ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บทเรียนจากอดีตสู่อนาคต : ว่าด้วยการปกป้องประชาธิปไตยและชัยชนะของประชาชน

29
มิถุนายน
2566

Focus

  • การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา และเราขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนยึดมั่นในกลไกรัฐสภาและแนวทางสันติวิธี ยอมรับความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย เปิดโอกาสให้เสรีภาพและเจตจำนงอันแท้จริงของประชาชน ผลักดันให้เกิดประชาธิปไตย เกิดการปฏิรูป และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โดยการถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคณะราษฎร และขบวนการอื่นๆ ในอดีต เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชนจากผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา การปกป้องประชาธิปไตย และการสร้างความเป็นเอกภาพของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย
  • 5 ก้าวเพื่อรักษาชัยชนะของประชาชน คือ ก้าวแรก จัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ ก้าวที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ก้าวที่สาม รัฐบาลใหม่ต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ปลอดทุจริต เพื่อไม่เป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารอีก ก้าวที่สี่ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขัน และก้าวที่ห้า สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ร่วมกันสร้างสังคมสันติธรรม
  • 5 ความร่วมมือเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ได้แก่ (1) ร่วมกันรับมือกับ “นิติสงคราม” และการตัดสิทธิ์ การยุบพรรคขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. (2) ร่วมกันลดความเสี่ยง ลดเงื่อนไขอันก่อให้เกิดการเผชิญหน้า ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง (3) ร่วมกันต่อต้านการรัฐประหารในรูปแบบต่างๆ ทั้งรัฐประหารโดยกระบอกปืน รัฐประหารโดยกฎหมาย และรัฐประหารโดยใช้นิติสงคราม (4) ร่วมมือกันในการปฏิรูประบบความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย และ (5) ร่วมมือกันในการปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพของทหารอาชีพ กองทัพของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

 

 

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา บางประเทศประสบความสำเร็จ บางประเทศไม่ราบรื่น บางประเทศล้มเหลว สถานการณ์ในปัจจุบันจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อและจุดเปลี่ยนแปลงของอนาคตประเทศไทย 

เราขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนยึดมั่นในกลไกรัฐสภาและแนวทางสันติวิธี ยอมรับความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย เปิดโอกาสให้เสรีภาพและเจตจำนงอันแท้จริงของประชาชน ผลักดันให้เกิดประชาธิปไตย เกิดการปฏิรูป และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า 

 

รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

การถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคณะราษฎร ขบวนการคนเดือนตุลา ขบวนการประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ 2553 และขบวนการปฏิรูปโดยคนหนุ่มสาวในปี 2563

บทเรียนจากขบวนการต่อสู้เหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประชาธิปไตยและชะตากรรมของประชาชนทุกคน ชัยชนะก้าวแรกของประชาชน จากผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะเปลี่ยนผ่านไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนได้อย่างไร จะปฏิรูปประเทศที่มีความเป็นธรรมกว่าเดิม จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสันติสุขกว่าเดิมได้อย่างไร และสำคัญจะปกป้องประชาธิปไตยให้รอดพ้นจากการบ่อนทำลาย การสกัดกั้น จากขบวนการจารีตอนุรักษนิยมขวาจัดสุดโต่งซึ่งก็เป็นขบวนการปรปักษ์ประชาธิปไตยนั่นเอง

การรักษาชัยชนะของประชาชน การปกป้องประชาธิปไตย อยู่ในมือของพวกเราชาวไทยทุกคน เราทั้งหลายที่อยู่ในห้องประชุมแห่งนี้และรับชมทางบ้าน

 

รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

การเข้าร่วมกิจกรรมนี้เพื่อรำลึกความกล้าหาญ เสียสละ และอุดมการณ์ของสมาชิกคณะราษฎรที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อ 91 ปีที่แล้ว

พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีเอกภาพ ซึ่งวันนี้ก็มีตัวแทนพรรคการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย

การเลือกประธานรัฐสภาหรือนายกรัฐมนตรี ต้องร่วมมือกัน แข่งขันกันได้แต่ต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าอย่างไรจะต้องให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ การทำเช่นนั้นเพื่อไม่ให้เกิดโอกาสรัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วยเสียงของ สว. ถ้าแข่งกันโดยไม่ระมัดระวัง การออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 พยายามที่จะไม่ให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือจัดตั้งรัฐบาลได้ยากอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าไม่ร่วมมือกัน มองประโยชน์ส่วนรวม และมองผลการเลือกตั้งซึ่งประชาชนเจ็บสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศต้องการอย่างไรจะทำให้เกิดปัญหาได้

 

รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

ครั้งนี้แน่นอนที่สุดเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็อาจจะมีการยุบพรรคการเมือง การตัดสิทธิ์ เพราะเราจะเห็น “นักร้อง” ทั้งหลายไปร้องเรียนมากมาย ซึ่งเตรียมการที่จะใช้องค์กรอิสระที่ไม่อิสระในการปฏิบัติการสกัดกั้นรัฐบาลพรรคประชาธิปไตยอยู่แล้ว สิ่งนี้ไม่ต่างประเทศรัฐบาลเมียนมาร์ซึ่งรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าดำเนินการต่อ “อองซาน ซูจี” และ “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย”  

ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เคยให้ข้อเสนอแนะไว้ว่าในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการและซากแห่งพลังโต้อภิวัฒน์ชนิดต่างๆ ที่ยังมีอยู่ อาจารย์ปรีดี แนะว่า “ไม่อาจหวังพึ่งบุคคลใดคนเดียวหรือคณะใดคณะเดียวเท่านั้น นอกจากพึ่งพลังของประชาชน ซึ่งเป็นพลังอันแท้จริง โดยต้องมีศูนย์การจัดตั้งที่มีวินัยและเข้มแข็ง เป็นกองหน้าต่อสู้ป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามช่วงชิงเอามวลชนไปเป็นพวกเขาได้ และจะต้องกุมความคิดให้มั่นคง บนรากฐานแห่งทรรศนะ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์””

อาจารย์ปรีดีเคยให้สัมภาษณ์กับแอนโทนี พอล แห่งเอเชียวีค ว่า “ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ ตรงนี้สะท้อนความผิดพลาดของคณะราษฎรที่สำคัญ คือ ไม่สามารถรักษาชัยชนะก้าวแรกไว้ได้ กล่าวคือเมื่อชนะแล้วก็ต้องรักษาชัยชนะไว้ด้วย เมื่อรักษาชัยชนะไว้ไม่ได้ก็ไม่อาจพัฒนาประชาธิปไตยได้ ไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และประเทศชาติตามอุดมคติได้ ไม่มีโอกาสในการแก้ปัญหาต่างๆ และสร้างความเจริญก้าวหน้าด้วยอำนาจการเมืองได้”

“สมาชิกคณะราษฎรบางส่วนขาดความจัดเจนทางการเมือง และเกิดความขัดแย้งแตกแยกกันในขบวนการ และไม่ได้ระวังป้องกันการโต้อภิวัฒน์ ทำให้พลังตกค้างแห่งระบอบเก่า สามารถฟื้นกลับมามีอำนาจและทำลายล้างประชาธิปไตยได้ในที่สุด” อาจารย์ปรีดีได้ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์สมัยศักดินาที่เคยมีคณะบุคคลหนึ่งต่อสู้ผู้ครองอำนาจรัฐได้สำเร็จ แล้วภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภและความริษยาซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัว (Egoism) ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งกิจการทั้งปวง (Egocentrism) หลังจากที่ได้ชัยชนะต่อระบบเก่าแล้ว ภายในขบวนการนั้นก็เกิดความขัดแย้งระหว่างส่วนที่ก้าวหน้ากับส่วนที่ถอยหลังเข้าคลอง” ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องยึดกลไกทางรัฐสภา

ปัญหาสำคัญอยู่ที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งจะสามารถจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในให้ลดน้อยลงและจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคได้อย่างไร และสามารถรักษาอุดมการณ์และสัญญาประชาคมได้หรือไม่ กรณีคณะราษฎรได้ให้บทเรียนกับเราได้

ผมขอใช้โอกาสนี้ในการเสนอ 5 ก้าวเพื่อรักษาชัยชนะของประชาชน และ 5 ความร่วมมือเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ดังนี้

ก้าวแรก จัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ เพื่อยุติระบอบสืบทอดอำนาจจาก คสช. และสถาปนาประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้หยั่งรากลึกในสังคมไทย สร้างค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักในสังคมไทย

ก้าวที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ทำให้ประเทศไทยปกครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่ปกครองโดยคนหรือคณะบุคคล ทบทวนยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วมและอยู่บนหลักการประชาธิปไตย

ก้าวที่สาม รัฐบาลใหม่ต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ปลอดทุจริต เพื่อไม่เป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารอีก

ก้าวที่สี่ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขัน

ก้าวที่ห้า สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ร่วมกันสร้างสังคมสันติธรรม

ต่อในเรื่องความร่วมมือในการปกป้องประชาธิปไตย ได้แก่

ความร่วมมือข้อแรก ร่วมกันรับมือกับ “นิติสงคราม” และการตัดสิทธิ์ การยุบพรรคขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ด้วยความรัดกุม รอบคอบ ไม่ตกหลุมพรางที่เครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยขุดล่อเอาไว้ โดยเฉพาะการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยกในขบวนการประชาธิปไตย

กระบวนการในการยุบพรรคที่ไม่เป็นธรรม เป็นความพยายามในการสร้างชัยชนะชั่วคราวของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย สิ่งนี้จะนำมาสู่ชัยชนะถาวรของประชาธิปไตย ถ้าทุกคนตื่นรู้ จะทำให้พลังของประชาธิปไตยกว้างขวางและใหญ่กว่าเดิม

ความร่วมมือข้อที่สอง ร่วมกันลดความเสี่ยง ลดเงื่อนไขอันก่อให้เกิดการเผชิญหน้า ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง

ความร่วมมือข้อที่สาม ร่วมกันต่อต้านการรัฐประหารในรูปแบบต่างๆ ทั้งรัฐประหารโดยกระบอกปืน รัฐประหารโดยกฎหมาย รัฐประหารโดยใช้นิติสงคราม อันอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ ขอให้ท่านทั้งหลายไปศึกษา Theory of Nonviolent Resistance ผลงานของ ดร.ยีน ชาร์ป และร่วมมือกันตามแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านรัฐประหาร

ประเทศไทยมีรัฐประหารสำเร็จมาแล้ว 13 ครั้ง ติดอันดับประเทศที่มีรัฐประหารแถวหน้าของโลก เป็นรองเพียงประเทศซูดาน 14 ครั้ง ขณะนี้ประชาชนในซูดานต้องหนีออกนอกประเทศและยากลำบากอย่างแสนสาหัสจากสงครามกลางเมืองระหว่างสองนายพล

ความร่วมมือข้อที่สี่ ร่วมมือกันในการปฏิรูประบบความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

ความร่วมมือข้อที่ห้า ร่วมมือกันในการปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพของทหารอาชีพ กองทัพของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในหลายประเทศได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ มักเป็นผลมาจากกองทัพไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แต่ทำเพื่อบุคคลหรือคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆ ทั้งที่ ทหารทั้งหมดมาจากประชาชน การทำให้กองทัพเป็นทหารอาชีพจะลดความเสี่ยงของสงครามกลางเมืองที่ต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธ และเราเห็นตัวอย่างความสูญเสีย ความเสียหาย ความย่อยยับ ความยากลำบากของประชาชนในหลายประเทศ เช่น เมียนมาร์ ซีเรีย ซูดาน กินี-บิสเซา กาบอง และประเทศแอฟริกาอื่นๆ

 

รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

ก่อนที่ท่านจะได้ฟังการเสวนาโดยวิทยากรทั้งหลาย ผมขอจบลงด้วยแนวคิดที่ว่า “อำนาจไม่ได้อยู่ที่ผู้ถือปืนที่กดขี่ อำนาจไม่ได้อยู่ที่นักกฎหมายหรือผู้พิพากษาที่ไม่ยึดถือความยุติธรรม อำนาจไม่ได้อยู่ที่จารีตประเพณีล้าหลังที่ครอบความคิดท่านอยู่ แท้จริงแล้ว อำนาจอยู่ที่ประชาชน เพราะผู้ปกครองมีอำนาจเมื่อราษฎรเชื่อมั่นศรัทธาเท่านั้น”

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : 

 

 

 

ที่มา : อนุสรณ์ ธรรมใจ. PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.