ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ชิงสุกก่อนห่ามจริงหรือ? : สังคมไทยก่อนประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐาน

15
มิถุนายน
2566

Focus

  • แถลงการณ์หรือคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร นอกจากแสดงออกถึงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นแถลงการณ์ที่สมบูรณ์ด้วยอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
  • ในรัชกาลที่ 5 พระประยูรญาติของพระองค์ และข้าราชการสถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน นำเสนอให้ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมีรัฐสภา ในส่วนของนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ก็มีความคิดก้าวหน้า แสดงออกในทางประชาธิปไตย เช่น ผ่านการออกนิตยสารชื่อ ดุลยภาคพจนกิจและสยามประเภท เพื่อให้สยามเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบรัฐสภา แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม้ทรงเห็นด้วยกับเหตุผลในการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่พระองค์ทรงเพียงเน้นที่การปฏิรูประบบราชการ
  • ในสมัยรัชกาลที่ 6 นายทหารชั้นผู้น้อยจำนวนหนึ่งรวมตัวกันในชื่อที่เรียกต่อมาว่าคณะ ร.ศ. 130 เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินไปเป็นแบบประชาธิปไตยแต่ไม่สำเร็จถูกฝ่ายเจ้าศักดินาปราบปรามเสียก่อน แต่ต่อมาคณะราษฎรก็ได้สืบต่อเจตนารมณ์ประชาธิปไตยด้วยการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 จนสำเร็จ
  • ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ได้มีการเรียกร้องกันทั้ง 3 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 เป็นเวลานาน 6 ทศวรรษ มิใช่ว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม แต่ (สถานการณ์) มันสุกงอมจวนจะหล่นมากกว่า

 

 

ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1

 

แถลงการณ์หรือคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของ คณะราษฎร (อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1) ดังกล่าวนี้ คือคำประกาศเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้เขียนคำแถลงการณ์นั้น ดังกล่าวว่า

ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย (ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ประเทศ มีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ)

จึงต้องปกครองโดยราษฎร (โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือ หลายๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว)

เพื่อความสุขความเจริญอย่างประเสริฐของราษฎร (ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่าศรีอาริยะนั้น ก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า)

นอกจากแถลงการณ์ฉบับนี้จะได้แสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นแถลงการณ์ที่สมบูรณ์ด้วยอริยสัจสี่ (คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ดังนี้

  • ทุกข์ “...รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรัจฉานไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอามาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ในส่วนตัวปีละหลายล้านบาท ส่วนราษฎรกว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อยแทบเลือดตากระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงิน รัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนออกจากงานอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนเรียนเสร็จแล้วและทหารปลดกองหนุนแล้วไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้ว ก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ…” นี่คือ ทุกข์
  • สมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) "...ในชั้นต้น ราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงครองอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการแลกเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังจะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้…” นี่คือเหตุให้เกิดทุกข์หรือสมุทัย
  • นิโรธ (คือความดับสนิทแห่งทุกข์หรือความสุข) “...ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะมีงานทำ ไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่าศรีอาริยะนั้น ก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า…” นี่คือความดับสนิทแห่งทุกข์หรือนิโรธ
  • มรรค (คือหนทางแก้ไขปัญหาหรือหนทางดับทุกข์) "...เพราะฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังกันตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว…” นี่คือหนทางดับทุกข์หรือมรรค

คำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นายปรีดีฯ เขียนขึ้นนี้ ไม่ใช่นายปรีดีฯ นั่งนึกเขียนเอาเองตามความพอใจอย่างอัตวิสัยก็หาไม่ หากนายปรีดีฯ เขียนขึ้นจากปรากฏการณ์ของสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริงทางภาววิสัย ดังที่ได้ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ ในหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในเวลานั้น ตัวอย่างเช่น บทความตอนหนึ่งของ หนังสือพิมพ์เจริญกรุง ฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายน 2474 ที่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นำมาเปิดเผยไว้ในหนังสือ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ว่า

 

“หนังสือพิมพ์เจริญกรุงเห็นว่า รัฐบาลไม่อาจแก้ปัญหา (เศรษฐกิจ) ได้แล้ว มีแต่สูบเลือดคนจนด้วยการจับคนไม่เสียเงินรัชชูปการไปทำงาน…”

 

หรือในหนังสือ ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ของนายทองเจือ จารุสาธร ลงวันที่ 14 มีนาคม 2474 มีความตอนหนึ่งว่า

 

“...เวลาไปที่ใด แม้แต่ชาวนาชนบทก็กล่าวถึงเศรษฐกิจการเมืองได้ยินข้อครหาอย่างธรรมดาและเดือดร้อน บ้างว่า รัฐบาลปกครองราษฎรอย่างทาส อย่างหลอกลวง อย่างสูบเลือดกันทุกหนทุกแห่ง…” ดังนี้เป็นต้น

 

ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน จากระบอบเก่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบใหม่คือประชาธิปไตยนั้น คณะราษฎรไม่ได้เป็นคณะแรกในการคิดการนั้น หากมีมาก่อนหน้านั้นหลายคณะ นับแต่ระบบรวมศูนย์อำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเริ่มแต่ปล่องควันไฟปล่องแรกของโรงสีข้าวในสยาม ชื่ออเมริกันสตีม ไรซ์มิลล์ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2401 ซึ่งเป็นโรงสีข้าวที่ชาวอเมริกันเป็นเจ้าของ และเมื่อเวลาผ่านไปปล่องควันไฟของโรงสีข้าวได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการอุตสาหกรรมและการค้าแขนงอื่นๆ ก็ติดตามมา เช่น กิจการโรงพิมพ์ (พ.ศ. 2415) กิจการเหมืองแร่ (พ.ศ. 2427) กิจการไฟฟ้า (พ.ศ. 2430) กิจการป่าไม้ (พ.ศ. 2431) กิจการรถไฟ (พ.ศ. 2433) และกิจการอื่นๆ อีก ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของชาวตะวันตก และโดยวิถีทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ทั้งนี้เป็นผลจากการที่สยามได้ถูกบีบบังคับให้จำต้องมีสัญญาทางการค้ากับนานาประเทศฝ่ายตะวันตก ซึ่งดำเนินการเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เริ่มจากสัญญา เบาว์ริง (พ.ศ. 2398) ในสมัยรัชกาลพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากลัทธิล่าอาณานิคมและการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจนี้เอง ได้เป็นผลผลักดันให้ราษฎรส่วนหนึ่งที่ได้สัมผัสกับระบบทุนนิยมที่เพิ่งแตกหน่ออ่อน ที่ติดตามมาพร้อมกับลัทธิล่าอาณานิคม ได้ก่อให้เกิดความนึกคิดที่จะได้มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองปกครองตนเอง และเพื่อจะได้ช่วยชาติให้อยู่รอดปลอดภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมที่กำลังขึ้นสู่กระแสสูงอยู่ในเวลานั้น

ประเทศในทวีปอาฟริกาทั้งทวีปได้กลายเป็นอาณานิคมของประเทศทุนนิยมตะวันตก ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ก็ได้กลายเป็นประเทศอาณานิคมของประเทศทุนนิยมตะวันตกเช่นเดียวกัน ประเทศจีนและสยามถึงแม้ว่าจะยังคงรักษาเอกราชเอาไว้ได้ แต่ก็เป็นเอกราชที่มิสมบูรณ์ และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศทุนนิยมตะวันตก ในบูรพาทิศ มีแต่ญี่ปุ่นประเทศเดียวที่รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ได้อย่างมั่นคง

และประกอบกับคนไทยอีกส่วนหนึ่งที่เคยไปศึกษาหรือรับราชการในประเทศตะวันตก และได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในประเทศนั้นๆ อันเนื่องมาจากการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

จึงทำให้คนไทยผู้รักชาติเหล่านั้น อยากเห็นประเทศชาติของตนเจริญก้าวหน้าเช่นนานาอารยประเทศ และคงรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ได้อย่างมั่นคง ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้เกิดขึ้น

เริ่มต้นจากพระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์ ที่ได้พยุงตนขึ้นสู่ระดับที่เข้าใจในกฎวิวัฒนาการของสังคม อันมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เป็นหัวหน้า ประกอบด้วย พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (ต่อมาเป็นกรมขุนทิพยลาภ) พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (ต่อมาเป็นสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ) และข้าราชการสถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน อาทิ หลวงวิเศษสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร์) ต่อมาเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา ผู้รักษากรุงเก่า ซึ่งเป็นปู่ของท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ สับเลฟท์เทอแนนท์ สะอาด สิงหเสนี (ต่อมาเป็นนายพลตรี พระยาสิทธิศัลยการ อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน แล้วได้มาเป็นพระยาสิงหเสนี สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครราชสีมา) ฯลฯ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงปรับปรุงการปกครองประเทศให้ทันสมัย มีสาระสำคัญ 3 ประการ มีข้อความบางตอนว่าดังนี้

ความซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไปนี้ มีอยู่สามข้อเป็นประธาน

  1. คือภัยอันตรายที่จะมาถึงกรุงสยามได้ ด้วยความปกครองของกรุงสยามดังเช่นมีอยู่ในปัจจุบันนี้ จะเป็นไปได้ด้วยเหตุต่างๆ ดังเช่นตัวอย่างของชาติที่มีอำนาจใหญ่ได้ประพฤติต่อชาติซึ่งหาอำนาจป้องกันมิได้
  2. คือการที่จะรักษาบ้านเมืองให้พันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยการปกครองของบ้านเมืองอย่างมีอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยทางยุติธรรมหรืออยุติธรรมของศัตรูก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงรักษาบ้านเมือง ตามทางที่ญี่ปุ่นได้เดินทางยุโรปมาแล้ว และซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีศิวิไลซ์นับกันว่า เป็นทางเลือกเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้
  3. ที่จะจัดการตามข้อสองให้สำเร็จได้จริงนั้น อาจเป็นไปได้อย่างเดียวแต่จะต้องตั้งพระราชหฤทัยว่า สรรพสิ่งทั้งปวงต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฏ์ ทุกสิ่งทุกประการไม่ว่างเว้น

สาระของหนังสือกราบบังคมทูลดังกล่าวนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เอ่ยคำว่าให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ก็ได้บอกอย่างชัดแจ้งอยู่แล้วในข้อ 2 ว่า

 

“...ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงรักษาบ้านเมือง ตามทางที่ญี่ปุ่นได้เดินทางยุโรปมาแล้ว..”

 

เดินทางยุโรปก็คือ เดินทางระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง และยังได้ย้ำในข้อ 3 ว่า

 

“..สรรพสิ่งทั้งปวงต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฏ์ ทุกสิ่งทุกประการไม่ว่างเว้น…”

 

เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฏ์ก็คือปฏิวัติเปลี่ยนระบอบนั้นเอง คำอุกฤษฏ์ในเวลานั้นหมายถึง REVOLUTION แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านไม่ทรงเห็นด้วย พระองค์ท่านจึงใช้คำว่า REFORM

ต่อหนังสือกราบบังคมทูลของผู้รักชาติและปรารถนาดีต่อชาติดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นในความปรารถนาดี แต่ระแวงพระทัย พระองค์ท่านไม่เห็นด้วยที่จะทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างญี่ปุ่น หรือปฏิวัติประชาธิปไตย (นายทุน) ไม่เห็นด้วยที่จะทรงสูญเสียพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างกษัตริย์เมจิ พระองค์รับได้แค่การปฏิรูประบบราชการเสียใหม่ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาตอบคำกราบบังคมทูลตอนหนึ่ง ดังนี้

 

“...เพราะฉะนั้นการต้องการในเมืองเราเวลานี้ ที่เป็นตัวการสำคัญคือคอเวินเมนต์รีฟอม[1] จำเป็นที่จะให้พนักงานของราชการแผ่นดินทุกๆ กรมทำการให้ได้เนื้อเต็มหน้าที่ และให้ได้ประชุมปรึกษาหารือกันทำการเดินให้ถึงกันโดยง่ายโดยเร็ว ทำการรับผิดชอบในหน้าที่ของตัว หลีกลี้ไม่ได้ นี้เป็นความต้องการหนึ่ง…”

“รวมความก็อย่างเดียว คือคอเวินเมนต์รีฟอมนี่แล เป็นต้นเหตุที่จะจัดการทั้งปวงได้สำเร็จตลอด…”

 

ต่อมาได้มีนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ที่มีความคิดก้าวหน้าและยืนหยัดอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชน 2 ท่าน

ท่านแรกคือท่านเทียนวรรณ ซึ่งมีฉายาว่า “วรรณาโภ” ท่านผู้นี้มีความคิดเห็นทางประชาธิปไตย ได้ออกนิตยสารชื่อ ดุลยภาคพจนกิจ เรียกร้องให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จัดให้มีการปกครองโดยรัฐสภาตามแบบอย่างอารยประเทศ ดังที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือ ดุลยภาคพจนกิจ เล่มที่ 6 วันที่ 8 กันยายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2450) มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

 

“ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย
ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก
บำรุงรักษาชาติสอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี
จงเป็นศิวิไลซ์จริงอย่านิ่งนาน
ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก
จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้านาน
รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย”

 

นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยกับเทียนวรรณอีกท่านหนึ่ง คือ ก.ส.ร. กุหลาบ ได้ออกนิตยสารชื่อ สยามประเภท แคะไค้ระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งฝ่ายเจ้าศักดินาเห็นว่า การแคะไค้เช่นนี้เป็นอันตรายต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงหาทางกำจัดและทำลายความเชื่อถือของราษฎรที่มีต่อความคิดเห็นของ ก.ส.ร. กุหลาบ โดยใส่ความโฆษณาแพร่ข่าวว่า ก.ส.ร. กุหลาบ มีจิตฟุ้งซ่านเสียสติ

ดังกล่าวแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับเหตุผลในการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอย่างญี่ปุ่น แต่พระองค์ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างกษัตริย์เมจิของญี่ปุ่น พระองค์ทรงทำได้อย่างมากก็แค่การปฏิรูประบบราชการ ซึ่งเนื้อแท้แล้วเป็นการกระชับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มั่นคงยิ่งขึ้น เพราะการปฏิรูปภายในระบอบไหน ก็เป็นการกระทำให้ระบอบนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น และก็ยังคงเป็นระบอบนั้นอยู่ตามเดิม ดังที่พระองค์ได้ทรงอธิบายไว้ในการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

 

“อนึ่งพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้ ไม่ได้มีปรากฏในกฎหมายอันใดอันหนึ่ง ด้วยเหตุถือว่าเป็นที่ล้นพ้น ไม่มีข้อใด สิ่งอันใดหรือผู้ใดจะบังคับขัดขวางได้ แต่เมื่อว่าตามความที่เป็นจริงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติการอันใด ก็ต้องเป็นไปตามทางที่สมควรและที่เป็นยุติธรรม

เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าไม่มีความรังเกียจอันใดเลย ซึ่งจะมีกฎหมายกำหนดพระเจ้าแผ่นดินเช่นประเทศทั้งปวงมีกำหนดต่างๆ กัน เมื่อจะกระทำกฎหมายสำหรับแผ่นดินให้เป็นหลักฐานทั่วถึง ก็ควรจะต้องว่าด้วยพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นหลักฐานไว้ แต่การที่ควรจะกำหนดอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าต้องขอชี้แจงความเห็นอันมิใช่ความเห็นที่เข้ากับตัวไว้โดยย่อว่า

พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ หมายเอาประเทศยุโรป ซึ่งปกครองบ้านเมืองมีกำหนดพระบรมราชานุภาพต่างๆ กัน ด้วยอาศัยเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยความไม่พอใจของราษฎร จึงได้มีข้อบังคับสกัดกั้นเป็นชั้นๆ ตามลำดับเหตุการณ์ซึ่งมีขึ้นในบ้านเมืองนั้นๆ เหตุการณ์ทั้งปวงนั้นก็ยังไม่มีไม่เป็นได้ทั่วถึงกัน เพราะฉะนั้นแบบอย่างจึงยังไม่คงเป็นแบบเดียวกันทั่วไปได้ทุกประเทศ

ส่วนที่กรุงสยามนี้ยังไม่มีเหตุการณ์อันใดซึ่งเป็นการจำเป็น แล้วจึงไม่เป็นขึ้นเหมือนประเทศอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ราษฎรเป็นผู้ขอให้ทำ เจ้าแผ่นดินจำใจทำ ในเมืองเรานี้เป็นแต่พระเจ้าแผ่นดินคิดเห็นว่าควรจะทำ เพราะจะเป็นการเจริญแก่บ้านเมือง และเป็นความสุขแก่ราษฎรทั่วไปจึงได้คิดทำเป็นการผิดกันตรงกันข้าม

และการที่จะปกครองบ้านเมืองเช่นประเทศสยามนี้ตามอำนาจอย่างเช่นพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ คือ ประเทศยุโรป ก็จะไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ และจะไม่เป็นที่ชอบใจของราษฎรทั่วหน้าด้วย เหมือนอย่างถ้าจะมีปาลีเม้นต์[2] จะไม่มีผู้ใดสามารถเป็นสมาชิกได้สักกี่คน และโดยว่าจะมีสมาชิกเหล่านั้นเจรจาการได้ ก็ไม่เข้าใจในราชการทั้งปวงทั่วถึง เพราะไม่มีความรู้และการฝึกหัดอันใดแต่เดิมมา ก็คงจะให้การทั้งปวงไม่มีอันใดสำเร็จไปได้ และจะช้าเป็นที่หวาดหวั่นของราษฎรผู้ซึ่งไม่เข้าใจเรื่องราวอันใดเพราะไม่ได้นึก ไม่ได้ต้องการเกิดขึ้นในใจเลย ราษฎรคงจะเชื่อพระเจ้าแผ่นดินมากกว่าผู้ซึ่งจะมาเป็นแมมเบอร์ออฟปาลิเมนต์[3] เพราะทุกวันนี้ราษฎรย่อมเชื่อถือพระเจ้าแผ่นดินว่าเป็นผู้อยู่ในยุติธรรม และเป็นผู้รักใคร่คิดจะทำนุบำรุงราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข ยิ่งกว่าผู้อื่นทั้งสิ้นทั่วหน้ากันเป็นความจริง

เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรว่า ราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินควรจะกำหนดตามแบบเดิม แต่ในข้อนี้เป็นข้อจริงอย่างไร คือเหมือนหนึ่งไม่กำหนดตามคำพูดอันนอกๆ แบบ เช่นเรียกพระนามว่า เจ้าชีวิต ซึ่งเป็นที่หมายว่ามีอำนาจอันจะฆ่าคนให้ตายโดยไม่มีความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ซึ่งความจริงสามารถจะทำได้ แต่ไม่ทำเลยนั้น ก็จะเป็นการสมควรแก่บ้านเมืองในเวลานี้อยู่แล้ว”

 

จากพระบรมราชาธิบายดังกล่าวนี้ พระองค์ทรงยอมรับในหลักการทั่วไปในการจำกัดพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินในประเทศยุโรป ยกเว้นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยาม พระองค์จึงทรงกล่าวว่า

 

“...เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรว่า ราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน (สยาม) ควรกำหนดตามแบบเดิม…”

 

ตามแบบเดิมก็คือ

 

“พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้ ไม่ได้ปรากฏในกฎหมายอันหนึ่งอันใด ด้วยเหตุถือว่าเป็นที่ล้นพ้น ไม่มีข้อใดหรือผู้ใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้”

 

ซึ่งก็หมายถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง

รัชกาลที่ 5 สวรรคตไปแล้วแต่การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยหาได้ยุติลงไม่ หากแต่ได้ขยายกว้างขวางออกไปทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ได้มีนักคิดนักเขียนมากท่านที่ได้แสดงทรรศนะของตนลงในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและฝรั่ง เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ล้าหลัง ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าอย่างนานาอารยประเทศ

จนกระทั่งได้มีการรวมตัวกันขึ้นของนายทหารชั้นผู้น้อยจำนวนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาว่า คณะ ร.ศ. 130 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรวมตัวกันเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ในสมัยนั้นเรียกการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นว่า เก็กเหม็ง เช่นเดียวกับที่ ดร.ซุนยัดเซ็น ทำเก็กเหม็งในประเทศจีน (ปฏิวัติหรืออภิวัฒน์)

ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ หนึ่งในคณะเก็กเหม็ง ได้บันทึกเรื่องราวของคณะ ร.ศ. 130 ไว้ในหนังสือ หมอเหล็งรำลึก (ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ - เหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะ ร.ศ. 130) มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

 

“...สาเหตุสำคัญยิ่งของความคิดปฏิวัติอยู่ที่มีความรักชาติยิ่งชีวิต และมีความปรารถนาอย่างมุ่งมั่น ที่จะให้ชาติของตนเข้าถึงสมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกด้าน จึงต้องเป็นหน้าที่ของคนไทยเท่านั้น ที่จะคิดชำระสะสางความเสื่อมสลายของสังคมชาติ ผดุงความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของปวงชนชาวไทย และแก้ไขการปกครองให้เกิดแต่ตราชูสมองของผู้ที่เป็นเจ้าของชาติร่วมกัน

โดยเฉพาะสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งสมัยนั้นเรียกแยกกันว่าการกสิกรรม การอุตสาหกรรม และการพาณิชย์ ยังหาได้ดำเนินไปเยี่ยงอารยประเทศทั้งหลายไม่ อย่างน้อยก็เยี่ยงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเคยเดินคู่กันมาแท้ๆ กับประเทศสยามสมัยที่ปิดเมืองท่า

แต่ครั้นญี่ปุ่นเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบปรมิตตาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบราชาธิปไตยใต้กฎหมายแล้ว มิช้ามินานเท่าใดนัก ความเจริญก้าวหน้าก็วิ่งเข้าหาญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว…”

 

แต่ไม่ทันที่คณะ ร.ศ. 130 จะลงมือทำการปฏิวัติตามความตั้งใจ ก็ถูกฝ่ายเจ้าศักดินาปราบปรามเสียก่อน และถึงแม้ว่า คณะ ร.ศ. 130 จะถูกปราบไปแล้ว ก็หาทำให้ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ล้าหลัง ไปสู่ระบอบประชาธิปไดยที่ก้าวหน้าสะดุดหยุดลงไม่ แต่ตรงกันข้าม ความคิดดังกล่าวได้สืบทอดกันมาไม่ขาดสาย นับแต่ลัทธิล่าอาณานิคมได้แผ่เข้ามาถึงประเทศไทย พร้อมด้วยหน่ออ่อนของระบบทุนนิยม

ครั้นแล้ว คณะราษฎรจึงได้ปรากฏตัวขึ้น และสืบต่อเจตนารมณ์ประชาธิปไตยด้วยการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ดังวาทะของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ได้กล่าวกับขุนทวยหาญพิทักษ์ในเวลาต่อมาว่า “ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม” หรือดังที่นายปรีดีฯ ได้กล่าววาทะต่อคณะ ร.ศ. 130 ในโอกาสเดียวกันนี้ว่า

 

“พวกผมถือว่า การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำสืบต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ. 130 ว่าพวกพี่ๆ ต่อไป”

 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ได้มีการเรียกร้องกันตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นเวลายาวนาน 6 ทศวรรษ 3 รัชกาล แล้วอย่างนี้หรือที่จะมากล่าวหากันอย่างหน้าด้านๆ แบบหมาป่าว่า คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ทั้งๆ ที่มันสุกหง่อมจวนจะหล่นอยู่แล้ว

 

หมายเหตุ : ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ

ที่มา : สุพจน์ ด่านตระกูล. “ผู้อภิวัฒน์,” ใน ปรีดีคิด-ปรีดีเขียน (กรุงเทพฯ: เรียนแก้วการพิมพ์, 2543) น. 6-18.


[1] Government reform

[2] Parliament

[3] Member of parliament