ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐประหารซ้อน : รัฐธรรมนูญในฐานะเครื่องมือทางการเมือง

30
มิถุนายน
2566

Focus

  • อาจารย์ปรีดีสรุปถึงว่าความเป็นประชาธิปไตยถูกบั่นทอนหรือถูกพรากเอาไปจากประเทศไทย ด้วยสองปัจจัยใหญ่ๆ คือ ปัจจัยภายในที่เป็นการขัดแย้งภายใน กับ ปัจจัยภายนอกที่มีการทำรัฐประหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
  • ในทางรัฐธรรมนูญ ปัจจัยภายนอก คือการทำรัฐประหาร ถือเป็นวงจรอุบาทว์ในทางการเมืองไทยที่เกิดมาทุกยุคทุกสมัย โดยการทำการรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในการเมืองสมัยใหม่ คือการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ (Constitutional Coup) โดยการทำรัฐประหารผ่านการร่างและดีไซน์รัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องรองรับกับคณะรัฐประหารที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยอาจจะมี 4 วัตถุประสงค์ใหญ่ๆ คือ หนึ่ง พยายามลดทอนทำให้ประเทศนั้นมีความประชาธิปไตยน้อยลง สอง พยายามเข้าไปครอบงำการเมือง สาม พยายามที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้นเข้าไปทำลายศัตรูในทางการเมือง และ สี่ พยายามที่จะอาศัยอ้างอิงตัวรัฐธรรมนูญทำการรักษาอำนาจหรือต่อขยายอำนาจของตัวเองให้ยาวต่อไป
  • การใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมืองค่อนข้างเป็นอันตรายอย่างยิ่ง สุดท้ายแล้วจะเกิดสภาวะที่ประชาชนหมดศรัทธาและความเชื่อมั่นกับระบบการเมือง ระบบกฎหมาย และสังคมที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การพัฒนาไปเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีกลไกมากมายที่พร้อมจะออกมาแและลดทอนคุณค่าความเป็นประชาธิปไตยลงไป

 

 

 

ในฐานะนักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน อยากทราบว่ามีบทเรียนหรือข้อเสนอในทางรัฐธรรมนูญหรือทางกฎหมายมหาชนใดๆ ที่เราจะรักษาประชาธิปไตยและชัยชนะของประชาชนไว้ได้อย่างยั่งยืน สมมติมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะมีกลไกหรืออะไรที่จะรักษาชัยชนะหรือเจตจำนงของประชาชนครั้งนี้ไว้ให้ได้

 

 

ผมเข้าใจได้ว่าทางผู้จัดน่าจะตั้งประเด็นมาจากคำพูดในการให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ปรีดี ท่านเองก็มองว่าในตอนท่านที่ทำการอภิวัฒน์อายุประมาณ 32 ปี ท่านยังไม่ได้จัดเจน แต่หลังจากนั้นเวลาที่ท่านจัดเจนแล้ว ท่านก็ไม่ได้มีอำนาจ

คำพูดของอาจารย์ปรีดีทำให้ผมพยายามอธิบายและสะท้อนว่า ท่านพยายามเอาความเป็นประชาธิปไตยให้กับประเทศไทยแล้ว แต่หลังจากนั้นความเป็นประชาธิปไตยกลับถูกบั่นทอนหรือถูกพรากเอาไปจากประเทศไทย โดยที่ท่านเองหยิบยกประเด็นปัญหาอยู่ประมาณ 2 สาเหตุปัจจัยใหญ่ๆ คือ

ปัจจัยแรก คือปัจจัยภายใน การขัดแย้งภายใน กับ ปัจจัยที่สอง คือปัจจัยภายนอก การทำรัฐประหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ฉะนั้นโดยภาพรวมเราจะพบว่า สิ่งที่ท่านพูดในครั้งนี้สามารถทำให้เรานำบริบทตอนนั้น แม้กระทั่งว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดมานานแล้ว หยิบยกมาทำการอภิปราย มาวิเคราะห์กับสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันได้ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ว่าหลังจากที่เราออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

อุปมาว่าประชาชนเกินกว่า 70% ของคนที่ออกไปใช้สิทธิ เขามุ่งหมายที่จะให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมขึ้นมาเป็นรัฐบาล เสมือนหนึ่งว่าประชาชนเอาความเป็นประชาธิปไตยมาให้กับสังคมไทยแล้ว แต่หลังจากนั้นเราจะสามารถประคับประคองความเป็นประชาธิปไตยตรงนี้ให้ไปต่อได้อย่างไร ซึ่งยังไม่ทันทำอะไรเลยก็ดูประหนึ่งว่าอุปสรรคจะเกิดขึ้นแล้ว เริ่มที่จะมีองค์กร กลไกอะไรบางอย่างออกมาโต้กับลักษณะของการเลือกตั้งในครั้งนี้

ประเด็นที่ผมอยากจะพูดคือเรื่องของปัจจัยภายนอกที่อาจารย์ปรีดีพยายามจะพูดถึง เพราะว่าปัจจัยภายในก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งก็บริหารจัดการกันไปในทางการเมือง

แต่ในทางรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าปัจจัยภายนอกนั้นสำคัญ คือการทำรัฐประหาร เพราะการทำรัฐประหารถือเป็นวงจรอุบาทว์ในทางการเมืองไทยที่เกิดมาทุกยุคทุกสมัย หรือแม้กระทั่งปัจจุบันที่เกิดอุปสรรคในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเริ่มที่จะมีคนสรุปว่าจะมีการทำรัฐประหารอีกไหม

 

 

ผมพยายามจะบอกทุกท่านว่าการทำรัฐประหารในบริบทการเมืองสมัยเก่ากับบริบทการเมืองสมัยใหม่ รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราพูดถึงเรื่องในการเมืองยุคเก่า การทำรัฐประหารคือการใช้กำลังเข้าไปล้มล้าง เปลี่ยนรัฐบาลเดิม และตั้งตัวเองขึ้นไปเป็นรัฐบาลใหม่

หลายคนถามอยู่เสมอว่าเมื่อมีการทำการรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญทำไม คำตอบในสมัยเก่าๆ เราจะบอกว่า เพราะว่าเขาทำผิดกฎหมาย เขาจึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเพื่อที่ว่าเขาจะไม่ได้ผิดกฎหมาย แล้วเขาก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันนั้นคือชุดคำอธิบายหรือปัจจัยภายนอกที่เข้าไปบั่นทอนประชาธิปไตยแบบเดิม

แต่ในการเมืองสมัยใหม่ ไม่ได้เป็นลักษณะของการทำรัฐประหารแบบเดิม ในทางทฤษฎีผมพยายามที่จะกล่าวว่านี่เป็นการทำรัฐประหาร 2 ครั้งติดต่อกัน เป็นการทำรัฐประหารซ้ำ หมายถึงว่า หนึ่ง มีการใช้กำลังเข้าไปเปลี่ยนแปลงและเอารัฐบาลชุดเดิมออก สอง จากนั้นจะทำรัฐประหารอีกชุดหนึ่งตามมา นั่นคือการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ ในทางรัฐธรรมนูญเรียกทฤษฎีนี้ว่าเป็น Constitutional Coup หมายถึงการทำรัฐประหารผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มีการเข้าไปร่างและดีไซน์รัฐธรรมนูญ ทำการสอดคล้องรองรับกับคณะรัฐประหารที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

 

 

ฉะนั้น โดยหลักการวัตถุประสงค์ของการทำรัฐประหารผ่านตัวรัฐธรรมนูญ อาจจะมี 4 วัตถุประสงค์ใหญ่ๆ ได้แก่

หนึ่ง พยายามลดทอนทำให้ประเทศนั้นมีความประชาธิปไตยน้อยลง

สอง พยายามเข้าไปครอบงำการเมือง

สาม พยายามที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้นเข้าไปทำลายศัตรูในทางการเมือง

และ สี่ พยายามที่จะอาศัยอ้างอิงตัวรัฐธรรมนูญทำการรักษาอำนาจหรือต่อขยายอำนาจของตัวเองให้ยาวต่อไป

เราจะพบว่าการทำลายความเป็นประชาธิปไตยผ่านการรัฐประหารไม่ได้มีความตื้นเขินแบบสมัยเก่า แต่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ลักษณะแบบนี้ไม่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดในกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ เช่น ซูดาน แซมเบีย คองโก หรือในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา

ถามว่าในประเทศไทยเคยมีลักษณะการทำรัฐประหาร 2 ครั้งติดต่อกันเกิดขึ้นในประเทศไทยไหม คำตอบคือเคย แล้วเราก็เคยเห็นร่องรอยแบบนี้ตั้งแต่ช่วงตรารัฐธรรมนูญในปี 2492 เริ่มมีร่องรอยของการใช้รัฐธรรมนูญในฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดในการคุ้มครองพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญมาใช้ในการทำลายประชาธิปไตยเสียเอง แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการทำความเข้าใจกับเรื่องการใช้รัฐธรรมนูญเข้าไปทำลายความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2492 กับบริบทปัจจุบันไม่เหมือนกัน

 

 

ผมจึงขอพาทุกท่านให้มาอยู่ในบริบทการเมืองปัจจุบัน โดยเริ่มต้นวางหมุดที่รัฐธรรมนูญ 2540 คำถามคือทำไมผมตั้งต้นอยู่ที่รัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นเพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ในทางวิชาการถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เข้าไปเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองและกฎหมายให้แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

เราทราบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่ปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนเยอะแยะมากมาย แน่นอนว่าก่อนที่มีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535  มีเรื่องปัญหาในทางการเมืองอะไรต่างๆ นานา นำไปสู่การตรารัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้นมาบังคับใช้

 

 

รัฐธรรมนูญ 2540 มีการบังคับใช้ไปราว 9 ปี หลังจากนั้นมีการทำรัฐประหารในปี 2549 คณะรัฐประหารพยายามทำการรัฐประหาร 2 ครั้งต่อกัน หนึ่ง ใช้กำลังไปเปลี่ยนแปลงตัวรัฐบาลออก สอง พยายามเข้าไป Constitutional coup ทำการล็อกอีกหนึ่งชั้นโดยการทำรัฐประหารผ่านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ออกแบบรัฐธรรมนูญตามวัตถุประสงค์ที่อธิบายไป 4 ข้อก่อนหน้านี้

ฉะนั้นจะเห็นภาพว่ามีการเข้าไปปรับเปลี่ยนองค์กร ที่มา และอำนาจต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ตัวอย่างเช่น จากเดิมรัฐธรรมนูญปี 2540 สว. ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มีการดีไซน์ว่าครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา หรือเป็นลักษณะของการเพิ่มอำนาจและบทบาทให้กับองค์กรอิสระและองค์กรตุลาการให้มีอำนาจมาก

สิ่งที่ผมพูดสามารถไปอ่านอารัมภบทของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเขียนชัดเจนอยู่แล้ว นี่เป็นข้อเท็จจริงอาจจะต้องลองเข้าไปอ่านแล้วพินิจพิเคราะห์ต่อ ฉะนั้นในบริบทการเมืองปี 2550 ทุกท่านจะเห็นภาพว่าเริ่มมีองค์กรอิสระและองค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองสูง นี่คือผลมาจาก Constitutional coup

หลังจากมีบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ไปได้ 7 ปี ก็เกิดการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในปี 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในปี 2557 หลังจากนั้นจึงยกร่างเป็นรัฐธรรมนูญปี 2560

รัฐธรรมนูญปี 2560 ในปัจจุบัน ผมคิดว่าเป็นการทำ Constitutional coup ที่ค่อนข้างรุนแรงมาก เพราะ strike back กลับไป โดยการนำรัฐธรรมนูญปี 2521 มาผสมรวมกับรัฐธรรมนูญปี 2534 แล้วกลายเป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 ปัจจุบัน หมายถึงว่าเขาตั้งฐานอยู่ที่รัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งท่านก็รู้ว่าการเมืองของไทยเป็นลักษณะการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ฉะนั้นโดยธรรมชาติก็ไม่เป็นประชาธิปไตย นำเอามาผสมรวมกันกับรัฐธรรมนูญปี 2534 แต่ว่ามีกลไกต่างๆ ที่เป็นฐานมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540

นี่คือสิ่งที่ผมพยายามชี้ให้เห็นภาพว่าที่ผมตั้งหมุดหมายไว้ที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะว่ากลไกในทางรัฐธรรมนูญ การแสดงบทบาท อำนาจหน้าที่ต่างๆ ขององค์กร ไม่ได้เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2492 แต่กลไกในทางรัฐธรรมนูญ การดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐธรรมนูญมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ หนึ่ง เข้าไปตั้งฐานองค์กรต่างๆ ให้มีความสลับซ้อนเป็นบริบทของตัวรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ มีองค์กรอิสระ มีศาลรัฐธรรมนูญ มีกลไกในการฟ้องร้องต่างๆ นานา เพื่อทำการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ อันนี้คือการมองโดยตั้งฐานจากระบอบประชาธิปไตย

สอง ในทางวิชาการ สำหรับผมเป็นความน่าเสียใจสลดหดหู่อยู่พอสมควร เพราะว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 องค์กรต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย แต่สุดท้ายปัจจุบันองค์กรต่างๆ เหล่านี้ ถูกใช้เพื่อลดทอนและทำลายความเป็นประชาธิปไตยเสียเอง

 

 

การใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมืองค่อนข้างเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะโดยธรรมชาติของรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นกฎหมายทั่วไป แต่เป็นกฎหมายที่ก่อตั้งองค์กรโครงสร้างต่างๆ ทั้งหมดของประเทศ ก่อตั้งระบบกฎหมาย ระบบการเมือง ระบบสังคม ฉะนั้นเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมือง สุดท้ายแล้วจะเกิดสภาวะที่ประชาชนหมดศรัทธาและความเชื่อมั่นกับระบบการเมือง ระบบกฎหมาย และสังคมที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน

คำถามคือสิ่งที่ผมพูดมาทุกท่านกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้หรือเปล่า เพราะเรากำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติพอสมควร สิ่งที่ผมพูดตรงและสอดคล้องกับงานวิจัยในทางรัฐธรรมนูญที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นรัฐ มีวิจัยที่เข้ามาทำการให้คะแนนในประเทศไทยว่าตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 จนกระทั่งปัจจุบัน พบดัชนีความขัดแย้งของสังคมไทยเกิดสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าที่จะลดน้อยถอยลง นี่เป็นผลมากจากการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมือง Constitutional coup

ลักษณะของการที่ประชาชนนำเอาประชาธิปไตยเข้ามาสู่ในสังคมไทยได้แล้ว และเราพยายามจะพิทักษ์รักษาหรือประคับประคองให้ประชาธิปไตยไทยไปต่อได้ หรือแม้กระทั่งจะพัฒนาไปเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายในกรณีปัจจุบัน เพราะมีกลไกอะไรอีกเยอะแยะมากมายที่พร้อมจะออกมา แล้วก็เข้ามาลดทอนคุณค่าความเป็นประชาธิปไตยลงเรื่อยๆ

 

 


รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง :

 

 


ที่มา : พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย. PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.