ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

24 มิถุนายน 2475: อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย

24
มิถุนายน
2564
หมุดคณะราษฎร ภาพ: pantip.com
หมุดคณะราษฎร
ภาพ: pantip.com

 

เวลาย่ำรุ่งของวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี “คณะราษฎร” ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎรได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

แผนอภิวัฒน์อย่างสันติ

 

 

แม้คณะราษฎรจะมีสมาชิกระดับผู้ก่อการเพียง 99 คน แต่ก็สามารถทำการยึดอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน ทั้งนี้เพราะการทำงานของสมาชิกคณะราษฎรแต่ละสายมีการประสานงานตามแผนอย่างรัดกุมรอบคอบและฉับพลันกล่าว คือ

1. นับตั้งแต่การเลือกวันลงมืออภิวัฒน์ ในวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพราะถ้าหากทำการอภิวัฒน์ในวันที่พระองค์ยังทรงประทับอยู่ในพระนครแล้ว บรรดาทหารฝ่ายรัฐบาลอาจทำการโต้ตอบแบบสู้ตายถวายชีวิต ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสงครามกลางเมืองมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก หรืออาจเป็นเหตุให้จักรวรรดินิยมอังกฤษ ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงได้

2. แผนจับเสือมือเปล่า เนื่องจากทหารในกองทัพสยามไม่เคยมีประสบการณ์ในการปราบกบฏมาก่อน จึงเป็นจุดอ่อนที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของคณะราษฎรนำมาคิดวางแผนกลลวงระดมทหารให้เข้าร่วมการอภิวัฒน์

ก่อนออกจากบ้านราวสามนาฬิกาของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ‘พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา’ หัวหน้าคณะราษฎรได้เขียนจดหมายลาภรรยาว่า “ถ้าไม่ได้กลับมาพบกันอีกก็ให้ถือเสียว่าได้เสียสละชีวิตเพื่อรับใช้ชาติ” ท่านได้พบกับ ‘พันเอกพระยาทรงสุรเดช’ และ ‘พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ์’ ตามที่นัดหมายไว้ที่ริมทางรถไฟ ถนนประดิพัทธ์ เพื่อประชุมกันเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะปฏิบัติการตามแผนอภิวัฒน์

เปิดฉากโดยสามทหารเสือของคณะราษฎร ตรงเข้ายึดกรมทหารม้าที่ 1 ซึ่งเป็นกำลังหลักของกองทัพที่ 1 ในพระนคร (ผู้บัญชาการกองทัพที่ 1 คือนายพลตรีพระยาพิไชยสงคราม) โดยนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาสั่งทหารเวรเปิดประตูกรมทหาร พร้อมประกาศอย่างขึงขังว่าเกิดกบฏขึ้นแล้วในพระนคร

ท่านเข้าไปปลุกทหารทุกคนในโรงนอนให้ตื่นขึ้นเตรียมพร้อมทันที เหล่าทหารชั้นผู้น้อยหลงเชื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ทั้งที่มิได้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ด้วยเหตุนี้ นายทหารระดับชั้นนายพันของคณะราษฎรเพียง 3 นาย ก็สามารถระดมกำลังทหารทั้งกรมนับพันนาย ไปรวมพลที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5

อันเป็นการจับสือมือเปล่า นอกจากเป็นหลักประกันว่ากองทหารกรมนี้จะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการอภิวัฒน์แล้ว ยังสามารถเกลี้ยกล่อมให้กองทหารหลักนี้ร่วมมือกับการอภิวัฒน์ด้วย

ฝ่าย ‘นายพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์’ แม้จะเป็นนายทหารอาวุโสของคณะราษฎรผู้เดียวที่เป็นผู้คุมกองกำลังทหาร คือผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ได้ยกกำลังพลของตนทั้งกรมเข้าร่วมสมทบในเช้าตรู่วันนั้นเอง ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย คือ ‘พระเหี้ยมใจหาญ’ ได้สั่งให้กองกำลังนักเรียนนายร้อยมาฝึกหัดในบริเวณลานพระราชวังดุสิต ในขณะเดียวกันก็มีกองร้อยของกรมทหารช่างนำทหารฝึกใหม่ไปร่วมสมทบซึ่งเป็นไปตามคำขอร้องของนายพันเอกพระยาทรงสุรเดชต่อผู้บังคับบัญชาของโรงเรียนนายร้อยและของกรมทหารช่าง โดยอ้างว่าจะมีการฝึกทหารกับรถรบให้ชมและทางฝ่ายทหารเรือ นำโดย ‘นายนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย’ ระดมกำลังทหารเรือไปชุมนุมพลรออยู่ โดยการออกคำสั่งลวงกบฏ

ดังนั้นในที่ชุมนุมของทหารจำนวนราว 2,000 คน ณ พระบรมรูปทรงม้า ส่วนใหญ่จึงยังไม่เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เว้นแต่นายทหารของคณะราษฎร ซึ่งแทรกอยู่ในที่ประชุมพล โดยมีรถหุ้มเกราะคอยคุมเชิงอยู่โดยรอบ

3. แผนอารักขาบุคคลสำคัญ คือ แผนจับกุมบุคคลผู้เป็นหัวใจในการกุมอำนาจในพระนคร นั่นคือ ‘จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรกรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร” มีพระราชอำนาจในพระนครแทนองค์พระมหากษัตริย์ แผนการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะหากกระทำได้สำเร็จ จะช่วยให้คณะผู้ก่อการเองมีความปลอดภัยและมีข้อต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

ผู้รับผิดชอบแผนอารักขา คือ นายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ์กับคณะซึ่งประกอบด้วยนักเรียนนายร้อยทหารม้า ทหารปืนใหญ่และทหารเรือ รวมเป็นชุดปฏิบัติการณ์ตามแผน ซึ่งสามารถทำการได้สำเร็จแม้จะมีเรื่องการกระทบกระทั่งกับ ‘พระยาอธิกรณ์ประกาศ’ อธิบดีกรมตำรวจซึ่งในขณะนั้นกำลังเข้าเฝ้าถวายรายงานอยู่ที่วังบางขุนพรหม

หลังจากนั้นได้มีการจับกุมบุคคลสำคัญคนอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วยเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า 2 พระองค์ สมเด็จกรมพระยา 1 พระองค์ ได้นักเรียนนายร้อยมาช่วยเหลือการฝึกหัด องค์เจ้า 3 พระองค์ หม่อมเจ้า 6 พระองค์ หม่อมในสมเด็จนายทหารและนายตำรวจระดับพระยา 10 นาย ข้าราชการระดับคุณพระ 1 คน ผู้ได้รับการอารักขาเป็นตัวประกันทั้งสิ้นถูกควบคุมรวมกันไว้ทั้งสิ้น 25 ชีวิต ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับอำนาจรัฐเก่าต่อไป

4. แผนตัดการสื่อสาร เป็นภารกิจของ ‘นายร้อยโทประยูร ภมรมนตรี’ และคณะได้แก่ ‘หลวงโกวิทอภัยวงศ์’ ‘นายวิลาศ โอสถานนท์’ และ ‘นายประจวบ บุนนาค’ ได้เข้าทำการตัดสายโทรเลขกับโทรศัพท์ พร้อมกับนำกองทหารเรือ ซึ่งนำโดย ‘นายเรือเอกหลวงนิเทศ’ ยึดที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข ทำให้กองกำลังของรัฐบาลไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้

 

 

เมื่อบรรลุแผนการที่วางไว้ จนมั่นใจว่าจะสามารถยึดกุมอำนาจได้แล้ว นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ปรากฏตัวในที่ชุมนุมทหาร ต่อเบื้องพระพักตร์พระบรมรูปทรงม้าสมเด็จพระปิยมหาราช และต่อหน้าบรรดาทหารหาญในลานพระราชวังดุสิต หัวหน้าคณะราษฎรได้กล่าวสุนทรพจน์ มีใจความว่า

“เพื่อนทหารทั้งหลาย ในการที่เรามาร่วมชุมนุมกันที่นี่ ขอเรียนให้เพื่อนทหารทราบว่า บัดนี้ บ้านเมือง และประเทศชาติของเรากำลังประสบความวิปโยค คือการเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ การเงินฝืดเคือง คนว่างงานเต็มบ้านเต็มเมือง และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวดุลราชการออกลดเงินเดือนราชการลง ยุบกองทหาร รวมทั้งได้มีการปลดทหารประจำการลงเป็นจำนวนมาก และเลวร้ายกว่านี้ ชาวนาจังหวัดต่างๆ ได้ทำฎีการ้องทุกข์ขอเลิกเก็บภาษีอากรเช่านาในปีนี้ เพราะฝนแล้งทำนาไม่ได้ 

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำการเงินฝืดเคืองนั้น ข้าพเจ้าทราบความเศร้าสลดใจว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวได้ร่างพระราชบัญญัติเก็บภาษีอากรขึ้นอีกหลายชนิด ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการทารุณร้ายกาจแก่ราษฎรอย่างร้ายแรง รัฐบาลก็ว่ายากจน ถึงกับดุลราชการออก แล้วประชาชนเล่า ก็มีจนค่นแค้นไม่ผิดแผกไปกว่ารัฐบาลเหมือนกัน การเก็บอากรแก่ราษฎรในยามนี้หาบังควรไม่

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่สามารถแก้ไขภาวะเศรษฐกิจได้ ปล่อยให้อาณาประชาราษฎร และประเทศชาติประสบชะตากรรมไปตามลำพังตนเอง หาได้คิดหาทางแก้ไขบูรณะบ้านเมืองให้ดีขึ้นไม่ ปล่อยให้ชาวไร่ชาวนา และเศรษฐกิจการค้าเป็นไปตามยถากรรม

เหตุการณ์ที่ได้เป็นเช่นนี้ ก็สืบเนื่องมาจากการปกครองระบอสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือองค์พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจปกครองด้วยพระองค์เอง ใครจะคัดค้านหรือออกความคิดเห็นอย่างไรมิได้ทั้งสิ้น การปกครองด้วยอำนาจเด็ดขาดแบบนี้ ในยุโรป และเอเชีย เกือบจะไม่มีอยู่แล้ว

ท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินได้ฟัง ได้อ่านประวัติศาสตร์มาแล้ว คงจะได้ทราบว่าทั้งในยุโรปและเอเชีย ก็ได้มีการปฏิวัติล้มล้างอำนาจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่อย่างโกลาหลวุ่นวาย เช่นที่ประเทศญี่ปุ่น พระเจ้าจักรพรรดิเห็นดีเห็นชอบ จึงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนให้ปกครองกันเอง พระเจ้าจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นทรงลดพระราชอำนาจลงมาเป็นกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ประเทศจีนก็ได้โค่นลัมราชบัลลังก์แมนจูลง รัสเซียก็ได้มีการโค่นล้มราชวงศ์โรมานนอฟ ประเทศดังกล่าวนี้ แต่เดิมเป็นประเทศที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือกษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ปรากฏว่าบ้านเมืองของเขาเหล่านั้น เจริญก้าวหน้าไปด้วยดี เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น

เมื่อความเป็นจริงและเหตุการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ การที่เราปล่อยให้บ้านเมืองวุ่นวายปั่นป่วน และเป็นไปตามยถากรรมนั้น เป็นการมิบังควรอย่างยิ่ง

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ เรามิได้มุ่งหมายทำลายองค์พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างประเทศรัสเซีย หรือเปลี่ยนเป็นมหาชนรัฐก็หามิได้ เรายังคงมีพระมหากษัตริย์อยู่เช่นเดิม เป็นแต่เพียงว่าองค์พระมหากษัตริย์นั้นทรงสถิตเสถียรอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษ จุดมุ่งหมายอันใหญ่ยิ่งของคณะผู้ก่อการคือจะแก้ไขการตกต่ำในทางเศรษฐกิจ วางโครงการเศรษฐกิจให้คนมีงานทำทั่วประเทศ จะจัดสรรเสถียรภาพทางการคลังให้ดีขึ้น จะส่งเสริมการศึกษาให้แพร่หลายและกว้างขวางยิ่งขึ้น ตลอดจนประกันสวัสดิภาพของสังคมให้เป็นไปโดยความยุติธรรม

เพราะฉะนั้น เพื่อนทหารและพี่น้องทหารทั้งหลาย ในการที่ได้มาประชุมร่วมกันในวันนี้ ต้องถือว่าเป็นวันศุภนิมิต และเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เราจะต้องร่วมเป็นร่วมตาย ร่วมกันกู้ชาติ กู้ประเทศ เพื่อทำการปฏิวัติ พลิกแผ่นดิน โดยเข้ายึดพระนคร และจับตัวเจ้านาย และบุคคลสำคัญไว้เป็นประกันเพื่อประเทศชาติ จึงหวังว่าเราจะช่วยกัน เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง และเอกราช ตลอดจนเสรีภาพของปวงชนทั้งหลาย ขอให้ทุกคนปฏิบัติการโดยเคร่งครัด เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองของเราที่จะอยู่ต่อไปนี้”

จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุนเสนา และนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช ได้บัญชาให้หน่วยต่างๆ เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญต่างๆ และส่งรถถังไปตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ส่วนตามสถานเอกอัคราชทูตที่อยู่ในประเทศนั้น ได้ส่งกำลังไปอารักขาไว้อย่างแข็งแรงป้องกันการแทรกแซงที่ตามมา

ในตอนสายของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นเอง ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งอยู่ในเรือที่ลอยลำอยู่ในคลองบางลำพู พร้อมกับใบปลิวใต้ดิน “คำประกาศคณะราษฎร” ซึ่งแอบพิมพ์ที่โรงพิมพ์นิติสาสน์ของเขา 

 

 

ในค่ำคืนวันวาน หากการอภิวัฒน์ไม่สำเร็จ เขาก็จะนำใบปลิวใต้ดินทั้งหมดถ่วงลงน้ำ แต่เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าฝ่ายทหารของคณะราษฎรได้ยึดอำนาจรัฐไว้ได้แล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ จึงทำการแจกจ่ายใบแถลงการณ์ “คำประกาศคณะราษฎร” ออกสู่สาธารณชน มีใจความโดยย่อว่า

คณะราษฎรจะจัดการปกครองโดยมีสภา เพื่อจะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น จะอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งประกาศว่าการปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จะต้องจัดวางโครงการโดยอาศัยหลักวิชา ตามนโยบายหลัก 6 ประการ ดังต่อไปนี้

1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2) จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3) ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

การอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติสู่พระนครเพื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายให้รัฐธรรมนูญ

เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจรัฐสำเร็จแล้ว ได้แต่งตั้งให้นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากฝ่ายเจ้านาย โดยในเวลาเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นเอง สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรกรมพระนครสวรรค์ฯ ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีประกาศให้ทุกฝ่ายตั้งอยู่ในความสงบ ภายใต้อำนาจรัฐของคณะราษฎร

คำประกาศของผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร

“ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามมีธรรมนูญการ ปกครองแผ่นดินนั้น เจ้าขอให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเสียเนื้อคนไทยด้วยกันโดยไม่จำเป็น”

(ลงนาม) บริพัตร

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การอภิวัฒน์ประสบผลสำเร็จทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารของคณะราษฎรมอบหมายให้นายนาวาตรีหลวงศุภชลาศัย ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยเป็นผู้นำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลอัญเชิญพระสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติสู่พระนคร เพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสืบไป

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในวันถัดมาคือวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารของคณะราษฎรว่า

“ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญจึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิดนานาประเทศก็คงไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งคงจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ…”

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จจากวังไกลกังวล หัวหิน กลับพระนครโดยขบวนรถไฟพิเศษ ถึงสถานีรถไฟจิตรลดา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา 0.37 นาฬิทา แล้วเสด็จประทับที่วังสุโขทัย จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนคณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย เวลา 11.00 น. ของวันที่ 26 มิถุนายน มีการนำร่างกฎหมาย 2  ฉบับขึ้นถวาย คือ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” และ “พระราชกำหนดนิรโทษกรรม”

ขณะนั้นยังมิได้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่จำกัดพระราชอำนาจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงยังทรงสามารถที่จะกระทำการใดๆ แทนปวงชนชาวสยามได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่มีบุคคลที่ได้รับอำนาจให้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวสยามเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในทันที แต่ได้ทรงขอตรวจพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติฉบับนั้นว่า “ชั่วคราว” ซึ่งมีความหมายว่าการจัดรูปการปกครองของระบอบใหม่ มิใช่สิ่งที่คณะราษฎรจะกำหนดได้แต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ต้องเป็นการประนีประนอมต่อกันระหว่างพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของอำนาจเดิมกับฝ่ายประชาชนผู้เป็นองค์อธิปัตย์ใหม่

 

ภาพ: หนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์
ภาพ: หนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์

 

ที่มา: สันติสุข โสภณสิริ. “การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ กำเนิดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์: 2556), น.29-56

หมายเหตุ: ตั้งชื่อเรื่อง และจัดรูปแบบตัวอักษรโดยบรรณาธิการ