาผู้ที่มีศักยภาพอย่างเปิดกว้าง
4. ส่งเสริมการส่งประกวดในต่างประเทศ เพื่อเปิดตลาด เปิดโอกาสทางธุรกิจ
และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับผู้กำกับ กอล์ฟ ก้าวไกล (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์) ในเรื่องควรส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมการดูหนัง และการเสพสื่ออย่างเข้มแข็ง 4 มิติ ตามที่ได้มีรายละเอียดเสนอมาข้างต้นอย่างชัดเจนแล้วคือ
1. เปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาวิชาศิลปะทุกแขนง ทุกระดับ
2. จัดให้มีโรงหนังชุมชนเป็นสนามฝึกหัดก่อนลงแข่งในอุตสาหกรรมใหญ่
3. จัดระบบโรงภาพยนตร์และรอบฉายที่ถูกบังคับผูกขาดจากกลุ่มทุน
4. จัดระเบียบการให้ทุนอย่างมีกติกาที่เป็นธรรมและทั่วถึง
ภาพประกอบ :
[1] BBC News ไทย, ทิศทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย.
[5] หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), ภาพโปสเตอร์ ผีเสื้อและดอกไม้-อำแดงเหมือนฯ, โปรแกรม 50 ปี ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น.
- ภาพยนตร์
- หุ่นพยนต์
- กวินพร เจริญศรี
- GTH
- Grammy
- GDH 559
- สุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ
- กรรมการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
- เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์
- นิธิวัฒน์ ธราธร
- ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ
- พรรคก้าวไกล
- อิสระ ไชยศิริ
- ปาณิสรา หยาง
- เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์
- ภูมิภัทร ถาวรศิริ
- รสริน ตัญวัฒนา
- วิกร ธนากรอัครกุล
- ปัณณวิชญ์ จิรวัฒน์ธนัทกุล
- ปรรณ พานิชเจริญ
- ยอด สุขวิวัฒน์
- กฤษณนัยย์ พิรยารังสรรค์
- ฉันทนา ทิพย์ประชาติ
- พรรคเพื่อไทย
- สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
- วรนัยน์ วาณิชกะ
- พรรคชาติพัฒนากล้า
- ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
- แทนคุณ จิตต์อิสระ
- ประชาธิปัตย์
- อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร
- หอภาพยนตร์
- สหภาพแรงงานสร้างสรรค์
- เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ
- KOCCA
- Korea Creative Content Agency
- TAICCA
- TAIWAN CREATIVE CONTENT AGENCY