ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและปลดล็อกความสามารถในการแข่งขัน

13
กรกฎาคม
2566

Focus

  • ปัญหาของประเทศสามารถแก้ไขได้โดยหลายวิธีการ และวิธีการหนึ่งคือการแก้ไขกฎหมาย หากรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกลจัดตั้งได้สำเร็จ นโยบาย “ยกเลิกใบอนุญาต 50% ยกเลิกทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค” ของพรรคก้าวไกลก็คงถูกนำไปปฏิบัติ
  • กฎหมายที่เป็นภาระแก่ประชาชนอาจจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ (1) กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น (2) กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน (3) กฎหมายที่สร้างผลที่ไม่พึ่งประสงค์ และ (4) กฎหมายที่สร้างต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมาย
  • กฎหมายนำไปสู่กระบวนงานจำนวนมาก เช่น จากการศึกษากฎหมายของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า จำนวนกฎหมายที่ศึกษาทั้งสิ้นมี 1,094 กระบวนงาน มีจำนวน 1,026 กระบวนงาน (ร้อยละ 85) เกิดจากกฎระเบียบ ที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัย นอกจากนี้ กฎหมายไม่ได้สร้างภาระให้กับประชาชนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกัน และการมีกฎหมายจำนวนมากนำไปสู่การเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ของหลายหน่วยงานของรัฐ อันส่งผลต่อความล่าช้าในการให้บริการแก่ประชาชน และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นการยกเลิกกฎหมายย่อมจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและปลดล็อกอุปสรรคที่ถ่วงรั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

ภายหลังจากที่การเลือกตั้งได้ล่วงเลยมาเกือบ 2 เดือนแล้ว สิ่งที่แน่นอนและน่าติดตามในเร็วๆ นี้ หากการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จขึ้นแล้วก็คือ การแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งนโยบายดังกล่าวที่ได้รับการแถลงจะเป็นทิศทางในการบริหารประเทศต่อไปอีก 4 ปี หรือตลอดวาระของรัฐบาลใหม่

พรรคการเมืองหลายพรรคสนใจแก้ปัญหาให้กับประเทศในประเด็นกฎหมาย รวมทั้งพรรคการเมืองที่กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันด้วย แต่สำหรับพรรคก้าวไกลที่กำลังเป็นผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้นั้น ความน่าสนใจของนโยบายพรรคก้าวไกลก็คือ ยุทธศาสตร์ในการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ โดยพรรคก้าวไกลได้ประกาศนโยบายไว้ทั้งสิ้น 300 เรื่อง ซึ่งจำนวนนี้มีอยู่ 15 เรื่องที่พรรคก้าวไกลประกาศว่าสามารถทำได้สำเร็จใน 100 วันแรกที่ได้เป็นรัฐบาลและเรื่องอื่นๆ ที่จะทยอยทำให้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี ในบรรดา 300 นโยบายดังกล่าวนี้ มีนโยบายหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษคือ นโยบาย “ยกเลิกใบอนุญาต 50% ยกเลิกทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค” โดยพรรคก้าวไกลอธิบายว่า ระบบราชการมีโครงสร้างขนาดใหญ่และมีกฎระเบียบจำนวนมากที่ทำให้ขาดความคล่องตัว ไม่สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนในการติดต่อเพื่อรับบริการภาครัฐ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ยาก รวมถึงการขอใบอนุญาตที่มีขั้นตอนมาก กลายเป็นอุปสรรคของประชาชนในการเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ[1] จากสภาพการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ ทำให้พรรคก้าวไกลมุ่งเสนอให้มีนโยบายดังกล่าว

คำถามสำคัญเกี่ยวกับนโยบายของหลายๆ ท่านก็คือ กฎหมายสร้างภาระให้กับประชาชนได้อย่างไร กฎหมายไม่ได้สร้างภาระให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหากับหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกัน และการยกเลิกกฎหมายจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นจริงหรือไม่

 

กฎหมายสร้างภาระให้กับประชาชนได้อย่างไร

นักปรัชญากรีกโบราณชื่อว่า แอนาคาร์ซิส (Anacharsis) ได้เปรียบเทียบกฎหมายเสมือนกับใยแมงมุมที่จับได้เพียงสัตว์ตัวเล็กอ่อนแอ และจะฉีกขาดเมื่อเจอแรงของสัตว์ขนาดใหญ่ การอุปมาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นนัยของการบังคับใช้กฎหมายแบบอำนาจนิยมที่เน้นการควบคุมให้ประชาชนยอมปฏิบัติตาม แต่กฎหมายกลับไม่สามารถใช้ดำเนินการกับผู้ที่มีอำนาจหรือมีความมั่งคั่งได้ เพราะคนกลุ่มนี้สามารถหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างง่ายดาย โดยอาศัยอำนาจอิทธิพลและการเงิน[2]

โดยทั่วไปแล้วกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของคนในสังคม และทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุขโดยปราศจากการใช้กำลังประหัตประหารกัน ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายในลักษณะนั้นอาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ในบางครั้งกฎหมายที่ออกมาโดยมีเจตนาดีหรือเหมือนจะดีอาจจะกลายเป็นภาระให้กับประชาชนได้เช่นกัน

กฎหมายที่สร้างภาระให้กับประชาชนอาจจำแนกได้หลายลักษณะ แต่ในกรณีนี้ขอแบ่งกฎหมายที่สร้างภาระให้กับประชาชนเป็น 4 กลุ่มย่อยใหญ่ ได้แก่ (1) กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น (2) กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน (3) กฎหมายที่สร้างผลที่ไม่พึ่งประสงค์ และ (4) กฎหมายที่สร้างต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมาย

1. กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น

ในบางครั้งรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจอาจจะมีความปรารถนาดีหรือคิดแทนประชาชนว่าสิ่งนี้จะดีกับประชาชน รวมถึงบางครั้งก็ลุแก่อำนาจโดยออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อจำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น ทำให้ในสภาพปกติที่ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้ ก็กลายเป็นไม่สามารถจะใช้เสรีภาพได้แทน ตัวอย่างเช่น ในอดีตประเทศไทยเคยมีกฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดรับประทานอาหารในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตตั้งแต่เวลาตีหนึ่งถึงตีห้า ซึ่งหากฝ่าฝืนซื้อหรือขายก็จะได้รับโทษปรับ[3] โดยกฎหมายนี้ออกในสมัยของจอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งต้องการมิให้มีการสัญจรและต้องการให้เกิดความประหยัด รวมไปถึงรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงไม่ต้องการให้มีร้านอาหารแบบร้านข้าวต้มเที่ยงคืนหรือข้าวต้มโต้รุ่งเกิดขึ้น[4] จึงจำกัดเสรีภาพในลักษณะนี้ ซึ่งเป็นการที่รัฐบาลเข้ามาในพื้นที่ที่ควรเป็นเรื่องการตัดสินใจของประชาชนมากเกินไป

2. กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน

ในอดีต บางครั้งกฎหมายก็ออกมาเพื่อคุ้มครองเหตุการณ์ หรือดำเนินการเพื่อเป้าหมายบางอย่าง โดยที่ในปัจจุบันเหตุการณ์หรือเป้าหมายเช่นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอีกแล้ว[5] อาทิ ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อควบคุมการโฆษณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ (ซึ่งสำคัญในสายตาของรัฐบาล) กฎหมายกำหนดให้การโฆษณาโดยเครื่องขยายเสียงจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการโฆษณาต้องทำด้วยภาษาไทยเท่านั้น[6] แต่จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันการโฆษณาโดยเครื่องขยายเสียงเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ตั้งแต่รถกับข้าว แม่ค้าขายอาหาร หรือพริตตีงานมอเตอร์โชว์ทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องขยายเสียงได้ แต่กฎหมายในลักษณะนี้ยังคงอยู่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะที่กฎหมายเสมือนนอนหลับ แต่ไม่มีวันตายจนกว่าจะถูกยกเลิก กฎหมายเหล่านี้จึงยังคงอยู่เสมอรอวันที่จะถูกหยิบนำมาใช้ ในขณะเดียวกันการมีอยู่ของกฎหมายเหล่านี้ ก็เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจเลือกหยิบเอากฎหมายมาใช้บังคับกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะตามอำเภอใจได้[7] ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกฎหมายเรื่องนี้มาใช้บังคับกับผู้ชุมนุมทางการเมือง[8]

3. กฎหมายที่สร้างผลที่ไม่พึงประสงค์

ในบางครั้งรัฐบาลยกร่างกฎหมายขึ้นมาด้วยเจตนาที่ดี ต้องการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข จึงได้มีกฎหมายออกมาควบคุมพฤติกรรมของประชาชนในบางเรื่องโดยเข้าใจว่า หากควบคุมพฤติกรรมดังกล่าวได้แล้วจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่บ่อยครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกลับให้ผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาแทน ตัวอย่างเช่น ในอดีตภาครัฐต้องการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจสุกรในจังหวัดตราดไม่ให้มีราคาต่ำลงมาก ตรงข้ามกับต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อที่จะไม่ให้ราคาต่ำลงไปกว่าปัจจุบันจึงได้ออกประกาศห้ามมิให้มีการนำสุกรเข้ามาเขตจังหวัดตราด[9] ผลกระทบของมาตรการนี้ทำให้ราคาหมูแพงขึ้นสวนทางกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งหมายจะใช้ในการคุมราคาสินค้าและบริการมิให้สูงขึ้นเพื่อไม่เป็นภาระของประชาชน รวมถึงกลายเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการนำประกอบอาชีพของประชาชน

อีกตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดจากกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการประกอบธุรกิจร้านวีดิทัศน์มิให้มีการดำเนินการประกอบธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ[10] อย่างไรก็ดี บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ถูกตีความครอบคลุมไปถึงการขายแผ่นซีดีมือสอง[11] ทั้งๆ ที่กฎหมายไม่ควรจะถูกนำไปใช้กับกรณีนี้

อีกสถานการณ์หนึ่งที่กฎหมายน่าจะสร้างภาระให้เกิดขึ้นได้คือ กฎหมายเข้าไปยุ่งกับการทำงานของกลไกตลาดโดยไม่มีเหตุอันเหมาะสม ในทางเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ากลไกตลาดจะช่วยจัดสรรทรัพยากรและการผลิตสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพโดยตัวมันเอง

4. กฎหมายที่สร้างต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมาย

กฎหมายอีกลักษณะหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับประชาชนคือ กฎหมายที่สร้างต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายในลักษณะนี้คือ กฎหมายที่กำหนดให้ประชาชนต้องขออนุญาตหรือขอใบอนุญาตก่อนการดำเนินการจากหน่วยงานของรัฐ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งใบอนุญาตจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงและภาครัฐจำเป็นต้องเก็บข้อมูลการประกอบกิจการ แต่การใช้ระบบการอนุญาตก่อนดำเนินการ ก็สร้างภาระให้กับประชาชนได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ใบเคลื่อนย้ายไข่เพื่อการบริโภคภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งในปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้พยายามลดขั้นตอนในการขออนุญาตให้ดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ได้แล้ว[12] แต่ก่อนหน้าจะมีการแก้ไขพบว่า ในการขออนุญาตต่อครั้งมีต้นทุนครั้งละ 1,977 บาท ในการดำเนินการยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่[13]

 

กฎหมายไม่ได้สร้างภาระให้กับประชาชนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกัน

ลำพังกฎหมายไม่ได้สร้างภาระให้กับประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่กฎหมายยังสร้างภาระให้กับหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกัน ทั้งในแง่ของงบประมาณที่ต้องนำมาใช้ในการปฏิบัติตามกฎหมาย และต้องนำทรัพยากรเจ้าหน้าที่ของรัฐมาดำเนินภารกิจดังกล่าว ซึ่งหากไม่ต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้ว ภาครัฐอาจจะประหยัดงบประมาณลงไปได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

นอกจากนี้ กฎหมายบางเรื่องก็สร้างขั้นตอนที่จุกจิก รวมถึงในบางครั้งกฎหมายยังกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกันของภาครัฐเอง เนื่องจากกฎหมายแต่ละฉบับกำหนดหน้าที่และให้อำนาจแก่หน่วยงานเป็นการเฉพาะ ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์เฉพาะของตัวเอง การต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ในบางครั้งจึงอาจทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนกันได้ เช่น การขอใบอนุญาตนักบินโดรนจำเป็นต้องขอใบอนุญาตกับทั้งสำนักงานการบินพลเรือน และสำนักงาน กสทช. โดยกฎหมายมุ่งหมายที่จะเก็บข้อมูลและขึ้นทะเบียนโดรนเพื่อรักษาความปลอดภัยในการนำโดรนไปใช้งาน[14]

 

การยกเลิกกฎหมายจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและปลดล็อกอุปสรรคถ่วงรั้งความสามารถในการแข่งขัน

การยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการศึกษากฎหมายของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) (2563) พบว่า จำนวนกฎหมายที่ศึกษาทั้งสิ้นมี 1,094 กระบวนงาน มีจำนวน 1,026 กระบวนงาน (ร้อยละ 85) เกิดจากกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัย ซึ่งหากภาครัฐยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวตามข้อเสนอจากผลการศึกษา จะสามารถช่วยให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจประหยัดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ถึง 133,816 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP เท่ากับช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้[15]

นอกจากนี้ กฎหมายบางฉบับนั้นทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกฎหมายจำนวนมากกลายเป็นกับดักที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ รวมถึงไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะติดเงื่อนไขในการขออนุญาตต่างๆ ตัวอย่างเช่น กฎระเบียบเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจำกัดความคิดสร้างสรรค์และฉุดรั้ง ไม่ให้สามารถแข่งขันได้ แม้ในปัจจุบันจะมีความพยายามผ่อนคลายกฎหมายเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้างแล้ว แต่กฎหมายยังคงมีเงื่อนไขบางอย่างที่ยังทำให้การประกอบธุรกิจทำได้ยาก

อาทิ การกำหนดให้เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตต้องมีมาตรฐานและได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมสรรพสามิต ซึ่งเงื่อนไขการผลิตดังกล่าวยังไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ ออกมารองรับ ความน่ากังวลที่อาจจะเกิดขึ้นคือ มาตรฐานดังกล่าวอาจจะสูงเกินกว่าที่ผู้ผลิตรายย่อยจะรับได้[16] การจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถแข่งขันได้นั้น จึงควรจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์บนพื้นฐานที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่าขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถแข่งขันกันได้บนกฎกติกาที่เท่าเทียม ซึ่งจะช่วยปูทางไปสู่การแข่งขันในระดับโลกต่อไป

ท้ายที่สุดนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจและปลดล็อกความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงต้องการการทบทวนบทบัญญัติของกฎหมาย โดยควรจะเป็นสิ่งที่เริ่มทำแต่เนิ่นๆ และโดยเร็ว เพราะหากยิ่งปล่อยทิ้งไว้นาน สิ่งที่จะสูญเสียก็คือ โอกาสที่เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นของประเทศ

 

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติ

  • พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493.
  • พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551.

สื่อออนไลน์

หนังสือ

  • เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. “การลดภาระของประชาชนจากการปฏิบัติตามกฎหมาย,” ใน ธีธัช วิโยคม (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: หนังสือรพีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562.
  • เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ, “โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เล่มที่ 2”. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเสนอต่อสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย, 2563.

เอกสารประกาศทางราชการ

  • ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควร จังหวัดตราด (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๒๑ เรื่อง ห้ามการขนย้ายสุกรมีชีวิตเข้ามาในจังหวัดตราดและให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสุกรชำแหละแจ้งราคารับซื้อ.

 


[1] พรรคก้าวไกล, ยกเลิกใบอนุญาต 50% ยกเลิกทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2566.

[2] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “การลดภาระของประชาชนจากการปฏิบัติตามกฎหมาย,” ใน ธีธัช วิโยคม (บรรณาธิการ) (กรุงเทพฯ: หนังสือรพีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562) น. 2. จาก https://www.academia.edu/44423683/การลดภาระของประชาชนจากการปฏิบัติตามกฎหมาย

[3] ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 45.

[4] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น.6.

[5] เพิ่งอ้าง, น.5.

[6] พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 6 และมาตรา 7.

[7] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น.6.

[8] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เมื่อการชุมนุม ถูกจำกัดมากกว่ากฎหมายชุมนุมสาธารณะ: ความทับซ้อนและการบังคับใช้ตามใจ [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2566.

[9] ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควร จังหวัดตราด (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๒๑ เรื่อง ห้ามการขนย้ายสุกรมีชีวิตเข้ามาในจังหวัดตราดและให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสุกรชำแหละแจ้งราคารับซื้อ ข้อ 2.

[10] พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 53.

[11] รุจิระ บุนนาค, 9 กุมภาพันธ์ 2588, ขายซีดีลิขสิทธิ์ผิดกฎหมาย [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2566.

[12] ฐานเศรษฐกิจ, 2 พฤษภาคม 2566, ไข่ออนไลน์ช่องทางออกใบอนุญาตคู่ใจ ผู้ค้าไข่ต้องมี [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2566.

[13] เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ, “โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เล่มที่ 2” (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเสนอต่อสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย, 2563), 89.

[14] เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ, “โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เล่มที่ 1” (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเสนอต่อสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย, 2563), 473 – 476.

[15] ภูมิจิต ศรีอุดมขจร และเทียนสว่าง ธรรมวณิช, 3 ธันวาคม 2563, เศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ยาก หากกิโยตินกฎหมาย [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566.

[16] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, 26 ธันวาคม 2565, อุปสรรคกติกาขัดขาคราฟต์เบียร์ไทย [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566.