ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร: ว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์

23
เมษายน
2564

หมวดที่ ๗
การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์

รัฐบาลกลางคุมไม่ทั่วถึง

แม้ตามหลักรัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียเองก็ดี แต่ในประเทศที่กว้างขวางมีพลเมืองกว่า ๑๑ ล้านคน ดั่งประเทศสยามนี้ การประกอบเศรษฐกิจจะขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเสียทั้งนั้นแล้วการควบคุมตรวจตราอาจจะเป็นไปโดยทั่วถึงไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องแบ่งการประกอบเศรษฐกิจนี้เป็นสหกรณ์ต่างๆ 

สมาชิกสหกรณ์ได้รับเงินเดือน 

ในสหกรณ์หนึ่งๆ นั้น ราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์จะได้รับเงินเดือนจากสหกรณ์นั้นตามอัตรา และตนจำต้องทำงานตามกำลังความสามารถ เว้นไว้แต่เจ็บป่วยหรือพิการ หรือชราก็จะได้รับเบี้ยบำนาญ

รางวัลพิเศษ

สหกรณ์นี้จะได้ประกอบการเศรษฐกิจตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ เช่น สหกรณ์ในทางกสิกรรม ก็จะประกอบกสิกรรม เช่น การเพาะปลูก พืชพันธุ์ การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ และกระทำกิจการอื่นเมื่อมีแรงงานเหลืออยู่ เช่น การสร้างถนนหนทาง การสร้างบ้าน และ สถานที่ในสหกรณ์นั้น

ราษฎรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ นอกจากจะได้รับเงินเดือนประจำตามอัตรา ยังคงได้รับเงินรางวัลพิเศษตามผลแห่งการที่สหกรณ์นั้นทำได้อีกสถานหนึ่งด้วย วิธีนี้ไม่ว่าคนยากจนหรืออนาถา ก็ย่อมเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้ ซึ่งต่างกับสหกรณ์ซึ่งรัฐบาลจัดอยู่ในปัจจุบัน คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้นจึงจะเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้ส่วนชาวนาที่ต้องเช่านาทำ อันมีจำนวนมากในเวลานี้ ไม่มีโอกาสที่จะเป็นสมาชิกสหกรณ์

สหกรณ์จะมีอาณาเขตเท่าใด และ จะมีสมาชิกสักเท่าใดนั้น ก็แล้วแต่สมาชิกของสหกรณ์ประการหนึ่ง เช่น สหกรณ์อุตสาหกรรม ย่อมมีสมาชิกที่เป็นคนงานของอุตสาหกรรมนั้นตามแต่อุตสาหกรรมจะใหญ่น้อยปานใด และ สหกรณ์ในทางกสิกรรมก็สุดแท้แต่ความเหมาะสมแห่งการที่จะแบ่งเขตที่ดินที่จะประกอบกสิกรรมว่าจะควรเพียงใด และ จะต้องใช้คนงานเท่าใดจึ่งจะควบคุมและใช้วิชาเทคนิคได้โดยสะดวก

ร่วมในกิจการต่างๆ

สหกรณ์เหล่านี้ ผู้เป็นสมาชิกของสหกรณ์ย่อมร่วมกันประกอบการเศรษฐกิจครบรูป คือ

๑. ร่วมกันในการประดิษฐ์ (Production) โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและเงินทุน สมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง

๒. ร่วมกันในการจำหน่ายและขนส่ง (Circulation) กล่าวคือ ผลที่สหกรณ์ทำได้นั้น สหกรณ์ย่อมทำการจำหน่ายและขนส่งในความควบคุมของรัฐบาล

๓. ร่วมกันในการจัดหาของอุปโภคและบริโภค คือ สหกรณ์จะเป็นผู้จำหน่ายของอุปโภคและบริโภคแก่สมาชิกเช่นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แต่อาหารนั้นไม่จำเป็นที่สหกรณ์จะต้องทำอาหารสุกจำหน่าย สหกรณ์อาจจำหน่ายอาหารดิบ เช่น ข้าวสาร เนื้อดิบ เหล่านี้ ให้สมาชิกซื้อไปจัดปรุงเองตามความชอบ แต่ถ้าสมาชิกต้องการความสะดวก จะซื้ออาหารที่สำเร็จแล้วจากสหกรณ์ก็ได้ตามใจสมัคร

๔. ร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่ คือ สหกรณ์จะได้จัดสร้างสถานที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล สมาชิกครอบครัวหนึ่งก็จะมีบ้านอยู่หลังหนึ่ง และปลูกตามแผนผังของสหกรณ์ ให้ถูกต้องตามอนามัย และ สะดวกในการที่จะจัดการปกครองและระวังเหตุภยันตราย

เทศบาล สาธารณสุข การศึกษา การทหาร

เมื่อราษฎรได้รวมกันเป็นสหกรณ์ มีบ้านอยู่เป็นหมู่ด้วยกันแล้ว การจัดให้สหกรณ์ได้มีการปกครองตามแบบเทศบาล (Municipality) ย่อมทำได้สะดวก ตลอดจนการอนามัยและสาธารณสุข เช่น สหกรณ์จะได้จัดให้มีแพทย์ออกข้อบังคับว่าด้วยการรักษาอนามัยและการศึกษาอบรมหมู่คนก็ทำได้ง่าย เพราะสมาชิกอยู่ใกลัๆ กัน เมื่อเสร็จจากการทำงาน วันหนึ่งๆ สหกรณ์อาจออกข้อบังคับให้มาเรียนหรืออบรม การเรียนอาจเป็นโดยวิธีหนังสือ หรือ วิธีแสดงภาพ ฉายภาพ และ การแสดงอื่นๆ การระงับปราบปรามโจรผู้ร้ายจะสะดวก 

นอกจากนี้ทางทหารอาจอาศัยสหกรณ์เป็นเครื่องมือที่จะอบรมวิชาทหารแก่บุคคลที่ก่อนถูกเกณฑ์ทหาร หรือ พวกกองเกินอัตรา (Preparation Militaire) การเกณฑ์ทหาร การระดมพลเหล่านี้ ย่อมสะดวกด้วยประการทั้งปวง ฯลฯ

หมวดที่ ๘
รัฐบาลจะจัดให้มีการเศรษฐกิจชนิดใดบ้างในประเทศ

ป้องกันการปิดประตูค้า

รัฐบาลจะต้องถือหลักว่า จะต้องจัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น ซึ่งในที่สุดประเทศไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภยันตรายอันเกิดจากการปิดประตูการค้าได้ เมื่อเรามีสิ่งที่ต้องการภายในประเทศครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว แม้จะต้องถูกปิดประตูค้าก็ไม่เป็นการเดือดร้อนอันใด ผู้ที่หลงเชื่อในลัทธิอาดามสมิทว่าประเทศต่างๆ จะต้องแบ่งแยกการงานกัน ประเทศใดทำกสิกรรมก็ทำแต่กสิกรรม ไม่ต้องประกอบอุตสาหกรรมนั้น ความจริงเป็นหลักที่ดีใน เมื่อประเทศต่างๆ สุจริตต่อกัน ไม่มีการปิดประตูค้าหรือกดราคาแกล้งกัน แต่ในปัจจุบันนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่

ความเห็นนักเศรษฐวิทยาเยอรมัน

เราจำต้องดำเนินตามหลักของนักเศรษฐวิทยาของเยอรมันผู้หนึ่งชื่อ เฟรเดอริค ลิสต์ ซึ่งแสดงความเห็นว่าเยอรมันนีต้องทำตนให้เป็นรัฐบริบูรณ์เสียก่อน กล่าวคือ มีอุตสาหกรรม กสิกรรม ศิลปวิทยาให้พร้อมสมบูรณ์ และเมื่อได้เป็นเช่นนั้นแล้วจะมีการแข่งขันในระหว่างประเทศก็ควร

ฮิตเลอร์ แมคโดนาล ดาลาดิเอร์

เยอรมันนีได้เจริญขึ้นเพราะถือหลักนี้กันทั้งประเทศเยอรมันนีเอง การที่รัฐบาลจัดทำได้ผลดีเพียงไร เช่น การรถไฟ เป็นต้น และ ในปัจจุบันนี้เองประเทศเยอรมันนีเห็นว่าบ้านเมืองจะสุขสมบูรณ์ได้ก็แต่รัฐบาลเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจ จึงได้มอบตำแหน่งรัฐบาลให้แก่ฮิตเล่อร์ ซึ่งฮิตเล่อร์เป็นผู้นิยมในลัทธิที่รัฐบาลจัดทำเศรษฐกิจเอง ในอังกฤษมีท่านแมคโดนาล ในประเทศฝรั่งเศสมีท่านดาลาดิเอร์เป็นหัวหน้าในรัฐบาล ท่านเหล่านี้ดำเนินลัทธิอย่างไรก็ย่อมทราบกันอยู่แล้วว่าดำเนินลัทธิที่ต้องการให้ราษฎรทำร่วมกันกับรัฐบาลและต้องการการประกันของรัฐบาล (Assurance Sociale) ไม่มากก็น้อย

หมวดที่ ๙
การป้องกันความยุ่งยากในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง

เอกชนเป็นเจ้าของโรงงานทำให้ระส่ำระสาย

ถ้าประเทศสยามจะดำเนินตามลัทธิที่ปล่อยให้บริษัทเอกชนเป็นเจ้าของโรงงานแล้วให้ผู้ที่สนับสนุนลัทธินั้นพึงสำเหนียกว่า ตนจะนำเอาความระส่ำระสายและความหายนะมาสู่ประเทศ ผู้ที่เคยไปศึกษาวิชาในยุโรปช่างไม่รู้บ้างหรือว่า การที่กรรมกรกับนายจ้างได้เกิดวิวาทบาดหมางกัน ถึงกับบางคราวนายจ้างต้องปิดโรงงาน (Lock out) บางคราวกรรมกรพากันหยุดงาน (Strike) อันโต้เถียงกันด้วยเรื่องค่าจ้างบ้าง เรื่องเวลาทำงานบ้าง เรื่องการพักผ่อนบ้าง การประกันภัยของกรรมกรบ้าง เหล่านี้ มิใช่เป็นเพราะเหตุที่เอกชนเป็นเจ้าของโรงงานดอกหรือ 

ในประเทศสยามเรานี้ แม้โรงงานจะมีเพียงเล็กน้อยเราก็เห็นแล้วว่าปัญหาได้เริ่มเกิดขึ้น เช่น กรรมกรรถราง เป็นต้น ยิ่งบ้านเมืองเจริญขึ้นโรงานมีมากขึ้น คราวนั้นแหละท่านคงจะเห็นว่าความระส่ำระสายจะเกิดมีขึ้นเพียงใด แต่ถ้าการประกอบเศรษฐกิจทั้งหลาย รัฐบาลได้เป็นเจ้าของเสียเองแล้ว ราษฎรทั้งหลายไม่ว่าเป็นกรรมกร หรือ ข้าราชการประเภทใด เมื่อได้ทำงานตามกำลังและความสามารถเหมือนกับกรรมกร และ ข้าราชการประเภทอื่นแล้วก็จะได้รับผลเช่นเดียวกัน เป็นการเสมอภาคตามกำลังและความสามารถ รัฐบาลเป็นผู้แทนของราษฎร ก็เท่ากับราษฎรได้เป็นเจ้าของเศรษฐกิจทั้งปวงนั้น

เอกชนเกียดกันกำไรมาก

เมื่อผลแห่งการเศรษฐกิจมีมาก ราษฎรผู้เป็นกรรมกรและข้าราชการก็ได้รับเงินเดือนมากขึ้นตามส่วน รัฐบาลจะไปเกียดกันเอาไว้เพื่อประโยชน์ของใครก็ไม่มีเลย ซึ่งต่างกับเอกชนผู้เป็นเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นธรรมดาอยู่เองที่เอกชนนั้นจะต้องเกียดกันเอาผลกำไรไว้ให้มากและกดขี่ หรือ ฉ้อแรงของกรรมกรเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว

รัฐบาลทำมีกำไร จริงอยู่ มีผู้กล่าวว่าถ้ารัฐบาลจัดการประกอบเศรษฐกิจเสียเอง รัฐบาลทำมีแต่ขาดทุน คำกล่าวนี้ผู้กล่าวเอาตัวอย่างที่เลวของบางประเทศมาใช้ กล่าวคือในประเทศที่วินัยบกพร่อง คนงานทำงานไม่เต็มที่ ทั้งนี้มิใช่แต่รัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจรัฐบาลจึงจะขาดทุน แม้แต่เอกชนเองก็ตาม ถ้าหากการประกอบเศรษฐกิจนั้น คนงานไม่มีวินัยหรือวินัยบกพร่อง เอกชนนั้นก็จะขาดทุนเช่นเดียวกัน 

ทางแก้ในเรื่องวินัยแห่งโรงงานนี้ จึงไม่ไช่อยู่ในเรื่องที่รัฐบาลหรือเอกชนเป็นเจ้าของ ความจริงอยู่ที่ระเบียบของโรงงานและการควบคุมของหัวหน้างาน อีกประการหนึ่งถ้าจะพิจารณาถึงการประกอบเศรษฐกิจทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีแต่กำไร เพราะได้ใช้แรงงานที่สูญสิ้นไปนั้นให้เป็นประโยชน์ทั้งหมดและจัดประหยัดแรงงานได้ กับทั้งเพิ่มแรงงานได้ด้วยวิธีไช้เครื่องจักรกล อะไรเล่าจะเป็นเหตุให้รัฐบาลเกิดขาดทุน

? อ่าน "ความคิดสหกรณ์ของปรีดี พนมยงค์" โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้ที่ https://pridi.or.th/th/content/2021/04/663

 

ที่มา: เค้าโครงการเศรษฐกิจ โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หมวดที่ 7 การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์, หมวดที่ 8 รัฐบาลจะจัดให้มีการเศรษฐกิจชนิดใดได้บ้างในประเทศ, หมวดที่ 9 การป้องกันความยุ่งยากในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง

อ่าน: 'สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจ' ฉบับเต็ม

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ