ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

พระยาพหลพลพยุหเสนา : การยึดอำนาจทวงคืนประชาธิปไตย หลังวิกฤติการณ์ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ”

20
มิถุนายน
2566

Focus

  • การจัดทำ “โครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นไปโดยความรับผิดชอบของ “คณะกรรมานุการ” 14 คน ที่รัฐบาลแต่งตั้งโดยมีพระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานทำหน้าที่พิจารณาก่อนจะส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาและนายปรีดี พนมยงค์ สมาชิกในคณะกรรมานุการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ยกร่าง
  • เมื่อสาระของร่างหรือเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมานุการแล้ว ปรากฏว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านประเด็นที่ได้รับการคัดค้านอย่างยิ่งจากเสียงส่วนใหญ่ คือ การถูกมองว่า “เป็นหลักการเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์” ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงว่าเค้าโครงการประกอบด้วยทั้งแคปิตัลลิสม์ผสมกับโซเชียลลิสม์ คือ ลัทธินายทุนกับลัทธิสังคมนิยมผสมกัน ไม่ใช่ลัทธิคอมมิวนิสต์
  • ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายในคณะกรรมานุการนำไปสู่การตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลในการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 และรัฐบาลออก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2476 ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกบังคับให้ออกนอกประเทศไปอยู่ฝรั่งเศสชั่วคราว
  • ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ผู้นำคณะราษฎรส่วนหนึ่ง นำโดยนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (หัวหน้า) นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม (เลขานุการฝ่ายทหารบก) และนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย (เลขานุการฝ่ายทหารเรือ) ก็ได้กลับมายึดอำนาจคืนจากรัฐบาลที่พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเจตนานำเอาระบอบประชาธิปไตยที่คณะราษฎรต่อสู้ได้มา ให้กลับคืนมา และคณะผู้ยึดอำนาจคืนยืนยันความจงรักภักดีที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกปิดสมัยพระยามโนปกรณ์ฯ ก็กลับมาเริ่มเปิดอีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน 2476

 

พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจคืน

เมื่อเสร็จสิ้นภาระด้านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งลำดับต่อไปของคณะราษฎร หรือคณะผู้ก่อการเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่จะเร่งรีบกระทำก็คือ “โครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดยรัฐบาลได้มอบให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ยกร่าง และมี “คณะกรรมานุการ” อีกคณะหนึ่งพิจารณาก่อนจะส่งคณะรัฐมนตรี.

คณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ มีรายชื่อดังนี้:-

  1. พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นประธาน.
  2. หลวงคหกรรมบดี.
  3. หลวงเดชสหกรณ์.
  4. หลวงเดชาติวงศ์วรารัตน์.
  5. พ.อ.พระยาทรงสุรเดช.
  6. นายทวี บุณยเกตุ.
  7. นายแนบ พหลโยธิน.
  8. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม.
  9. นายประยูร ภมรมนตรี.
  10. นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน.
  11. นายวิลาส โอสถานนท์.
  12. พระยาศรีวิสารวาจา.
  13. ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ.
  14. หลวงอรรถสารประสิทธิ์.

ในการพิจารณาของคณะกรรมานุการชุดนี้มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน ทั้งนิยมชมชอบและเกลียดกลัวถึงขนาดชี้ว่า “เป็นหลักการเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์” ทีเดียว

สำหรับพระยาพหลฯ ซึ่งถือว่า ยังเป็นหัวหน้าคณะราษฎร และต้องรับผิดชอบในโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนทั้งประเทศตามหลักข้อ 3 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น แม้จะไม่ได้เป็นคณะกรรมานุการพิจารณาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจโดยตรง แต่ก็ได้อ่านร่างและมีความเห็นอย่างสั้นที่สุดและชัดเจนที่สุดว่า:-

 

“เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐ์ฯ นี้ เมื่อมีการแก้ไขบางอย่างแล้วก็ใช้ได้”

 

พระยาศรีวิสารวาจา ซึ่งเป็นกรรมานุการด้วยผู้หนึ่งก็ว่า “ตัดบางตอนออกเสียก็ใช้ได้”

กรรมานุการอีกคนหนึ่ง คือ นายทวี บุณยเกตุ นักเรียนเกษตรจากฝรั่งเศสอธิบายค่อนข้างยาวว่า:-

 

“ถ้าพิจารณาถึงวิธีการให้ละเอียดไปสักหน่อยแล้วจะเห็นว่า ในวิธีการของเค้าโครงการเศรษฐกิจอันนี้ เราไม่ได้ริบทรัพย์ใคร เราไม่ได้เอาเงินราษฎรมาแบ่งปัน เราไม่ได้เอาผู้หญิงมาเป็นของกลาง เราไม่ได้บังคับหรือเกณฑ์คนทั้งหมดให้ทำงานแก่สหกรณ์ของเรา เราไม่ได้เกณฑ์คนมาเป็นทาส เพราะฉะนั้น จะเรียกหรือเหมาเอาว่า โครงการนี้มีวิธีการคอมมิวนิสต์ หรือโซเชียลลิสม์อย่างไรได้”

 

สำหรับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ผู้ร่างเค้าโครงการฯ เองก็ได้แถลงว่า:-

 

“เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ เป็นแคปิตัลลิสม์ผสมกับโซเชียลลิสม์ คือ ลัทธินายทุนกับลัทธิสังคมนิยมผสมกัน ไม่ใช่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้นายทุนยังอยู่ แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นได้ทำลายนายทุนทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง”.

 

ทั้งยังกล่าวด้วยว่า:-

 

“เมื่อส่วนมากไม่เห็นด้วยตามเค้าโครงการเศรษฐกิจแล้ว ก็ไม่คิดจะดำเนินต่อไป และพร้อมจะลาออก…”

 

แม้กระนั้น ฟ้าก็ฟาดเปรี้ยงขึ้นจนได้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 ซึ่งเป็นการขึ้นปีใหม่เมืองไทยสมัยนั้น นั่นก็คือพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรับสนองพระบรมราชโองการพร้อมกับคนอื่นๆ อีก 13 คนรวมทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วย.[1]

โดยที่ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ คงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป เว้นแต่รัฐมนตรีอื่นเท่านั้นต้องพ้นตำแหน่งไป และจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศพระบรมแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้:-

 

ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
(พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ป.ร.

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้:-

พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์.
นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ.
พระยามานวราชเสวี.
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา.
นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช.
นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์.
นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์.
นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม.
นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย.
นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย.
นายประยูร ภมรมนตรี.
เป็นรัฐมนตรีตามความในข้อ 2 แห่งพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476.
ประกาศมา ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน.

ผู้รับสนองพระราชโองการ
(ลงนาม) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
นายกรัฐมนตรี

 

สรุปว่า คณะรัฐมนตรีคณะนี้มีดังต่อไปนี้:-

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 3

  1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ.
  2. นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม.
  3. พระยาศรีวิสารวาจา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ.
  4. เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรพาณิชยการ.
  5. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ.
  6. พระยาจ่าแสนยบดีศรีบริบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย.
  7. พระยาเทพวิทูรพหุลศรุตาบดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม.
  8. พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรี.
  9. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ เป็นรัฐมนตรี.
  10. พระยามานวราชเสวี เป็นรัฐมนตรี.
  11. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นรัฐมนตรี.
  12. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช เป็นรัฐมนตรี.
  13. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ เป็นรัฐมนตรี.
  14. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์ เป็นรัฐมนตรี.
  15. นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรี.
  16. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย เป็นรัฐมนตรี.
  17. นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย เป็นรัฐมนตรี.
  18. นายประยูร ภมรมนตรี เป็นรัฐมนตรี.

หมายเหตุ รัฐบาลคณะนี้ไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภา.

ต่อจากนั้น ได้มีแถลงการณ์ของรัฐบาลในการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ดังนี้:-

 

คำแถลงการณ์ของรัฐบาล

รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบ เพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้นกระทำให้เป็นความจำเป็นต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ และรอการใช้รัฐธรรมนูญ บางมาตรา

ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกกันเป็นสองพวก มีความเห็นแตกต่างกันและไม่สามารถที่คล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้น เป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยามและเป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ

ในคณะรัฐมนตรีซึ่งมีรัฐมนตรีถึง 20 คน จะหวังให้มีความเห็นเหมือนกันไปทุกสิ่งไปนั้นไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่ว่ารัฐบาลจักดำรงอยู่ในความสามารถบริหารราชการแผ่นดินโดยเป็นความจำเป็นยิ่งที่รัฐมนตรีทุกคนจักต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นไปในทางเดียวกันในนโยบายอันสำคัญๆ ความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีในเวลานี้ เป็นภาวะอันแสนสุดที่จะทนทานได้ ไม่ว่าจะเป็นอยู่หรือเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองใดและไม่ว่าจะมีรูปรัฐบาลเป็นอย่างไร

สมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้เล่า ก็ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ สภานี้มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ จนกว่าจะได้มีสภาใหม่โดยราษฎรเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมา สภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นชั่วคราวเช่นนี้ หาควรไม่ที่จะเพียรวางนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเก่าอันมีอยู่ใช้อยู่ ประดุจเป็นการพลิกแผ่นดิน ส่วนสภาในเวลานี้จะอ้างว่า ไม่ได้ทำหรือยังไม่ได้ทำกฎหมายอันมีลักษณะไปในทางนั้นก็จริงอยู่ แต่เป็นที่เห็นได้โดยชัดเจนแจ่มแจ้งว่า มีสมาชิกเป็นจำนวนมากคน มีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี

ความแตกต่างกันในสภาซึ่งมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ กับคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในทางบริหารดังนี้เป็นที่น่าอันตรายยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศโดยกระทำให้ราชการชักช้าเกิดความแยกแตกกันในรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและความไม่แน่นอนใจแก่ประชาชนทั่วไป

ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุดไม่ว่าในบ้านเมืองใด และโดยคติเช่นนั้นเท่านั้นที่บังคับให้รัฐบาลต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่

รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญแต่เฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2476

 

จากนั้นก็มีเรื่องต่างๆ ตามมาอีกเป็นระลอกๆ เหมือนการยึดอำนาจโดยปริยาย คือ พระยามโนฯ ยึดอำนาจตัวเอง

 

พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์

วันที่ 2 เมษายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี (ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภา) โดยมีเหตุผลว่า การก่อให้เกิดขึ้นหรือแม้แต่เพียงพยายามก่อให้เกิดขึ้นซึ่งคอมมิวนิสต์ จักเป็นเหตุนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ จึงได้กำหนดโทษขึ้นและให้ผู้สนับสนุนส่งเสริมและสมาชิกของสมาคมดังกล่าวมีความผิดด้วย

ในวันที่ 2 เมษายน นั้นเอง ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ฯ เกี่ยวกับการจดสมาคมว่า ถ้าหากวัตถุประสงค์ของสมาคมน่าจะเป็นภัยอันตรายต่อสันติภาพของประชาชนหรือก่อให้เกิดความไม่สงบ นายทะเบียนจะไม่รับจดทะเบียนสมาคมก็ได้ หรือจดทะเบียนเป็นสมาคมอยู่แล้ว นายทะเบียนจะขีดชื่อสมาคมออกเสียจากทะเบียนก็ได้ แล้วยังได้แก้ไขกฎหมายลักษณะอาญาเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียนที่ขีดชื่อสมาคมแล้วและผู้นั้นยังขืนดำเนินการอยู่อีก

 

ให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปนอกประเทศ

ภายหลังเมื่อคณะรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลให้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้รอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราวแล้วนั้น ได้มีพระราชวิจารณ์โครงการเศรษฐกิจ ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ร่างเสนอคณะรัฐมนตรี ออกเป็นแถลงการณ์แจกจ่ายโดยทั่วไป และได้มีการบังคับให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางออกไปนอกประเทศ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงต้องเดินทางไปต่างประเทศโดยทางเรือ ออกจากท่าเรือบีไอ วันที่ 12 เมษายน เวลา 18.00 น. จุดหมายปลายทางเพื่อไปพักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, พ่อค้า, ประชาชน, ข้าราชการ, ผู้เคารพนับถือไปส่งที่ท่าเรืออย่างล้นหลาม โดยเฉพาะ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นั้น ได้กอดจูบนายปรีดีฯ เป็นการอาลัยต่อหน้าประชาชนเป็นเวลานาน

 

ให้นายทหารผู้ใหญ่ลาออกและแต่งตั้งผู้ทำการแทน

ต่อมาอีกได้มีประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2476 ว่า นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา, นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช, นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ และ นายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ์ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2476 โดยอ้างเหตุผลว่าได้รับราชการตรากตรำมาครบ 1 ปี แล้ว มีความเจ็บป่วยเนืองๆ และในวันเดียวกันนั้นเอง ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม และนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นรัฐมนตรี

วันที่ 18 มิถุนายน วันเดียวกันนั้นเอง ได้มีพระบรมราชโองการตั้งนายทหารรักษาราชการแทนในระหว่างที่นายทหารทั้ง 4 นาย ลาพักราชการก่อนออกจากตำแหน่งนั้นๆ เพื่อไม่ให้ตำแหน่งสำคัญทั้ง 4 นั้นว่างอยู่ คือ:-

นายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

นายพันเอก พระยาสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบก

นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม รองผู้บังคับทหารปืนใหญ่ เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ

 

มีเงิน 27 บาทจะหนีไปไหน?

ก็เป็นที่เห็นกันว่า หัวหน้าคณะราษฎรหรือหัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินปี 2475 คือ พระยาพหลฯ เกือบไม่มีตำแหน่งอะไรเหลืออยู่เลยในทำเนียบราชการไทย เพราะการเป็นรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ก็มีพระบรมราชโองการให้ออกแล้ว เหลือตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว สภาก็ปิดมาตั้งแต่ปีใหม่ตามพระราชกฤษฎีกา

ซ้ำร้าย ตำรวจก็ล้อมบ้านเสียอีก!

ไม่ตายวันนี้จะตายวันไหน?

เจ้าของคติประจำใจ “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” และเป็นคนช่างคิดมากกว่าช่างพูด  พระยาพหลฯ ก็เริ่มคิดหาทางแก้ไขสถานการณ์ เพราะจะหนีไปทางไหนก็ไม่มีทาง และทั้งเนื้อทั้งตัว หรือ รวมทั้งครอบครัว ก็มีเงินเพียง 27 บาท เท่านั้นเอง พระยาฤทธิอัคเนย์โทรศัพท์มาบอกว่าจะเบิกเงินเดือนที่ค้างอยู่อีก 200 บาทมาให้ก็ยังไม่เห็นตัวและเห็นเงิน ก็ได้แต่รออยู่

เวลาในการคิดแก้ไขสถานการณ์ยิ่งมีน้อยลงตามลำดับ แต่ในที่สุด ผู้ที่เป็นเลิศในการเล่าเรียน ทั้งในและนอกประเทศก็สว่างไสว!

 

หนีไม่ได้ก็ต้องสู้!

ไม่ใช่สู้เพื่อตัวเองรอดอย่างเดียว ระบอบรัฐธรรมนูญหรือระบอบประชาธิปไตยที่เสี่ยงกับการหัวขาดก็ได้มาแล้ว แต่กำลังอาการหนักเพราะปิดสภาอยู่ก็จะได้รอดขึ้นมาด้วย[2]

 

ประกาศของผู้ยึดอำนาจปกครองประเทศ

ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร แล้วงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะทหารบก, ทหารเรือ และพลเรือนจึงได้ดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ขอประกาศให้ราษฎร ประชาชนทั้งหลายอย่ามีความตระหนกตกใจ จงช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ขณะนี้ได้จัดการไปแล้ว คือ ได้โทรเลขกราบบังคมทูลพระกรุณาไปยังพระราชวังไกลกังวลหัวหิน ตามนัยที่กล่าวแล้ว กับได้ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และได้แจ้งให้กระทรวงทบวงกรมดำเนินราชการไปเช่นเคย ทั้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วไปแล้ว

วังปารุสกวัน
วันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2476

นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา    หัวหน้า

นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม             เลขานุการฝ่ายทหารบก

นายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย              เลขานุการฝ่ายทหารเรือ[3]

 

แจ้งให้นายกรัฐมนตรีลาออก

หัวหน้าคณะทหารบก, ทหารเรือและพลเรือนผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้มีหนังสือถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ลาออกจากตำแหน่ง มีความดังนี้:-

วังปารุสกวัน
วันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2476

 

กราบเรียน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี

ด้วยคณะทหารบก, ทหารเรือและพลเรือน ได้พิจารณาลงมติเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า จำเดิมได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม โดยการกระทำของคณะราษฎรเป็นต้นมา จนบัดนี้ ก็เจียนจะเวียนจบครบรอบปีอยู่แล้ว คณะรัฐมนตรีซึ่งมีใต้เท้าเป็นนายกอยู่ตลอดมาได้บริหารราชการแผ่นดินไปมากหลาย กิจการบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งได้ดำเนินไปไม่เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองสมดังความมุ่งหมายของผู้ที่สละชีวิตเลือดเนื้อ เพื่อใคร่เห็นความเจริญของประเทศอยู่บ้าง มีกิจการอยู่มากหลายซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการไปอันก่อให้เกิดความไม่พึงประสงค์ของบุคคลทั่วไป คณะทหารบก, ทหารเรือ และพลเรือน ได้พิจารณากันโดยถ่องแท้แล้ว เห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่รัฐมนตรีได้ปฏิบัติมานั้น ก็มีแต่จะนำให้ประเทศและชาติอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา ดำเนินไปสู่ความหายนะในที่สุดเป็นเที่ยงแท้

ฉะนั้น เพื่อเห็นแก่อิสรภาพและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง คณะทหารบก, และพลเรือน จึงใคร่ให้ใต้เท้าพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ สละตำแหน่งที่ประจำอยู่ ณ บัดนี้เสีย และขอให้ใต้เท้าซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงเปิดสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป แต่ถ้าหากการนี้ขัดข้องไม่สามารถดำเนินการไปทันทีดังที่กราบเรียนมานี้ คณะทหารบก, ทหารเรือและพลเรือน ก็จะเชิญให้กระผม นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา มาเป็นผู้รักษาพระนครบริหารราชการแผ่นดินต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
พ.ท. หลวงพิบูลสงคราม เลขานุการ

 

พระยามโนปกรณ์ ได้มีหนังสือตอบมีความว่า:-

 

วันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2476

เรียน นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ทราบ

ผมได้รับหนังสือของเจ้าคุณฯ ลงวันนี้ ขอให้ผมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ทราบแล้ว ผมและคณะรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่ง และจะได้โทรเลขกราบบังคมทูลวันนี้

แล้วแต่จะโปรด
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา[4]

 

กราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ

โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ จึงได้โทรเลขทูลราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อขอให้กราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบในโอกาสแรก 1 ฉบับ ดังต่อไปนี้:-

 

ทูล หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ เลขานุการในพระองค์ หัวหิน

ด้วยบัดนี้ ความจำเป็นกระทำให้คณะทหารบก, ทหารเรือและพลเรือน ต้องเข้ายึดอำนาจการปกครองไว้แล้ว โดยมีความประสงค์แต่เพียงจะให้เปิดสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

ฉะนั้น ขอได้นำความกราบบังคมทูลทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า คณะทหารบกกับทหารเรือ ยังคงซื่อตรงจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ

พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
พ.ท. หลวงพิบูลสงคราม
น.ท. หลวงศุภชลาศัย

 

ต่อจากนั้น นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้กราบบังคมทูลเป็นหนังสือตามไปด้วย ดังความต่อไปนี้:-

 

วันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2476
วังปารุสกวัน

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ที่จำต้องให้คณะรัฐมนตรีชุดเก่าลาออก และจะรีบเปิดสภาผู้แทนราษฎรให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อยเวลานี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดการและขอรับรองว่า จะไม่มีอะไรที่ทรงหนักพระราชหฤทัย คณะทหารบก, ทหารเรือ และพลเรือนที่เข้าทำการยึดอำนาจคราวนี้ ยังซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีอยู่และขอพระราชทานให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของชาติอยู่ตามเดิม

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

 

สมาชิก 26 คน ขอให้เปิดสภา

ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 นั้นเอง สภาผู้แทนราษฎรที่ปิดมาตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ (แบบเก่า) คือวันที่ 1 เมษายน 2476 ก็ได้มีสมาชิก 26 คน ขอให้เปิด โดยมีหนังสือถึงเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภา

เจ้าคุณฯ ประธานสภาก็แจ้งให้ผู้ยึดครองประเทศทราบ เพราะไม่รู้ว่าจะ “ล้มกระดาน” เลย หรือจะ “เล่นกันต่อ” ซึ่งเมื่อทราบจากปากของพระยาพหลฯ แน่นอนว่า “เล่นกันต่อ” และได้รับมอบหมายให้เดินทางไปเฝ้า ณ หัวหิน เพื่อขอพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภา ก็มิได้รอช้าแต่อย่างใด

ดังนั้น การประชุมสภาหลังจากถูกปิดสมัยพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นเวลาสองเดือนยี่สิบสามวันก็เริ่มขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 2476 เกือบหนึ่งปีในการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศพอดี โดยสมาชิกทั้งหลายพร้อมหน้าพร้อมตา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม รับฟังพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นโทรเลขผ่านราชเลขาธิการดังนี้:-

 

“มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เรียนมาว่า ได้ทรงรับโทรเลขจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกจากตำแหน่งแล้ว”

 

นายกรัฐมนตรีคนใหม่

จากนั้นเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาก็แจ้งแก่สมาชิกสภาผู้แทนทั้งหลายว่า:-

 

"ในฐานะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ควรจะได้มีความเห็นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ผู้ใดสมควรจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ได้กราบบังคมทูลว่า นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้ที่ควรจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทรงเห็นชอบด้วยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ศกนี้แล้ว”

 

จากนั้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็แจ้งแก่สภาถึงเหตุที่ต้องยึดอำนาจการปกครองตามที่มีแถลงการณ์แล้วนั่นเอง และย้ำว่าสิ่งที่ต้องการของท่านอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลงผันแปรก็คือ ต้องการให้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านกล่าวแก่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องไปว่า:-

 

“ข้าพเจ้าเป็นนักรบ ไม่ใช่นักพูด ไม่จัดเจนทางการเมือง ไม่สันทัดในการปกครองแผ่นดิน จะดำเนินไปไม่ครบถ้วนทุกสถาน แต่เมื่อโปรดเกล้าฯ ตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภาผู้แทนราษฎรและคณะทหารที่ยึดอำนาจได้ขอร้องให้รับตำแหน่งก็จะขอรับไปเพียงสิบวัน หรือสิบห้าวันเท่านั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้....”

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ความไว้วางใจแก่ตัวนายกรัฐมนตรีเป็นเอกฉันท์

 

เสนอกฎหมายเองสองฉบับ

จากนั้น พระยาพหลฯ ในฐานะนายกฯ เต็มตัวก็เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 แก่ตัวท่านเอง และคณะซึ่งเรียกชื่อว่า “คณะทหารและพลเรือน” ซึ่งสภาผู้แทนฯ ก็ลงมติรับหลักการและอนุมัติให้ประกาศเป็นกฎหมายได้ในวันที่ 22 นั้นเอง

นับเป็นกฎหมายฉบับแรกของพระยาพหลฯ ที่ทำขึ้นในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่ยังไม่มีคณะรัฐมนตรีสักคนเดียว

จากนั้น ก็เสนอร่างกฎหมายฉบับที่ 2 ต่อเนื่องกันเลยทีเดียว นั่นคือ พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 ซึ่งที่ประชุมก็รับหลักการ และอนุมัติให้ประกาศเป็นกฎหมายได้เช่นเดียวกัน

สุดท้ายที่ประชุมได้ไว้อาลัยหนึ่งนาทีแก่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงคนหนึ่ง คือ หลวงทัศนัยนิยมศึก ที่ถึงแก่กรรมในช่วงนี้ แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม สภาก็รำลึกคุณ

ก่อนปิดประชุมสภา ซึ่งเปิดใหม่ครั้งนี้ ประธานสภาได้แจ้งให้สมาชิกทราบ ถึงการลาออกจากสมาชิกของ ส.ส.หลายคน รวมทั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ด้วยผู้หนึ่ง

 

พิถีพิถันเลือกผู้ร่วมรัฐบาล

คณะรัฐมนตรีของพระยาพหลฯ เป็นที่สนใจใคร่ทราบของประชาชนและหนังสือพิมพ์ไทย, ฝรั่ง, จีนในยุคโน้น ไม่แพ้ยุคหลังๆ มานี้แต่อย่างใด

ปรากฏว่า พระยาพหลฯ ท่านเลือกของท่านอย่างพิถีพิถันที่สุด จนกระทั่งในวันที่ครบหนึ่งปีเต็มนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือวันที่ 24 มิถุนายน 2476 นั่นแหละ จึงประกาศชื่อคณะรัฐมนตรีชุดแรกของท่าน และจุดที่ 4 ของประเทศไทยต่อจากสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก ผู้ต้องนิราศร้างเมืองไทยไปอยู่ปีนังตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นเวลาถึง 16 ปี จนถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น[5]

 

พระเตมีย์คนแรกของเมืองไทย

จะถือว่าเป็นนโยบายพิเศษของรัฐบาลชุดใหม่หรือนโยบายเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 คือ พระยาพหลฯ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะท่านได้ขอต่อสภาในวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันแถลงนโยบายนั่นเองว่า:-

ในการอภิปรายหรือตอบข้อซักถามต่างๆ ในสภานี้ นายกรัฐมนตรีขออนุมัติต่อสภาให้ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ซึ่งมิได้เป็นทั้งรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าอภิปรายหรือชี้แจงแทนนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรีต่อสภานี้ได้ เพราะโดยเฉพาะตัวนายกฯ “เป็นเพียงนักรบและไม่ใช่นักพูด” ดังที่เคยบอกไว้แล้ว

ที่ประชุมสภาก็อนุมัติเป็นเอกฉันท์เช่นเดียวกัน

เรื่องนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์การเมืองและรัฐสภาเมืองไทยได้เรื่องหนึ่งและเกิดมีขึ้นเฉพาะในยุคนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เดียวเท่านั้น

นับเป็นความจริงใจและความตรงไปตรงมาของนักการเมืองคนเดียวในโลกที่มิได้มีปมด้อยจากจุดอ่อนของตนเองแต่อย่างใด ตรงกันข้ามใครๆ ก็ยอมรับนับถือในจุดนี้ว่า ท่านไม่เหมือนนักการเมืองที่ดีแต่พูดบางคน หรือนักการเมืองบางคนที่พูดไม่เอาไหน แต่ก็หุบปากไม่เป็นสักที!

หรือใครจะเรียกพระยาพหลฯ ย้อนหลังว่า “พระเตมีย์คนแรก” ของเมืองไทยก็ย่อมได้[6].

 

ที่มา : ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2541 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 129-139.

หมายเหตุ :

  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอขอบคุณในความอนุเคราะห์ของคุณไพบูลย์ กาญจนพิบูล ที่อนุญาตให้เผยแพร่ผลงานชิ้นนี้
 

[1] นเรศ โรปกรณ์, 100 ปี พระยาพหลฯ, (กรุงเทพฯ: โอเอส พรินติ้งเฮาส์, 2531), น. 211-213.

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 216-223.

[3] ไทยน้อย, พระยาพหลพลพยุหเสนา (กรุงเทพฯ: บริษัทแพร่พิทยา - โอเดียนสโตร์, 2497) น. 207-209

[4] เรื่องเดียวกัน, 211-214

[5] นเรศ โรปกรณ์, เรื่องเดิม, น. 211-213.

[6] เรื่องเดียวกัน, 233-234