ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การไปสู่ชัยชนะในการได้มาซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตย

3
กรกฎาคม
2566

Focus

  • รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นเสมือนบันทึกการปกครองประเทศ สำหรับฉบับปี 2560 มีรัฐอยู่ 4 รัฐ คือ (1) รัฐธรรมนูญ (2) รัฐอิสระ รัฐอิสระคือองค์กรอิสระต่างๆ ไม่ได้มาจากประชาชน (3) รัฐราชการ เช่น กองทัพเป็นสถาบันการเมืองที่นายกรัฐมนตรีมาจากกองทัพมากกว่ามาจากประชาธิปไตย และ (4) รัฐประหารเงียบ คือบทเฉพาะกาลที่ให้ สว. มาเลือกนายกรัฐมนตรี 
  • เส้นทางสู่การเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยนั้น ต้องรักษาสัจจะ และนับเป็นความฉลาดของทั้ง 8 พรรค ที่ร่วมกันเซ็น MOU เพราะสัจจะที่ให้กับประชาชนมีความสำคัญ และพรรคการเมือง 8 พรรคจะต้องมั่นคงร่วมกัน ไม่ควรพูดเรื่องของตัวเองและเรื่องตำแหน่ง แต่ให้ความสำคัญกับนโยบายร่วมของรัฐบาล
  • การจะรักษาชัยชนะในก้าวแรก คือการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนให้มีเอกภาพ และต้องเดินก้าวที่สอง คือเราจะเอาชัยชนะในการเลือกนายกได้อย่างไร ด้วยหากมีการเสนอเลือกนายกฯสองคน คนที่ 1 (คุณพิธา) ของพรรคร่วมรัฐบาลมี 312 เสียง และพรรคฝ่ายตรงข้ามเสนอ (พลเอกประยุทธ์) ที่มี 438 เสียง แต่หวังว่าสว.จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตัว
  • ปัญหาสำคัญคือบ้านเมืองของเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย การเป็นประชาธิปไตยก็คือ การยอมรับการเลือกตั้ง ความยุติธรรม การกระจายอำนาจ และการปฏิรูปที่ต้องการมากที่สุดคือสภาผู้แทนราษฎร

 

 

ในมุมมองของคนที่เคยเป็นทั้งตำรวจและเป็นนักการเมือง สถานการณ์ขณะนี้เป็นอย่างไร เราจะสามารถไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้หรือไม่ และเครือข่ายราชการที่ควรจะสนับสนุนประชาธิปไตย ตอนนี้เป็นอย่างไร

กราบเรียนผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผมเห็นหัวข้อว่าเราจะรักษาชัยชนะของประชาชนได้อย่างไร แต่ตัวผมจะเข้าใจผิดก็ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรายังไม่ชนะเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้รัฐสภามี 750 คน ถ้าจะชนะต้อง 376 คน ขณะนี้ฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันได้ 312 คน เราน่าจะเปลี่ยนคำถามว่าเราจะชนะได้อย่างไร อันนี้อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

 

 

การสืบทอดอำนาจเป็นเรื่องธรรมดาของผู้มีอำนาจ เพราะอำนาจจะมากับตำแหน่ง ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่มีตำแหน่งนายก เขาก็ไม่มีอำนาจ การจะได้มาซึ่งอำนาจ ก็จะเป็นผลประโยชน์ตามมา

การต่อสู้ในยุคนี้ค่อนข้างรุนแรง เพราะใครที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามเขา เขาจะยกระดับเป็นศัตรู เขาจะยกระดับเป็นข้าศึก การเป็นข้าศึกนี้ แม้แต่สิทธิมนุษยชนบางทีก็ถูกมองเป็นข้าศึก บางทีนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เรียกร้องความเสมอภาค เรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็ถูกผลักเป็นศัตรู เรามีคนจำนวนมากต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ นี่คือวิธีการยกระดับ พวกเราหลายๆ คนก็อาจจะถูกมองเป็นข้าศึกของฝ่ายอำนาจนิยมก็ได้ 

 

 

ผมคิดว่าวันนี้เราเริ่มต้นที่จะเข้าไปสู่ชัยชนะ คือการเริ่มต้นที่จะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ง่าย เพราะเราต้องไปพึ่ง สว. อีก 60 กว่าคน อุดมการณ์ที่ชนะต้องการประชาธิปไตยที่ไม่ใช่อำนาจเงิน อำนาจทุกสิ่งทุกอย่าง หลังจากเรามีรัฐบาล เราต้องมาทำบ้านเมืองให้สะอาด เราต้องมาเริ่มขจัดคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

ดังนั้นเส้นทางที่จะไปถึงการที่จะเป็นชัยชนะ เป็นรัฐบาลต้องมาร่วมคิด ต้องมาร่วมกันคิดว่าวันนี้พรรคก้าวไกลที่ท่านพิธาเป็นหัวหน้าพรรคที่พวกเราสนับสนุนจะให้เป็นนายกนั้นจะได้รับเสียงจาก สว. หรือไม่ อันนี้ก็เป็นเป็นเรื่องที่น่าคิดหรือจะต้องรอไปอีก 1 ปี เพื่อให้ สว. หมดอายุ แต่ความทุกข์ของประชาชนรอได้ไหม หรือเราจะต้องกลืนเลือดของพรรคอันดับ 1 เอาลุงหรือเอาพรรคที่ไม่ต้องการเพื่อมายก นี่คือโจทย์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ถ้าดูตามข่าว ตามหนังสือที่ส่งมา ก็วันที่ 4 จะเลือกประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคนๆ นี้ต้องเป็นประธานรัฐสภา 

 

 

สภาผู้แทนราษฎรผมอาจจะเข้าไปไม่มากนัก แต่บางครั้งผมมองว่าเป็นสภาของรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นสภาของราษฎร เราจะเห็นได้จากกฎหมาย ถ้าจากประชาชนจะผ่านสักฉบับ ยากแสนยาก ถ้ากฎหมายที่มาจากฝ่ายรัฐบาลต้องบรรจุทันที นี่คือประเด็นของปัญหา อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญมา 90 กว่าปีแล้ว ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกติกาที่ผู้มีอำนาจต้องการจะมาใช้ เมื่อมีเวลาที่ต้องการจะสร้างความชอบธรรม แต่เป็นเรื่องไร้สาระของผู้มีอำนาจที่จะเอารัฐธรรมนูญไปขจัดผู้มีอำนาจ

รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเหมือนบันทึกการปกครองประเทศ บันทึกการปกครองประเทศฉบับปี 2560 ที่ว่าเรียกรัฐธรรมนูญ ผมเคยอธิบายในสภาว่ามีรัฐอยู่ 4 รัฐ

  1. รัฐธรรมนูญ
  2. รัฐอิสระ รัฐอิสระคือองค์กรอิสระต่างๆ ไม่ได้มาจากประชาชนเลย 5 คนก็สามารถยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ เอามติเสียงส่วนใหญ่ 9 คน 5 คนก็ได้แล้ว 
  3. รัฐราชการ เขาบอกว่าในระบอบประชาธิปไตย สถาบันการเมืองมีแห่งเดียวคือพรรคการเมือง สถาบันการเมืองของประชาชนก็คือพรรคการเมือง แต่ในประเทศไทยกองทัพเป็นสถาบันการเมือง อาจจะมีคนเถียง ไปดูการเป็นนายกรัฐมนตรีมาจากกองทัพมากกว่ามาจากประชาธิปไตย บางครั้งกองทัพรวมถึงตำรวจด้วย อันนี้ก็คือทำให้สถาบันการเมืองอ่อนแอ
  4. รัฐประหารเงียบ รัฐประหารเงียบคือบทเฉพาะกาลที่ให้ สว. มาเลือกนายกรัฐมนตรี 

 

 

เรากำลังเจอบททดสอบ บททดสอบของฝ่ายประชาธิปไตย เราทำได้แค่อดทนหรือ ผมเองมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าเราคิดว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญ แต่บางครั้งเราต้องทำใจ สิ่งนี้เป็นแค่บันทึกการปกครองประเทศ เราต้องมาร่วมกันทำสังคมให้เป็นประชาธิปไตย วันนี้สังคมแสดงให้เห็นการเป็นประชาธิปไตยแล้ว คือการเลือกตั้งที่ผ่านมา

การเลือกตั้งที่ผ่านมา เท่าที่เราไปดูมิติของบัญชีรายชื่อ เราจะเห็นได้ว่า 72% เลือกฝ่ายประชาธิปไตย เลือกเป็นฝ่ายค้าน ผมอยู่พรรคประชาชาติซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เหมือนเกิดในภาคใต้ พรรคการเมืองที่อยู่ในภาคใต้และได้ ส.ส. ทั้งหมดในคราวที่แล้ว (พ.ศ. 2562)  เป็นรัฐบาลหมดเลย พรรคก้าวไกลเผอิญไม่ได้ ส.ส. ที่เป็น ส.ส. เขตในภาคใต้ พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ แต่พรรคประชาชาติเราได้ ส.ส. เขตภาคใต้ เราตัดสินใจเป็นฝ่ายค้านเพราะเราต้องการแสดงให้เห็นว่าเราจะไม่ยอมจำนนกับอำนาจที่มาสืบทอดอำนาจ อันนี้คือจุดยืน

วันนี้เมื่อแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยากแสนยาก แต่เราก็ได้เห็นก้าวแรก ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นปีกว่าข้างหน้า เราไม่ต้องไปหาเสียง สว. หัวหน้าพรรคก้าวไกลพิธาเป็นนายกไปแล้ว แต่นี่อาจจะต้องรออีก 1 ปี ปัญหาก็คือว่าในระหว่างนี้ ผมเองมีส่วนประสานงานจะได้รับฟังหัวหน้าพรรคทุกพรรค เราประกาศว่าเราจะดีลรัก ไม่ได้ดีลลับ ไม่เน้นลับก็คือเราจะรักษาสัจจะ เราจะรักษาคำพูดก็เป็นความฉลาดของทั้ง 8 พรรคเมื่อเรารู้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะต้องมาโจมตี ก็ร่วมกันเซ็น MOU

การเซ็น MOU ถ้าพรรคการเมืองไหนไม่ทำตาม แต่สัจจะที่ให้กับประชาชนมีความสำคัญ พรรคการเมือง 8 พรรคจะต้องมั่นคงร่วมกัน แม้ว่าหลังจากวันที่ 4 มีประธานสภาแล้ว

การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ใน มาตรา 159 ว่า  5 ปีแรกต้องเลือกโดยรัฐสภา แต่การจะเสนอให้รัฐสภารับรองต้องเสนอในสภาผู้แทนก่อน เพราะ มาตรา 159 วรรค 2 ก็บอกว่าต้องมี ส.ส. 1 ใน 10 รับรอง แต่คราวที่แล้วอาจารย์ปิยบุตรก็ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ประธานสภาชวนทำผิด อยู่ๆ เอาเข้าไปในรัฐสภาเลย ผู้ตรวจการแผ่นดินก็โต้ตอบเหมือนจะตำหนิ คือเขียนเติมรัฐธรรมนูญ แม้มาตรา 159 วรรค 2 จะเขียนว่าต้องไปขอมติในสภาผู้แทนราษฎร 1 ใน 10 ก่อน แต่ก็ไม่เป็นไรเมื่อเอามาประชุมในที่ประชุมใหญ่ ก็ถือว่าใช้ได้ นี่คืออะไร คือต้องการที่จะให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะประธานสภามาจากพรรคการเมืองอันดับ 4 ของคราวที่แล้ว

 

 

เราเรียกร้องทั้ง 2 พรรคให้ไปคุยกัน แต่โดยหลักการ พรรคการเมืองอันดับ 1 ต้องเป็นประธานสภา แต่ครั้งนี้ 2 พรรคต้องไปคุยกัน อย่างน้อยที่สุดถ้าในวันที่ 4 ต้องมา free vote สัญญาณของการความเจ็บปวดของประชาชนก็จะเกิดขึ้น วันนี้ผมคิดว่าพรรคทั้ง 8 พรรค ต้องไม่ควรจะมาพูดเรื่องของตัวเอง ไม่ควรจะมาพูดเรื่องตำแหน่ง แล้วครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ทุกพรรคการเมืองเอานโยบายมาคุยกัน อยากจะเรียนว่าวันนี้เราจะรักษาก้าวแรก คือต้องทำให้สร้างความเชื่อมั่นของประชาชนให้มีเอกภาพ แต่เราต้องเดินไปอีกก้าวที่สอง เราจะเอาชัยชนะได้อย่างไร

สิ่งที่ผมคิด คือวันที่มีการเลือกตั้งนายก มีการเสนอ 2 คน คนที่ 1 คุณพิธา อีกพรรคฝ่ายตรงข้ามเสนอ 1 ลุงขึ้นมา แล้วโหวตกันเขามี 438 ส่วนเรามี 312 คน นี่คืออะไร คือในความคิดของมนุษย์ปกติ เขาไม่ทำ เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่เนื่องจากการสืบทอดอำนาจกับผลประโยชน์เขาอาจจะทำได้ เพื่อยั่วยุ เพื่อเรียกร้อง ให้คนทั้งประเทศที่ไม่ได้รับความยุติธรรมออกมา 

 

 

เรามีเคยล้อมปราบในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีมาแล้ว แต่คนสั่งก็ยังลอยนวลอยู่ ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เขาบอกอดีตเป็นบทเรียนปัจจุบัน และอนาคตเป็นความรับผิดชอบ เรามีอดีตลักษณะอย่างนี้มาแล้วนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 จนได้รัฐธรรมนูญที่ดี มาเป็นชัยชนะ เมื่อก่อนการจะแจ้งความ ถ้าตำรวจไม่ยัดแจ้งความ ต้องแจ้งกับสภานิสิตนักศึกษา ห้ามใช้อาวุธห้ามอะไร เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่พอถึงเวลาก็มีการจัดการเหมือนชัยชนะครั้งนี้ แต่ครั้งนี้เราต้องไม่ทำอย่างนี้ พรรคการเมืองเองก็ต้องทำหน้าที่ที่จะต้องร่วมกัน แล้วผมเชื่อว่าท่าน สว. ก็เป็นมนุษย์ เพราะเหลืออีกปีเดียว ผมเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเห็นกับประเทศ ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมเราท่องกันเสมอ แล้วมักจะไปหาเสียงประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อน แต่เอาเข้าจริงๆ คนจะเห็นประโยชน์ส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา 

 

 

วันนี้เป็นบทพิสูจน์ ปัญหาทั้งหมดที่ผ่านมาหลายท่านพูดแล้ว ปัญหาสำคัญคือบ้านเมืองเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย คำว่าประชาธิปไตยก็คือ คนถูกปกครองจะยอมรับผู้ปกครองต่อเมื่อเขาศรัทธา ไม่ใช่ผู้ปกครองมีฐานะ มีอำนาจ และมาบังคับให้ผู้ถูกปกครองยอมรับ การจะยอมรับก็คือการเลือกตั้ง อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ แล้วประการสำคัญต่อมาก็คือเรื่องความยุติธรรม คนเราไม่ว่าจะยากดีมีจน ความยุติธรรมต้องมาก่อน เรื่องการกระจายอำนาจ และเรื่องการปฏิรูป สิ่งที่ต้องปฏิรูปมากที่สุดคือสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง 

 

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง :

 

 

ที่มา : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง. PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.