ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนมยงค์: ผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔๗๕ ตอนที่สาม

7
มิถุนายน
2564

‘ปรีดี พนมยงค์’ กล่าวถึง ‘ปารีส’ เมืองที่ตัวท่านเองไปใช้ชีวิตและศึกษาเล่าเรียนกว่า ๗ ปี ว่า 

“นับจากการอภิวัฒน์ใหญ่ (การปฏิวัติฝรั่งเศส-ผู้เขียน) ในปี พ.ศ. ๒๓๓๒ เป็นต้นมา ปารีสได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยให้กับหลายประเทศในยุโรปและในเอเชีย กล่าวคือ ขนบจารีตเพื่อการอภิวัฒน์ที่แพร่หลายและสืบสานมายาวนาน ทั้งในทางทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติได้ตกทอดมาจนถึงช่วงเวลาที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักศึกษาอยู่ในปารีสด้วย”

ท่านปรีดี ยังกล่าวถึง “ปารีส” เมืองอันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อการอภิวัฒน์สยามอีกว่า 

“มาร์กซ์ เองเกิลส์ รวมถึง เลนิน ซึ่งก่อการอภิวัฒน์อันยิ่งใหญ่ล้วนแต่ได้เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในปารีสมาแล้ว ส่วนชาวเอเชียซึ่งปรารถนาในเอกราชอันสมบูรณ์ของชาติ และประสงค์จะปลดเปลื้องมาตุภูมิของตนจากลัทธิอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมนั้น ต่างมารวมตัวกันอยู่ในประเทศฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหงียนไอคว๊อค (โฮจิมินห์) โจวเอินไหล เฉินอี้ รวมถึงบรรดานักอภิวัฒน์จากประเทศต่างๆ อีกเป็นอันมาก...”   

ท่านปรีดีได้ทำการบันทึกเล่าเหตุการณ์เพื่อเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ไว้ว่า 

“โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้นเราจึงเห็นว่า วิธีเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี Coup D’etat หรือ การยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า รัฐประหาร

เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจ เพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็ต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Fait Accompli คือ พฤติกรรมที่สำเร็จรูปแล้ว ย่อมไม่สามารถเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในสยามได้   

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนเล่าเรื่องราวอย่างละเอียดถึงการก่อร่างสร้างขบวนการอภิวัฒน์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน 

“ผู้ที่เข้าร่วมประชุมครั้งแรกเป็นกรรมการกลางของคณะราษฎรไปพลางก่อน กรรมการแต่ละคนเป็นหัวหน้าแต่ละสายที่จะต้องเลือกเฟ้นผู้ที่ไว้วางใจได้ตามระเบียบพิจารณาตัวบุคคล แล้วนำมาเสนอกรรมการกลางของคณะราษฎร ซึ่งจะรับเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้โดยมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้น ........ ในชั้นแรกให้หัวหน้าสายหาสมาชิกเพิ่มเติมเพียงสายละ ๒ คนก่อน แล้วก็แยกเป็นหัวหน้าสายย่อยใหญ่น้อยแตกกิ่งก้านสาขาออกไป”

ท่านปรีดียังเล่าต่อในบันทึกถึงคุณสมบัติของผู้มาเข้าร่วมว่า “การเลือกเฟ้นสมาชิกคณะราษฎรเพิ่มเติมนั้น ต้องคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง ความกล้าหาญ ความสามารถในการรักษาความลับ ดังนั้นจึงได้แบ่งบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนระบบปกครองดังกล่าวออกเป็น ๓ ประเภท คือ

ดี ๑ ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ แต่บุคคลประเภทนี้ก็ต้องแยกแยะออกไปอีกว่า ผู้ใดควรได้รับคำชักชวนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือชวนต่อเมื่อใกล้เวลาที่จะลงมือทำการยึดอำนาจ มิให้ถือเพียงแต่ว่า บุคคลใดเป็นเพื่อนเที่ยวด้วยกัน กินด้วยกัน แล้วก็จะชวนเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้ทุกคนในทันทีทันใด ถ้าเพื่อนคนนั้นชอบพูดตลกเกินไป ก็ย่อมเอาเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้างมาพูดเพียงแต่จะให้ผู้ฟังขบขันเป็นการตลก และอาจเอาเรื่องลับของคณะราษฎร

ดี ๒ ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจแล้ว ซึ่งเขาย่อมมีบทบาทเป็นกำลังให้คณะราษฎรได้

ดี ๓ ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้นเอง แต่ภายหลังที่การยึดอำนาจได้มีทีท่าแสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จมากกว่าความไม่สำเร็จ

ชายหนุ่มสองคนเดินเล่นบนถนนอองรี มาร์เต็งอันร่มรื่น และ ใช้เวลาระหว่างเดินคุยเรื่องราวของบ้านเกิดเมืองนอน “ปรีดี พนมยงค์” นักเรียนกฎหมายและเศรษฐศาสตร์การเมือง ชักชวน นักเรียนทหาร “ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี” ให้มาร่วมขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม ได้มีบันทึกบางตอนของการสนทนาไว้ว่า 

“ปรารภกันว่า ได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาฯ มามากมายหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะตัดใจเอาจริง ฉะนั้น เราจะไม่พูดแต่ปาก คือ จะต้องทำจริง จากน้อยไปสู่มาก แล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรกขึ้น ต่อมา จึงชวน ร.ท. แปลก ร.ต. ทัศนัย ซึ่งย้ายจากบ้านพักเดิมไปอยู่ถิ่นเดียวกับข้าพเจ้าที่ Quariter-Latin จึงได้สนทนากันแทบทุกวัน แล้วก็ได้ชวนเพื่อนอื่นๆ ให้ร่วมด้วย”

คนหนุ่มหกคนได้ร่วมประชุมกันเป็นเวลา 5 วันก่อกำเนิดขบวนการเคลื่อนไหวในนาม “คณะราษฎร” พร้อมนโยบายหลัก ๖ ประการ ขึ้น ณ หอพักแห่งหนึ่งบนถนน ดู ซอมเมอราร์ หลังจากนั้น คณะผู้ก่อการเหล่านี้ได้ทยอยเดินทางกลับประเทศไทย

ราวต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ (ปฏิทินใหม่ พ.ศ.๒๔๗๐) นายปรีดี พนมยงค์ได้เดินทางออกจากท่าเรือเมืองมาร์แซย์ด้วยเรือกลไฟกลับถึงประเทศไทยในวันที่ ๑ เดือนเมษายนปีเดียวกัน

นโยบายที่จะดำเนินภายหลังที่คณะราษฎรได้อำนาจรัฐแล้ว ที่ประชุมได้มอบให้ท่านปรีดีเป็นผู้ชี้แจง และเห็นชอบตามหลัก ๖ ประการ ซึ่งตัวท่านเองเป็นผู้เสนอ รวมทั้งหลักการทั่วไปในเค้าโครงการเศรษฐกิจและได้มอบให้อาจารย์ปรีดีเตรียมร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจในโอกาสต่อไป

ที่ประชุมคณะราษฎรเวลานั้นได้พิจารณาเผื่อเอาไว้ด้วยว่า ถ้าการกระทำของคณะราษฎรต้องถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้ ก็ให้มีเพื่อนหัวหน้าสายคนหนึ่งที่กันไว้มิให้แสดงออกนอกหน้าว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยไม่ต้องมาประชุมคณะกรรมการหัวหน้าสายบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในฝรั่งเศสหรือเมื่อกลับสยามแล้ว โดยบำเพ็ญตนประดุจเป็นคนอยู่ในบ้านอย่างสงบเงียบ  ผู้นี้มีหน้าที่ดำเนินการตามเป้าหมายของคณะราษฎรที่อาจถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้นั้นต่อไปให้สำเร็จ พร้อมทั้งให้มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนที่ถูกติดคุกหรือถึงแก่ความตาย ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันมอบหน้าที่นี้ให้แก่นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้มีทรัพย์สินมากโดยได้รับมรดกจากบิดา

‘ปรีดี พนมยงค์’ บันทึกเหตุการณ์ก่อตัวของคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์ไว้อีกว่า “เมื่อเสร็จการประชุมก่อตั้งคณะราษฎรแล้วข้าพเจ้ากลับสยามในเดือนมีนาคมปีนั้น แล้วเพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสเลือกเฟ้นผู้ที่สมควรชวนร่วมคณะราษฎรต่อไป อีกประมาณ ๒-๓ เดือน เพื่อนที่ยังอยู่ปารีสได้ชวน นายทวี บุณยเกตุ นักศึกษาวิชาเกษตร และนายบรรจง  ศรีจรูญ  ไทยมุสลิมจากอียิปต์ที่มาเยือนปารีสซึ่งรับภาระจัดตั้งไทยมุสลิมต่อไป อาทิ นายแช่ม มุสตาฟา (บุตรหัวหน้าศาสนาอิสลามในไทยที่รู้จักกันในนามว่า “ครูฟา” ต่อมานายแช่มเปลี่ยนนามสกุลว่า “พรหมยงค์” คล้ายๆ นามสกุลข้าพเจ้า) ต่อมาได้ชวน ร.ต. สินธุ์ กมลนาวิน ร.น. นักศึกษาวิชาทหารเรือเดนมาร์คที่เยือนปารีส ต่อมาพระยาทรงสุรเดชได้มาดูงานในฝรั่งเศส เพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสจึงลองทาบทามว่ามีความรู้สึกอย่างไร ต่อระบบสมบูรณาสิทธิราชย์ ก็ได้ความว่าไม่พอใจระบบนั้น แต่ยังมิได้ถูกชวนเข้าร่วมในคณะราษฎร ต่อจากนั้นเพื่อนที่ก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีสก็ทยอยกันกลับสยาม ค่อยๆ ชวนเพื่อนนักศึกษาที่เคยสังเกตไว้ในการสนทนากันเพียงคร่าวๆ มิได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาในฝรั่งเศสเท่านั้น

ในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการคาดเดาและข่าวลือแพร่กระจายในกรุงเทพเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่จะเกิดขึ้นในสยาม การปฏิบัติการอย่างเป็นทางการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เกิดขึ้นในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 การปฏิบัติการนี้ไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากไม่มีสี่ทหารเสือประชาธิปไตย ผู้นำประชาธิปไตยมาให้กับคนไทย ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองได้บันทึกถึงท่านเหล่านั้นไว้ไม่มากนัก

สี่ทหารเสือประชาธิปไตย พ.อ. พระยาพหลพลพยุเสนา (ยศขณะนั้น) พ.อ. พระยาทรงสุรเดช (เป็นพันเอกจนถึงแก่กรรม) และ พ.ท. พระประสาท พิทยายุทธ์ (ยศขณะนั้น) พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์ (เป็นพันเอกจนถึงแก่กรรม) ได้นำคณะทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อเช้าตรู่ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระนครสวรรค์วรพินิต  เป็นผู้รักษาพระนคร โดยพระปกเกล้าฯ เสด็จแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คณะราษฎรได้ทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ให้ครองราชย์บัลลังก์ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ยื่นข้อเสนอว่า ถ้าพระองค์ปฏิเสธก็จะทูลเชิญเชื้อพระวงศ์อื่นขึ้นแทน

การสิ้นสุดลงของ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในสยามจึงเป็นไปเพื่อการก่อเกิดใหม่ของ “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

เพียงแต่ว่า การก่อกำเนิดนี้เต็มไปด้วยอุปสรรค การต่อสู้ การเสียสละของผู้คนมากมาย รวมทั้งความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีการประนีประนอม ความปรองดองสมานฉันท์ การปรึกษาหารือเพื่อประเทศเดินหน้าต่อไปได้ พลวัตทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ ผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ ได้คาดการณ์เอาไว้  

 

 

โปรดติดตามตอนต่อไป